HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


นักลงทุนสถาบันต่างประเทศมองเศรษฐกิจปี 2019

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


แบงก์ออฟอเมริกา พันธมิตรของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ทำการสำรวจความเห็นของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเป็นประจำ และในการสำรวจความเห็นระหว่างวันที่ 2-8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีข้อมูลและแนวคิดที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2019 ผมจึงขอสรุปมุมมองของกลุ่มนักลงทุนดังกล่าวมาเพื่อทราบกันในครั้งนี้ครับ

มีผู้บริหารกองทุนรวมทั้งสิ้น 225 คนที่ตอบแบบสำรวจ โดยผู้บริหารดังกล่าวรับผิดชอบบริหารกองทุนประเภทต่างๆ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 641,000 ล้านเหรียญ ซึ่งมุมมองในแง่ดีของนักลงทุนมีดังนี้

• มีเพียง 11% ของนักลงทุนที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่สภาวะถดถอย (recession) ในปี 2019

• นักลงทุนยังให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น (สินทรัพย์เสี่ยง) เล็กน้อย ทั้งนี้เสียงส่วนมากยังมองว่าราคาหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) จะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้อีกประมาณ 12% จากระดับปัจจุบัน นักลงทุนปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่โดยรวมยังให้น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (underweight) ในระยะยาว

• โดยรวมนั้น นักลงทุนสถาบัน 45% มองว่าสินทรัพย์ที่น่าจะให้ผลตอบแทนสูงสุดในปี 2019 คือหุ้นที่ไม่ใช่หุ้นในประเทศสหรัฐฯ ทั้งนี้ 17% เชื่อว่าหุ้นในสหรัฐฯ จะให้ผลตอบแทนสูงสุด และอีก 15% เชื่อว่าสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) จะให้ผลตอบแทนสูงสุด

สำหรับข้อกังวลของนักลงทุนสถาบันใน ปี 2019 นั้น ปัจจุบันเสี่ยงลำดับต้นคือสงครามการค้า (35%) ตามมาด้วยการตึงตัวทางการเงินจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและการลดทอนงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (26%) และการชะลอตัวลงของประเทศจีน (14%) นอกจากนั้นปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่มีการกล่าวถึงเพิ่มขึ้นมาคือวิกฤติในสหภาพยุโรป (9%) ซึ่งสะท้อนความเป็นห่วงประเด็นเกี่ยวกับ Brexit และความขัดแย้งเรื่องงบประมาณประจำปีของอิตาลี และความกังวลว่าภาคเอกชน (ทั้งครัวเรือนและบริษัท) จะเริ่มมีปัญหาในการชำระดอกเบี้ยและหนี้สิน (credit default) แต่เป็นเสียงส่วนน้อยเพียง 7%

แนวโน้มที่ดอกเบี้ยระยะยาวน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2019 นั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เพราะจะกระทบกับการกู้ระยะยาว เช่น การผ่อนรถยนต์และการผ่อนบ้านที่อยู่อาศัย ตลอดจนจะเป็นข้อจำกัดในการออกตราสารหนี้ของบริษัทต่างๆ และในอีกด้านหนึ่งจะ ลดความน่าสนใจในการลงทุนในหุ้น


ในภาพรวมนั้นนักลงทุนสถาบันสัดส่วนสูงถึง 44% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากที่สุดในรอบ 10 ปี แต่สัดส่วนที่มองว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงไปในรอบ 12 เดือนยังสูงกว่านั้นอีกคือ 54%

นักลงทุนเสียงส่วนใหญ่ถึง 70% มองว่าเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ทั่วโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้า ตรงนี้อาจมีความแตกต่างจากประเทศไทย ซึ่งเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำและกำลังปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ เงินเฟ้อพื้นฐานของไทยนั้น ปัจจุบันยังต่ำกว่า 1% และน่าจะต่ำกว่า 1% ต่อไปในปี 2019 แต่เงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ นั้นอยู่ที่ระดับ 2% แล้ว และมีแรงกดดันให้เพิ่มขึ้นได้อีกอย่างมีนัยสำคัญ เพราะอัตราการว่างงานต่ำ ทำให้มีรายงานการขาดแคลนแรงงานอย่างกว้างขวางและจำเป็นต้องปรับขึ้นเงินเดือน 5-7% ในบางกรณี นอกจากนั้นนโยบายสกัดกั้นการนำเข้าแรงงานของประธานาธิบดีทรัมป์ ยิ่งน่าจะเพิ่มแรงกดดันในส่วนนี้ สำหรับการดำเนินนโยบายเพิ่มภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ในสินค้าหลากหลายประเภทนั้นก็จะเพิ่มต้นทุนการผลิตและเพิ่มราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นอีกในปี 2019

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ นั้นย่อมจะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อไปอีก ทั้งนี้ หลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในวันที่ 19 ธันวาคมไปที่ 2.5% แล้ว เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ก็ยังประเมินว่าจะต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 3 ครั้งในปี 2019 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะสูงเกินกว่า 3% ในปลายปี 2019 ซึ่งตลาดล่วงหน้ายัง “ไม่เชื่อ” คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เพราะประเมินว่าจะมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง

นักลงทุนส่วนใหญ่คงจะติดตามดูแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างใกล้ชิด เพราะเชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเป็นแรงกดดันให้ราคาหุ้นปรับลดลง ทั้งนี้หลายคนอาจคาดหวังว่า หากราคาหุ้นปรับลดลง ก็จะเป็นการส่งสัญญาณโน้มน้าวให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอหรือยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ประเด็นนี้แบงก์ออฟอเมริกาฟันธงว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะไม่ค่อยหวั่นไหวกับราคาหุ้น กล่าวคือราคาหุ้นจะต้องปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและฉับพลันจนประเมินได้ว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวม (ไม่ใช่เพียงแต่กระทบเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่) อย่างมีนัยสำคัญ ธนาคารกลางจึงจะพิจารณาลดทอนแผนการปรับขึ้นดอกเบี้ย

แต่ในเรื่องของดอกเบี้ยนั้น ผมคิดว่าจะต้องติดตามดูทั้งดอกเบี้ยระยะสั้น (ดอกเบี้ยนโยบาย) ที่กำหนดโดยธนาคารกลางและดอกเบี้ยระยะยาวที่กำหนดโดยกลไกตลาด ซึ่งจะปรับตัวขึ้นลงจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยหลักคือการประเมินอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ความเสี่ยงต่างๆ และการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งหากเพิ่มขึ้นมากก็จะทำให้ต้องออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นและเป็นแรงกดดันให้ดอกเบี้ยระยะยาวต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ในระหว่างการลดทอนงบดุล ก็จะยังเป็นการทำให้มีปริมาณพันธบัตรรัฐบาลเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอีกประมาณปีละ 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย

แนวโน้มที่ดอกเบี้ยระยะยาวน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2019 นั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เพราะจะกระทบกับการกู้ระยะยาว เช่น การผ่อนรถยนต์และการผ่อนบ้านที่อยู่อาศัย ตลอดจนจะเป็นข้อจำกัดในการออกตราสารหนี้ของบริษัทต่างๆ และในอีกด้านหนึ่งจะลดความน่าสนใจในการลงทุนในหุ้นเพราะการลงทุนในตราสารหนี้หรือพันธบัตรรัฐบาลมีความเสี่ยงน้อยกว่า ทั้งนี้นักลงทุนสถาบันต่างประเทศที่ตอบแบบสอบถามมองว่าหากดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 3.7% หรือมากกว่านั้น (ปัจจุบันเกือบ 3%) ความสนใจในการลงทุนในหุ้น จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญครับ