SECTION
ABOUTCOMMON PURPOSE
Run with the Stars
กิจการเพื่อสังคมสัญชาติไทยอย่าง Wedu ได้ปลุกกระแสการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศทั่วโลก ผ่านการปลดล็อคศักยภาพผู้นำของผู้หญิงรุ่นใหม่ในเอเชีย
ใครที่ไปร่วมงานกาลาหรือเข้างานสังคมในกรุงเทพฯ อยู่บ่อยๆ คงจะคุ้นเคยกับบรรยากาศของงานเลี้ยงซึ่งจัดขึ้น ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตสวีเดนโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อไม่นานมานี้ เสียงช้อนส้อมกระทบกันดังขึ้นเป็นระยะสลับกับเสียงพูดคุยหึ่งบนโต๊ะอาหาร แขกส่วนใหญ่ของงานได้แก่บรรดาผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ทั้งประธานและคณะกรรมการจากบริษัทมหาชนทั่วประเทศ หรือกระทั่งทูต โดยปกติแล้ว งานเลี้ยงในลักษณะนี้มักมีแต่ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้ชายเข้าร่วม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นผู้หญิง ในปัจจุบัน ผู้หญิงยังคงต้องฝ่าพันอุปสรรคมากมายเพื่อจะก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดขององค์กร กระนั้น ในแต่ละปีก็มีผู้หญิงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ทำสำเร็จ ชาริณี กัลยาณมิตร คือผู้หญิงอีกคนที่มีโอกาสเข้าร่วมงานกาลาในค่ำคืนนั้น และเธอก็นั่งฟังบทสนทนาที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างตั้งใจ
“ผู้บริหารหญิงจากบริษัทชั้นนำรายหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่สมัยเด็กๆ พ่อของเธอบอกว่าเธอจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการครอบครัว ต่างจากพี่ชายและน้องชายที่ถูกคาดหวังให้เป็นผู้สืบทอดกิจการ เธอจึงลงเอยด้วยการก่อตั้งธุรกิจของตัวเอง และในที่สุดก็สามารถพิสูจน์ตนเองจนได้เข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจที่บ้านในภายหลัง เพราะสมัยนั้นใครๆ ก็คิดว่างานบริหารควรให้แต่ผู้ชายทำ” เธอเล่า
ชาริณีเคยได้ยินเรื่องราวแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่งานกาลาที่เธอเข้าร่วมในครั้งนี้ต่างจากงานเลี้ยงสังสรรค์ในแวดวงสังคมชั้นสูงทั่วไป ทั้งแฝงไว้ด้วยจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ คือการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในหัวข้อ Gender Equality Makes Economic Sense (ความเท่าเทียมทางเพศส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ) ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ณ กรุงเทพมหานคร งานนี้มุ่งความสนใจไปที่การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีดร.มิวา คาโต้ ผู้อำนวยการองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกผู้โด่งดัง เป็นเจ้าภาพจัดงาน
“ในแวดวงสตาร์ทอัพหรือโลกของผู้ประกอบการ ผู้ชายส่วนใหญ่มองว่าจุดแข็งของผู้หญิงอย่างพวกเราคือการสร้างแบรนด์หรืองานด้านการตลาด ซึ่งไม่ใช่ทักษะที่จำเป็นของผู้นำธุรกิจ หลายครั้ง ผู้ชายบางคนรู้สึกว่าเราไม่หนักแน่นพอเพราะเป็นผู้หญิง และวิธีการทำงานก็ต่างจากผู้ชาย” ชาริณีกล่าว เธอเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน UN Women อย่างจริงจัง และเป็นอดีตผู้ร่วมก่อตั้ง Orami เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่รองรับตลาดผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ ส่วน Ikigai ธุรกิจอีกแห่งของเธอนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดช่องว่างระหว่างเพศในระดับภูมิภาค ความสำเร็จทางธุรกิจที่ผ่านมาส่งผลให้เธอได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน ‘เมนทอร์’ หญิงไม่กี่คนในโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ DTAC Accelerate ที่ซึ่งเธอได้นำเอาประสบการณ์การทำงานกับบริษัทระดับโลกอย่าง PwC, Lehman Brothers และ Lazada มาใช้
“หลายคนมองไม่เห็นปัญหา เพราะคิดว่าสมัยนี้ผู้หญิงก้าวเข้ามาแข่งขันในสายงานบริหารมากขึ้น แต่การมองไม่เห็นปัญหานั่นแหละเป็นปัญหาในตัวอยู่แล้ว” เธอกล่าว
