HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


Enter the Dragon

ในเมืองซึ่งกระแสใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน บรรดาร้านอาหารและบาร์สไตล์จีนหลายแห่งในกรุงเทพฯกลับยังคงเสน่ห์ของโลกในวันวาน

ยามดวงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า จะเป็นเวลาที่ซอยนานาในเยาวราชเริ่มมีชีวิตชีวา ถนนสายแคบๆ แห่งนี้เป็นที่ตั้งของตึกแถวเก่าสภาพทรุดโทรม แต่อาคารเหล่านี้เองเป็นหัวใจของแวดวงกินดื่มในย่าน ยามเดินผ่านถนนสายมืดๆ นี้ แม้กระทั่งผู้ที่สัญจรไปมาเป็นประจำก็อาจรู้สึกหวาดๆ ขึ้นมาบ้าง ด้วยภาพลักษณ์ในฐานะแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่นหัวโจกที่จับกลุ่มเสพยา และก่อความวุ่นวายเมื่อหลายสิบปีก่อน แน่นอน สิ่งเหล่านั้นอาจกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่เสน่ห์แบบดิบๆ ของที่นี่ก็ยังคงดึงดูดเหล่าชาวกรุงที่โหยหาความตื่นเต้น ให้เข้ามายังย่านนี้อย่างต่อเนื่อง

ภายในซอยมืดๆ ติดกับถนนใหญ่ โคมไฟสองดวงส่องสว่างจากหน้าตึกแถวเก่าตรงสุดถนน เกิดเป็นแสงสลัวสะท้อนกับบานประตูกระจกและมู่ลี่ไม้ไผ่ที่แขวนอยู่ด้านบน ยามมองลอดเข้าไป จะพบกับห้องเพดานยกสูงที่อาบด้วยแสงไฟนีออนสีแดง หลอดไฟซึ่งขดเป็นรูปเลขแปด เลขมงคลของชาวจีน อยู่ล้อมรอบตัวอักษรจีนคำว่า ‘ปา เฮ่า’ ซึ่งหมายถึงเลขแปดเช่นกัน หลอดไฟเอกลักษณ์นี้น่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ชี้ชัดว่าตึกแถวหลังนี้ไม่ใช่บ้านคนหรือโรงน้ำชาทั่วไป

บาร์ซึ่งได้รับการแปลงโฉมจากตึกแถวเก่าอย่าง Ba Hao เป็นหนึ่งในตัวแทนของกระแสความหลงรักงานตกแต่งแบบจีนย้อนยุคที่ถาโถมกรุงเทพฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อก่อนหากใครอยากสัมผัสบรรยากาศแบบจีนแท้ๆ จะต้องพากันไปยังเยาวราชเพื่อนั่งเบียดเสียดในร้านรุ่นก๋งอย่าง ‘เอี๊ยะแซ’ หรือไปยืนปาดเหงื่อเข้าคิวรอซดก๋วยเตี๋ยวหรือก๋วยจั๊บตามร้านรถเข็น แต่ปัจจุบัน สถานที่กินดื่มหลายแห่งในกรุงหันมาตกแต่งร้านในสไตล์จีนย้อนยุค ไม่ว่าจะเป็นบาร์ระดับไฮเอนด์อย่าง Sing Sing Theatre ในย่านพร้อมพงษ์ ที่นำนครเซี่ยงไฮ้ในอดีตมาตีความใหม่ในบริบทตะวันตกผ่านธีม ‘ไซเบอร์พังก์’ ขณะที่ร้านเล็กๆ แต่เปี่ยมเสน่ห์อย่าง Dim Dim นั้นเก๋ถูกจริตเหล่าฮิปสเตอร์อย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเมนูค็อกเทลที่เสิร์ฟพร้อมหมูแผ่นหวาน ภายในบรรยากาศร้านซึ่งชวนให้นึกถึงโรงน้ำชาเก๋าๆ สักแห่ง

กระแสดังกล่าวนี้เริ่มต้นจากย่านเยาวราช ที่ซึ่งประวัติศาสตร์ไทย-จีนหลายร้อยปีกำลังตื่นขึ้นอีกครั้งผ่านความพยายามบูรณะบรรดาตึกแถวเก่าในย่าน ทำให้ที่นี่สามารถดึงดูดได้แม้กระทั่งบรรดานักท่องราตรีผู้มีอันจะกินจากย่านทองหล่อและเอกมัย

