SECTION
ABOUTCLIENT VALUES
Behind the Groove
ณฐพล ศรีจอมขวัญ กับหลากบทบาทบนเส้นทางดนตรีกว่า 20 ปี ที่จุดหมายสูงสุดอาจไม่ใช่การพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสปอตไลท์
ณฐพล ศรีจอมขวัญหรือ ‘ก้อ’ คนส่วนใหญ่คุ้นหน้าเขาในฐานะสมาชิกวง Groove Riders และโปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินคุณภาพหลายราย ในบรรดาเพลงฮิตที่คนร้องตามกันได้เกินค่อนประเทศนั้น หากสังเกตให้ดีจะเห็นชื่อของณฐพลปรากฏในเครดิตอยู่บ่อยครั้ง
ชายผู้เบื้องหน้ามีเสียงร้องนิ่มนวลอบอุ่นเป็นเอกลักษณ์นี้ ตั้งปณิธานว่าจะเป็นนักดนตรีตั้งแต่ในยุคสมัยที่มุมมองของสังคมต่ออาชีพในวงการบันเทิงยังไม่เปิดกว้างนัก และแม้จะต้องเผชิญกับบททดสอบอยู่หลายหน ณฐพล ก็เลือกที่จะเดินหน้าจนกระทั่งกลายมาเป็นนักดนตรีมือวางอันดับต้นๆ ของวงการเพลงไทยอย่างในปัจจุบัน
ฝันกลางวัน
ผมใฝ่ฝันจะเป็นนักดนตรีมาตั้งแต่เล็กๆ สมัยผมเรียนอยู่ประมาณ ป.3 หรือ ป.4 เวลานั่งในห้องเรียน สายตาเราก็มองไปที่ครูกับกระดานดำเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ แต่ในหัวเราจะมีภาพวนอยู่ตลอดว่าตัวเองกำลังเล่นกีตาร์อยู่บนเวทีกับเพื่อนๆ แล้วเราชอบฟังเพลงมาก ทุกครั้งที่ได้เงินค่าขนมมา ก็จะเอาไปซื้อเทปคาสเซตต์รวมฮิตของฝรั่งม้วนละ 25 บาทที่ห้างไทยไดมารู จะทำแบบนี้อยู่ตลอด คือบางคนอาจจะบอกว่าผมโชคดีที่รู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าอยากโตขึ้นมาเป็นอะไร แต่สำหรับผมมันเป็นคำสาปอย่างหนึ่ง สมัยนั้นค่านิยมในสังคมยังไม่ได้เปิดกว้างสำหรับอาชีพในวงการบันเทิงหรือวงการเพลง ถึงที่บ้านผมจะสนับสนุนให้เรียนดนตรี แต่ก็สนับสนุนในลักษณะงานอดิเรกมากกว่า ไม่ได้อยากให้ทำเป็นอาชีพ
เดินตามความฝัน
พอเรียนจบชั้นมัธยมต้นจากอัสสัมชัญบางรัก ผมก็เดินทางไปศึกษาต่อระดับไฮสคูลที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนจบมัธยมปลาย ก็ต้องเลือกว่าจะไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยด้านไหนดี คือจริงๆ ผมรู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไรตั้งแต่ต้น แต่ที่บ้านจะบอกเสมอว่าอยากให้เลือกเรียนอะไรที่เป็นกิจจะลักษณะมากกว่า ผมก็เลยเลือกเรียนต่อในสาขาบริหารธุรกิจที่รัฐฟลอริด้า พอเรียนไปได้ 2 ปี ผมรู้สึกทุกข์มาก ต้องเรียนบัญชี มีเดบิต เครดิต ยากไปหมด ผมขาดแรงกระตุ้นในการเรียน ในใจรู้สึกแค่ว่า ถ้าเราจะมีชีวิตอยู่ได้ เราควรได้มีโอกาสทำในสิ่งที่เรารัก สุดท้ายผมเลยไปปรึกษาอาจารย์แนะแนวท่านหนึ่ง เป็นฝรั่ง เขาก็พูดมาประโยคหนึ่งว่า “You only have one life to live, so you’d better follow your dreams (เราเกิดมาแค่ครั้งเดียว เธอเดินตามความฝันของตัวเองจะดีกว่านะ)” ประโยคนั้นจับใจผมมาก ผมก็เลยโทรศัพท์ไปบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าจะไม่เรียนบริหารฯ แล้ว จะไปเรียนดนตรี ซึ่งตอนนั้นท่านคงคิดว่าผมกำลังหลงทางอยู่แน่ แต่เรากลับคิดตรงกันข้ามว่านี่คือหนทางของชีวิตที่เราต้องการจะเดิน
