SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
Beat Poets
ดนตรีฮิปฮอปของไทยกำลังก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกระแสหลัก และเป็นกระบอกเสียงเพื่อการเปลี่ยนแปลง
เสียงเชียร์จากผู้ชมดังกระหึ่มก้องบาร์แห่งหนึ่งในย่านสาทร มือของพวกเขาชูโทรศัพท์สมาร์ทโฟนขึ้นมาบันทึกภาพการต่อสู้อันดุเดือดที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้า โดยมีเสียงเบสหนักๆ ของดนตรีฮิปฮอปดังอยู่เป็นฉากหลัง
ด้านหลังกล้องตัวโตกำลังถ่ายทอดสดสังเวียนนี้ผ่านทางโซเชียล มีเดียให้ผู้ชมทางบ้านหลายพันคนได้รับชมการแข่งขันซึ่งไม่กี่ปีก่อนยังเป็นการแข่งขันใต้ดินที่ไม่ต้อนรับคนนอก ศึกบนสังเวียนดังกล่าวไม่ใช่การฟาดฟันกันด้วยพละกำลังหรือหมัดมวย หากเป็นการประชันฝีปากระหว่างเหล่าแร็ปเปอร์และนักดนตรีรุ่นใหม่ที่พยายามสร้างชื่อให้กับตัวเองในวงการดนตรีฮิปฮอปของกรุงเทพฯ ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
‘แร็ป แบทเทิล’ หรือการแต่งเนื้อเพลงแร็ปสัมผัสคล้องจองประชันกันบนเวทีโดยมีดนตรีแบ็กกิ้ง แทร็กประกอบนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 15 ปีแล้ว ในถิ่นกำเนิดของดนตรีแร็ปอย่างสหรัฐฯ ดนตรีชนิดนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมเมืองที่นั่นมานานกว่า 50 ปี และยังถูกเผยแพร่จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกระแสหลักในแถบอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และเอเชียตะวันออกอย่างรวดเร็ว แต่ในประเทศไทย กว่าดนตรีแร็ปจะก้าวมามีอิทธิพลดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน วงการฮิปฮอปไทยต้องฝ่าฟันกระแสต่อต้านและความท้าทายต่างๆ มานับไม่ถ้วน
ทุกวันนี้วงการแร็ปของไทยเริ่มหันมาค้นหาแรงบันดาลใจจาก ‘ความเป็นไทย’ มากขึ้น นักดนตรีรุ่นใหม่หลายรายเริ่มนำดนตรีท้องถิ่นอย่างหมอลำ เข้ามาประยุกต์และผสมผสานเข้ากับดนตรีฮิปฮอป มีการใช้ภาษาถิ่น ภาษาที่สละสลวยพร้อมสัมผัสของกาพย์กลอนในการแต่งเนื้อแร็ป แต่ก็ยังไม่ทิ้งรากเหง้าความเป็นฮิปฮอปอเมริกัน เห็นได้จากการสอดแทรกประเด็นทางการเมืองและสังคมเข้าไปในเนื้อเพลง ทั้งหมดนี้ถูกนำเสนอผ่านรายการโทรทัศน์อย่าง The Rapper ซึ่งนำดนตรีแร็ปเข้ามาสู่ความสนใจของสาธารณชน การนำแนวดนตรีซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกตราหน้าว่าเป็นดนตรีปลายแถวของสหรัฐฯ มาตีความได้อย่างเป็นเอกลักษณ์นี้เอง ทำให้ดนตรีฮิปฮอปสัญชาติไทยเริ่มเป็นที่สังเกตจากวงการแร็ปนานาชาติ
นักดนตรีรุ่นใหม่หลายรายเริ่มนำดนตรีท้องถิ่นอย่าง หมอลำ เข้ามาประยุกต์และผสมผสานเข้ากับดนตรีฮิปฮอป
