SECTION
ABOUTECONOMIC REVIEW
มนุษย์ไม่ 'Optimise'
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสายงานวิจัย
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
Optimisation คือการตัดสินใจเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในภาวะที่มีข้อจำกัด (เช่น มีเวลาจำกัด มีเงินจำกัด) วิชาเศรษฐศาสตร์ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าทรัพยากรมีอยู่จำกัด ดังนั้น จึงต้องพยายามจัดสรรการใช้ทรัพยากรดังกล่าวให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด และเนื่องจากมนุษย์ทุกคนมีความคิดความอ่าน มีเหตุมีผล และต้องการนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเองและครอบครัว ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดก็ย่อมจะเป็นระบบตลาดเสรี ที่ให้เสรีภาพกับมนุษย์ทุกคนในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจให้กับตัวเอง และการเปิดเสรีดังกล่าว จะนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจให้กับส่วนรวม ประเทศ และโลกอีกด้วย
แนวคิดดังกล่าวนั้นถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ เห็นได้จากการที่เศรษฐกิจซึ่งพึ่งพาระบบตลาดเสรี มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากกว่าระบบสังคมนิยม ซึ่งรัฐบาลเข้ามาบงการและก้าวก่ายในการดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจของประชาชนอย่างมาก กล่าวคือ เศรษฐศาสตร์สายหลักนั้นนิยมระบบตลาดเสรี และต่อต้านระบบ Paternalism หรือการให้รัฐบาลมีบทบาทเป็น ‘พ่อรู้ดี’ บงการประชาชน
แต่เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ในปี 2017 ถูกมอบให้กับศาสตราจารย์ริชาร์ด เธเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกทฤษฎี Behavioral Economics ที่มองต่างมุมจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก โดยมีข้อสรุปว่า การตัดสินใจของมนุษย์นั้นมีส่วนที่ไร้ซึ่งเหตุผล (irrational) อย่างต่อเนื่องและคาดการณ์ได้ หมายความว่าการตัดสินใจที่ขัดต่อผลประโยชน์สูงสุดของตัวเองนั้นเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้คณะกรรมการที่ตัดสินมอบรางวัลโนเบลให้กับศาสตราจารย์เธเลอร์ อ้างถึงผลงานของ 3 ข้อหลักของนักเศรษฐศาสตร์นอกกรอบวัย 72 ปีคนนี้ คือ
การตัดสินใจของมนุษย์นั้นมีส่วนที่ไร้ซึ่งเหตุผล (irrational) อย่างต่อเนื่องและคาดการณ์ได้
1. ความมีเหตุผลที่ไม่สมบูรณ์ (limited rationality)
มนุษย์มักจะไม่ยอมเสียสิ่งที่มีอยู่มากกว่าอยากได้สิ่งที่ยังไม่มี เช่น การวิจัยของศาสตราจารย์เธเลอร์พบว่า หากถามว่าคุณจะยอมจ่ายเงินเท่าไรเพื่อลดการเสียชีวิตลง 1 คน จาก 1 แสนคน (เช่นลดจากการตายทุกๆ ปี จากอุบัติเหตุทางรถยนต์) ก็จะได้คำตอบว่าโดยเฉลี่ยจะยอมเสียเงินประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐแต่หากถามว่าสมควรจะต้องจ่ายเงินทดแทนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 1 คนเท่าไร คำตอบส่วนใหญ่จะประเมินค่าชีวิตที่เสียเพิ่มดังกล่าวเฉลี่ยสูงถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ เหตุผล (ที่ไม่มีเหตุผล) ดังกล่าวของมนุษย์ทำให้นักลงทุนมักจะไม่ค่อยยอมขายหุ้นที่ขาดทุนทิ้งไป ทั้งๆ ที่ควรจะ cut loss เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่ราคามีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า
2. ‘ความเป็นธรรม’ กับ ‘ประสิทธิภาพ’ ทางเศรษฐศาสตร์
ในช่วงที่สินค้าหรือบริการขาดแคลน หลักการว่าด้วยประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์ภายใต้กลไกตลาดเสรีที่สมบูรณ์นั้น ราคาสินค้าและบริการดังกล่าว ควรจะต้องปรับตัวสูงขึ้นจนกระทั่งอุปสงค์กับอุปทานเท่ากัน แต่ในความเป็นจริง แม้ในช่วงหยุดเทศกาลที่มีความต้องการที่พัก ณ ที่ตากอากาศเพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้น แต่ผู้ประกอบการก็จะไม่กล้าปรับราคาห้องพักเกินกว่าประมาณ 3 เท่าตัวของราคาในช่วงความต้องการต่ำ และยอมให้มีความต้องการเกิน 100% ของจำนวนห้องที่มีอยู่ ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีความรู้สึกถึง ‘ความเป็นธรรม’ ซึ่งเป็นนิสัยที่ทำให้ไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นเรื่องของ ‘ความถูกต้อง’ ความเข้าใจดังกล่าว มีผลต่อการกำหนดราคาสินค้าและบริการต่างๆ ภายใต้ภาวะที่อุปสงค์สูง หรือภาวะขาดแคลน (เช่นกรณีภัยพิบัติ) ซึ่งปฏิบัติกันทั่วไปในขณะนี้ และผู้ประกอบการไม่สามารถและไม่สมควรแสวงหากำไรสูงสุดได้เพราะต้องเคารพและคำนึงถึงความรู้สึกดังกล่าวของสังคม
3. ข้อจำกัดในการควบคุมตัวเอง
มนุษย์นั้นอาจรู้ดีว่าอะไรควร อะไรไม่ควร แต่มักควบคุมความต้องการของตัวเองได้ยาก ดังนั้น การปรับเปลี่ยนกระบวนการนำเสนอเพียงเล็กน้อยโดยรัฐบาล จะส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจของคน และส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมมาก เช่น
1. รัฐบาลอังกฤษดำเนินการตามแนวทางของศาสตราจารย์เธเลอร์ โดยเปลี่ยนเงื่อนไขให้ประชาชนบริจาคอวัยวะของตนโดยอัตโนมัติเมื่อเสียชีวิตลง แต่สามารถปฏิเสธได้ทุกเมื่อ (กล่าวคือเปลี่ยน default option) ผลปรากฏว่ามีการบริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้นถึง 100,000 รายต่อปี เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ปฏิเสธการบริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติ
2. ในปี 2006 รัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายให้บริษัทสมัครพนักงานของตนเข้าโครงการออมระยะยาว โดยการหักจากเงินเดือนโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้พนักงานทุกคนมีสิทธิที่จะยกเลิกและถอนตัวออกจากโครงการดังกล่าวได้ทุกเมื่อ ปรากฏว่ามีพนักงานร่วมโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องถึง 4.1 ล้านคนในปี 2011 และยังมีเงื่อนไขเพิ่มสัดส่วนการออมอีกด้วย ทำให้มูลค่าการออมทั้งหมดเพิ่มขึ้นอีก 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในประเทศอังกฤษ โครงการระดับชาติในลักษณะเดียวกันพบว่าพนักงานที่ขอออกจากโครงการมีสัดส่วนเพียง 12%
ดังนั้น เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ศาสตราจารย์เธเลอร์จึงได้เขียนหนังสือร่วมกับศาสตราจารย์แคส ซันสตีน ชื่อว่า ‘Nudge (สะกิด)’ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากมนุษย์ขาดความมีเหตุผลในบางกรณี รัฐบาลจึงควรมีมาตรการและนโยบายที่ ‘สะกิด’ ให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งกับส่วนตนและส่วนรวม ดังที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้นครับ
■