HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


Clean Design

ประเทศไทยกำลังก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำด้านอาคารสีเขียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังมีอุปสรรคสำคัญอีกหลายประการ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในระดับปัจเจก

ในปี 2555 ธวัชชัย กอบกัยกิจ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร TK Studio ในกรุงเทพฯ ได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ท้าทายเป็นอันดับต้นๆ ตลอดอาชีพภูมิสถาปนิกของเขา กล่าวคือ การทำให้ผู้อยู่อาศัยในย่านอุตสาหกรรมที่แออัดที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ได้มีพื้นที่หลีกเร้นจากความวุ่นวายของเมืองกรุง โจทย์ดังกล่าวนั้นมาจากลูกค้าเก่าแก่อย่างปตท. ซึ่งต้องการสร้างสวนสาธารณะไว้ใจกลางเขตประเวศ โดยมีเงื่อนไขสุดหินว่าเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว พื้นที่ดังกล่าวต้องใช้การดูแลและบำรุงรักษาแต่น้อยที่สุด ทางปตท.ระบุว่า “ถึงไม่มีใครแตะต้องที่นี่ไปอีก 20-30 ปี ทุกอย่างก็ยังต้องคงอยู่ในสภาพเดิม” กล่าวโดยย่อ ธวัชชัยต้องเปลี่ยนผืนดินรกร้างแห้งแล้งและเต็มไปด้วยขยะย่อยสลายไม่ได้ขนาด 12 ไร่แห่งนี้ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวร่มรื่นที่จะดำรงอยู่ด้วยตัวเองไปได้อีกหลายทศวรรษข้างหน้า “ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เราเลยต้องเปลี่ยนวิธีคิด โดยปกติแล้วภูมิสถาปนิกนั้นต้องการเข้าไปควบคุมสภาพแวดล้อม แต่ที่นี่เราทำแบบนั้นไม่ได้ เรียกว่าเป็นโจทย์ใหม่ของเราเลย” เขาเล่า

3 ปีถัดมาโครงการ ‘ป่าในกรุง’ ก็เปิดให้สาธารณชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ และกลายเป็นหนึ่งในโครงการ ‘อาคารสีเขียว (green building)’ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยทำหน้าที่เป็นบ้านให้กับต้นไม้กว่า 60,000 ต้นและพืชพันธุ์กว่า 270 ชนิด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ และยังได้รับการออกแบบให้สามารถกักเก็บน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพจนแทบไม่ต้องพึ่งพาระบบชลประทานเลย อันที่จริง ธวัชชัยกล่าวว่าภายในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาป่าในกรุงอาจลดเหลือเพียงศูนย์ พื้นที่แห่งนี้ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม 5% แรกจากบรรดาโครงการอาคารเขียวที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) จากทั่วโลก โดยได้คะแนนเกินเกณฑ์ในด้านการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และได้คะแนนเต็มในด้านนวัตกรรมและการออกแบบ

โครงการดังกล่าวมีผู้มาเยือนในแต่ละเดือนมากกว่า 10,000 คน (จริงๆ ถูกออกแบบให้รองรับได้เพียง 3,000 คนต่อเดือน) ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาบริหารจัดการเรื่องที่จอดรถซึ่งยาวเหยียดออกไปยังถนนโดยรอบ แม้นี่จะเป็นเพียงโครงการนำร่องของทีเคสตูดิโอ แต่ดูเหมือนว่าแนวคิดเรื่องป่าในกรุงจะกลายเป็นที่นิยมในเวลาไม่ช้า “ตั้งแต่นั้นมาเราก็ทำโครงการแบบเดียวกันอีกกับทางปตท. ในจังหวัดระยอง และตอนนี้เราก็กำลังร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชน โดยนำเอาแนวคิดคล้ายๆ กันมาใช้กับโครงการบ้านจัดสรร อาคารสีเขียวในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากโดยเฉพาะสำหรับในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ” ธวัชชัยเล่า

แนวคิดเรื่อง ‘อาคารสีเขียว’ อาจฟังดูคลุมเครือกระทั่งสำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นอย่างดี เพราะแนวคิดเหล่านี้มักเต็มไปด้วยคำศัพท์วิชาการและคำพูดที่แฝงวาระซ่อนเร้นทางการเมือง ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะจับสาระสำคัญของกระแสเหล่านี้ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว อาคารสีเขียวนั้นหมายถึงสถานที่ใดๆ ก็ตามที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดวงจรชีวิตของอาคารนั้นๆ นับตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การออกแบบ ไปจนถึงการก่อสร้าง การบำรุงรักษา การบูรณะซ่อมแซม และการรื้อถอน โดยมาตรฐานสากลสูงสุดสำหรับอาคารสีเขียวคือการรับรองมาตรฐาน LEED ที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้า ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวจะจัดอันดับอาคารต่างๆ ตามเกณฑ์การให้คะแนน 6 ข้อ อันได้แก่ การใช้พลังงานและระบบอาคาร วัสดุก่อสร้างและทรัพยากร คุณภาพสภาพแวดล้อมภายในอาคาร ที่ตั้งโครงการ การจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และนวัตกรรมการออกแบบ

