SECTION
ABOUTFULL FLAVORS
A Roast Supreme
บรรดาโรงคั่วกาแฟขนาดเล็กในประเทศไทยได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ประสบการณ์การดื่มกาแฟแบบ ‘farm-to-cup’ และทำให้วัฒนธรรม
การดื่มกาแฟของเรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
บรรยากาศภายใน Roots Cafe บนถนนสาทรในช่วงบ่ายวันศุกร์นั้นครึกครื้นไปด้วยเสียงสนทนาของเหล่าพนักงานออฟฟิศหนุ่มสาว และบรรดาฮิปสเตอร์ที่ง่วนอยู่กับการถ่ายภาพลงอินสตาแกรม แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงสี่โมงเย็น แต่ภายในร้านกลับมีลูกค้าเนืองแน่น ซึ่งหากใครที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงกาแฟของกรุงเทพฯ จะรู้ว่าร้านกาแฟนั้นอยู่ได้เพราะลูกค้าประจำ และสาขาใหม่ล่าสุดของรูทส์ที่เพิ่งเปิดทำการไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคาเฟ่ที่กำลังเป็นที่นิยมที่สุดในขณะนี้ โดยบรรดาสื่อและเหล่าคอกาแฟมักเรียกที่นี่ว่าเป็น ‘ตัวจริง’ ของแวดวงกาแฟในกรุงเทพฯ
ภายในคาเฟ่แห่งนี้ตกแต่งในสไตล์โมเดิร์นและแฝงไว้ด้วยความเรียบหรู แสงธรรมชาติลอดผ่านหน้าต่างบานเกล็ดสูงจรดเพดานเข้ามา ขณะที่เฟอร์นิเจอร์ไม้สีธรรมชาตินั้นช่วยเพิ่มความอบอุ่นและกลิ่นอายแบบสแกนดิเนเวียนอย่างลงตัว ที่นี่ไม่มีโซฟาบุนวมหรือชั้นหนังสือหน้าตาวินเทจให้เห็น ด้วยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของทางร้านคือเหล่าคนกรุงรุ่นใหม่ที่รู้ถึงคุณค่าของกาแฟที่ชงอย่างพิถีพิถัน และเลือกที่จะดื่มด่ำกับรสชาติท่ามกลางสิ่งรบกวนน้อยที่สุด กระนั้น ร้านกาแฟแห่งนี้ก็ยังคงรักษากลิ่นอายความเป็นไทยไว้ด้วยการเลือกใช้เฉพาะเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ไทย 100% แปลว่าผู้มาเยือนจะได้สัมผัสประสบการณ์แบบ ‘farm-to-cup’ ในทุกแก้ว “มีคนมักติดภาพว่ากาแฟไทยเป็นของไม่ดี กระทั่งคนไทยเองก็คิดแบบนั้น แต่เดี๋ยวนี้มีกาแฟไทยดีๆ ให้เลือกเยอะขึ้น เพียงแค่ตอนนี้เรายังไม่สามารถผลิตในปริมาณมากพอ ขณะที่กาแฟไทยที่ดีจริงๆ ก็ยังไม่ถึงขั้นดีที่สุดในโลก” วรัตต์ วิจิตรวาทการกล่าว เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังทั้งรูทส์และแบรนด์ฝาแฝดอย่าง Roast
โรงคั่วกาแฟขนาดเล็กอย่างของวรัตต์นั้น บ่อยครั้งจะลงไปทำงานกับเกษตรกรไทยทางภาคเหนือโดยตรง โดยสนับสนุนให้เกษตรกรเหล่านี้หันมาเพาะปลูกสายพันธุ์กาแฟคุณภาพสูง เพื่อให้ตอบรับกับผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นที่มองหากาแฟชั้นยอดและมีเอกลักษณ์เฉพาะ นับเป็นเวลาหลายสิบปีที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่พึงพอใจกับกาแฟ ‘โรบัสต้า’ ซึ่งเป็นสายพันธุ์กาแฟเกรดท้องตลาดที่ปลูกตามภาคใต้ของประเทศไทย โดยเมล็ดกาแฟดังกล่าวจะถูกคั่วจนไหม้เพื่อกลบตำหนิบนเมล็ด และมักเสิร์ฟพร้อมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานอื่นๆ ในปริมาณมาก
