HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

CLIENT VALUES


The Future of Medicine

ในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยโรคภัย ปรัชญาการป้องกันโรคก่อนจะเกิดอาการแบบที่เครือโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ พยายามผลักดันอาจเปลี่ยนมุมมองของเราเกี่ยวกับการแพทย์หรือแม้กระทั่งสิ่งที่ควรคาดหวังจากชีวิต

การแพทย์สมัยใหม่ที่เรารู้จัก ถือเป็นศาสตร์ค่อนข้างใหม่หากเทียบกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์ ความก้าวหน้าในการรักษาโรคนั้นเพิ่งเกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วง 60-70 ปีที่ผ่านมา และส่วนใหญ่เป็นการรักษาเมื่อเริ่มมีอาการป่วย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การแพทย์ลักษณะนี้สามารถเอาชนะโรคภัยหลากหลายและต่อชีวิตให้มนุษย์มีอายุยืนยาวกว่าเดิม แต่ด้วยข้อมูลและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล แพทย์จำนวนหนึ่งเริ่มมองไปพ้นการรักษาร่างกายให้หายจากความเจ็บป่วย และใช้ ‘เวชศาสตร์ป้องกัน’ (Preventive Medicine) กล่าวคือการแพทย์แบบที่ไม่เพียงยับยั้งโรคไม่ให้เกิด แต่ยังมุ่งยับยั้งแม้กระทั่งความแก่เพื่อคงร่างกายมนุษย์ให้อยู่ในสมรรถนะที่เยี่ยมที่สุดควบคู่ไปกับอายุขัยที่ยาวนาน เครือโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ผู้นำของประเทศในการแพทย์แขนงนี้ ภายใต้การนำของเรย์มอนด์ ช็อง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์สุขภาพ BDMS Wellness Clinic ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญระดับโลกของวงการแพทย์ กล่าวคือ นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและชะลอวัย ศ. นพ.คีธ แอล. แบล็ค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง และศ. นพ. จีรี โวด์แรค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบกล้ามเนื้อและกระดูก จึงจะมาเล่าถึงความสำคัญของการตั้งศูนย์สุขภาพ BDMS Wellness Clinic ในประเทศไทย ซึ่งอาจเปลี่ยนความคาดหวังต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คนไปอีกระดับ

กันดีกว่าแก้

ศ. นพ.คีธ: โรงพยาบาลทั่วไปจะให้การรักษาต่อเมื่อร่างกายเราแสดงสัญญาณผิดปกติบางอย่าง แต่เวชศาสตร์การป้องกันจะช่วยให้เราบอกได้ว่าคุณเสี่ยงจะเป็นโรคอะไรบ้าง และเริ่มหาวิธีหยุดยั้งตั้งแต่โรคยังไม่แสดงอาการ เช่น ถ้าเราตรวจพบว่าคนไข้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจ เราก็อาจให้เขาใส่แอปเปิลวอทช์เพื่อตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณแรกของโรคหลอดเลือดสมอง พออัตราการเต้นผิดปกติเมื่อไหร่ ทางศูนย์สุขภาพก็สามารถโทรเตือนคนไข้ให้เข้ามาพบแพทย์ได้ก่อนจะเกิดเป็นเหตุฉุกเฉิน

นพ.ตนุพล: ปัจจุบันเราสามารถตรวจยีนเราสามารถตรวจผลเลือดละเอียดเล่มหนาเท่าสมุดโทรศัพท์ เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถ customize การรักษาได้ นี่คือความสนุก ไม่มีคนไข้คนไหนซ้ำกัน ธรรมชาติสร้างร่างกายมนุษย์มาไม่เหมือนกัน ฝาแฝดคนหนึ่งหัวเราะทั้งวัน อีกคนเครียดทั้งวัน ผลเลือดจะเหมือนกันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นหมอเองถึงต้องใช้เวลากับคนไข้แต่ละคนเยอะมาก เพราะเราอยากรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับคนไข้บ้าง และพอหมอสหวิชาชีพดูสมอง ดูตับ ดูไส้ ดูปอดแล้ว หมอทุกคนก็จะกลับมาคุยกันว่าการรักษาอะไรดีต่อคนไข้มากที่สุด ไม่ใช่หมอไตรักษาไตไม่คุยกับหมอหัวใจ หมอหัวใจรักษาหัวใจไม่คุยกับหมอตับหมอตับรักษาตับไม่สนใจหัวใจ ร่างกายมนุษย์มันเชื่อมกัน ไม่ใช่ของใครของมัน นี่คือวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ที่มองคนไข้เป็นองค์รวม มองคนไข้เป็นจักรวาล หมอทุกแผนกต้องนั่งประชุมว่าจากผลเลือดเล่มหนาขนาดนี้ ต้นเหตุมาจากใคร

ภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า จำนวนประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีกราว 20% ดังนั้น หากคนกลุ่มนี้มีสุขภาพอ่อนแอ พวกเขาจะกลายเป็นต้นทุนสำหรับประเทศอย่างมหาศาล

ศ. นพ.จีรี: นี่คือหลักการเดียวกันกับตอนที่ผมทำอยู่สหพันธ์ FIFA เพราะสุดท้ายในมิติสุขภาพนักเตะ ทุกอย่างเป็นองค์รวม เราต้องคิดถึงปัจจัยหลากหลายที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของนักกีฬาทั้งหมด งานของเราจึงเป็นการป้องกันและคาดการณ์โรค อย่าลืมว่านักเตะแต่ละคนค่าตัวหลักหมื่นล้าน และการรอให้เกิดอาการแล้วค่อยผ่าตัดจนนักเตะต้องเว้นการลงสนาม ถือเป็นต้นทุนที่สูงเกินไป พอมีโอกาสได้พูดคุยกับเครือโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เรื่องแผนการตั้งศูนย์สุขภาพ ผมจึงตกลงมาสร้างคลินิกด้านระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่นี่ โดยนำสิ่งที่ทำที่ FIFA มาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น

เรย์มอนด์: อย่างนพ.คีธ เป็นศัลยแพทย์ระบบประสาท การผ่าตัดเนื้องอกในสมองหลังเกิดโรคเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขาอยู่แล้ว แต่เขาบอกว่า เมื่อเทียบกันแล้ว การเป็นเนื้องอกในสมองทรมานน้อยกว่าอัลไซเมอร์ เพราะคุณจะไม่ตาย คุณต้องอยู่ไปอีก 10-15 ปี แล้วคนที่ทรมานยิ่งกว่าคือคนรอบข้าง คุณแม่ของคีธเองก็ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ เขาจึงพยายามหาหนทางชะลอโรคให้คุณมีชีวิต มีสมองที่มีคุณภาพไปอีก 20 ปี เพราะเราสามารถตรวจพบอัลไซเมอร์ได้ 20 ปีก่อนที่จะแสดงอาการ นี่คือตัวอย่างที่ดีมากของสิ่งที่เราพยายามจะทำคือการตรวจเจอโรคก่อนที่จะเจ็บป่วยและชะลอการเกิดโรคไปอีก 10-15 ปี หรือกระทั่งกันไม่ให้เกิดเลย

เวลาที่สุกงอม

ศ. นพ.จีรี: ตอนนี้เป็นเวลาที่สุกงอม ถ้าเป็นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แนวคิดเรื่องเวชศาสตร์ป้องกันอาจฟังดูเกินความเข้าใจและเกินความจำเป็นของคนทั่วไป แต่ปัจจุบัน ผู้คนเริ่มสนใจมิติของคุณภาพชีวิตมากขึ้น จากเมื่อก่อนขอแค่อายุยืน แต่ปัจจุบันคนสนใจด้วยว่าอายุยืนแล้วคุณภาพการกิน การนอน เพศสัมพันธ์เป็นอย่างไร แล้วไม่น่าเชื่อ เคยมีการวิจัย ใช้นักวิทยาศาสตร์ 200 คนทั่วโลก เอาคนแก่อายุ 70 ปีมาดูแลในเรื่องอาหาร เรื่องการกายภาพ สุดท้ายพอตรวจความฟิตจะพบว่าเท่ากับคนอายุ 30 ที่ไม่ออกกำลังกาย ดังนั้น งานวิจัยสมัยใหม่พิสูจน์แล้วว่าความแก่เป็นเรื่องทางเลือก ไม่ใช่ภาคบังคับ

นพ.ตนุพล: วิธีการอย่างนี้จะช่วยให้คนชะลอการผ่าตัดออกไปได้หลายสิบปี หรือกระทั่งไม่ต้องผ่าตัดเลย ผมเคยมีคนไข้คนหนึ่ง หนัก 129 กิโลกรัม ต้องรับประทานยาต้านเบาหวาน ความดัน และโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ผมจึงสอนเขาถึงวิธีการนอนหลับที่ถูกต้อง เราสอนให้เขาออกกำลังกาย ส่งเขาไปพบทีมแพทย์ต่างๆ ทั้งทีมโภชนาการ แพทย์หัวใจ เป็นต้น ภายในระยะเวลา 6 เดือน น้ำหนักของเขาลดลงไป 40 กิโลกรัม ไม่ต้องผ่าไม่ต้องอะไร เพียงแต่การทำวิธีนี้ เราต้องรู้จักให้เวลากับคนไข้แต่ละคน เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิตเขาและชี้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะมีสุขภาพที่ดี

เราต้องเริ่มถามตัวเองว่าอยากได้อะไร บางคนบอก wealth บางคนบอก money glory แต่หลายพันปีที่แล้วที่ฮิปโปเครตีสพูดว่า คนฉลาดคือคนที่รู้ว่าสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดคือสุขภาพ

ศ. นพ.คีธ: การแพทย์สมัยใหม่เพิ่งเริ่มเมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว ในช่วงปลายยุค ’40s ซึ่งมีการพัฒนายาปฏิชีวนะ แต่ปัจจุบัน เราสามารถบอกลำดับจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมของเราได้ทั้งหมด จนเรารู้แล้วว่าการใช้เวชศาสตร์ป้องกันแทนการรักษาตามหลังช่วยคนได้ดีกว่ามาก เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์นี้ชัดในการวินิจฉัยโรคอย่างมะเร็งเต้านม หรือการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

เรย์มอนด์: ทั้งหมดไม่ใช่แค่การรักษาผู้ป่วย เพราะภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า จำนวนประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีกราว 20% ดังนั้น หากคนกลุ่มนี้มีสุขภาพอ่อนแอ พวกเขาจะกลายเป็นต้นทุนสำหรับประเทศอย่างมหาศาล ในทางตรงกันข้าม จะเห็นได้ว่าหลายประเทศกำลังเพิ่มเพดานอายุเกษียณ เพราะต้องการแรงงานจากประชากรกลุ่มนี้อยู่ ดังนั้น เรากำลังอยู่ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และเวชศาสตร์ป้องกันจะเข้ามาช่วยรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างมาก

ความรู้คืออำนาจ

ศ. นพ.คีธ: หนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือการตรวจพันธุกรรมที่ราคาถูกลง ปัจจุบันเราสามารถมองได้ลึกถึงความเสี่ยงระดับยีน เพื่อดูว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอะไรบ้าง อย่างที่สองคือการตรวจโรคแบบ ‘non-invasive’ ซึ่งช่วยให้เราวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ เช่นดูว่าสมองหดตัวลงบ้างมั้ย หรือมองผ่านหลังตาเพื่อตรวจหาสัญญาณเกิดโรคความจำเสื่อม สิ่งเหล่านี้ทำให้เรากะระยะโรค และเลี่ยงมันได้ นอกจากนั้น ผลการวิจัยต่างๆ บ่งชี้ว่าเราคุมการเจริญเติบโตของโรคบางโรคได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต คนอาจไม่รู้ว่าโรคความจำเสื่อมก็เหมือนโรคเบาหวาน คือ คนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคได้

นพ.ตนุพล: ปัจจุบัน การเจาะเลือดเพื่อวัดฮอร์โมน วิตามิน และอื่นๆ นั้น เรามีเครื่องมือที่สามารถลงลึกไปได้ในระดับนาโนกรัม หรือพิโคกรัม ซึ่งเล็กกว่าหน่วยคอเลสเตอรอลประมาณ 1 แสนหรือ 1 ล้านเท่า คล้ายกับเรามีกล้องโทรทัศน์ที่มองเห็นได้ไกลขึ้น คือสมัยก่อนเราอาจจะเห็นแต่ดวงจันทร์ แต่ตอนนี้เรามองเห็นทะลุไปอีกจักรวาลหนึ่งแล้ว เราสามารถเจาะได้ถึง ระดับ DNA และ RNA สิ่งที่ตามมา คือความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค เราไม่จำเป็นต้องรักษาโรคด้วยการคาดเดาหรือกะผิดๆ ถูกๆ อีกต่อไป

