HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


The Fabric of Life

หนึ่งในปรมาจารย์สิ่งทอไทยกำลังช่วยฟื้นฟูงานหัตถศิลป์อันเป็นสมบัติของชาติและยกระดับศิลปะแขนงดังกล่าวไปอีกขั้น

ตั้งแต่จำความได้ มีชัย แต้สุจริยา ผู้เกิดและเติบโตในจังหวัดอุบลราชธานีราวช่วงพ.ศ. 2500 ก็เริ่มหลงใหลในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมบ้านเกิดของตน ด้วยความที่จังหวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับชายแดนลาวและกัมพูชา จึงมีร่องรอยของอารยธรรมขอมโบราณปรากฏให้เห็น ซากปรักหักพังเหล่านี้เป็นดั่งตัวแทนแห่งยุคสมัยก่อนการถือกำเนิดของรัฐชาติและเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

ประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของภูมิภาคแห่งนี้ เป็นแหล่งการเรียนรู้ชั้นดีในวัยเด็กของมีชัย แต่สิ่งหนึ่งที่เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษคือศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองอันเก่าแก่ คุณยายของเขาเป็นช่างทอผ้าผู้ซึ่งต้องเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อขายงานฝีมือของตนอยู่เป็นประจำ มีชัยในวัยเด็กจะเฝ้ามองเหล่าชาวบ้านหญิงกระทบฟืมเพื่อสานด้ายแต่ละเส้นเข้าด้วยกัน โดยในแต่ละวัน ช่างฝีมือจะบรรจงทอเส้นด้ายที่ผ่านกรรมวิธีมัดหมี่ อันเป็นวิธีการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยการมัดเส้นด้ายหรือเส้นไหม เพื่อสร้างสรรค์งานศิลป์อันประณีตงดงาม ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนั้นกินเวลาหลายเดือน

แม้มีชัยจะอยากมีส่วนร่วม แต่วัฒนธรรมไทยนั้นไม่อนุญาตให้เด็กผู้ชายทอผ้า เขาจึงสนองความอยากรู้ของตัวเองด้วยการช่วยเหล่าช่างทอผ้าหญิงย้อมมัดด้าย และเฝ้าเก็บเกี่ยวเคล็ดลับภูมิปัญญาต่างๆ ขณะนั้น ไม่มีใครรู้เลยว่าเขาจะกลายมาเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ด้านสิ่งทอสมัยใหม่คนสำคัญของประเทศ

เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น สุรินทร์และศรีสะเกษ อุบลราชธานีมีประวัติศาสตร์การผลิตผ้าไทยมายาวนาน แต่ในที่สุดประเพณีก็ค่อยๆ ถูกบดบังด้วยวัฒนธรรมสมัยใหม่ ผ้าไทยนั้นเสื่อมความนิยมลงอย่างมากในช่วง 500 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ผู้คนสวมใส่ รวมถึงที่ใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆ ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากยุโรปและอินเดีย ขณะที่ชุดผ้าไทยทอมือนั้นสามารถหาซื้อได้ตามพื้นที่ต่างๆ ในชนบทเท่านั้น

ในช่วง 500 ปีที่ผ่านมาเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ผู้คนสวมใส่ รวมถึงที่ใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆ ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากยุโรปและอินเดีย

ขณะกำลังเรียนชั้นมัธยมในกรุงเทพฯ มีชัยมักติดตามคุณยายไปตระเวนขายผ้าไทยที่ท่านทอเองตามตลาดนัดต่างๆ โดยบางครั้งผ้าทั้งผืนขายได้เงินเพียง 200 บาทเท่านั้น แต่แม้อาชีพช่างทอผ้าจะไม่สร้างรายได้นักประสบการณ์ดังกล่าวก็ทำให้มีชัยได้มีโอกาสรู้จักกับเหล่านักสะสมและนักค้าสิ่งทอคนสำคัญของประเทศ ผู้มักเอ่ยปากชมงานฝีมือของคุณยายเขาอยู่เสมอ ความรู้และความสนใจในสิ่งทอของมีชัยค่อยๆ เพิ่มพูน และตลอดระยะเวลา 4 ปีของการเรียนมหาวิทยาลัย เขาก็ได้มีโอกาสช่วยคุณยายทอผ้าไหม และได้เรียนรู้กระบวนการอันซับซ้อนและกินเวลาที่กระทั่งช่างทอผ้าฝีมือดีก็ยังสามารถทอได้เพียงราว 4 ผืนต่อปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในเมื่อรายได้จากการผลิตงานฝีมืออันเปี่ยมคุณค่านี้ กลับแทบไม่เพียงพอสำหรับยังชีพ ช่างทอผ้าหลายคนจึงค่อยๆ หันไปจับอาชีพอื่นที่สร้างรายได้ดีกว่าแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะรับได้สำหรับมีชัย

