HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


ห้องสมุด โคเวิร์กกิ้งสเปซ และเครื่องพิมพ์ 3 มิติ อาจเป็นหนทางที่จะพาเราไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้เร็วขึ้น

ไปพูดคุยกับทีซีดีซีและบรรดาพื้นที่สร้างสรรค์ถึงการเดินหน้าสู่เศรษฐกิจหลังยุคอุตสาหกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์และจำนวนหนังสือในห้องสมุดเป็นตัวชี้วัด

     เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คลิปวิดีโอของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่กำลังให้สัมภาษณ์กับหนุ่มสาวชาวกรุงท่าทางชิคในคาเฟ่แห่งหนึ่ง​ได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกออนไลน์ ชายหนุ่มในเสื้อวินสีส้มพยายามอธิบายถึงความจำเป็นในการตั้งศูนย์การเรียนรู้ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ผู้สัมภาษณ์ผิดคาด เพราะไม่มีใครคิดว่าคำพูด ‘ปัญญาชน’ เช่นนี้จะออกมาจากปากคน ‘หาเช้ากินค่ำ’ ได้ แต่ในที่สุดคำพูดของชายหนุ่มก็สามารถโน้มน้าวใจคนกลุ่มนี้ได้สำเร็จ

     หากมองพ้นประเด็นดราม่าบนโลกอินเตอร์เน็ต (บางคนรู้สึกว่า การใช้ภาพหนุ่มวินมอเตอร์ไซค์สะท้อนทัศนคติดูถูกอาชีพและชนชั้น) ก็อาจฟังดูน่าชื่นใจไม่น้อยที่คลิปวิดิโอโปรโมตการก่อสร้างห้องสมุดขนาดใหญ่กลายมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างได้ จนส่งผลให้จำนวนผู้ร่วมลงชื่อแคมเปญรณรงค์สร้างศูนย์การเรียนรู้บนเว็บไซต์ Change.org ทะยานขึ้นเป็น 175,000 รายชื่ออย่างรวดเร็ว

     การถกเถียงกันของคนในสังคมเกี่ยวกับการสร้างศูนย์การเรียนรู้เช่นนี้บ่งบอกความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ปัจจุบัน ความคล่องเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นประเด็นที่ทุกคนกล่าวถึง แทบจะไม่เว้นแต่ละสัปดาห์ที่รัฐบาลจะต้องออกมาโฆษณาโครงการอะไรสักอย่างภายใต้ชื่อ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ นอกจากนั้น ศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ (ทีซีดีซี) ก็เพิ่งเปิดทำการอีกครั้งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา (ซึ่งทำให้พื้นที่เก่าที่เอ็มโพเรียมดูเล็กลงไปถนัดตา) และยังได้ขยายสาขาย่อยออกไปอีกกว่า 10 แห่งภายใต้ชื่อ miniTCDC Center และ TCDC Commons ในขณะที่ Hubba ก็ได้เปิดตัวโคเวิร์กกิ้งสเปซสาขาใหม่ๆ ซึ่งรวมถึง Hubba-to ‘เมกเกอร์สเปซ’ แห่งล่าสุดที่เพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทสถาปัตยกรรมภายในที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2560 จากการลงคะแนนของผู้อ่านบนเว็บไซต์สถาปัตยกรรมชื่อดัง ArchDaily ไปหมาดๆ

     พื้นที่เหล่านี้ พร้อมกับ ‘ครีเอทีฟสเปซ’ อีกหลายแห่ง เช่น Pinn Creative Space และ FabCafe ล้วนมีศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 แต่การจะสร้างประเทศให้เป็นชุมชนแห่งนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์นั้นถือเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยมากกว่าเพียงพื้นที่ที่สวยสะดุดตา

หากไม่สามารถก้าวพ้นจากไทยแลนด์ 3.0 ไปสู่ 4.0 ได้ สิ่งที่ประเทศจะไปถึงแทนคือกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap)

