SECTION
ABOUTCLIENT VALUES
The Next Chapter
ตะวัน เทวอักษร กับบทบาทของทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 ผู้นำพาอักษรเจริญทัศน์ไปสู่อันดับหนึ่งในฐานะผู้ผลิตสื่อการเรียนการสอน
ท่ามกลางความผันแปรของยุคดิจิทัล อักษรเอ็ดดูเคชั่นจำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตหนังสือแบบเรียนที่นักเรียนไทยคุ้นเคยในชื่ออักษรเจริญทัศน์หรือ ‘อจท.’ ภายใต้การนำของทายาทรุ่นที่ 3 ตะวัน เทวอักษร กำลังพลิกบทบาทจากการเป็นเพียงบริษัทสร้างเนื้อหา มาสู่ความเป็นบริษัทออกแบบการเรียนรู้ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม มากกว่าการเป็นผู้นำตลาดสื่อการเรียนการสอน อักษร เอ็ดดูเคชั่นอาจกำลังจะเป็นที่จดจำในฐานะหนึ่งในผู้มีส่วนช่วยปิดช่องว่างทางโอกาสของเยาวชนในประเทศ ผ่านทางการสร้างการศึกษาคุณภาพให้เป็นไปได้แม้ในห้องเรียนที่ขาดแคลนที่สุด
จุดเริ่มต้นเล็กๆ
สมัยก่อนหนังสือมีอยู่ที่เดียวคือวัด สมัยทวดท่านไปๆ มาๆ เมืองจีน ท่านก็แบกหนังสือไปขายตามวัด พอต่อมารุ่นปู่ ท่านย้ายมาอยู่เมืองไทยถาวร ท่านแบกหนังสือไปขายตามวัดเหมือนกัน แต่แบกไปแบกมาก็คิดว่าพิมพ์เองดีกว่า ไปยืมเงินมาซื้อเครื่องพิมพ์เครื่องละเก้าร้อยกว่าบาท แล้วก็เริ่มพิมพ์ใบลานไปขายวัดสุทัศน์ ก็บังเอิญเจอกับเจ้าอาวาส ท่านเห็นปู่ผมเป็นคนถ่อมเนื้อถ่อมตัวทำงานหนัก ท่านเลยถามว่าอยากเป็นคนจัดพิมพ์หรือเปล่า เดี๋ยวอาตมาจะแนะนำผู้เขียนให้ คือเมื่อก่อนเราเป็นแค่ปรินท์เตอร์คือเอาเนื้อหามาพิมพ์ แต่พอเป็นพับบลิชเชอร์ (สำนักพิมพ์) ก็คือเราต้องพัฒนาเนื้อหาเอง คุณปู่ท่านตอบตกลง พิมพ์หนังสือพระก่อน แล้วค่อยผันตัวมาพิมพ์หนังสือเรียน เรียกว่าทุกอย่างมันเริ่มต้นมาจากความดีและความเพียรของท่าน เริ่มมาจากก้าวเล็กๆ
บ่มเพาะนิสัยใฝ่รู้
มันอยู่ใน value ของที่บ้านตั้งแต่เด็กๆ ย้อนหลังไปเมื่อสักร้อยกว่าปีที่แล้ว คุณทวดผมอ่านหนังสือไม่ออก แต่ท่านลงทุนซื้อ Encyclopedia Britannica ให้ปู่ผม เป็นตู้เบ้อเริ่มเลยอยู่ที่บ้านที่เมืองจีน คิดดูตัวเองอ่านหนังสือไม่ออก แต่ลงทุนซื้อ encyclopedia ซึ่งแพงมาก เพราะเขาคิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับยกระดับคนในครอบครัว แล้วมันก็ไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ ปู่ผมไม่มีโอกาสเรียนหนังสือมากมาย แต่เขาก็ศึกษาเอง เป็นแบบ philosopher นั่งคุยกับเขานี่สนุกมาก เขาอ่านหนังสือโคตรเยอะเลย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปโรงเรียน คุยในระดับลึกได้ดีมาก มาถึงพ่อผม ได้ไปเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนอเมริกา ผมคิดว่ามันเป็นกระบวนการยกระดับทางจิตวิญญาณของครอบครัว ทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ
เดินตามต้นแบบ
ผมเรียนที่เซนต์คาเบรียล เรียนจบผมก็ไปต่อวิศวกรรมเครื่องกลที่ออสเตรเลีย แต่ตอนเรียนอยู่ผมก็รู้ว่าไม่ได้อยากเป็นวิศวกร อยากเป็นแบงก์เกอร์ คือในประเทศนี้ ผมมีแบงก์เกอร์ที่เคารพที่สุดอยู่ 2 คน คือพี่เตา บรรยง พงษ์พานิชกับพี่เม้ง วีรวัฒน์ ชุติเชษฐพงศ์ บังเอิญตอนเรียนปี 3 ผมได้เจอพี่เม้งแล้วก็รู้สึกว่า โห---คนนี้เจ๋งมาก อยากเป็นอย่างเขา ผมก็เอาเวลาที่เหลือตอนปี 4 มาศึกษาเรื่อง investment banking พอจบมาผมก็ไปสมัครงานที่ภัทร ก็โชคดีว่าเขารับ เพราะที่นั่นคนเก่งๆ เยอะ ผมได้รับประสบการณ์มากมาย ได้นำเสนองานให้ผู้นำองค์กรฟัง ได้ฝึกเรื่อง critical thinking เยอะมากเพราะถ้าทำงานแย่ นายเขาก็ด่า และด้วยความที่ทำงานเป็น financial advisor ก็เลยได้รู้จักกับคนมากหน้าหลายตา ทำให้เราได้ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น ผมได้อะไรจากภัทรเยอะมาก
รับช่วงธุรกิจ
ทำงานที่ภัทรได้สักพัก ผมก็ไปเรียนต่อที่ลอสแองเจลิสทางด้านธุรกิจ พอจบปริญญาโทก็กลับมาที่ภัทร ช่วงนั้นคุณพ่อผมอายุประมาณ 60 กว่าๆ ท่านก็พยายามเรียกผมให้กลับมาทำงานที่บ้าน แต่ด้วยความที่ผมมาจากสายการเงิน มีงานน่าตื่นเต้นตลอดเวลา ผมก็กลัวเบื่อ ไม่ยอมกลับ แต่พอดีมีเพื่อนผมคนหนึ่งพูดว่า ทำไม่เป็นหรอก รุ่นที่ 3 เป็นรุ่นทำเจ๊ง องค์กรนี้เขาดีอยู่แล้ว จะเข้าไปทำอะไรให้มันดีกว่านี้ได้ ผมก็รู้สึก โอ้โห---ปรามาสอย่างนี้ ต้องรับคำท้า ผมตั้งปณิธานเลยว่าพอเข้ามาจะต้องทำให้อักษรเจริญทัศน์เป็นองค์กรที่ยั่งยืน แข็งแรง และเป็นองค์กรที่มีประโยชน์ต่อสังคม สร้างผลกระทบในวงกว้างให้ได้
การเปลี่ยนแปลงก้าวใหญ่
สมัยก่อนเราเป็นบริษัทผลิตหนังสือเรียน แต่ทุกวันนี้เราเป็น Learning Design Company เรามีกระบวนการสอนที่ดี มีเนื้อหาที่ดีทั้งหนังสือและดิจิทัลประกอบกัน เน้นสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้แก่นักเรียน ตอนผมเข้ามาทำธุรกิจใหม่ๆ ผมยังไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการศึกษาเท่าไร ผมเลยเดินทางไปทั่วประเทศ ไล่คุยกับพนักงาน stakeholders ต่างๆ ไปจนถึงลูกค้าเพื่อหาว่าผมควรจะทำอะไร ต่างคนก็ให้คำตอบหลากหลายแต่สรุปได้ประมาณหนึ่งว่า พวกเขาต้องการการศึกษาที่ดีขึ้น ไม่ได้ต้องการแค่เนื้อหาในหนังสือเรียน มันเลยเกิดเป็นการเดินทางของอักษรเจริญทัศน์ตลอดสิบปีที่ผ่านมา
21st Century Skills
