HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

FULL FLAVORS


นี่คือศิลปะการย่างเนื้อจากสหรัฐฯ ที่พิถีพิถันไม่แพ้อาหารไทยโบราณหรือซูชิโอมากาเสะ

ไปรู้จักบาร์บีคิวแบบต้นตำรับและความท้าทายที่ร้านเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ ต้องเผชิญ

     แม้เคทลิน ฮาส จะใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมากว่า 25 ปีแล้ว แต่เธอกล่าวว่าการปรุง ‘บาร์บีคิว’ ตำรับอเมริกันแท้ๆ นั้นยังคุกรุ่นอยู่ในสายเลือดเธอ “ตระกูลเราสืบเชื้อสายมาจากคาวบอยทั้งทางฝั่งพ่อและแม่” หญิงสาวผมบลอนด์ผู้มีรอยสักบนร่างสูงสง่าเล่า เธอเคยทำงานเป็นนางแบบอาชีพสมัยวัยรุ่น ก่อนจะเข้ามาจับงานในแวดวงอาหารเต็มตัว

     ในวันแรกที่ร้าน SpareParts Smokehouse ของเคทลิน เริ่มเสิร์ฟเมนูเต็มรูปแบบ ตัวเธอเองต้องคอยประจำอยู่ที่ร้านตลอดวัน เคทลินใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงในการปรุงเนื้อติดซี่โครงในเตารมควันขนาดเท่าตู้เย็นที่เธอประกอบขึ้นเอง เธอยังได้ทดลองเสิร์ฟเมนูอย่าง Pork Belly Burnt Ends หรือเนื้อหมูหั่นเต๋าย่างรมควันจนหนังกรอบเกรียมซึ่งเพียงใช้ส้อมกดก็จะแตกออกให้เห็นเนื้อชุ่มไขมันหอมหวล “นี่คือโอกาสให้ฉันเล่นเป็นนักวิทยาศาสตร์บ้าที่สามารถทดลองได้สารพัด” เคทลินกล่าวพลางยักไหล่

     ในเมืองที่คนส่วนใหญ่รู้จักบาร์บีคิวสไตล์อเมริกันจากเมนูซี่โครงหมูอบราดซอสของร้าน Tony Roma’s เชฟทำอาหารอย่างเคทลินถือว่าเจอกับงานหินไม่น้อย เพราะผิดจากความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ที่คิดว่าบาร์บีคิวคืออะไรก็ตามที่นำไปย่าง นิยามของบาร์บีคิวที่มีต้นตำรับจากทางตอนใต้ของสหรัฐฯ เจาะจงชัดว่าหมายเฉพาะถึงเนื้อที่ใช้ความร้อนตํ่าจากถ่านทำให้สุกช้าๆ โดยมิได้สัมผัสความร้อนโดยตรง โดยในขณะที่องค์ประกอบอื่นของบาร์บีคิวอาจยังเป็นสิ่งที่เชฟถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ ทั้งประเด็นว่าควรใช้เนื้อหมูหรือวัว ควรใช้ซอสจากนํ้าส้มสายชูหรือมะเขือเทศ​ หรือควรราดนํ้าซอสมาบนเนื้อหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกเชฟเห็นต้องตรงกันคือบาร์บีคิวมิอาจปรุงด้วยวิธีอื่นนอกจากการรมควัน

