HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

COMMON PURPOSE


ภารกิจสังคมสงเคราะห์ที่ทำผ่านการพักโรงแรม 5 ดาวและมื้อค่ำในร้านหรู

คุยกับอาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมที่พยายามทำให้การ ‘ช้อป’ และ ‘ช่วย’ กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

     “สวัสดีครับ ผมชื่ออาชว์ กำลังอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจเปลี่ยนแปลงโลก” คือข้อความแนะนำตัวที่หนุ่มไทย อาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ โพสต์ลงบนเว็บไซต์ Global Shapers Community เครือข่ายเพื่อคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ความพยายามของอาชว์ที่ผ่านมาส่งผลให้เขาได้รับทุนในโครงการ Eisenhower Fellowship และติดหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพล ‘30 Under 30’ ประจำปี 2559 จากการจัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes ประเทศไทย สำหรับผู้ประกอบการไทย รุ่นใหม่ที่หลงใหลกับเสน่ห์ของธุรกิจ ‘เทคสตาร์ทอัพ’ และฝันจะใช้เทคโนโลยีสร้างโลกให้น่าอยู่ขึ้น อาชว์อาจถือเป็นนิยามหนึ่งของความสำเร็จในศตวรรษ 21 นี้

ราคาพิเศษ

     อาชว์มีชื่อเสียงขึ้นจากการก่อตั้งเว็บไซต์ Socialgiver.com ซึ่งมอบข้อเสนอที่พักหรือบริการต่างๆ ให้กับผู้ซื้อในราคาพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าอาจซื้อแพ็คเกจที่พัก 2 คืนที่ศรีพันวา โรงแรมหรูระดับ 5 ดาวบนเกาะภูเก็ตของตระกูลอิสสระได้ในราคาเพียง 21,000 บาท จากปกติ 70,000 บาท ทั้งนี้ โดยที่ศรีพันวาจะไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแม้แต่บาทเดียว

     เพราะสำหรับทุกธุรกรรมซื้อขายที่ทำผ่านโซเชียลกิฟเวอร์ 70% ของยอดใช้จ่ายแต่ละครั้งจะถูกนำไปมอบให้กับมูลนิธิต่างๆ ส่วนอีก 30% ที่เหลือจะถูกกันไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงาน แต่โซเชียลกิฟเวอร์ไม่ใช่มูลนิธิหรือองค์กรการกุศลใดๆ เว็บไซต์นี้เป็นเพียงจุดบรรจบอันลงตัวของโมเดลธุรกิจในยุคนี้ กล่าวคือ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) การบริหารจัดการรายได้ (Yield management) และกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยโซเชียลกิฟเวอร์ได้ประสบความสำเร็จในการระดมทุนจากนักลงทุนอิสระหรือ angel investor ในภาษาสตาร์ทอัพ ที่มีอยู่จำนวนหยิบมือ พยุงธุรกิจให้อยู่รอด และยังสามารถบริจาคเงินกว่าครึ่งล้านเพื่อการกุศลได้เป็นผลสำเร็จ

      “โซเชียลกิฟเวอร์ทำงานแบบไม่แสวงผลกำไร ฉะนั้นหากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำกว่า 30% เมื่อไร เราก็จะปรับลดสัดส่วนนี้ลงอีก ส่วนพาร์ทเนอร์ธุรกิจของเราก็ไม่ได้อะไรตอบแทนเหมือนกัน นอกเหนือจากฐานลูกค้าใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มจะกลับมาซื้อซ้ำ อยู่โรงแรมนานขึ้นอีกคืน หรือจองตั๋วเพิ่มอีก 2-3 ใบ” อาชว์ในวัย 30 ปีอธิบาย เขาสละเวลา 2 ชั่วโมงเพื่อให้สัมภาษณ์กับเราก่อนจะต้องเดินทางไปยังโตเกียวร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเหล่าผู้นำจากหลายภาคส่วนได้รับเชิญให้มาร่วมหารือและสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดภายใต้หัวข้อทิศทางการพัฒนากรอบกฎหมายของประเทศไทย

     กิจการเพื่อสังคมนั้นต่างจากมูลนิธิตรงที่กิจการเพื่อสังคมไม่ได้อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคแต่จะต้องขายสินค้าหรือบริการต่างๆ เพื่อหาผลกำไรมาใช้เป็นทุนแก้ปัญหาสังคม และในเมื่อวัตถุประสงค์ของกิจการเพื่อสังคมต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผลกำไรส่วนใหญ่ต้องถูกนำกลับไปใช้ลงทุนเพื่อสังคม ไม่ใช่แบ่งปันกันเองในหมู่ผู้ทำกิจการ

