HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


The Hills Are Alive

การผนึกกำลังระหว่างชาวบ้านในพื้นที่และเหล่าคนต่างถิ่นที่หลงรักในเสน่ห์อันเรียบง่ายของเชียงราย ได้ปลุกกระแสให้กับจังหวัดเหนือสุดแดนสยามแห่งนี้อีกครั้ง

ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ‘ดอยแม่สลอง’ และ ‘ไร่ชาฉุยฟง’ จะแน่นขนัดไปด้วยผู้มาเยือนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งล้วนมีอาวุธประจำกายเป็นไม้เซลฟี่ไว้เก็บภาพตนเองกับทิวทัศน์พุ่มชารอบเนินเขา อันดูจะเป็นประสบการณ์ภาคบังคับของการมาเยือนไร่ชา แต่ขณะที่เหล่ามหาชนสาละวนอยู่กับการถ่ายรูปคู่คนเก็บใบชาบนดอยแม่สลอง ห่างออกไปเกือบร้อยกิโลเมตร เหล่านักดื่มชาผู้รักการผจญภัยก็กำลังอยู่ระหว่างภารกิจตามล่าอะไรที่พิเศษกว่านั้น “เราจะ ไปดูต้นชาเก่าแก่ที่บ้านดอยงามกัน” ชูเกียรติ เวสารัชชพงศ์ ในวัย 29 ปี กล่าว เขาคือผู้ก่อตั้ง ‘สวรรค์บนดิน ฟาร์มแอนด์โฮมสเตย์’ ฟาร์มและโฮมสเตย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งร่วมมือกับไร่ต่างๆ ในละแวกใกล้เคียงที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประวัติศาสตร์ของเชียงรายนั้นสามารถย้อนไปได้ถึงราวพ.ศ. 1805 เมื่อพญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนาได้สถาปนาเชียงรายขึ้นเป็นราชธานีแห่งแรกหลังทรงรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ได้สำเร็จ ในช่วงเวลาดังกล่าว สันนิษฐานกันว่าชาวล้านนาได้นำเข้าใบเมี่ยงหรือใบชามาจากเมืองจีนและนิยมนำมานึ่งกินเป็นของขบเคี้ยว ก่อนที่จะหันมาปลูกชาของตัวเองในที่สุด โดยกระจายปลูกบนเทือกเขาหลายแห่งในภาคเหนือ รวมทั้งพื้นที่ยอดเขาของ 'บ้านดอยงาม' หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดเชียงราย

แต่หากเทียบกับแหล่งปลูกชายอดนิยมอื่นๆ ของเชียงรายแล้ว กว่าพื้นที่แห่งนี้จะกลายมาเป็นแหล่งปลูกชาชั้นยอดอย่างในปัจจุบัน ไร่ชาเก่าแก่ที่นี่นั้นถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลาหลายร้อยปี เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไป เหล่าผู้อยู่อาศัยที่บ้านดอยงามก็ค่อยๆ ย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ที่เจริญกว่า และปล่อยให้แหล่งปลูกชาดังกล่าวถูกปกคลุมอยู่ใต้ผืนป่า จนกระทั่งราว 60 ปีก่อนเมื่อชาวเขาเผ่าอาข่าได้เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่ แหล่งปลูกชาดังกล่าวจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง แม้ชาวบ้านส่วนใหญ่เลือกที่จะโค่นต้นชาอายุนับร้อยปีลงเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ แทน แต่อภิวัฒน์ ก๊อคือ วัย 41 ปี กลับไม่ได้ทำเช่นนั้น “นี่คือขุมทรัพย์ที่แท้จริงของผืนดินแห่งนี้” ชูเกียรติกล่าวระหว่างเดินฝ่าดงไม้ทึบตามหลังอภิวัฒน์ไป

เมื่อพ้นป่าทึบมาแล้ว ‘ขุมทรัพย์’ ที่ชูเกียรติว่าก็ปรากฎให้เห็น บนเนินเขาชันนั้นมีต้นชาเก่าแก่กระจัดกระจายอยู่ทั่ว ต้นชาเหล่านี้มีความกว้างอย่างน้อย 30-50 เซนติเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าต้นชาตามแหล่งปลูกชาทั่วไปถึง 3 เท่า ณ ที่แห่งนี้ แขกสามารถเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมคั่วใบชาและการจิบชาบนยอดเขาซึ่งมองทอดออกไปเห็นทิวทัศน์อันงดงามของหุบเขาเบื้องล่าง แต่อุตสาหกรรมการผลิตชาของไทยนั้นต่างจากจีนและญี่ปุ่น เพราะหนทางไปสู่ความเข้าใจประวัติศาสตร์การปลูกชาอย่างลึกซึ้งนั้นยังอีกยาวไกล “เรายังขาดผู้ที่จะทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์การปลูกชา และนำเรื่องราวดังกล่าวมาต่อยอดและสร้างคุณค่าจากมันอย่างจริงจัง เราอยากเห็นชาของล้านนาและอาขะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการดื่มชาของเราด้วย เช่นเดียวกับการขึ้นทะเบียนพื้นที่แห่งนี้เป็นมรดกโลกเหมือนพวกแหล่งปลูกชาในประเทศจีน” ชูเกียรติกล่าว

หลังเลิกทำงานในฐานะช่างภาพที่กรุงเทพฯ ชูเกียรติก็ย้ายมาอาศัยอยู่ในเชียงรายเพื่อดูแลพ่อและแม่ของเขา และค่อยๆ หันมาสนใจในผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของตน เขาเริ่มจำหน่ายชาสมุนไพรและชาออร์แกนิก และเมื่อเวลาผ่านไป เขาก็เริ่มหลงใหลศาสตร์การดื่มชาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น หลังใช้เวลากว่า 2 ปีเรียนรู้วิธี ‘เบลนด์’ หรือผสมชาดำ เขาก็ได้ออกเดินทางไปทั่วจังหวัดเพื่อเสาะหาใบชาที่ดีที่สุด จนกระทั่งเขาได้ค้นพบแหล่งปลูกชาที่บ้านดอยงามรวมทั้งต้นชาป่าอายุหลายร้อยปี ซึ่งทำให้เขาตกหลุมรักแทบจะในทันที

เราอยากเห็นชาของล้านนาและอาขะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการดื่มชาของเราด้วย

ไม่ใช่เพียงอนุวัฒน์ เหล่าชาวเผ่าอาข่ารุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึงธีรพล เมอแล ผู้ใหญ่บ้านวัย 41 ปี เอง ก็เล็งเห็นถึงคุณค่าของพันธุ์ไม้เก่าแก่เหล่านี้เช่นเดียวกัน โดยพวกเขาไม่เพียงดูแลต้นชาเท่านั้น แต่ยังเฝ้ารักษาสภาพแวดล้อมรอบๆ แหล่งปลูกชาไร้สารพิษเหล่านี้ให้คงสภาพเดิมต่อไปด้วย

หลังแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ได้สร้างความเสียหายให้กับหลายจังหวัดทางภาคเหนือเมื่อปี 2557 ส่งผลให้เกิดข่าวลือเรื่องราคาที่ดินลดฮวบเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่อันที่จริง ราคาที่ดินนั้นค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเวลาหลายปี ที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ผู้คนก็เริ่มค้นพบเสน่ห์ต่างๆ ที่หลบซ่อนอยู่ของจังหวัดลูกพี่ลูกน้องเชียงใหม่แห่งนี้ ส่งผลให้เริ่มมีธุรกิจคลื่นลูกใหม่ที่หันมาใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดเกิดขึ้นเป็นระลอก ดูเหมือนว่าเชียงรายจะเติบโตไปไวกว่าอีกหลายจังหวัดในภูมิภาคเดียวกัน และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นนำโดยกลุ่มคนในพื้นที่ที่มีใจรักในสิ่งที่ตนทำ ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นชาวกรุงเทพฯ ที่ย้ายมาตั้งรกรากในจังหวัดเชียงรายเพื่อเสาะหาความเงียบสงบและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

แม้อุตสาหกรรมการผลิตชาในเชียงรายอาจจะยังเป็นรองประเทศผู้นำเรื่องชาอย่างญี่ปุ่น แต่ถ้าพูดถึงขิงดอง เชียงรายก็ได้กลายเป็นที่กล่าวขานในหมู่ลูกค้าชาวญี่ปุ่นผู้รักความพิถีพิถันไปเป็นที่เรียบร้อย “ดินฟ้าอากาศของเชียงรายทำให้ขิงที่ปลูกได้มีเนื้ออ่อนและเสี้ยนน้อยกว่า เหมาะสำหรับใช้ทำขิงดอง อันเป็นวัตถุดิบสำคัญในอาหารญี่ปุ่น” พลอย พฤกษางกูรกล่าว เธอคือทายาทของกิจการครอบครัว ‘ไทยพัฒนาพืชผล’ หนึ่งในผู้ผลิตขิงรายสำคัญของพื้นที่