อาคารสีเขียวนั้นหมายถึงสถานที่ใดๆ ก็ตามที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดวงจรชีวิตของอาคารนั้นๆ

จากรายงานของบริษัท Research and Markets จำนวนอาคารสีเขียวนั้นทวีจำนวนขึ้นทุกๆ 3 ปี และคาดว่าตลาดอาคารสีเขียวทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 13% ระหว่างปี 2558 ถึง 2563 ขณะที่ตลาดของผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสีเขียวแบบครบวงจรนั้นประเมินว่าจะมีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 3.64 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (12 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2565

แม้การพัฒนาพื้นที่สีเขียวในบ้านเรานั้นอาจยังไม่ทัดเทียมยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างสิงคโปร์หรือจีน แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ก้าวจากประเทศที่ไม่มีพื้นที่สีเขียวอยู่เลยไปสู่ประเทศที่องค์การสหประชาชาติจัดให้อยู่ในรายชื่อ ‘ประเทศที่อาจก้าวขึ้นไปเป็นต้นแบบอาคารสีเขียวในเอเชีย’ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อาคารหลังแรกของประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED นั้นก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2550 และอีก 11 ปีให้หลัง จำนวนอาคารสีเขียวที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าวก็เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 182 แห่ง ซึ่งนับเป็นการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามข้อมูลของ Green Building Information Gateway

ส่วนใหญ่อาคารเหล่านี้มักอยู่ในรูปแบบของอาคารพาณิชย์ใจกลางเมือง อย่างอาคาร Park Ventures Ecoplex อันเป็นที่ตั้งของโรงแรมหรู Okura Prestige Bangkok บนถนนวิทยุนั้น เป็นหนึ่งในอาคารพาณิชย์สีเขียวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อาคารสูง 34 ชั้นแห่งนี้ถูกออกแบบโดยทีมสถาปนิกชาวไทยผู้ทำงานให้กับบริษัทระดับโลกอย่าง Palmer & Turner (P&T) และได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED ระดับแพลตินัม โดยได้คะแนนต่ำกว่าโครงการป่าในกรุงเพียงนิดเดียวเท่านั้น ด้วยการผสมผสานนวัตกรรมด้านการออกแบบต่างๆ เช่น กระจก 3 ชั้นพร้อมฉนวนกันความร้อนตรงด้านหน้าอาคาร ซึ่งช่วยขับความโดดเด่นของโครงสร้างทรงมนรีเงาวับที่ได้แรงบันดาลใจมาจากท่าไหว้ ขณะที่ภายในอาคาร ปาล์มเมอร์ แอนด์ เทอร์เนอร์ ได้ติดตั้งระบบตรวจจับสมดุลแสงธรรมชาติที่สามารถปรับความสว่างภายในห้องได้ตามปริมาณแสงแดดที่ส่องเข้ามา และยังติดระบบปรับอากาศและระบบควบคุมคุณภาพอากาศด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อกำจัดมลพิษภายในตัวอาคารด้วย นอกจากนี้ อาคารปาร์คเวนเจอร์ อีโคเพล็กซ์ยังมีระบบควบคุมการใช้พลังงานที่สามารถบริหารจัดการการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และ 25% ของพื้นที่กลางแจ้งนั้นยังถูกจัดสรรเป็นสวนดาดฟ้าซึ่งเป็นบ้านของต้นสนฉัตรจากจังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นไปตามข้อกำหนดของ LEED

“เรารู้ว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราคือบริษัทต่างชาติและผู้ประกอบการที่เข้าใจความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ทีแรกว่าจะทำให้ที่นี่ได้รางวัล” อรฤดี ณ ระนอง กล่าว เธอคือประธานในขณะนั้นของบริษัทยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของโครงการดังกล่าว

