HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

CLIENT VALUES


Lifting the Bar

เรื่องราวการสร้างความต่างด้วยความกล้าของเพาพะงาและบุษบาวรรษ์ สิทธิคู แห่งแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาแฟชั่น Fitcraze

สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงฟิตเนส ชื่อ Fitcraze อาจฟังไม่คุ้นหูเท่าไรนัก แต่สำหรับใครก็ตามที่หลงใหลการออกกำลังกายอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะแสดงความชอบนั้นผ่านเครื่องแต่งกายแบบคนมี ‘ฟิตเครซ’ แล้ว แบรนด์ขายเสื้อผ้าแนวสปอร์ตนี้ คือศูนย์รวมของสินค้ากีฬาแนวแฟชั่นทั้งไทยและเทศไว้กว่า 48 แบรนด์ ซึ่งสองสาวพี่น้องผู้ก่อตั้ง เพาพะงา และบุษบาวรรษ์ สิทธิคู ได้คัดสรรมาให้อย่างดีว่าตอบโจทย์ทั้งในด้านคุณภาพ ความหลากหลาย และสไตล์อันเรียบหรูโดดเด่น

อย่างไรก็ตาม ฟิตเครซไม่ได้ต้องการจะเป็นเพียงแพลตฟอร์มค้าขายเสื้อผ้ากีฬา หากยังอยากก้าวไปสู่ความเป็นชุมชนสำหรับคนที่มีไลฟ์สไตล์รักสุขภาพ สะท้อนถึงจุดยืนของแบรนด์ซึ่งถือกำเนิดมาจากความหลงใหลในการออกกำลังกายและแฟชั่น อีกทั้งความกล้าที่จะไปให้ได้ไกลว่ามาตรฐาน ดังที่ได้ประกาศไว้ในสโลแกนของแบรนด์ว่า ‘Be Crazy, Be Bold’

ค้นหาตัวเอง

เพาพะงา: เราเรียนจบด้านการออกแบบสิ่งทอ สาขา Knitwear จากประเทศอังกฤษและเปลี่ยนงานมาค่อนข้างบ่อย ตอนอยู่ที่อังกฤษ เคยฝึกงานเป็นผู้ช่วยดีไซน์เนอร์อยู่ประมาณหนึ่งปี แล้วก็มาเป็น specialist ของร้าน Apple พอกลับมาเมืองไทยก็ไปสมัครงานเป็นดีไซน์เนอร์ของบริษัทในเครือสหพัฒน์ฯ ทำได้สักพัก ก็เบนเข็มไปทำงานด้าน digital marketing ที่เอเจนซี่ TBWA\Thailand อยู่อีกหนึ่งปี ก่อนจะมาเรียนต่อที่ศศินทร์ฯ (สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เรียนจบยังไปฝึกงานด้านอีคอมเมิร์ซกับ Rocket Internet ที่ประเทศจีนอีกประมาณเกือบ 6 เดือน คือถ้าเราไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ก็ต้องค้นหาไปเรื่อยๆ ลองทำให้หมดทุกอย่าง

บุษบาวรรษ์: เราจบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจสาขา Marketing Finance จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ตั้งแต่อายุ 19 ปี แต่ความจริงแล้วเราชอบแฟชั่น พอกลับมาไทยก็เลยไปสมัครงานกับ Club 21 ในฝ่ายจัดซื้อ ตอนนั้นเด็กที่สุดในบริษัท เหมือนเป็นการพิสูจน์ตัวเองไปในตัวว่าต่อให้อายุน้อยเราก็สามารถทำได้ แล้วในช่วง 3 ปีที่ทำงาน เรามีโอกาสเรียนรู้หลายอย่างมาก ได้ไปซื้อของที่ต่างประเทศ ได้เรียนงานจากคนเก่งๆ ในวงการ ได้เรียนรู้รายละเอียดของระบบ retail operations ทีนี้พอทำงานได้สักพัก เลยตัดสินใจไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจที่ศศินทร์ฯ เพราะเราทั้งคู่อยากทำธุรกิจของตัวเองมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วเราก็เรียนเมืองนอกกันมาด้วย เลยอยากหาคอนเนกชันที่เป็นคนไทยเพิ่ม