นักเรียนดนตรีในบอสตัน
ผมย้ายมาเรียนที่ Berklee College of Music ซึ่งเป็นโรงเรียนดนตรีในบอสตัน สาขาที่ผมเลือกเรียนคือ Music Production and Engineering ผมก็เลยได้เรียนเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตเพลง นับตั้งแต่การเขียนเนื้อร้อง แต่งทำนอง ไปจนถึงวิธีการเรียบเรียง แต่ก็ยังเน้นเรื่อง performance ควบคู่ไปด้วย เบิร์กลีย์นั้นเป็นโรงเรียนดนตรีแจ๊ส ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากเรียนตั้งแต่สมัยมัธยม แต่ตอนนั้นครูดนตรีที่สอนผมเป็นเอกคลาสสิก ไม่ใช่เอกแจ๊ส พอมาที่นี่ เขาสอนไล่ตั้งแต่ระดับพื้นฐานขึ้นไป ยิ่งเรียนไปก็ยิ่งสนุก วิชาที่ยากก็มีบ้าง แต่เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารัก เราเลยรู้สึกว่ามันท้าทาย อยากจะทำให้สำเร็จ พอผลการเรียนออกมา สรุปว่าผมได้ A รวด จนกระทั่งผมได้รับทุนจากทางมหาวิทยาลัย ซึ่งผิดกับสมัยผมเรียนอยู่เมืองไทย ตอนนั้นผมได้เกรดหนึ่ง เกรดสองตลอด ผมตะบี้ตะบันเรียนที่บอสตันจนจบภายใน 3 ปี และพยายามใช้ชีวิตให้ประหยัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ออกไปเล่นดนตรีหาเงินเองบ้าง ไปเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารไทยบ้าง เพราะรู้สึกผิดกับทางบ้านที่เลือกทำตามความต้องการของตัวเองมากกว่า
ในวงๆ หนึ่งอาจมีมือกีตาร์ได้หลายคน แต่มือเบสมีได้แค่คนเดียว แล้วมันเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นแกน ถ้าคนที่เล่นเบสสามารถคุมจังหวะอะไรทุกอย่างได้ดี วงก็จะฟังดูดีขึ้นมา
หลงทางเพื่อค้นพบ
ถึงจะเป็นช่วงเวลาทุกข์ใจสำหรับผม แต่ 2 ปีที่ฟลอริด้าก็จุดประกายผมในฐานะนักดนตรี ผมได้มีโอกาสลองเล่นเครื่องดนตรีเบสเป็นครั้งแรกที่นั่น ก่อนหน้านี้ผมเคยเล่นเปียโน แต่เล่นเท่าไรก็ไม่เก่งสักที พอมาหัดเล่นกีตาร์ ผมก็ประสบอุบัติเหตุแขนหักทำให้จับคอร์ดอย่างนักดนตรีคนอื่นไม่ได้ แต่พอได้จับเบส มันเหมือนเราได้ค้นพบเครื่องดนตรีที่เราตามหามานาน อาจเป็นเพราะลักษณะของเบสนั้นคล้ายกับลักษณะนิสัยของผมมาก ปกติผมชอบบริหารจัดการสิ่งต่างๆ จากข้างหลัง ไม่ชอบเอาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางสปอตไลท์ อีกอย่างในวงๆ หนึ่งอาจมีมือกีตาร์ได้หลายคน แต่มือเบสมีได้แค่คนเดียว แล้วมันเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นแกน ถ้าคนที่เล่นเบสสามารถคุมจังหวะอะไรทุกอย่างได้ดี วงก็จะฟังดูดีขึ้นมา
ระเบียบวินัยคือหัวใจ