ผลการสำรวจประจำปี 2560 ของบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง Grant Thornton ชี้ให้เห็นว่า ในประเทศไทย สัดส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งอาวุโสในบริษัทกว่า 31% นั้นเป็นผู้หญิง ส่งผลให้ประเทศไทยได้เป็นถึงแชมป์อันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามหลังอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แต่สิ่งที่สวนทางกันคือสัดส่วนบริษัทที่ไม่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสเลยกลับเพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 25% ในปีเดียวกัน นอกจากนี้ จากรายงานของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พบว่าประเทศไทยมีดัชนีช่องว่างระหว่างเพศอยู่ที่อันดับ 77 จากทั้งหมด 144 ประเทศ ร่วงลงมาจากอันดับที่ 71 เมื่อปีที่แล้ว
ตัวเลขเหล่านี้เองคือเหตุผลที่ชาริณียังต้องทุ่มเทการทำงานส่วนใหญ่ให้กับการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ กระนั้น เธอก็ไม่ได้ต่อสู้อยู่เพียงลำพัง กิจการเพื่อสังคม อย่าง Wedu ซึ่งก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2555 เข้ามาเป็นอีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการสร้างโลกที่มีผู้นำเป็นผู้หญิงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง และตั้งเป้าจะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จผ่านโครงการจัดหาเมนทอร์ระยะยาวให้กับผู้หญิงที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วเอเชีย (ซึ่งบริษัทเรียกว่า Rising Stars หรือ ‘ดาวเด่น’) รวมถึงเฟ้นหาแหล่งเงินทุนรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาและพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำ
การมีคนคอยชี้แนะทั้งในเรื่องอาชีพและการใช้ชีวิตจะช่วยหยุดวงจรที่ขวางกั้นผู้หญิงจากความสำเร็จทางอาชีพการงานได้
โครงการดังกล่าวจะจับคู่ดาวเด่นเข้ากับเมนทอร์ซึ่งมาจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งต่างได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ผู้นำ’ ในโลกธุรกิจ หนึ่งในเมนทอร์จากโครงการดังกล่าวคือ กุลนรัตน์ สามัคคีนิชย์ ผู้อำนวยการขายระดับภูมิภาคแห่ง Lenddo บริษัทฟินเทคระดับโลก ผู้มีความฝันอยากสนับสนุนผู้หญิงให้เรียนสูงขึ้น กุลนรัตน์จึงถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับโครงการของวีดู
“ทุกคนที่ได้รับเลือกเป็นดาวเด่น มีภาวะผู้นำในตัวอยู่แล้ว แค่รอวันที่ศักยภาพที่แท้จริงจะเฉิดฉายออกมาเท่านั้น” เธอกล่าว
กุลนรัตน์เชื่อว่าการศึกษาที่ดีสามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้ การศึกษาที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงความรู้ที่ได้จากห้องเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงการปลูกฝังทักษะชีวิตต่างๆ เช่น การสอนหญิงสาวให้ยืนหยัดต่อแรงกดดันทางสังคมว่าต้องแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งอาจเปิดประตูสู่ทางเลือกอื่นๆ ที่พวกเธออาจไม่เคยคิดว่ามีอยู่เลยก็เป็นได้ กุลนรัตน์เชื่อว่าการมีคนคอยชี้แนะทั้งในเรื่องอาชีพและการใช้ชีวิต จะช่วยหยุดวงจรที่ขวางกั้นผู้หญิงจากความสำเร็จทางอาชีพการงานได้
“ถ้าผู้หญิงมีหน้าที่การงานที่มั่นคงและเป็นแม่คนเมื่อพร้อม ก็จะเป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลัง เพราะเธอจะสามารถสอนลูกให้ทำเรื่องที่มีความหมายต่อสังคมได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมการให้การศึกษาแก่ผู้หญิงนั้นถึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด” เธออธิบาย
