HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


Wayfaring Revolución

คิวบาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะเมืองแห่งสีสันและกลิ่นอายย้อนยุค แต่การออกสำรวจไปยังย่านซึ่งนักท่องเที่ยวไม่นิยมไปนัก อาจเป็นการเปิดประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตซึ่งหาที่ไหนไม่ได้

     หากเดินเล่นไปตามถนนในซานตา เฟ กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสกับเสน่ห์อันเปี่ยมมนต์ขลัง สองฟากถนนแคบๆ นี้เป็นที่ตั้งของตึกรามบ้านช่องสีสันสดใส สายโทรศัพท์เก่าห้อยระโยงระยางระหว่างตึกทั้งสองฝั่งถนน โดยบางเส้นถูกใช้เป็นราวตากผ้าหรือที่แขวนรองเท้าผ้าใบ ท่ามกลางเสียงดนตรีรุมบ้า แจ๊สสไตล์แอฟโฟร-คิวบัน และซัลซา เด็กๆ ในเครื่องแบบนักเรียนกำลังส่งเสียงหัวเราะคิกคักขณะวิ่งเล่นอยู่บนถนน เสียงบีบแตรจากรถยนต์คลาสสิกที่วิ่งผ่านนั้นดังไปทั่วบริเวณ กระทั่งในอากาศก็มีกลิ่นควันของซิการ์ชั้นดีลอยคลุ้งอยู่ทั่ว สำหรับหลายคน คิวบาต้องหน้าตาอย่างนี้เท่านั้น

     ทั้งนี้ เพราะทั่วโลกมักรู้จักประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบสังคมนิยมมาอย่างยาวนานแห่งนี้ ในฐานะเมืองมรดกโลกซึ่งเปี่ยมด้วยสีสันทางวัฒนธรรม กลิ่นอายย้อนยุคและชายหาดที่สวยงามนั้นทำให้คิวบาโด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยวและเป็นแง่มุมที่นิตยสารมักหยิบยกมานำเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการไปเยือนคิวบาของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาเมื่อปี 2016 บรรดาสื่อก็พากันประโคมข่าวเกี่ยวกับบรรยากาศย้อนยุคและสถาปัตยกรรมโคโลเนียลของคิวบา ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ดังกล่าวเข้าไปอีก แต่ก็อย่างที่ชาวคิวบาว่า สิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่ ‘pollo of the arroz con pollo’ หรือนี่ยังไม่ใช่ ‘ไก่’ ใน ‘ข้าวหน้าไก่’ ของพวกเขาจริงๆ

     นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2011 เพื่อผู้ประกอบการ ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศ การปฏิรูปดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ผ่านระบบกลไกใหม่ๆ อาทิ การแจกจ่ายที่ดินรัฐให้ประชาชนใช้ประโยชน์ตามระบบสิทธิเก็บกิน (usufruct) นโยบายด้านการลงทุนจากต่างชาติที่ยืดหยุ่นขึ้น การก่อตั้งสหกรณ์ และการออกกฎหมายอนุญาตให้เอกชนเข้ามาทำธุรกิจ ทุกวันนี้ ธุรกิจในประเทศเฟื่องฟูขึ้น ขณะที่บรรดาผู้ประกอบการทั่วทั้งเกาะคิวบาก็มีอิสระในการวิ่งตามความฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฮาวานาซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของบรรดาธุรกิจกว่า 70% ของประเทศ ทั้งบาร์และร้านอาหารที่เอกชนเป็นเจ้าของ ที่พักหรู แกลเลอรี่ศิลปะ ร้านเสื้อผ้า ไปจนถึงฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ได้เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นเองเข้ามาสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่

ทั่วโลกมักรู้จักประเทศซึ่งใช้ระบอบสังคมนิยมมาอย่างยาวนานแห่งนี้ ในฐานะเมืองมรดกโลกซึ่งเปี่ยมด้วยสีสันทางวัฒนธรรม

     จริงอยู่ที่การผจญภัยในคิวบาจะไม่ครบอรรถรส หากผู้มาเยือนไม่ได้เดินทอดน่องบนหาดทรายขาว โต้คลื่นน้ำทะเลสีฟ้าคราม และเดินสูบซิการ์ไปตามถนนมาเลคอนอันเลื่องชื่อ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเต้นสุดเหวี่ยงยันเช้า กระนั้น นอกเหนือจากกิจกรรมสุดคลาสสิกที่ว่ามาแล้ว คิวบายังมีอีกด้านหนึ่งที่น้อยคนนักจะรู้จัก รอเปิดเผยตัวให้ได้สัมผัสถึงเสน่ห์อย่างแท้จริงของประเทศแห่งนี้

     ผู้ที่สนใจเสน่ห์นอกกระแสที่ว่า สามารถลองมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตกของฮาวานา ไปตามถนนลูกรังสายคดเคี้ยวซึ่งกินระยะทาง 17 กิโลเมตร เพื่อไปยัง Finca Tungasuk แหล่งเกษตรอินทรีย์ซึ่งผลิตพืชผักผลไม้สดจากไร่ ณ สถานที่นั้น เมื่อก้าวพ้นประตูรั้วผุสนิม นักท่องเที่ยวจะพบกับทิวทัศน์น่าตื่นตาของพื้นที่เกษตร ซึ่งเผยให้เห็นการทำฟาร์มขนาดเล็กในวิถีแบบคิวบาแท้ๆ

     “ตอนเราเริ่มตั้งที่นี่ พวก ‘คัมเปซิโนส’ หรือชาวสวน เรียกเราว่า ‘พวกชาวนาจีน’ เพราะเราปลูกผักสารพัดอย่าง” แอนนาเบล กันตาเรโรผู้ก่อตั้งฟิงกา ตุงกาสุก เล่า เธอได้ตั้งฟาร์มนี้ขึ้นในปี 2014 ร่วมกับอัลเฟรโด วิลสัน สามีของเธอ

     เกษตรกรหนุ่มสาวคู่นี้ปลูกทุกอย่างตั้งแต่บรอกโคลี บ๊อกฉ่อย ไปจนถึงมะเขือเทศและต้นยัคคา ด้านหลังโรงเรือนหน้าตาเรียบๆ กะหล่ำม่วง กระเทียมต้น และแตงโมกำลังเจริญงอกงามอยู่ในแปลงพืชที่ทำจากไม้ต้นมะพร้าว รอบๆ มีต้นฝรั่ง ส้มซ่า และมะม่วงขึ้นอยู่ บนที่ดินขนาดราว 58 ไร่ซึ่งได้รับสิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินตามสิทธิเก็บกินนี้ สองสามีภรรยาเน้นปลูกพืชพื้นเมืองที่มีความทนทาน แทนการปลูกพืชผักผลไม้ทั่วไปเหมือนไร่เกษตรอินทรีย์ท้องถิ่นแห่งอื่นๆ เครื่องไม้เครื่องมือส่วนใหญ่ในไร่ นับตั้งแต่อุปกรณ์ทดน้ำ ผ้าใบกันแดด มีดพร้า รองเท้าบูท ไปจนถึงต้นกล้า ล้วนได้มาในราคาที่รัฐบาลสนับสนุนทั้งสิ้น

     “การซื้อของผ่านรัฐบาลเป็นเสมือนบททดสอบความอดทน เพราะอาจต้องรออยู่หลายเดือนกว่าจะได้มา แต่มันก็ได้ผล” อัลเฟรโดกล่าว

     เกษตรกรรายย่อยบางรายรอไม่ไหวและหันไปซื้อของจากตลาดมืดแทน ซึ่งทั้งเสี่ยงและแพงกว่า “เราซื้อมะม่วงมาต้นละ 25 เซนต์ ขณะที่ราคาต้นมะม่วงในตลาดมืดแพงกว่าถึง 15 เท่า” เขาเล่า

     หลังจากที่คู่สามีภรรยาเพิ่มโต๊ะปิกนิก เปลญวน และห้องน้ำกลางแจ้งเข้ามาในไร่ ฟิงกา ตุงกาสุกก็ได้เปิดประตูต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวอาสาสมัครที่มีส่วนช่วยให้วิถี ‘เพอร์มาคัลเจอร์’ หรือแนวคิดเกษตรยั่งยืนแบบตะวันตกนั้นเฟื่องฟูในคิวบา โดยปกติแล้ว เหล่าอาสาสมัครจะช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิต ปลูกต้นไม้ หรือกะเทาะเปลือกถั่วในช่วงเช้า ก่อนจะร่วมรับประทานมื้อเที่ยงที่ปรุงด้วยวัตถุดิบชั้นเลิศจากฝีมือของอัลเฟรโดและแอนนาเบล ผู้ซึ่งนอกจากประกอบอาชีพชาวสวนแล้ว เธอยังเป็นถึงผู้ช่วยเชฟระดับดาวมิชลินอีกด้วย

