SECTION
ABOUTBEYOND BOUNDARIES
Timeless Ground
การออกสำรวจไปตามศาลเจ้าเก่าแก่ในเยาวราชเผยให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลง หากยังคงทิ้งร่องรอยแห่งกาลเวลาไว้
เยาวราชคือถนนสายหลักอีกเส้นในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนจีนเก่าแก่ ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ที่นี่ขึ้นชื่อในฐานะแหล่งรวมของอร่อยและร้านอาหารที่มีความเป็นมายาวนาน และถือเป็นจุดหมายสำคัญที่ไม่ว่าชาวกรุงหรือนักท่องเที่ยวก็ต้องไปเยือนให้ได้สักครั้ง
ถัดมาไม่ไกลจากถนนสายหลักนั้นเป็นที่ตั้งของตรอกอิสรานุภาพหรือตรอกเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ถนนสายแคบๆ ซึ่งอยู่ระหว่างถนนเยาวราชกับเจริญกรุงนี้อาจเป็นที่รู้จักน้อยกว่า แต่ที่นี่เองผู้มาเยือนจะได้สัมผัสเสน่ห์ที่แท้จริงของเยาวราช ตลอดเช้าจรดค่ำ ตรอกแห่งนี้จะคึกคักไปด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยและเทศ รวมถึงบรรดาชาวไทยเชื้อสายจีนหลายช่วงอายุคนซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในละแวก สังเกตได้จากบรรยากาศซื้อขายอันครึกครื้น ของมงคลสีแดงสดที่วางขายเนืองแน่น และตึกแถวแบบจีนที่ปรากฏอยู่ตลอดบริเวณ
นอกจากตรอกอิสรานุภาพแล้ว เยาวราชยังประกอบด้วยซอกซอยต่างๆ ซึ่งกินระยะทางหลายกิโลเมตรและเป็นที่ตั้งของบรรดาร้านรวงและสถานที่สำคัญหลายแห่ง จนกระทั่งขาประจำย่านก็ยังอาจเคยไปไม่ครบ เยาวราชนั้นเปรียบเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมอีกแห่งของประเทศ และเป็นเช่นนี้มาเป็นเวลากว่า 117 ปีแล้ว
จริงอยู่ที่เยาวราชเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งรวมสินค้าอุปโภคบริโภคอันคึกคัก แต่ที่นี่ยังมีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมอีกประการที่หยั่งรากลึกและขับเน้นความสำคัญของย่านนี้ กล่าวคือ กลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน ผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างชุมชนที่แข็งขัน เปี่ยมสามัคคี และศรัทธาในศาสนา ซึ่งเป็นเสมือนรากฐานของเยาวราชมาตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปี และคงไม่มีเครื่องพิสูจน์ใดจะชัดเจนเท่ากับศาลเจ้าเก่าแก่ที่กระจัดกระจายอยู่ตามถนนสายต่างๆ ในย่านอีกแล้ว
หลังประตูแดง
ขณะเดินลัดเลาะไปตามตรอกอิสรานุภาพ ผู้มาเยือนอาจมัวแต่สูดกลิ่นหอมฉุยของเป็ดย่างและเกี๊ยวซ่าร้อนๆ จนไม่ทันสังเกตซุ้มประตูสีแดงเล็กๆ ตรงกลางซอย เบื้องหลังซุ้มประตูดังกล่าวเป็นที่ตั้งของศาลเจ้า ‘เล่งบ๊วยเอี๊ยะ’ อีกหนึ่งเพชรน้ำงามซึ่งซ่อนตัวอยู่ในเยาวราช
ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะสร้างขึ้นโดยกลุ่มผู้อพยพชาวจีนแต้จิ๋วใน พ.ศ. 2201 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง และเชื่อกันว่าเป็นศาลเจ้าจีนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แม้ตัวโครงสร้างหลักอาจไม่อลังการเท่าศาลเจ้าจีนบางแห่ง แต่รูปปั้นมังกรหินแกะสลักซึ่งพันอยู่รอบเสาสองต้นด้านหน้าและหันประจันหน้ากันนั้นกลับสร้างความรู้สึกน่าเกรงขาม เมื่อก้าวเข้าไปด้านในจะพบกับแผ่นป้ายจีนแกะสลักซึ่งเขียนขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ากวางสีแห่งราชวงศ์ชิง
ถนนสายแคบๆ ซึ่งอยู่ระหว่างถนนเยาวราชกับเจริญกรุงนี้อาจเป็นที่รู้จักน้อยกว่า แต่ที่นี่เองผู้มาเยือนจะได้สัมผัสเสน่ห์ที่แท้จริงของเยาวราช
ศาลเจ้าแห่งนี้เงียบเหงาเกือบทั้งปี เพราะคนส่วนใหญ่จะไปกระจุกตัวอยู่ตรงตลาดมากกว่า แต่เมื่อย่างเข้าช่วงตรุษจีน สารทจีน งานทิ้งกระจาด ไหว้พระจันทร์ หรือเทศกาลกินเจ ที่นี่จะดูครึกครื้นขึ้นมาทันตา อย่างช่วงเทศกาลเทกระจาดในเดือนกรกฎาคมนั้น ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะจะเนืองแน่นไปด้วยผู้ที่มาเข้าแถวรอรับบริจาคยาวไปจนถึงกลางซอยอิสรานุภาพ ขณะที่สำหรับศาลไต้ฮงกงที่อยู่ถัดไปไม่ไกลนั้นจำนวนผู้ที่มารับของบริจาคในบางปีอาจพุ่งสูงถึง 10,000 คน
เป็นที่รู้กันดีว่าในแต่ละปีมีผู้เดินทางมา กราบไหว้ศาลเจ้าต่างๆ ในเยาวราชเป็นจำนวนมาก ทว่าในช่วงเดือนที่ผู้คนบางตากว่า ย่านแห่งนี้ยังมีอะไรให้ลองทำอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะสำหรับเหล่านักชิมตัวยง ตรงด้านนอกซุ้มประตูศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะนั้นเป็นที่ตั้งของ ‘เฉินติ่มซำ’ ซึ่งมีจุดสังเกตคือคิวยาวเหยียดของผู้คนที่ตั้งหน้าตั้งตา รอชิมติ่มซำร้อนๆ ที่วางอยู่ละลานตา โดยสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อกลับบ้านหรือนั่งรับประทานตรงห้องคูหาเล็กๆ ด้านหลัง แม้พื้นที่ในร้านจะคับแคบ แต่เหล่านักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ก็เต็มใจจะนั่งเบียดเสียดกับฝูงชนเพื่อลิ้มลองติ่มซำสูตรเด็ด อีกหนึ่งขุมทรัพย์ทางอาหารในย่านเยาวราช
เมื่ออิ่มท้องแล้ว ลองแวะไปเดินจับจ่ายตรงตลาดเก่าอายุกว่า 200 ปีในตรอกอิสรานุภาพ ซึ่งมีจำหน่ายทั้งอาหารจีน ของสด ไปจนถึงเครื่องเซ่นไหว้ ในอดีตที่นี่เคยเป็นแหล่งรวมสินค้าสดของบรรดาผู้อพยพชาวจีนในสมัยแรกๆ แม้ว่าทางเดินในตลาดจะคับแคบไม่สะดวกต่อการสัญจรนัก แต่หากมีโอกาสแวะมาสักการะศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ตลาดแห่งนี้ถือเป็นจุดหมายปลายทางอีกแห่งที่ควรค่าแก่การไปเยือนเพื่อหาซื้อชาจีนนานาชนิด ผลไม้อบแห้ง ผักดอง หรือขนมจีบร้อนๆ ติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย
หยุดอยู่ในกาลเวลา
การจัดงานในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญต่างๆ ของจีนนั้นต้องอาศัยความร่วมมือในระดับชุมชน ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีสมาชิกกลุ่มเล็กๆ ที่ทำหน้าที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ตรงสุดถนนทางฝั่งทิศใต้ของเยาวราชนั้นเป็นที่ตั้งของชุมชนตลาดน้อย ย่านเศรษฐกิจสำคัญซึ่งเป็น ที่ตั้งของศาลเจ้าเก่าแก่อายุกว่า 200 ปีอย่าง ‘โจวซือกง’ ตามคติความเชื่อของชาวจีน โจวซือกงนั้นเป็นเทพแห่งเภสัช บรรดาผู้มีจิตศรัทธาจึงมากราบไหว้เพื่อหวังปัดเป่าโรคร้าย ด้วยการดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผสมเถ้ากระดาษเซ่นไหว้
เช่นเดียวกับเล่งบ๊วยเอี๊ยะ จำนวนผู้มาเยือนศาลเจ้าโจวซือกงจะค่อนข้างบางตาหากไม่ใช่ช่วงเทศกาล แต่เมื่อถึงช่วงเทศกาลกินเจในเดือนตุลาคม อาสาสมัครนับร้อยจะมารวมตัวกันเพื่อช่วยตระเตรียมอาหารตั้งแต่เช้าจรดค่ำไว้รองรับบรรดานักท่องเที่ยวและชาวกรุงที่ เดินทางมาลิ้มรสกะหล่ำปลีตุ๋นเห็ดหอม เมนูดังประจำโรงเจของศาลเจ้าแห่งนี้
โซลบาร์และเซเคินด์ ยาร์ท
ช่วยทำให้การมาเยือนย่านตลาดน้อยนั้นสนุกหลากรสเพราะมีครบทั้งเวิ้งขายอะไหล่เซียงกง ร้านอาหารเก่าแก่ บาร์ฮิปๆ และศาสนสถานอย่างวัดอุภัยราชบำรุงและศาลเจ้าแม่ทับทิม
“มีคนไทยที่ย้ายไปอยู่ในสหรัฐฯ ลงทุนบินมาที่นี่แค่เพราะอยากมาร่วมเทศกาลกินเจและกินเมนูนี้” สมชาย เกตุมณีในวัย 67 ปีเล่า เขาทำหน้าที่ดูแลศาลเจ้าดังกล่าวมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว
ในหลายๆ มิติ ตลาดน้อยถือเป็นทางแยกของความเก่าและความใหม่ เมื่อไม่นานมานี้ ตลาดน้อยถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในสถานที่จัดงานนิทรรศการ Bangkok Design Week ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่ออกลัดเลาะไปตามถนนสายเก่า ก่อนจะไปแวะพักที่คาเฟ่และบาร์เปิดใหม่ในย่าน เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บรรดาตึกแถวเก่าทรุดโทรมตามถนนสายต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยการอพยพถิ่นฐานของชาวจีนโพ้นทะเลนั้น ได้รับการแปลงโฉมเป็นคาเฟ่และบาร์ตามสมัยนิยมเป็นจำนวนมาก ถัดจากศาลเจ้าโจวซือกงไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตรจะเป็นที่ตั้งของ Soul Bar บาร์ซึ่งตกแต่งอย่างเรียบง่ายแต่เท่ และเนืองแน่นไปด้วยเหล่าฮิปสเตอร์ซึ่งแวะเวียนมาฟังดนตรีฟังก์สดเคล้าค็อกเทลแรงๆ หรือหากได้ลัดเลาะไปตามเวิ้งขายอะไหล่เซียงกงตรงอีกฟากถนน ลองแวะไปที่ร้านห้องแถวเล็กๆ อย่าง 2nd Yard ซึ่งเสิร์ฟแซนด์วิชรสชาติเยี่ยมในบรรยากาศเป็นกันเอง
ร้านอย่างโซลบาร์และเซเคินด์ ยาร์ทนั้นช่วยทำให้การมาเยือนย่านตลาดน้อยนั้นสนุกหลายรส เพราะมีครบทั้งเวิ้งขายอะไหล่เซียงกงร้านอาหารเก่าแก่ บาร์ฮิปๆ และศาสนสถานอย่างวัดอุภัยราชบำรุงและศาลเจ้าแม่ทับทิม (ซึ่งทั้งสองแห่งอยู่ในระยะเดินเท้าจากศาลเจ้าโจวซือกง) อีกไฮไลท์สำคัญคือศาลเจ้า‘โรงเกือก’ สถาปัตยกรรมจีนนั้นตั้งอยู่ในตรอกชื่อเดียวกัน แต่สำหรับหลายคน จุดสนใจจริงๆ อาจเป็นศิลปะกราฟฟิตี้ที่เรียงรายอยู่ตามกำแพงในตรอกแห่งนี้ ตั้งแต่ภาพวาดมังกรจีนไปจนถึงเด็กชายหญิงเชื้อสายไทยจีนที่ลอบมองจากหลังบานหน้าต่างผุๆ ซึ่งอาจไม่ได้พบเห็นบ่อยนักในหนังสือคู่มือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวอื่น
บริเวณปากทางออกของตรอกศาลเจ้าโจวซือกงยังมีบ้านจีนเก่าแก่หลงเหลืออยู่ประปราย และหนึ่งในนั้นคือคฤหาสน์ ‘โซวเฮงไถ่’ ของตระกูลโปษยะจินดา ชาวจีนผู้เข้ามาตั้งรกรากในไทยตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน และก่อตั้งศาลเจ้านี้ด้วย โดยสิ่งเดียวที่ได้รับการต่อเติมจากโครงสร้างเดิมก็คือสระดำน้ำลึก 4 เมตรตรงลานกลางบ้าน คฤหาสน์โบราณหลังนี้ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นคาเฟ่และโรงเรียนสอนดำน้ำ ซึ่งเปิดสอนทั้งคอร์สพื้นฐานและหลักสูตรอบรมใบอนุญาตดำน้ำสากล
บ้านสไตล์จีนโบราณอย่างโซวเฮงไถ่นั้นค่อยๆ ลดจำนวนลงในย่านตลาดน้อย กระนั้นก็มีคนจำนวนหนึ่งที่พยายามต่อสู้เพื่อรักษาสถาปัตยกรรมเก่าแก่เหล่านี้ไว้ ด้านหลังของศาลเจ้าโจวซือกงนั้นเป็นที่ตั้งของบ้าน ‘ไทง้วนเองกี่’ ที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่หลังโครงสร้างหลักถล่มลงมาเพราะพายุกระหน่ำในปี 2558 โดยมีกลุ่มสถาปนิก ‘ปั้นเมือง’ เป็นผู้นำในโปรเจกต์การบูรณะซึ่งกินเวลากว่า 2 ปี ปัจจุบันไทง้วนเองกี่ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อบอกเล่าถึงความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์ของชุมชน และยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัทปั้นเมืองซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือการทำความรู้จักและรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ไว้อีกด้วย
หัวเรือใหญ่ของโปรเจกต์ดังกล่าวคือปรัชญา ลือชาจรัสสิน และจุฤทธิ์ กังวานภูมิ ศิษย์เก่าสถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันอุดมศึกษาซึ่งมีภารกิจหลักในการอนุรักษ์ฟื้นฟูสถาปัตยกรรมเก่า “ชุมชนเก่าแก่หลายๆ แห่งกำลังจะตายเพราะคนเริ่มย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ไม่เหมือนกับตลาดน้อย สายสัมพันธ์ของคนที่นี่แน่นแฟ้นราวกับหยุดเวลาไว้ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน” ปรัชญากล่าว
ดั่งสายธารน้ำไหล
