HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THINKING BIG


Chasing a Unicorn

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐได้อย่างประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และเหตุผลนั้นยังคลุมเครือ

     โทรทัศน์ในห้องทำงานนั้นส่งเสียงคลออยู่เบื้องหลัง ขณะที่ ‘แจ็ค’ กิตตินันท์ อนุพันธุ์ กำลังเพ่งพิจารณาแผนที่บนจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตที่ตั้งอยู่ข้างตัวเขาแสดงผลตัวเลขและกราฟต่างๆ ขณะที่โทรศัพท์มือถือของเขาสั่นขึ้นเป็นระยะๆ ชายวัย 50 ปีผู้นี้คือซีอีโอของ Anywhere2go บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ประกันภัยที่ผันตัวมาเป็นสตาร์ทอัพ และเป็นที่รู้จักจากแอปพลิเคชันประกันภัย Claim Di เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในตึกออฟฟิศห้าชั้นใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแห่งนี้ และมักขะมักเขม้นอยู่หน้าจอจนถึงราวเกือบสี่ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่มีใครอยู่ในออฟฟิศแล้ว นอกจากพนักงานกะกลางคืน

     เคลมดิคือแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่เปิดตัวขึ้นในปี 2543 เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถทำเคลมประกันภัยได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แอปพลิเคชันดังกล่าวค่อยๆ กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนปัจจุบันบริษัทเอนี่แวร์ ทู โกมีพนักงานกว่า 300 คน และกำลังก้าวพ้นบทบาทการเป็นผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเดิมๆ

     “วิธีนี้คู่แข่งจะไม่มีทางรู้ว่าเรากำลังทำอะไร เหมือนต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาไปเรื่อยๆ เติบโตไปได้หลายทิศทาง และไม่หยุดมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซึ่งนี่คือจุดต่างระหว่างสตาร์ทอัพกับเอสเอ็มอี” กิตตินันท์อธิบาย

     ทว่าการพลิกโฉมวงการประกันภัยรถยนต์ในประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย “ผมทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ นอนคืนละ 5 ชั่วโมง ผมทำแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นเอสเอ็มอี” กิตตินันท์เล่า กระนั้น ภาระงานของเขาก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เมื่อปี 2559 เคลมดิไม่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนรอบซีรีส์ B ซึ่งปกติมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป

     โดยทั่วไป บรรดาสตาร์ทอัพนั้นต้องมองหาแหล่งเงินทุนเพื่อการอยู่รอดและเติบโต ซึ่งจะกระทำผ่านการระดมทุนในระดับต่างๆ นับตั้งแต่ระดับ Pre-seed ซึ่งหมายถึงสตาร์ทอัพที่ยังอยู่ในรูปแบบไอเดีย ไปสู่ระดับ Seed ซึ่งอยู่ในช่วงทดลองตลาด ก่อนจะเข้าสู่รอบซีรีส์ A, B, C และ D ตามลำดับ โดยประเภทของนักลงทุนและระดับการเติบโตของธุรกิจจะผันแปรไปตามการระดมทุนแต่ละรอบ สำหรับในประเทศไทย สตาร์ทอัพด้านฟินเทคอย่างเคลมดิหรือ Finnomena นั้นจัดอยู่ในประเภทซีรีส์ A กล่าวคือ สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าการลงทุนราว 1 - 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสตาร์ทอัพบางแห่งที่ระดมทุนในระดับซีรีส์ B ได้สำเร็จไปแล้ว อาทิ Wongnai และแอปพลิเคชันสำหรับนักลงทุนอย่าง Stockradars จวบจนปัจจุบัน มีเพียง Ookbee หรือร้านหนังสือในรูปแบบดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถระดมทุนในระดับซีรีส์ C ได้สำเร็จ แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดสำหรับสตาร์ทอัพหลายๆ แห่งนั้นคือการก้าวขึ้นไปเป็น ‘ยูนิคอร์น’ ซึ่งเป็นคำเรียกสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

     อย่างไรก็ดี การก้าวขึ้นไปเป็นยูนิคอร์นนั้นไม่ใช่จุดหมายปลายทางเดียวสำหรับสตาร์ทอัพ โดยจะขึ้นอยู่กับ ‘exit strategy’ ของแต่ละบริษัท ซึ่งหมายถึงกรณีที่ผู้ก่อตั้งตัดสินใจขาย ควบรวมกิจการ หรือนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นหลายแห่ง เช่น Grab และ Lazada ทำให้ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงสตาร์ทอัพไทยเริ่มตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงยังไม่มียูนิคอร์นสัญชาติไทยจวบจนปัจจุบัน