ไทยพัฒนาพืชผลนั้นก่อตั้งโดยประวิทย์ พฤกษางกูร ชายวัย 72 ปีผู้ซึ่งเป็นบิดาของพลอย และอดีตหุ้นส่วนชาวไต้หวัน ฟาร์มแห่งนี้คือธุรกิจรุ่นแรกๆ ที่ค้นพบศักยภาพของเชียงรายในฐานะแหล่งปลูกขิง เป็นเวลาหลายปีที่ลูกค้าชาวญี่ปุ่นมองไต้หวันเป็นประเทศผู้ผลิตขิงอันดับหนึ่งของโลก แต่เมื่อประเทศเริ่มเติบโตและพัฒนาไปราคาสินค้าก็สูงขึ้นตามลำดับ ลูกค้าจึงเริ่มมองหาตัวเลือกใหม่ๆ และนั่นถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทย ปัจจุบัน ไทยพัฒนาพืชผลส่งออกขิง ให้กับลูกค้าประจำชาวญี่ปุ่นหลายราย อาทิ Gingerie Shioda Food หนึ่งในผู้นำเข้าขิงรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งจำหน่ายขิงให้กับร้านอาหารระดับ 3 ดาวมิชลิน Jiro Sushi “เราจะเก็บขิงตอนอายุไม่เกิน 4 เดือน ซึ่งถือว่ายังอ่อนอยู่ โดยจะปลูกระหว่างช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคมเท่านั้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ชาวนาปลูกขิงก่อนปลูกข้าวตามฤดูกาล และจะเก็บเกี่ยวก่อนที่ขิงจะแก่และแข็งเกินไป เราจะคุยกับลูกค้าที่ญี่ปุ่นตลอดเพื่ออัพเดทเรื่องคุณภาพผลผลิต และหาขิงให้เพียงพอกับความต้องการหลายพันตันต่อปี" พลอยเล่า

กุญแจสู่ความสำเร็จของฟาร์มแห่งนี้มีพื้นฐานมาจากเทคนิคการดองขิงของชาวญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘อะซาซุเกะ’ ซึ่งหมายถึงการนำขิงไป ‘ดองเร็ว (quick pickle)’ ประวิทย์ได้นำเทคนิคดังกล่าวไปต่อยอดโดยการทำกระบวนการทั้งหมดในแท็งก์เย็นที่อุณหภูมิ 2-3 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยลดปริมาณเกลือจาก 23% เหลือเพียง 6% เท่านั้น และทำให้สามารถแช่เย็นขิงไว้ได้ถึง 2 ปีโดยรสชาติไม่เปลี่ยน เขากล่าวว่าโรงงานของเขาเป็นแห่งเดียวในโลกที่ใช้กระบวนการดังกล่าว และผลลัพธ์ที่ได้คือขิงคุณภาพดีที่สุดเท่าที่เงินจะสามารถซื้อได้

อย่างไรก็ดี ฟาร์มขิงแห่งนี้ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ อีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงรายนั้นต้องเผชิญกับคู่แข่งจากประเทศจีน ซึ่งมีอัตราค่าแรงต่ำกว่า อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไต้หวันเมื่อหลายปีก่อนหน้า แม้การแข่งขันจากจีนจะส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของไทยพัฒนาพืชผลลดลงไปบางส่วน แต่ข่าวฉาวเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับการใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีอันตรายของเกษตรกรในประเทศจีนก็ทำให้สถานการณ์เป็นใจให้กับพวกเขาอีกครั้ง และเช่นเดียวกับอีกหลายธุรกิจในเชียงราย ส่วนหนึ่งของความสำเร็จครั้งใหม่นี้เกิดขึ้นได้เพราะเหล่าคนรุ่นใหม่ โดยพลอยและพิมพ์ พฤกษางกูร พี่สาวของเธอ ได้เริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ขิงเคลือบน้ำตาลไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ อาทิ ฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา เพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจครอบครัวให้เข้ากับบริบทโลกสมัยใหม่ยิ่งขึ้น

