HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


Turn of the Tide

โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย อาจช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความสุขของผู้ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยเกษียณได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

     ยามรุ่งสาง ราว 6 นาฬิกา ขณะที่ดวงอาทิตย์ทอแสงสีส้มทาทาบขอบฟ้า และถนนหนทางในกรุงเทพมหานครเริ่มคลาคล่ำไปด้วยรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ต่างรีบเร่งไปถึงที่หมาย บรรยากาศยามเช้าอันเงียบสงบของชุมชนบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยในสมุทรปราการกลับเป็นตรงกันข้าม ที่นี่ผืนน้ำทอประกายระยิบระยับ และหากเงี่ยหูฟังจะได้ยินเสียงนกร้องและใบไม้เสียดสีตามแรงลม อันเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเริ่มต้นของชีวิตในวันใหม่ ในช่วงเวลานี้เอง พระภิกษุจากวัดอโศการามจะเริ่มออกเดินผ่านหมู่บ้านใกล้เคียง โดยลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยเพื่อรับบิณฑบาตและให้พรแก่เหล่าพุทธศาสนิกชน

     และภาพขบวนพระสงฆ์กำลังเดินบิณฑบาตคือหนึ่งในสิ่งที่มองเห็นได้จากริมระเบียงคอนโดมิเนียม ‘สวางคนิเวศ’ คอนโดขนาด 468 ยูนิต บนพื้นที่ 25 ไร่แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน เพื่อเป็นชุมชนแห่งแรกสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับครอบครัว และมีอายุ 55 ปีขึ้นไป ในตอนเช้า ผู้พักอาศัยหลายคนจะลงมายังชั้นล่างเพื่อใส่บาตรให้กับพระสงฆ์ ซึ่งเดินบิณฑบาตผ่านสวนอันเขียวชอุ่มของโครงการ อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถึงช่วงเวลาดังกล่าว ผู้พักอาศัยที่นี่จะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยกิจกรรมฆ่าเวลาสุดโปรดอย่างการ ‘เล่นไลน์’  

     “ทุกคนที่นี่ชอบใช้แท็บเล็ตหรือไม่ก็ไอโฟนแชทหากัน” ดร. ม.ร.ว.สมพร สุทัศนีย์ กล่าว เธออาศัยอยู่ที่โครงการนี้มาเกือบ 4 ปีแล้ว และยังคงดำรงตำแหน่งอาจารย์พิเศษอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี “เรารู้ว่าต้องทำยังไงถึงจะตามเด็กรุ่นใหม่ทัน ที่นี่เราทุกคนใช้มือถือแชทหาเพื่อน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ และบอกอรุณสวัสดิ์กัน” เธอกล่าวพลางยิ้ม ในขณะที่วิมล ตันธสุรเศรษฐ์ ซึ่งพักอยู่ที่คอนโดแห่งนี้กับนฤมล ผู้เป็นน้องสาว เสริมว่า “มันดีต่อสมอง การใช้เทคโนโลยีเป็นวิธีที่ทำให้เรารู้สึกตื่นตัวตลอดวัน เราถ่ายรูปดอกไม้แล้วก็คุยกัน มันช่วยให้จิตใจกระปรี้กระเปร่า”

     พญ.นาฏ ฟองสมุทร ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุชื่อดังแห่งสภากาชาดไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งคอนโดสวางคนิเวศ สรุปว่าทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะคนวัยเกษียณในปัจจุบันปรับตัวเก่ง และสามารถเชื่อมต่อวิถีชีวิตเข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว

     เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชุมชนผู้สูงอายุแห่งนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากเดิมในยุคนั้นที่มีเพียงบ้านพักคนชราแออัดไม่กี่แห่ง คอนโดสวางคนิเวศเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิวัติวงการดูแลผู้สูงอายุยากจนที่ป่วยหรือไม่มีคนดูแล เพราะในสมัยนั้น ทัศนคติของสังคมยังจำกัดอยู่แค่ว่า การส่งผู้สูงอายุในครอบครัวเข้าไปอยู่ในบ้านพักคนชราถือเป็นสัญลักษณ์ของการทอดทิ้ง และไม่ใช่สิ่งที่สมาชิกในครอบครัวที่รักกันพึงกระทำ

