HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THINKING BIG


E-Gold Rush

ความนิยมแบบพุ่งพรวดของอีสปอร์ตกำลังสร้างรายได้งดงามให้กับผู้ที่เล็งเห็นโอกาสทองดังกล่าว

เมื่อสิบปีก่อน หากใครสักคนประกาศกร้าวว่าอยากจะหาเลี้ยงชีพด้วยการเล่นวิดีโอเกม คนส่วนใหญ่คงจะเห็นว่าเป็นเรื่องตลก เพราะเครื่องเล่นเกมเครื่องแรกถือกำเนิดขึ้นในช่วงยุค ’70s ในฐานะกิจกรรมสุดโปรดของเด็กผู้ชายที่ผู้ใหญ่มองว่าไร้สาระ ทว่าหากหันกลับมาพิจารณาแนวโน้มของอุตสาหกรรมเกมในปี 2018 เราจะค้นพบทันทีว่าวันเวลาเหล่านั้นได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว

ใครที่ใช้เวลายามบ่ายวันหนึ่งที่ The Street Ratchada จะเห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่บนชั้น 5 ของศูนย์การค้าแห่งนี้เป็นที่ตั้งของเกมเซ็นเตอร์และสนามแทรมโพลีน แต่เดี๋ยวนี้ บรรดาผู้ปกครองอาจเห็นลูกหลานออกมาเดินเตร่นอกสนามแทรมโพลีน ด้วยทนความอยากรู้จากเสียงกองเชียร์กระหึ่มที่ดังแทรกเสียงระเบิดและเสียงห่ากระสุนออกมาเป็นช่วงๆ ไม่ไหว ผู้รักษาความปลอดภัยต้องทำหน้าที่คอยกันไม่ให้เด็กๆ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เหล่านี้เดินหลุดเข้าไปยังด้านในของสนาม Thailand E-Sports Arena ซึ่งมีแสงไฟสว่างวาบขึ้นเป็นระยะๆ จากภายในสนามซึ่งจอขนาดยักษ์กำลังทำหน้าที่ถ่ายทอดสดฉากจากวิดีโอเกมยอดนิยมอย่าง Overwatch เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (first-person shooter) ซึ่งผู้เล่นจากสองทีมมือวางอันดับต้นๆ ของไทยกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ท่ามกลางกองเชียร์ล้นสนามกว่า 700 คน จนทำให้ส่วนหนึ่งต้องลงไปนั่งบนพื้น ทางด้านข้างสนามมีทีมพากย์เฝ้าบรรยายรายละเอียดที่เกิดขึ้นตลอดการแข่งขัน

สำหรับบรรดาผู้เข้าแข่งขันทั้ง 14 ชีวิต รายการแข่งขันดังกล่าวไม่ได้จัดขึ้นเพียงเพื่อเฉลิมฉลองการเปิดตัวสนามไทยแลนด์ อีสปอร์ต อารีนาเท่านั้น เช่นเดียวกับที่สนามแข่งขันอีสปอร์ตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแห่งนี้เป็นมากกว่าสนามประลองเกมอันหรูหรา เพราะทีมที่สามารถคว้าชัยชนะมาครองสำเร็จ จะได้เป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่มของศึกชิงแชมป์โลก Overwatch World Cup 2018 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เพื่อชิงเงินรางวัลสูงสุดเกือบ 9.6 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมเม็ดเงินสนับสนุนอีกมหาศาลจากเหล่าสปอนเซอร์ที่ต้องการขยายส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุตั้งแต่ 15 ถึง 35 ปี โดยมูลค่าเงินรางวัลนั้นอาจสูงขึ้นหลายเท่าตัวหากเป็นรายการแข่งขันในระดับที่ใหญ่ขึ้น อย่างเงินรางวัลของการแข่งขันโอเวอร์วอช เวิลด์คัพ 2018 นั้นอาจฟังดูธรรมดาไปทันทีเมื่อเทียบกับเงินรางวัลจำนวน 43.3 ล้านบาทของการแข่งขัน Overwatch League ฤดูกาลแรก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอสแอนเจลิสในปีนี้ ขณะที่เกมอื่นๆ อาจมีเงินรางวัลสูงกว่าอีกหลายเท่าตัว อย่างรายการ The International 2017 ซึ่งเป็นการแข่งขันเกม Defense of the Ancients 2 (DOTA2) เพียงรายการเดียวก็แจกเงินรางวัลรวมทั้งสิ้นกว่า 822 ล้านบาทแล้ว โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี คุโร ทากาโซมิ ชายชาวเยอรมันวัย 25 ปี มือวางอันดับหนึ่งของเกมดังกล่าว สามารถคว้าเงินรางวัลในฐานะเกมเมอร์อาชีพไปแล้วทั้งสิ้น 124 ล้านบาท