     รายละเอียดเหล่านี้ไม่ใช่เพียงข้อถกเถียงไร้สาระ เพราะการเปิดตัวของร้านบาร์บีคิวใหม่ๆ ในกรุงเทพฯ ส่งสัญญาณว่าบาร์บีคิวไม่เพียงกำลังกลายเป็นที่นิยมเท่านั้น แต่ยังอยากได้การยอมรับจากนักกินในระดับเดียวกับพาสต้าหรือซูชิด้วย โดยผู้ที่ยังไม่เชื่ออาจต้องสั่นคลอนหากได้ทราบข้อเท็จจริงที่ว่าแม้ว่าจะเปิดทำการมากว่า 2 ปีแล้ว ทุกวันนี้ร้านบาร์บีคิว The Smokin’ Pug ยังถือเป็นหนึ่งในร้านที่จองโต๊ะยากที่สุดในกรุงเทพฯ (ทางที่ดีที่สุดคือไปรอคิวหน้าร้าน 1 ชั่วโมง) หรือข้อเท็จจริงเมื่อไม่นานมานี้ ผู้จัดการร้านอาหารมือฉมังอย่างเฟร็ด ไมเยอร์หุ้นส่วนร้าน Issaya Siamese Club คู่กับเชฟเอียน กิตติชัย ซึ่งติดอันดับ 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในเอเชีย ก็ได้เปิดร้านชื่อ Le Cochon Blanc (หมูสีขาว) เพื่อถ่ายทอดศิลปะการย่างเนื้อในแบบฉบับของเขาเอง ยังไม่ต้องนับบรรดาร้านเปิดใหม่อีกหลายแห่งที่ต่างพยายามช่วงชิงลูกค้าในคํ่าคืนวันศุกร์ พร้อมเกทับกันเต็มที่ว่าร้านของตนปรุงบาร์บีคิวที่สมบูรณ์แบบกว่าเจ้าใด

     เคทลินผู้เป็นชาวเท็กซัสแท้ๆ เลือกที่จะใช้ถ่านธรรมดาแทนไม้ฮิกกอรีอย่างชาวอเมริกาใต้ หรือไม้มะขามและลำไยแบบที่เชฟมือสมัครเล่นในบ้านเรานิยมใช้ เธอหาซื้อเครื่องเทศสำหรับเคล้ากับเนื้อก่อนย่าง เช่น ดอกจันทน์เทศ พริกเสฉวน มะขามผง และมะนาวผง จากย่านใกล้เคียงที่ตั้งร้านอย่างเยาวราช และเช่นเดียวกับชาวเท็กซัสขนานแท้ เธอไม่ยอมเสิร์ฟเนื้อมาในจานฉํ่าซอส “ฉันเกลียดซี่โครงราดซอส” เธอกล่าว ตรงกันข้าม เธอให้อิสระลูกค้าที่จะเลือกจากบรรดาซอสต่างๆ ที่เธอทำขึ้นเอง อันได้แก่ ซอสมะเขือเทศผงกะหรี่ ซอส ‘พอร์คจูส์’ และซอสบาร์บีคิวสูตรแคนซัสซิตีที่ใช้มะเขือเทศเป็นส่วนผสมหลัก

     ความคิดที่จะเปิดร้านบาร์บีคิวนั้นวนเวียนอยู่ในหัวเธอหลายปี หลังได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Julie and Julia เคทลินก็ได้ซื้อตำราอาหารอันทรงอิทธิพลของจูเลีย ไชลด์ที่ชื่อ Mastering the Art of French Cooking และเริ่มฝึกทำอาหาร โดยค่อยๆ หัดทำตามแต่ละสูตรในหนังสือจนครบ ก่อนจะลงไปจับงานก้นครัวประจำฟู้ดทรักคันใหญ่ ซึ่งเสิร์ฟเมนูอย่างแซนด์วิชหมูฉีก กริลล์ชีส และแซนด์วิช ‘แพทตี้ เมลต์’ (patty melt) ที่ “จัดเต็มเหมือนกับร้านอาหารดั้งเดิม เพิ่มเติมคือล้อ”

บาร์บีคิวไม่เพียงกำลัง กลายเป็นที่นิยมเท่านั้น แต่ยังอยากได้การยอมรับจากนักกินในระดับเดียวกับ พาสต้าหรือซูชิ

