SECTION
ABOUTCLIENT VALUES
Seasoned Legacy
วิศิษฏ์ ลิ้มประนะ ผู้สืบสานตํานานกว่า 70 ปีของเครื่องเทศ ‘ง่วนสูน’
ราชาผู้ผลิตเครื่องเทศของไทยซึ่งทุกครัวเรือนรู้จักผ่านพริกไทยคุณภาพเยี่ยมในกระป๋องสีทองฝาแดงพร้อม ‘ตรามือ’ อันเป็นเอกลักษณ์ มีจุดเริ่มต้นจากเพียงหาบขายของริมตรอกในเยาวราช โดยปัจจุบัน ภายใต้การบริหารของวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ลูกชายคนรองของเจ้าสัวอาจจิตต์ ลิ้มประนะ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ง่วนสูน อาณาจักรของง่วนสูนได้ขยายไปพ้นพริกไทยหรือแม้แต่ประเทศไทย โดยมีสินค้าเครื่องเทศจำหน่ายกว่า 200 ชนิด และส่งออกไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
กระนั้น นอกเหนือจากบทบาทในฐานะนักธุรกิจ วิศิษฎ์ยังได้รับหน้าที่สำคัญอีกหลายด้าน ทั้งการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การช่วยยกระดับวงการอาหารในประเทศ ตลอดจนชีวิตเกษตรกร อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งประธานประชาคมนักธุรกิจย่านเยาวราช ซึ่งยืนยันความแข็งแรงและมีชีวิตชีวาของคติดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งชาวจีนโพ้นทะเลหยั่งรากลงในประเทศไทยว่า “ต้องให้ จึงจะได้”
ชาวจีนโพ้นทะเล
อากงผมเป็นคนจีนอพยพ ลงเรือสำเภาจากซัวเถามาตั้งรกรากอยู่ตรงสะพานหัน ท่านเริ่มจากการทำงานเป็นจับกัง ก่อนจะหันมาค้าขายยาเส้นกับเพื่อนๆ ในตรอกโรงฉุนตรงคลองโอ่งอ่าง จนถึงช่วงปี 2491 เริ่มมีโรงงานยาสูบเข้ามาตั้ง ธุรกิจยาเส้นกระป๋องจึงเริ่มวาย ตอนนั้นคุณพ่อผมอายุประมาณ 18 ปี ท่านก็เริ่มมองหาอาชีพอย่างอื่นทำ เลยไปรับเครื่องกระป๋องจากเมืองจีน เช่น บ๊วย ลิ้นจี่ จากทรงวาดใส่กระด้งมาเดินเร่ขายตรงตรอกเล่งบ๊วยเอี๊ยะ (ตรอกอิสรานุภาพ) กับตลาดนัดสนามหลวง
จุดเริ่มต้นตำนานเครื่องเทศ
สมัยก่อนในกรุงเทพฯ ต้องไปซื้อสินค้าเกษตรย่านทรงวาดเพราะเป็นแหล่งค้าส่ง วันหนึ่งคุณพ่อผมไปเห็นเม็ดพริกไทยวางขายเป็นกระสอบ ก็เลยซื้อมาแบ่งใส่ถุงทดลองขายคู่กับเครื่องกระป๋อง ขายไปสักพักคนก็เริ่มมาถามหาพริกไทยแบบป่น คุณพ่อก็เลยไปซื้อเครื่องโม่หินมาแล้วให้พี่น้องช่วยกันบดแบ่งใส่ถุงเล็กๆ ให้คุณพ่อเอาไปเดินเร่ขาย ก็ปรากฏว่าขายได้อีก แล้วเกือบทุกวันท่านจะต้องเดินผ่านตรอกเล่งบ๊วยเอี๊ยะท่านก็จะมาแวะพักเหนื่อยตรงที่ๆ ปัจจุบันเป็นหน้าร้านง่วนสูน คุณพ่อผมก็อาศัยหน้าร้านเขาตั้งกระด้ง ผ่านไปเป็นปีก็ทราบว่าเจ้าของร้านจะขายห้อง ก็เลยไปบอกอากงว่าอยากซื้อห้องแถวหลังนี้ อากงก็ให้เงินมาพร้อมกับตั้งชื่อร้านให้ว่า ‘ง่วนสูน’ เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่า “ก้าวหน้าไปทีละขั้น”