ตึกแถวดังกล่าวเป็นสิ่ง ก่อสร้างของสมัยศตวรรษที่ 19 โดยได้รับอิทธิพลมาจากคฤหาสน์จีนโบราณที่มีพื้นที่สวนหย่อมตรงกลาง

รากเหง้าแห่งการรื้อฟื้น

“ประเทศไทยเปรียบเสมือนทางแยกทางวัฒนธรรมและจุดศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ โดยมีตัวสถาปัตยกรรมเป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดี ยกตัวอย่างเช่นตึกแถวแบบจีน ซึ่งเป็นเสมือนรากฐานสำคัญของชุมชนไทย” นิธิ สถาปิตานนท์ ผู้ซึ่งเป็นสถาปนิก และไบรอัน เมอร์เท็น ได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ Architecture of Thailand: A Guide to Traditional and Contemporary Forms และไม่มีที่ไหนที่รูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวจะเด่นชัดเท่าในกรุงเทพฯ อีกแล้ว

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ชาวจีนตอนใต้หลายพันชีวิตได้อพยพเข้ามายังประเทศไทย พร้อมหอบเอามรดกทางวัฒนธรรมของจีนแต้จิ๋วและจีนฮกเกี้ยนติดตัวมาด้วย ทั้งเรื่องภาษา อาหารการกิน ไปจนถึงสถาปัตยกรรม ส่งผลให้ชุมชนชาวจีนในแถบสำเพ็งขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่บรรดาตึกแถวสไตล์จีนเริ่มปรากฏให้เห็น

ตึกแถวดังกล่าวเป็นสิ่งก่อสร้างของสมัยศตวรรษที่ 19 โดยได้รับอิทธิพลมาจากคฤหาสน์จีนโบราณที่มีพื้นที่สวนหย่อมตรงกลาง และปรากฏให้เห็นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระหว่างการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีน ชั้นล่างของตึกได้รับการออกแบบไว้เพื่อทำการค้า ส่วนชั้นบนนั้นเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ตัวตึกจะมีลักษณะแคบ เพดานสูง และมีทางเดินยาว ซึ่งนอกจากจะสัมพันธ์กับหลักฮวงจุ้ยแล้ว เป็นไปได้ว่ายังอาจทำเพื่อหลบเลี่ยงภาษีด้วย (สันนิษฐานว่าในสมัยนั้นภาษีโรงเรือนจะเก็บตามความกว้างของหน้าตึก แทนที่จะเป็นขนาดพื้นที่ทั้งหมด)

ขณะที่ในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อรักษามรดกอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้ ในกรุงเทพฯ ตึกแถวเหล่านี้กลับถูกปล่อยทิ้งให้อยู่ในสภาพทรุดโทรม และไม่มีการออกมาตรการหรือกฎหมายคุ้มครองใดๆ จากภาครัฐ ซ้ำร้ายการบูรณะฟื้นฟูตึกแถวเหล่านี้ก็ไม่ใช่ประเด็นที่อยู่ในความสนใจของบรรดาเจ้าของอาคารส่วนใหญ่แต่อย่างใด ยิ่งเมื่อรวมกับกระแสความหมกมุ่นกับ ‘ของใหม่’ ในบ้านเรา ซึ่งเห็นได้จากบรรดาตึกระฟ้าที่ผุดขึ้นอย่างต่อเนื่องและค่อยๆ บดบังเสน่ห์ของชุมชนเก่าแก่ที่นี่ไปทีละน้อยแล้ว สถานการณ์ดูเหมือนจะน่าเป็นห่วงขึ้นไปอีก

เมื่อ 5 ปีก่อน เยาวราชตอนกลางคืนมีแต่ร้านสตรีทฟู้ด แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด บรรดาตึกเก่าสวยๆ บนถนนหลายสายในย่านได้ถูกแปลงโฉมให้เป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ ทำให้ถนนแถวนี้น่าเดินขึ้นเยอะ

กระนั้น บรรดาผู้ประกอบการรุ่นใหม่หลายราย ก็กำลังนำเอาสไตล์การตกแต่งแบบจีนย้อนยุคไปพ้นย่านเยาวราช โดยยังรักษาแก่นความเป็นจีนไว้และเพิ่มเอกลักษณ์ความเป็นไทยบางอย่างเข้าไป ทำให้สถาปัตยกรรมดังกล่าวปรากฏสู่สายตาของผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านใจกลางเมืองแห่งอื่นๆ ด้วย