จุดเริ่มต้น Fitcraze

เพาพะงา: แบรนด์ฟิตเครซมาจากความชอบในการออกกำลังกายและแฟชั่นของเราสองคน ประกอบกับกระแสเรื่องการดูแลสุขภาพกำลังมาพอดี เราเลยอยากหันมาจับตลาดตรงนี้ โดยเอาทักษะและประสบการณ์ของเราทั้งคู่มาแชร์กัน แล้วก็ลุยทำกันเองแค่สองคนเลย ทำพรีเซนเทชันใน Canva ไปเสนอกับแบรนด์ต่างๆ ว่าเราจะทำคอนเซปต์ประมาณนี้ คุณจะมาร่วมกับเราไหม เราโชคดีที่แบรนด์ค่อนข้างเปิดใจให้เรา

บุษบาวรรษ์: เราเริ่มต้นจากธุรกิจออนไลน์ ซึ่งใช้ระบบที่เรียกว่า ‘drop shipping’ คือเราไม่ต้องถือสต็อกสินค้าเอง ตอนนั้นธุรกิจออนไลน์ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าปัจจุบัน ก็ถือเป็นช่วงลองผิดลองถูกพอสมควร ตอนแรกเราไม่รู้แม้กระทั่งว่าจะสั่งกล่องจากที่ไหน เรื่องกฎหมายเราจะคุยกับใคร ช่วงแรกที่ออกไปหาลูกค้า เราส่งอีเมลไปแนะนำตัวกับแบรนด์ต่างๆ ตอนนั้นเว็บไซต์ยังไม่เรียบร้อย ก็ต้องอาศัยการเล่าแผนที่วางไว้ให้เขาฟัง เล่าถึงความตั้งใจที่อยากให้คนไทยหันมารักสุขภาพ พอคุยกันแล้วลงตัว เราเลยได้แบรนด์ที่มาร่วมด้วยค่อนข้างเร็ว วันแรกที่เปิดตัว เรามีแบรนด์ไทยและแบรนด์นอกอยู่ในมือประมาณยี่สิบกว่าราย

24/7

เพาพะงา: การทำธุรกิจของตัวเองคือการทำงาน 24 ชั่วโมง 7 วัน ต่อสัปดาห์ มันไม่ใช่การทำงาน 9 โมงถึง 5 โมงเย็นหรือเลือกได้ว่าฉันจะเลิกงานเมื่อไหร่ พอกลับบ้านไปก็ยังต้องนอนคิดเรื่องงาน ฝันก็ยังฝันถึงเรื่องงาน เลยทำให้รู้ว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจไม่ใช่สิ่งสวยหรู แต่เราจะรู้สึกดีว่านี่คือผลงานของเรา มันคือความภาคภูมิใจ แต่สิ่งที่ทำนั้นเหนื่อยและเครียดกว่างานประจำมาก บางเดือนยอดขายเงียบฉี่ หรือสินค้าบางอย่างเราเอาไปลงแล้วขายไม่ดีเท่าที่คาดไว้ เราก็ต้องรีบหาทางแก้ไข

การทำธุรกิจของตัวเองคือการทำงาน 24 ชั่วโมง 7 วัน ต่อสัปดาห์ มันไม่ใช่การทำงาน 9 โมงถึง 5 โมงเย็นหรือเลือกได้ว่าฉันจะเลิกงานเมื่อไหร่

ความเร็วคืออาวุธ

บุษบาวรรษ์: ตอนที่ทำออนไลน์แรกๆ ทุกอย่างมันช้ามากเพราะคนยังไม่ค่อยนิยมออนไลน์ แล้วด้วยความที่เราเป็นสตาร์ทอัพ เงินลงทุนของเราอาจไม่ได้มากเท่ารายใหญ่ ความได้เปรียบก็ต่างกัน อย่างตอนแรกๆ เราเริ่มปั้นจนมีฐานลูกค้าประจำแล้ว แต่อยู่มาวันหนึ่ง แบรนด์นี้ถูกนักลงทุนรายใหญ่จับเซ็นสัญญาเป็น exclusive ไป ด้วยความที่เราเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เราเลยอาจจะถูกดึงแบรนด์ทำเงินในมือไปได้ง่ายๆ ตอนนั้นเราก็แก้ไขด้วยการหาแบรนด์เพิ่ม แล้วก็พยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่เคยติดแบรนด์นี้ ว่าแบรนด์ใหม่ที่เรานำเข้ามาก็ดีไม่แพ้กัน