สร้างอัตลักษณ์แบรนด์
พอเริ่มมีร้าน คุณพ่อท่านก็มองว่าจะขายแต่พริกไทยอย่างเดียวไม่ได้ เราเลยไปรับพวกเครื่องเทศต่างๆ เช่น โป๊ยกั๊ก อบเชย เครื่องปรุงอาหารมาขายด้วย ทำไปได้ราว 2 ปีก็มีคนอยากซื้อผลิตภัณฑ์ไปขายต่อที่ต่างจังหวัด เลยต้องมีตรา สมัยก่อนยาเส้นจะมาเป็นมัดๆ แล้วก็มาติดตราแบ่งขายเป็นกระป๋อง บังเอิญคุณพ่อไปเห็นหีบไม้ใส่ยาเส้นที่มีโลโก้คำว่า “good” มีสัญลักษณ์ชูนิ้วโป้ง ท่านก็เลยเลือกตรามือมาเป็นเครื่องหมายการค้า ผ่านไปไม่นาน ธุรกิจก็เริ่มขยับขยาย ต้องมีโรงงาน เดิมทีเราไปเช่าที่เขาเล็กๆ อยู่แถวสำเหร่ ก่อนจะย้ายมาอยู่ตรงที่ปัจจุบันคือสุขสวัสดิ์ 2 สมัยก่อนแถวโรงงานเป็นร่องสวน เราก็เริ่มต้นจากพื้นที่หนึ่งไร่ ก่อนจะค่อยๆ ขยับขยายมาจนเป็นสิบกว่าไร่ ตัวกระป๋องพริกไทยสีทองก็เหมือนกัน คุณพ่อท่านเป็นคนออกแบบเองทั้งหมด เพราะทำไปสักพักก็มีคนเริ่มถามหาเรื่องแพคเกจจิ้ง ต่อมาภายหลังเราถึงเปลี่ยนจากกระป๋องมาใช้ขวดแก้วเพราะสุขลักษณะมันดีกว่า บางคนบอกทำไมแบบกระป๋องทองใส่พริกไทยน้อย เราบอกเราใส่น้อย เพราะหมดแล้วเขาจะได้ทิ้งกระป๋อง ถ้าใส่เยอะ พริกไทยยังไม่หมดแต่กระป๋องอาจขึ้นสนิมไปแล้ว ก็จะไม่ถูกสุขลักษณะ แต่เรายังเก็บดีไซน์เก่าไว้ เพราะถือว่าเป็นของเก่า มีคุณค่า จนเป็นที่จดจำของผู้บริโภคจนถึงปัจจุบัน
ส่งออกคือหัวใจ
พอตั้งโรงงานแล้ว คุณพ่อผมท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ก็ส่งพี่น้องผมทุกคนไปเรียนอังกฤษ พอดีอาคนหนึ่งทำงานอยู่ที่ Bank of China ในลอนดอน ก็เลยไปอยู่กับอา ตอนไปคุณพ่อบอกพวกเราว่าไม่ต้องเรียนสูงมาก เอาให้อ่าน พูด ฟัง เขียนภาษาอังกฤษได้ คุณแม่ก็เหมือนกันบอกพวกผมว่าแค่ไปเรียนภาษาและเขียนจดหมายโต้ตอบภาษาอังกฤษได้แล้วค่อยกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ท่านยํ้าว่าเราต้องส่งออกให้ได้ พอเรียนจบกลับมาพี่สาวก็แต่งงานไป พี่ชายผมก็มาเริ่มรับช่วงกิจการก็เริ่มลุยเรื่องนี้ สมัยนั้นเพิ่งมีซูเปอร์มาร์เก็ตกับเซเว่นอีเลฟเว่นใหม่ๆ เราก็เอาของไปวางขาย ไม่นานก็เริ่มเห็นลู่ทางส่งออก เพราะแรงงานไทยเดินทางไปทำงานซาอุดิอาระเบียเยอะ ต้องซื้อเครื่องปรุงอาหารไทยต่างๆ กันไปเป็นโรงครัว ไปปรุงให้คนไทยกิน พี่ชายผมก็เลยเริ่มจับจุดได้ว่าสินค้าของเรา ฝรั่งยังไม่ค่อยรู้จักมากนักเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ดังนั้นต้องตามคนไทยไป คนไทยอยู่ที่ไหนให้ตามไปขายถึงที่นั่น เราจึงเริ่มตามคนไทยไปยังประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ก่อนจะขยายไปในยุโรป อย่างอังกฤษ เยอรมนี
คุณพ่อผมอาศัยหน้าร้านเขาตั้งกระด้ง ผ่านไปเป็นปีก็ทราบว่าเจ้าของร้านจะขายห้อง ก็เลยไปบอกอากงว่าอยากซื้อห้องแถวหลังนี้ อากงก็ให้เงินมาพร้อมกับตั้งชื่อร้านให้ว่า ‘ง่วนสูน’ เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่า “ก้าวหน้าไปทีละขั้น”
ต่อยอดครัวไทยสู่ครัวโลก
พอหันมาส่งออกเต็มตัว เราก็ต้องขยายโรงงาน เราเริ่มมีห้องแล็บของตัวเอง มีแผนก Research & Development ประจวบเหมาะกับตอนนั้นผมเรียนจบจากอังกฤษกลับมา คุณพ่อก็ส่งผมมาดูแลโรงงานโดยเฉพาะ ปรับเปลี่ยนโรงงานให้ได้มาตรฐานสากล จนปัจจุบันเราส่งออกเป็นเรื่องปกติ เราเดินหน้าพัฒนาสายการผลิตมาเรื่อยๆ จนมีสินค้ากว่า 200 ชนิด อาทิ ผงแกงเลียง ผงผัดซีอิ๊ว ผงหมูปิ้ง ผงแกงเขียวหวาน ถามว่าแกงเขียวหวานเราอร่อยสู้ป้าขายข้าวแกงปากซอยหรือเปล่า ผมว่าไม่ อันนี้มันผงสำเร็จรูป แต่ก็ถือว่าใกล้เคียง 90% อย่างผงแกงเขียวหวาน เราต้มนํ้าเปล่าหม้อหนึ่ง แล้วเอาผงนี่ใส่เข้าไป กวนปุ๊บมันจะเป็นแกงเขียวหวานเลย ของสดที่เหลือเอาจากตู้เย็น มีอะไรก็ใส่เข้าไป ถ้าเราอยู่เมืองนอก มันก็ได้อารมณ์ว่านี่คือแกงเขียวหวาน
บทเรียนธุรกิจ
ผมเคยติดตามอดีตนายกฯ ไป Business Matching เพื่อสร้างสัมพันธ์ทางธุรกิจ ไปๆ มาๆ ก็มีคนเชียร์ให้ผมไปเปิดร้านอาหารไทยที่ต่างประเทศ ผมเลยตัดสินใจเปิดร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อ Muay Thai มีพาร์ทเนอร์ธุรกิจในประเทศนั้นแต่พอทำไปแล้วค่าใช้จ่ายมันสูง และเราไม่สามารถบริหารธุรกิจในประเทศนั้นๆ ได้ตลอดเวลา และเมื่อพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศไม่แข็งแรงในธุรกิจร้านอาหาร จึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเราไม่สามารถดูแลธุรกิจได้เหมือนไปอยู่เองจริงๆ มันทำให้เรารู้ว่าควรจะดีลยังไง เมื่อก่อนเราดีลหลวมๆ ตรงนี้ผมมองว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดี ตอนนี้ก็ยังออกไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเจอพาร์ทเนอร์ที่ลงตัวหรือเปล่า ถ้าไม่เจอเราก็ไม่รีบร้อนเหมือนที่ผ่านมา จึงอยากเตือนผู้ที่จะไปลงทุนต่างประเทศ ว่าเรื่องพาร์ทเนอร์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยดูแลธุรกิจเรา รวมทั้งสัญญาและข้อกฎหมายต่างๆ ในประเทศที่เราเข้าไปลงทุน