นับหนึ่งใหม่

“วิธีการบูรณะของเรามันเหมือนการ ‘ฝังเข็ม’ คือรักษาไปเป็นจุดๆ แต่ยังเก็บโครงสร้างเดิมที่สวยไว้ ทั้งเพดาน พื้นไม้ และบันไดที่แคบและชัน” กานต์ชนิต เจริญยศกล่าว เธอคือหนึ่งในหุ้นส่วนจำนวน 6 คนของปา เฮ่าซึ่งมีทั้งนักออกแบบ ฟู้ดสไตล์ลิส และผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์รวมอยู่ด้วย

อิทธิพลความเป็นจีนของปา เฮ่านั้นสะท้อนให้เห็นเด่นชัดผ่านวัสดุอย่างบานเกล็ดไม้ โต๊ะหินอ่อน และบานประตูทองเหลืองตรงห้องน้ำชั้นล่าง เมื่อเดินไต่บันไดแคบๆ ไปยังชั้นสอง ผู้มาเยือนจะพบกับห้องนั่งเล่นเพดานสูงโปร่งอาบด้วยแสงธรรมชาติที่ตกกระทบเฟอร์นิเจอร์หนังวินเทจสีเข้ม ส่วนห้อง ‘ไมตรีจิตต์’ ตรงชั้นบนมีระเบียงเล็กๆ และหน้าต่างบานสูงจรดเพดานไว้ให้ชมความพลุกพล่านของซอยนานาเบื้องล่าง และตรงชั้นบนสุดนั้นเป็นที่ตั้งของห้อง ‘สันติภาพ’ ซึ่งหน้าต่างเหนือหัวเตียงนั้นมองเห็นวิวของยอดพระมหามณฑปสีทองอร่ามของวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร อันเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญในย่านเยาวราช

“พวกเราอยากสร้างโรงแรมสไตล์จีนร่วมสมัย ที่สะท้อนวัฒนธรรมซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่มองข้าม เราอยากให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ตรงนี้ได้เข้ามาสัมผัส เราว่าในหลายๆ แง่มันถือเป็นประสบการณ์รูปแบบใหม่” กานต์ชนิตเผย

ถัดจากปา เฮ่า ไปเพียงไม่กี่คูหาจะเป็นที่ตั้งของ Pijiu บาร์คราฟต์เบียร์ในตึกแถวหน้าตาดิบๆ ซึ่งชวนให้นึกถึงโรงน้ำชาที่ดูเก่า แม้เมื่อเทียบกับบรรดาตึกรามบ้านช่องในย่านเดียวกันก็ตามที

“เพราะทำเลอยู่ตรงเยาวราช เลยไม่ยากที่จะเลือกธีมร้านแบบจีน” ภาวิต หงสเวส ผู้ร่วมก่อตั้งผีจิ่วกล่าว พลางอธิบายถึงชื่อร้านที่มาจากคำว่าเบียร์ในภาษาจีนกว้างตุ้ง “บาร์ของเราหน้าตาเหมือนโรงน้ำชารุ่นก๋ง แต่ขายคราฟต์เบียร์”

ภาวิตและหุ้นส่วนของเขา ซึ่งมีทั้งเพื่อนร่วมงานในอดีตและปัจจุบันจากบริษัทนำเข้าคราฟต์เบียร์ Beervana ต่างเห็นพ้องกับการตกแต่งร้านในคอนเซ็ปต์ดังกล่าว ชั้นล่างของร้านมีโต๊ะและเก้าอี้ไม้เก่าวางอยู่แน่น บนผนังมีแผ่นไม้แกะสลักถูกแขวนอยู่เคียงคู่กับเหล่าโปสเตอร์โฆษณาเบียร์เซี่ยงไฮ้จากยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