แวดวงอีสปอร์ตในระดับนานาชาตินั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนอาจสร้างความประหลาดใจให้กับคนที่ไม่ได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงดังกล่าว ในปี 2012 เศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอีสปอร์ตทั่วโลกนั้นมีมูลค่าเพียง 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.3 พันล้านบาท) แต่ภายในปีนี้คาดว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมจะพุ่งไปแตะที่ 908 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) และอาจพุ่งทะยานถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 45,000 ล้านบาท ภายในปี 2020 ขณะที่ยอดผู้ชมอีสปอร์ตทั้งในรูปแบบการรับชมที่สนามจริงและการดูถ่ายทอดสดออนไลน์นั้น คาดว่าภายในสิ้นปี 2018 จะเพิ่มขึ้นเป็น 380 ล้านคน ซึ่งถือว่าสูงขึ้นกว่าปีก่อนราว 69% “ตอนนี้ตลาดพร้อมแล้ว ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอีสปอร์ตกำลังมา ตรงจุดนี้การแข่งเกมนั้นตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่รักการแข่งขันและเติบโตมากับเทคโนโลยี มันมีโอกาสเยอะมากตรงจุดนั้น แค่เราต้องมองให้เห็น” จิรยศ เทพพิพิธกล่าว เขาคือซีอีโอและผู้ก่อตั้งของบริษัท InfoFed ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) และเป็นเจ้าของสนามไทยแลนด์ อีสปอร์ต อารีนา

จิรยศเป็นอดีตสถาปนิกที่มีมุมมองอย่างผู้ประกอบการ เขาไม่พอใจที่ธุรกิจในแวดวงสถาปัตยกรรมนั้นเดินหน้าอย่างเชื่องช้าและไม่มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น เขาจึงหันความสนใจมาที่โลกเทคโนโลยี โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง การได้สัมผัสกับโลกของเกมผ่านอินโฟเฟดทำให้เขาสามารถเข้าใจจังหวะการเติบโตของอุตสาหกรรมอีสปอร์ตได้อย่างลึกซึ้ง และเล็งเห็นว่าประเทศไทยยังขาดแคลนสถานที่อันเหมาะสมซึ่งตอบรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในประเทศ เขาใช้เงินลงทุนเกือบ 33 ล้านบาทเพื่อสร้างสนามแข่งขันเกมในชื่อไทยแลนด์ อีสปอร์ต อารีนา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร โดยยึดแบบแผนจากสนามแข่งขันอีสปอร์ตชั้นนำของโลกในสหรัฐฯ และยุโรป (จนถึงตอนนี้ การแข่งขันอีสปอร์ตในไทยส่วนมากจะจัดตามสถานที่ชั่วคราวในห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์ประชุมต่างๆ) “สถานที่ในลักษณะนี้สำคัญมากในการช่วยผลักดันแวดวงนักแข่งเกมในประเทศ และสนับสนุนให้ผู้ผลิตเกมในประเทศสามารถจัดการแข่งขันของตัวเองในสถานที่ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือครบครันได้ รวมทั้งยังเป็นศูนย์รวมให้เหล่าเกมเมอร์มาพบปะกันและสนุกไปกับ อีสปอร์ตด้วย” จิรยศกล่าว

อนุชาทำรายได้จากการเล่นเกมได้กว่า 7.6 ล้านบาท โดยปัจจุบันเขามีอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น

ในแต่ละวงการย่อมมี ‘ดาวเด่น’ ของตัวเอง และในกรณีของอีสปอร์ตนั้นคือเหล่า ‘โปรเพลเยอร์’ หรือนักเล่นเกมอาชีพซึ่งคิดเป็นจำนวนน้อยกว่า 1% ของชุมชนคนเล่มเกมทั้งหมด ทุกประเทศล้วนมีดาวเด่นด้านอีสปอร์ต และที่ไทยนั้นนำทัพโดยอนุชา จิระวงค์ หรือ Jabz ซึ่งเป็นฉายาในเกมของเขา เขาเป็นผู้เล่นอันดับหนึ่งของประเทศในการจัดอันดับ DOTA2 และเป็นนักแข่งอีสปอร์ตที่โด่งดังที่สุดอีกด้วย ชื่อเสียงและความสามารถของเขาทำให้เขาได้เข้าร่วมทีมระดับโลกอย่าง Faceless ก่อนจะย้ายมาสังกัดทีม Mineski จนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาเดินสายกวาดรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันต่างๆ มาแล้วทั่วทั้งเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ ตลอดระยะเวลา 4 ปีในวงการอีสปอร์ต อนุชาทำรายได้จากการเล่นเกมได้กว่า 7.6 ล้านบาท โดยกว่า 88% นั้นทำได้จากการแข่งขันใน 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา โดยปัจจุบันเขามีอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น “การจะเป็นโปรระดับนี้ได้คุณต้องมีวินัยสูง ปกติเราฝึกซ้อมตั้งแต่เที่ยงวันยัน 5 ทุ่ม ทำแบบนี้ทุกวัน แม้แต่ในวันที่รู้สึกไม่อยากซ้อม ก็ต้องกัดฟันทำ ไม่ใช่แค่เล่นสนุกๆ” เขากล่าว