รุกตลาดแดนมังกร
จากบทเรียนที่เคยผิดพลาดมาในการทำร้านอาหาร เราเลยเข้าใจแล้วว่า เรื่องอาหารเราคุมไม่ได้ ยิ่งธุรกิจค้าปลีกเราไม่มีเวลาไปดูแน่นอน ถ้าปล่อยไว้จะเสียหาย พอเข้าไปลงทุนที่จีน เราเลยเปิดบริษัทเทรดเดอร์เองที่กว่างโจว นำเข้าสินค้าของง่วนสูน แล้วก็ไปตั้งโกดังสินค้าที่เซี่ยงไฮ้ ประจวบกับตอนนี้คนจีนนิยมอาหารไทยเพราะการท่องเที่ยว ประเทศเขามีประชากร 1,300 ล้านคน มาเที่ยวบ้านเราปีหนึ่งประมาณสักเกือบ 10 ล้านคน ประมาณสักอีกสองหรือสามปีข้างหน้าจะเป็น 12 ล้านคน เท่ากับเดือนละ 1 ล้านคน มาเที่ยว กินอาหารไทย พอกลับประเทศไปเห็นร้านอาหารไทยเขาก็อยากจะทานอาหารไทย จึงเกิดโมเมนตัมนี้ นี่เป็นเหตุผลที่มณฑลต่างๆ ในจีนเริ่มมีร้านอาหารไทยเปิดตัวมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่กว่า 95% เจ้าของเป็นคนจีน ถ้าคนไทยไปกินจะรู้ว่าคุณภาพไม่ได้ คือเขาแค่มีป้ายอาหารไทย คนก็มากินแล้ว เพราะความต้องการมันมี แต่รสชาติเหมือนยังไม่ดีพอ เพราะฉะนั้นพอเราเข้าไปขายเครื่องปรุงให้เขา เขาก็ดีใจเพราะรู้ว่าเราต้องรู้เรื่อง นอกจากซื้อของเราแล้วเขาเลยขอให้ช่วยสอน ช่วยหาเชฟให้ อย่างกะทิ เขาใช้กะทิจากไหหลำ ซึ่งมันหอมสู้กะทิบ้านเราไม่ได้ เราก็เลยเริ่มเข้าไปสอนเขา แนะนำทุกอย่าง
สร้างคุณค่าด้วยเรื่องราว
สมัยผมยังเรียนอยู่อังกฤษ เห็นแต่ละแบรนด์มีร้านของตัวเอง ผมเลยคิดว่าบ้านเราก็ทำได้เหมือนกัน ยิ่งเครื่องเทศยิ่งมีเรื่องเยอะ สามารถต่อยอดได้ไกล อย่างที่มาของคำว่าพริกไทย ทำไมเราเรียกพริกไทย ไม่เรียกพริกเฉยๆ เพราะสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สมัยนั้นสมเด็จพระนารายณ์เอาของที่ระลึกจากสยามประเทศไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงรับสั่งว่าพริกปลูกแถวบ้านเรา เวลาเอาไปถวายเป็นบรรณาการ ก็ให้เรียกว่าพริกจากเมืองไทยแล้วกัน แล้วสมัยก่อนฝรั่งเขาเรียกพริกไทยว่า ‘black gold’ มีค่าเหมือนทอง เพราะยุโรปอากาศหนาวปลูกพริกไทยไม่ได้ ไม่มีอะไรจะใช้ชูรสเนื้อสัตว์ พอเจอพริกไทยชูรสได้ จึงเป็นเสมือนของวิเศษจากโลกตะวันออก เรื่องราวตรงนี้ก็เลยนำมาร้อยเรียง สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ได้อีก กลายเป็นที่มาของร้าน Spice Story ซึ่งปัจจุบันลูกสาวผมเป็นคนดูแลกิจการอยู่
เคล็ดลับทำธุรกิจ