ทุกวันนี้โลกเราต้องการทักษะการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น เราไม่ได้แค่ต้องการคนมาทำตามคำสั่ง ถ้าเราจ้างลูกน้อง เราก็หวังว่าเราพูดสองสามคำแล้วเขาจะเอาไปทำต่อเองได้ หรือที่เราเรียกกันว่า 21st Century Working Skills ซึ่งประกอบด้วย collaboration, creativity, critical thinking และ communication (การทำงานร่วมกัน, ความคิดสร้างสรรค์, การคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ และการสื่อสาร) ดังนั้น เราจึงพยายามให้เกิดการเรียนที่บ่มเพาะทักษะเหล่านี้ จะเห็นว่าเวลาเราทำงานกับเพื่อนร่วมงาน เราก็คาดหวังว่าเขาจะมี 4 ข้อนี้ เวลาเราสัมภาษณ์ลูกน้องเราก็มองหา 4 ข้อนี้ เราไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะเรียนเก่ง ได้คะแนนดี คำถามคือเราจะสร้างทักษะเหล่านี้ได้อย่างไร สอนกันแบบเดิมๆ แล้วมันจะเกิดขึ้นไหม ทั้งหมดมันต้องเกิดจากกระบวนการเรียนการสอนที่ดี ซึ่งต้องเริ่มจากเนื้อหาที่ดี เสร็จแล้วครูมีความเข้าใจว่ากระบวนการเรียนการสอนที่ดีคืออย่างไร
สมัยก่อนเราเป็นบริษัทผลิตหนังสือเรียน แต่ทุกวันนี้เราเป็น Learning Design Company เรามีกระบวนการสอนที่ดี มีเนื้อหาที่ดีทั้งหนังสือและดิจิทัลประกอบกัน เน้นสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้แก่นักเรียน
กระบวนการสอนที่ดี
Pedagogy หรือกระบวนการสอนที่ดีแปลว่าอะไร ผมยกตัวอย่างห้องเรียนธรรมดาๆ ที่อยุธยา สิ่งที่เราทำคือเราออกแบบ lesson plan แล้วไปคุยให้ครูเอาสิ่งนี้ไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียน เช่น คุณครูถามเด็กว่าถ้าพวกเราต้องไปถึงลอนดอน 6 โมงเช้า เราต้องออกจากสุวรรณภูมิกี่โมง โจทย์นี้ยากนะ เพราะอย่างแรกเด็กต้องหาว่าลอนดอนห่างกี่กิโล เครื่องบินบินกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลอนดอนอยู่ช้ากว่ากรุงเทพฯ กี่ชั่วโมง ถ้าเป็นอาทิตย์ที่แล้วช้ากว่ากรุงเทพฯ หกชั่วโมง ถ้ามาสัปดาห์นี้ช้ากว่าเจ็ดชั่วโมง ดังนั้นกว่าจะรู้ว่าต้องออกจากรุงเทพฯ กี่โมง เด็กจะได้ความรู้ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เยอะแยะไปหมดเลย เสร็จแล้วเด็กยังได้ทำงานร่วมกัน หาคำตอบร่วมกัน ได้ทักษะต่างๆ ที่เราคาดหวังว่าเพื่อนร่วมงานดีๆ จะต้องมี นี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่เราพยายามสร้าง เราเปลี่ยนจากการเป็น textbook content company มาเป็น learning design company ครูก็เป็นครูธรรมดานี่แหละ เป็นครูแบบเก่าเลย แต่เราเอา lesson plan สมัยใหม่ไปให้เขา แล้วโค้ชจนเขาสามารถรันห้องเรียนแบบนี้ได้ ซึ่งผมว่ามันน่าตื่นตาตื่นใจ ผมไปนั่งอยู่ในห้องเรียนผมก็รู้สึก ฉันอยากกลับไปเป็นเด็กอีก
ภารกิจระดับชาติ