     สำหรับตัวกิตตินันท์แล้ว การก้าวขึ้นไปเป็นสตาร์ทอัพมูลค่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขามุ่งหวัง และกล่าวโดยไม่ลังเลว่าสตาร์ทอัพอย่างอุ๊คบีอาจจะไปถึงจุดนั้นได้ แต่สำหรับธุรกิจในรูปแบบ B2B อย่างเขา การจะลอกเลียนความสำเร็จของ Grab หรือ Airbnb นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากทั้งสองบริษัทสามารถขายสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภคโดยตรง ก่อให้เกิดเป็น ‘ระบบนิเวศ’ ที่ใหญ่กว่า ต่างจากกรณีของเขาที่จำนวนผู้ใช้งานในประเทศยังมีไม่มากพอ “เป้าหมายของเราตอนนี้คือการระดมทุนระดับซีรีส์ B ให้สำเร็จภายในปี 2561 และอีก 2-3 ปีข้างหน้า เราอาจจะขายบริษัทให้นักลงทุน” กิตตินันท์กล่าว

     ด้วยความที่กิตตินันท์เกิดในช่วงปลายยุค ‘60s เขาจึงทันได้เห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ทางเทคโนโลยี เขาได้จับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่นแรกๆ ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และยังคงคลุกคลีอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีแม้กระทั่งหลังจบการศึกษาในปี 2532 โดยเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานขายเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ ก่อนจะผันตัวไปสู่ธุรกิจการให้บริการด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งมีลูกค้าหลักๆ เป็นธนาคารและบริษัทประกันภัย เมื่อภาพยนตร์ชุด Star Trek: The Original Series ซึ่งมีนักแสดงนำอย่างวิลเลียม ชาร์ตเนอร์ นั้นออกฉายในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในช่วงปี ‘70s ซีรีส์เรื่องดังกล่าวก็กลายเป็นขวัญใจของกิตตินันท์ในทันที และยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำและเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองในภายหลัง

     “ผมชอบสตาร์เทรคมาก ในหนังคุณจะเห็นกัปตันเคิร์กกับสป็อคเดินผ่านประตูอัตโนมัติ ถ่ายรูปด้วยอุปกรณ์คล้ายสมาร์ทโฟน แล้วคิดดูว่า จู่ๆ วันหนึ่งเทคโนโลยีพวกนี้ก็เริ่มปรากฏในชีวิตจริง วันแรกที่ Palm (ยี่ห้อคอมพิวเตอร์มือถือ) สามารถต่อกับมือถือโนเกียสำเร็จ ตอนนั้นผมทำงานอยู่ที่ธนาคารนครหลวงเดิม ผมรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องออกมาทำธุรกิจเอง” กิตตินันท์เล่า

     หลังจากนั้นไม่นาน กิตตินันท์ได้เปิดบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ของตัวเอง อันเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับวิกฤตต้มยำกุ้งและภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอทคอม เขาใช้เวลากว่า 5 ปีในการพัฒนาซอฟต์แวร์ จนกระทั่งปี 2548 บริษัทจึงเริ่มมีลูกค้ารายแรก ทุกวันนี้ เขายังเก็บรักษาเครื่องปาล์มรุ่นต่างๆ ไว้อย่างดีในตู้กระจกตรงห้องทำงานของเขา ตรงโต๊ะที่กิตตินันท์นั่งทำงานมีโมเดลจำลองยาน USS Enterprise ลำจิ๋ว ตั้งอยู่ หน้าต่างบานใสที่อยู่เยื้องกันมีสติกเกอร์ติดผนังลายซุปเปอร์ฮีโร่แปะอยู่เรียงราย เหล่าชายหญิงในผ้าคลุมและชุดเกราะนี้ ยังเป็นตัวจุดประกายให้เขาสร้างแอปพลิเคชันอย่าง Police I Lert U และ BES I Lert U ซึ่งช่วยให้การเรียกรถตำรวจและรถพยาบาลทำได้รวดเร็วขึ้น

ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นหลายแห่ง ทำให้ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงสตาร์ทอัพไทยเริ่มตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงยังไม่มียูนิคอร์นสัญชาติไทยจวบจนปัจจุบัน

     สำหรับตัวกิตตินันท์แล้ว การสร้างยูนิคอร์นถือเป็นงานหินสำหรับประเทศไทย และอุปสรรคส่วนสำคัญนั้นมาจากภาครัฐ