การปฏิวัติครั้งที่สี่

     เศรษฐกิจหลังยุคอุตสาหกรรมมีคำเรียกอยู่หลายชื่อ แต่จะใช้คำว่า ‘Post-Fordism (ยุคหลังฟอร์ดนิยม)’ ก็อาจฟังดูน่ากลัวไปสักหน่อยสำหรับประเทศที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ในขณะที่ Creative Economy หรือ ‘เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์’ ก็ถูกโยงอย่างแนบแน่นกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร (ทีซีดีซีและสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้จัดตั้งขึ้นภายใต้รัฐบาลทักษิณ) อาจเป็นด้วยเหตุนี้ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงเลือกที่จะใช้คำว่า ‘ไทยแลนด์ 4.0’ โดยมีนัยถึงวิวัฒนาการ 4 ขั้นของเศรษฐกิจไทยได้แก่ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรมเบา ยุคอุตสาหกรรมหนัก และยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

     หากถือตามนี้ สถานะของประเทศไทยในปัจจุบันต้องเรียกว่าอยู่ที่ ‘ไทยแลนด์ 3.0’ เพราะกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ยังมาจากอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมพลังงาน กระนั้น ไทยแลนด์ 4.0 หรือสังคมเปี่ยมความสร้างสรรค์ที่จะคิดค้นเทคโนโลยีล้ำสมัยหรือแอปพลิเคชันสะเทือนตลาดนั้น นับเป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องไปให้ถึง เพราะหากไม่สามารถก้าวพ้นจากไทยแลนด์ 3.0 ไปสู่ 4.0 ได้ สิ่งที่ประเทศจะไปถึงแทนคือกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) ซึ่งเป็นแหล่งรวมของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ความขัดแย้งในสังคม ตลอดจนความไม่มั่นคงในอาชีพของแรงงานไร้ฝีมือ

     “ไม่แน่ใจว่าเรามาถึงไทยแลนด์ 4.0 แล้วหรือยัง” กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแฟบคาเฟ่กล่าวพร้อมหัวเราะ พื้นที่สร้างสรรค์แห่งนี้ได้รวมเอาคาเฟ่บรรยากาศน่านั่งทำงาน เวิร์กช็อปเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และห้องเรียนมาไว้ในที่เดียว เธอเสริมด้วยว่า“เอาจริงๆ โรงงานหลายแห่งในไทยยังติดอยู่ในยุค 2.0 หรือยุคอุตสาหกรรมเบา ผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างยังทำมืออยู่เลย เราจะมานั่งรอให้นโยบายมันไปถึง 4.0 ไม่ได้ เราต้องลงมือทำจากล่างขึ้นบน”

     แฟบคาเฟ่ของกัลยาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายแฟบคาเฟ่จากทั้งหมด 9 แห่งทั่วโลก ไล่ตั้งแต่บาร์เซโลนา สิงคโปร์ ไปจนถึงไทเป คาเฟ่แห่งนี้มี digital fabrication tool หรือเครื่องมือเพื่อการตัดแต่งแบบดิจิทัล อาทิเครื่องตัดเลเซอร์และเครื่องพิมพ์ 3 มิติ รวมทั้งยังมีจัดเวิร์กช็อปอบรมเพื่อสอนการใช้เครื่องมือดังกล่าว นอกจากนั้น พื้นที่แห่งนี้ก็ยังคงไว้ซึ่งความ ‘ฮิป’ ตามแบบฉบับร้านกาแฟสมัยนิยมทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศอันเอิบอาบไปด้วยแสงธรรมชาติ เครื่องชงกาแฟเอสเปรสโซอย่างมืออาชีพ การตกแต่งแบบมินิมัล และด้วยความที่แฟบคาเฟ่สาขากรุงเทพฯ นั้นตั้งอยู่ในซอยอารีย์อันร่มรื่น ทำให้ลำพังการแวะไปจิบลาเต้หอมๆ สักแก้วก็ออกจะคุ้มแล้ว