หากไม่นับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่างๆ เชียงรายอาจไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่หวือหวานักสำหรับผู้มาเยือนบางกลุ่ม แต่นอกเหนือจากการแวะไปจิบชาหอมๆ ที่ไร่แล้ว เชียงรายยังเป็นที่ตั้งของโรงแรมหรูอย่าง Four Seasons Tented Camp Golden Triangle ที่เพิ่งเปิดตัวห้องพักชื่อ Explorer's Lodge ซึ่งเป็นฝีมือออกแบบของเจ้าพ่อโรงแรมแนวเอ็กซอติกอย่างบิล เบนซ์ลีย์

ศิลปะไม่มีฤดูกาล ถ้าเราขายแต่ความงามของสถานที่ เราจะต้องรอให้ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมของปี อย่างซากุระก็บานแค่หนึ่งสัปดาห์ แต่ศิลปะมันสวยทุกวัน

แต่ที่พักอีกแห่งที่น่าจับตาของเชียงรายนั้นคือ Chiang Rai Ryokan รีสอร์ทที่ได้ต้นแบบมาจากบ้านพักแบบเรียวกังของญี่ปุ่น รีสอร์ทแห่งนี้ขับขานลัทธิ minimalism ได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยทางเดินโรยกรวดดูสะอาดตา เฟอร์นิเจอร์ไม้ กำแพงปูนเปลือย และผนังหน้าตาเรียบๆ ที่แบ่งห้องพักทั้ง 4 ห้องออกจากกัน สถานที่แห่งนี้ห้อมล้อมไปด้วยพุ่มไม้เขียวชอุ่มท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบจนผู้มาเยือนอาจลืมไปว่าตัวเองกำลังอยู่ในตัวเมืองเชียงราย

ผู้อยู่เบื้องหลังรีสอร์ทแห่งนี้คือโอฬาร เนตรหาญ สถาปนิกและศิลปินชาวภูเก็ตวัย 47 ปี เขาตัดสินใจย้ายมาตั้งรกรากที่เชียงรายเพราะบรรยากาศอันเงียบสงบ “เชียงรายเป็นจังหวัดที่เหมาะมากสำหรับการอยู่อาศัย อากาศก็ดี ผู้คนก็น่ารัก แถมไม่แออัดเหมือนเชียงใหม่ มีหลายคนมากอยากมาอยู่ที่นี่” เขากล่าว

เมื่อเร็วๆ นี้โอฬารได้ซื้อที่ดินฝั่งตรงข้ามรีสอร์ทของเขาเพื่อสร้างบ้านพักเกษียณ 6 หลัง ซึ่งเขาวางแผนจะขายให้กับเพื่อนๆ ในอนาคต โดยพื้นที่ส่วนกลางจะเป็นที่ตั้งของ Ryokan Art Center พื้นที่จัดแสดงผลงานสำหรับศิลปินและขายผลงานในราคาที่จับต้องได้

แวดวงศิลปะนั้นสร้างจุดเด่นให้กับตัวจังหวัดและเป็นสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากคนในท้องถิ่นมาโดยตลอด เชียงรายเป็นบ้านเกิดและที่พำนักของศิลปินแห่งชาติอย่างถวัลย์ ดัชนี ผู้ล่วงลับ และเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งทั้งสองกลับมายังเชียงรายเพื่อสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกอย่างวัดร่องขุนและพิพิธภัณฑ์บ้านดำซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก จุดหมายปลายทางทั้งสองแห่งนั้นดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนในแต่ละปี “ศิลปะไม่มีฤดูกาล ถ้าเราขายแต่ความงามของสถานที่ เราจะต้องรอให้ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมของปี อย่างซากุระก็บานแค่หนึ่งสัปดาห์ แต่ศิลปะมันสวยทุกวัน” ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินท้องถิ่นผู้เลื่องชื่อกล่าว เขาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยก่อตั้ง ‘ขัวศิลปะ (Art Bridge)’ อันเป็นพื้นที่ให้ศิลปินท้องถิ่นได้ทดลองฝีมือรวมทั้งสร้างอาชีพให้กับศิลปินรุ่นใหม่