นับตั้งแต่การพัฒนาโครงการป่าในกรุง ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญในปี 2555 ผู้เล่นสำคัญรายอื่นๆ ก็เริ่มเจริญรอยตาม เครือซีเมนต์ไทยได้สร้างอาคารที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED ระดับแพลตินัม 3 แห่งภายในไม่กี่ปีให้หลัง ซึ่งรวมไปถึงสำนักงานใหญ่ต่างๆ ของบริษัทและศูนย์สุขภาพเยาวชนอีกหนึ่งแห่ง โดยอาคารทั้งหมดผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED และได้คะแนนสูงกว่าทั้งอาคารปาร์คเวนเจอร์ อีโคเพล็กซ์และโครงการป่าในกรุง ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรระดับประเทศ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย บริษัทโตโยต้า ธนาคารทหารไทย และธนาคารเอชเอสบีซี ก็ได้สร้างอาคารที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED เป็นของตัวเองด้วย โดยบ่อยครั้งเป็นโครงการในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เช่น ศูนย์การเรียนรู้ ห้องสมุด และศูนย์สุขภาพ กระแสดังกล่าวนั้นปรากฏให้เห็นกระทั่งในอุตสาหกรรมโรงแรม อาทิ โรงแรมกีมาลา อีโค รีสอร์ท ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับกระแสชื่นชมจากต่างชาติ ด้วยการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและองค์ประกอบการออกแบบที่ทำให้ภายในอาคารเย็นลงโดยธรรมชาติเพื่อลดการใช้พลังงาน

การก่อสร้างโครงการอาคารสีเขียวมักมีแรงจูงใจอยู่ 2 ข้อหลักๆ คือหากไม่เป็นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับองค์กร ก็อาจเป็นความพยายามในการดึงดูดผู้เช่าพื้นที่สำนักงานที่เป็นบริษัทต่างชาติ ในประเทศไทยมีโครงการสีเขียวปรากฏให้เห็นมากขึ้นในภาคธุรกิจ ต่างจากพื้นที่อยู่อาศัยและส่วนราชการที่ยังขาดแคลนพื้นที่สีเขียวอยู่มาก หากเราถือว่าการรณรงค์อาคารสีเขียวเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นประเด็นการเมือง การเปลี่ยนมุมมองที่คนส่วนใหญ่มีต่ออาคารสีเขียว รวมทั้งประเด็นเรื่องต้นทุนการก่อสร้างอาคารย่อมเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ “ประเทศในยุโรปเขามีแนวคิดที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ใช้งานได้ดีอยู่แล้วก็ตาม แต่ที่นี่คนไม่ค่อยอยากเปลี่ยนอะไรถ้ามันดูเหมือนจะดีอยู่แล้ว ถ้าเราสร้างบ้านด้วยวัสดุทั่วไปได้ ทำไมต้องเปลี่ยน ถ้าอาคารราชการใช้การได้อยู่แล้ว ทำไมต้องปรับปรุง” ธันณี ศรีสกุลไชยรักษ์ เจ้าหน้าที่โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประจำประเทศไทย กล่าว

ในประเทศไทยมีโครงการสีเขียวปรากฏให้เห็นมากขึ้นในภาคธุรกิจ ต่างจากพื้นที่อยู่อาศัยและส่วนราชการที่ยังขาดแคลนพื้นที่สีเขียวอยู่มาก

โครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์อาจสามารถขายแนวคิดอาคารสีเขียวให้กับลูกค้าต่างชาติที่มีทุนทรัพย์พอจะจ่ายค่าสร้างความเขียว หรือ ‘กรีน พรีเมียม’ แต่ผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่มีลูกค้าคนไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายกล่าวว่าต้นทุนอาคารสีเขียวนั้นสูงเกินไป (สูงกว่าปกติถึง 40% แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะยังเป็นที่ถกเถียงของนักวิจัยฝั่งตรงข้าม) และความต้องการของลูกค้าในประเทศก็ต่ำเกินกว่าจะสามารถสร้างที่อยู่อาศัยลักษณะดังกล่าวในสเกลใหญ่ได้ ขณะที่ภาครัฐเองก็ผัดผ่อนแนวคิดดังกล่าวมาหลายสิบปีด้วยเหตุผลใกล้เคียงกัน