ปีนี้เราอบรมครูไป 70,000 คน เพื่อให้เขาเห็นภาพกระบวนการสอนของโลกแบบใหม่ ให้ครูเขามาลงมือทำ ปฏิสัมพันธ์กัน ให้เขาได้ผ่านกระบวนการอย่างนี้ แล้วพอครูสนุกเขาก็จะได้เอาประสบการณ์ไปส่งต่อให้นักเรียน เราก็บอกคุณครูว่าคุณครูมาสัมมนาแล้วรู้สึกตื่นเต้นใช่ไหม สนุกใช่ไหม นี่คือหนังสือเรียนนะ ส่วนนี่คือคู่มือครู คุณครูเอาอันนี้ไปถาม ถามคำถามนี้ มองหาคำตอบ แล้วทำกิจกรรมนี้เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนขยับ แล้วก็ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม แล้วพอเรียนจบ ครูถามคำถามนี้เพื่อเช็คความเข้าใจ คนมักจะบอกครูต้องสอนอย่างนั้นอย่างนี้ คำพูดสวยๆ หรูๆ แต่ พอถึงทางปฏิบัติจริงๆ ครูจะสอนยังไง สิ่งที่เราทำคือเราเอาคำเท่ๆ เหล่านี้มาเปลี่ยนเป็นแผนการสอน เป็นร่างคำพูด เป็น guildeline ให้ครูเขามองเห็นว่า เออ ฉันทำได้ ฉันได้รับอำนาจให้ทำ ผมไปโรงเรียนที่กระบี่ ไปเจอคุณครู คุณครูบอก มาจากอักษรเจริญทัศน์เหรอคะ ขอบคุณมากนะคะ ฉันไม่ได้จบตรงวิทยาศาสตร์ แต่ทุกวันนี้ฉันสอนวิทยาศาสตร์ ป.4 ได้ เพราะคู่มือครูของอักษรฯ ผมก็ โอ้โห---ชื่นใจมาก
มอบอำนาจให้ครู
เราคิดว่าทุกอย่างที่เราทำ empower คุณครู เราไม่เคยคิดเลยว่าจะไป bypass ครู หลายๆ ครั้งเรามักได้ยินประโยคที่ว่า ครูไม่เก่ง ดังนั้นฉันข้ามเลย ฉันเอาเนื้อหาไปส่งให้นักเรียนตรง เราไม่ต้องห่วงเรื่องครูไม่เก่งละ เพราะเรามีครูส่งไปตามทีวี ความคิดแบบนี้คือบายพาสครู ครูไม่เก่งไม่เป็นไร แต่เราไม่คิดอย่างนั้น เราคิดว่าเราจะ empower ครู 5 แสนคนให้เขาดีขึ้นอย่างไร คุณคิดว่าเด็กจะสนุกไหมหากนั่งเรียนกับหน้าจอทีวีหรือคอมฯ ผมคิดว่าจิตใจของมนุษย์จะโตขึ้นก็ต่อเมื่อได้มาปฏิสัมพันธ์กัน ตามองกัน จิตสัมพันธ์กัน การเรียนรู้เกิดจากจิตมนุษย์ปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ใช่จากการนั่งมองหน้าจอ ดังนั้น สิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายควรทำคือให้อำนาจและให้ autonomy กับครูผู้สอนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความรู้เขาเพิ่มขึ้น ทั้งสองสิ่งนี้ต้องทำควบคู่กันไป
สามปัจจัย
ผมมีโมเดลที่เรียกว่า Vision-Investment-Trust คือนโยบายการศึกษาจะต้องประกอบด้วย Vision จากข้างบนที่กระจ่างเพียงพอให้คนตามเขามองเห็นได้ชัดเจน สร้างแรงบันดาลใจให้คนตามอยากจะเดิน แล้วก็ต้องให้ Investment ที่เพียงพอที่จะให้เขาเดิน ต้องช่วยให้เขามีอุปกรณ์ที่เพียงพอ ไม่ใช่กระตุ้นเสร็จแล้วให้เขาทำเอง Trust ก็คือต้องเชื่อใจในครู ให้เขามี autonomy ของเขา ไม่ใช่มายุ่งตลอดเวลา ครูไทยถูกขึงด้วยเรื่องเยอะมาก ว่าต้องทำอย่างนี้ๆ ต้องมี KPI แบบนี้ ทำรายงานอย่างนี้ ยุ่งมากเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่จะไปสร้างนวัตกรรมหรือทำอะไรของตัวเองมีน้อย แล้วเขาก็ไม่กล้าด้วย
