HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ จีนนั้น นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงที่สุด และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ในอนาคตหากเกิดการตอบโต้กันโดยการปรับขึ้นภาษีศุลกากรอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าจีดีพี 19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเศรษฐกิจจีนซึ่งมีมูลค่าจีดีพี 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐรวมกัน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 39% ของจีดีพีโลก (โดยจีนเป็นตลาด ส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย ตามด้วยสหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสองประเทศนั้นรวมกันอยู่ที่ประมาณ 12% ของจีดีพีของไทยหรือใกล้เคียงกับรายได้จากการท่องเที่ยวของไทย)

ปัญหาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้นน่าจะยืดเยื้อ และแม้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อาจสามารถพบปะกันได้ในเดือนพฤศจิกายนตามที่มีการคาดหมาย ก็ยังไม่น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และจีนเข้าสู่สภาวะปกติได้ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ว่า เขามิได้กำหนดระยะเวลา (“no time frame”) ในการยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองประเทศ เพราะประเด็นปัญหานี้มีความสลับ ซับซ้อนและครอบคลุม 3 มิติ กล่าวคือ ส่วนของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจและการเมืองภายในของแต่ละประเทศ และการช่วงชิงความเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก

ในส่วนของเศรษฐกิจโลกนั้น มองได้ว่ามี 2 ประเด็นหลักคือ

1. ประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าการขาดดุลการค้ากับจีน (และประเทศอื่นๆ ) เป็นการสะท้อนว่าสหรัฐฯ กำลังถูกเอาเปรียบ จึงต้องดำเนินการเพื่อยุติการขาดดุลการค้าในทันที ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผิดพลาด เพราะสาเหตุหลักที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเป็นเพราะใช้จ่ายเกินตัว ทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 2-3% ของจีดีพี และฝ่ายที่ใช้จ่ายเกินตัวมากที่สุดคือภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 4% ของจีดีพี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 5% ในปีหน้า การขึ้นภาษีศุลกากรจึงไม่สามารถลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ได้

2. สหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และมีกฎเกณฑ์ที่บีบบังคับให้บริษัทสหรัฐฯ ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับจีน ในการสนับสนุนและอุดหนุนรัฐวิสาห- กิจจีนให้พัฒนาเทคโนโลยีล้ำหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ซึ่งเรื่องนี้ ทรัมป์ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แต่สหรัฐฯ ได้สร้างความขัดแย้งกับประเทศพันธมิตร ในขณะที่จีนก็พยายามสร้างแนวร่วมกับประเทศอื่นๆ ในการต่อต้านการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของทรัมป์

อย่างไรก็ดี การที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เปิดตัวอย่างชัดเจนว่าต้องการให้จีนเป็นประเทศมหาอำนาจเทียบเท่ากับสหรัฐฯ ทั้งในส่วนของการประกาศแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ให้จีนเป็นผู้นำในเทคโนโลยีล้ำหน้า 10 สาขา การผลักดันโครงการพื้นฐานด้านการขนส่งเพื่อให้จีนเป็นศูนย์กลาง ฯ (One Belt One Road) และการพัฒนาศักยภาพทางการทหารของจีนในทะเลจีนตอนใต้อย่างเร่งรีบ เป็นการท้าทายมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร มาเกือบ 30 ปีหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (ปัจจุบัน จีดีพีของรัสเซียอยู่ที่เพียง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 8% ของ จีดีพีสหรัฐฯ ) เรื่องนี้สหรัฐฯ คงไม่ยอมแบ่งอำนาจกับจีนโดยสมัครใจ ทั้งสองประเทศเป็นปรปักษ์กัน (rivals) การแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน (common ground) จึงเป็นเรื่องยาก

ทรัมป์มองว่าฝ่ายตนได้เปรียบเพราะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงเรื่อยๆ หุ้นราคาตก และเงินหยวนอ่อนค่า ดังนั้น ยิ่งใช้ไม้แข็งกับจีนก็ยิ่งจะทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจต่อรองมากขึ้น


เรื่องที่ 3 คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ สหรัฐฯ นั้นมีข้อมูลมากเพราะเป็นสังคมเปิด นอกจากนั้น ทรัมป์ยังทวีตข้อความในใจวันละหลายครั้ง ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า สหรัฐฯ จะกดดันจีนมากขึ้นไปอีก เพราะ

1. ฐานเสียงของทรัมป์พอใจที่ทรัมป์ใช้ไม้แข็งกับจีน และฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ ก็ต้องการจะสกัดจีนจากการเป็นประเทศมหาอำนาจ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบในทางลบจากการปรับขึ้นภาษีศุลกากรยังอยู่ในวงจำกัด

2. แต่หากทรัมป์ขยายการเก็บภาษีศุลกากร 25% ครอบคลุมถึงสินค้าอีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม ก็จะส่งผลเชิงลบในวงกว้าง และจะต้องรอดูผลการเลือกตั้งสภาในวันที่ 6 พฤศจิกายนด้วยว่าเสียงข้างมากในสภาล่างจะพลิกไปให้กับพรรคเดโมแครตหรือไม่

3. ทรัมป์มองว่าฝ่ายตนได้เปรียบเพราะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงเรื่อยๆ หุ้นราคาตก และเงินหยวนอ่อนค่า ดังนั้น ยิ่งใช้ไม้แข็งกับจีนก็ยิ่งจะทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจต่อรองมากขึ้น

ในส่วนของจีนนั้นมีข้อมูลจำกัด ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพิ่งจะรวบอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งการเป็นผู้นำของตนเมื่อปีที่แล้ว แต่สื่อของตะวันตกก็พยายามเจาะข่าวโดยสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลและมีข้อสรุปว่ามีปฏิกิริยาในเชิงลบต่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เกิดขึ้นดังนี้

1. เดิมทีผู้นำของจีนเชื่อว่าทรัมป์จะมีแนวคิดแบบพ่อค้า คือต้องการแลกเปลี่ยน ผลประโยชน์และให้เกิดผลในทางปฎิบัติ (transaction pragmatist) แต่ผู้นำจีนผิดหวังอย่างมากเมื่อผู้แทนส่วนตัวที่ส่งไปเจรจากับสหรัฐฯ คือรองนายกรัฐมนตรีลิ่ว เหอ ได้เสนอจะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแต่ถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยจากทรัมป์ ซึ่งนอกจากจะทำให้ สี จิ้นผิงต้อง ‘เสียหน้า’ แล้ว ยังสะท้อนว่าผู้นำของจีนไม่สามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์กับประเทศที่สำคัญที่สุดในโลกให้ราบรื่นและเกื้อกูลกับผลประโยชน์ของจีนได้

2. มีการตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมของการที่ สี จิ้นผิง ประกาศความยิ่งใหญ่ของจีนออกมาอย่างเปิดเผย เพราะอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทั้งสหรัฐฯ และประเทศสำคัญอื่นๆ หวาดระแวง และต้องการสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีน (raise alarm in the West) โดยนอกจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิงจะยกเลิกกระบวนการถ่ายโอนอำนาจทุก 10 ปี ที่อดีตผู้นำการปฏิรูปของจีนคือ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้วางรากฐานเอาไว้เมื่อ 50 ปีก่อนหน้าแล้ว สี จิ้นผิงยังมิได้ปฏิบัติตามคำสอนของผู้นำ เติ้ง เสี่ยวผิง คือ “hide your strength, bide your time” หรือ “ซุ่มซ่อนกำลังและรอคอยโอกาส”