ในช่วงปี ’70s ศิลปินกลุ่มหนึ่งจากชุมชนสลัมเขตบร็องซ์ ในนครนิวยอร์กนั้นแทบไม่มีเงินพอยังชีพ เรื่องการจ่ายค่าเรียนดนตรีหรือควักเงินซื้อเครื่องดนตรีดีๆ สักชิ้นนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง ความไม่มีนี้เองที่ทำให้ศิลปินกลุ่มนี้เริ่มนำองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการของวัฒนธรรมแอฟริกัน-อเมริกันอย่างบทกวีทางการเมือง และดนตรีอาร์แอนด์บีมาผสมผสานเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นดนตรีรูปแบบใหม่ พวกเขานำเครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่าๆ และแผ่นไวนิลมาใช้สร้างสรรค์ดนตรีแนวใหม่นี้ การ 'แสครช' แผ่นเสียงด้วยมือ (ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมดีเจสมัยใหม่) ทำให้พวกเขาสามารถเล่นเสียงกลองอาร์แอนด์บีซ้ำๆ ได้ และกลายมาเป็นต้นแบบของจังหวะดนตรีแร็ปสมัยใหม่ ดนตรีแร็ปนั้นถูกใช้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตความเป็นอเมริกันจากอีกฟากหนึ่งที่ถูกเพิกเฉยโดยค่ายเพลงและสื่อกระแสหลัก โดยบ่อยครั้งมีการหยิบยกประเด็นการเหยียดผิว อาชญากรรม และความไม่เท่าเทียมในสังคมขึ้นมาพูด ยุคนี้ถือเป็นยุคกำเนิดของดาวเด่นในประวัติศาสตร์ดนตรีแร็ป อาทิ MC Hammer, Grandmaster Flash และ Run-DMC ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมดนตรีซึ่งมีจุดริเริ่มจากสลัมของสหรัฐฯ นี้มีมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท
“ตอนผมอายุ 10 ขวบ เอ็มซี แฮมเมอร์คือศิลปินที่ผมเปิดฟังตลอด ตอนนั้นฮิปฮอปกำลังมา แต่ก็ยังหาฟังได้ยาก ศิลปินอย่าง NWA และ 2 Live Crew ก็ฟังสนุก และสำหรับคนที่เข้าใจจะเห็นว่าเนื้อเพลงของพวกเขาบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างด้วย” เมธี ขวัญบุญจัน กล่าว เขาคือดีเจและโปรดิวเซอร์ผู้โด่งดังจากค่ายเพลง ‘ก้านคอคลับ’ และเป็นที่รู้จักในฉายา Spydamonkee
สำหรับศิลปินแร็ปและฮิปฮอปดาวรุ่งหลายคนในบ้านเรา อิทธิพลจากฝั่งอเมริกานี้เป็นตัวกำหนดเส้นทางอาชีพของพวกเขา สมัยวัยรุ่น เมธีและศิลปินชื่อดังคนอื่นๆ อาทิ ขันเงิน เนื้อนวล แห่งวงไทเทเนียม และอภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต หรือ ‘โจอี้บอย’ นั้นชอบใส่เสื้อผ้าแนวสตรีทอย่างวัยรุ่นอเมริกันและออกไปพ่นกราฟฟิตี้ตามป้ายรถเมล์ พวกเขาเป็นแกะดำที่สวมรองเท้าอดิดาส รุ่นซูเปอร์สตาร์ และไปไหนมาไหนด้วยสเก็ตบอร์ดพร้อมฟังเพลงซึ่งแทบไม่มีใครรู้จักในซีกโลกตะวันออก เพราะในขณะที่คลื่นวิทยุในประเทศไทยยังถูกครองพื้นที่ด้วยเพลงเพื่อชีวิต แนวเพลงโพรเกรสซีฟ ร็อกของยุค ’80s ก็กำลังถูกแทนที่ด้วยแนวดนตรีฮิปฮอปในยุค ’90s แล้วในโลกตะวันตก
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากดนตรีหมอลำในยุคแรกๆ ซึ่งอาศัยเพียงนักร้องกับแคนหนึ่งตัวเพื่อขับขานเรื่องราวชีวิตในชนบท จนมาสู่ยุคสมัยที่เพลงลำซิ่งและหมอลำถูกนำมาตีความในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น จะเห็นได้ว่าการบอกเล่าเรื่องราวผ่านเนื้อเพลงที่มีสัมผัสอย่างในกาพย์กลอนควบคู่ไปกับดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏในวัฒนธรรมไทยมายาวนานก่อนดนตรีฮิปฮอปจะเข้ามามีอิทธิพลเสียอีก ดร.