มีชัยในวัย 60 ปีกลายเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของวงการผ้าไทย ความหลงใหลในผ้าไทยตั้งแต่วัยเยาว์ทำให้เขาตัดสินใจก่อตั้ง ‘บ้านคำปุน’ แหล่งผลิตงานหัตถศิลป์ผ้าทอมือขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี โดยเขาได้ว่าจ้างช่างประจำเกือบ 30 คน ซึ่งบางคนทำงานที่นี่มากกว่า 25 ปีแล้ว

“ช่างที่นี่เด็กสุดอายุ 20 ปี ส่วนที่อาวุโสสุดนั้นอายุ 60 ปี ซึ่งก็คือผมเอง” มีชัยกล่าวพร้อมหัวเราะ “ตอนผมตั้งที่นี่ การจะหาช่างทอผ้าสักคนเป็นเรื่องยาก เราเลยต้องเริ่มฝึกคนเอง บางคนเป็นเกษตรกรที่มีฐานะยากจน นอกจากนี้ ผมยังต้องลงมากำกับงานช่างไม้เองด้วย เพราะขณะนั้นแทบไม่มีใครรู้วิธีสร้างกี่ทอผ้าแล้ว”

ทุกวันนี้ มีชัยได้รับคำสั่งซื้อผ้าไทยจากเหล่าผู้ทรงอิทธิพลของประเทศอยู่เป็นประจำ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เพื่อใช้สำหรับงานพิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือการเมือง ไปจนถึงงานแต่งงาน ตอนนี้รายชื่อลูกค้าที่รอสั่งผ้าไทยของเขานั้นยาวล่วงหน้าไปถึง 2 ปีเป็นที่เรียบร้อย แต่ถึงจะต้องรอนานแรมปี คำสั่งซื้อก็ยังหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายและหากคนในแวดวงสิ่งทอได้ยินชื่อของมีชัยตาก็มักจะเป็นประกายขึ้นมาและเอ่ยชมเขาเป็นเสียงเดียวกัน ในขณะที่มีชัยอาจไม่ใช่ปรมาจารย์ด้านผ้าไทยเพียงหนึ่งเดียวของประเทศ แต่หากมีการจัดทำรายชื่อดังกล่าวขึ้นจะต้องมีชื่อของมีชัยปรากฏอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมผ้าไทยกำลังได้รับการฟื้นฟูขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อีกทั้งความเพียรพยายามของพ่อค้าและนักสะสมชื่อดังอย่างจิม ทอมป์สันและดอริส ดุ๊ก เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย รวมถึงช่างฝีมืออย่างมีชัย เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่บุคคลสำคัญของไทยเลือกสวมใส่เพียงผ้าซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ในเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษหลังนี้ ศิลปะการทอผ้าไทยก็เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ผู้คนเริ่มหันมายกย่องผ้าไทยในฐานะศิลปะและเครื่องแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ไม่ใช่งานฝีมือที่ทำขึ้นเพียงเพราะความจำเป็น

“ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มเปิดกว้าง เหมือนทุกอย่างมันถูกที่ถูกเวลา คนอยากหาผ้าซิ่นมานุ่งกันเยอะขึ้น ซึ่งโซเชียล มีเดียเองก็มีบทบาทในการให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีเหล่านี้ ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกภูมิใจกับรากเหง้าของตนเองและถวิลหาอดีต ละครโทรทัศน์ร่วมสมัยอย่าง ‘บุพเพสันนิวาส’ ก็มีส่วนช่วยเหมือนกัน เราเห็นความต้องการผ้าไทยในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผมหวังว่าเราจะรักษาความนิยมนั้นไว้ได้ มีชาวบ้านหลายคนที่คิดจะเลิกล้มอาชีพทอผ้า แต่ตอนนี้พวกเขากลับมาทำงานนี้อีกครั้ง” ทวีป ฤทธินภากรกล่าว ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งนักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภัณฑารักษ์ดูแลคลังผ้าโบราณแห่งสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

ทวีปรีบเสริมว่า ถึงแม้การที่คนหันกลับมานิยมผ้าไทยจะเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าเป็นไปในทิศทางที่สร้างคุณค่าให้กับแวดวงผ้าไทย หากคนเลือกซื้อผ้าไทย แต่เป็นผ้าที่ผลิตในโรงงาน ก็ไม่เป็นการช่วยทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวแต่อย่างใด