     “เราเป็นอีกช่องทางให้คนได้ทำงานร่วมกัน เราเชื่อมต่อคนทำงานด้านซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์และเหล่าครีเอทีฟเข้าด้วยกัน เด็กๆ หลายคนมาที่นี่เพื่อเข้าร่วมเวิร์กช็อป ในขณะที่สาขาของเราที่ทีซีดีซีอาจจะเหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่า นอกจากนี้เรายังมีจัดอบรมให้บริษัทเอกชน เช่นชิเชโด้อยู่ตลอดด้วย” กัลยาเล่า

     แฟบคาเฟ่เคยทำโครงการร่วมกับเกษตรกรโดยให้พวกเขาร่วมงานกับนักออกแบบเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันต่างๆ ผ่านการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งจากการพบปะดังกล่าว ได้นำมาซึ่งการพัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยให้เกษตรกรหว่านเมล็ดได้เร็วขึ้นและเครื่องมือทดสอบคุณภาพไข่ที่ใช้ง่ายและประหยัดกว่าเดิม

      “นักออกแบบประเทศไทยเก่งๆ เยอะ แต่อาจจะติสท์เกินไปหน่อย เราเลยพยายามติดต่อพวกเขาผ่านช่องทางอย่างเฟสบุ๊คและจัดเวิร์กช็อปให้เขาร่วมงานกับแบรนด์หรืออุตสาหกรรมต่างๆ โดยตรง จะได้สร้างสรรค์งานออกแบบที่ตอบโจทย์กับปัญหาจริงๆ ที่นี่เป็นเสมือนพื้นที่ที่เชื่อมทุกคนเข้าด้วยกัน” เธอย้ำ

     ตามที่กล่าวถึงไปก่อนหน้า ฮับบาโตะเจ้าของรางวัลชนะเลิศจากเว็บไซต์อาร์ชเดลี คือโคเวิร์กกิ้งสเปซเปิด 24 ชั่วโมงประจำโครงการ T77 ในย่านอ่อนนุชของแสนสิริ โดยเช่นเดียวกับแฟบคาเฟ่ ฮับบาโตะอุทิศพื้นที่แห่งนี้ให้กับการสร้างเครือข่ายต่างๆ อันเป็นภารกิจที่บริษัทสถาปนิก Supermachine Studio ได้สะท้อนให้เห็นผ่านกลุ่มท่อสีเขียวฟ้าน้ำทะเลที่ทอดคดเคี้ยวจากเพดาน ผ่านผนัง ก่อนจะมาสิ้นสุดที่ปลายท่อซึ่งมีโคมไฟเล็กๆ เหนือโต๊ะทำงาน

     ภายในพื้นที่ของฮับบาโตะประกอบด้วยโต๊ะเรียงกันเป็นแนวยาว รวมถึงพื้นที่ทดลองงานอดิเรกใหม่ๆ อาทิ ห้องมืดสำหรับล้างฟิล์ม ห้องปั้นเซรามิก และเมกเกอร์สเปซ ที่มาพร้อมกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติและห้องแล็บอาหาร ที่นี่ยังเสิร์ฟกาแฟ Aeropress (ซึ่งเป็นการชงกาแฟด้วยแรงดันอากาศ) จากร้าน April Story คาเฟ่ชื่อดังละแวกสามย่านให้คนที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำได้เติมคาเฟอีนเข้าร่างกาย หรือจะแวะเวียนมาเข้าร่วมเวิร์กช็อปฝึกทักษะการออกแบบเป็นครั้งคราวก็ย่อมได้

เชื่อมจุด

     อมฤต เจริญพันธ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งฮับบากรุ๊ป พูดถึงโคเวิร์กกิ้งสเปซของเขาอย่างไม่ลังเลว่า ถึงดีไซน์จะสวยแค่ไหน แต่พื้นที่ก็ยังเป็นเรื่องรอง “การทำงานร่วมกันไม่ใช่แค่เรื่องโต๊ะหรือตัวห้อง แต่คือการสร้างสภาพแวดล้อมให้บริษัทต่างๆ สามารถเติบโต รวมถึงการให้คำปรึกษา ระดมเงินทุน และเป็นฐานให้พวกเขางอกงามได้” เขาอธิบาย

      หนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จที่อมฤตพูดถึงคือ Indies’ Kitchen ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารเพื่อสุขภาพซึ่งใช้พื้นที่ของฮับบาโตะทดลองทำอาหารให้ลูกค้าประจำได้ลิ้มลอง จนกระทั่งเมื่อธุรกิจเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง สตาร์ทอัพแห่งนี้จึงสามารถขยายกิจการไปยังที่อื่นๆ ได้ “ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นเสมือนดีเอ็นเอของที่นี่ เราจัดอีเวนต์และเวิร์กช็อปถี่กว่าคนอื่นๆ เรามีคนระดับหัวกะทิแวะเวียนมาตลอด ที่นี่มีทั้งห้องล้างฟิล์ม ห้องแล็บอาหาร และเมกเกอร์สเปซไว้ให้กูรู ด้านเทคโนโลยีและดีไซน์เนอร์พบปะสังสรรค์ และร่วมสร้างธุรกิจใหม่ๆ กัน” อมฤตกล่าว

     ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Techsauce สื่อออนไลน์และบริษัทจัดอีเวนต์ในแวดวงเทคโนโลยี อมฤตจึงสามารถบอกเล่าถึงวิวัฒนาการของเศรษฐกิจยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี และเขาก็เน้นย้ำว่าครีเอทีฟสเปซอย่างแฟบคาเฟ่และฮับบาโตะไม่สามารถเป็นคำตอบสำหรับทุกอย่าง

      “เราเป็นแค่จุดเล็กๆ ท่ามกลางปัญหาที่ใหญ่กว่ามาก อย่างเรื่องบุคลากร เศรษฐกิจดิจิทัลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าคนขาดการศึกษาไหนจะเรื่องกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ ไหนจะวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยยอมรับความล้มเหลว ถ้าล้ม คนก็จะซ้ำ ขนาดประสบความสำเร็จ ก็ยังอาจมีคนจ้องจะสกัดดาวรุ่ง รัฐเองก็ดูเหมือนจะอยู่ตรงกันข้ามกับเรา” เขากล่าว

ในประเทศพัฒนาแล้วมีสถาบันต่างๆ ที่สนับสนุนการเรียนรู้นอกระบบเช่นศูนย์การออกแบบ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดสาธารณะ สิ่งเหล่านี้ช่วยบ่มเพาะสังคมแห่งการเรียนรู้

ชุมชนสร้างสรรค์​

     ถึงกระนั้น ทีซีดีซีถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้ให้การสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยเหมือนกัน ทีซีดีซีเปิดทำการครั้งแรกที่ห้างเอ็มโพเรียมเมื่อปี 2547 ก่อนจะย้ายที่ทำการมายังพื้นที่ 1 หมื่นตารางเมตรของอาคารไปรษณีย์กลางบางรักบนถนนเจริญกรุง ซึ่งเพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่ไปเมื่อไม่นานมานี้

      นพดล ลิ้มวัฒนะกูร ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของทีซีดีซีกล่าวว่าภารกิจของทีซีดีซีนั้นยังเหมือนสมัยเพิ่งก่อตั้ง “ในปี 2547 พวกโรงงานรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ทยอยปิดตัวลงและย้ายฐานการผลิตไปยังอินโดนีเซีย จีน และเวียดนาม ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวขณะที่อุตสาหกรรมการออกแบบนั้นสร้างกำไรได้สูงที่สุด แต่นักออกแบบส่วนใหญ่กลับอยู่ในสหรัฐฯหรือยุโรป ส่วนในประเทศไทยดีไซน์เนอร์และเจ้าของโรงงานแทบไม่เคยรู้จักกัน”