     ร้านสแปร์พาร์ทส์ สโม๊คเฮาส์ซึ่งนำเสนออาหารสูตรคุณย่าในแบบเท่ๆ ตั้งอยู่บนชั้นสูงสุดของตึก FooJohn ที่ว่ากันว่า ‘ฮิป’ ที่สุดในขณะนี้ โดยเมื่อถามถึงเหตุผลที่เธอเลือกเปิดร้านบาร์บีคิวในเวลาที่ตลาดยังนึกว่าอาหารอเมริกันมีแต่แฮมเบอร์เกอร์กับฮอตด็อก เคทลินตอบว่า “คิดว่ามันถึงเวลาแล้ว เรารู้สึกว่าที่คนทำๆ กันอยู่ยังไม่ค่อยจะถูกตามตำรับ ก็เลยอยากทำตามแบบที่เราเห็นว่าใช่ขึ้นมาเอง”

     ความปรารถนาที่จะเห็นบาร์บีคิวได้รับการปรุงอย่าง ‘ถูกวิธี’ แทนที่จะมีแค่เนื้ออบในซอสเปรี้ยวหวาน คือสิ่งที่ผลักดันให้เชฟในไทยจำนวนหนึ่งลงทุนเปิดร้านบาร์บีคิวในกรุงเทพฯ ไล่ตั้งแต่ร้านหน้าตาบ้านๆ ในตลาดนัดรถไฟไปจนถึงร้านหรูย่านใจกลางเมือง เชฟบาร์บีคิวผู้ที่ในสหรัฐฯ เรียกกันว่า ‘พิตมาสเตอร์’ (Pitmaster) เหล่านี้ล้วนนำเอาอาหารแบบฉบับตอนใต้ของสหรัฐฯ มาประยุกต์และเสิร์ฟในสไตล์ของตนเอง

     ในสหรัฐฯ นั้น ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘เข็มขัดบาร์บีคิว’ (barbecue belt) ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยเริ่มจากรัฐนอร์ธและเซาท์แคโรไลนาทางทิศตะวันออก รัฐเทนเนสซี (และอาจรวมเซนต์หลุยส์ด้วย) ทางทิศเหนือ เมืองแคนซัสซิตีและรัฐเท็กซัสทางทิศตะวันตก ไปจนถึงรัฐจอร์เจีย แอละแบมา และฟลอริดาทางทิศใต้ (ส่วนรัฐหลุยเซียนานั้นมีอาหารของตัวเองได้แก่อาหารสไตล์ ‘เคจุน’ และ ‘ครีโอล’) บาร์บีคิวในดินแดนแถบนี้มีต้นกำเนิดจากวิธีปรุงอาหารดั้งเดิมของแรงงานทาสชาวแอฟริกันที่เรียกว่า ‘barbacoa’ ซึ่งหมายถึงการปรุงเนื้อให้สุกทีละนิด โดยนำเนื้อสัตว์มาเสียบไม้อังบนหลุมที่สุมไว้ด้วยถ่าน โดยมีเพิงบังด้านบนเพื่อกักเก็บควันให้อวลกลับไปรมเนื้อให้มีกลิ่นหอมโดยผู้ทำหน้าที่คุมหลุมไฟนี้จะถูกเรียกว่า ‘พิต บอยส์’ แม้ในทางทฤษฎี เนื้อสัตว์ทุกชนิดสามารถเอามาทำบาร์บีคิวได้ แต่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ นั้นมักนิยมใช้เนื้อหมู ซึ่งวิ่งกันอยู่ดาษดื่นในป่าและเป็นอาหารหลักของชาวบ้านตามชนบท และแม้ทุกวันนี้ชาวเท็กซัสจะนิยมเนื้อวัว และชาวเคนทักกีจะนิยมเนื้อแกะมากกว่า (ทุกคนเห็นตรงกันว่าใช้เนื้อไก่แล้ว “เสียดายควัน”) แต่ในสายตาชาวอเมริกัน สิ่งที่ใกล้เคียงกับต้นตำรับมากที่สุดคือบาร์บีคิวหมู