เหตุผลที่ทำให้ร้านอย่างปา เฮ่า และผีจิ่ว กลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วนั้น เป็นเพราะซอยนานานั้นเป็นแหล่งกินดื่มขึ้นชื่ออยู่ก่อนแล้ว และส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับร้านรุ่นบุกเบิกอย่าง Tep Bar ตามมาด้วย Teens of Thailand ซึ่งติดอันดับ 50 บาร์ที่ดีที่สุดของเอเชียประจำปี 2016 โดยนอกจากทีนส์ ออฟ ไทยแลนด์จะเสิร์ฟค็อกเทลจินชั้นยอดและมีหัวเรือใหญ่ท่าทางเอาจริงอย่างณิกษ์ อนุมานราชธนอยู่เบื้องหลังแล้ว เสน่ห์ของบาร์ยังแฝงอยู่ในการออกแบบตัวร้าน ทั้งกำแพงปูนเปลือย ประตูไม้ทึบโบราณ และแนวช่องลมเล็กๆ บนกำแพงเหนือประตูหลังร้าน เช่นเดียวบาร์อีกแห่งของเขาอย่าง Asia Today ที่อยู่ใกล้ๆ กัน ซึ่งช่วยส่งผลให้ถนนสายนี้กลายเป็นที่นิยมมากขึ้นไปอีก

“เมื่อ 5 ปีก่อน เยาวราชตอนกลางคืนมีแต่ร้านสตรีทฟู้ด แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด บรรดาตึกเก่าสวยๆ บนถนนหลายสายในย่าน ได้ถูกแปลงโฉมให้เป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ ทำให้ถนนแถวนี้น่าเดินขึ้นเยอะ” กานต์ชนิตเสริม

ฮ่องกงบรรจบบางกอก

จริงๆ แล้วย่านเยาวราชมีอะไรให้ออกสำรวจมากกว่าซอยนานา ถัดมาไม่ไกลนั้นเป็นที่ตั้งของ Rabbit Hill ร้านเล็กๆ หนึ่งคูหาซึ่งซ่อนตัวอยู่บนถนนสันติภาพ หน้าต่างบานกลมและอักษรจีนบนป้ายชื่อร้านอาจชวนให้คนคิดว่าที่นี่เป็นศาลเจ้า แต่หลังบานประตูแดงสีเลือดนกและอักษรจีนหน้าตาเปี่ยมมนต์ขลังนั้น คือที่ตั้งของหนึ่งในสถาปัตยกรรมจีนย้อนยุคที่มีความโดดเด่นที่สุดของกรุงเทพฯ

‘เป๊า’ อัครวัฒน์ เฮงวิริยะพาณิช หนึ่งในเจ้าของร้านนั้นเกิดและเติบโตในย่านแห่งนี้ เขาเดินทางไปศึกษาต่อยังรัฐฮาวายก่อนจะกลับมาช่วยกิจการค้าขายกระเพาะปลาของที่บ้าน และยังสามารถพูดจีนกลางได้คล่องปรื๋อ ด้วยความที่อัครวัฒน์อยากเอามรดกทางวัฒนธรรมที่เขาภาคภูมิใจมาถ่ายทอดเป็นอะไรที่พิเศษ เขาจึงตัดสินใจก่อตั้งร้านแร็บบิท ฮิลล์ขึ้น

บนผนังสีเลือดนกภายในร้าน มีภาพวาดสาวเซี่ยงไฮ้ถือแก้วเบียร์ Moonzen แบรนด์คราฟต์เบียร์ฮ่องกงที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้วัตถุดิบตะวันออกในส่วนผสม (เบียร์ Sichuan Porter ของทางร้านคือหนึ่งในตัวอย่าง) อัครวัฒน์เล่าว่า “หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าคนในภาพคือภรรยาผมเอง” ขณะที่บันไดไม้ กระดาษเงินกระดาษทอง โคมเต็งลั้ง และผนังสีแดงในร้านนั้น บ่งบอกชัดถึงเอกลักษณ์แบบจีนแต้จิ๋ว ในอดีตตึกแถวแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นโกดังเก็บน้ำตาลของชุมชน อันเป็นเครื่องแสดงว่าวัฒนธรรมไทยจีนในชุมชนแห่งนี้หยั่งรากลึกเพียงใด

เขยิบไปไกลกว่านั้น ตึก FooJohn บนถนนเจริญกรุง ซึ่งมีเจ้าของเป็นผู้ค้าอะไหล่รถยนต์ชาวไทยเชื้อสายจีน ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นร้านอาหารสไตล์ฮ่องกงกลิ่นอายเรโทร ประหนึ่งฉากจากภาพยนตร์เรื่อง In the Mood for Love ของผู้กำกับหว่องกาไว