ในบรรดาศิลปินรุ่นใหม่ที่ทรงเดชคอยให้การสนับสนุนนั้นมีรายชื่อของวีรยุทธ นางแล อายุ 28 ปี และพุทธรักษ์ ดาษดา อายุ 32 ปี รวมอยู่ด้วย ทั้งสองมีแนวทางและสไตล์ศิลปะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง วีรยุทธเป็นศิลปินแนวสตรีทผู้อยู่ระหว่างการทำโปรเจกต์งานกราฟฟิตี้ขนาดยักษ์ซึ่งครอบคลุมหมู่บ้าน 20 แห่งเพื่อโปรโมท ‘แมง 4 หู 5 ตา’ อันเป็นมาสคอตของเจียงฮายเกมส์ การแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 46 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในขณะที่พุทธรักษ์นั้นเป็นที่รู้จักจากงานสีน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งผลงานหลายชิ้นของเธอได้รับเลือกให้ขึ้นปกหนังสือธรรมะของว. วชิรเมธี พระผู้ก่อตั้งแกลเลอรี่ศิลปะและศูนย์ปฏิบัติสมาธิ

แม้สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ชุมชนศิลปะ และแวดวงเกษตรที่นี่จะอยู่ในยุคเฟื่องฟูแต่กระแสวงการอาหารที่นี่ก็ขาดความหวือหวามาเป็นเวลาหลายปี ปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่เรื่องวัตถุดิบ เพราะบรรดาผู้ผลิตรายย่อยหน้าใหม่จำนวนหนึ่งได้ทำให้วัตถุดิบท้องถิ่นอันหลากหลายซึ่งหลายครั้งหาไม่ได้จากที่อื่นค่อยๆ กลายเป็นที่รู้จัก วัตถุดิบเหล่านี้บ่อยครั้งขึ้นอยู่ตามพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีคนอยู่อาศัย และถูกเก็บมาโดยชาวบ้านในพื้นที่และนำไปวางขายตามตลาดนัดที่มีแต่คนท้องถิ่นรู้จัก แต่เช่นเดียวกับธุรกิจประเภทอื่นๆ ในจังหวัด แวดวงร้านอาหารที่นี่มีศักยภาพการเติบโตสูง และโอกาสเช่นนี้เองทำให้เชฟก้องวุฒิ ชัยวงศ์ขจร ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดในกรุงเทพฯ มาเปิดร้านอาหาร Locus Native Food Lab ที่เชียงราย ซึ่งหลายคนยกให้เป็นการเปิดตัวร้านอาหารแนว 'เชฟเทเบิล' ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรอบหลายปี

หลังหันหลังให้กับอาชีพเชฟอาหารญี่ปุ่น ก้องวุฒิได้ต่อสู้กับโรคซึมเศร้าและย้ายมาพักอาศัยอยู่กับครอบครัวของภรรยาในเชียงราย ที่ซึ่งเขาได้ลิ้มลองรสชาติอาหารเหนือแท้ๆ เป็นครั้งแรก “อาหารฝีมือยายของภรรยาผมอร่อยมาก ผมไม่เคยกินอะไรแบบนี้มาก่อน ผมเคยทำงานในโรงแรม กินแต่อาหารเดาได้ แต่ที่นี่เขาเสิร์ฟแต่อาหารที่ผมเดาไม่ได้เลยสักวัน การไปจ่ายตลาดในแต่ละครั้งเหมือนการผจญภัยที่ทำให้ผมได้รู้จักวัตถุดิบใหม่ๆ ผมคิดกับตัวเองว่า ‘นี่คือขุมทรัพย์ที่ยังไม่มีใครค้นพบหรือเปล่า’ ถ้าคนรุ่นปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่ไม่อยู่แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับตำรับอาหารเหล่านี้” เขาเล่า

เขาได้เห็นแสงสว่างอีกครั้งระหว่างการไปเยือนบ้านห้วยหินลาดใน หมู่บ้านกะเหรี่ยงปกาเกอญอในเชียงราย ที่นั่นเขาได้รับประทานไข่ต้มธรรมดาๆ จิ้มกับน้ำพริกเห็ดราดด้วยน้ำผัก “มันอร่อยมากจนผมหาคำพูดมาอธิบายไม่ได้ ช่วงเวลานั้นตอกย้ำถึงความโง่ของผมที่คิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง และเป็นจุดเริ่มต้นการผจญภัยทางความคิดสร้างสรรค์ของผม ในที่สุดผมก็รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ผมอยากออกไปสำรวจและทดลองรสชาติพื้นถิ่นต่างๆ เพื่อค้นหาศักยภาพของวัตถุดิบแต่ละชนิด” เขากล่าว