     “ตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีแนวคิดเรื่องชุมชนผู้สูงอายุ การเริ่มต้นโครงการคอนโดสวางคนิเวศจึงเป็นอะไรที่ท้าทาย และต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะสามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยเรื่องการดูแลผู้สูงอายุได้” พญ.นาฏ อธิบาย

ผู้พักอาศัยที่่นี่จะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยกิจกรรมฆ่าเวลาสุดโปรดอย่างการ 'เล่นไลน์'

     มุมมองต่อแนวคิดดังกล่าวเปลี่ยนไปมากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากสิ่งที่ชุมชนสวางคนิเวศได้แสดงให้เห็น ชุมชนแห่งนี้เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดเรื่อง Active Aging ซึ่งสนับสนุนให้ผู้สูงวัยสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อยู่อาศัยคนอื่นๆ และใช้ชีวิตอย่างเบิกบาน รวมถึงพยายามเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อยู่ตลอด ที่อยู่อาศัยแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น สระว่ายน้ำสำหรับทำกายบริหาร พื้นที่โครงการซึ่งออกแบบให้รถเข็นเข้าถึงได้ กิจกรรมท่องเที่ยวซึ่งจัดขึ้นเป็นระยะๆ ไปจนถึงสวนชุมชน และปุ่มฉุกเฉินในกรณีเกิดปัญหาสุขภาพ รวมทั้งยังรองรับไลฟ์สไตล์หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ผู้ที่สามารถใช้ชีวิตลำพังโดยไม่ต้องมีผู้ช่วยเหลือ ไปจนถึงผู้ที่ต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ

     ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากความต้องการทางด้านกายภาพ ชุมชนแห่งนี้ยังให้ความสำคัญกับภาวะทางอารมณ์และจิตใจของผู้อยู่อาศัย ผ่านการออกแบบซึ่งเน้นพื้นที่ชุมชน โดยพื้นที่ส่วนกลางและทางเดินคดเคี้ยวในชุมชนแห่งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่อาศัยมากขึ้น

     “เราอยู่กันเหมือนครอบครัวใหญ่ ผู้สูงอายุมีสมาชิกในครอบครัวให้พูดคุยและสังสรรค์ด้วย ถ้าเขาอยู่ที่บ้านในกรุงเทพฯ เขาอาจไม่ได้เจอคนเยอะถ้าอยู่แต่บ้าน แต่ที่นี่เป็นเสมือนห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ อยู่ที่นี่สมองจะได้ทำงานตลอด ซึ่งเป็นผลดีในแง่ของสุขภาพ เพราะคนแก่ที่อยู่คนเดียวนานๆ อาจนำไปสู่อาการป่วยทางจิต เช่น อัลไซเมอร์หรือความจำเสื่อม แต่การเข้าสังคมจะช่วยให้สมองตื่นตัวอยู่ตลอด” พญ.นาฏ กล่าว ในขณะที่นฤมลเสริมว่า “พอมาอยู่ที่นี่ คุณจะมีโอกาสได้พูคคุยกับคนทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่คนในครอบครัวหรือลูกหลาน คุณจะได้เจอทั้งคนที่แก่และเด็กกว่า ทำให้คุณมีอะไรใหม่ๆ เรียนรู้ได้ทุกวัน”

     รีณา ยิบ ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยที่โครงการแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน เช่นเดียวกับคนอื่นๆ รีณาจ่ายเงิน 1 ล้านบาทเพื่อรักษาสิทธิอยู่อาศัยที่คอนโดตลอดชีวิต และต้องจ่ายเงินอีก 2,500 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นค่าบำรุงรักษาและพัฒนาโครงการ กระนั้น ทุกอย่างดูจะคุ้มค่า “ชุมชนแห่งนี้ถูกออกแบบมาให้ตอบสนองความต้องการของเราจริงๆ ที่นี่มีห้องสมุด สระว่ายน้ำ ฟิตเนส และสวนหย่อม รวมทั้งมีคนภายนอกเข้ามาขายอาหารหรือสอนออกกำลังกาย เช่น ไทเก๊ก อยู่เป็นประจำ” เธอเล่า

