HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

INVESTMENT REVIEW


ICO คืออะไร

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล
สายงานลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

      ช่วงนี้สกุลเงินดิจิทัลหรือ cryptocurrency กำลังได้รับการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาปรับขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อผมพูดถึง Bitcoin ในตอนที่แล้ว ราคาของบิทคอยน์เพิ่งจะพุ่งทะลุ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่านไปไม่ทันไร ตอนนี้ ราคาของบิทคอยน์ก็ทะยานไปเกิน 14,000 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว

     นอกเหนือจากตัวเงินในสกุลเงินดิจิทัลที่เราเคยพูดถึงกันไปแล้ว มีกระบวนการระดมทุนแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลที่เรียกว่า Initial Coin Offering หรือ ICO ซึ่งฟังดูแล้วคล้ายๆ กับ Initial Public Offering หรือ IPO ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ในตลาดหุ้น แต่มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร

     ถ้าพูดกันง่ายๆ ICO คือกระบวนการระดมทุนรูปแบบหนึ่ง (ที่อาจใช้คำว่าการระดมทุนจากมวลชนหรือ crowdfunding ได้) ซึ่งนิยมใช้กับธุรกิจสตาร์ทอัพที่อยู่ในขั้นแรกๆ ของการพัฒนา โดยอาจมีแค่แนวคิดของธุรกิจหรือสินค้าเท่านั้น และระยะหลังนี้ ICO ได้รับความสนใจพอสมควร เพราะสามารถระดมทุนให้กับธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีความยืดหยุ่นสูง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงในหลายด้าน จนหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายหลายแห่ง รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ของไทยต้องจับตามองและรีบออกเกณฑ์มากำกับดูแลการทำ ICO

     ในการทำ ICO บริษัทที่ต้องการระดมทุน จะออก ‘token’ หรือ ‘เหรียญ’ มาแลกกับเงินสกุลดิจิทัลสกุลเดิม หรือเงินปกติ โดยโทเคนที่ว่านี้จะเป็นเสมือนเอกสารแสดงสิทธิบางอย่าง ที่อาจจะเป็นเงินสกุลดิจิทัลสกุลใหม่ ส่วนแบ่งในกำไรของบริษัทในอนาคต (อาจจะมีสิทธิในการออกเสียงคล้ายกับการออกหุ้นหรือไม่ก็ได้) สิทธิพิเศษในการใช้บริการของบริษัท หรือสิทธิในสินทรัพย์บางอย่างของบริษัท หรือแม้กระทั่งสิทธิในการซื้อหรือเข้าถึงสินค้าหรือบริการที่บริษัทนั้นกำลังจะนำออกมาเสนอในอนาคต เช่น บัตรของขวัญ (gift card) เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการที่จะมีการพัฒนาขึ้นในอนาคต

     โทเคนที่ว่านี้สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือผ่านตลาดเงินดิจิทัล (cryptocurrency exchanges) ได้เหมือนกับเป็นเงินดิจิทัลสกุลหนึ่ง ซึ่งเปรียบได้กับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่แทบจะไม่ปิดทำการเลย การซื้อขายจะใช้เทคโนโลยี blockchain หรือการบันทึกบัญชีแบบกระจาย (ระบบที่ไม่มีศูนย์กลาง) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังของสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ซึ่งทำให้มีความโปร่งใสในเรื่องธุรกรรม อีกทั้งยังปลอมแปลงได้ยากมาก

     ICO จึงเป็นการระดมทุนที่ทำได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปต่อยอดความคิดหรือพัฒนาสินค้าหรือบริการนั้นออกสู่ตลาด เป็นการระดมทุนที่มีความยืดหยุ่นสูง มีการกำกับดูแลค่อนข้างน้อย แม้เป็นการระดมทุนของธุรกิจที่ใหม่มากและมีความไม่แน่นอนสูง เพราะยังไม่มีอะไรรับประกันว่าสินค้าหรือธุรกิจนั้นจะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าผู้ลงทุนคาดว่าธุรกิจหรือสินค้าบริการนั้นจะประสบความสำเร็จและเป็นที่นิยม การเข้าไปร่วมทุนในระยะแรก อาจจะได้รับประโยชน์จากมูลค่าของโทเคนที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

ICO คือกระบวนการระดมทุนรูปแบบหนึ่ง (ที่อาจใช้คำว่าการระดมทุนจากมวลชนหรือ crowdfunding ได้) ซึ่งนิยมใช้กับธุรกิจสตาร์ทอัพที่่อยู่ในขั้นแรกๆ ของการพัฒนา

ICO กับ IPO ต่างกันอย่างไร

     การทำ ICO กับการทำ IPO ของหุ้นมีความแตกต่างกันในหลายประการ เช่น การทำ IPO มักเป็นการระดมทุนของบริษัทที่มีแผนธุรกิจชัดเจนแล้ว มีกำไรสม่ำเสมอ มีการเปิดเผยข้อมูลและการกำกับดูแลกิจการอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจได้ว่าผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยจะได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ในขณะที่การทำ ICO มักเป็นการระดมทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีความใหม่มาก อาจมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง เพราะในบางครั้งก็เป็นเพียงแค่แนวความคิด ยังไม่มีอะไรรับประกันว่าจะประสบความสำเร็จในอนาคต