     อาชว์ ผู้เป็นอดีตที่ปรึกษาโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN Development Program) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Program) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นผู้ให้กำเนิดกิจการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายโครงการ อาทิ IDEACUBES, MYSOCIALMOTION, Food4Good และ Wipe the Tide ในปี 2558 เขาได้ร่วมก่อตั้ง Socialgiver.com และคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีการแข่งขันระดับภูมิภาคเพื่อค้นหาสุดยอดแอปพลิเคชันมือถืออย่าง Singtel Group-Samsung Mobile App Challenge 2015 ที่ประเทศอินโดนีเซียมาแล้ว

โซเซียลกิฟเวอร์ไม่ใช่มูลนิธิหรือองค์กรการกุศลใดๆ เว็บไซต์นี้เป็นเพียงจุดบรรจบอันลงตัวของโมเดลธุรกิจในยุคนี้ กล่าวคือ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์การบริหารจัดการรายได้และกิจการเพื่อสังคม

     ปัจจุบันนี้ โซเชียลกิฟเวอร์มีพาร์ทเนอร์ธุรกิจมากกว่า 160 แห่ง ซึ่งหมายถึงบริษัทที่ล้วนพร้อมจะจำหน่ายสินค้าหรือบริการต่างๆ ในราคาพิเศษให้กับผู้มาใช้เว็บไซต์โชเชียลกิฟเวอร์ ไม่ว่าจะเป็นที่พักในห้องสวีทของโรงแรม 5 ดาว มื้อค่ำในร้านอาหารไฟน์ไดน์นิ่ง หรือบริการสปาสุดหรู โดยในบางกรณีผู้มาช้อปปิ้งผ่านเว็บไซต์อาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย

      “5 บริษัทแรกที่เราเข้าไปคุยด้วยโน้มน้าวยากมาก เพราะเราเองก็ค่อนข้างต้องเลือกบริษัทที่จะมาเข้าร่วมโครงการ เราไม่อยากถูกมองเป็นเว็บขายดีลรายวัน ซึ่งเป็นคนละตลาด กลุ่มเป้าหมายของเราคือแบรนด์พรีเมียมที่คนจะไม่มีทางได้ไปเจอบน Ensogo แบรนด์ที่ต้องการรักษาภาพลักษณ์ เราทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แบรนด์ที่มาร่วมงานกับเราได้พบกับกลุ่มคนที่อาจกลายมาเป็นลูกค้าในอนาคต โดยไม่ให้แบรนด์เหล่านั้นต้องถูกมองว่ามานั่งลดแลกแจกแถมบนเว็บไซต์ขายดีล” อาชว์เล่า

     การจัดการรายได้นับเป็นศาสตร์อันละเอียดอ่อนในการสร้างผลกำไรสูงสุดให้กับธุรกิจ หลักการดังกล่าวคือปัจจัยที่ทำให้บรรดาสายการบินโลว์คอสต์ต่างๆ สามารถขายตั๋วได้ในราคาถูกเหมือนฝัน และเป็นตัวขับเคลื่อนบรรดาเว็บไซต์ขายดีลรายวันอย่าง Groupon และเอ็นโซโก้รวมถึงแอปพลิเคชัน Eatigo ที่มอบส่วนลดค่าอาหารให้กับผู้ใช้ หากจองโต๊ะในช่วงเวลาที่กำหนดไว้

     แต่ด้วยเหตุที่การเพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจผ่านการกระหน่ำลดราคาสินค้าแบบบนเว็บไซต์ขายดีล อาจไม่ใช่สิ่งที่แบรนด์ไฮเอนด์อยากทำ เพราะเหมือนเป็นการก้าวลงไปหั่นราคาแข่งกับแบรนด์ระดับล่าง อาชว์จึงตระหนักว่าหากเขาสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่พรีเมียมและบริจาคผลกำไรทั้งหมดให้กับการกุศล เขาก็จะเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้แบรนด์ใหญ่สามารถลดจำนวนสินค้าคงคลังได้ในทำนองเดียวกับอีททิโกหรือเอ็นโซโก้ โดยที่ยังรักษาภาพลักษณ์สง่างามของแบรนด์เหล่านั้นไว้ได้