     “รัฐบาลไม่รู้วิธีสร้างนวัตกรรม พวกเขาพยายามปลูกฝังความเป็นผู้ประกอบการในนักศึกษาไอทีและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพราะเห็นตัวอย่างจากมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แต่ต้องไม่ลืมว่าซักเกอร์เบิร์กเรียนที่มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลก แถมยังเป็นคนที่มีความไฮเปอร์มากกว่าคนทั่วไปมาก” กิตตินันท์กล่าว

     แทนที่รัฐบาลจะหมดงบประมาณ 20,000 ล้านบาทไปกับการแจก ‘คูปองนวัตกรรม’ เขาแนะนำว่าควรให้งบประมาณในลักษณะ Fund of Funds คือให้บรรดานักลงทุนตัดสินใจเอง ว่าจะนำเอาเงินไปลงทุนในสตาร์ทอัพใด แต่กิตตินันท์ก็ยอมรับว่า ก่อนช่วงปี 2557 เขาเองก็ไม่เข้าใจกลไกการทำงานของสตาร์ทอัพ แต่เขาได้รับความช่วยเหลือจากชายผู้ถูกขนานนามว่าเป็น “เจ้าพ่อสตาร์ทอัพเมืองไทย” อย่าง ‘กระทิง’ เรืองโรจน์ พูนผล

     “หลังเราระดมทุนรอบซีรีส์ B ไม่ผ่าน กระทิงก็ส่งรีพอร์ตของบริษัทอีคอมเมิร์ซแห่งหนึ่งมาให้ผมดู ในรีพอร์ตฉบับนั้น สินค้าถูกจำแนกเป็นหน่วยย่อยๆ ตามประเภท ภาชนะบรรจุ หรือสี เป็นต้น ซีอีโอเขาอ่านรายงานพวกนี้ทุกวัน แล้วที่เราพูดถึงคือบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ที่มีสินค้าเป็นแสนเป็นล้านชนิด มันเป็นเหตุผลที่เขาสามารถเติบโตได้แบบพุ่งพรวด เราเลยตัดสินใจเริ่มเก็บรีพอร์ตให้เป็นเรื่องเป็นราวบ้าง” กิตตินันท์เล่า

     ภายในหกเดือน กิตตินันท์และทีมได้ใช้โปรแกรมรวบรวมสถิติและข้อมูลด้านการปฏิบัติการทั้งหมดของบริษัท อาทิ จำนวนงานคงค้าง เวลาที่เกิดอุบัติเหตุ รุ่นรถที่ชน ไปจนถึงแผนที่ระบุตำแหน่งของพนักงานเคลมประกันรถ ข้อมูลเหล่านี้เองทำให้กิตตินันท์และทีมเข้าใจภาพเชิงลึกของธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและทันท่วงที และยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนด้วย

     เรืองโรจน์ คือหนึ่งในผู้ก่อตั้งกองทุน 500 Tuk Tuks (ซึ่งมีนักลงทุนอย่าง ‘ต๊อบ เถ้าแก่น้อย’ หรืออิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณ์จาติกวณิช) และโรงเรียนบ่มเพาะสตาร์ทอัพ Disrupt University ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมานักเรียนของเขาสามารถระดมทุนได้มากกว่า 250 ล้านบาท เรืองโรจน์ยังทำหน้าที่เป็นเมนทอร์ของกิตตินันท์ ตั้งแต่สมัยที่เขาเข้าร่วมโครงการ Dtac Accelerate ชายวัย 40 ปีซึ่งเป็นชาวกำแพงเพชรโดยกำเนิดผู้นี้ เริ่มต้นชีวิตในวัยเด็กห่างไกลจากโลกของซิลิคอน วัลลีย์ แต่ด้วยความมุมานะ เขาจึงสามารถคว้าเหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิกมาครอง ก่อนจะได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเข้าทำงานที่ Google ในที่สุด

     เรืองโรจน์เห็นด้วยกับกิตตินันท์ว่าควรจะมีการแก้กฎหมาย แต่ต้องกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป “เบื้องต้น รัฐบาลควรปล่อยให้สตาร์ทอัพสร้างนวัตกรรมได้อย่างเสรี และถ้าพิจารณาแล้วว่าธุรกิจใดเติบโตจนถึงจุดที่จำเป็นต้องได้รับการควบคุม รัฐบาลจึงค่อยออกกฎหมายมารองรับ ไม่อย่างนั้น ในอนาคตเราอาจได้เห็นบริษัทฟินเทคสัญชาติไทยที่จดทะเบียนในสิงคโปร์แทน” เขากล่าว