เพาพะงา: เราจะชอบติดตามข่าวสาร อ่านบทความออนไลน์ เพราะมันเร็ว แล้วก็คอยจับตาดูธุรกิจอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ๆ ทั้งในและต่างประเทศอยู่ตลอด ไม่ว่าจะ Nike หรือ JD Sports แล้วเราก็เอาความรู้ตรงนั้นมาประยุกต์ให้เข้ากับแบรนด์ของเรา เราอาจไม่ได้มีเงินมากพอจะลงทุนเรื่องเทคโนโลยี แต่อะไรที่เราเล่นได้ เช่น QR Code หรือการเชื่อมออนไลน์เข้ากับออฟไลน์ เราก็จะพยายามทำ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว บางครั้งแบรนด์ใหญ่ๆ เขาก็อาจจะหันมาทำเหมือนเรา สิ่งนี้ทำให้เราต้องพยายามก้าวให้เร็วกว่าคนอื่น ธุรกิจใหญ่ๆ เวลาจะทำอะไรทีเขาช้ากว่าเราซึ่งมีคนตัดสินใจแค่สองคน ฉะนั้นอะไรไม่เวิร์ค เราต้องรีบคิดเลยว่าจะปรับตรงไหน เพิ่มหรือตัดอะไร ที่ฟิตเครซเราจะคอยหาสินค้าใหม่ๆ เข้ามาอยู่ตลอด ลูกค้าหลายคนจะรู้สึกว่า แบรนด์นอกแบรนด์นี้ยังไม่เข้าไทยเลย แต่ฟิตเครซเอามาแล้ว จริงๆ เราว่าทุกคนมีไอเดียเหมือนกันหมด ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าใครจะขยับตัวได้ไวกว่า

ที่ฟิตเครซเราจะคอยหาสินค้าใหม่ๆ เข้ามาอยู่ตลอด ลูกค้าหลายคนจะรู้สึกว่า แบรนด์นอกแบรนด์นี้ยังไม่เข้าไทยเลยแต่ฟิตเครซเอามาแล้ว จริงๆ เราว่าทุกคนมีไอเดียเหมือนกันหมด ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าใครจะขยับตัวได้ไวกว่า

จากออนไลน์สู่ออฟไลน์

เพาพะงา: พอทำได้สักพักก็เริ่มมีลูกค้าส่งข้อความมาถามเยอะขึ้นว่าเรามีที่ไหนให้ลองสินค้าได้บ้าง เราเลยหันมาคิดเรื่องการเปิดหน้าร้านจริงจัง เพราะเสื้อผ้าที่เราขายบางชิ้นมันต้องลองไซส์ และสุดท้ายแล้ว เราอยากให้แบรนด์ของเราเป็น O2O (online-to-offline) คือตัวออนไลน์และออฟไลน์ต้องซัพพอร์ตกันและกัน อย่างเวลาลูกค้าไปที่หน้าร้าน เราก็จะแจกบัตรส่วนลดเพื่อดึงลูกค้าให้กลับไปซื้อออนไลน์ ทำให้เราได้ลูกค้าจากหน้าร้านกลับมาซื้อซ้ำบนออนไลน์​เยอะมาก เพราะมันสะดวกและประหยัดเวลากว่า

บุษบาวรรษ์: เราพยายามจะทำให้ประสบการณ์ของลูกค้ามัน seamless ให้โลกออนไลน์และออฟไลน์สามารถเชื่อมกันได้อย่างไร้รอยต่อ อีกอย่างพอแบรนด์เรามีหน้าร้าน คนซื้อก็จะเห็นคาแร็กเตอร์ของเราชัดขึ้น และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวแบรนด์ จนตอนนี้เรามีทั้งลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำและลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น และในอนาคตอันใกล้ เราก็ตั้งใจว่าจะขยายสาขาเพิ่มอีก

