SECTION
ABOUTBEYOND BOUNDARIES
Surreal Wonders
แม้จะไม่เป็นที่รู้จักเท่าประเทศแอฟริกาใต้ แต่เพื่อนบ้านอย่างนามิเบียก็นำเสนอตัวตนและประสบการณ์การท่องเที่ยวแอฟริกาได้อย่างครบรสจนนักท่องเที่ยว ทั่วโลกต้องมาเยือนสักครั้ง
คำถามที่ว่า หากถึงฝั่งแล้ว คนเราจะยังหลงกันอยู่อีกหรือไม่ ดูเป็นปัญหาน่าขบขัน แต่สำหรับเรือล่าอาณานิคมและเรือล่าวาฬจำนวนนับไม่ถ้วนที่เดินเรือเลียบชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของแอฟริกาในช่วงทศวรรษที่ 15-19 นั้น สิ่งนี้คือประเด็นเป็นตาย บนชายฝั่งของประเทศนามิเบียเป็นที่ตั้งของ ‘ชายฝั่ง โครงกระดูก’ ชายหาดซึ่งทอดตัวยาว 500 กิโลเมตรและมีความกว้างกว่า 40 กิโลเมตร เรียกได้ว่าเป็นชายหาดที่น่ากลัวที่สุดในโลก ที่นี่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ อาศัยอยู่ และมีฝนตกน้อยกว่า 10 มิลลิเมตรต่อปี ยามยืนอยู่บนแนวชายฝั่ง ผู้มาเยือนจะพบว่าตัวเองถูก รายล้อมไปด้วยความเวิ้งว้างไม่รู้จบ กล่าวคือ น้ำทะเลด้านหนึ่ง ทะเลทรายอันแห้งแล้งด้านหนึ่ง และแสงอาทิตย์ที่พร้อมแผดเผาทุกชีวิตที่ย่างกรายเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ สมัยที่เรือยังขับเคลื่อนด้วยแรงลมและมนุษย์ คลื่นแรงจะช่วยซัดเรือเข้าฝั่ง แต่การเดินเรือออกจากฝั่งนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย หนทางออกเพียงทางเดียวคือผ่านทะเลทรายอันแห้งเหือดเป็นระยะทางหลายร้อยไมล์ ชายฝั่งแห่งนี้ได้กลืนกินเรือเดินสมุทรมาแล้วนับร้อยลำตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา และซากเรืออัปปางยังคงปรากฏให้เห็นตลอดแนวชายฝั่งไม่ต่างจากเสาหินในสุสานโบราณ ชนเผ่าพื้นเมืองบางกลุ่มเรียกส่วนนี้ของประเทศว่า ‘ดินแดนที่พระเจ้าบันดาลด้วยโทสะ’ ในขณะที่การล่าอาณานิคมที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นที่มาของผลลัพธ์เลวร้ายหลายประการ สถานที่แห่งนี้ยังได้รับการขนานนามเป็นพิเศษจากผู้ล่าอาณานิคมอย่างโปรตุเกสว่า ‘ประตูสู่นรก’
แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่จะยังไม่สามารถป้องกันเรือจากการอับปางบนชายฝั่งโครงกระดูกได้อย่างสมบูรณ์ (เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา เรือประมงญี่ปุ่นฟูกุเซกิ มารุ ได้ถูกซัดเข้าชายฝั่งและทางการนามิเบียต้องเข้ากู้ภัยเพื่อช่วยชีวิตลูกเรือ) กระนั้น ดินแดนแห่งนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวเท่ากับสมัยก่อนอีกแล้ว เช่นเดียวกับสิ่งมหัศจรรย์อันน่าเกรงขามอีกหลายแห่งของโลก ที่ปัจจุบันถูกเปลี่ยนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งมาพร้อมกับความสะดวกสบาย เนื่องด้วยระบบคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ครบครัน ภายในอุทยานแห่งชาติ Skeleton Coast National Park แห่งนี้ การเดินทางผ่านผืนทรายแห้งแล้งฟุ้งด้วยฝุ่นจึงทำได้ง่ายกว่าที่เคยเป็นมา และในยามเย็น ผู้มาเยือนสามารถนั่งจิบไวน์และรับประทานอาหารเลิศรสที่รีสอร์ทหรู Hoanib Skeleton Coast Camp พลางชมทิวทัศน์ของเขตอนุรักษ์ธรรมชาติปาล์มแว็กซ์ที่ซึ่งโขดหินเรียงรายจรดกับสันทราย ประตูสู่นรกแห่งนี้ไม่ได้ไร้ซึ่งความปรานีดังเช่นแต่ก่อนแล้ว