ภารกิจหลักของวีดูคือ การมอบทุนการศึกษา โดยจะมอบให้กับดาวเด่นเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาคนละ 166,000 บาทต่อปี และยังริเริ่มการจัดตั้งกองทุนกู้ยืมทางเลือกใหม่ที่เรียกว่า Future Income Sharing Agreements (FISAs) ดาวเด่นที่ได้รับทุน FISAs จะได้รับเงินทุนสำหรับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แต่จะต้องใช้ทุนคืนโดยหักเปอร์เซ็นต์จากรายได้ในอนาคตจำนวนหนึ่งมาจ่ายคืนตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับดาวเด่นของรุ่นต่อไป ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทุนการศึกษานี้เช่นเดียวกัน
สุธาสินี สุดประเสริฐ หญิงสาวชาวพิจิตร เป็นหนึ่งในดาวเด่นอันดับต้นๆ ของวีดู เธอกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาโลกคดีศึกษาและผู้ประกอบการสังคม ที่วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความใฝ่ฝันสูงสุดของเธอคือการได้มีส่วนช่วยขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไป โดยอาจทำผ่านกิจการเพื่อสังคมคล้ายๆ กับวีดู
“ความยากจนเป็นต้นเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความไม่เท่าเทียมทางเพศ ในสภาวะแวดล้อมดังกล่าว คนมักขาดโอกาสทางการศึกษา และหากไม่ได้รับการศึกษา ก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยน” หญิงสาววัย 21 ปีกล่าว
ในการคัดเลือกดาวเด่น วีดูไม่ได้วัดจากแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตเท่านั้น แต่ยังให้น้ำหนักกับเรื่องของความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลกด้วย ความตั้งใจของสุธาสินีที่จะขจัดความยากจนผ่านกิจการเพื่อสังคมนั้น ทำให้เธอเป็นผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบ
“มีผู้หญิงไทยจำนวนมากที่ด้อยโอกาส ฉันเชื่อว่าในโลกนี้มีคนอยู่ 2 ประเภท คือคนที่มีโอกาสและคนที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโลกใบนี้มีโอกาสรอเราอยู่ คนประเภทหลังไม่รู้เลยว่าตัวเองมีศักยภาพอะไรบ้าง สำหรับฉัน การมีที่ปรึกษาที่ดีและการฝึกรู้เท่าทันตัวเองเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการพัฒนาตนเอง” เธอกล่าว
ปรัชญาดังกล่าวคือหัวใจของภารกิจของวีดูซึ่งได้ช่วยสร้างทักษะให้กับบรรดาผู้นำหญิงแห่งอนาคต ในรูปแบบที่ไม่สามารถหาได้ทั่วไปจากการศึกษาในระบบและสภาพแวดล้อมการทำงานในปัจจุบัน
“ทักษะเรื่องคนและทักษะชีวิตนั้นเป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้การเสริมสร้างความรู้ความสามารถ เราช่วยผู้หญิงสร้างเครือข่ายและพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนความคิดริเริ่มต่างๆ ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเองและให้การสนับสนุนทางจิตใจ โดยอาศัยโครงการเมนทอร์และ ‘ครอบครัว’ ที่คอยให้การสนับสนุนและชี้แนะอยู่เบื้องหลัง บนเส้นทางชีวิตสู่การเป็นผู้นำซึ่งมีทั้งโอกาสและอุปสรรครออยู่” วิเวียน ลี ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการของวีดู กล่าว
ปัจจุบันนี้ วีดูมีดาวเด่นจำนวน 455 คนจาก 22 ประเทศทั่วทั้งเอเชีย นับตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งโครงการจนถึงวันนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการหลายคนได้ก้าวออกไปทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลก เช่น เป็นผู้นำโครงการต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติและสหภาพยุโรป ก่อตั้งองค์กรของตัวเอง หรือสร้างโรงเรียนในชุมชนด้อยโอกาส สุธาสินี ผู้เพิ่งเข้าร่วมโครงการในปีนี้ รู้สึกว่าการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัววีดูได้ช่วยให้เธอเติบโตขึ้นในระดับหนึ่ง
“เวลาขอคำปรึกษาจากเมนทอร์ เขาจะแนะนำให้เราลองทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นและสะท้อนว่าตัวเองได้อะไรจากประสบการณ์นั้น กล้าพูดเลยว่าเรารู้จักตัวเองดีขึ้นกว่าเดิม” เธอกล่าว
