HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอยในปี 2020?

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


เมื่อต้นปีนี้มีการคาดการณ์กันอย่าง แพร่หลายว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอย่างกว้างขวางและทั่วถึงเหมือนกับปีก่อนหน้า ซึ่งจะกระตุ้นให้การลงทุนในปีนี้สดใส (แม้จะไม่ดีเท่ากับปีที่แล้วที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 20-30% อย่างถ้วนหน้า) แต่เวลาผ่านมาครึ่งปีแล้ว ปรากฏว่า ราคาหุ้นยังไม่ไปไหนและเศรษฐกิจบางประเทศก็เริ่มอ่อนตัวลง (เช่นในโซนยุโรป) หรือบางประเทศก็เข้าขั้นวิกฤติจนต้องไปขอพึ่งพากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) (อาร์เจนตินา) และอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่นั้น ก็ต้องเผชิญกับการอ่อนตัวอย่างรุนแรงของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างฉับพลัน (เช่น ตุรกี บราซิล และอินโดนีเซีย) กล่าวโดยสรุปคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีการแบ่งแยก และไม่ได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางดังที่ได้ คาดการณ์เอาไว้เมื่อต้นปี

การแบ่งแยกดังกล่าวอาจทวีความรุนแรงขึ้นอีกได้ในครึ่งหลังของปีนี้ หากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีพื้นฐานดีกว่าของประเทศหลักอื่นๆ เช่น การจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 200,000 ตำแหน่ง ต่อเดือน ในขณะที่อัตราการว่างงานก็ต่ำอยู่แล้วที่ 3.8% นอกจากนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็กำลังจะได้แรงกระตุ้นเพิ่มขึ้นอีกจากการลดภาษีและการเพิ่มรายจ่ายของภาครัฐใน 12 เดือนข้างหน้า

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในวงกว้างคือ การดำเนินนโยบายกีดกันการค้าที่มีผลในเชิงปฏิบัติอย่างชัดเจนของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ในปีนี้ (ปีที่แล้วมีแต่การพูดมิได้มีการปฏิบัติจริง) โดยเริ่มจากการเก็บภาษีศุลกากรเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมกับประเทศคู่ค้าที่ส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ เช่น แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเม็กซิโก โดยอ้างความมั่นคงแห่งชาติ (มาตรา 232) ซึ่งประเทศที่ถูกผลกระทบรับไม่ได้จึงต้องตอบโต้ การกระทำดังกล่าวอาจถูกขยายขอบเขตออกไปอีก เพราะทรัมป์ได้สั่งการให้สอบสวนการนำเข้ารถยนต์ (โดยเฉพาะจากยุโรป) ภายใต้มาตรา 232 เพราะคิดจะเก็บภาษีการนำเข้ารถยนต์ภายในปลายปีนี้ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการขึ้นภาษีศุลกากรจนกระทั่งกระทบกับการค้าของโลกอย่างมีนัยสำคัญได้ในที่สุด (การค้าของโลกปัจจุบันเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยการค้าระหว่างประเทศมีมูลค่าประมาณ 20% ของจีดีพีโลก)

จากการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์เมื่อ 4-8 พฤษภาคม 2018 โดย Wall Street Journal พบว่า ประมาณ 2 ใน 3 ของ นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ สภาวะถดถอยภายในปี 2019-2020


แต่ความเสี่ยงของสงครามการค้าที่น่ากลัวที่สุดคือการตอบโต้กันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพราะปริมาณการค้าของ 2 ประเทศดังกล่าว รวมกันแล้วมีมูลค่าสูงถึง 630,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่าการค้าเหล็กที่กล่าวถึงข้างต้นประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนั้น ประเด็นที่สหรัฐฯ กับจีนถกเถียงกันอยู่นั้นแก้ไขได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะการที่สหรัฐฯ ต้องการให้รัฐบาลจีนยุติการส่งเสริมและช่วยเหลืออุตสาหกรรมหลักของจีนในด้านเทคโนโลยีล้ำหน้าตามแผน Made in China 2025 ซึ่งผมเกรงว่าจีนจะไม่สามารถยอมสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ได้เพราะเป็นยุทธศาสตร์ชาติของจีน ดังนั้น ความตึงเครียดทางการค้าที่กำลังถูกขยายวงออกไปอย่างรวดเร็วอาจบั่นทอนการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่ระบบการผลิตและการตลาดนั้นเป็นระบบโลกาภิ-วัตน์ กล่าวคือ มีแหล่งผลิตอยู่ทั่วโลกเพื่อผลิตสินค้าขายในตลาดทั่วโลกเช่นกัน

และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้นั้นมีความยาวนานมากแล้ว และอย่างที่ทราบกันดีว่า เศรษฐกิจเมื่อมีขาขึ้นก็ต้องมีขาลง ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์เมื่อ 4-8 พฤษภาคม 2018 โดย Wall Street Journal พบว่า ประมาณ 2 ใน 3 ของนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่สภาวะถดถอยภายในปี 2019-2020 โดยส่วนหนึ่งเพราะว่าแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังของสหรัฐฯ จะเริ่มแผ่วตัวลงในปี 2020 และการปรับดอกเบี้ยขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นมักจะทำให้เศรษฐกิจต้องชะลอตัวลงอย่างรุนแรงในที่สุด นอกจากนั้น การกีดกันทางการค้าก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้อีกด้วย

ต้องยอมรับว่าหากเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ยาวนานถึงปี 2020 ก็แปลว่าจะเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยาวนานถึง 11.8 ปี ซึ่งจะยาวนานกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในรอบ 60 กว่าปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว กล่าวคือในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น 9 รอบที่ผ่านมา เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะขยายตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 5.8 ปี (หลังจากนั้นก็จะต้องเข้าสู่ภาวะตกต่ำ/หดตัวประมาณ 1 ปี) โดยที่เศรษฐกิจเคยอยู่ใน ‘ขาขึ้น’ ยาวนานที่สุดในปี 1991 (ขยายตัวติดต่อกัน 10 ปี) และปี 1961 (ขยายตัวติดต่อกัน 8.8 ปี) และครั้งนี้ หากขยายตัวได้ถึงปี 2020 ก็จะขยายตัวติดต่อกัน ยาวนานที่สุดในรอบ 60 กว่าปีครับ