เห็นแสงสว่าง

     อาชว์เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวไทยเชื้อสายจีนเจ้าของกิจการค้าขายจิวเวลรี เขาจบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนประจำในประเทศอังกฤษ ก่อนจะย้ายกลับมายังกรุงเทพฯ และกลับไปศึกษาต่อยังสหราชอาณาจักรในคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยวอร์วิค แรกเริ่มเดิมที เขามีความใฝ่ฝันอยากทำงานในสายเทคโนโลยีทางการเงินและการทำธุรกรรมออนไลน์ จนกระทั่งได้พบกับจุดเปลี่ยน 2 ประการที่ทำให้เขาเบนเข็มมาทำกิจการเพื่อสังคมแทน

      “อย่างแรกคือสารคดี An Inconvenient Truth ของอัล กอร์ พอดูเสร็จผมคิดว่าเราต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง ไม่งั้นโลกเราคงถึงคราวอวสานแน่ๆ จุดเปลี่ยนอีกข้อคือหนังสือ 50 Facts that Should Change the World ของเจสสิก้า วิลเลียมส์ การได้เห็นสถิติตัวเลขควบคู่ไปกับคำอธิบายในหนังสือ เช่นที่ว่าประชากรโลก 700 คนนั้นกำลังประสบภาวะหิวโหย และ 21 ล้านคนต้องตกเป็นเหยื่อแรงงานทาสยุคใหม่ ทำให้เราต้องเริ่มคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง”

     อาชว์อธิบายว่านี่คือเหตุผลที่โซเชียลกิฟเวอร์ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง แต่ทำหน้าที่เสมือนเป็นช่องทางส่งต่อเงินทุนไปยังองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกมาแล้ว ขณะนี้โซเชียลกิฟเวอร์ร่วมงานกับมูลนิธิ 15 แห่ง ซึ่งผู้ใช้สามารถแสดงความประสงค์ได้ว่าจะบริจาคเงินจากการซื้อสินค้าของตนให้กับองค์กรใด จนถึงตอนนี้ เว็บไซต์ดังกล่าวได้ระดมทุนให้กับมูลนิธิต่างๆ เป็นจำนวนเงินกว่าครึ่งล้านแล้ว

      “ผมว่ามันยังน้อยนิดเมื่อเทียบกับเป้าที่เราตั้งไว้ว่าจะทำให้ได้ภายใน 2 ปี แต่เราก็ยังเชื่อมั่นว่าถึงจุดหนึ่งกระแสสังคมจะทำให้โซเชียลกิฟเวอร์เป็นสิ่งแรกๆ ที่คนนึกถึงหากต้องการลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง หัวใจหลักของเราไม่ใช่การมองหาคนบริจาค เพราะคนที่อยากบริจาคยังไงเขาก็จะทำอยู่แล้ว แต่เราต้องการมองหาและสร้างกลุ่มผู้บริโภคมีจิตสำนึก (conscious consumer) ที่ใช้จ่ายโดยมองเรื่องผลกระทบของเงินแต่ละบาทของตัวเองต่อสังคม”

     ประสบการณ์ที่ผ่านมาของอาชว์ช่วยให้เขาจำแนกแยกแยะคุณภาพของมูลนิธิได้ อันที่จริงนี่คือหนึ่งในประเด็นศึกษาของเขาขณะเข้าร่วมโครงการ Eisenhower Fellowship ในช่วงปี 2559 ซึ่งเขาพยายามศึกษาหาวิธีการวัดผลกระทบที่ธุรกิจต่างๆ มีต่อสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

      “เราพยายามหาหน่วยวัดมาวัดผลกระทบที่มูลนิธิต่างๆ มีต่อสังคม แต่ละมูลนิธิก็ไม่เหมือนกัน เราจึงพยายามคิดค้นระบบเก็บข้อมูลที่จะช่วยให้คนรู้ว่าค่าอาหารหรือโรงแรมที่ซื้อผ่านโซเชียลกิฟเวอร์สร้างความแตกต่างอะไรให้กับสังคม เราต้องพูดคุยกับมูลนิธิเพื่อหาว่าจะวัดผลกระทบดังกล่าวด้วยวิธีไหนได้บ้าง” เขาอธิบาย