     การคุมหลุมไฟ ซึ่งมักทำในตอนกลางคืนนั้นถือเป็นงานหิน เนื่องจากพิต บอยส์เหล่านี้จะต้องคอยเติมฟืนใน ‘ปล่องไฟ’ (ซึ่งทำให้ถ่านร้อน) อย่างต่อเนื่อง และต้องคอยเติมถ่านใต้ราวเสียบหมูเป็นระยะๆ ตลอดเวลา 10 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสิ่งที่ร้านอาหารบาร์บีคิวตำรับตอนใต้สหรัฐฯ ยังคงยึดถือปฏิบัติเคร่งครัด การปรุงบาร์บีคิวเป็นเสมือนบททดสอบทักษะการทำอาหารและความอึด และต้องอาศัยใจรักจริงๆ “พิต บอยส์เหล่านี้คือผู้ให้กำเนิดบาร์บีคิวแบบชาวใต้” เชท แอตกินส์ เชฟจากออร์แลนโด้ รัฐฟลอริด้า ผู้เป็นหนึ่งในเจ้าของร้าน Little Market กล่าว

     เชทเป็นเจ้าของเตารมควันตัวแรกเมื่ออายุ 25 ปี และยังจำได้ดีถึงประสบการณ์ที่เขาลิ้มลองบาร์บีคิวเป็นครั้งแรกที่ Jack’s BBQ ร้านบาร์บีคิวเล็กๆ ซึ่งเสิร์ฟ “หมูทั้งตัว” สำหรับเชท การปรุงบาร์บีคิวมีรูปแบบเคร่งครัด เพราะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และธรรมเนียมต่างๆ หยุมหยิมไม่แพ้อาหารไทยโบราณ พร้อมทั้งเสริมว่าบาร์บีคิวคือ “หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่สหรัฐฯ ได้ส่งออกมาให้แก่โลก”

บาร์บีคิวในดินแดนแถบนี้ มีต้นกำเนิดจากวิธีปรุงอาหารดั้งเดิมของแรงงานทาสชาวแอฟริกันที่เรียกว่า ‘barbacoa’ ซึ่งหมายถึงการปรุงเนื้อให้สุกทีละนิด โดยนำเนื้อสัตว์มาเสียบไม้อังบนหลุมที่สุมไว้ด้วยถ่าน โดยมีเพิงบังด้านบนเพื่อ กักเก็บควันให้อวลกลับไปรมเนื้อให้มีกลิ่นหอม

ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม

     กระนั้น ชาวอเมริกันส่วนใหญ่อาจนึกภาพไม่ออกว่าจะยกเอาบาร์บีคิวเข้ามายังบ้านเราให้เหมือนเป๊ะได้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะเลือกปรุงบาร์บีคิวสไตล์เท็กซัสซึ่งใช้เนื้อวัวหมักเครื่องเทศ ซี่โครงหมูราดซอสมะเขือเทศแบบแคนซัสซิตี ไก่ราดซอสขาวทำจากมายองเนสแบบแอละแบมา ซอสมัสตาร์ดแบบเซาท์แคโรไลนา หรือไหล่หมูฉีกราดนํ้าส้มสายชูแบบนอร์ธแคโรไลนา สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจลอกเลียนได้เลยคือประเพณีที่ห้อมล้อมอาหารนั้นอยู่ ในลักษณะเดียวกับที่อาหารข้างถนนเจ้าเด็ดสามารถรวมเอาชาวกรุงเทพฯ จากทุกชนชั้นเข้ามากินด้วยกัน อาหารสำหรับงานปาร์ตี้อย่างบาร์บีคิว ซึ่งเดิมทีใช้เป็นสิ่งดึงดูดให้คนเข้าโบสถ์หรือมาร่วมงานหาเสียงของพรรคการเมือง ก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวสังคมอเมริกันให้เข้ากันโดยไม่เกี่ยงเรื่องชนชั้นหรือชาติพันธุ์เช่นกัน บริบททางวัฒนธรรมเหล่านี้ย่อมตกหล่นไปบ้างไม่มากก็น้อยเมื่อข้ามประเทศมา