แต่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยนั้นกำลังเดินหน้าเข้าสู่เป้าหมายดังกล่าวมากขึ้น เมื่อรัฐบาลได้เสนอแผนการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions หรือ NAMAs) เพื่อช่วยเปลี่ยนอาคารส่วนราชการและอาคารที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลางของไทยให้เป็นอาคารสีเขียว ขณะนี้แผนทั้ง 2 ฉบับยังคงอยู่ในกระบวนการพิจารณา แต่ในแผนดังกล่าว การเคหะแห่งชาติและการไฟฟ้าแห่งประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำงานออกแบบอาคารสีเขียวไปใช้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในอนาคต รวมทั้งมอบรางวัลให้กับส่วนราชการที่เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการปรับปรุงอาคาร โดยประเทศไทยนั้นเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เสนอแผนดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ธันณีและหัวหน้าโครงการอย่าง รศ. ดร.อภิชิต เทอดโยธินใช้เวลาทำอยู่เกือบ 4 ปี “ทั้ง 2 โครงการนั้นมีอุปสรรคต่างกัน สำหรับที่อยู่อาศัย เราจำเป็นต้องพิสูจน์ว่าการออกแบบเหล่านี้จะประสบผลสำเร็จและกระตุ้นความต้องการของตลาดเพื่อลดต้นทุนวัสดุลง สำหรับภาครัฐ มันเป็นเรื่องของการโน้มน้าวให้พวกเขาเชื่อว่าการปรับปรุงอาคารด้วยเทคโนโลยีสีเขียวนั้นเป็นเรื่องที่ดี” อภิชิตอธิบาย

นอกจากนี้ อภิชิตยังกล่าวว่าการเคหะแห่งชาติได้เริ่มลงสำรวจพื้นที่ในระยอง บุรีรัมย์ และปทุมธานี สำหรับการก่อสร้างโครงการนำร่องที่พักอาศัยรายได้ต่ำถึงปานกลางที่ออกแบบตามมาตรฐานอาคารสีเขียว และหากโครงการเหล่านี้สัมฤทธิ์ผล พวกเขาวางแผนจะใช้การออกแบบดังกล่าวสำหรับโครงการทั้งหมดในอนาคต ซึ่งเท่านี้ก็เพียงพอที่จะลดต้นทุนวัสดุลงได้ทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนมุมมองของคนอาจเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า เพราะผู้บริโภคต้องเข้าใจถึงคุณค่าของการลงทุนในระยะยาวเนื่องจากในขณะที่ต้นทุนในการก่อสร้างอาคารสีเขียวอาจดูเหมือนสูงในตอนต้น แต่ในระยะยาวจะช่วยประหยัดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงานจนกระทั่งคุ้มทุนในที่สุด โดยอภิชิตได้ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED เกือบ 1,000 แห่ง “ในสิงคโปร์ เขามีมาตรฐานอาคารสีเขียวแต่ไม่ได้เป็นข้อบังคับ คนแค่เรียกร้องให้มีการสร้างอาคารในลักษณะดังกล่าวเอง แต่ทั้งนี้ สิงคโปร์ก็มีฐานะทางการเงินดีกว่าบ้านเรา คนของเขาไม่ต้องกังวลว่าวันพรุ่งนี้จะกินอะไร ขณะที่ในประเทศไทย ผมเกรงว่าคนส่วนใหญ่นั้นต้องแบกรับภาระทางการเงินอื่นๆ ที่สำคัญกว่า และไม่คิดว่าตัวเองมีกำลังมากพอจะจ่ายราคาของอาคารสีเขียว”

สตูดิโอสถาปนิก Estudio Cavernas นั้นกำลังพยายามสวนกระแสความคิดดังกล่าว โดยสตูดิโอในตำบลแม่สอดแห่งนี้ก่อตั้งโดยสถาปนิกชาวสเปน ฆวน กวยบัส และยาโก น้องชายของเขา และมีความชำนาญในการสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารใช้สอยสำหรับชุมชนด้วยงบที่จำกัด (บางครั้งต่ำถึง 6,000 บาท) โดยใช้วัสดุรีไซเคิลและการออกแบบเชิงนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาให้เข้ากับภูมิอากาศร้อนชื้นของประเทศไทยโดยเฉพาะ แม้โครงการดังกล่าวจะไม่ได้มีการรับรองมาตรฐาน LEED (สำหรับพวกเขา การพยายามเอาใบรับรองคือความพยายามอันสูญเปล่า เนื่องจากค่าใบรับรองอาจมีราคาสูงกว่าค่าก่อสร้างอาคารหลายเท่าตัว) กระนั้น เกือบทุกโครงการของอีสตูดิโอก็น่าจะได้คะแนนระดับสูงสุดตามเกณฑ์ประเมินทั้ง 6 ข้อ