ศ. นพ.จีรี: ในส่วนของระบบกล้ามเนื้อและกายภาพบำบัด เราใช้เทคโนโลยีและระบบการจัดการข้อมูลที่ทันสมัยมาช่วยในการทำกายภาพบำบัด เราสามารถตรวจหา ความผิดปกติของกลุ่มกล้ามเนื้อแต่ละส่วนของแต่ละบุคคล เพื่อออกแบบวิธีการรักษาหรือออกกำลังกายที่เหมาะสม โดยโปรแกรมของเราไม่ได้จำกัดแค่สักแต่ว่าให้ยกน้ำหนัก แต่ยังมีการกำหนดพิสัยการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและพัฒนาเทคนิคการออกกำลังกายที่จะไม่ล้ำออกไปนอก ‘pain-free zone’ ของแต่ละคน และอย่างที่เล่า การออกกำลังกายคือยาที่ถูกและดีที่สุด ไม่ใช่แค่เพื่อป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด แต่ยังสามารถรักษาโรค ไม่ว่าจะความดัน เบาหวาน ประเภท 2 โรคกระดูกพรุนในผู้หญิง หรือกระทั่งมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมลูกหมากได้ องค์ความรู้ยืนยันว่าเราสามารถใช้การออกกำลังกายรักษาและป้องกันโรคได้

ความเหมือนที่ต่าง

เรย์มอนด์: ในแง่ของเทคโนโลยีอาจไม่มีความต่างอะไรระหว่างการแพทย์ปกติกับเวชศาสตร์ป้องกัน แต่ความต่างอยู่ที่วิธีที่การใช้เทคโนโลยี ตามโรงพยาบาลทั่วไป คุณต้องรอให้ร่างกายแสดงอาการผิดปกติก่อนถึงจะใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วย แต่สำหรับเวชศาสตร์ป้องกัน เราใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น แต่เพราะอย่างนี้ความเชี่ยวชาญของแพทย์จึงต้องต่าง แพทย์โดยทั่วไปจะรู้ว่ากำลังมองหาอะไร แต่วิธีการรักษาแขนงใหม่เปรียบเหมือนการต้องงมเข็มในมหาสมุทร เราต้องมองหาความผิดปกติก่อนที่จะมีอาการป่วยใดๆ แสดงออกมาชัดเจน

ศ. นพ.คีธ: ไม่ใช่ว่าแพทย์แผนปัจจุบันทั่วไปจะขาดความเชี่ยวชาญตรงจุดนี้ แต่พวกเขาถูกฝึกมาให้รักษาโรคตอนที่มันเกิดขึ้นแล้ว และพวกเขามักไม่มีเวลามากพอที่จะใช้เวชศาสตร์ป้องกันในการรักษาหรือสอนคนไข้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันโรค ผมคิดว่าถ้าพวกเขาสามารถใช้เวลากับคนไข้ได้มากขึ้น แพทย์เหล่านี้ก็สามารถฝึกฝีมือจนเชี่ยวชาญไม่แพ้กัน

นพ.ตนุพล: การทำงานที่นี่ เราต้องเห็นภาพตรงกันก่อนว่าไม่มีใครอยากป่วย กินยา หรือผ่าตัด ดังนั้นเราจึงต้องวิเคราะห์ร่างกายคนไข้เพื่อหาว่าอะไรคือจุดอ่อนของเขา แล้วก็ใช้เวชศาสตร์การคาดการณ์และป้องกันโรคช่วยให้เขาชะลอหรือไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด หรือการรักษาแบบหนักๆ มันคือการยอมใช้เวลาเพื่อพัฒนาแผนสุขภาพสำหรับเขาในอนาคตระยะยาว