นิก เกรย์ อาจารย์อาวุโส ภาควิชาดนตรีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัย SOAS University อธิบายว่า หมอลำหรือลำซิ่งของไทยนั้นมีลักษณะเฉพาะซึ่งแตกต่างจากแนวดนตรีสมัยใหม่ในโลกตะวันตก จนอาจพูดได้ว่าไม่เกี่ยวกัน “บางครั้งบริบทของสังคมหนึ่ง ก็เป็นแรงขับเคลื่อนให้คนในสังคมรับเอาแนวดนตรีที่เหมาะสมกับยุคสมัยของตนเข้ามา ตัวอย่างเช่นในอินโดนีเซีย ซึ่งดนตรีพังก์ได้กลายเป็นกระแสสำคัญในช่วงยุค ’90s ด้วยเหตุผลจากบริบทของสังคมอินโดนีเซียเอง ถึงดูเผินๆ แนวดนตรีดังกล่าวดูจะเชื่อมโยงกับกระแสดนตรีที่เกิดขึ้นนอกประเทศก็ตาม” เขาอธิบาย
ในช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ ดนตรีฮิปฮอปจากสหรัฐฯ นั้นกำลังเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก และความนิยมครั้งใหม่ของมันก็ได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงสำคัญ ดนตรีที่แรกเริ่มนั้นเป็นเพียงบทกวีไว้รำพันถึงความทุกข์ยากของสังคมเมือง ได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็น ‘gangster rap’ ซึ่งมีเนื้อหาบูชาความก้าวร้าวของแก๊งอันธพาลข้างถนน (ซึ่งหลายครั้งถูกแต่งเติมเกินความเป็นจริง) และได้นำไปสู่ปมความขัดแย้งระหว่างแร็ปเปอร์จากชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกของสหรัฐฯ (และเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ในช่วงปี 1994-1997) ทำให้ดนตรีแร็ปนั้นกลายเป็นกระแสอย่างรวดเร็วในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วโลก ในปี 2009 นิตยสาร National Geographic ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ดูเหมือนทุกประเทศในโลกจะมีวัฒนธรรมเพลงแร็ปเป็นของตัวเอง”
ปิยะวิภา อินทรทัต วัย 31 ปี เจ้าของคลับฮิปฮอปใต้ดินแห่งหนึ่งในย่านทองหล่อ ได้ช่วยขยายความคำว่า ‘วัฒนธรรมฮิปฮอป’ ว่า “มันคือวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยหัวใจต่างๆ ทั้งการเปิดแผ่น การแร็ป ศิลปะกราฟฟิตี้ ไปจนถึงแฟชั่น วัฒนธรรมฮิปฮอปนั้นเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 15 ปีก่อน และยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน”
วัฒนธรรมเพลงแร็ป คือวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยหัวใจต่างๆ ทั้งการเปิดแผ่น การแร็ป ศิลปะกราฟฟิตี้ ไปจนถึงแฟชั่น วัฒนธรรมฮิปฮอปนั้น เริ่มต้นขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 15 ปีก่อน และยัง คงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
เมธีได้เดินทางไปศึกษาต่อยังสหรัฐฯ และคลุกคลีอยู่กับแวดวงฮิปฮอปที่นั่นอยู่ราว 2-3 ปี ก่อนจะเดินทางกลับมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เพื่อนของเขาอย่างอภิสิทธิ์และขันเงินเริ่มเข้าสู่วงการแร็ปพอดี อภิสิทธิ์ได้ก่อตั้งค่ายเพลงของตัวเองในชื่อก้านคอคลับ ภายใต้สังกัดใหญ่อย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ขณะที่ขันเงินนั้นได้ร่วมกับสมาชิกอีกสองคนก่อตั้งวงไทเทเนี่ยมขึ้น