“ในบรรดาสถานที่ทั้งหมดที่สามารถไปเยือนได้ในแอฟริกาแถบใต้ทะเลทรายซาฮารา นามิเบียน่าจะเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวมากที่สุด ที่นี่คุณมีโอกาสเจอสัตว์ป่าทุกชนิดที่พบได้ในส่วนอื่นๆ ของแอฟริกา รวมถึงประชากรแรดดำฝูงสุดท้าย รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติและพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ภูมิประเทศที่นี่นั้นสวยติดอันดับต้นๆ ของโลกเหมือนกับที่เห็นในภาพถ่ายไม่มีผิด” โคเอ็น อัลเบอร์ส กล่าว เขาคือมัคคุเทศก์ชาวเนเธอร์แลนด์ซึ่งทำงานร่วมกับโฮนิบ สเกเลตัน โคสต์ แคมป์ และจัดชั้นเรียนสอนโต้คลื่นตามแนวชายฝั่งโครงกระดูกอยู่เป็นประจำ
สิ่งหนึ่งที่ควรรู้ก่อนบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังนามิเบียนั้นคือขนาดของประเทศ นามิเบียมีพื้นที่ใหญ่เป็นเกือบ 2 เท่าของประเทศไทย แต่มีประชากรเพียง 2 ล้านคน และรายล้อมไปด้วยทุ่งหญ้าและธรรมชาติไพศาล ทำให้ในตอนแรก นักท่องเที่ยวอาจรู้สึกกังวลว่าจะไม่สามารถชื่นชมความงามของนามิเบียได้ครบถ้วนภายในการมาเยือนครั้งเดียว แต่ด้วยเส้นทางคมนาคมที่ค่อนข้างพร้อม (ถือว่าดีเป็นอันดับต้นๆ ในแอฟริกาเขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา) การเก็บสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในนามิเบียซึ่งทั้งกว้างใหญ่และมีความหลากหลายทางภูมิประเทศสูงให้ครบภายในหนึ่ง ทริปนั้นจึงเป็นไปได้ขึ้นมาบ้าง จากเนินสันทรายในทะเลทรายนามิบทางทิศตะวันตก จรดเทือกเขาเขียวชอุ่มทางตอนเหนือ หรือพื้นที่ราบอันอ้างว้างของทะเลทรายคาลาฮารีในทางตะวันออก ตัดกับหุบผาชัน Fish River Canyon ที่กินพื้นที่มหาศาลทางตอนใต้สุดของประเทศ
นามิเบียมีพื้นที่ใหญ่เป็นเกือบ 2 เท่าของประเทศไทย แต่มี ประชากรเพียง 2 ล้านคน และรายล้อมไปด้วยทุ่งหญ้าและธรรมชาติไพศาล
โดยปกติ การเดินทางไปนามิเบียจะเริ่มต้นและสิ้นสุดที่วินด์ฮุก เมืองหลวงซึ่งมีประชากรราว 326,000 คน บางคนกล่าวไว้ว่านามิเบียคือจุดหมายปลายทางที่ดีสำหรับผู้ที่มาท่องเที่ยวแอฟริกาเป็นครั้งแรก เพราะความสะดวกสบายและทันสมัยของวินด์ฮุก เห็นได้จากถนนหนทางซึ่งเรียงรายไปด้วยโรงแรมบูทีคและคาเฟ่ แต่สำหรับนักเดินทางผู้ช่ำชองอาจมองว่าสิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เมืองมีความเป็น ‘ตะวันตก’ มากเกินไป อย่างไรก็ดี การออกท่องสำรวจเมืองเพื่อชื่นชมความงามของโบสถ์นีโอบารอกและปราสาทเยอรมันที่ตั้งอยู่นอกบริบทปกตินั้น ก็ถือว่าเป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่า และแม้เมืองแห่งนี้จะไม่ใช่แดนสวรรค์เรื่องอาหารเหมือนกรุงเทพฯ แต่วินด์ฮุกก็มีร้านอาหารดีๆ เพียงพอไว้รองรับผู้มาเยือน หนึ่งในร้านที่ไม่ควรพลาดคือ Joe’s Beer House ซึ่งเปิดทำการตั้งแต่ปี 1991 โดยโยอาคิม โกรส ชาวเยอรมนีผู้ย้ายรกรากมายังนามิเบีย ร้านแห่งนี้แสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นนามิเบียได้เป็นอย่างดีด้วยการผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมและความสะดวกสบายของโลกสมัยใหม่ไว้ในที่เดียว หลังออกลัดเลาะไปตามถนนสายต่างๆ จนเต็มอิ่มแล้ว หากผู้มาเยือนได้ลิ้มลองเมนู Bushman Sosatie ของทางร้าน (ซึ่งประกอบด้วยเนื้อสะโพกม้าลาย คูดู ออริกซ์ และสปริงบ็อก ที่กลิ่นสาปนั้นเตะจมูก) แล้วกระดกเบียร์วินด์ฮุกลาเกอร์เย็นๆ ตามสักแก้ว ก็จะเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยม หรือถ้ากล่าวตามภาษาอาฟรีกานส์ก็จะต้องบอกว่า “lekker”
วินด์ฮุกยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ศิลปาชีพนามิเบีย โครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐเพื่อรวบรวมช่างฝีมือจากทั่วประเทศมาจำหน่ายสินค้าในสภาพแวดล้อมที่ทันสมัย สะดวกสบาย และสะอาดสะอ้าน ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ในสถานที่ซึ่งเคยเป็นโรงเบียร์ท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศ และปัจจุบันได้สนับสนุนธุรกิจงานฝีมือราว 40 แห่ง จากหมู่บ้านและชนเผ่าต่างๆ ทั่วประเทศ (รวมแล้วมีช่างฝีมือกว่า 4,000 ชีวิต) โดยการเปิดช่องทางให้ช่างฝีมือเหล่านี้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของนามิเบียทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องประดับ ไปจนถึงงานแกะสลักรากต้นไม้
“เราอยากช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานและอำนาจทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่นที่นี่ รวมทั้งสร้างสถานที่ให้ผู้มาเยือนสามารถจับจ่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นได้สะดวก ไม่ใช่ตามตลาดนัดเก่าๆ ที่มีแต่คนมุงต่อราคา” ชารีน ธรูด ผู้จัดการทั่วไปของศูนย์กล่าว ชารีนนั้นเป็นชาวแอฟริกาใต้โดยกำเนิด และทำงานให้คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งนามิเบียและโรงแรมต่างๆ มากว่า 20 ปี ก่อนจะมาร่วมงานกับทางศูนย์ฯ สำหรับเธอ ศูนย์ศิลปาชีพแห่งนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นเท่านั้น หากยังเป็นช่องทางที่ช่วยฝึกอาชีพให้กับคนท้องถิ่นด้วย
“เราภูมิใจที่ได้ช่วยช่างฝีมือเหล่านี้สร้างธุรกิจของตัวเอง เราสอนให้พวกเขาสร้างเว็บไซต์ อบรมทักษะธุรกิจพื้นฐานและเทคนิคใหม่ๆ เพื่อช่วยให้สินค้าของพวกเขาขายดีขึ้น” เธอกล่าว ก่อนจะเสริมว่า “ประเทศนี้มีของดีอีกมากทั้งในด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มันยากที่นักท่องเที่ยวจะออกไปสำรวจให้ครบทุกอย่าง นี่เป็นวิธีที่ดีในการรวบรวมทุกอย่างมาไว้ในที่เดียว”
โดยปกติการเดินทางไปนามิเบียจะเริ่มต้นและสิ้นสุดที่วินด์ฮุก เมืองหลวงซึ่งมีประชากรราว 326,000 คน