โครงการที่พวกเขาภาคภูมิใจที่สุดคือศูนย์เยาวชนหัวฝาย ศูนย์การเรียนรู้ที่ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 8 ห้อง พื้นที่ส่วนกลาง และห้องน้ำสำหรับนักเรียน โครงการดังกล่าวดัดแปลงจากแปลนบ้านของเซบัสเตียน กอนเตรรัส สถาปนิกชื่อดังชาวโคลัมเบีย บนเว็บไซต์ที่เปิดให้สาธารณชนนำไปใช้ได้ฟรี โดยโครงสร้างหลักนั้นทำจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุในท้องถิ่นปูนซีเมนต์ความหนาแน่นต่ำ และไม้สักเก่า ตัวหลังคานั้นมุงด้วยลำต้นยูคาลิปตัสในแนวตั้งเพื่อช่วยระบายอากาศ ก่อนจะปูทับด้วยใบอ้อยเพื่อป้องกันแดดอันร้อนระอุและฝนกระหน่ำ “การนำวัสดุที่แทบไม่มีราคามาเปลี่ยนเป็นอาคารที่สวยและใช้งานได้จริง คือสิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับเราในฐานะสถาปนิก” ฆวนกล่าว

ศูนย์เยาวชนที่หัวฝายนั้นได้รับคำชมจากนิตยสารด้านสถาปัตยกรรมระดับโลกแทบทุกฉบับ รวมไปถึง Arch Daily, Design Boom และ Architect Magazine แม้ค่าใช้จ่ายสุทธิในการก่อสร้างโครงการจะอยู่ที่เพียง 14,000 บาท (ซึ่งคิดเป็นราว 1 ใน 4 ของราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในประเทศไทย) แต่ฆวนเชื่อว่าแนวคิดที่ใช้ในการสร้างศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้จะสามารถนำไปประยุกต์กับโครงการระดับบนกว่าอย่างรีสอร์ทได้ด้วย “งานออกแบบในลักษณะนี้มันให้อารมณ์และสัมผัสแบบที่โครงการอสังหาฯ หลายๆ แห่งมองหาอยู่แล้ว เพียงแต่อาคารแห่งนี้ถูกออกแบบให้เข้ากับสภาพอากาศของประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวยุโรปส่วนใหญ่มองข้าม แถมคุณยังนำไปต่อยอดกับวัสดุประเภทอื่นๆ ได้อีก” เขากล่าว

การจะทำให้โครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ในเมืองได้มาตรฐานอาคารสีเขียวในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนในการสร้างอาคารสีเขียวและการใช้งาน “มันต้องมีโครงการใหญ่ๆ สักโครงการที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบ เดี๋ยวเจ้าอื่นๆ ก็ตามมาเอง” ธันณีกล่าว

หนึ่งในโครงการที่อาจช่วยจุดกระแสโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียวขนาดใหญ่นั้นคือ The Forestias โครงการอสังหาริมทรัพย์มูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาทบนถนนบางนา-ตราด ที่มีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2565 โครงการขนาด 300 ไร่นี้เป็นโครงการที่อยู่อาศัยขนาดมหึมาแห่งแรกที่จะประกอบด้วยพื้นที่สีเขียวถึง 40% และสิ่งก่อสร้างทั้งส่วนที่พักอาศัยและส่วนพาณิชย์ในโครงการจะใช้นวัตกรรมสถาปัตยกรรมสีเขียวที่ออกแบบโดยศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยธวัชชัยและทีเคสตูดิโอเองได้รับมอบหมายให้ช่วยออกแบบพื้นที่สีเขียวภายในโครงการด้วย “หวังว่าโครงการนี้จะช่วยเปลี่ยนมุมมองของคนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในเมืองและสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ เราอยากปลูกฝังความคิดที่ว่าพื้นที่สีเขียวและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและยั่งยืน เราหวังว่ามันจะช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ในบ้านเรา และเมื่อโครงการดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ มันจะเปลี่ยนมุมมองที่คนภายนอกมีต่อประเทศไทย วันหนึ่งโลกอาจจะมองเราในฐานะประเทศสีเขียวก็เป็นได้” ธวัชชัยกล่าว

ดูเหมือนว่าประเทศไทยนั้นมีความพร้อมอยู่แล้วหากจำเป็นต้องประกาศใช้มาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมและลดต้นทุนในการก่อสร้างอาคารสีเขียว และแม้การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คนอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยที่สุดประเทศไทยก็กำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง เราอาจไม่สามารถเปลี่ยนทุกอย่างได้ในพริบตา แต่การค่อยๆ ลงมือเปลี่ยนแปลงไปทีละสิ่ง ก็อาจยกระดับฐานะของประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศ ‘ต้นแบบ’ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังที่คาดหวังไว้ในที่สุด

Essentials


ป่าในกรุง

81 ถนนสุขาภิบาล 2 กรุงเทพฯ

02-136-6380

ศูนย์เยาวชนหัวฝาย

พระธาตุพระแดง อำเภอแม่สอดเชียงราย

Park Ventures Ecoplex

57 ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ

fb.com/ParkVentures.Witthayu

02-764-6241-5

The Forestias

695 ซอยสุขุมวิท 50 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

1265