เพลงของพวกเขาพุ่งทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 บนชาร์ตเพลงไทย และช่วยให้วงการฮิปฮอปเริ่มเป็นที่แพร่หลายในบ้านเรา ในช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มมีศิลปินหน้าใหม่หลายรายถือกำเนิดขึ้น อาทิ ดาจิม AA Crew และ Da Killerz และได้ยึดครองเวทีตามผับใต้ดินต่างๆ โดยเนื้อเพลงส่วนใหญ่มักมีถ้อยคำรุนแรงและเสียดสีการเมืองไม่ต่างจากเพลงแร็ปของฝั่งอเมริกัน ทำให้วงการแร็ปไม่เป็นที่กล่าวถึงมากนักในสื่อกระแสหลักและไม่เป็นที่นิยมชมชอบของผู้มีอำนาจบางกลุ่ม
ในช่วงเวลานี้เอง ไนต์คลับชื่อดังหลายแห่งในกรุงเทพฯ ได้เริ่มหันมาเปิดเพลงแร็ปแทนเพลงฮิตติดชาร์ต ทำให้แนวดนตรีดังกล่าวเริ่มทะยานสู่ความนิยม อย่างไรก็ดี กระแสเพลงแร็ปในบ้านเราก็มีอันต้องชะลอตัวลงในเดือนมีนาคมปี 2004 เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศให้สถานบันเทิง ซึ่งรวมถึงบาร์ ไนต์คลับ ดิสโก้เทค ร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ร้านน้ำชา และร้านค้าที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ต้องปิดทำการในเวลาเที่ยงคืน
แม้จะมีผับชื่อดังบางแห่งที่ฝ่าฝืน แต่โดยทั่วไปต้องถือว่ายุคทองแห่งการเที่ยวผับยันฟ้าสางได้เดินทางมาถึงจุดจบ นอกจากนี้ ช่วงหนึ่งยังมีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามคนอายุต่ำกว่า 18 ปีออกนอกเคหสถานหลัง 22.00 น. อันเป็นความพยายามในการลดอาชญากรรมในหมู่เยาวชนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังมีการรณรงค์ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ถ้อยคำหยาบคาย และการย้อมสีผมในวัยเรียนด้วย และแม้การประกาศเคอร์ฟิวจะไม่มีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง แต่มาตรการ เช่นนี้ ซึ่งสื่อภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็น “ความบ้าคลั่งอันไร้ผล (ham-fisted madness)” และ “อัตวินิบาตกรรมทางการท่องเที่ยว (tourism suicide)” ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้แวดวงฮิปฮอปไทยถอยร่นกลับไปสู่การเป็นวัฒนธรรมใต้ดินอีกครั้ง
แม้จะอยู่พ้นหูพ้นตาสื่อกระแสหลัก แต่มีผู้วิเคราะห์ว่าการกระทำเช่นนี้เองคือจุดเริ่มต้นของด้านมืดในแวดวงฮิปฮอป อาทิ การใช้สารเสพติด และค่านิยมว่าการเป็นอันธพาลเป็นเรื่องเท่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ศิลปินหลายคนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง “แร็ปเปอร์และสาวกฮิปฮอปเคยดื่มได้จนสว่าง ไม่เกินเลยกว่านั้น แต่พอผับโดนสั่งให้ปิดตอนเที่ยงคืน คนก็เริ่มหาความตื่นเต้นในรูปแบบอื่นมาทดแทน เนื้อเพลงเกี่ยวกับแก๊งอันธพาล วัตถุนิยม การทะเลาะวิวาท และยาเสพติดเริ่มมีปรากฏให้เห็น ทำให้คนค่อยๆ มองฮิปฮอปเปลี่ยนไป” นินโย เอาส์มคีซ ศิลปินฮิปฮอปชาวเยอรมันผู้พำนักอยู่ในเชียงใหม่ กล่าว เขาเป็นที่รู้จักจากเพลง ‘กูฝรั่ง’ ที่ติดอันดับ 10 ของชาร์ต Rap is Now ในเดือนเมษายน 2017