เช่นเดียวกับกุลนรัตน์ วิเวียนเห็นว่าโอกาสของผู้หญิงหมายถึงโอกาสของสังคมด้วย แต่ปัจจุบันโอกาสนั้นยังไม่ถูกเปิดมากพอ “สภาวะแวดล้อมที่คนคนหนึ่งเกิดมา ไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพรสวรรค์และการเดินตามความฝันของเขา งานวิจัยจำนวนนับไม่ถ้วนแสดงให้เห็นว่าความเท่าเทียมทางเพศนั้นนำไปสู่สังคม ธุรกิจ และชุมชนที่ไม่แบ่งแยก มีความเสมอภาคและความก้าวหน้า ในเอเชียยังมีตัวแทนผู้หญิงที่เป็นผู้นำน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย ไม่ว่าจะในภาคส่วนไหนก็ตาม” วิเวียนกล่าว
สภาเศรษฐกิจโลกประเมินว่าต้องใช้เวลาอีก 169 ปีกว่าทุกประเทศจะถมช่องว่างระหว่างเพศได้สำเร็จ กระนั้น องค์กรอย่างวีดูก็อาจช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เร็วขึ้น
ยังมีผู้หญิงไทยจำนวนมากที่ไม่มีอำนาจและไม่สามารถก้าวหน้าในอาชีพการงานได้ เนื่องจาก ‘การลดชั้นทางวัฒนธรรม (Cultural Disempowerment)’ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการเติบโตขึ้นในสังคมที่กำหนดบทบาทให้กับบุคคลตามเพศสภาพ ในขณะที่บุคคลทั้งสองเพศก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานเท่ากัน แต่ผู้หญิงจะถูกบั่นทอนกำลังใจอย่างรวดเร็วจากอุปสรรคที่ไม่มองเห็น ซึ่งส่งผลต่อความก้าวหน้า และเป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องประสบอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สังคมยังคาดหวังว่าผู้หญิงต้องแบ่งเวลาให้ได้อย่างเหมาะสม ทั้งบทบาทของการเป็นแม่และบทบาทในหน้าที่การงาน ทำให้ผู้หญิงต้องเลือกระหว่างการสละชีวิตส่วนตัว หรือถอนตัวออกจากการแข่งขันในอาชีพเพื่ออุทิศเวลาให้กับการสร้างและดูแลครอบครัว
“ยิ่งตำแหน่งสูงเท่าไร เรายิ่งต้องให้เวลากับมันมากขึ้นเท่านั้น หลายครั้งฉันเห็นเพื่อนร่วมงานผู้หญิงต้องถอนตัวจากการแข่งขันในองค์กร เพราะเขารู้สึกว่าไม่สามารถทำทุกอย่างได้พร้อมกัน เนื่องจากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานอะไรมาสนับสนุน” กุลนรัตน์กล่าว
ดังเช่นที่ทุกคนทราบดีในสังคมไทย เราเคยถือกันมาตลอดว่า “สามีเป็นช้างเท้าหน้า ภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง” ซึ่งสื่อนัยถึงบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้สนับสนุนมากกว่าบทบาทหลัก
“ตั้งแต่เด็กๆ คุณแม่มักบอกว่าเราจะโตขึ้น มีแฟน แต่งงาน และมีลูก ทำให้เกิดแรงกดดันมากขึ้นว่านั่นคือหน้าที่ของเรา และการมีครอบครัวเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญที่สุด หลายครั้งผู้หญิงที่ไม่ได้ทำตรงนี้จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เรื่องหรือทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ แล้วเราก็จะตัดสินตัวเอง เราจะไม่ผลักดันตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า” ชาริณีกล่าว
แม้ความคิดและทัศนคติดังกล่าวจะกำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป แต่ความเท่าเทียมทางเพศก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น สภาเศรษฐกิจโลกประเมินว่าต้องใช้เวลาอีก 169 ปีกว่าทุกประเทศจะถมช่องว่างระหว่างเพศได้สำเร็จ กระนั้น องค์กรอย่างวีดูก็อาจช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เร็วขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ ที่พวกเขาจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้หญิงทั่วโลกได้ก้าวขึ้นไปทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ซึ่งหลายๆ ครั้งเป็นโอกาสที่พวกเขาไม่เคยได้รับจากสังคม
ประเทศไทยเองประสบปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ดีความเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความพยายามอย่างหนักขององค์กรอย่างวีดู ในการช่วยนำทางผู้หญิงไปสู่ความสำเร็จคนแล้วคนเล่า ก็ยังเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจว่าวันหนึ่งสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในที่สุด เพื่อนำประเทศไทยไปสู่อนาคตที่สดใสผ่านการเติม ‘ดาวเด่น’ ทีละดวง
■
Essentials
■
Wedu
1054/14 อาคารกิจศิริ
ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ
โทร. 02-254-8223
www.weduglobal.org