เท่าที่ผมศึกษาดู ธุรกิจเครื่องเทศส่วนใหญ่แต่ละแบรนด์ในโลกมักจะอายุเหยียบร้อยปีอย่าง McCormick นั้นอายุปาไป 120 กว่าปีและอีกหลายบริษัทในยุโรปเป็น 100 กว่าปีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เพราะมันเหมือนกับเพชรพลอย เราต้องดูเป็น เครื่องเทศมันเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง มันมีตั้งสองร้อยกว่าชนิด ถ้าพ่อแม่ผมไม่ได้สอนมาแล้วผมดูไม่เป็น เวลาซื้อของก็โดนเขาหลอกเอาได้ ยกตัวอย่างเวลาเราสั่งซื้อเครื่องเทศมาจากต่างประเทศ ก็จะมีสิ่งปลอมปนเยอะ แล้วคุณจะไปว่าเขาก็ไม่ได้ ตัวเลือกมันมีน้อย หรืออย่างอบเชย ตรงที่แตกไม่เป็นแท่งสวย เราก็เอามาบรรจุขายไม่ได้ แต่พอดีเราทำผงกะหรี่ เราสามารถทำประโยชน์อื่นได้ ทำให้ไม่ต้องทิ้ง อย่างโรงงานเนื้อสัตว์ก็เหมือนกัน เศษกุ้ง เศษหมู มันมีหมด บางเจ้าก็ต้องลงไปแปรรูปเป็นอาหารอย่างอื่นแทน ฉะนั้นโรงงานใหญ่ๆ เขาเลยมี by-product ถ้านำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ก็จะเพิ่มมูลค่าได้
สมัยก่อนฝรั่งเขาเรียกพริกไทยว่า ‘black gold’ มีค่าเหมือนทอง เพราะยุโรปอากาศหนาวปลูกพริกไทยไม่ได้ พอเจอพริกไทยชูรสได้ จึงเป็นเสมือนของวิเศษจากโลกตะวันออก
ประตูสู่มิชลิน
ผมเคยดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสายงานต่างประเทศอยู่ 4 ปี ช่วงนั้นได้มีโอกาสเดินทางไปประชุมต่างประเทศบ่อย จึงทำให้ผมมีโอกาสนัดเจอกับประธานมิชลินที่สถานีรถไฟในกรุงบรัสเซลล์ เป็นประธานที่ดูแลฝั่งมิชลินไกด์ คือเขาแยกกันกับธุรกิจยางรถยนต์เลย ผมก็ฝากนามบัตรเขาให้กับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตรงนี้เป็นเหตุที่ทำให้เรารู้จักมิชลินจริงๆ ผมพยายามคุยมา 3 รัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งมาสมัยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร จึงได้รับอนุมัติ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่มีองค์กรระดับโลกเข้ามาชิมและรับรองอาหารไทย ธุรกิจอาหารส่วนมากที่เป็นเอสเอ็มอีก็ตื่นตัว พวกวัตถุดิบอะไรมันก็เริ่มดีขึ้น ตอนนี้ร้านเริ่มมองหาความแปลกใหม่เพราะคิดว่าวันหนึ่งตัวเองจะก้าวไปเป็นร้านหนึ่งดาวมิชลินบ้าง สิ่งเหล่านี้มันสร้างแรงบันดาลใจและผลักดันให้แวดวงอาหารและธุรกิจร้านอาหารเล็กๆ มีโอกาสเติบโต ดูอย่างเจ๊ไฝ เขาทำไข่กลมๆ ได้ วันหนึ่งอาจจะมีคนทำไข่เป็นหนามทุเรียนก็ได้ มันก็เริ่มครีเอทีฟ เริ่มมีความหวัง บ้านเราโชคดีเรื่องอาหาร เรามีอาหารไทย มีขนมไทย ไม่ต้องไปแข่งกับใคร มีแต่ชาติอื่นต้องมาตามเรา เพราะเราเป็นเจ้าของสูตรอาหารไทยเอง เพียงแต่ว่าเราเป็นมาสเตอร์แล้ว เราจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้นไปอีก ให้ทุกคนทำตาม
ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย
ผมเป็นกรรมการอยู่ที่สถาบันอาหาร (Thai Food Institute) ขึ้นกับกระทรวงอุตสาหกรรม ผมเลยมานั่งคิดว่าพอเราเป็นสถาบันอาหารแล้ว เราควรจะทำอย่างไร อันดับแรกก็เลยเสนอคณะกรรมการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บางยี่ขัน ตรงแถวสะพานพระราม 8 ซึ่งตอนนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ไว้ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้และแลกเปลี่ยนสูตรอาหารต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นหลังได้เรียนรู้รากเหง้า ประวัติความเป็นมา และสูตรต้นตำรับอาหารไทย เชฟส่วนใหญ่ฝึกจากวิธีครูพักลักจำ แต่พอฝรั่งถาม เรื่องราวอาหารเป็นมายังไง ก็บอกได้แต่ไม่รู้ ทำมาแต่เด็กอย่างนี้ แต่พอเรามีศูนย์การเรียนรู้อาหารไทยแล้ว เชฟไปทั่วโลกก็จะกลับมาดูรากเหง้าแล้วบอกได้ว่าต้นตำรับมันเริ่มมาจากไหน เครื่องไม้เครื่องมือ อย่างเช่นกระติ๊บกระต่ายมันเป็นอย่างไร ตอนหลังก็ลงมาจับเรื่องสตรีทฟู้ดด้วย ว่าในบ้านเรารากเหง้ามันเป็นอย่างไร เริ่มต้นจากตรงไหน มาจากคนไทยเชื้อสายจีนในเยาวราชใช่หรือไม่ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมเข้าไปมีส่วนร่วมนอกเหนือจากการทำธุรกิจ
รับใช้เบื้องพระยุคลบาท
สมัยนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะจัดงานพืชผัก สมุนไพร ก็เชิญบริษัทผมไปออกบูธ ผมเลยเอาเครื่องเทศไปจัดแสดง พอดีสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงเป็นประธานเสด็จฯ เปิดงาน ท่านเสด็จฯ ผ่านบูธผม ท่านก็สนพระทัย วันรุ่งขึ้นท่านก็รับสั่งให้ผมเข้าพบ ผอ.กองงานฯ ที่วังสวนจิตรลดาเรื่องโครงการช่วยชาวบ้าน โครงการอาหารกลางวัน ให้ผมเข้าไปถวายคำแนะนำ อีกสองอาทิตย์ผมก็ไปจังหวัดน่านเลย ลงไปดูไร่ ไปดูว่าชาวบ้านควรจะปลูกอย่างไร ทำอะไรบ้าง ขึ้นไปบรรยายที่ดอยภูฟ้าในจังหวัดน่าน ไปสอนเรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องโครงการพระราชดำริ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าไปทำงานถวาย ตอนนี้ก็ทำมาสิบกว่าปีแล้ว เป็นอีกเรื่องที่ผมและครอบครัวภาคภูมิใจ แล้วผมก็มาดำรงตำแหน่งคณะทำงานของร้านภูฟ้า ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้าในโครงการส่งเสริมอาชีพในถิ่นธุรกันดารของสมเด็จพระเทพรัตนฯ ด้วย เพื่อนำรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นธุรกันดารนั้นๆ