แน่นอนว่า เหล่าคนรักกาแฟจำนวนหนึ่งไม่พอใจจะหยุดเพียงเท่านี้ และพยายามเสาะหาเมล็ดพันธุ์กาแฟชั้นยอดจากแหล่งต่างๆ มาสร้างสรรค์เป็นกาแฟแก้วโปรด โดยเมล็ดกาแฟจากเคนยา โคลัมเบีย และบราซิลมักเป็นที่นิยมเป็นลำดับต้นๆ ในหมู่คอกาแฟ แม้กระทั่งในยามที่ภาษีเมล็ดกาแฟดิบนำเข้านั้นสูงถึงร้อยละ 90 หรือมากกว่าก็ตาม อย่างไรก็ดี สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อมีการค้นพบว่าบรรดาเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าชั้นดีนั้นสามารถปลูกขึ้นตามเทือกเขาทางภาคเหนือของไทย อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย นับแต่นั้นมา บรรดาโรงคั่วกาแฟก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดเฉพาะกลุ่มสำหรับพืชเศรษฐกิจดังกล่าว โดยมีคาถากล่อมเกษตรกรอยู่สั้นๆ บทเดียวว่า “ถ้าลุงปลูก เดี๋ยวผมซื้อ”
หากพูดถึงการผลิตกาแฟชั้นเยี่ยมแล้ว ประเทศไทยนั้นสามารถทำทุกอย่างได้ครบวงจร นับตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกไปจนถึงการชงและเสิร์ฟกาแฟหอมกรุ่น รวมทั้งยังทำได้ดีเสียด้วย แต่แน่นอนว่าคุณภาพนั้นมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย เพราะแม้จะใช้เมล็ดกาแฟที่ปลูกเองในประเทศ แต่โดยทั่วไปแล้ว เกษตรกรชาวไทยจะได้รับเงินจากการปลูกและขายเมล็ดกาแฟมากกว่าเกษตรกรในเคนยาหรือโคลัมเบีย เจ้าของร้านกาแฟหรือโรงคั่วที่ต้องการเมล็ดกาแฟชั้นเยี่ยมต้องยอมทุ่มจ่ายเพื่อให้เกษตรกรยอมปลูกกาแฟสายพันธุ์พิเศษต่างๆ อาทิ ‘เกอิชา’ สายพันธุ์กาแฟชั้นยอดจากเอธิโอเปียที่มักให้ผลผลิตน้อยเมื่อเทียบกับแรงและเวลาที่ลงไป
ข้อเท็จจริงหลายประการบ่งชี้ว่าประเทศไทยนั้นเปี่ยมด้วยศักยภาพในฐานะแหล่งเพาะปลูกกาแฟ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอย่างปานามา ซึ่งเข้ามาโลดแล่นอยู่ในตลาดกาแฟโลกได้ไม่นานนั้น ทำเลที่ตั้งของประเทศไทยจัดว่ามีความเหมาะสมกว่าในการเพาะปลูกกาแฟ และปัจจุบันสามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟได้ในปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งประเทศไทยไม่ให้ก้าวไปเฉิดฉายในตลาดโลกสรุปได้ว่าเป็นเพราะปัจจัยเรื่องอุปสงค์ อุปทาน และทัศนคติ
เจ้าของร้านกาแฟหรือโรงคั่วที่ต้องการเมล็ดกาแฟชั้นเยี่ยมต้องยอมทุ่มจ่ายเพื่อให้เกษตรกรยอมปลูกกาแฟสายพันธุ์พิเศษต่างๆ อาทิ ‘เกอิชา‘ สายพันธุ์กาแฟชั้นยอดที่ให้ผลผลิตน้อยเมื่อเทียบกับแรงและเวลาที่ลงไป