ในหมู่ช่างทอผ้า 30 คนที่บ้านคำปุน มีชัยกล่าวว่ามีเพียง 7 คนเท่านั้นที่สามารถผลิตผ้ามัดหมี่คุณภาพสูงได้ โดยทุกคนล้วนได้รับการฝึกฝนมาเป็นเวลาหลายสิบปี

ลวดลายและกรรมวิธีการทอผ้าจะแตกแขนงออกไปตามแต่ละพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยหลักๆ สามารถแบ่งได้เป็นการมัดหมี่ อันเป็นการนำเส้นด้ายหรือไหมมามัดแล้วย้อมสีเพื่อสร้างลวดลาย และการขิดกับการจกซึ่งเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเพื่อทำลวดลาย ในกรรมวิธีการทอมัดหมี่ กลุ่มเส้นด้ายจะถูกนำไปมัดย้อมเพื่อสร้างลวดลายบนผ้าก่อนการทอในกรณีที่ลวดลายบนผืนผ้ามีหลายสี มัดด้ายจะต้องถูกนำไปย้อมหลายครั้ง ซึ่งการมัดเก็บด้ายบางส่วนจะทำให้สีย้อมไม่เข้าไปติดส่วนอื่นๆ การทอผ้ามัดหมี่นั้นต้องอาศัยความชำนาญอย่างยิ่ง เนื่องจากเส้นด้ายที่ย้อมแล้วจะต้องเรียงกันเกิดเป็นลวดลายที่สมบูรณ์ยามได้รับการทอ ในหมู่ช่างทอผ้า 30 คนที่บ้านคำปุน มีชัยกล่าวว่ามีเพียง 7 คนเท่านั้นที่สามารถผลิตผ้ามัดหมี่คุณภาพสูงได้ โดยทุกคนล้วนได้รับการฝึกฝนมาเป็นเวลาหลายสิบปี

ช่างทอผ้าคนอื่นๆ จะทอผ้าด้วยวิธีการจกหรือขิด ซึ่งเป็นการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปในระหว่างการทอ โดยในการทำลวดลายบนผ้าขิดนั้น จะทำติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า ต่างจากการทอผ้าจก ที่จะสอดเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกัน โดยช่างทอจะใช้ไม้ขนเม่นหรือนิ้วมือยกเส้นด้ายยืนขึ้น แล้วสอดเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปตามจังหวะการทอแต่ละครั้ง ทำให้สามารถทำสลับลวดลายได้หลายสี ต่างจากผ้าขิดที่จะใช้ เส้นด้ายพุ่งพิเศษเพียงสีเดียว การทอผ้าจก จึงมีความสลับซับซ้อนและต้องอาศัยเวลา แต่ลวดลายที่ได้จะมีความโดดเด่นกว่า

“ประเพณีทอผ้าแบบดั้งเดิมนั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและใช้เวลา เนื่องจากตามหมู่บ้านในชนบท การทอผ้านั้นเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน สมาชิกในครอบครัวจะเป็นผู้รับผิดชอบทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเลี้ยงไหม ไปจนถึงการเตรียมเส้นไหมและการทอ โดยชาวบ้านจะใช้วัตถุดิบที่หาได้จากธรรมชาติมาสกัดเป็นสีสันต่างๆ เพื่อเตรียมไว้สำหรับการย้อมสีไหมหรือฝ้าย ขึ้นอยู่กับจำนวนสีที่ต้องใช้ในลวดลายที่จะทอ ศิลปะการทอผ้าของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นเครื่องหมายแสดงถึงมรดกทางวัฒนธรรมและประเพณีอันยาวนาน เมื่อเวลาผ่านไป เทคนิคต่างๆ ก็เริ่มมีความประณีตซับซ้อนขึ้น” เจน บูรณะนนท์ อธิบาย เธอเป็นนักเขียน นักประวัติศาสตร์ และที่ปรึกษาแห่งมูลนิธิ James H.W. Thompson โดยหลายปีที่ผ่านมา เธอได้มีโอกาสร่วมงานกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเพื่อส่งเสริมให้ผ้าไทยเป็นที่รู้จัก

มีชัยก่อตั้งบ้านคำปุนขึ้นเพื่อสืบสานและต่อยอดวัฒนธรรมการทอผ้าไทย และสร้างช่องทางเลี้ยงชีพให้กับช่างทอผ้าชาวอุบลราชธานี แต่คุณูปการของเขาต่อวงการผ้าไทยไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ มีชัยยังเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ผู้ซึ่งนำเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์กับงานศิลป์แขนงดังกล่าวอีกด้วย