การเรียนที่บอสตันทำให้เรามีระเบียบวินัยกับตัวเองขึ้นเยอะ อยู่ที่โน่นผมเห็นเพื่อนนักดนตรีที่เก่งมากๆ เขาซ้อมดนตรีกันวันละ 8 ชั่วโมง ทำให้ผมรู้สึกว่าถ้าเราจะเก่งได้เท่าเขา เราต้องมีระเบียบวินัย คนที่ประสบความสำเร็จในทุกอาชีพที่ผมเห็น คุณสมบัติพื้นฐานข้อหนึ่งที่เขามีคือระเบียบวินัย เขาจะตั้งเป้าสิ่งที่ตัวเองต้องการจะบรรลุไว้และหาหนทางที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ไม่ว่าจะต้องใช้ความพยายามหรือเวลามากแค่ไหน ตัวอย่างรอบข้างมันผลักดันให้ผมขวนขวาย เรียนรู้ และขยันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะรู้ว่าลึกๆ คุณพ่อคุณแม่ท่านอยากให้ผมกลับไปช่วยสืบทอดกิจการ car dealership ของครอบครัวมากกว่า แต่เรารู้ตัวว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราถนัด เราก็ต้องทำหน้าที่ตรงที่เราอยากทำให้ดีเพื่อให้เป็นหน้าตาของครอบครัว
ภูมิใจนำเสนอฟังก์
ช่วงที่กลับมาเมืองไทยแรกๆ ผมมีโอกาสได้ตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตกับวงโมเดิร์นด็อกในฐานะมือเบสอยู่ประมาณ 1 ปี พอทัวร์สิ้นสุดลง ผมก็ได้มาทำโปรเจกต์ร่วมกับพี่นภ พรชำนิและพี่โต้ง (มณเฑียร แก้วกำเนิด) เกิดเป็นวงพีโอพี ได้มีอัลบั้มเป็นของตัวเองเป็นครั้งแรก จนกระทั่งประมาณช่วงปี 2543 วงกรูฟไรเดอร์ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยผมรับหน้าที่เป็นหัวหน้าวงและมือเบส รวมทั้งเป็นคนแต่งเพลงเองทั้งหมด ซึ่งมันเป็นความฝันของผมตั้งแต่สมัยเรียนว่าอยากจะทำวงดนตรีที่มีกลิ่นอายของยุค ’70s ผมเป็นคนชอบเพลงแนวดิสโก้กับฟังก์มาก ทุกครั้งที่ผมได้ยินร่างกายมันจะขยับไปเองอัตโนมัติ ยิ่งถ้าเป็นเพลงที่มันส์มากๆ เราจะรู้สึกอยากลุกขึ้นมาเต้นทั้งๆ ที่เราเต้นไม่เก่ง ผมโชคดีที่ทางค่ายเบเกอรี่ มิวสิคนั้นเปิดกว้าง พอผมย้ายมาสังกัดค่าย Spicy Disc คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ เจ้าของค่ายก็ให้โอกาสผมทำในสิ่งที่อยากทำอีก อย่างอัลบั้ม ‘ภูมิใจนำเสนอฟังก์’ ซึ่งเป็นอัลบั้มเดี่ยวล่าสุดของผมนั้นก็เป็นเสมือนกึ่งๆ การทดลอง โดยผมรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์และแต่งทำนองเอง แล้วก็เชิญศิลปินคนอื่นๆ มาร่วมแต่งเนื้อเพลงและถ่ายทอดออกมา
ศิลปะเพื่อศิลปะ
ผมชอบดูงานศิลปะหลายแขนง ตั้งแต่กรีก โรมัน ไปจนถึงงานโมเดิร์น ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง ผมจะแวะเวียนไปตามพิพิธภัณฑ์ศิลปะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Metropolitan Museum of Art ในนิวยอร์ก หรือ Smithsonian American Art Museum ในวอชิงตัน ดีซี ทุกครั้งที่เราไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะมันเหมือนเราได้รับพลังงานอะไรบางอย่าง เป็นแบบนี้ทุกครั้ง แล้วพิพิธภัณฑ์ศิลปะแต่ละแห่งมันมีคาแรกเตอร์ที่ต่างกัน ทำให้การไปเยือนแต่ละครั้งสนุกเสมอ อย่างสมัยอยู่เบิร์กลีย์ บ้านเช่าที่ผมอยู่นั้นห่างจาก Museum of Fine Arts ของบอสตันไปแค่ 15 นาที เราก็จะแวะเวียนไปดูนิทรรศการที่นั่นอย่างต่ำเดือนละครั้ง แล้วเราเข้าฟรีด้วยเพราะยังเป็นนักเรียน ผมจะใช้เวลาพินิจภาพวาดแต่ละภาพ ยิ่งถ้าเป็นผลงานที่เราชอบ จะยืนอยู่ตรงนั้นได้เป็นชั่วโมง พิจารณาว่าศิลปินคนนี้ต้องการสื่ออะไร ใช้เทคนิคแบบไหน ระหว่างที่กำลังสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนั้นเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในชีวิตเขาบ้าง ถึงมันจะเอามาใช้กับงานเพลงของเราไม่ได้โดยตรง แต่มันเป็นแรงบันดาลใจชั้นดี
ใช้กรรไกรวาดภาพ
ช่วงประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว จู่ๆ ผมก็ไม่สามารถบังคับกล้ามเนื้อที่มือได้ มันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในฐานะนักดนตรีและมือเบส เพราะผมต้องเปลี่ยนไปหัดใช้ปิ๊กเล่นแทน ซึ่งมันไม่เป็นไปตามใจสั่งเหมือนการใช้นิ้วมือดีด มันเป็นจุดที่ต้องเลือกว่าจะเล่นต่อหรือจะเลิก เหตุการณ์นี้เหมือนช่วงชีวิตบั้นปลายของอ็องรี มาติส จิตรกรฝรั่งเศส ตอนนั้นเขาป่วยจนไม่สามารถจับพู่กันวาดภาพได้ เลยหันมาใช้กรรไกรตัดกระดาษสีต่างๆ ประกอบกันเป็นงานศิลปะ เรื่องของมาติสมีอิทธิพลมากกับผม แล้วผมชอบที่งานเขามีคาแร็กเตอร์การใช้สีที่ชัดเจน ไม่ได้จัดจ้านทิ่มแทงอย่างปิกัสโซหรือทาสีเป็นปื้นอย่างโกแก็ง แต่ก็เห็นแล้วรู้ว่าไม่มีทางเป็นคนอื่นได้ งานศิลปะมันสะท้อนตัวตนของผู้วาด อย่างศิลปินแนวอิมเพรสชันนิสม์ ปิแยร์โอกุสต์ เรอนัวร์ ผมชอบความกลมกล่อมนุ่มนวลในงานของเขา มันเป็นงานศิลปะที่เข้าใจง่าย พอเราดูแล้วรู้สึกเชื่อมโยงได้ทันทีก่อนจะรู้ว่าใครเป็นคนวาดเสียอีก แล้วผมคิดว่าบุคลิกเขาน่าจะเป็นคนเงียบๆ ช่างสังเกต คอยเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าเหมือนดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งแล้วเอากลับมาถ่ายทอด
ศิลปินต้นแบบ
ถ้าทางดนตรี ไมลส์ เดวิส เป็นหนึ่งในศิลปินที่ผมชื่นชอบที่สุด เขาเป็นมือทรัมเป็ตที่พัฒนาดนตรีของตัวเองไปตามยุคสมัยตลอด ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ ตั้งแต่ยุคแจ๊สแรกๆ ต่อเนื่องมาจนกระทั่งตายซึ่งเป็นสมัยที่ฮิปฮอปกำลังมา ส่วนอีกวงหนึ่งที่ผมชอบมากคือ เดอะบีเทิลผมชอบลายเซ็นการแต่งเพลงของจอห์น เลนนอนและพอล แมกคาร์ตนีย์ ก็เลยเริ่มศึกษางานของเขาจริงจัง อีกยุคที่ผมชอบมากคือยุคโมทาวน์กับยุคโซล ซึ่งมีศิลปินดีๆ อย่างมาร์วิน เกย์และสตีวี วันเดอร์ คือพอเราชอบอะไร เราก็จะพยายามศึกษาให้ลงลึกมากที่สุด เช่น เพลงนี้ใครแต่ง นักดนตรีเป็นใครบ้าง โปรดิวเซอร์ชื่ออะไร กระทั่งว่าบันทึกเสียงที่ไหน เขาเติบโตมาอย่างไร ทำไมถึงแต่งเพลงออกมาในลักษณะนี้ มันเป็นความรู้ที่เอากลับมาใช้ได้ แล้วผมเองก็สนุกด้วย
เราจะรู้สึกเสมอว่ากรูฟไรเดอร์คือตัวเรา เพราะเราเป็นคนแต่งเพลงทั้งหมด และมันเกิดมาจากความฝันของเราที่แชร์กับเพื่อนร่วมวงอีก 3 คน
เบื้องหลังสลับเบื้องหน้า
เวลาทำงานเบื้องหลังกับศิลปินคนอื่นๆ หน้าที่ของผมคือการดึงเอาพรสวรรค์ของแต่ละคนออกมาให้มากที่สุด ผมจะพยายามหาว่าเขาต้องการอะไร มีจุดเด่นหรือจุดด้อยตรงไหน แล้วเราเข้าไปช่วยเสริมได้อย่างไรบ้าง และในการร่วมงานกับศิลปินคนอื่นๆ ในแต่ละครั้ง เราต้องโยนอีโก้เราทิ้งไปหากต้องการให้งานออกมาดี ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ผมได้ร่วมงานกับศิลปินมาหลากสไตล์และรูปแบบ ทั้งแนวป๊อป อัลเทอเนทีฟ โซล ฯลฯ และศิลปินเหล่านี้ก็กลายเป็นครูสอนผมโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว ผมมองว่าประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานเบื้องหลัง มันทำให้ผมกลับไปทำงานเบื้องหน้าของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่งานเบื้องหน้านั้นเปิดกว้างให้ผมได้ทดลองทำในสิ่งที่อยากทำ และผมก็นำเอาความรู้จาก การทำงานเบื้องหน้านี้เองไปใช้กับศิลปินที่เราทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอรให้อีกทอดหนึ่ง งานทั้งสองส่วนนี้มันจึงเป็นไปในลักษณะที่เกื้อหนุนกัน เป็นวงกลมไปอย่างนี้
ผู้นำและผู้ตามที่ดี
เราอาจไม่ใช่นักร้องนำ แต่เราจะรู้สึกเสมอว่ากรูฟไรเดอร์คือตัวเรา เพราะเราเป็นคนแต่งเพลงทั้งหมด และมันเกิดมาจากความฝันของเราที่แชร์กับเพื่อนร่วมวงอีก 3 คน ส่วนพีโอพี มันเป็นวงที่เริ่มตอนผมยังเด็ก เพราะฉะนั้น ในยุคแรกๆ เพลงส่วนใหญ่ก็จะมาจากพี่โต้งกับพี่นภ ขณะที่วงอย่าง Two Days Ago Kids ซึ่งผมกำลังทำโปรเจกต์ด้วย ผมก็จะพยายามถอยหลังมาให้คนอื่นได้นำบ้าง มันเป็นลักษณะของการเอาตัวเองมาวางบนโต๊ะแล้วแชร์กันมาก กว่า ในแต่ละวงผมพยายามจะเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากที่สุด บางทีเราก็เป็นผู้นำ บางทีเราก็เป็นผู้ตาม เพราะฉะนั้นส่วนผสมของแต่ละวงมันเลยไม่เหมือนกัน เราจะทำให้มันเป็นสูตรสำเร็จทุกวงไม่ได้
ต้องรู้ให้รอบ
ผมมักจะพูดเสมอว่า ถ้าผมมุ่งเล่นแต่เบสอย่างเดียวแล้วไม่ทำอย่างอื่น ผมอาจจะกลายเป็นมือเบสที่เก่งที่สุดในเอเชียอาคเนย์ไปแล้วก็ได้ แต่ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง การจะถ่ายทอดอะไรสักอย่างออกไปให้คนฟัง เราต้องรู้วิธีการแต่งเพลง การเรียบเรียงดนตรี และขั้นตอนการผลิตต่างๆ ถ้าเราเล่นแต่เบสอย่างเดียว เราก็จะไม่สามารถสร้างผลงานที่เราได้ยินในหัวออกมาจริงๆ มันก็จะเป็นจุดบอดว่าเราทำตรงนั้นไม่ได้ ทำตรงนี้ไม่ดี เราก็เลยพยายามเข้าไปทำทุกจุด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้และอาจจะทำให้เราต้องขยันมากกว่าคนอื่น
หาสมดุลชีวิต
หากมองในแง่ของการตลาด เราควรจะมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนเพื่อให้คนจับต้องได้ แต่ผมก็รู้สึกว่าการที่เราไม่มีตัวตน หรือพยายามลดตัวตนของเราลงก็อาจจะเป็นหนทางที่ถูกต้อง เพราะถึงที่สุดแล้ว เราก็ไม่ได้อยากมีอนุสาวรีย์ของเราอยู่ตรงนี้ เราอยากมีชีวิตสงบสุข ก็เลยพยายามหาสมดุล คงไม่ถึงขนาดไปเป็นฤาษีอยู่ถ้ำ อย่างเรื่องโซเชียล มีเดีย ทางค่ายอยากให้เราเล่นเป็นเรื่องเป็นราว แต่เวลาเห็นดราม่าของใครต่อใครเต็มไปหมด ผมชอบคิดว่าปิดแอคเคาท์ไปเลยดีไหม มันไม่ใช่ความจำเป็น เอาเวลาไปอยู่เงียบๆ เล่นกับลูกดีกว่า แต่ขณะเดียวกันก็ยังรู้สึกว่าเราต้องโพสต์บ้างนะ เดี๋ยวคนจะไม่รู้ว่าเรามีผลงานอะไร คือเรายอมรับว่านี่คือสื่อที่ทุกคนเสพอยู่ เราเองก็ยังชอบดูความเป็นไปของเพื่อนในเฟสบุ๊ก แต่รู้สึกว่าถ้าใครอยากรู้ข่าวคราวของเราก็นัดกัน หรือมาเยี่ยมที่บ้านดีกว่า ยอมรับว่าการรักษาสมดุลตรงนี้ยังขัดแย้งในตัวเองและกระท่อนกระแท่น
โลกที่เปลี่ยนไป
ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมการเสพเพลงของคนเราก็เปลี่ยน สมัยก่อน เวลาเราฟังเทป เราจะฟังทั้งอัลบั้มเพราะการกดข้ามเพลงนั้นไม่สามารถทำได้โดยสะดวก พอมาถึงยุคซีดี ยุคดาวน์โหลด จนเข้าสู่ยุคสตรีมมิ่ง กลายเป็นว่าคนไม่ฟังเพลงทั้งอัลบั้มแล้ว บางคนพอฟังไป 5 วินาทีแรกแล้วไม่ชอบ ก็กดข้ามไปเพลงถัดไปเลย จะเห็นว่าเทคโนโลยีมันชี้นำพฤติกรรม สมาธิคนเราก็สั้นลง อย่างเมื่อก่อนเวลาไปเล่นคอนเสิร์ตกลางคืน ผมเล่นแต่เพลงตัวเอง แต่ศิลปินสมัยนี้ต้องร้องเพลงคนอื่นด้วย พอร้องไปครึ่งเพลง คนดูเริ่มเอาโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่นหรือหันไปคุยกับคนข้างๆ เราก็ต้องเปลี่ยนเพลงเพื่อเรียกความสนใจอีก จริงๆ ผมก็คิดถึงสมัยก่อนเหมือนกัน อย่างตอนไปเล่นดนตรีที่ร้านดีเจสยาม มีแฟนเพลงมาต่อคิวยาวเหยียดจนรถติดไปหมด แต่ยุคสมัยดังกล่าวมันก็ผ่านไปแล้ว หน้าที่เราคือต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวไปตามยุคสมัยให้ได้
ยุคทองวงการเพลงไทย
บางครั้งผมจะได้ยินศิลปินรุ่นอาวุโสพูดว่า ปัจจุบันวงการเพลงมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ดีเหมือนเดิม สมัยก่อนดีกว่า แต่ผมกลับมองว่า ปัจจุบันคือยุคทองของวงการเพลงไทย ทุกวันนี้มีศิลปินหน้าใหม่และนักดนตรีเจ๋งๆ เกิดขึ้นเยอะมากจนน่าตกใจ ขณะที่เทคโนโลยีก็ช่วยให้ศิลปินตัวเล็กๆ หรือศิลปินที่ไม่มีค่ายสามารถสื่อสารกับคนฟังง่ายขึ้น คำถามมันอยู่ที่ว่า ศิลปินเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอเพื่อให้เขาสามารถพัฒนางานของตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ หรือเปล่า เพราะในอีกมุม เทคโนโลยีก็ทำให้เงินไม่กลับมาหาผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานเท่าที่ควรจะเป็น สิ่งที่เราทำได้ในฐานะคนฟังคือจ่ายเงินไปคอนเสิร์ตของศิลปินที่ตัวเองชอบ หรือฟังเพลงบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ต้องจ่ายเงินให้ศิลปินเหล่านี้มีรายได้เพียงพอสำหรับนำไปพัฒนาผลงานเพลงของตัวเองต่อไป วงการเพลงไทยมันถึงจะก้าวไปข้างหน้าได้
นิยามศิลปินที่ดี
ศิลปินแต่ละคนมีข้อแม้ต่างกัน บางคนอาจยินดีที่จะทำงานเพลงที่แมสหน่อย ขณะที่บางคนอาจจะไม่สนใจสิ่งเหล่านี้ แต่การจะบอกว่า คนที่ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ 100% คือศิลปินที่แท้จริงหรือเจ๋งกว่าคนอื่นนั้นไม่ถูก อย่างผมเคยได้ร่วมงานกับคุณบี้ สุกฤษฏ์ (วิเศษแก้ว) ทำให้รู้เลยว่าคนๆ นี้คู่ควรกับตำแหน่งซูเปอร์สตาร์จริงๆ เพราะเขาไม่ได้มาแค่หน้าหล่อ ในโชว์หนึ่งที่ผมต้องทำดนตรีให้เขา เขาทำการบ้านมาอย่างดีเลยว่าเราจะเรียงเพลงแบบนี้ ท่อนนี้ผมจะเล่นกับคนดู ท่อนนี้ผมจะเต้น เขาเป็นมืออาชีพมาก ใครจะไปว่าเพลงเขาไม่ดีเท่าวงโน้นวงนี้ ไม่มีสิทธิ์ไปว่าเลย เพราะเขารู้ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต ต้องการแฟนเพลงแบบไหน เราไม่สามารถจะไปวัดได้ว่าทางไหนดีกว่ากัน มันขึ้นอยู่กับว่าศิลปินคนนั้นเป็นใคร แล้วเขาต้องการอะไร แต่ก่อนผมยอมรับว่าอยากทำงานเฉพาะกับศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบหรือที่เรารู้สึกว่าเจ๋ง แต่ปัจจุบันไม่มี งานที่ทำกับศิลปินแมสๆ นี่แหละที่ทำให้เรายิ่งรู้สึกท้าทาย รู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไรจากเขาหลายอย่างมาก
มุมมองนักลงทุน
จริงๆ เรื่องการลงทุนต้องยกเครดิตให้คุณพ่อ ตอนนั้นผมทำงานไปสักพักเริ่มมีเงินเก็บได้ก้อนหนึ่ง ผมก็เริ่มคุยกับคุณพ่อว่าควรจะทำอย่างไรดี บังเอิญคุณพ่อผมเป็นนักลงทุน ท่านก็เลยเอาเงินทั้งหมดไปซื้อหุ้นปูนซีเมนต์ไทยซึ่งตอนแรกเราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอเวลาผ่านไปไม่นานได้เงินปันผลกลับมา เราก็เริ่มรู้สึกสนใจ จากที่เคยคิดว่าทางเลือกในการออมเงินนั้นมีแค่การฝากธนาคารหรือเอาเงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ เราก็เริ่มหันมาศึกษาเกี่ยวกับการลงทุน ตลาดหุ้น และแนวคิดการใช้เงินทำงานอย่างจริงจัง คุณพ่อก็จะชวนผมไปสัมมนาและเข้าคอร์สอบรมตามที่ต่างๆ แต่สไตล์การลงทุนของผมจะเน้นการลงทุนแบบระยะยาวมากกว่า พอเห็นโอกาสก็ค่อยๆ ทยอยลงทุน ไม่ได้จำเป็นต้องรีบร้อน หรือไปจับพวกหุ้นซิ่งอะไร หรือถ้าอยากลองเล่นสนุกๆ ก็จะใช้เงินจำนวนไม่เยอะ เอาให้เจ็บตัวแล้วหัวเราะได้ เพราะเห็นตัวอย่างมานับไม่ถ้วนในตลาดหุ้น แล้วตัวเราเองก็ไม่มีเวลาคอยติดตามข่าวสารหรือศึกษาข้อมูลต่างๆ สไตล์การลงทุนแบบปลอดภัยแต่ยั่งยืนจึงตอบโจทย์ผมที่สุด ■
รู้จักกับณฐพล ศรีจอมขวัญ
ณฐพล ศรีจอมขวัญ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Berklee College of Music ประเทศสหรัฐอเมริกาในสาขา Music Production and Engineering ปัจจุบันทำงานในฐานะ นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ ศิลปินเดี่ยว รวมทั้งรับหน้าที่เป็นมือเบสและหัวหน้าวงของ Groove Riders