แม้นามิเบียจะเคยตกเป็นอาณานิคมของเยอรมนีและแอฟริกาใต้มาร่วมศตวรรษ ก่อนจะได้รับอิสรภาพในปี 1990 วัฒนธรรมพื้นถิ่นก็ยังปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป สำหรับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่แล้ว การได้พบปะกับชาวฮิมบาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ หรือเผ่าซานแห่งทะเลทรายคาลาฮารี ก็นับเป็นประสบการณ์ทางวัฒนธรรมอันแสนประทับใจ โดยวิธีที่ดีที่สุดคือการเดินทางระยะสั้นโดยเครื่องบิน ต่อด้วยการขับรถด้วยตัวเองเองเพื่อออกไปชมภูมิทัศน์รอบๆ เส้นทางที่นี่นั้นค่อนข้างพร้อมและครอบคลุม โดยถนนส่วนใหญ่ลาดด้วยยางมะตอยและได้รับการบำรุงรักษาเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีถนนลูกรังให้พบบ้างอย่างประปราย ทำให้การเช่ารถที่ขับเคลื่อนแบบสี่ล้อดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด การขับรถชมภูมิประเทศด้วยตัวเองเช่นนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และที่นี่นั้นมีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ให้บริการเช่ารถในราคาสมเหตุสมผล อาทิ Namibia Tours & Safaris และ Wild Dog Safaris ซึ่งพร้อมให้บริการช่วยวางแผนเส้นทางการขับรถเที่ยวชมความมหัศจรรย์ของธรรมชาติและภูมิประเทศให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น
พื้นที่ฝั่งตะวันออก ตรงข้ามกับชายฝั่งโครงกระดูก ไม่ไกลจากชายแดนประเทศบอตสวานา เป็นที่ๆ เหมาะสมสำหรับการเดินทางไปพบปะและเรียนรู้วัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองของนามิเบีย ที่นี่นักท่องเที่ยวจะได้พบกับทุ่งหญ้าสุดลูกหูลูกตาอันเป็นภาพจำของทวีปแอฟริกาในหัวของทุกคน และยังเป็นที่ตั้งของ Uakii Eco Guesthouse ซึ่งมีกาลาดี ยอมบอนด์ ทำหน้าที่ผู้จัดการเกสต์เฮาส์ควบคู่ไปกับการเป็นครูพิเศษของกระทรวงศึกษาธิการของนามิเบีย “นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีเวลาน้อย แต่พวกเขาก็อยากสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สิ่งที่นามิเบียหยิบยื่นให้มันเป็นประสบการณ์แบบครั้งหนึ่งในชีวิต เราจึงอยากให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสประสบการณ์ตรงอันล้ำค่านี้ภายในเวลาที่พวกเขามี” เธอกล่าว
เกสต์เฮาส์แห่งนี้รายล้อมไปด้วยทุ่งหญ้า ทะเลทรายสีส้ม และสัตว์นานาชนิด ที่นี่คือย่านทันสมัยซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางอาณาเขตชนเผ่า กาลาดีและทีมของเธอรับหน้าที่จัดคณะเดินทางไปเยี่ยมเยียนชนเผ่าซาน ซึ่งมีประชากร 1 แสนคนกระจายอยู่ทั่วนามิเบีย บอตสวานา แอฟริกาใต้ และแองโกลา ชนเผ่าร่อนเร่นี้เรียกดินแดนแห่งนี้ว่าบ้านมาเกือบ 1 หมื่นปี และมีสายใยแนบแน่นกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในท้องถิ่น