“ผมอยากได้ที่นี่มานานแล้ว ทันทีที่รู้ว่าเขาปล่อยเช่า ผมก็รีบตอบตกลงทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอาไปทำอะไร” โรแม็ง ดูปุยกล่าว เขาคือหนึ่งในผู้นำโปรเจกต์นี้ และยังเป็นผู้ก่อตั้งร้าน Soulbar บาร์ยอดนิยมอีกแห่งในตลาดน้อยด้วย

โรแม็งได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากการไปเยือนนครปารีสและร้าน Mido Cafe บนถนนเท็มเปิลสตรีทในฮ่องกงที่ผสมผสานอิทธิพลของร้านอาหารแนวบิสโทรของฝรั่งเศสเข้ากับคาบาเรต์แบบจีน “ผมหลงเสน่ห์ของกรุงเทพฯ และมรดกทางวัฒนธรรมที่นี่ เลยอยากรักษามันเอาไว้ให้ได้มากที่สุด หรือกระทั่งช่วยบูรณะบางส่วนด้วย” เขากล่าว

ร้านอาหารและบาร์ FoudeJoie นั้นกินพื้นที่สองชั้นล่างของตึกฟูจอห์น ภายในร้าน โรแม็งได้เพิ่มลูกเล่นให้กับสีผนังเก่าและติดกระจกนูนเข้าไปตามร่องกำแพงคอนกรีต บนชั้นสองนั้นเสิร์ฟค็อกเทลที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ The Savoy Cocktail Book ในบรรยากาศที่ชวนให้นึกถึงวิถีชีวิตของชาวเอเชียตะวันออกในอดีตก่อนที่จะมีตึกระฟ้าและรถไฟใต้ดิน ถึงเมนูอาหารของทางร้านจะเป็นไปตามสมัยนิยม แต่โรแม็งก็ยังคงรักษาความตั้งใจที่จะยกย่องครอบครัวเจ้าของตึกฟูจอห์นผ่านองค์ประกอบอื่นๆ และสะท้อนวิถีชีวิตของชุมชนชาวจีนในตลาดน้อยไปในเวลาเดียวกันด้วย

องค์ประกอบที่ทั้งสวยและดิบนั้นได้คืนความมีชีวิตชีวาให้กับตึกฟูจอห์น และถือเป็นภารกิจท้าทายสำหรับบรรดานักออกแบบ แต่จุดนี้เองที่เป็นเสมือนแนวปะทะระหว่างความเก่าและใหม่ โครงการตึกสูงเสียดฟ้าอย่าง One Bangkok, The Grand Rama 9 และ Mahanakhorn นั้นหลอมรวมความเป็นสมัยใหม่และดีไซน์ล้ำยุคเข้าในทุกจุด และได้กลายเป็นตัวทำเงินสำคัญให้กับแวดวงอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ แต่ท่ามกลางการทวีจำนวนขึ้นของตึกหน้าตาทันสมัย ร้านอาหารและบาร์อย่างฟูชัวร์ ปา เฮ่า และแร็บบิท ฮิลล์นั้น เลือกที่จะหันมาใช้การออกแบบสไตล์จีนย้อนยุคเรียกคนแข่งกับกองทัพตึกสูง

แน่นอน แนวคิดดังกล่าวอาจจะไม่ได้ดึงดูดคนทุกเพศทุกวัย หรือแม้กระทั่งสร้างความไม่พอใจให้กับคนที่ไม่ต้องการเห็นการใช้สถาปัตยกรรมไทย-จีนอันเก่าแก่มาเป็นเพียง ‘กลยุทธ์’ ทางการตลาด กระนั้น หากเทียบกับการปล่อยให้ตึกแถวเหล่านี้เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา และสุดท้ายอาจต้องจบชะตากรรมลงด้วยการถูกรื้อถอนแล้ว ความพยายามเหล่านี้นับว่าดีกว่าการนิ่งดูดายหลายเท่านัก

Essentials


Ba Hao

8 ซอยนานา ถนนไมตรีจิตต์ กรุงเทพฯ

081-454-4959

Dim Dim

27/1 ซอยสุขุมวิท 33 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

02-085-2788

FoudeJoie

ตึก FooJohn ซอยเจริญกรุง 31
ถนนเจริญ กรุงเทพฯ

095-060-6286

Pijiu

16 ซอยนานา ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ

081-839-2832

Rabbit Hill

1 ถนนสันติภาพ กรุงเทพฯ

092-646-6636

Sing Sing Theatre

ซอยสุขุมวิท 45 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

063-225-1331

Teens of Thailand

76 ซอยนานา ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ

096-846-0506