     แต่สิ่งที่จะไม่เหมือนเดิมคือทีซีดีซีกำลังจะแยกตัวออกจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) และตั้งตนเป็นหน่วยงานอิสระที่เน้นด้านนโยบายมากขึ้น เสมือนเป็นกรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ แวดวงนักออกแบบและรัฐบาล นพดลเชื่อว่าพื้นที่ทางกายภาพสามารถช่วยขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ได้

      “ในประเทศพัฒนาแล้วมีสถาบันต่างๆ ที่สนับสนุนการเรียนรู้นอกระบบ เช่นศูนย์การออกแบบ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดสาธารณะ สิ่งเหล่านี้ช่วยบ่มเพาะสังคมแห่งการเรียนรู้ ความรู้คือสิ่งที่คุณจะได้รับเมื่อพูดคุยกับคนอื่น อ่านหนังสือ เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ หรือถกเถียงกัน ผมเชื่อว่าถ้าเราแจกเงิน 100 ล้านบาทให้แต่ละจังหวัดเอาไปซื้อหนังสือ ภายใน 10 ปี เราคงไปถึงไหนต่อไหนแล้ว” เขากล่าว

     สำหรับนพดล สิ่งหนึ่งที่ปรากฏเด่นชัดคือความต้องการห้องสมุด นพดลเล่าว่าเมื่อ 13 ปีก่อนไม่มีใครคาดคิดว่าคนไทยจะอยากมีห้องสมุด แต่ทุกวันนี้ทีซีดีซีได้ขยายสาขาออกไปยังจังหวัดต่างๆ ผ่าน miniTCDC ซึ่งตั้งอยู่ตามมหาวิทยาลัยประจำภูมิภาค 13 แห่งและมีหนังสือ 250 เล่มหมุนเวียนกันไป ตลอดจนทีซีดีซี คอมมอนส์ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ให้กับเอกชนอย่างคอนโดมีเนียม IDEO Q ตรงสามย่าน นอกจากนี้ทีซีดีซียังมีศูนย์ทำการเต็มตัวที่เชียงใหม่และยังมีแผนจะเปิดอีกสาขาที่ขอนแก่นในช่วงต้นปี 2561 ด้วย

     “การออกแบบนั้นมีมากกว่าที่คนทั่วไปคิด มันคือกระบวนการส่งมอบประสบการณ์ให้ลูกค้าตลอดระยะทางการบริโภค มันไม่ใช่แค่การดีไซน์แพคเกจจิ้งสวยๆ แต่กระบวนการออกแบบต้องอยู่กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตั้งแต่ต้น เรื่องนี้ใช้ได้กับการปกครองด้วย เวลารัฐบาลจะเสนอบริการบางอย่าง เขาต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริง” นพดลกล่าวถึงปรัชญาที่ทีซีดีซีพยายามถ่ายทอด

     อย่างไรก็ตาม ภารกิจของทีซีดีซีแห่งใหม่บนถนนเจริญกรุงนั้นมีมากกว่าสาขาอื่นๆ เพราะรวมถึงการปรับเปลี่ยนย่านให้กลายเป็น ‘พื้นที่สร้างสรรค์’ ในอุดมคติของทีซีดีซี “เมื่อ 5 ปีก่อนตอนเรามาลงพื้นที่ที่นี่ ทุกอย่างเงียบมาก 5 โมงเย็นร้านรวงก็เริ่มปิดแล้ว เราลงไปทำงานกับชุมชนอยู่ 8 เดือน จริงๆ เคยมีหน่วยงานอื่นเข้ามาทำอะไรคล้ายกันนี้ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริง ชาวบ้านก็เบื่อเรื่องแบบนี้เต็มทน เราเลยพยายามทำอะไรที่เป็นรูปธรรมให้พวกเขาเห็น เช่นจัดงานเต้นสวิง เปลี่ยนพื้นที่หน้าไปรษณีย์กลางให้เป็นสวนสาธารณะ ฉายหนังกลางแปลง และในอนาคตเรามีแผนจะร่วมมือกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในย่านเจริญกรุง เราพยายามทำให้คนเข้าใจว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นสำคัญต่อการดำรงชีวิต” นพดลเล่า