การเปลี่ยนแปลง

ศ. นพ.คีธ: ความนิยมค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันการรักษาโรคแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง วิธีการป้องกันจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เดี๋ยวนี้เรามีเครื่องวิเคราะห์หานัยยะของข้อมูล เรามีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือแม้กระทั่งเครื่องมืออย่างฟิตเนส แทรกเกอร์ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราเห็นภาพเลยว่าคนไข้กำลังผ่านหรือเผชิญอะไรบ้าง ความเปลี่ยนแปลงกำลังค่อยๆ เกิด ซึ่งผมหวังว่าแพทย์คนอื่นๆ จะหันมาสนใจเวชศาสตร์ป้องกันมากขึ้น เพราะตอนนี้มันน่าจะเป็นอนาคตของวงการแพทย์ได้ โดยสิ่งหนึ่งที่ ศูนย์สุขภาพจะทำก็คือการฝึกและเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของการแพทย์แขนงนี้ในอนาคต

ศ. นพ.จีรี: หนึ่งในความท้าทายคือแนวทางใหม่นี้จะถ่ายทอดไปยังคนหมู่มากได้อย่างไร ในระดับปัจเจกอาจทำได้ง่าย เพราะอย่างไรความสัมพันธ์ของแพทย์และคนไข้ก็เป็นไปในลักษณะตัวต่อตัวอยู่แล้ว แต่ถ้าจะสื่อสารกับประชาชนทั่วไปจะยากขึ้นมาก ดังนั้นถ้าเราไม่หวังแค่สักแต่ว่าพูด เราต้องหาวิธีสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าวให้ได้ ไม่ว่าจะผ่านการเผยแพร่วิดีโอหรืออะไรก็ตาม เช่น หากมีข้อความอะไรแล้วให้ผมไปพูด แน่นอนว่าคนย่อมสนใจน้อยกว่าให้คริสเตียโน โรนัลโดออกมาพูด เราเรียกสิ่งนี้ว่า Act locally, but think globally คือเราเริ่มทำในจุดเล็กๆ แต่เราต้องเห็นภาพใหญ่ที่เราจะขยายผลไปให้ถึง

นพ.ตนุพล: มนุษย์ต้องเริ่มถามตัวเองว่าอยากได้อะไร บางคนบอก wealth บางคนบอก money glory แต่หลายพันปีที่แล้วที่ฮิปโปเครตีสพูดว่า A wise man ought to realize that his health is his most valuable possession คนฉลาดคือคนที่รู้ว่าสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดคือสุขภาพ หมอเลยพยายามรณรงค์เรื่องนี้ ระหว่างเราทำงานหนักมากแล้วต้องเป็นโรคที่ทำให้ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงตอนอายุ 60 กับทำงานน้อยลงหน่อย แต่อยู่ได้ถึง 100 โดยที่ยังแข็งแรง เอาอย่างหลังดีกว่าไหม คำว่า ‘regenerative medicine’ การฟื้นฟูสภาพเซลล์ที่เสื่อมไปให้กลับมาดี คำว่า ‘Preventive Medicine’ การป้องกันไม่ให้เจ็บไม่ให้ป่วย คำว่า ‘anti-aging การชะลอวัย สุดท้ายแล้วหลักการเดียวกัน คือการออกมาเปิดเกมรุกต่อโรคภัยไข้เจ็บ อย่ารอให้มันมาตีเรา แล้วทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเลย

รู้จักกับ เรย์มอนด์ ช็อง



เรย์มอนด์ ช็อง อดีตกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลสมิติเวช ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์สุขภาพ BDMS Wellness Clinic

รู้จักกับ นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ



นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและชะลอวัย การลดน้ำหนัก และงานวิจัยสเต็มเซลล์ของประเทศไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการศูนย์สุขภาพ BDMS Wellness Clinic

รู้จักกับ ศ. นพ.จีรี โวด์แรค



ศ. นพ.จีรี โวด์แรค อดีตประธานฝ่ายแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ผู้ออกแบบโปรแกรมรักษาทางกีฬาของสหพันธ์ฯ และมีงานวิจัยตีพิมพ์หลายร้อยชิ้น

รู้จักกับ ศ. นพ.คีธ แอล. แบล็ค



ศ. นพ.คีธ แอล. แบล็ค หนึ่งในศัลยแพทย์ด้านระบบประสาทที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในโลกในเรื่องโรคความจำเสื่อมและโรคทางสมอง จนได้รับการยกย่องให้ขึ้นปกนิตยสาร Time ฉบับ Heroes of Medicine