ผมว่าคนไทยไม่ยอมเปิดใจ ถ้าคุณมาจากโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพของผู้ประกอบการโทรคมนาคมค่ายหนึ่ง อีกค่ายหนึ่งก็จะไม่แตะต้องคุณเลย

           เรืองโรจน์เชื่อว่าสิ่งที่ต้องเน้นในตอนนี้คือเรื่องคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ “หากรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะสร้างสตาร์ทอัพ 500,000 ราย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในจำนวนนั้นจะมีเอสเอ็มอีกับโอท็อปนับรวมอยู่ด้วย ส่วนในแง่ของเงินอัดฉีด รัฐบาลควรนำไปใช้ในการผลักดันให้สตาร์ทอัพที่มีอยู่สามารถต่อยอดไปยังซีรีส์ A ได้ แทนที่จะสร้างสตาร์ทอัพหน้าใหม่เพิ่มอีกจนเกิดเป็นปัญหา คอขวด” เขาอธิบายและเสนอทางออกอย่างการจัดตั้ง ‘ตลาด’ ที่เปิดให้หน่วยงานรัฐบาลต่างๆ เข้ามาเป็นลูกค้ารายแรกของสตาร์ทอัพเหล่านี้

     ทว่าอุปสรรคก็ไม่ได้มาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมเองก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ในประเทศไทย บรรดา Corporate Venture Capital หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงนักลงทุนกับสตาร์ทอัพนั้น หลักๆ มาจากภาคธนาคารอสังหาริมทรัพย์ และการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งมักมีการแบ่งค่ายอย่างชัดเจน

     “ผมว่าคนไทยไม่ยอมเปิดใจ ถ้าคุณมาจากโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพของผู้ประกอบการโทรคมนาคมค่ายหนึ่ง อีกค่ายหนึ่งก็จะไม่แตะต้องคุณเลย ทุกอย่างอาจแย่ลงไปอีกถ้าเป็นกรณีของธนาคารหรือธุรกิจอสังหาฯ” กิตตินันท์กล่าว ซึ่งเมื่อเทียบกับซิลิคอน วัลลีย์แล้ว จะเห็นว่าสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอย่าง Uber มีสถาบันการเงินระดับโลกที่เป็นปรปักษ์กันอย่าง Goldman Sachs และ Morgan Stanley ร่วมลงทุนด้วย ส่วน Snapchat เองก็มีคู่แข่งอีคอมเมิร์ซรายยักษ์จากจีนอย่าง Alibaba และ Tencent ปรากฏในรายชื่อผู้ลงทุน

     “ในกรณีของเคลมดิ มันแปลว่าเราไม่สามารถรับเงินทุนจากบริษัทประกันรายใหญ่ในประเทศได้ ไม่อย่างนั้นเราอาจเสียลูกค้าบริษัทประกันรายอื่นๆ ทั้งหมด” กิตตินันท์กล่าว

     ขณะที่ตลาดสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นนั้นเริ่มอิ่มตัว ตลาดสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยประชากร 660 ล้านคน ยังคงดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลดีกับประเทศไทย เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพในบ้านเรานั้นเทียบกับที่อื่นแล้วถือว่าค่อนข้างต่ำ กระนั้น เรืองโรจน์ก็มองว่าสตาร์ทอัพไทยที่อยากโตแบบก้าวกระโดด จะต้องมองไกลกว่าแค่ตลาดในประเทศ

     “เราจะทำแบบอินโดนีเซียไม่ได้ ประเทศเขามีประชากรมหาศาล สตาร์ทอัพอย่าง Go-Jek หรือ Traveloka มันถึงเกิดได้ ขณะที่เวียดนามกับสิงคโปร์เขาเริ่มมองตลาดระดับภูมิภาคตั้งแต่วันแรก แต่ประเทศไทยนั้นติดกับดักอยู่ตรงกลาง ตลาดเราไม่ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการยังพอทำกำไรได้ ขณะที่สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของเราเองทำให้เรายึดติดกับความสบาย จึงไม่มีความกระหายหรือทะเยอะทะยานเท่าคนอื่นๆ” เรืองโรจน์กล่าว