ตรุษจีนเยาวราช
สมเด็จพระเทพรัตนฯ เสด็จฯ เยาวราชครั้งแรกตอนปี 2540 คือวันหนึ่งเยาวราชจะจัดงาน ผอ.เขตสัมพันธวงศ์ก็เรียกประชุมกัน ผมเลยบอกว่าจะลองทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนฯ ดีไหม ปรากฏว่าพระองค์ก็ทรงรับ ครั้งแรกที่พระองค์เสด็จฯ มาเยาวราชนั้นไม่ใช่ช่วงตรุษจีน เป็นวันก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เราจัดกันเองร่วมกับเขต สมเด็จพระเทพรัตนฯ ท่านจะเสด็จฯ มาที่ร้านผมตรงตรอกเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ผมก็ถามทางกองราชพิธีว่าผมจะจัดยังไงดี ทางกองบอกคุณวิศิษฎ์จะจัดยังไงก็จัด ผมก็คิด ร้านผมห้องแถวสองห้อง ท่านมาก็หกโมงละ จะเสวยยังไง ผมก็เก็บร้านตั้งโต๊ะเสวย เปิดหน้าร้านห้องแถวเลย แล้วน้องสาวผมก็ทำกับข้าว ทำเอง กวนจีหม่าฟู โจ๊กงาดำ ชาวบ้านในซอยขายแต่อาหาร อันไหนอร่อยต่างคนต่างเอามาเสริมเพื่อให้ท่านได้ทรงชิม ท่านก็ทรงโปรด หลังจากนั้นทุกตรุษจีน พระองค์ก็จะเสด็จฯ มาเยาวราชโดยตลอด บางทีทรงต้องเดินไกลมาก ตอนหลังถึงค่อยเสด็จฯ ทางรถราง ไม่ใช่ท่านโปรดรถรางนะ ผมเคยเสนอว่าให้เอารถกอล์ฟ ท่านทรงมีรับสั่งว่ารถกอล์ฟเตี้ย ประชาชนมารอตั้งแต่บ่าย ควรต้องประทับรถรางให้สูงขึ้น ให้เขาเห็นพระพักตร์ ประชาชนจะได้ไม่เสียใจว่ามารอตั้งนาน แล้วเวลาเสด็จฯ ก็รับสั่งว่าไม่ให้เอาแผงเหล็กจราจรมากั้นคน ให้เขานั่งตามสบาย ถ้าจะให้เป็นแนวก็เอาเชือกขึงไว้ ท่านเสด็จฯ ก็เอาเชือกลง อย่าไปกีดกันประชาชนที่มารอเฝ้า
เศรษฐกิจพอเพียงมันขึ้นอยู่กับบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าเราพอขนาดไหน แต่ละคนไม่เท่ากัน คุณพ่อคุณแม่ผมจะพูดเสมอว่าเราทำเท่าไหนก็ทำเท่านั้น ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใคร
ปลูกฝังการให้
เราคนจีนโตมากับศาลเจ้า ตั้งชุมชนทีไรก็มีศาลเจ้า คุณพ่อผมท่านช่วยดูแลในซอยและศาลเจ้า ท่านออกไปช่วยงานต่างๆ เราเห็นมาตั้งแต่เด็กเลยฝังใจแบบนี้ คือคนจีนเขามีคำพูดว่าต้องให้ถึงจะได้รับ อย่างที่เราเห็นพวกสมาคมปอเต๊กตึ๊ง กว๋องสิว หรือมูลนิธิเทียนฟ้า เกิดจากคนมีสตางค์เขารวมเงินกันตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อให้ชาวจีนรุ่นหลังๆ ที่อพยพเข้ามาเสื่อผืน หมอนใบ พอมีข้าวมีน้ำกิน คนพวกนี้บางทีเขารอดมาได้เพราะข้าวต้มชามหนึ่ง ดังนั้นพอเขาลุกขึ้นยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ เขาก็เอาเงินคืนให้คนรุ่นต่อไป