คุณคิดว่าเด็กจะสนุกไหมหากนั่งเรียนกับหน้าจอทีวีหรือคอมฯ ผมคิดว่าจิตใจของมนุษย์จะโตขึ้นก็ต่อเมื่อได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ตามองกัน จิตสัมพันธ์กัน การเรียนรู้เกิดจากจิตมนุษย์ปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ใช่จากการนั่งมองหน้าจอ
พัฒนาจากฐาน
ตื่นมาทำงานเราก็คิดแค่ว่าเราจะทำให้นักเรียน 10 ล้านคนดีขึ้นได้อย่างไร เราต้องทำให้ public education มันดี พวกโรงเรียนท็อปๆ ดีอยู่แล้วไม่เป็นไร เป็นทางเลือกสำหรับคนที่สามารถจ่ายได้ แต่ public education ก็ต้องดีด้วย บางโรงเรียนเน้นเด็กท็อปๆ เลย อย่างนั้นก็โอเค แต่คำถามคือจะทำยังไงให้ข้างล่างมันไปด้วย ซึ่งตรงนี้ผมว่าเป็นปัญหาใหญ่ คือถ้าคุณยิ่งผลักข้างบนขึ้นไปแล้วข้างล่างคุณไม่ลากขึ้นไป สังคมโดยทั่วไปมันไปไม่ได้ แล้วยิ่งถ้าคุณทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ช่องว่างมันกว้างขึ้นเรื่อยๆ อีกหน่อยประเทศจะอยู่ไม่ได้ ความไม่เท่าเทียมจะนำไปสู่ความล้มเหลวของสังคมโดยรวม ทุกวันนี้คุณก็เห็นช่องว่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ public education เป็นตัวเดียวที่จะปิดช่องว่างนี้ ดังนั้น เราทำในระดับที่เป็น mass อย่างคู่มือครูที่คุณเห็น เราแจกปีละหลายล้านเล่ม ครูมีห้าแสนคนเราแจกสามล้านเล่มต่อปี อบรมครูเราก็ใช้งบประมาณเรา บ้าหรือเปล่าล่ะ แต่เราทำมาประมาณ 6 ปีแล้ว เพราะเราเชื่อว่าถ้าข้างล่างขยับขึ้นนิดเดียว ค่าเฉลี่ยของประเทศมันจะขยับดีขึ้นไปได้เยอะ
ฮาร์ดแวร์ไม่พอ
พอเข้าเรื่องการศึกษาคนมักพูดแต่เรื่องฮาร์ดแวร์ คนคิดว่าแค่แจกฮาร์ดแวร์ ติดตั้งอินเทอร์เน็ตตามโรงเรียนก็จบ แต่จริงๆ มันไม่จบหรอก มันขาดเนื้อหากับกระบวนการสอนที่มีประสิทธิภาพ เพราะพอครูไม่พร้อม ถึงแจกอะไรมาเขาก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร เราจึงต้องมาเริ่มออกแบบก่อนว่าจะให้ครูทำอะไร แล้วค่อยเอาอุปกรณ์ไปรองรับอีกที ตัวฮาร์ดแวร์อาจจะไม่ใช่คอมพิวเตอร์ก็ได้ อาจจะเป็นกระดาษฉีก หรือเป็นดินนํ้ามันก็ได้ เพราะเทคโนโลยีมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการเรียนการสอนสมบูรณ์เท่านั้นเอง หัวใจของการสร้างห้องเรียนอยู่ที่การสร้างกระบวนการเรียนการสอนที่ดี ผมนึกถึง learning process disruption มากกว่า techonology disruption คือเราจะ transform กระบวนการเรียนการสอนอย่างไร เราจะ disrupt ความที่ครูยืนเทศน์อยู่หน้าห้องยังไงมากกว่า
สร้างองค์กร