ก้องวุฒิได้ค้นพบภูมิปัญญาพื้นบ้านทางด้านอาหารของเชียงราย ซึ่งแม้กระทั่งคนท้องถิ่นก็อาจหลงลืมไป รวมทั้งได้นำเทคนิคสมัยใหม่มาประยุกต์ให้เข้ากับอาหารพื้นถิ่นที่คนอาจมองว่า ‘บ้าน’ เกินไปสำหรับเสิร์ฟตามร้านอาหาร เช่น ส้าบักแตง หรือยำแตงกวาใส่น้ำปู๋และผักสมุนไพร ซึ่งเขาได้นำมาแปลงเป็นไอศกรีมส้าบักแตงเสิร์ฟคู่เค้กชิฟฟ่อนตะไคร้ เขาเป็นที่รู้จักเพราะสไตล์การปรุงอาหารที่เรียบง่าย และปราศจากเทคนิคอย่างซูวี การใช้ฟอง การทำเม็ดไข่ปลาคาเวียร์เทียม หรือลูกเล่นอื่นๆ ที่มักพบเห็นในอาหารโมเลกูลาร์ และเน้นการสร้างรสสัมผัสนุ่มลึกขณะที่ยังคงไว้ซึ่งรสชาติคุ้นเคย ระหว่างรับประทาน ผู้มาเยือนอาจเห็นก้องวุฒิใช้อุปกรณ์เครื่องครัวหน้าตาเชยๆ เช่น หม้อสำหรับทำข้าวเกรียบปากหม้อ และเครื่องทำน้ำแข็งใสรุ่นเก่า ในการสร้างสรรค์เมนูต่างๆ

ปัจจุบัน ร้านอาหารของก้องวุฒิถูกจับจองจนเต็มแทบทุกคืน โดยลูกค้าชาวกรุงหลายคนนั้นใช้เวลาช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์บินมาเพื่อลิ้มลองอาหารของเขาโดยเฉพาะ ความล้มเหลวในอดีตที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นเพียงความทรงจำเลือนราง ตอนนี้ เขามีเป้าหมายใหม่ในการตอบแทนแผ่นดินที่อยู่ “ผมว่าเราทุกคนควรตอบแทนบุญคุณบ้านเกิด ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศ คุณก็สามารถสร้างอะไรขึ้นมาได้ และเชียงรายก็มีอะไรมอบให้ทุกคนเสมอ” เขากล่าว

เรื่องราวบทใหม่ของจังหวัดแห่งนี้คือการหวนคืนสู่ความรุ่งเรือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างรอยร้าวให้กับจังหวัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และการตกอยู่ภายใต้เงาของจังหวัดใกล้เคียงมาอย่างยาวนานส่งผลให้เชียงรายมีจังหวะการเติบโตเป็นของตัวเอง และในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา การพัฒนาต่างๆ ก็ดำเนินไปจนหลายสิ่งเริ่มงอกเงยและเบ่งบานในที่สุด แม้นี่จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่จังหวัดเหนือสุดของประเทศไทยแห่งนี้ก็กำลังก้าวสู่ยุคเฟื่องฟูอย่างไม่ต้องสงสัย

Essentials


ขัวศิลปะ

551 หมู่ 1 ถนนพหลโยธิน อ.เมือง เชียงราย

fb.com/ArtBridgeChiangRai/

สวรรค์บนดิน ฟาร์ม แอนด์ โฮมสเตย์

171/12 บ้านสันตาลเหลือง อ.เมือง เชียงราย

fb.com/sawanbondin.farm

ไทยพัฒนาพืชผล

186 หมู่ 3 ถนนพหลโยธิน อ.แม่ลาว เชียงราย

053-666-123

Chiang Rai Ryokan

134 หมู่ 4 อ.แม่ลาว เชียงราย

chiangrairyokan.com/hotel/

Locus Native Foodlab

171/24 บ้านสันตาลเหลือง อ.เมือง เชียงราย

fb.com/locusnativefoodlab/