     เมื่อถูกถามว่าร้านอาหารในไทยจะสามารถปรุงบาร์บีคิวให้เหมือนต้นตำรับได้หรือไม่ มาร์ค กรายเกล แห่ง BBQ Sandwich King กล่าวว่า“ทั้งใช่ทั้งไม่ใช่ คุณต้องไปยังสถานที่จริงเพื่อศึกษา เฝ้าสังเกต เรียนรู้ และหัดทำจริง แล้วนำต้นแบบกลับมาทำตามที่นี่ แต่เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มันฝังรากลึกในวิถีชีวิตชาวอเมริกัน เวลายกมาทำที่นี่ยังไงก็ยังต้องถือเป็น ‘ของทำเหมือน’ มากกว่าของแท้ อยู่ดี”

     กระนั้น ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งก็ไม่ยอมแพ้อย่างในกรณีของดานา และแดนนี การ์เบอร์ คู่รักชาวอเมริกัน​ซึ่งเป็นเจ้าของร้านเดอะ สโม้คกิ้ง ปั๊กนั้น แม้จะเปิดตัวมาได้เพียง 2 ปีเศษ แต่ปัจจุบันได้รับการขนานนามว่าเป็นร้านบาร์บีคิวที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ โดยเสิร์ฟเมนูบาร์บีคิวจากเมืองต่างๆ ในสหรัฐฯ ตั้งแต่หมูฉีกแบบแคนซัสซิตีไปจนถึงนอร์ธแคโรไลนา หรือแม้กระทั่งเนื้อเสือร้องไห้แบบเท็กซัส ซึ่งเป็นสไตล์ที่เหล่าเชฟต่างลงความเห็นว่าฝึกฝนให้ชำนาญได้ยากที่สุดเนื่องจากเนื้อที่ค่อนข้างเหนียว

     เนื้อเสือร้องไห้ของเดอะสโม้คกิ้ง ปั๊กนั้นมีจุดเด่นตรง ‘smoke ring’ หรือวงแหวนสีชมพูใต้หนังและเนื้อที่นุ่มจนขาดออกเป็น 2 ท่อนเพียงหยิบเบาๆ ขณะที่ปีกไก่ของทางร้านก็มีรสชาติออกเผ็ดอมเปรี้ยวอย่างที่บัฟฟาโลวิงส์ควรจะเป็น แต่เมนูพระเอกคงหนีไม่พ้นเนื้อติดซี่โครงราดซอส ซึ่งเพียงใช้ปลายส้อมแตะเนื้อก็พร้อมล่อนออก และทางร้านยังเสิร์ฟชีสเค้กเนื้อเนียนนุ่มอีกด้วย แต่ขณะที่ร้านบาร์บีคิวในสหรัฐฯ นิยมใช้เตาไฟแบบหลุมหรือเตารมควันขนาดอุตสาหกรรม ภายในครัวของร้านแห่งนี้กลับอาศัยเพียงเตาย่างรมควันแบบใช้ในบ้านไม่กี่ตัวในการปรุงเมนูที่หินที่สุด

     “เราให้เวลาและใส่ความรักลงในอาหารที่ทำ เหมือนเราทำครัวที่บ้านมากกว่า แต่ละวันเราผสมทุกอย่างขึ้นเองใหม่หมด เราย่างเนื้อด้วยถ่านแบบวันต่อวัน และใช้แต่เนื้อสดใหม่ที่ซื้อจากซัพพลายเออร์ที่ดีที่สุดที่หาได้” ดาน่าเล่า