โดยทั่วไปแล้ว ประมาณ 95% ของปริมาณเมล็ดกาแฟที่ผลิตได้นั้นจะถูกซื้อขายเพื่อการบริโภคภายในประเทศไทย โดยผู้ซื้อต่างชาติมักไม่สนใจซื้อเมล็ดกาแฟส่วนที่เหลือ เนื่องจากมองว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่ไม่มีการควบคุมเพียงพอ และเมล็ดกาแฟที่ผลิตได้นั้นจัดอยู่ในเกรดธรรมดาเมื่อเทียบกับราคาเพราะอัตราค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าและผลผลิตที่จำกัด กระนั้น สถานการณ์อาจเปลี่ยนไปหากผู้คนได้รับรู้เกี่ยวกับไร่กาแฟเล็กๆ จำนวนหนึ่งทางภาคเหนือซึ่งผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพเยี่ยม
“เราเพิ่งไปน่านมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกษตรกรที่เราทำงานด้วยปลูกกาแฟที่ได้คะแนนระหว่าง 91 ถึง 92 คะแนนจากมาตรฐานสากลคิว เกรดเดอร์ ขณะที่กาแฟทุกตัวที่เราเสิร์ฟที่รูทส์นั้นได้คะแนนอย่างน้อย 84 ถึง 85 คะแนน ซึ่งอาจจะสูงกว่ากาแฟจากบราซิล นิคารากัว คอสตาริกา หรือกัวเตมาลาด้วยซ้ำ” วรัตต์กล่าวถึงระบบที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย Specialty Coffee Association of America (SCAA) ซึ่ง Q Grader นั้นจะให้ประเมินคุณภาพกาแฟจากคะแนนเต็ม 100 เพื่อจำแนกว่ากาแฟตัวไหนเป็นกาแฟชนิดพิเศษ
ที่โรงคั่วของเขาในย่านเอกมัย วรัตต์และทีมต้องช่วยกันคั่วเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ไทยจำนวนกว่าสองตันในแต่ละเดือน ปัจจุบัน พวกเขากำลังมุ่งเดินหน้าขยายสาขา โดยคาดว่าจะเปิดตัวร้านใหม่ภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งยังมีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 2-3 แห่งในอนาคตอันใกล้
ขณะที่รูทส์กำลังเดินหน้าขยับขยายกิจการ ร้านกาแฟยอดนิยมอย่าง Ceresia ก็ได้ปิดสาขาในย่านศาลาแดงลง ทำให้เหลืออยู่เพียงสาขาเดียวตรงซอยสุขุมวิท 33/1 ซึ่งเป็นทั้งร้านขายกาแฟและโรงคั่วกาแฟในตัว ภายในคาเฟ่กำแพงสีขาวหน้าตามินิมัลแห่งนี้ มีเมล็ดกาแฟนำเข้าที่เพิ่งคั่วใหม่ๆ วางขายอยู่บนชั้นเคียงคู่กับเมล็ดกาแฟไทยชั้นดี ตรงเคาท์เตอร์ด้านหน้ามีขนมปังอบสดใหม่วางอยู่เรียงราย
การิน อัศวเรืองชัย คือหัวหน้าโรงคั่วและเจ้าของร้านร่วมกับลูเซีย ภรรยาชาวเวเนซูเอล่าของเขา เมื่อ 5 ปีก่อน สมัยที่เขาและลูเซียผู้ซึ่งเติบโตมาในไร่กาแฟของครอบครัว ตัดสินใจเข้ามาตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ การจะหาเมล็ดกาแฟชั้นดีที่คั่วอย่างถูกวิธีนั้นทำได้ยากยิ่ง พวกเขาจึงตัดสินใจเปิดโรงคั่วของตัวเอง “เราเล็งเห็นโอกาส เราเป็นแค่โรงคั่วเล็กๆ แต่แค่นี้ก็พอแล้ว เราไม่ได้อยากคั่วกาแฟคราวละมากๆ อย่างในโรงงาน” การินกล่าว พร้อมเสริมว่าทุกวันนี้ เขาใช้เวลาคั่วกาแฟ 2 ถึง 3 วันต่อสัปดาห์ และผลิตกาแฟได้ราว 400 ถึง 500 กิโลกรัมต่อเดือน