ในขณะเดียวกันอินเทอร์เน็ตเองก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนความนิยมในดนตรีประเภทดังกล่าว การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลทำให้ผู้คนมากขึ้นสามารถเข้าถึงเพลงต่างประเทศ และลดทอนอำนาจของสื่อกระแสหลักในการควบคุมเนื้อหาที่คนเลือกเสพ ผู้คนสามารถค้นหาและเข้าถึงสิ่งที่ตัวเองชอบได้ง่ายขึ้น และท่ามกลางความนิยมในดนตรีแร็ปที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นนี้เอง สถานีโทรทัศน์อย่างเวิร์คพอยท์ก็ตัดสินใจลุกขึ้นมาปลุกกระแสดนตรีฮิปฮอปอีกครั้ง
“เราคิดว่ารายการเดอะ แร็ปเปอร์คือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของวงการ ซึ่งคล้ายๆ กับเดอะ วอยซ์ แต่เป็นการแข่งประชันเพลงแร็ป มันสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้กว้างเกินคาด และเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ สำหรับคนที่เพิ่งหันมาฟังเพลงแนวนี้ด้วย” ปิยะวิภากล่าว รายการแข่งขันแร็ป ซึ่งมีศิลปินฮิปฮอปชื่อดังอย่างอภิสิทธิ์หรือโจอี้บอย และณัฐวุฒิ ศรีหมอก หรือ ‘กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่’ เป็นกรรมการนั้นได้รับเรตติ้งดีกว่าที่ทางช่องคาดไว้มาก และเป็นตัวกลางในการช่วยยกระดับความนิยมในวงการฮิปฮอปไทยขึ้นไปอีกขั้น
รายการเดอะ แร็ปเปอร์คือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของวงการ ซึ่งคล้ายๆ กับ เดอะ วอยซ์ แต่เป็นการแข่งประชันเพลงแร็ป มันสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้กว้างเกินคาด และเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ สำหรับคนที่เพิ่งหันมาฟังเพลงแนวนี้ด้วย
สำหรับธนายุทธ ณ อยุธยา แร็ปเปอร์ชาวคลองเตยวัย 17 ปี ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักในฉายา Elevenfinger และเคยเป็นที่กล่าวขวัญโดยสื่อทั้งในและต่างประเทศนั้น หนึ่งในสิ่งที่น่าดึงดูดมากที่สุดของรายการเดอะ แร็ปเปอร์ คือการที่ผู้เข้าแข่งขันสามารถแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกที่มีต่อประเด็นเรื่องอำนาจ ชนชั้น และการเมืองในเนื้อร้องของตน เห็นได้จากการแข่งขันรอบ Final Rhyme เตชิต พรนิธิดล หรือ Chitswift เนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลง ‘เด็กน้อย’ ที่เขาแต่งขึ้นนั้นมีใจความว่า “เราเป็นเด็กไม่มีสิทธิ์จะอ้าปาก บางเรื่องที่รู้ว่าผิดต้องดัดจริตใส่หน้ากาก เพราะไม่กล้าเลยต้องปิดไม่พูดตรงตามใจอยาก คำสอนที่มันสถิตทำเรางงเมื่อหน้าฉาก” ส่วนในอีกเพลงหนึ่ง กรวิก จันทร์แด่น หรือ ‘หมวดแวน’ นั้นใส่ชุดนักเรียนขึ้นแร็ปบนเวทีเพื่อสะท้อนประเด็นเรื่องเด็กถูกครูตำหนิเพราะตั้งคำถาม