ร้านบาร์บีคิวเจ้าอร่อยและดังที่สุดในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เปิดมาเป็นเวลานานแล้ว มันอยู่ในสายเลือดของพวกเขา เหมือนกับถามว่าสตรีทฟู้ดในอเมริกาจะสนุกและดิบเหมือนกับที่กรุงเทพฯ ได้หรือเปล่า ก็คงจะยาก เพราะสุดท้ายอาหารย่อมเป็นสิ่งที่แยกออกจากวัฒนธรรมในท้องถิ่นไม่ได้

     วิธีการที่ว่าเห็นจะได้ผลดีอยู่ไม่น้อย ด้วยพื้นที่ร้านอันจำกัดบวกกับสารพัดเมนูยอดนิยม ร้านเดอะสโม้คกิ้ง ปั๊กจึงติดอันดับร้านที่จองโต๊ะยากที่สุดในกรุงเทพฯ อันที่จริง สองสามีภรรยามีแผนจะย้ายที่ตั้งร้านไปยังพื้นที่ที่ใหญ่กว่า แต่จะไม่เปิดสาขาเพิ่ม สำหรับดาน่าแล้ว ความนิยมในบาร์บีคิวและจำนวนร้านที่เพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ นั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ “คงเพราะบาร์บีคิวมันสนุก ใครก็กินได้ แถมบรรยากาศก็ง่ายๆ สบายๆ ไม่มีใครมาสนหรือหัวเราะเยาะถ้าคุณกินเลอะเทอะ” เธอเล่า

     เสน่ห์เหลือล้นของบาร์บีคิวนั้นทำให้วิลเลียม ฟ็อก นักบริหารการเงินในฮ่องกง ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำมากว่า 18 ปี เพื่อผันตัวไปจับงานในแวดวงอาหารเต็มตัว เขาสมัครเข้าเรียนทำอาหารที่สถาบัน Le Cordon Bleu ของโรงแรมดุสิตธานี และไม่เคยหันหลังกลับอีกนับแต่วันนั้น “ตลอดเวลาที่อยู่ที่กรุงเทพฯ ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของแวดวงอาหารที่นี่ บวกกับตอนอยู่ฮ่องกงผมก็เคยกินบาร์บีคิวอยู่บ่อยๆ เลยอยากทดลองตลาดที่นี่ดูบ้าง” วิลเลียมเล่า พร้อมเสริมว่าการก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของร้านบาร์บีคิวนั้นเป็นเพียง “เหตุบังเอิญ” สำหรับเขา

     ผลลัพธ์ที่ว่าก็คือร้าน The Smokers Grill and Bar ในตลาดนัดรถไฟรัชดา ซึ่งเสิร์ฟเนื้อติดซี่โครงรมควันที่ปรุงให้สุกช้าๆ สไตล์แคนซัสซิตี เบอร์เกอร์หมูฉีก และเฟรนซ์ฟรายราดซอสบุลโกกิ ให้กับบรรดานักท่องราตรีกลุ่มใหญ่ วิลเลียมมองว่าความนิยมในบาร์บีคิวสไตล์อเมริกันของชาวกรุงนั้น เกิดจากการแสวงหาแรงบันดาลใจจากอาหารจากต่างแดน “คนกรุงเทพฯ เริ่มเปิดกว้างกับอาหารชาติอื่นๆ มากขึ้น ไม่ใช่แค่บาร์บีคิวสไตล์อเมริกันเท่านั้น อาหารเม็กซิกัน ซูชิแบบโอมากาเสะ หรือแม้กระทั่งอาหารไทยก็เริ่มมีความฟิวชั่นและโมเดิร์นมากขึ้น” เขากล่าว

     อย่างไรก็ตาม แม้คนไทยจะนิยมเสพรสชาติที่สลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าศาสตร์การปรุงบาร์บีคิวที่นี่จะสามารถเทียบชั้นกับในอเมริกาได้ “บาร์บีคิวสไตล์อเมริกันนั้นมีความเป็นมายาวนาน ไหนจะความทุ่มเทของเหล่าพิตมาสเตอร์ ที่ทำให้เทคนิคการปรุงบาร์บีคิวของพวกเขาไม่เป็นรองใคร ซึ่งผมเชื่อว่าตลาดบ้านเรายังมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้อีก” วิลเลียมกล่าว