ไม่น่าแปลกใจที่เครือโรงแรมหรูซึ่งมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ชาวไทยอย่าง Kempinski จะเลือกที่นี่เป็นทำเลในการตั้งสาขาแรกของทวีปอเมริกา

     แม้จะมีดีกรีเป็นเชฟมืออาชีพ แต่หลายครั้งแอนนาเบลก็เลือกที่จะสลัดเครื่องแบบเชฟทิ้ง และสวมเสื้อยืดซึ่งใส่สบายกว่าแทน ข้อความบนเสื้อหน้าตาเปรอะๆ ของเธอเขียนว่า “Resistir y Vencer (ยืดหยัดและคว้าชัย)” อันเป็นลายเสื้อซึ่งออกแบบโดยร้านเสื้อยืดชื่อดังของคิวบาอย่าง Clandestina

     ร้านเสื้อผ้าเล็กๆ แห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องเสื้อยืดลายกราฟฟิกและเครื่องประดับสุดแนว กลันเดสตินาได้กลายเป็นกระแสชั่วข้ามคืน หลังการมาเยือนของอดีตประธานธิบดีโอบามาและครอบครัวเพื่อชมศิลปินในพำนัก (artist-in-residence) วาดรูปแว่นกันแดดซึ่งเป็นโลโก้ประจำร้าน ลงบนเสื้อเชิ้ตพื้นเมือง กระเป๋าย่าม และเสื้อสตรี

     “เราเลือกใช้สโลแกนว่า 99% คิวบัน ดีไซน์ เพราะว่า 99% ฟังติดหูกว่า 100% มันเป็นเรื่ิองของมาร์เก็ตติ้งล้วนๆ” อิดาเนีย เดล ริโอ ผู้ร่วมก่อตั้งกลันเดสตินา กล่าว

      แม้การตลาดจะถือเป็นเรื่องใหญ่ของธุรกิจภาคเอกชนในคิวบา แต่ทำเลก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ร้านกลันเดสตินานั้นตั้งอยู่บนทำเลทองใจกลางย่านเมืองเก่าฮาวานา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของคิวบา ด้วยความที่ย่านอาณานิคมเก่าแห่งนี้เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม จึงไม่น่าแปลกใจที่เครือโรงแรมหรูซึ่งมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่สัญชาติไทยอย่าง Kempinski จะเลือกที่นี่เป็นทำเลในการตั้งสาขาแรกของทวีปอเมริกา

     โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่นี้ได้บูรณะและเปลี่ยนโฉมอดีตโรงแรม Manzana Gómez ซึ่งถูกทิ้งร้าง ให้กลายเป็นที่พักหรูระดับ 5 ดาวเพียงแห่งเดียวของคิวบาในชื่อ Gran Hotel Manzana Kempinski La Habana สระว่ายน้ำหรูบนดาดฟ้านั้นเหมาะอย่างยิ่งกับการจิบแซงเกรียเย็นๆ ขณะชมสถาปัตยกรรมอันโอ่อ่าของอาคาร Capitolio Capitol พิพิธภัณฑ์ Bellas Artes และโรงละคร Gran Teatro de La Habana ใครที่ไม่รู้จักประเทศคิวบาดีพอ อาจมองว่าเคมปินสกี้เป็นเพียงโรงแรม 5 ดาวอีกแห่งในฮาวานา แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิดถนัด

     “อยู่ที่นี่เราไม่มีคู่แข่ง” ซาเวียร์ เดสทริบัตส์ ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมกล่าว พลางหัวเราะอย่างเป็นกันเอง อันเป็นลักษณะนิสัยที่พึงมีในแวดวงธุรกิจอันซับซ้อนของคิวบา ก่อนจะเสริมต่อว่า “จุดขายของเราคือการบริการและความหรูหราเหนือระดับ ซึ่งเรายินดีมากที่จะได้ส่งมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกค้าในฮาวานา”