หากเป็นเรื่องกาแฟไทยแล้ว การินมองว่าหัวใจสำคัญคือการคัดสรรเมล็ดกาแฟที่ปลูกโดยใช้กรรมวิธีธรรมชาติมากที่สุด “พวกเราเลือกซื้อเฉพาะจากไร่ที่ปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ตอนนี้ที่เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่านมีไร่กาแฟเป็นร้อยๆ แห่ง มันกลายเป็นทั้งกระแสและโอกาสสำคัญเพราะตลาดที่นี่กำลังเติบโต แต่เมล็ดกาแฟสายพันธุ์พิเศษนั้นยังไม่ค่อยมีคนปลูกเท่าไร เราพยายามหาซื้อเมล็ดกาแฟที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้”
หนึ่งในแหล่งผลิตกาแฟซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของโรงคั่วอย่างเซเรเซียและรูทส์ คือ ‘ขุนลาว’ หมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเชียงใหม่และเชียงราย
หนึ่งในแหล่งผลิตกาแฟซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของโรงคั่วอย่างเซเรเซียและรูทส์คือ ‘ขุนลาว’ หมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเชียงใหม่และเชียงราย “ไร่กาแฟที่ขุนลาวสวยมาก แต่ละครอบครัวจะมีไร่เป็นของตัวเอง สมัยก่อนพวกเขาปลูกพืชผักผลไม้ แต่เดี๋ยวนี้หันมาปลูกกาแฟแทน อันเป็นผลจากการให้ความสนับสนุนของโครงการหลวง” การินเล่า
โรงคั่วอย่างเซเรเซียนั้นกำลังช่วยพัฒนาผลผลิตของเกษตรกร โดยการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟสายพันธุ์พิเศษ นับตั้งแต่วิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการคัดแยกเมล็ดพันธุ์ ผ่านการทำงานร่วมกับสหกรณ์ต่างๆ อาทิ Thai High Coffee
สำหรับ Red Diamond โรงคั่วกาแฟเล็กๆ ในย่านรามอินทราและ MiVana โรงคั่วในจังหวัดสมุทรปราการนั้น การมีทำเลที่ตั้งอยู่ไกลจากใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้โรงคั่วทั้งสองแห่งไม่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด กระนั้น โรงคั่วอย่าง Brave Roasters ก็เลือกเปิดโรงคั่วกาแฟอีกแห่งของตนในซอยปรีดี พนมยงค์ 42 ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากย่านธุรกิจ โดยทำหน้าที่คั่วเมล็ดกาแฟกว่าครึ่งตันต่อเดือน ทำให้ซอยเล็กๆ แห่งนี้อบอวลไปด้วยกลิ่นกาแฟหอมกรุ่นตลอดทั้งบ่าย
เบรฟ โรสเตอร์ดำเนินกิจการมาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว โดยมีเอกเมธ วิภวศุทธิ์ และ สรศักดิ์ จันทรมัณฑนา เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ทั้งคู่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเด็กๆ และปัจจุบันได้มีโอกาสลงไปคลุกคลีกับการคั่วกาแฟอยู่โดยตลอด เมล็ดกาแฟจากโรงคั่วของพวกเขาจะถูกส่งไปยังคาเฟ่และร้านอาหารต่างๆ ซึ่งรวมถึงร้านอาหารในเครือ Water Library Group และคาเฟ่แฟล็กชิปของพวกเขาอย่าง One Ounce for Onion ที่เอกมัยและ I+D Style Cafe X Brave Roasters ตรงสยามดิสคัฟเวอรี่พวกเขาจะใช้กาแฟสายพันธุ์ไทยและต่างชาติเป็นสัดส่วน 60 ต่อ 40 โดยเมล็ดกาแฟไทยนั้นจะคัดสรรจากไร่หลักๆ สองแห่งในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย “เราเริ่มต้นจากโรงคั่วกาแฟขนาดเล็ก แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว การคั่วกาแฟทีละน้อยไม่ได้ทำให้คุณภาพเมล็ดกาแฟออกมาดีกว่าเสมอไป ผมว่ามันเป็นเรื่องของทัศนคติ ความรู้ เทคนิค ประสบการณ์ และวัตถุดิบด้วย” เอกเมธอธิบาย