     ดานา แห่งเดอะสโม้คกิ้ง ปั๊ก กล่าวว่าร้านบาร์บีคิวในไทยจะไม่มีวันเหมือนในอเมริกา ไม่ว่ารสชาติจะอร่อยแค่ไหนก็ตาม “ร้านบาร์บีคิวเจ้าอร่อยและดังที่สุดในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เปิดมาเป็นเวลานานแล้ว มันอยู่ในสายเลือดของพวกเขา เหมือนกับถามว่าสตรีทฟู้ดในอเมริกาจะสนุกและดิบเหมือนกับที่กรุงเทพฯ ได้หรือเปล่า ก็คงจะยาก เพราะสุดท้ายอาหารย่อมเป็นสิ่งที่แยกออกจากวัฒนธรรมในท้องถิ่นไม่ได้ และเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่เรียกร้องเป็นปกติ” เธอกล่าว

     จริงอยู่ที่กรุงเทพฯ​ คงไม่ได้พยายามแข่งกับโตเกียวหรือเมมฟิสเพื่อช่วงชิงตำแหน่งร้านโอมากาเสะ และบาร์บีคิวที่อร่อยที่สุดในโลก แต่กรุงเทพฯ ถือว่าก้าวมาไกลไม่น้อยสำหรับความพยายามสร้างสรรค์อาหารต่างชาติให้ได้ดีเหมือนต้นตำรับ เห็นได้จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความหลากหลายของอาหารเม็กซิกันและสเปนในกรุงเทพฯ ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และหากไม่นับในญี่ปุ่น กรุงเทพฯ ก็จัดว่ามีร้านซูชิชั้นครูอยู่ไม่น้อย ขณะนี้

     ข้อเท็จจริงที่ว่าความคลั่งใคล้อาหาร ‘คอมฟอร์ตฟู้ด’ ของเราเริ่มมีอะไรมากกว่าเบอร์เกอร์ถือเป็นอีกสัญญาณหนึ่งว่าคนไทยไม่ได้อยากกินเฉพาะอาหารในรสที่ถูกปรับให้ถูกปากคนไทยอย่างเดียว แต่กำลังมองหาสิ่งที่เป็นต้นตำรับแท้ๆ ด้วย และในแง่นั้น บาร์บีคิวจากร้านเปิดใหม่เหล่านี้ ถือว่าเด็ดขาดไม่ยิ่งหย่อนกว่าร้านบาร์บีคิวคุณภาพดีในสหรัฐฯ หลายแห่งเลยทีเดียว

Essentials


BBQ Sandwich King

33/11 หมู่ 3 ซอยสามัคคี 29
ถนนสามัคคี นนทบุรี
โทร. 086-773-4140
www.fb.com/BBQSandwichKing

Le Cochon Blanc

28 ซอยสุขุมวิท 31 (ซอยพร้อมจิตร)
ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 02-662-3814
www.lecochonblanc.com

Little Market Cafe

1056/7 ซอยเจริญกรุง 28
ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
โทร. 061-558-7689
www.fb.com/littlemarketbkk

SpareParts Smokehouse

831 ชั้น 3-4 อาคาร FooJohn ซอยเจริญกรุง 31 ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
โทร. 095-060-6286
www.fb.com/sparepartsbkk

The Smokers Grill & Bar

ตลาดรถไฟรัชดา 99 ซอยรัชดาภิเษก 6
ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
โทร. 096-460-9485
www.fb.com/SmokersBKK

The Smokin’ Pug

88 ถนนสุรวงศ์ กรุงเทพฯ
โทร. 083-029-7598
www.smokinpugbbq.com