     นพดลเชื่อว่าเรากำลังก้าวไปสู่ยุคเศรษฐกิจแบบ ‘post-brand’ ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคอาจไม่ต้องการแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างสตาร์บัคส์อีกต่อไป แต่อยากซื้อกาแฟจากร้านเล็กๆ เปิดในละแวกมากกว่า ในบริบทดังกล่าว เศรษฐกิจสร้างสรรค์และชุมชนย่อมไม่สามารถแยกจากกันได้ เพื่อสร้างความสุกงอมเช่นนั้น ทีซีดีซีเจริญกรุงได้ดึงเอาโคเวิร์กกิ้งสเปซจากนอกชุมชนอย่างฮับบา แฟบคาเฟ่ และภิญญ์ครีเอทีฟสเปซ เข้ามาร่วมงานด้วย รวมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานภายในย่าน ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงหรือทางเท้าที่สะอาดขึ้น “สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ดีแค่กับตัวย่าน เพราะเวลาเราคิดไอเดียหรือดีไซน์ใหม่ๆ ออกมาได้ มันก็อาจส่งผลให้โรงงานเครื่องประดับในบางนาหรือโรงงานเฟอร์นิเจอร์อะไรก็แล้วแต่มีออเดอร์มากขึ้น ฉะนั้นเวลาเราพูดคำว่าพื้นที่สร้างสรรค์ มันไม่ได้หมายถึงแค่ตัวชุมชน แต่ยังโยงไปถึงสายโซ่อุปทานด้วยทั้งหมด” เขาอธิบาย

     ท่ามกลางการพูดถึงเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์และศูนย์การเรียนรู้กันอย่างหนาหูนี้ อมฤต แห่งฮับบายังคงแสดงความกังวลว่า การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องอาศัยมากกว่าแค่การสร้างห้องสมุดและจัดงานสัมมนา“เราต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ ถ้าคนของเราเก่ง พื้นที่สร้างสรรค์อาจจะไม่จำเป็นเลย เศรษฐกิจดิจิทัลจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงต่อเมื่อเราแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาสำเร็จ”

     ในขณะที่เราตั้งหน้าตั้งตารอให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้น (ซึ่งจากจุดนั้นเราก็ยังต้องรออีกประมาณ 20 ปี กว่าจะสามารถผลิตผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหรือปะทุไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ได้) ในขณะนี้ พื้นที่สร้างสรรค์อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด นพดลกล่าวว่า “เราจะยกคำตอบของประเทศอื่นมาทื่อๆ ไม่ได้ ความท้าทายของแต่ละประเทศแตกต่างกัน เราต้องพยายามหาวิธีแก้ปัญหาที่จะสัมฤทธิ์ผลที่นี่ให้ได้”

     ที่แฟบคาเฟ่ กัลยามีความสุขอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเล่าถึงเรื่องราวของเด็กชาย 2 คนที่มักมีเรื่องชกต่อยกันที่โรงเรียน จนกระทั่งได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปประดิษฐ์หุ่นยนต์ต่อสู้ ปัจจุบันนี้พวกเขาหันมาแข่งกันด้วยทักษะด้านเทคโนโลยีแทนการรัวหมัด

     สำหรับกัลยา สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยก็มีหัวสร้างสรรค์ไม่แพ้ชาติใดในโลก ขอเพียงพวกเขาได้รับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ให้เจริญงอกงามเท่านั้น

Essentials


Fab Cafe


77/1 ซอยอารีย์ 1 ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ
โทร. 083-619-9983
www.fabcafe.com/bangkok

Hubba-to

307 ศูนย์การค้าฮาบิโตะ ชั้น 3
ซอยริมคลองพระโขนง
โทร. 02-118-0839
www.hubbathailand.com

Thailand Creative and Design Center (TCDC)

1160 อาคารไปรษณีย์กลาง
ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
โทร. 02-105-7400
tcdc.or.th