ผมดีใจที่สามารถผลักดันองค์กรไปในทิศทางที่เราช่วยสังคมได้ดีขึ้น ระดมคนเก่งๆ เข้ามาร่วมงานมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนเวลาประชุมผู้บริหาร ก็จะมีสมาชิกครอบครัวผมนั่งอยู่เต็มไปหมด แต่เดี๋ยวนี้เวลาประชุมผู้บริหารระดับสูง 20 คน มีสมาชิกครอบครัวผมนั่งอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นคนเก่งจากสาขาต่างๆ ซึ่งผมมองแล้วก็ดีใจว่าเราเดินทางมาไกลแล้วนะ เราเปลี่ยนจากองค์กรที่บริหารแบบครอบครัวมากๆ มาเป็นองค์กรโปรเฟสชันแนล แม้กระทั่งคณะกรรมการบริษัทเอง ผมก็ชวนให้สมาชิกครอบครัวลาออกจนเกือบหมด ที่เหลือเป็นคนที่มีความสามารถระดับประเทศ อย่างพี่เม้ง วีรวัฒน์ ชุติเชษฐพงศ์ ประธานกรรมการ พี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ พี่อู๊ด ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล พี่โว่ วิรัช มรกตกาล พี่ปุ๊ก ดร.ฉัททวุฒิ พืชผล ท่านอดีตผู้ว่าฯ ธวัช สุวุฒิกุล รวมถึงคนเก่งๆ อีกหลายคนที่ร่วมกันทำให้ภารกิจระดับประเทศขององค์กรเราบรรลุผล
คำสอนนำทาง
มีบทสนทนาบทหนึ่งซึ่งนำทางชีวิตผมมาตลอด สมัยผมยังเป็นวัยรุ่น เรียนอยู่มหาวิทยาลัย คุณปู่ผมท่านก็เดินมานั่งข้างๆ แล้วถามผมว่า วันที่ผมไม่อยู่แล้วอยากจะให้คนพูดถึงผมว่าอะไร ผมก็ตอบท่าน ผมอยากจะเป็นคนที่ครอบครัวผมดีใจ ภาคภูมิใจที่ได้มีผมเป็นส่วนหนึ่ง ดีใจที่มีความรักของผม เพื่อนๆ ผมก็ต้องดีใจว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาได้เป็นเพื่อนกับผมแล้วผมก็ได้ทำในสิ่งที่ดีทำให้พวกเขามีความสุขผมอยากให้สังคมพูดถึงผมในฐานะผู้ที่ได้ทำประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งคำสอนนี้มันนำทางชีวิตผมมาโดยตลอด ตั้งแต่ที่ได้คุยกับคุณปู่ตอนเด็กๆ เวลาผมทำอะไรก็ตาม ทุกครั้งผมก็จะคิดว่าสิ่งที่ผมทำมันจะส่งผลให้คนอื่นพูดถึงผมว่าอะไรตอนผมลาจากโลกนี้ไปแล้ว
มาตรวัดผลสัมฤทธิ์
ผมก็หวังว่าผมจะมีมาตรวัดบอกได้ว่าโมเดลนี้มันค่อยๆ ลดความเหลื่อมลํ้าได้ขนาดไหน แต่วันนี้มันยังมองไม่เห็นภาพชัด การศึกษามันต้องใช้เวลากว่าคุณจะเห็นผล จากเด็กคนหนึ่งผ่านไปหนึ่งปี สองปี เจ็ดปี มันค่อยๆ ไป มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอณูเล็กๆ ในระดับห้องเรียน ผมแค่หวังว่าภายในสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ซึ่งเราได้เป็นส่วนสำคัญผลักดันให้สัมฤทธิ์ผลด้วย
■
รู้จักกับ ตะวัน เทวอักษร
ตะวัน เทวอักษร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย RMIT ประเทศออสเตรเลีย และระดับปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ จาก UCLA Anderson School of Management ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน)