HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THINKING BIG


Through a Black Hole

สำหรับก้อง-กันตภณ เมธีกุล ศิลปินวัย 28 ปีที่กำลังเป็นที่กล่าวขานในกรุงเทพฯ และนิวยอร์ก การต้องใช้ชีวิตอยู่กับความไม่แน่นอนอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา

เพียงใช้เวลาชั่วครู่อยู่กับก้อง-กันตภณ เมธีกุล ก็จะเห็นว่าเขามีลักษณะของศิลปินนิวยอร์กเกอร์ทุกกระเบียด เขาแต่งกายเรียบๆ ในโทนขาวดำ และไว้ผมสั้นเนี้ยบ บอกใบ้ถึงบุคลิกโลกส่วนตัวสูงที่เจ้าตัวเป็นผู้สารภาพออกมาเอง กระนั้น ด้วยใบหน้าหล่อสะอาดและบุคลิกจริงใจ ทำให้ไม่ใช่เรื่องยากที่กันตภณจะชักนำผู้คนให้เข้าหา ยิ่งเมื่อสนทนาถึงงานศิลป์ด้วยแล้ว ทุกคนจะสัมผัสได้เองว่าความรู้สึกคือพลังที่ ‘ดึงดูด’ เขาไปในทิศทางต่างๆ ไม่ต่างจากหลุมดำ

เช่นเดียวกับอีกหลายศิลปินผู้ไล่ล่าฝันในนิวยอร์ก กันตภณได้แปลงพลังของอารมณ์คุกรุ่นดังกล่าวให้ออกมาเป็นผลงานเฉพาะตัวกล่าวคือตัวละครจากหลุมดำที่สะท้อนเรื่องราวตั้งแต่การเมือง ป๊อบคัลเจอร์ ไปจนกระทั่งแง่มุมจิตวิญญาณของมนุษย์ แต่สิ่งที่อาจพิเศษกว่าอีกหลายศิลปิน คือเขาสามารถเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าวให้เป็นงานศิลปะรายได้งามอีกด้วย ไม่ว่าในนิวยอร์กหรือกรุงเทพฯ แน่นอน ชื่อของเขาอาจยังไม่ถึงกับผูกขาดนิทรรศการศิลปะอย่าง Art Basel แต่กันตภณคือหนึ่งในมือวางทางความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่ต้องสงสัย โดยได้เคยกวาดรางวัลระดับโลกมาตั้งแต่สมัยทำงานให้กับ BBDO Bangkok หนึ่งในเอเจนซีโฆษณาระดับแนวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ชีวิตในเอเจนซีเป็นเพียงอดีตของกันตภณ เพราะเมื่อ 2 ปีที่แล้วเขาเลือกทิ้งงานประจำ เพื่อออกไป ‘เสี่ยง’ ในฐานะศิลปินเต็มตัวที่มหานครนิวยอร์ก

อย่างที่คาดเดาได้ การใช้ชีวิตในฐานะศิลปินเป็นสิ่งที่น่าหวาดหวั่นและเต็มไปด้วยความเครียด เพราะรายได้มักจะน้อยในขณะที่ความสงสัยในตัวเองมักจะมาก กระนั้น เมื่อกันตภณมาถึงนิวยอร์กเป็นครั้งแรก หลุมดำ สตรีทอาร์ต หรือการทำการตลาดเพื่อให้ตัวเองเป็นที่รู้จักและหารายได้ได้กลับไม่ใช่สิ่งแรกที่เขานึกถึง ประเด็นที่เขาต้องใส่ใจเป็นอะไรที่สามัญกว่านั้นมากนัก กล่าวคือจะเดินทางจากย่านอีสต์ บรอดเวย์ไปยังเบดฟอร์ดได้อย่างไรโดยไม่โดนชาวนิวยอร์กเหยียบจมเสียก่อนในรถไฟใต้ดินอันยัดเยียด

“เวลาผมเข้าคิวซื้อสตาร์บัคส์ ผมต้องใช้เวลาคิดอยู่นานกว่าจะสั่งได้ เพราะผมไม่เก่งภาษาอังกฤษ ต้องใช้ชี้ๆ เอา แคชเชียร์ก็ทำท่ารำคาญ คนนิวยอร์กทำอะไรไวกว่าคนกรุงเทพฯ มาก ถ้าคุณหยุดค้างอยู่ในแถวแล้วมัวแต่คิดว่าจะพูดหรือสั่งอะไร เขาจะตะโกน ‘คนต่อไป!’ แล้วข้ามคุณไปเลย”

มองจากระยะห่าง ชีวิตระหกระเหินของกันตภณในนิวยอร์กอาจดูเหมือนเป็นช่วงพลิกผันของชีวิตเขา เพราะย้อนกลับไปราว 3 ปีก่อนหน้า ตอนกันตภณอายุได้เพียง 25 ปี เขาก็เป็นถึงหัวหน้าฝ่ายศิลป์ที่บีบีดีโอ กรุงเทพแล้ว และงานที่เขาทำให้กับสายการบิน Thai AirAsia ก็ได้รับรางวัลจากเทศกาล Cannes Lions International Festival of Creativity ซึ่งอาจเรียกได้ว่าทรงเกียรติสูงสุดสำหรับวงการโฆษณา ขณะที่อีกโปรเจ็กต์ที่ทำให้ LMG Insurance ก็คว้ารางวัลจากหนึ่งในเวทีประกวดโฆษณาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่าง Spikes Asia จนพูดได้ว่า ตอนนั้นเขากำลัง ‘ทะยาน’ อยู่แล้วบนเส้นทางความสำเร็จของอาชีพ โดยไม่ต้องแม้แต่ทิ้งความสบายของบ้านเกิดเมืองนอน

ตอนกันตภณอายุได้ เพียง 25 ปี เขาก็เป็น ถึงหัวหน้าฝ่ายศิลป์ที่ บีบีดีโอ กรุงเทพแล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวกันตภณเอง ชีวิตอันไม่แน่นอนของศิลปินไม่ใช่เรื่องน่ากลัว คอมฟอร์ตโซนอันแน่นอนต่างหากที่อาจเป็นกับดักดึงเขาไว้ โดยเฉพาะในเมื่อเขาเริ่มรู้สึกว่ารางวัลจากเวทีใดก็ดูจะยังไม่อาจเติมเต็มความต้องการอิสระที่จะสร้างสรรค์งานในแบบของตัวเองได้ “ถ้าคุณเป็นเชฟ คุณอาจใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในอาหารที่ปรุงอย่างไรก็ได้ แต่งานโฆษณาทำอย่างนั้นไม่ได้ เวลาอยู่ในเอเจนซี คุณต้องกังวลเรื่องงบ ยอดขาย และมาร์เก็ตติ้ง มันไม่สามารถนอกกรอบได้ทั้งหมด หลังจากชนะรางวัล 3 ปีซ้อน ผมก็คิดว่าได้พิสูจน์ตัวเองบ้างแล้ว พอดีกว่า” เขาเล่า

และหนึ่งเดือนต่อมา กันตภณก็ปรากฏกายอยู่ในนครที่ทุกสิ่งด่วน เดือด ไร้ความปรานี และมากสีสันที่สุดอย่างนิวยอร์ก เดิมทีเขาเช่าอพาร์ทเมนต์อยู่ในเขตบรูคลินและวางแผนเริ่มหาลู่ทางเป็นศิลปินด้วยการเรียนต่อปริญญาโทด้านศิลปะ แต่เมื่อได้เข้าร่วมงานโอเพนเฮาส์ของทางมหาวิทยาลัย เขาก็พบว่าเนื้อหาเป็นไปในเชิงเทคนิคมากกว่าการขัดเกลาตัวตนในฐานะศิลปิน เขาจึงเพียงเลือกเรียนเป็นรายคอร์ส และเบนเข็มเข้าฝึกงานที่ RO New York เอเจนซี่ด้านดีไซน์ซึ่งทำงานให้กับแบรนด์อย่าง Marriott International, Ralph Lauren และ Chopard แต่พบว่า แม้จะเป็นนิวยอร์ก อาชีพในวงการโฆษณาก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์เขาดังเดิมนั่นเอง

ช่วงนั้น ในขณะที่งานของกันตภณเป็นที่ชื่นชอบของเจ้านายและลูกค้า แต่เมื่อเลิกงาน กันตภณกลับมักใช้เวลาอึดอัดอยู่ในอพาร์ทเมนต์ที่บรูคลินเพื่อพยายามสร้างงานที่ตอบต่อเป้าหมายการเป็นศิลปิน “ตอนนั้นผมเปิดดูงานคนอื่น ดูว่าเขาทำอะไรถึงได้ประสบความสำเร็จ แต่ยิ่งดูก็เหมือนยิ่งทำให้เราห่างจากตัวเองเข้าไปอีก คือเราดูแต่ว่าคนอื่นทำอะไร แต่ไม่รู้ว่าตัวเองคืออะไร” ชีวิตของนักล่าฝันที่เขารู้จักหลายคนในนิวยอร์ก ซึ่งต้องลงเอยด้วยการทำงานฟรี เพียงเพื่อจะได้มีผลงานไว้โชว์ในพอร์ตโฟลิโอ ยิ่งทำให้สถานการณ์ดูมืดหม่น “สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับหลายคนที่ไปนิวยอร์กเพื่อวิ่งตามความฝัน ไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จ คุณต้องดิ้นรน ต้องเหนื่อย ต้องอยู่กับความผิดหวัง ตอนนั้นผมนอนไม่หลับเลย คิดว่าตัวเองตัดสินใจผิด และทำร้ายครอบครัวที่ไม่ยอมเรียนปริญญาโท”

แต่ความหมดหวังนี้เองที่ทำให้เขาได้พบกับ ‘หลุมดำ’ ผู้ที่ได้ติดตามอินสตาแกรมหรือมีโอกาสชมนิทรรศการ Life is too short to hate ซึ่งเขาจัดร่วมกับร้าน O.D.S (Objects of Desire Store) ในห้างสยามดิสคัฟเวอรี่ หรือนิทรรศการเดี่ยว Teleport ที่ Warehouse 30 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะนึกถึงหลุมดำได้อย่างชัดเจน เพราะเอกลักษณ์หนึ่งในงานของกันตภณ ก็คือบรรดาตัวละครหรือสิ่งของที่กำลังผลุบโผล่จากประตูห้วงมิติมืดมิด บ่งบอกนัยยะหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับความรู้สึกของตัวเอง มนุษย์กับเพื่อนมนุษย์ หรือมนุษย์กับชีวิตและสังคม ไม่มีใครรู้ว่าก่อนหลุมดำเหล่านี้จะปรากฏอยู่ตามผนังตึกในแมนแฮตตันในฐานะงานศิลป์ที่ได้รับการยอมรับ หลุมดำเป็นเพียงความพยายามบำบัดตัวเองจากความหมดหวังของกันตภณ

“พอพยายามเท่าไหร่ เราก็สร้างงานที่ดีไม่ได้ ก็เลยเลิก คิดว่าพอแล้ว ไม่ทำแล้ว แต่นึกถึงตอนเด็กที่เราเคยวาดรูปเล่นโดยไม่คิดอะไร ก็เลยลองวาดขึ้นมา โดยวาดเป็นหลุมดำ เพราะคิดว่าถึงตัวเราจะหมดหวังไม่มีทางไปแล้ว แต่อย่างน้อยๆ ก็ขอให้ตัวละครของเรามีหลุมดำที่จะพาเขาไปไหนก็ได้ตามที่ต้องการ”

ไม่มีใครรู้ว่าก่อนหลุมดำเหล่านี้จะปรากฏอยู่ตามผนังตึกในแมนแฮตตัน ในฐานะงานศิลป์ที่ได้รับการยอมรับ หลุมดำเป็นเพียงความพยายามบำบัด ตัวเองจากความหมดหวังของกันตภณ

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าเมื่อเขาเอาภาพที่วาดไปพิมพ์เป็นสติกเกอร์สำหรับใช้ลอบแปะตามเสาไฟ ป้ายถนน ขอบประตู และผนังต่างๆ ในเมือง ตามวิถีของศิลปินในนิวยอร์ก ซึ่งยังไม่ยิ่งใหญ่พอจะได้รับอนุญาตให้ระบายสีกำแพงได้แบบถูกกฎหมาย เพียงไม่กี่สัปดาห์ ลายเส้นเรียบง่ายของเขาก็กลายเป็นกระแสครึกโครมในหมู่นิวยอร์กเกอร์ ซึ่งแม้จะไม่เคยรู้จักชื่อเขามาก่อน แต่ก็ต่างถ่ายภาพสติกเกอร์อาละวาดของเขาลงโซเชียล มีเดีย และติดแท็ก @gongkan ตามที่เขาเขียนไว้เล็กๆ บนสติกเกอร์กันถ้วนหน้า ไม่นาน สติกเกอร์บอมบ์ ‘หลุมดำ’ ก็นำเขาไปสู่คำเชื้อเชิญให้แสดงงานในแกลเลอรี และเข้าร่วมโปรเจกต์วาดฝาผนังอย่างเป็นทางการในฐานะศิลปินเต็มตัว “ตามคอนเซปต์ Teleport มันคือการให้คนได้ไปอยู่ในสถานที่ ความรู้สึก หรือโลกที่เขาอยากไป มันคือการให้กำลังใจ ผมว่าสิ่งเหล่านี้อาจตรงใจหลายคนที่ต้องพยายามต่อสู้ในชีวิตในนิวยอร์ก”

กันตภณเพิ่งเดินทางกลับมายังประเทศไทย และกำลังเป็นที่สนใจของสื่อไม่ว่าด้วยพรสวรรค์อันโดดเด่น แง่คิดปลอบประโลมใจในผลงาน ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเป็นคนไทยรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างความสำเร็จด้วย ตัวเองในต่างแดน อย่างไรก็ตาม เมื่อได้พูดคุย จะค้นพบทันทีว่าสำหรับเขา เรื่องราวทั้งหมดไม่ใช่เรื่องของการไปสร้างชื่อในนิวยอร์กมากเท่ากับการได้ค้นหาและทำความรู้จักกับตัวเอง โดยกันตภณรู้สึกขอบคุณนิวยอร์กที่บีบคั้นให้เขาได้หลุดพ้นคอมฟอร์ตโซนอันแสนดึงดูด ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่เขาวางแผนกลับไปนิวยอร์กอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ เขาไม่ได้มีเป้าหมายใดๆ

“ผมแค่พยายามให้เต็มที่ที่สุด แต่ไม่ต้องตั้งเป้า ผมเคยตั้งเป้ามาแล้ว และเห็นว่ามันมีแต่จะทำให้เราทุกข์ โดยเฉพาะที่นิวยอร์ก เราจะสัมผัสได้ถึงพลังของคนรอบตัวที่ต่างพยายามไล่ตามความฝัน แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องรักษาความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้ให้ได้ อย่าเอาเป้า เอามาตรฐานของคนอื่นมาทรมานตัวเอง”

แน่นอน กันตภณอาจไม่ใช่ศิลปินคนแรกที่พูดถึงการซื่อสัตย์ต่อตนเองและคุณค่าของความพยายาม แต่สิ่งสำคัญกว่าแนวคิดเหล่านี้ คือความกล้าในการเอาตัวเองเข้าไปผ่านประสบการณ์จริงๆ โดยไม่ห่วงความสบาย ความกล้านี้นี่เองที่ดึงเขาให้ก้าวเท้าเข้ามาในมหานครนิวยอร์กในวันแรก และกำลังจะดึงเขากลับไปเมื่อเสร็จสิ้นงานนิทรรศการที่กรุงเทพฯ ในต้นเดือนมิถุนายน

ดูเหมือนไม่มีการเดินทางใดที่ไม่ต้องใช้ความกล้า แม้จะเป็นการ Teleport ก็ตาม