     ทั้งนี้ กระแสการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังกระฉับกระเฉง เรียกได้ว่าเกิดขึ้นในช่วงที่เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทย ในช่วงทศวรรษ ‘60s และ ‘70s ซึ่งเป็นยุคที่จำนวนประชากรพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนถูกขนานนามว่าเป็นรุ่น ‘เบบี้บูมเมอร์’ ประชากรในเวลานั้นมีอัตราการขยายตัวพุ่งขึ้นสูงเกิน 3% ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ไม่สมดุล และอาจนำไปสู่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในเวลา 2 ทศวรรษ อย่างไรก็ตาม ต่อมาในทศวรรษที่ ‘90s อัตราการเกิดกลับลดลงฮวบ อันเนื่องมาจากวิถีชีวิตคนเมืองที่มีครอบครัวช้าลง หรือไม่มีเลย เมื่อปรากฏการณ์ดังกล่าวผนวกเข้ากับการที่คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น ประเทศไทยจึงกำลังใกล้เข้าสู่ภาวะที่ พญ.นาฏ เรียกว่า ‘สึนามิผู้สูงวัย’

     “5-10 ปีนับจากนี้ คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ทั้งหมดจะเข้าสู่วัยเกษียณ แรงกดดันของโลกการทำงานยุคใหม่ทำให้คนเดี๋ยวนี้มีลูกน้อยลง และไม่ค่อยมีเวลาดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว โครงการบ้านผู้สูงอายุจึงจำเป็นมาก และเป็นเหตุผลที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากเริ่มหันมาทำโครงการในลักษณะนี้” พญ.นาฏ กล่าว โดยเธอใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานกับสภากาชาดไทย เพื่อช่วยให้คำแนะนำกับทั้งภาครัฐและเอกชน ในการออกแบบที่อยู่อาศัยสมัยใหม่สำหรับผู้สูงวัย ให้สามารถตอบโจทย์ประชากรที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ โดยเน้นย้ำว่าบริการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันต้องเน้นหนักในเรื่องการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ “หมอมักย้ำอยู่ตลอดว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจาก 3 สาขา คือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การบริหารจัดการงานบริการ รวมทั้งการบริหารจัดการในด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต” พญ.นาฏ กล่าว

     หนึ่งในบุคคลที่ว่าก็คือแดเนียล โฮล์มส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Otium Living ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการไลฟ์สไตล์และการบริการ และผู้นำด้านการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยในเอเชีย โอเที่ยม ลิฟวิ่ง ได้จับตาดูการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว และใช้เวลาหลายปีทำวิจัยตลาดโดยการสัมภาษณ์คนไทยที่กำลังเข้าใกล้วัยเกษียณ สิ่งที่แดเนียลค้นพบคือ มุมมองเกี่ยวกับผู้สูงอายุของคนในประเทศนั้นกำลังเปลี่ยนไป

     “เราใช้เวลาสำรวจตลาดในฮ่องกง สิงคโปร์ และไทยอยู่นาน ซึ่งเราแปลกใจมากเมื่อรู้ว่าคนไทยอยากใช้ชีวิตหลังเกษียณยังไง พวกเขาพูดว่า ‘เราทำงานมาทั้งชีวิตแล้ว เราประสบความสำเร็จและก็รักครอบครัวมาก แต่เราไม่ได้อยากให้พวกเขาต้องมานั่งดูแลเราตลอดเวลา ไม่อยากมานั่งเป็นภาระของพวกเขา” เขาเล่า

      โอเที่ยม ลิฟวิ่ง กำลังเดินหน้าพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรีสำหรับผู้สูงวัย ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 3.5 พันล้านบาท ภายใต้ชื่อ ‘กมลา’ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ของ MonteAzure โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ในภูเก็ต โดยภายในพื้นที่จะประกอบไปด้วยที่พัก 200 ยูนิต กลุ่มเป้าหมายของที่นี่จะมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าระดับบน เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่บริษัทร่วมรับผิดชอบอยู่ กระนั้น หัวใจในการพัฒนาโครงการของโอเที่ยม ลิฟวิ่งก็ไม่ต่างจากบริษัทอื่นๆ ในแวดวงธุรกิจดูแลผู้สูงวัยและการเกษียณในยุคปัจจุบัน