     การทำ IPO มักจะเป็นการระดมทุนแลกกับใบแสดงสิทธิในหุ้นซึ่งมักเป็นส่วนแบ่งของกำไรในอนาคตและมีสิทธิออกเสียงในธุรกิจ แต่การทำ ICO เป็นการระดมทุนแลกกับโทเคน ซึ่งอาจจะมี ‘สิทธิ’ หลากหลายรูปแบบ และนักลงทุนต้องเข้าใจให้ดีว่าโทเคนนั้นให้สิทธิอะไรบ้าง อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าโทเคนอาจจะไม่ใช่ส่วนแบ่งกำไรของกิจการในอนาคตเสมอไป

     การทำ IPO จะมีการจัดทำเอกสารจดทะเบียน การเปิดเผยข้อมูลและมีการกำกับที่เข้มงวดจากผู้กำกับดูแล ในขณะที่ ICO จะมีเพียงการทำ ‘white paper’ ซึ่งเป็นเอกสารที่ค่อนข้างเป็นเชิงเทคนิค หรือเป็นเพียงการเขียนเอกสารเผยแพร่ผ่านบล็อกอธิบายหลักการของความคิดและแผนการพัฒนาในอนาคต บางครั้งอาจมีการเปิดเผยโปรแกรมที่เขียนขึ้นมาแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนาความคิดไปแล้วในระดับหนึ่ง

     ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มีการทำ ICO ไปแล้วกว่า 165 ครั้ง โดยระดมทุนไปได้มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนึ่งในจำนวนนั้น มีสตาร์ทอัพที่มีฐานในประเทศไทยอยู่ด้วย ด้วยราคาของโทเคนหลายอันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามความนิยมของเงินสกุลดิจิทัลอย่าง บิทคอยน์และ ethereum ยิ่งทำให้คำว่า ICO เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้น

การทำ ICO เป็นการระดมทุนแลกกับโทเคนซึ่งอาจจะมี ‘สิทธิ’ หลากหลายรูปแบบ และนักลงทุนต้องเข้าใจให้ดีว่าโทเคนนั้นให้สิทธิอะไรบ้าง อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าโทเคนอาจจะไม่ใช่ส่วนแบ่งกำไรของกิจการในอนาคตเสมอไป

แล้วใครกำกับดูแล

     เนื่องจาก ICO เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ยังไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจมากนัก และอาจจะไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง (เช่น การระดมทุนที่ไม่ใช่ ‘หลักทรัพย์’ อาจจะไม่เข้าข่ายกฎระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบัน) แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจจะจำเป็นต้องมีคนกำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ากระบวนการนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อนักลงทุนหรือผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย

     ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันอาจไม่มีกระบวนการที่จะตรวจสอบหรือกำกับดูแลธุรกิจที่เข้ามาระดมทุน ว่าจะนำเงินไปใช้อย่างที่ระบุหรือมีความสามารถที่จะพัฒนาสินค้าหรือบริการอย่างที่ว่าได้จริงๆ แม้จะมีกลไกที่เรียกว่า smart contract ในการกำกับการใช้โทเคนในอนาคต แต่ถ้านักลงทุนไม่ได้ตรวจสอบว่ามีการโปรแกรมสัญญาเหมือนที่ได้โฆษณาไว้นั้นก็อาจจะเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ราคาของโทเคนอาจจะมีการสร้างราคาเหมือนการปั่นหุ้นที่อาจทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหาย หรืออาจมีการนำ ICO ไปใช้ในทางทุจริต เช่น ฟอกเงิน สนับสนุนผู้ก่อการร้าย หลบหนีภาษี หรือฉ้อโกงได้

     ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย กำลังมีการพิจารณากลไกในการกำกับดูแลเพื่อควบคุมความเสี่ยงจากธุรกรรมประเภทนี้ ในขณะที่ประเทศจีนและเกาหลีเพิ่งจะประกาศห้ามการทำ ICO (อย่างน้อยก็ห้ามเป็นการชั่วคราวก่อน) และสั่งให้คืนเงินที่ระดมทุนมาก่อนหน้านี้ ทำเอาวงการสั่นสะเทือนกันไปทั่ว

     หน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายคงต้องพยายามหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม กับการควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อนักลงทุนรายย่อย ผู้บริโภค และระบบการเงินไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

     ส่วนในด้านของนักลงทุน ICO ก็คงเหมือนกับการลงทุนประเภทอื่นๆ จำเป็นต้องศึกษากระบวนการ รายละเอียดและความเสี่ยง สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาก็คือต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เราซื้อนั้นให้สิทธิอะไรกับเรา และราคานั้นเหมาะสมหรือไม่ ก่อนที่จะทำการลงทุนอยู่เสมอ อย่าเพิ่งหลงไปกับตัวเลขผลตอบแทนหรือคำชวนเชื่อเพียงอย่างเดียวนะครับ