     เขาค่อนข้างมีทัศนคติในเชิงบวกต่อภารกิจของเอ็นจีโอที่ปฏิบัติงานในระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นองค์กรที่โซเชียลกิฟเวอร์เลือกบริจาคเงินส่วนใหญ่ให้ แต่เขาเองก็ยอมรับว่ามีปัญหาอยู่ประปราย “แน่นอนว่าเอ็นจีโอบางแห่งในภูมิภาคก็ไม่โปร่งใส คำถามคือจะทำยังไงให้มันโปร่งใสมากขึ้น อย่างเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน มูลนิธิช่วยเหลือช้างแห่งหนึ่งประกาศจะปิดตัวลงเพราะเป็นหนี้ 40 ล้านบาท คนก็เลยแห่บริจาคให้มูลนิธิดังกล่าวจนได้ยอดรวมกว่า 40 ล้านในอาทิตย์เดียว แต่คำถามคือ ทำไมคนถึงอยากบริจาคให้กับมูลนิธิที่กำลังจะปิดตัวลง และถ้ามูลนิธิปิดตัวลง เงินบริจาคจะไปที่ไหน เรื่องเหล่านี้ถ้ามีมาตรฐานเรื่องความโปร่งใสมันก็จะช่วยได้มาก” เขากล่าว

หัวใจหลักของเราไม่ใช่การมองหาคนบริจาค เพราะคนที่อยากบริจาคยังไงเขาก็จะทำอยู่แล้วแต่เราต้องการมองหาและสร้างกลุ่มผู้บริโภคมีจิตสำนึก (concious consumer) ที่ใช้จ่ายโดยมองเรื่องผลกระทบของเงินแต่ละบาทของตัวเองต่อสังคม

     ทุกวันนี้ บริษัทของเขายังเดินหน้าสานต่อธุรกิจแม้จะทำได้แค่ในระดับเล็กๆ ด้วยเงินทุนอันจำกัด โดยพนักงานทั้ง 7 คนของเขาต้องพึ่งพาเงินทุนจากนักลงทุนอิสระที่มีเพียงหนึ่งราย รวมถึงเงินอัดฉีดส่วนตัวจากอาชว์เอง ถึงกระนั้น เขาเล่าว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักลงทุนไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจกับธุรกิจที่เพิ่งตั้งไข่มากขึ้น แทนที่จะเป็นมูลนิธิ “ผมเห็นธุรกิจในลักษณะร่วมทุนค่อยๆ พัฒนาขึ้น คนจำนวนมากอยากลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ในตอนนี้ การจะหาคนมาร่วมลงทุนในกิจการเพื่อสังคมอาจยากหน่อย แต่ถ้าประเทศไทยเริ่มมีบริษัทสตาร์ทอัพ ‘ยูนิคอร์น’ (สตาร์ทอัพที่มูลค่าสูงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สักแห่งสองแห่งแล้ว ผมเชื่อว่าตลาดจะคึกคักมาก”

     สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นเพิ่มขึ้นทวีคูณในช่วงปีที่ผ่านมา จาก 25,000 ล้านบาท ในปี 2558 มาอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท ในปี 2559 นักลงทุนรายใหญ่อย่าง Sequoia, Rakuten และ B Capital ได้จับมือกับยักษ์ใหญ่บนโลกอินเทอร์เน็ตอย่าง Alibaba และ Tencent ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมการใช้สอยของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เราจึงได้เห็น Central Group เข้าซื้อกิจการของ Zalora เห็นอาลีบาบาซื้อ Lazada หรือแม้กระทั่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับอลีบาบาเพื่อเปิดตัว Ali-Pay ตามร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven แล้ว

     อย่างไรก็ตาม ในขณะที่วงการธุรกิจสตาร์ทอัพเริ่มมีสีสันขึ้นเรื่อยๆ การแข่งขันก็สูงขึ้นเช่นกัน อาชว์กล่าวว่า “การทำกิจการเพื่อสังคมนั้นยากเป็น 2 เท่าของการทำกิจการเฉยๆ เพราะนอกจากจะต้องสนใจหุ้นส่วนกับนักลงทุน เรายังต้องคำนึงถึงความสำเร็จของบรรดามูลนิธิและโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ด้วย”

     อาชว์ประเมินว่ามีคนราว 12,000 คนที่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานของ Socialgiver.com โดยมูลนิธิที่เข้าร่วมนั้นไล่เรียงตั้งแต่บ้านพักเด็กพิการไปจนถึงโครงการที่พักอาศัยสำหรับเด็กหญิง ด้วยเหตุนี้ ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเกิดใหม่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่คนจำนวนมากตกงานรวมทั้งไม่มีความมั่นคงในอาชีพการงาน โซเชียลกิฟเวอร์นับเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าเทคโนโลยีก็สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อโอบอุ้มสังคมได้เช่นกัน

Essentials


Socialgiver

110/1 อาคาร Knowledge Exchange
ชั้น 11 ถนนกรุงธนบุรี กรุงเทพฯ
โทร. 086-506-5574
www.socialgiver.com