     “กุญแจสำคัญคือต้องให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน หน้าที่ของเราคือการสร้างสถานที่สักแห่งให้ผู้สูงวัยสามารถพบปะและใช้เวลาร่วมกันได้ ด้วยการจัดกิจกรรมที่กระตุ้นการเข้าสังคมและใช้ความคิด เรากำลังคิดว่าจะเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามาบรรยาย จัดทริปล่องเรือ แข่งกอล์ฟ หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยของเราเข้ามามีส่วนร่วมและช่วยให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างสนุกสนานและมีชีวิตชีวา” แดเนียลกล่าว ก่อนจะบอกว่าในขณะที่คนมักเข้าใจว่าผู้สูงอายุคือคนที่ตกยุค คนวัยเกษียณในปัจจุบันมีวิถีชีวิตหลายอย่างที่คล้ายคนรุ่นใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องดนตรี แฟชั่น หรือการท่องเที่ยว ดังนั้นชุมชนผู้สูงวัยจึงต้องสามารถตอบสนองความต้องการต่างๆ เหล่านี้ของคนวัยเกษียณได้

เราทำงานมาทั้งชีวิตแล้ว เราประสบความสำเร็จและก็รักครอบครัวมาก แต่เราไม่ได้อยากให้พวกเขาต้องมานั่งดูแลเราตลอดเวลา ไม่อยากมานั่งเป็นภาระของพวกเขา

     พญ.นาฏ กล่าวว่ามีโครงการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยอีกกว่า 10 แห่งที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งล้วนคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในอีกไม่กี่ปี พอดีกันกับการเกิด ‘สึนามิผู้สูงวัย’ ที่เธอกล่าวถึงในงานวิจัย “โครงการเหล่านี้จะนำหลักการแอคทีฟ เอจจิ้ง เข้ามาประยุกต์ใช้ทั้งนั้น”

      ความต้องการโครงการที่อยู่อาศัยในลักษณะดังกล่าวนั้นเพิ่มสูงขึ้น พญ.นาฏ กล่าวว่าเฉพาะที่สวางคนิเวศเพียงแห่งเดียวก็มีคนลงชื่อรออยู่ถึง 600-700 ราย แม้ว่าช่วงเกษียณอายุของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะยังเหลืออีกหลายปีก็ตาม โดยคนเหล่านี้ต่างก็มองหาชุมชนอยู่อาศัยที่ส่งเสริมให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ “เราอยู่ที่นี่คนเดียว แต่ก็ไม่เคยรู้สึกเหงา ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยต้องมีทุกอย่างพร้อม และต้องตอบโจทย์ความต้องการในชีวิต เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งที่นี่มีพร้อมทุกอย่าง” ดร. ม.ร.ว.สมพรกล่าว

     จะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่องโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเกษียณอายุในประเทศไทยไปตลอดกาล ตัวอย่างที่สวางคนิเวศสร้างไว้ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ และโครงการอีกกว่า 10 แห่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นก็จะยิ่งผลักดันให้กระแสดังกล่าวเติบโตอย่างต่อเนื่อง คนไทยส่วนใหญ่อาจยังคงอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ กระนั้น สำหรับใครที่ตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตที่ต่างออกไป ไม่ว่าจะเพราะเป็นโสดหรือรักอิสระ เขาจะมี ‘บ้าน’ เหล่านี้ที่พวกเขาสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งจริงๆ 

Essentials


โครงการสวางคนิเวศ


888 หมู่ 2 ถนนสุขุมวิท
ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง
สมุทรปราการ
โทร. 02-389-1551-2

MontAzure Beachfront Sales Gallery

118/17 หมู่ 3 ตำบลกมลา
อำเภอกะทู้ ภูเก็ต
โทร. 076-604-000
montazure.com