‘พ็อพอัพ’ สโตร์

บุษบาวรรษ์: ด้วยความที่ทรัพยากรเรามีจำกัด สายป่านของเราอาจจะไม่ได้ยาวเท่าคนอื่น ฉะนั้น ถ้าอะไรทำแล้วไม่เวิร์ค เราควรจะเอาเงินไปลงทุนทำอย่างอื่นดีกว่า นี่เป็นเหตุผลที่ฟิตเครซเลือกเปิดร้านในลักษณะ ‘พ็อพอัพสโตร์’ เพราะถ้าเกิดเราตกลงเซ็นสัญญาอยู่กับที่ใดที่หนึ่ง 3 ปี แล้วขายไม่ได้ ก็เท่ากับเราเอาเงินไปจมอยู่ตรงนั้นเป็นระยะเวลานานๆ การทำร้านในลักษณะพ็อพอัพมันให้ความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้เร็วกว่า สอดรับกับความเป็นสตาร์ทอัพของธุรกิจเรา

ไม่วิ่งตามกระแส

เพาพะงา: การจะอยู่รอดท่ามกลางคู่แข่ง สิ่งสำคัญคือเราต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ว่าเห็นตรงนี้ดีเราก็จะเปลี่ยนไปทำตามเขา เราต้องรู้ว่าจุดยืนเราคืออะไร นั่นคือสิ่งที่จะทำให้แบรนด์เราแข็งแกร่ง อย่างก่อนจะมาทำฟิตเครซ เราชอบออกกำลังกายมาตั้งแต่อายุ 18-19 ปี สามารถเข้าฟิตเนสแล้วก็อยู่กับมันได้ทั้งวัน ส่วนพุกเขาก็ชอบแฟชั่น แบรนด์นี้เลยเป็นเหมือนภาพสะท้อนตัวตนของเราสองคน

บุษบาวรรษ์: ถ้าเรารู้ว่าเราชอบอะไร แล้วเราสนุกกับมัน เราจะสามารถอยู่รอดในธุรกิจได้ ไม่ใช่ไปทำตามกระแส เห็นใครขายดีก็ทำตามกันไป แต่ไม่เข้าใจองค์ประกอบของธุรกิจนั้นๆ สุดท้ายมันก็จะไปไม่รอด อย่างฟิตเครซ เราเป็นแบรนด์ที่รวบรวมเสื้อผ้าออกกำลังกายโดยเฉพาะของผู้หญิงไว้หลากหลายแบรนด์ แล้วเราก็พยายามวางภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นผู้นำกระแส ซึ่งเรารู้สึกว่าในประเทศไทยยังไม่มีแบรนด์ไหนที่มีจุดยืนอย่างเรา

เดินตามต้นแบบ

เพาพะงา: เราสองคนมีคุณพ่อ (พงศ์ไพบูลย์ สิทธิคู) เป็นต้นแบบ ทั้งเรื่องรสนิยม ไลฟ์สไตล์ แนวคิด และมุมมองการทำธุรกิจ ส่วนมากเราจะคุยกับท่านตลอดว่าอย่างนี้ดีไหม โอเคหรือเปล่า เพราะคุณพ่อเป็นคนที่เนี้ยบมาก ถ้าเห็นอะไรไม่สวย ท่านติเลย เราก็เลยได้ความเห็นที่ตรงจุดจริงๆ แล้วท่านเป็นคนที่ขยันมาก ก็เลยเหมือนเป็นต้นแบบให้เราว่า เราต้องทำงานหนัก ถ้าเราชอบอะไรต้องไปให้สุด แล้วท่านก็สอนให้เราเป็นคนลุยๆ ไม่ฟุ้งเฟ้อ

บุษบาวรรษ์: คุณพ่อจะสอนให้เรารู้จักตัวเองตั้งแต่เด็ก ท่านจะคอยถามว่าอยากเป็นอะไร จะเตรียมวางแผนเรื่องการศึกษาให้เรา คอยสนับสนุนในสิ่งที่เราชอบตลอด อย่างตอนเด็กๆ เราสนใจด้านแฟชั่น คุณพ่อก็พาบินไปดูโรงเรียนด้านแฟชั่นที่ดีที่สุดในนิวยอร์กเลย ท่านเห็นว่าถ้าเราได้ทำอะไรที่ตัวเองชอบจริงๆ เราจะทำมันได้ดี เหมือนที่คุณพ่อชอบด้านศิลปะและภาพยนตร์ พอท่านรู้จักตัวเอง ก็เลยสามารถทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้

สุดท้ายเราเชื่อว่าเราไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น แต่เรามีความ crazy คือกล้าที่จะทำ บางคนอาจจะคิดว่า อยากทำสิ่งนี้ แต่ไม่ยังพร้อม แต่ความ crazy ความ bold มันคือความกล้า ฉันอยากทำ ฉันทำมัน ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ นี่คือ mindset ที่เราคิดว่าทำให้เราแตกต่าง

มากกว่าเสื้อผ้ากีฬา

บุษบาวรรษ์: ในอนาคต เราอยากเป็นศูนย์รวมทุกอย่างเกี่ยวกับฟิตเนส ซึ่งเราจะเริ่มจากการพาร์ทเนอร์กับสตูดิโอออกกำลังกายใหญ่ๆ ก่อน ให้คนเห็นเราบ่อยขึ้น ทำไปทีละขั้น แล้วช่วงปีที่ผ่านมา เราก็เริ่มมีออกแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองด้วย คือ Fitcraze Basic ซึ่งเป็นเสื้อผ้าออกกำลังกายสีเรียบๆ ใส่ได้ทุกวันทั้งผู้ชายและผู้หญิง กับ Lovewins ที่จะเป็นคอลเลกชันแนวแฟชั่นเปรี้ยวๆ เหมาะกับทั้งใส่ไปเที่ยวและออกกำลังกาย คือทุกอย่างที่เราทำ เราแพลนให้ฟิตเครซไม่ใช่แค่เสื้อผ้า แต่ว่าเป็นไลฟ์สไตล์ คือมีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร ยิม อาหารเสริม โดยใช้จุดเริ่มต้นจาก CRM หรือความรู้เรื่อง Client Relationship Management ที่เรามีในวันนี้

เพาพะงา: เดี๋ยวนี้ธุรกิจขายเสื้อผ้าออกกำลังกายมันมีขึ้นมาเต็มไปหมด ตลาดก็เริ่มซาลง เลยรู้สึกว่าเราต้องเริ่มปรับทิศทางธุรกิจไปทางอื่น เพราะกระแสรักสุขภาพน่าจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน แต่เราจะขายแค่เสื้อผ้าไม่ได้แล้ว ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาเสริม อย่างตอนนี้เราก็หันมา collaborate กับบรรดาสตาร์ทอัพมากขึ้น อาทิ GuavaPass กับ ClassPass หรือเริ่มจับเรื่องอาหารเสริม สุดท้ายเราเชื่อว่าเราไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น แต่เรามีความ crazy คือกล้าที่จะทำ บางคนอาจจะคิดว่า อยากทำสิ่งนี้ แต่ไม่ยังพร้อม แต่ความ crazy ความ bold มันคือความกล้า ฉันอยากทำ ฉันทำมัน ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ นี่คือ mindset ที่เราคิดว่าทำให้เราแตกต่าง

รู้จักกับเพาพะงา และบุษบาวรรษ์ สิทธิคู



เพาพะงา สิทธิคู จบการศึกษาด้านการออกแบบสิ่งทอ สาขา Knitwear จาก Chelsea College of Art and Design ประเทศอังกฤษ และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Business Development Manager ของบริษัท นูค จำกัด ส่วนบุษบาวรรษ์ สิทธิคู จบปริญญาตรี สาขา Marketing Finance จาก University of Melbourne และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Head Buyer ของบริษัท นูค จำกัด ปัจจุบันฟิตเครซมีสาขาทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ Seen Space ทองหล่อ, Gaysorn Village, Icon Siam และ Market Place นางลิ้นจี่