     สิ่งที่เขากล่าวไม่ใช่เพียงคำโฆษณาลอยๆ ภายในโรงแรมซึ่งตกแต่งอย่างเรียบหรูนี้ ดอกลิลลี่ส่งกลิ่นตลบอบอวลไปทั่ว ห้องพักแต่ละห้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเครื่องชงเอสเพรสโซ เตียงหนานุ่มซึ่งใช้ผ้าคลุมเตียงเนื้อละเอียด และบริการอินเทอร์เน็ต 24 ชั่วโมง (ซึ่งถือเป็นเอกสิทธิ์ในประเทศที่อินเตอร์เน็ตช้า เข้าถึงได้ยาก และรัฐเป็นผู้ผูกขาด) นอกจากนี้ยังมีสปาหรู และห้องกระจกที่มองเห็นทัศนียภาพของตึก Bacardi ตัวแทนแห่งสถาปัตยกรรมอาร์ต เดโค ไว้ให้บริการแก่ผู้ที่มาพักนอนเล่นอาบแดด ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบริการที่มีให้เท่านั้น หากเรื่องเงินไม่ใช่ประเด็นแล้ว นี่คือสถานที่ที่ควรค่าแก่การมาเยือน

     ฮาวานานั้นเป็นเมืองสำหรับการพักผ่อนและใช้ชีวิตช้าๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากในตารางการเดินทางจะมีกิจกรรมอย่างการแวะจิบโมฮิโตหรือเบียร์ Bucanero ริมชายหาดตะวันออกอันเงียบสงบรวมอยู่ด้วย แม้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเลือกเดินทางด้วยรถยนต์คลาสสิกเปิดประทุน ซึ่งใช้เวลาราว 30 นาที แต่การออกแรงปั่นจักรยานจะเปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่นมากกว่า ในฮาวานามีบริษัทที่ให้บริการทัวร์จักรยานอยู่หลายแห่ง แต่ร้านจักรยานแบบครบวงจรอย่าง Velo Cuba นั้นยังคงครองอันดับหนึ่ง สองผู้ก่อตั้งอย่างนัยบิส ดิอัส และดัยลิน คาร์โบ ให้บริการทัวร์จักรยานหลายเส้นทาง อาทิ เส้นทางรอบเมืองฮาวานา เส้นทางศาสนาแอฟริกันคิวบา และเส้นทางสู่ชายหาดตะวันออกซึ่งชวนเสียเหงื่อมากกว่าเส้นทางอื่นๆ

ไม่ว่าจะไปส่งเสียงเชียร์เด็กหญิงวัย 10 ขวบลงแข่งบิลเลียดครั้งแรก หรือใช้เวลายามเช้าเก็บเกี่ยวต้นยัคคา หรือปั่นจักรยานสำรวจคฤหาสน์ในแถบเมืองเก่าของฮาวานาในยามบ่าย ทั้งหมดล้วนเป็นประสบการณ์ซึ่งไม่มีแนะนำในคู่มือนำเที่ยวเล่มไหน

     เดนนี อัลบาเรส นักศึกษาอายุ 21 ปี ผู้สามารถพูดทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้คล่องปรื๋อทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยวให้กับเวโล่ คิวบา ซึ่งเป็นงานประจำงานแรกของเขาในบริษัทเอกชน แม้จะตระหนักดีว่าการพานักท่องเที่ยวปั่นจักรยานไปตามถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อในกรุงฮาวานานั้นเป็นความรับผิดชอบใหญ่หลวง เพราะหลายครั้งบรรดาลูกทัวร์ก็มัวแต่สนใจรถคาดิลแลคเปิดประทุนหรือเด็กในชุดนักเรียนจนลืมมองทาง กระนั้น เขาก็รักงานที่ตัวเองทำ “ผมพูดถึงคิวบาเยอะกว่ารายละเอียดสถานที่ที่เราไปเยือนเสียอีก ทั้งเรื่องการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างและนโยบายรัฐบาล หรือระบบเศรษฐกิจแบบสองอัตราแลกเปลี่ยน แต่มันก็สนุกดี” เขายังยอมรับด้วยว่ารายได้ค่อนข้างดี และชาวอเมริกันนั้นเป็น ‘ลูกค้าที่ดีที่สุด’ เพราะมักจะทิปหนัก

     ฮาวานาเป็นเมืองหลวงของประเทศกำลังพัฒนาที่ปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การเลือกไปเยือนเมืองแห่งนี้ในเส้นทางที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่เลือกไปนัก จะทำให้เข้าใจวิวัฒนาการของคิวบาจากรัฐสังคมนิยมเล็กๆ มาสู่จุดหมายปลายทางระดับโลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างย่าน El Canal ซึ่งนักท่องเที่ยวน้อยคนจะไปถึง ถือเป็นจุดแวะเที่ยวที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะแม้จะเป็นย่านที่เจริญที่สุดแห่งหนึ่งของฮาวานา แต่ตามหลังคาบ้านนั้นมีเถาองุ่นขึ้นพันเลื้อยอยู่ทั่ว องุ่นเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในธุรกิจบ่มไวน์ของครอบครัวเอสเตเบส ด้วยพนักงานเพียง 5 คน โรงบ่มไวน์ Casa de Vinos El Canal สามารถจำหน่ายไวน์ได้วันละ 30 ถึง 40 ขวดในราคาถูกเหลือเชื่อ เมื่อเดินผ่านหน้าร้านและครัวเข้ามาด้านใน ผู้มาเยือนจะได้รับไวน์แดงรสชาติหวานหนึ่งแก้ว เพื่อให้เข้าถึงประสบการณ์การเยี่ยมชมโรงงานผลิตไวน์แห่งนี้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในตอนสุดท้าย โอเรสเตส เอสเตเบส หัวหน้าครอบครัวผู้เรียนรู้ประเพณีการย่ำองุ่นมาจากปู่ของเขา จะยกฝาครอบถังขนาด 50 แกลลอนขึ้นเผยให้เห็นมวลองุ่นแฉะๆ ซึ่งอีก 45 วันข้างหน้าจะถูกถ่ายลงโถแก้วสำหรับกระบวนการหมักครั้งสุดท้าย ครอบครัวเอสเตเบสเคยทำธุรกิจเลี้ยงกระต่าย แต่โอเรสเตสผู้เป็นสมาชิกสมาคมนักบ่มไวน์มือสมัครเล่นเมืองฮาวานา (Asociación de Vinicultores Aficionados) กล่าวว่าธุรกิจไวน์นั้นทำเงินดีกว่า

     “รสชาติของไวน์นั้นเปรียบเหมือนยามบุรุษได้รู้จักสตรีเป็นครั้งแรก เมื่อพบแล้วก็ยากจะหันหลังกลับ” โอเรสเตสเปรียบเทียบ ก่อนจะเสริมต่อว่าการทำธุรกิจส่วนตัวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อิสระในชีวิตที่ได้รับนั้นล้ำค่า และปัจจุบัน ครอบครัวของเขาก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

     ระหว่างการทัวร์เอล กานัล นักท่องเที่ยวอาจได้ยินเสียงแทงบิลเลียดแว่วมาจากตึกข้างๆ ซึ่งเป็นของชายชื่อฟรานซิสโก โซซา หรือ ‘ปันโช’ เมื่ออายุได้ 50 ปี เขาเริ่มประกอบโต๊ะบิลเลียดและเข้าร่วมรายการแข่งขันต่างๆ ก่อนจะก่อตั้งโรงเรียน Alfredo de Oro Billiards Academy ขึ้นเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว ตามชื่อแชมป์บิลเลียด และแชมป์พูลชาวคิวบาผู้เป็นตำนาน เมื่อไต่บันไดวนขึ้นไปยังโรงเรียนของเขาบนดาดฟ้า ผู้มาเยือนจะรู้สึกเหมือนกำลังก้าวไปสู่โลกอีกใบ ที่นี่มีการจัดการแข่งขันทุกสัปดาห์ และมีชั้นเรียนเปิดสอนทุกวันทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ โดยปกติแล้ว โต๊ะพูลทั้ง 4 ตัวที่เขาสร้างขึ้นเองจะถูกจับจองโดยนักเรียนรุ่นใหญ่ที่ขมักเขม้นฝึกซ้อมตามหลักสูตรที่ฟรานซิสโกกำหนดสำหรับผู้เรียนแต่ละคนโดยเฉพาะ