เราอาจจะยังไม่รู้สึกมากเพราะเป็นปลายแถว แต่รุ่นอากงรุ่นพ่อผมจะรู้ดี จนหลังๆ ไม่มีอะไรก็เริ่มไปช่วยเรื่องสาธารณกุศลต่างๆ ผมเลยได้เห็นตัวอย่างเรื่องการให้มาโดยตลอด พอมีโอกาสจึงพยายามออกไปทำงานเพื่อตอบแทนสังคม โชคดีที่ภรรยาผมช่วยดูแลเรื่องการเงินที่บริษัท ส่วนน้องสาวสองคนของผมก็ช่วยดูแลเรื่องบัญชี จัดการธุรการภายใน แล้วตอนนี้ก็มีลูกๆ มาช่วยอีก ธุรกิจมันเลยไปของมันได้ ผมเลยมีเวลาออกไปทำงานข้างนอก
พอเพียงคือพอดี
เวลาผมทำธุรกิจ ผมยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาโดยตลอด แต่บางคนเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงผิดๆ คิดว่ามันคือการประหยัด จริงๆ เศรษฐกิจพอเพียงมันขึ้นอยู่กับบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าเราพอขนาดไหน แต่ละคนไม่เท่ากัน คุณพ่อคุณแม่ผมจะพูดเสมอว่าเราทำได้เท่าไหนก็ทำเท่านั้น ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใคร ครอบครัวอื่นอาจจะหมุนได้ หรืออาจจะต้องกู้ไม่อย่างนั้นจะสู้คนอื่นไม่ได้ แต่ครอบครัวผมไม่มีนโยบายเลย ซึ่งความคิดดังกล่าวก็ถ่ายทอดลงไปสู่รุ่นลูกด้วย ผมไปเรียนสถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 10 อดีตประธานตลาดหลักทรัพย์ท่านหนึ่งบอกว่าบริษัทผมควรจะเข้าตลาดฯ ตอนนั้นตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอเพิ่งเปิดใหม่ๆ เลยอยากให้เราไปเป็นแฟล็กชิพฝั่งสินค้าเกษตรแปรรูป แต่จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังไม่ได้เข้า จริงอยู่ที่มันอาจทำให้เราเดินช้า แต่ธุรกิจเครื่องเทศนั้นมีคู่แข่งน้อย ถ้าเรามีคู่แข่งที่เขาไปเร็ว เราก็อาจจะต้องคิดใหม่
เสน่ห์เครื่องเทศ
เครื่องเทศเป็นของละเอียดอ่อน ลองดูอาหารยุโรปอย่างอาหารฝรั่งเศส ซึ่งเป็นอาหารอันดับ 1 ของโลก ส่วนมากปรุงด้วยพริกไทยตอนสุดท้าย เครื่องเทศเป็นหัวใจของอาหารที่ช่วยเพิ่มรสชาติและเสน่ห์ให้กับอาหาร และเป็นเครื่องปรุงธรรมชาติที่มีมานานนับร้อยปี จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังใช้ในการปรุงอาหารอยู่ ใครรู้จักใช้เครื่องเทศให้เป็นก็จะได้เปรียบไม่ต่างจากเชฟระดับโลกที่ใช้เครื่องเทศปรุงอาหาร ■
รู้จักกับวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ
วิศิษฎ์ ลิ้มประนะ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับประกาศเกียรติคุณศาสตราภิชานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งซีอีโอกลุ่มบริษัทในเครือง่วนสูน