SECTION
ABOUTTHINKING BIG
Trash Masters
เมื่อสถานการณ์ขยะในภูมิภาคเอเชียกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต ประเทศไทยจึงก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในเรื่อง'อัพไซเคิล'ซึ่งกำลังเป็นกระแสอนุรักษ์สำคัญในขณะนี้
ในวันที่ร้อนระอุของเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรือโดยสารสีฟ้าเก่าๆ ลำหนึ่งกำลังทอดสมออยู่ไม่ไกลจากชายฝั่ง เรือลำนั้นโคลงเคลงไปตามกระแสคลื่นขณะที่กลุ่มนักดำน้ำท่าทางมากประสบการณ์กำลังเตรียมถังออกซิเจน หน้ากาก และชุดดำน้ำ ก่อนจะค่อยๆ กระโดดลงน้ำทีละคน ดูเผินๆ พวกเขาก็เหมือนกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้หลงรักการดำน้ำทั่วไป ซึ่งพบได้เป็นจำนวนมากตามเกาะสวรรค์แห่งต่างๆ ของบ้านเรา
ภาพที่พวกเขามองเห็นผ่านเลนส์กล้องใต้น้ำ ดูราวกับฉากที่หลุดออกมาจากสารคดี National Geographic น้ำทะเลสีฟ้าบริสุทธิ์ ฝูงปลานานาพรรณแหวกว่ายฉวัดเฉวียน แนวปะการังหลากทรงและสี แซมอยู่กับแนวโขดหินและพลิ้วไหวเป็นจังหวะตามกระแสน้ำ และแล้วเหล่านักดำน้ำก็เริ่มออกสำรวจท้องทะเลเกาะเสม็ด โดยไล่จากปะการังทีละต้น หินทีละก้อน และทรายทีละหย่อม
ไม่ว่าจะสวยงามเพียงใด แต่นี่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของทัวร์ดำน้ำหรือการถ่ายทำวิดีโอสารคดี กิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้นเคร่งเครียดกว่าที่เห็นมาก เพราะสิ่งที่นักดำน้ำกลุ่มนี้มองหาไม่ใช่มุมถ่ายภาพสวยๆ แต่เป็น ‘ขยะ’ จำนวนมากในท้องทะเล ศัตรูสำคัญที่บ่อนทำลายความงามของท้องทะเลไทย
อีโคอัลฟ์ประเมินว่าประเทศไทยทิ้งขยะลงทะเลราว 1 ล้านตันต่อปี ถือเป็นผู้ก่อมลพิษทางทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก
งานลงพื้นที่สำรวจนี้จัดขึ้นโดยมูลนิธิ Ecoalf องค์กรไม่แสวงหากำไรจากประเทศสเปน ซึ่งอุทิศตนให้กับการต่อสู้ปัญหาขยะโลกผ่านการ ‘อัพไซเคิล’ อันเป็นวิธีการนำขยะมาใช้ซ้ำอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น เสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ อีโคอัลฟ์ประเมินว่าประเทศไทยทิ้งขยะลงทะเลราว 1 ล้านตันต่อปี ถือเป็นผู้ก่อมลพิษทางทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก
เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ดังกล่าว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล (ในเครือปตท.) จึงได้เข้าร่วมการรณรงค์ Upcycling the Oceans ของอีโคอัลฟ์ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มในการร่วมแก้ปัญหาขยะในท้องทะเลในพื้นที่ที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต องค์กรวิจัยระดับโลกอย่าง Ocean Conservancy กล่าวว่า ประเทศไทย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีส่วนสร้างขยะในมหาสมุทรทั่วโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการที่กำลังอยู่ในความสนใจของนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกของอีโคอัลฟ์นี้
ในขณะที่ประเทศแถบเอเชียยังไม่ค่อยตื่นตัว กระแสการอัพไซเคิลในระดับโลกนั้นกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น กลุ่มนักรณรงค์ต่างผนึกกำลังกับแบรนด์แฟชั่นและบรรดาผู้ผลิตสินค้า แปลงขยะให้เป็นวัตถุดิบ เพื่อนำไปผลิตข้าวของเครื่องใช้ที่ทั้งสวยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการนี้จะแตกต่างกับกระบวนการรีไซเคิลที่คนคุ้นเคย เพราะในขณะที่กระบวนการรีไซเคิลมักเพียงแปรสภาพขยะให้กลับไปเป็นผลิตภัณฑ์เดิม อาทิ การหลอมละลายกระป๋องน้ำอัดลมใช้แล้วเพื่อนำไปผลิตกระป๋องน้ำอัดลมใบใหม่ แต่สำหรับกรณีของการอัพไซเคิล ขวดน้ำและถุงพลาสติกที่เก็บได้ระหว่างการออกสำรวจเกาะเสม็ด จะถูกนำไปผลิตเม็ดพลาสติกและเส้นด้าย เพื่อใช้ในการผลิตเสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ที่สูงค่ากว่าผลิตภัณฑ์เดิม
โดยนัยนี้ การเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ Upcycling the Oceans ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้บุกเบิกแห่งวงการอัพไซเคิลในภูมิภาค รัฐบาลไทยได้ช่วยเป็นหัวหอกสำคัญในการพัฒนาโครงการ เพื่อสนับสนุนคณะทำงานภาคสนาม และเหล่าแบรนด์น้อยใหญ่ที่ใช้กระบวนการอัพไซเคิลในการผลิต
“เราเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มพัฒนาใช้ระบบรับรองและฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เมื่อไม่นานมานี้ มีหลายคณะเดินทางมาดูงานอัพไซเคิลของเรา บางกลุ่มมาไกลจากเกาหลี” ยุทธนา อโนทัยสินทวี ผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องประดับแฟชั่นดีกรีรางวัลระดับประเทศอย่าง The ReMaker เล่าให้ฟัง
ไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้น บริษัทเอกชนขนาดเล็กหลายแห่งก็นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้เช่นเดียวกัน เช่นตัวยุทธนาเองที่พยายามสร้างกระแสการอัพไซเคิลในประเทศจากระดับปัจเจกตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ในปี 2555 แบรนด์เสื้อผ้าเดอะรีเมคเกอร์ของเขาได้รับรางวัล Design Excellence Award (DEmark) ทั้งในหมวดสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น สำหรับคอลเลกชันเครื่องประดับที่ทำจากเสื้อผ้ามือสองและยางในรถยนต์ นอกจากนี้ เขายังเป็นหนึ่งในบุคคลแนวหน้าของประเทศซึ่งอุทิศตนให้กับการอัพไซเคิล โดยให้การสนับสนุนแบรนด์อื่นๆ ผ่านทาง Upcycling Thailand ชุมชนและร้านค้าออนไลน์ของเขา
“ผมเริ่มทำ Upcycling Thailand เพื่อสร้างชุมชนที่เหนียวแน่นสำหรับคนที่นำขยะมาอัพไซเคิล พวกเขาจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ถ้าเราร่วมมือกัน รัฐบาลก็จะเห็นว่าเรามีฐานที่แข็งแกร่งและให้การสนับสนุนเรา” เขาเล่า
ยังมีแบรนด์ไทยอีกจำนวนมากที่ใช้กระบวนการอัพไซเคิล อย่างเช่น Rubber Killer ผู้ผลิตเป้สะพายหลังและกระเป๋าสตางค์จากเศษยางเหลือใช้และยางรถยนต์เก่า ซึ่งได้รับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark (T Mark) อันทรงเกียรติจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือแบรนด์แฟชั่นอย่าง Madmatter ที่นำเศษผ้าเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้าสวยและทันสมัย ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดเอเชีย ส่วน Osisu ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์แฟชั่นจากวัสดุเหลือใช้หลากประเภท ก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบสำหรับนักศึกษาปริญญาโทสาขาการออกแบบแบบบูรณาการ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังของเยอรมนีอย่าง Anhalt ในปี 2558 นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่เข้ามาร่วมด้วยเพิ่มขึ้นทุกปี
แม้การเข้ามามีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดของภาคเอกชน จะเป็นหัวใจแห่งความสำเร็จอันต่อเนื่องของกระแสการอัพไซเคิล แต่นักวิชาการไทยจำนวนหนึ่งยังตั้งข้อสงสัยว่าแบรนด์เหล่านี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการอัพไซเคิลอย่างยั่งยืนหรือไม่ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เชื่อว่าหลายแบรนด์ติดฉลากอัพไซเคิลเพียงเพื่อจุดประสงค์ทางการตลาด
“ปัจจุบันการอัพไซเคิลเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นในประเทศไทย แต่ผมมองว่าธุรกิจบางแห่งที่บอกว่าตัวเองใช้แนวทางการอัพไซเคิลในการทำธุรกิจยังทำเพียงเพื่อเหตุผลทางการตลาด แต่ในเนื้อแท้แล้วสิ่งที่พวกเขาทำส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก” เขากล่าว
แม้จุดมุ่งหมายระยะสั้นของโครงการอัพไซเคิล คือการลดปริมาณขยะเพื่อป้องกันปัญหาบ่อขยะล้นเมืองและทางระบายน้ำอุดตัน จะทำได้ไม่ยาก แต่เป้าหมายระยะยาวอย่างการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ประชากรในประเทศหันมาเอาจริงกับปัญหาเรื่องขยะนั้น ยังถือเป็นงานหินพอสมควร
นอกจากดร.ณัฐพงศ์ จะเป็นนักวิชาการแถวหน้าของไทยในด้านการอัพไซเคิลและรีไซเคิลแล้ว เขายังเป็นเจ้าของแบรนด์รองเท้าอัพไซเคิล ‘ทะเลจร’ โดยผลิตรองเท้าคุณภาพในราคาที่จับต้องได้จากเศษขยะที่เขาและทีมงานรวบรวมผ่านโครงการชื่อ Trash Hero ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการเก็บขยะในทะเล อาทิ เกาะเสม็ด
แม้จุดมุ่งหมายระยะสั้นของโครงการอัพไซเคิลคือ การลดปริมาณขยะเพื่อป้องกันปัญหาบ่อขยะล้นเมืองและทางระบายน้ำอุดตัน จะทำได้ไม่ยาก แต่เป้าหมายระยะยาวอย่างการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ประชากรในประเทศหันมาเอาจริงกับปัญหาเรื่องขยะนั้น ยังถือเป็นงานหินพอสมควร
“การซื้อรองเท้าทะเลจรเป็นรูปแบบของการมีส่วนร่วมที่ทำได้ง่าย จึงได้รับการตอบรับที่ดี แต่การรณรงค์ให้คนไทยมาช่วยกันเก็บขยะบนชายหาดนั้นเป็นเรื่องยากกว่า” ดร.ณัฐพงศ์กล่าว
ยุทธนาเองก็เห็นด้วยกับประเด็นนี้ พร้อมเสริมว่าลูกค้าเดอะ รีเมคเกอร์ส่วนใหญ่น่าจะซื้อผลิตภัณฑ์เพราะภาพลักษณ์ทางแฟชั่นมากกว่าเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม
“พวกนี้คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดติดกับกระแสหลัก และมองหาแบรนด์ใหม่ๆ ที่จะทำให้ตัวเองดูแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งหลายครั้งพวกเขาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่าผลลัพธ์ที่ตัวผลิตภัณฑ์มีต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ” เขากล่าว
ไม่ใช่แค่เพียงผู้บริโภคเท่านั้นที่มองเช่นนี้ กระทั่งหลายๆ แบรนด์ที่หวังจะสร้างรายได้จากกระแสอัพไซเคิลเอง บ่อยครั้งยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตนทำจะวัดออกมาเป็นตัวเลขผลกระทบได้มากขนาดไหน ซึ่งนี่เองเปิดโอกาสให้นักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วม
“นักออกแบบหน้าใหม่มักไม่ค่อยรู้รายละเอียดตัวเลขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์ของเขาช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้เท่าไร แต่นักวิชาการจะบอกได้ รัฐบาลให้การสนับสนุนเราโดยส่งนักวิชาการมาช่วยคิดตัวเลขพวกนี้ออกมา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในแง่ของการตลาดและการสื่อสารออกไปยังบุคคลภายนอก” ยุทธนาเล่า
สำหรับผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์อย่างเดอะ รีเมคเกอร์และทะเลจรถือเป็นช่องทางง่ายๆ สำหรับการมีส่วนร่วมกับการอัพไซเคิล แต่ในขณะที่ความพยายามเหล่านี้ได้ผลอย่างดีในการสร้างกระแส แต่กลับยังส่งผลน้อยมากต่อปัญหาขยะของไทยที่นับวันยิ่งแย่ลงทุกขณะ
ในปี 2559 กรมควบคุมมลพิษรายงานว่าประเทศไทยผลิตขยะมากถึง 27 ล้านตันต่อปี คิดเป็นค่าเฉลี่ย 1.14 กิโลกรัมต่อคนในหนึ่งวัน ที่แย่ไปกว่านั้นคือ มีขยะในบ่อกำจัดราว 20%เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี
การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยแรงผลักดันในระดับที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งนี่คือจุดที่รัฐบาลไทยและสถาบันการศึกษาเข้ามามีบทบาท เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลได้ประกาศนโยบายอัพไซเคิลในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นความพยายามผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจในบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 8.1 ล้านไร่ใน 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยพยายามทดแทนวัสดุประเภทใช้แล้วทิ้งที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กล่องโฟมและถุงพลาสติก ด้วยวัสดุจากพืชที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น เศษไม้ไผ่จากโรงงานทำตะเกียบ
นอกจากนี้ ปัญญาชนรุ่นใหม่ก็กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อริเริ่มโครงการอัพไซเคิลของตัวเอง อย่างในกรณีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ณัฐพงษ์ และดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าหลักสูตรวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร ได้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้ หรือ Scrap Lab ขึ้นในปี 2550 เพื่อเป็นศูนย์ออกแบบและค้นคว้าสนับสนุนให้นักศึกษาร่วมกันหาแนวทางใหม่ๆ ในการรับมือกับปัญหาขยะจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ในปัจจุบันศูนย์ได้รับการยอมรับในระดับสากลและได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เก้าอี้ที่ทำจากเศษสายยางและเชือกถัก ม้านั่งจากเศษไม้ โคมไฟจากหลอดยาย้อมสีผม และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นิสิตประจำศูนย์ยังได้รับรางวัลผลงานออกแบบที่ใช้การอัพไซเคิลจากโรงแรมในเครือ Onyx เป็นทุนการศึกษาจำนวน 111,000 บาทอีกด้วย
“ผมพยายามสอนนิสิตเกี่ยวกับปัญหาเรื่องขยะอย่างสุดความสามารถ และพยายามทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ทุกสัปดาห์ผมจะออกไปเก็บขยะตามชายหาดกับกลุ่ม Trash Hero” ดร.ณัฐพงศ์เล่า
การสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ประเทศไทยจะเป็นผู้นำในแวดวงอัพไซเคิลของภูมิภาคเอเชีย แต่กระทั่งความพยายามอย่างมากเหล่านี้ก็ยังถูกกลบมิดโดยปริมาณขยะล้นบ่อและท้องทะเลของไทย อย่าลืมว่าให้ตั้งใจอย่างไร แบรนด์อย่างเดอะ รีเมคเกอร์และทะเลจรก็ผลิตกระเป๋าและรองเท้าได้เป็นจำนวนจำกัด เช่นเดียวกับที่รัฐบาลก็เลือกวัสดุมาทดแทนถุงพลาสติกและกล่องโฟมในพื้นที่อีอีซีได้ทีละไม่กี่ชนิด หรือในที่สุด กระทั่งบรรดานักดำน้ำบนเกาะเสม็ดที่ขยันที่สุดก็ไม่อาจเก็บขยะต่อวันได้เกินกว่าพื้นที่บนเรือจะอำนวย
การจะบรรลุเป้าหมายได้นั้นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนหมู่มาก แต่ระหว่างรอ มีคนกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้นี่เองที่พยายามต่อสู้ไปทีละก้าว เพื่อจุดประกายให้โลกทั้งใบได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและร่วมกันหาหนทางแก้ไขในเร็ววัน
■
Essentials
■
Osisu
56 หมู่ 1 ถนนราชพฤกษ์
กรุงเทพฯ
โทร. 02-149-7222
www.osisu.com
■
Rubber Killer
ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง
เชียงใหม่
www.rubberkiller.com
■
The ReMaker
607/121-122 หมู่บ้านภัทราวิลล่า
ถนนพระราม 3 กรุงเทพฯ
โทร. 02-689-9383
www.fb.com/TheReMaker
■
Trash Hero Thailand