     “โต๊ะของผมทำจากไม้ซีดาร์และมะฮอกกานี ซึ่งได้มาตรฐานสากลทุกตัว คุณต้องใช้ไม้หลายประเภทประกอบกัน เวลาแทงลูกถึงจะได้เสียงกระทบแบบบิลเลียดจริงๆ” ฟรานซิสโกอธิบาย ก่อนจะเสริมว่าเขาเริ่มก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะจากงานอดิเรกที่ชอบ โดยชั้นเรียนสำหรับเด็กจะจัดขึ้นสัปดาห์ละครั้งและสอนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อ “เสริมสิ่งที่เด็กเรียนจากโรงเรียน ถ้าระหว่างเรียนไม่พูดภาษาอังกฤษก็อดเล่น” ฟรานซิสโกกล่าว

     ระหว่างที่กำลังติวเข้มอัลเบร์โต พ่อครัวเรือเดินสมุทรวัย 28 ปี ผู้มาลงเรียนในช่วงที่พักจากการออกเรือ ฟรานซิสโกก็เล่าถึงความตั้งใจของเขาต่อ “เรารับรองว่าคนที่จบจากโรงเรียนเราจะเล่นเก่งขึ้น เรียนที่นี่แค่เดือนเดียวมีค่าเท่ากับการฝึกเล่นเองตามบาร์ 2 ปี” เขากล่าวขณะเฝ้ามองอัลเบร์โตแทงลูกลงหลุมอีกลูก รับรองว่านักท่องเที่ยวที่ย่างกรายเข้ามายังเอล กานัลจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่โรงเรียนแห่งนี้

     สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะไปส่งเสียงเชียร์เด็กหญิงวัย 10 ขวบลงแข่งบิลเลียดครั้งแรกในชีวิต หรือใช้เวลายามเช้าเก็บเกี่ยวต้นยัคคา หรือปั่นจักรยานสำรวจคฤหาสน์ในแถบเมืองเก่าของฮาวานาในยามบ่าย ทั้งหมดล้วนเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งไม่มีแนะนำในคู่มือนำเที่ยวเล่มไหน ยังไม่ต้องพูดถึงของที่ระลึกที่แปลกไม่ซ้ำใคร อย่างเสื้อยืดฮิปๆ จากกลันเดสตินาหรือไวน์เม็ดมะม่วงหิมพานต์จากเอล กานัล ซึ่งเป็นรางวัลที่สงวนไว้สำหรับผู้กล้า ที่พร้อมจะออกท่องไปตามย่านที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ค่อยไปเยือนเท่านั้น

     จะว่าไปแล้ว ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจตามปรัชญาทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นการตลาดที่พอเหมาะ ทำเลที่ดี บริการที่เหนือชั้น และตลาดนิชของตัวเอง ดูเหมือนกำลังค่อยๆ หยั่งรากลึกในคิวบา จึงเป็นโอกาสอันดีของนักท่องเที่ยวที่จะมาดูความเปลี่ยนแปลงและงอกงามนี้ของคิวบาด้วยตาตนเอง

     ขอเพียงแต่รู้ว่าต้องมองหาที่ไหนเท่านั้น

Essentials


Alfredo de Oro Billiards Academy

Calle Florencia 252
e/Bellavista & Parque El Cerro, Havana
โทร. +53-7-640-1323

Casa de Vino El Canal

Calle Parque 712
e/Armonia & Via Blanca El Cerro, Havana

Clandestina

403 e/Teniente Rey & muralla Habana Vieja, Havana
โทร. +53-7-860-0997
clandestina.co

Finca Tungasuk

Km 17 Autopista Pinar del Rio
Presa La Coronela, Caimito, Artemisa
โทร. +53-5-431-1698
www.fb.com/tungasuk

Gran Hotel Manzana Kempinski La Habana

Calle San Rafael
e/Monserrate & Zulueta Habana Vieja, Havana
โทร. +53-7-869-9100
bit.ly/2ywT4Al

Velo Cuba

Vedado Montero Sanchez
34 e/Calle 21&23
โทร. +53-7-830-8598
veloencuba.com