     นอกจากนี้ ด้วยความที่มีสตาร์ทอัพไทยเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถระดมทุนได้ในมูลค่าสูง จึงไม่ค่อยมีแบบอย่างความสำเร็จให้กับบรรดาผู้ก่อตั้งรายอื่นๆ และขณะเดียวกันก็ดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาไม่ได้มากเท่าที่ควร “เราเพิ่งเริ่มทำสตาร์ทอัพกันตอนปี 2555 สตาร์ทอัพไทยที่เห็นตอนนี้ยังเป็นคลื่นลูกแรก” เรืองโรจน์กล่าว สำหรับเขา ประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาอีก 5 ปีเป็นอย่างน้อยกว่าจะได้เห็นยูนิคอร์นสัญชาติไทยตัวแรก

     สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมธุรกิจและโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพดีแทค แอคเซอเลอเรท เชื่อว่าประเทศไทยต้องการจังหวะในการเติบโตของตนเอง เขามองว่าการที่ประเทศไทยจะเข้าไปแข่งกับผู้นำด้านฟินเทคและอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอย่าง Lazada หรือ Shopee ได้นั้นความหวังค่อนข้างริบหรี่ เขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพจะก้าวขึ้นไปเป็นยูนิคอร์นได้ น่าจะเป็นเทคโนโลยีสายเกษตรมากกว่า พร้อมยกตัวอย่างสตาร์ทอัพสัญชาติไทย-ปากีสถานอย่าง Ricult ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตและช่วยให้เกษตรกรไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยในรายชื่อผู้ร่วมลงทุนนั้นมีบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft รวมอยู่ด้วย

     “ความท้าทายหลักที่เราต้องเผชิญคือเรื่องของสเกล สตาร์ทอัพจะโตได้ต้องมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก เราไม่สามารถอยู่แค่ในประเทศได้ เราต้องออกไปเจาะตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค” สมโภชน์กล่าว

     แม้กระทั่งในหมู่นักลงทุนและผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ หนทางสู่ยูนิคอร์นตัวแรกของไทยนั้นยังดูสับสนและคลุมเครือ แต่หลายฝ่ายก็เห็นพ้องกันว่า การจะปั้นสตาร์ทอัพไทยไปสู่ระดับโลกได้นั้นต้องอาศัยมากกว่าเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนข้อบังคับเพื่อเอื้อให้เกิดระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพที่ยั่งยืนขึ้น การออกนโยบายอย่างสมาร์ทวีซ่าเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ การปฏิรูปการศึกษา ไปจนถึงสิ่งพื้นๆ อย่างการเลือกคู่หูธุรกิจที่ถูกต้อง

     กระนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังคงเป็นภูมิภาคที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โดย Google และ Temasek คาดการณ์ว่าภายในปี 2563 ฐานผู้ใช้งานของที่นี่จะเพิ่มจำนวนเป็น 480 ล้านคน ขณะที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จำนวนสตาร์ทอัพไทยหน้าใหม่นั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับจำนวนนักลงทุน การที่ประชากรอีกจำนวนมากในภูมิภาคยังไม่มีการทำประกันภัยที่ครอบคลุมพอ อาจหมายถึงโอกาสทองสำหรับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีประกันภัยอย่างเคลมดิ และแม้กิตตินันท์จะประกาศชัดว่าบริษัทเขาไม่มีทางเป็นยูนิคอร์นได้ หลายคนก็แอบคาดหวังว่าเขาอาจแค่กำลังพูดจาถ่อมตนอยู่เท่านั้นเอง

     ในขณะที่ยังไม่อาจบอกชัดว่าประเทศไทยจะสามารถสร้างยูนิคอร์นตัวแรกได้ภายใน 3-5 ปีข้างหน้าหรือไม่ แต่สำหรับกิตตินันท์แล้ว เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเขาจะยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำงานหกวันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 16 ชั่วโมงต่อวัน และคอยมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน เป้าหมายสูงสุดของกิตตินันท์อาจไม่ใช่การสร้าง ยูนิคอร์นก็จริง แต่เมื่อเขาสามารถระดมทุนรอบซีรีส์ B ได้เป็นผลสำเร็จ เคลมดิก็จะเป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพไทยที่จุดไฟฝันให้กับบรรดาคลื่นลูกใหม่อีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าถึงตอนนั้นเขาจะยังเป็นหัวเรือใหญ่ของบริษัทอยู่หรือไม่ก็ตาม

Essentials


Anywhere2go

12 ถนนดินแดง กรุงเทพฯ

02-642-4711

www.claimdi.com

Hanger

อาคารจามจุรีสแควร์ ชั้น2 ถนนพญาไท กรุงเทพฯ

086-565-8330

fb.com/HANGARCoworkingSpace/