แม้เยาวราชจะเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าสำคัญๆ และมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน แต่ชุมชนแห่งนี้ก็ปรับตัวไปตามยุคสมัย ที่นี่ยังคงเป็น ‘ย่านเมืองเก่า’ ก็จริง แต่บรรดาร้านรวงที่อยู่คู่ถนนสายนี้มาหลายสิบปีก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยยังคงรักษาร่องรอยทางประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เอาไว้
บริเวณปากซอยเยาวพานิชใกล้ๆ ซอยอิสรานุภาพ เป็นที่ตั้งของร้านขนมเปี๊ยะ ‘แต้เล่าจิ้นเส็ง’ ซึ่งเปิดขายมาร่วมศตวรรษ ขนมไหว้พระจันทร์ของทางร้านเป็นที่รู้กันว่าเป็นหนึ่งในเจ้าที่อร่อยที่สุดในเยาวราช และขายหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็วในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ หากเดินเลาะลงมาทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงไม่กี่นาทีจะพบกับตลาดเก่าเยาวราช ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งขายอาหารเจที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ และสามารถหาซื้อได้ตลอดทั้งปีแม้จะไม่ใช่ช่วงเทศกาลก็ตาม
กระทั่งร้านที่เก่าแก่ที่สุดในย่านก็ยังเรียนรู้ที่จะปรับตัวไปตามยุคสมัย อย่างร้านขายกระดาษไหว้เจ้าใกล้กับถนนเยาวราชที่ชื่อ ‘ตั้งเคี่ยวมิ้น’ ซึ่งอายุกว่า 100 ปีนั้น เคยมีฐานลูกค้าสำคัญเป็นคนจีนรุ่นเก่าที่คุ้นเคยกับประเพณีทางศาสนามาโดยตลอด แต่ในปัจจุบัน ทุกอย่างกำลังค่อยๆ เปลี่ยน และทางร้านก็ตอบรับการเปลี่ยนนั้นได้เป็นอย่างดี
“เดี๋ยวนี้คนอายุ 40-50 ปีไม่ค่อยเคร่งครัดเรื่องไหว้เจ้าเท่าไร กลายเป็นว่าตอนนี้ลูกค้าคือคนรุ่นใหม่ ซึ่งบางคนทำการบ้านมาดีกว่ารุ่นพ่อแม่อีก และรู้ว่าต้องใช้อะไรไหว้แล้วจะดีบ้าง” เจนนภา โอฬารสาธิต เจ้าของร้านรุ่นที่สี่ของตั้งเคี่ยวมิ้นเล่า ก่อนญาดา สุขศรีวงศ์ แฟนของเธอจะเสริมว่า “เดี๋ยวนี้คนอยู่คอนโดเยอะ จึงมักมองหาตัวเลือกจำพวกธูปไร้ควัน กระดาษไหว้เจ้าขนาดกะทะรัด และโคมเต็งลั้งดีไซน์สวยๆ มาประดับบ้านเพื่อเสริมโชคลาภ เราก็ต้องเข้าใจแล้วหามาให้ตอบโจทย์พวกเขา”
บรรดาชาวไทยเชื้อสายจีนนั้นกำลังหวนคืนสู่รากเหง้าของตน เห็นได้จากคาเฟ่และบาร์แห่งใหม่ๆ ซึ่งได้มอบชีวิตชีวาให้กับตึกแถวเก่าในย่าน อันเป็นฝีมือของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พยายามรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้ในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของชุมชนในการขีดเขียนประวัติศาสตร์บทต่อไป จริงอยู่ที่ไม่มีชุมชนหรือวัฒนธรรมใดจะต้านทานการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเมืองได้ตลอด แต่ด้วยอัตลักษณ์ของชุมชนที่ยังไม่ขาดสาย น่าเชื่อว่าย่านเยาวราชจะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติไปอีกนานเท่านาน ■
Essentials