ผมภูมิใจมากที่เรามาถึงจุดที่ช่างทอผ้าเป็นอาชีพที่มีอนาคต คุณค่าแท้จริงนั้นแฝงอยู่ในรูปแบบและจิตวิญญาณที่ช่างผู้สร้างสรรค์ถ่ายทอดออกมาในผ้าแต่ละผืน มันเป็นยุคสมัยที่พิเศษ ของประวัติศาสตร์ไทย และเราทุกคนควรจะภาคภูมิใจ

ในอดีต มีชัยเคยทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนสายการบินไทย ตลอดระยะเวลา 8 ปี เขาได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ในเอเชียและศึกษาเทคนิคการทอผ้าของแต่ละท้องถิ่นเขาจะพกสมุดกับปากกาไปด้วยเสมอ และเมื่อใดก็ตามที่เกิดแรงบันดาลใจสำหรับลายผ้าใหม่ๆ เขาจะรีบร่างมันลงกระดาษ “เป็นเวลานานที่เราไม่ได้คิดสร้างสรรค์ผ้าไทยด้วยเทคนิคและสไตล์ใหม่ๆ เรายึดติดอยู่กับสิ่งที่เราทำในอดีต การเดินทางช่วยเปิดโลกให้ผมมีโอกาสได้ศึกษาสิ่งที่คนในประเทศจีนหรืออินเดียเขาทำกัน” เขาเล่า

“ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการทอผ้าไทยและประสบการณ์ที่ได้จากการเดินทาง ทำให้ผมคิดนำสิ่งต่างๆ มาผสมผสานจนเกิดเป็นเทคนิคใหม่ๆ อย่างที่อาจไม่เคยมีใครลองมาก่อน” เขาเริ่มเพิ่มสีพาสเทลลงไปในงาน และผสมผสานการทำผ้า มัดหมี่เข้ากับวิธีการทอผ้าไหมจีน โดยนำเอาผ้าไหมขอบทองหรือเงินมาวางทับบนผ้ามัดหมี่ ซึ่งทำให้เขาได้รับการยกย่องในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมสิ่งทอของจังหวัด และได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อันถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญเมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานของผ้าไทยในภูมิภาคดังกล่าว แต่สำหรับมีชัย คุณค่าของความเพียรพยายามนี้มีอะไรมากกว่ารางวัลเกียรติยศหรือทรัพย์สินเงินทอง

“ผมภูมิใจมากที่เรามาถึงจุดที่ช่างทอผ้าเป็นอาชีพที่มีอนาคต คุณค่าแท้จริงนั้นแฝงอยู่ในรูปแบบและจิตวิญญาณที่ช่างผู้สร้างสรรค์ถ่ายทอดออกมาในผ้าแต่ละผืน มันเป็นยุคสมัยที่พิเศษของประวัติศาสตร์ไทย และเราทุกคนควรจะภาคภูมิใจ” มีชัยเล่าต่อ ในขณะที่ทวีปเสริมว่า “เคยมีช่วงเวลาในอดีตที่ผ้าไทยถูกมองว่าเป็นศิลปะชั้นรอง เป็นเพียงงานฝีมือทั่วไป แต่ทุกอย่างกำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป คนมากขึ้นเริ่มมองเห็นคุณค่าในหยาดเหงื่อและภูมิปัญญาที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผ้าทอแต่ละผืน ซึ่งส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น”

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแหล่งทอผ้าพื้นเมืองต่างๆ เกิดขึ้นมากกว่าช่วงเวลาใดในความทรงจำของมีชัย บรรดาช่างฝีมือเต็มตัวเหล่านี้คือศิลปินผู้อุทิศหยาดเหงื่อและเวลาหลายทศวรรษเพื่อฝึกฝนทักษะในการถักทอผ้าไทยผืนวิจิตร พวกเขาบรรจงทอเส้นด้ายแต่ละเส้นช้าๆ ดั่งช่างแกะสลักที่ค่อยๆ กะเทาะหินอ่อนทีละน้อย ในขณะที่ผ้าแต่ละผืนก็ทำหน้าที่แสดงถึงภูมิปัญญาที่สืบทอดจากหลายชั่วอายุคน และบอกใบ้ถึงวิถีชีวิตและความเชื่อของคนรุ่นก่อน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญว่า เมื่อเวลาผ่านไป คุณค่าเหล่านี้มีแต่จะทบทวีขึ้น และทำให้ในที่สุด เราก็ดำเนินมาถึงยุคที่ผ้าไทยไม่ใช่เพียงสิ่งพ้นสมัยสำหรับโชว์ในหนังสือเรียนหรือพิพิธภัณฑ์อย่างเดียวอีกต่อไป

Essentials


บ้านคำปุน

331 ถนนศรีสะเกษ ตำบลหนองกินเพล
อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี

045-254-830

สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

131 ซอยสุขุมวิท 21
ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

02-661-6470