ความโหดของอาชีพเกมเมอร์นั้นมีให้เห็นอยู่ตลอด ในสารคดี The Hax Life ของปี 2010 ปรากฏภาพของกลุ่มเกมเมอร์ชาวเกาหลีซึ่งกำลังเล่นเกม Star Craft (เกมแนววางแผนที่ใช้กองทัพแห่งโลกอนาคตสู้กัน) และสาธิตการเล่นเกมโดยมี actions-per-minute หรืออัตราการกดเพื่อออกคำสั่งต่อนาทีอยู่ที่ 300 ครั้ง (แปลว่าต้องกดแป้นพิมพ์ให้ได้ 5 ครั้งต่อวินาที) ซึ่งเป็นคุณสมบัติขั้นแรกสุดที่เหล่าเกมเมอร์ทุกคนจำเป็นต้องมีหากอยากได้รับพิจารณาเข้าร่วมทีม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกมเมอร์หลายรายจะใช้เวลาฝึกซ้อมกว่า 10 ถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน

ปัจจัยเรื่องอายุก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ เหล่าโปรเพลเยอร์นั้นมี ‘อายุขัย’ ในสายงานของตัวเองสั้น หลายคนเริ่มต้นอาชีพตั้งแต่วัยเรียน และโปรเพลเยอร์ที่อายุ 27 ปีขึ้นไปมักจะถูกมองว่า ‘แก่เกินไป’ ขณะที่ผู้เล่นในวัยเรียน ปัจจัยต่างๆ อาทิ การแบ่งเวลาให้กับเรื่องเรียน การได้รับความยอมรับจากครอบครัว และแรงกดดันจากทีมให้เล่นได้ดี ถือเป็นต้นเหตุความเครียดที่วัยรุ่นจำนวนมากไม่พร้อมจะรับมือ “หลายคนทนต่อแรงกดดันไม่ไหว เลยเลิกเล่นไป ไหนจะแรงกดดันจากครอบครัวเรื่องผลการเรียน ไหนจะแรงกดดันจากทีมว่าต้องเล่นให้ดี ไม่อย่างนั้นก็เสี่ยงโดนโทษว่าเป็นตัวถ่วง” ภาพิมล อิทธิเกษมหรือ Miffy กล่าว หญิงสาววัย 23 ปีรายนี้คือโปรเพลเยอร์ RoV ผู้ซึ่งมี IT City เป็นสปอนเซอร์

ภาพิมลเป็นนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเร็วๆ นี้ ทีม IT City Bacon ของเธอ (ซึ่งตอนแรกเป็นเพียงชื่อที่ตั้งขึ้นสนุกๆ) สามารถคว้าเงินรางวัล 3 ล้านบาทจากการแข่งขัน Ivy Pro League ในประเทศไทย เช่นเดียวกับนักเล่นเกมมืออาชีพอีกเป็นจำนวนมาก อุปสรรคใหญ่หลวงที่สุดในช่วงต้นของอาชีพเกมเมอร์สำหรับภาพิมลนั้น ไม่ใช่การหาจุดสมดุลระหว่างการเรียนและการฝึกซ้อม แต่เป็นการทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าการเล่นเกมไม่ใช่เรื่องไร้สาระหรือเสียเวลา “ตอนที่หันมาเริ่มจริงจัง เราต้องเพิ่มเวลาฝึกซ้อมขึ้นหลายเท่าตัว ตอนนั้นพ่อแม่ไม่ยอมรับเลย ท่านคิดว่ามันเป็นเรื่องเสียเวลาและคิดว่าเราควรตั้งใจเรียน เราต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่สักพักกว่าที่ท่านจะยอมรับว่ามันเป็นเส้นทางชีวิตที่นำไปสู่ความสำเร็จได้เหมือนกัน” เธอเล่า

ประเด็นความขัดแย้งระหว่างการแบ่งเวลาสำหรับการเรียนและการเล่นเกมดูจะทุเลาลงเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยความช่วยเหลือจากจิรยศมหาวิทยาลัยหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เริ่มเปิดสอนอีสปอร์ตเป็นวิชาเอก เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจถึงตื้นลึกหนาบางของธุรกิจดังกล่าว รวมทั้งสอนวิธีการสร้างแบรนด์ของตัวเองในโลกเกมเมอร์ด้วยการถ่ายทอดสดขณะตัวเองเล่นเกมผ่านช่องทางออนไลน์ “อาชีพนี้สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำถ้าคุณรู้วิธี อย่างนักพากย์เกมและสตรีมเมอร์นั้นสามารถทำเงินได้สูงถึง 1 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่นั้นถือว่าน่าดึงดูดใจกว่างานประจำที่เงินเดือนเริ่มต้น 2 หมื่นบาท เรากำลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่เหล่านี้” จิรยศกล่าว

อัตราการกดเพื่อออกคำสั่งต่อนาทีอยู่ที่ 300 ครั้ง (แปลว่าต้องกดแป้นพิมพ์ให้ได้ 5 ครั้งต่อวินาที) ซึ่งเป็นคุณสมบัติขั้นแรกสุดที่เหล่าเกมเมอร์ทุกคนจำเป็นต้องมีหากอยากได้รับพิจารณาเข้าร่วมทีม

แม้จุดสนใจของอีสปอร์ตจะหนีไม่พ้นบรรดาโปรเพลเยอร์ซึ่งเป็นมือวางอันดับต้นๆ ของวงการ แต่รากฐานสำคัญของธุรกิจดังกล่าว นั้นคือนักพากย์และ ‘สตรีมเมอร์’ โดยนักพากย์เกมจะทำหน้าที่คล้ายกับนักพากย์ในกีฬาฟุตบอล พวกเขาจะเฝ้าคอยบรรยายการแข่งขันแบบวินาทีต่อวินาทีอยู่ตรงขอบสนาม ซึ่งจะถูกถ่ายทอดสดไปทั่วทั้งสนามรวมทั้งบนอินเทอร์เน็ต และผู้เข้าแข่งขันจะต้องสวมหูฟังตัดเสียงรบกวนภายนอก เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่ต่อสู้เนื่องจากได้ยินเสียงพากย์ระหว่างแข่ง ส่วนสตรีมเมอร์หรือ ‘นักแคสเกม’ นั้นหมายถึงผู้ที่ใช้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ Twitch, YouTube และ Facebook เพื่อถ่ายทอดสดตัวเองขณะเล่นเกมพร้อมกับให้คำแนะนำต่างๆ ไปด้วย

นักพากย์เกมมือวางอันดับต้นๆ ของประเทศ ณ เวลานี้ คงหนีไม่พ้นกิติภัทร กาญจนาพิพัชร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Cyberclasher กิติภัทรวนเวียนอยู่ในแวดวงเกมเมอร์ของไทยมากว่า 10 ปีแล้ว เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำและทนรับงานฟรีแลนซ์รายได้ต่ำอยู่หลายปีกว่าจะก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงในวงการ ปัจจุบัน เขากลายเป็นนักพากย์เกมที่เป็นที่จดจำมากที่สุดในประเทศ และได้รับเชิญไปร่วมพากย์ในรายการแข่งขันระดับโลกต่างๆ อยู่เป็นประจำ เช่น The International 2017 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกา แม้แวดวงอีสปอร์ตในประเทศไทยนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่กิติภัทรก็มองว่าคนไทยยังต้องมีความเข้าใจถึงศักยภาพของสายอาชีพดังกล่าวมากกว่านี้ หากหวังจะเห็นแวดวงอีสปอร์ตประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง “อีสปอร์ตที่นี่ก็คล้ายๆ กับฟุตบอล เรามีผู้ชมจำนวนมาก แต่มีน้อยคนที่คิดจะยึดเป็นอาชีพ ถ้าอยากให้มันประสบความสำเร็จจริงๆ ประเทศไทยต้องมีผู้เล่นที่โด่งดังไประดับโลกสักคนมาช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เล่นรุ่นใหม่ๆ แถมบริษัทที่นี่ส่วนใหญ่ก็สร้างโอกาสทางธุรกิจจากกีฬาดังกล่าวไม่เก่งนัก ทำให้โอกาสทำเงินของเกมเมอร์และเหล่าสตรีมเมอร์ลดลงไปด้วย” เขากล่าว

แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนไปเพราะแพลตฟอร์มถ่ายทอดสดเกมอันดับหนึ่งของโลกอย่าง Twitch ซึ่งถูก Amazon ซื้อไปเมื่อปี 2014 ด้วยมูลค่า 970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท) บริการดังกล่าวได้เปิดตัวในไทยไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย และเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกว่าเป็นผู้บุกเบิกรูปแบบการบริจาคเงินแบบ ‘ผู้ใช้สู่ผู้ใช้ (user to user)’ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ใช่ผู้เล่นมือวางอันดับต้นๆ สามารถสร้างรายได้จากการเล่นเกมได้ โดยผู้ใช้จะสามารถจัดรายการของตัวเองผ่านแพลตฟอร์มของทวิตช์ ขณะที่ผู้ชมนั้นสามารถเลือกบริจาคเงินสนับสนุนในจำนวนที่ต้องการระหว่างการสตรีม “เรานำประสบการณ์ระดับโลกมาสู่ประเทศไทย ภารกิจหลักของเราคือการกรุยทางให้กับเหล่าเกมเมอร์เพื่อให้พวกเขาได้แสดงทักษะการเล่นเกมต่างๆ ที่เรียนรู้มาออกสู่เวทีโลก รวมทั้งสร้างรายได้จากมันด้วย” สุรศักดิ์ วินิจ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของทวิตช์กล่าว

ในฐานะอดีตรักษาการนายกสมาคมไทยอีสปอร์ต สุรศักดิ์ถือเป็นบุคคลที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะกุมบังเหียนทวิตช์ในประเทศไทย ปัจจุบัน บริษัทได้จับมือเป็นพันธมิตรกับทีมดาวเด่นในวงการอีสปอร์ตในประเทศไปแล้วจำนวนหนึ่ง อาทิ FPSThailand, MyArena และ Mineski เพื่อช่วยพัฒนาระบบนิเวศสำหรับผู้เล่นอีสปอร์ตในประเทศ ผ่านการจัดอีเวนต์ต่างๆ และการบริหารจัดการผู้เล่น “แวดวงอีสปอร์ตกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คือการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแรง” เขากล่าว

แม้วงการอีสปอร์ตในระดับโลกนั้นจะได้รับความนิยมแบบพุ่งพรวด แต่แทบทุกคนในแวดวงอีสปอร์ตไทยดูจะเห็นพ้องต้องกันว่าชุมชนอีสปอร์ตที่นี่จำเป็นต้องได้รับการเสริมรากฐานให้มั่นคงแข็งแกร่ง “เรามีแผนจะสร้างสถาบันฝึกสอนอีสปอร์ตและสนามแข่งเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ขั้นตอนต่อไปนั้นคือการสร้างลีกที่มีการจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งนั่นจะช่วยสร้างรากฐานให้กับชุมชนอีสปอร์ตในระยะยาว” จิรยศกล่าว

ศักยภาพการเติบโตของกีฬาอีสปอร์ตนั้นเป็นโอกาสที่ยากจะต้านทานไหวสำหรับนักธุรกิจอย่างจิรยศ โดยอีสปอร์ตนั้นได้รับการบรรจุเป็นกีฬาสาธิตในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2018 ไปเป็นที่เรียบร้อย ในขณะที่เกมเมอร์รุ่นใหม่อย่างอนุชาและภาพิมลก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถสร้างรายได้จากกีฬาดังกล่าวได้มากกว่าที่หลายคนอาจทำได้จากการเรียนและการทำงานหลายเท่าตัว ดังที่จิรยศกล่าวไว้ในข้างต้น อีสปอร์ตนั้นตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่รักในการแข่งขันและเติบโตมากับเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว

อย่างที่ไบรอัน คัลเลน นักแสดงตลกชาวอเมริกันเคยกล่าวถึงสงครามแห่งโลกอนาคตไว้ว่า “เหล่าวีรบุรุษสงครามในอนาคตจะเป็นเด็กแว่นผู้คอยบังคับเครื่องบินรบอยู่หลังจอ” หากความรุ่งเรืองของอีสปอร์ตกำลังบอกใบ้อะไรบางอย่างกับเรา ก็เป็นได้ว่าในอนาคตอันใกล้ นักกีฬาระดับชาติของเราก็อาจมีลักษณะเนิร์ดหรือกีคได้ไม่ต่างจากวีรบุรุษสงครามเหล่านั้นนั่นเอง

Essentials


Thailand E-Sports Arena

ชั้น 5 The Street Ratchada ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

fb.com/ThailandeSportsArena

088-018-8888