ทั้งนี้ ในการแปรรูปเมล็ดกาแฟ ซึ่งเป็นขั้นตอนระหว่างการเก็บเกี่ยวและการคั่วนั้นถือเป็นกระบวนการที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง “เราใช้วิธีการแปรรูปกาแฟหลักๆ อยู่ 3 ประเภท คือกรรมวิธีแบบเปียก แบบแห้ง และแบบน้ำผึ้ง ซึ่งทั้งหมดจะทำที่ไร่” เอกเมธอธิบายถึงกรรมวิธีการแปรรูปเมล็ดกาแฟแบบต่างๆ ซึ่งคำว่า ‘น้ำผึ้ง’ นั้นหมายถึงเมือกกาแฟที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการแปรรูปซึ่งมีลักษณะเป็นหนืดคล้ายน้ำผึ้ง เขายังกล่าวต่ออีกว่า ความพิถีพิถันในแต่ละขั้นตอนจะช่วยดึงจุดเด่นของเมล็ดกาแฟแต่ละสายพันธุ์ออกมา รวมทั้งยังเป็นตัวกำหนดคุณภาพเมล็ดกาแฟ เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่มีโรงคั่วใดสามารถทำให้เมล็ดกาแฟที่แย่กลับขึ้นมาดีได้
โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนที่วนเวียนอยู่ในธุรกิจการคั่วกาแฟสายพันธุ์พิเศษในกรุงเทพฯ มักมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้เล่นรายหลักๆ ซึ่งมักรู้จักหน้าค่าตาและให้การสนับสนุนความพยายามของกันและกันอย่างต่อเนื่อง จริงอยู่ที่ในการทำธุรกิจย่อมมีการแข่งขัน แต่เกือบทุกคนก็เห็นพ้องกันว่า ยิ่งประเทศไทยมีฐานลูกค้าที่เข้าใจเรื่องกาแฟมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมกาแฟในวงกว้างเท่านั้น นอกจากนี้ เจ้าของโรงคั่วกาแฟที่นี่ส่วนใหญ่ยังเป็นสมาชิกของสมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) ซึ่งก่อตั้งมาเป็นเวลาประมาณ 3 ปีแล้ว และมีจุดมุ่งหมายในการยกระดับกาแฟไทย
“เราอยากมาแบ่งปันความรู้ ที่นี่เรามีสมาชิกกว่า 2,000 คน รวมไปถึงคณะผู้บริหารอีก 9 คน ซึ่ง 3 คนในนั้นเป็นผู้ตรวจสอบของคิว เกรดเดอร์ เราอยากสร้างมาตรฐานบางอย่างขึ้นเพื่อจำแนกกาแฟคุณภาพสูง เราจึงนำมาตรฐานการให้คะแนนของคิว เกรดเดอร์ มาใช้” ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ต่างประเทศของสมาคมกาแฟพิเศษไทยอธิบาย เธอกล่าวว่าหน้าที่หลักของทางสมาคมคือการให้ข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่สำคัญ รวมไปถึงการจัดสัมมนา การจัดโรดทริป การจัดคอร์สอบรม และการมอบส่วนลดพิเศษให้กับสมาชิก นอกเหนือจากงานที่สมาคม ณัฏฐ์รดายังดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Bluekoff ผู้ผลิตกาแฟสายพันธุ์พิเศษรายใหญ่ซึ่งมีลูกค้ากว่า 6,000 ราย (โดยผู้ก่อตั้งบลูคอฟฟ์นั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสมาคมกาแฟพิเศษไทยด้วย)