“วิธีเดียวที่เราจะสามารถยกประเด็นเหล่านี้มาพูดได้คือผ่านดนตรีฮิปฮอป เนื้อเพลงของผมคือการประท้วงก็จริง แต่มันก็เป็นอะไรที่ส่วนตัวมากด้วย ผมไม่ได้โจมตีสังคมโดยรวมหรือรัฐบาล ผมแค่อธิบายสิ่งต่างๆ จากมุมมองของผม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเคยคิดว่าคงไม่มีวันได้ทำ” ธนายุทธกล่าว ก่อนจะเสริมว่า “อินเทอร์เน็ตทำให้การแชร์เพลงง่ายขึ้น และช่วยให้คนได้ยินเสียงเราด้วย คลองเตยเป็นสลัมก็จริง แต่มันไม่ใช่อย่างที่คนคิด ผมเลือกใช้ดนตรีฮิปฮอปเพื่อเล่าเรื่องราวของผม ปกป้องตัวเองจากคนที่ดูถูกผม และเล่าให้เขาฟังว่าจริงๆ แล้วมันเป็นยังไง” โดยนอกจากธนายุทธแล้ว กลุ่มศิลปินอย่าง Rap Against Dictatorship ก็ได้เลือกใช้ดนตรีแร็ปเพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมือง โดยวิดีโอของพวกเขาซึ่งถูกโพสต์ลงในยูทูปเมื่อเดือนตุลาคมมียอดผู้เข้าชมถล่มทลายเกือบ 30 ล้านคนภายในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์เศษ และได้รับความสนใจจากสื่อในประเทศแทบทุกสำนัก
เมธีเห็นด้วยว่าโลกดิจิทัลนั้นเป็นเครื่องมือที่ช่วยทลายอุปสรรคในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ และเปิดโอกาสให้คนพูดในสิ่งที่ตนคิดผ่านเสียงดนตรี กระนั้น มันก็มาพร้อมข้อเสียที่ไม่อาจมองข้าม “วัฒนธรรมฮิปฮอปกลายเป็นเรื่องของสิ่งฟุ่มเฟือย ตอนนี้มันถูกใช้มันเพื่อโอ้อวดรสนิยมและสิ่งของเงินทองมากกว่าการสะท้อนประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ศิลปินฮิปฮอปยุคแรกๆ นั้นแต่งเพลงสะท้อนรากเหง้าของตัวเอง แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจเรื่องนี้ มีศิลปินจำนวนไม่มากที่ทำเพลงฮิปฮอปเพราะใจรัก และในจำนวนนี้ มีเพียงหยิบมือที่มีเรื่องราวให้บอกเล่าจริงๆ” เมธีรำพึง
ทุกวันนี้วงการดนตรีทั้งในไทยและต่างประเทศ มียอดไลก์และยอดแชร์เป็นตัวสร้างกระแสและรายได้ กระทั่งดนตรีแร็ปเองก็เน้นเรื่องเชิงพาณิชย์สูงขึ้นมาก เห็นได้จากการอัดฉีดเนื้อหาฟังสนุกมากกว่าเรื่องราวชวนขบคิดทางสังคมและการเมือง บางคนมองว่าดนตรีฮิปฮอปนั้นกำลังเดินไปในทิศทางแบบ ‘พิมพ์นิยม’ มากขึ้น “หลายคนมีพรสวรรค์แต่ไม่มีใครสนใจ เพราะถูกบดบังโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงกว่า ผมไม่ได้บอกว่าการทำสิ่งที่คุณรักและสร้างชื่อเสียงจากมันเป็นสิ่งที่แย่ แต่ ‘ดาว’ พวกนี้ส่วนมากจะถูกลืมภายในหนึ่งปี หรือไม่ก็หันไปวิ่งตามกระแสใหม่ๆ แทน” เมธีกล่าว
แต่ศิลปินรุ่นใหม่อย่างธนายุทธไม่เห็นด้วย เขาเชื่อว่าความนิยมครั้งใหม่ของดนตรีฮิปฮอปจะยังยืนหยัดต่อไป สำหรับเขา กระแสวงการฮิปฮอปในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องของดนตรี วัฒนธรรม มิตรภาพ และการสื่อสารข้อความบางอย่างออกไปมากกว่า และดนตรีฮิปฮอปก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และกระทั่งรสนิยมทางแฟชั่นของผู้คนจำนวนมาก แต่วัฒนธรรมฮิปฮอปในประเทศไทยก็อาจบอกใบ้ถึงสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้น กล่าวคือ การหยิบยกประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครกล้าพูดถึงในสังคมไทยขึ้นมาพูดและเป็นกระบอกเสียงให้กับคนตัวเล็กๆ
ไม่มีใครรู้ว่าวงการฮิปฮอปที่นี่จะก้าวไปในทิศทางใด แต่ที่แน่ๆ คือเวลาของมันได้มาถึงแล้ว ■
Essentials