ถัดขึ้นมาในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตกาแฟสำคัญ ดัสติน โจเซฟ ชายชาวอเมริกันได้เลือกที่นี่เป็นทำเลที่ตั้งของ Left Hand Roasters โรงคั่วกาแฟขนาดเล็กที่ใช้เทคนิคและอุปกรณ์คั่วกาแฟที่คิดค้นขึ้นเอง “วิธีคั่วกาแฟของผมไม่เหมือนคนอื่น เพราะผมไม่เคยฝึกแบบเป็นกิจจะลักษณะมาก่อน ผมหันมาสนใจการคั่วกาแฟเพียงเพราะพ่อผมที่เป็นวิศวกรนั้นออกแบบและสร้างเครื่องคั่วกาแฟให้ผม” ดัสตินเล่า
ประสบการณ์ในฐานะเชฟทำให้ดัสตินเข้าใจถึงกระบวนการสกัดรสชาติเป็นอย่างดี และยังย้ำอีกว่าขณะที่ผู้ผลิตกาแฟไทยอาจเสียเปรียบกว่าเมื่อเทียบกับเกษตรกรในพื้นที่ที่มีดินภูเขาไฟอย่างเกาะฮาวายหรือชวา แต่ก็มีอีกหลายแง่มุมที่ทำให้กาแฟไทยต่างจากที่อื่นๆ “หลายคนคิดว่าแม่ฮ่องสอนอาจเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่ดีที่สุดก็เป็นได้ เพราะกาแฟที่ปลูกในบางพื้นที่จะมีกลิ่นดอกไม้เจือปน ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะการปลูกฝิ่นมาเป็นเวลายาวนานย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพของดินและรสชาติของกาแฟในพื้นที่บ้างไม่มากก็น้อย” ดัสตินกล่าวถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งในอดีตเคยเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชตระกูลฝิ่นที่สำคัญ
นอกจากนี้ ดัสตินยังเล่าถึงเทคนิคและวิธีการแปรรูปและบ่มกาแฟใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงกรรมวิธีการหมักแบบ ‘มาโลแลคติก’ ซึ่งใช้ยีสต์และแบคทีเรียในการปรับแต่งรสชาติและระดับความเป็นกรด เนื่องจากกาแฟไทยนั้นเป็นที่รู้กันว่ามีความเป็น กรดสูง
ในที่สุด แนวคิดเรื่องการเก็บภาษีสินค้านำเข้านั้นยังเป็นอีกประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย กฎหมายเหล่านี้มีขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการสร้างงานภายในประเทศ แต่ส่งผลข้างเคียงทำให้ผลิตภัณฑ์บางอย่างมีราคาสูงเกินไปสำหรับผู้บริโภค กระนั้น สิ่งที่น่าแปลกคือ ความไม่เสรีของตลาดได้ทำให้อุตสาหกรรมกาแฟไทยพัฒนาโครงสร้างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นมา นับตั้งแต่ไร่กาแฟ โรงคั่ว ไปจนถึงตัวบาริสต้า อย่างเช่นข้อเท็จจริงที่ว่า จำนวนกาแฟที่ไทยผลิตได้นั้นถูกใช้ไปกับการบริโภคภายในประเทศมากกว่าการส่งออก จนพูดได้เต็มปากว่าเป็นกาแฟที่ผลิตขึ้นเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ
หากโดยโชคชะตาอันประหลาด แวดวงกาแฟที่นี่ยังสามารถเติบโตไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ถูกบั่นทอนด้วยกลไกตลาดที่ถูกบิดเบือน เป็นไปได้ว่าวงการกาแฟไทยที่เข้มข้นอยู่ด้วยความเป็นไทย อาจมีอะไรน่าสนใจตามมาได้อีกเยอะเลยทีเดียว ■
Essentials
Left Hand Roasters