ทางเกสต์เฮาส์นั้นมีบริการจัดทริปแบบหนึ่งวันเพื่อพานักท่องเที่ยวไปยังหมู่บ้านชนเผ่าซานซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 5 กิโลเมตร ที่นั่น ผู้มาเยือนสามารถฝึกทำงานฝีมือ ช่วยเตรียมอาหารเที่ยง และร่วมเต้นรำและเล่นเกมส์กับคนท้องถิ่น หากเป็นทริปที่ยาวกว่านั้น กาลาดีจะพาลูกทัวร์ไปเยือนฟาร์มของชนเผ่าซาน ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปในทะเลทรายคาลาฮารีของนามิเบีย เพื่อให้ได้ซึมซับวิถีชีวิตของชาวซานในการหาอาหารยังชีพ และเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างชุมชนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น
“ในสังคมของชนเผ่าซาน ไม่มีใครเป็นผู้นำในการตัดสินใจ ทุกอย่างต้องมีการลงมติเอกฉันท์ และผู้หญิงนั้นมีสถานะเท่าเทียมกับผู้ชาย ตามปกติแล้ว พวกเขาจะย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ และเมื่อสมาชิกในกลุ่มเสียชีวิตลง พวกเขาจะทิ้งร่องรอยไว้และไม่กลับมาลงหลักปักฐานบริเวณนั้นอีกเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ ทุกวันนี้มีสมาชิกเผ่าเพียงราว 3 พันคนเท่านั้นที่ยังคงใช้ชีวิตแบบร่อนเร่ และในจำนวนนี้ พวกเราโชคดีมากที่ได้รู้จักกับชนเผ่านี้อยู่ 2-3 กลุ่ม ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 20 คน” กาลาดีกล่าว
แน่นอนว่าการไปเยือนแอฟริกาจะไม่สมบูรณ์ หากผู้มาเยือนไม่ได้สัมผัสประสบการณ์ใกล้ชิดสัตว์ป่าและเก็บภาพสวยๆ ไว้อวดลงอินสตาแกรม ซึ่งในนามิเบียนั้นก็มีให้เลือกอยู่หลายแห่ง อย่างไรก็ดี จุดหมายปลายทางที่ต้องไปเยือนหากมาครั้งแรก ก็คืออุทยานแห่งชาติ Etosha ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของเกสต์เฮาส์อูอากิ อีโค อิโตชาเป็นหนึ่งในอุทยานแห่งชาติที่ดีที่สุดในแอฟริกาสำหรับกิจกรรมส่องสัตว์ป่าบนรถเช่าเหมาส่วนตัว จากตรงนั้น ผู้มาเยือนสามารถเดินทางกลับมายังชายฝั่งโครงกระดูกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เพื่อชมเนินทรายสีส้มแดงสุดลูกหูลูกตาที่ Sossusvlei ในอุทยานแห่งชาติ Namib-Naukluft ซึ่งเพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ใกล้ชิดธรรมชาติที่ค่อนข้างครบถ้วนแล้ว แถมยังสามารถเดินทางแบบขับรถเที่ยวเองได้โดยสะดวกอีกด้วย
หากท่องลึกเข้าไปยังตอนใต้ ผู้มาเยือนจะพบกับเมืองผีสิงแห่งโกลมันสกอป ซึ่งถูกทิ้งร้างเมื่อกิจการเหมืองเพชรหยุดชะงักไปเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว สถานที่ชวนพิศวงแห่งนี้ได้รับการบูรณะฟื้นฟูขึ้นบางส่วนเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เหล่าอาคารเก่าทรุดโทรมที่จมอยู่ในเนินทรายราวกับถูกแช่แข็งไว้ในกาลเวลานั้น ชวนให้นึกถึงภาพเหนือจริงบนปกนวนิยายสักเล่ม หากต้องการเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ ผู้มาเยือนต้องซื้อบัตรผ่านล่วงหน้าจากสำนักงานเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่านามิเบียในเมือง ลูเดริตซ์ เมืองชายฝั่งทะเลในละแวกใกล้เคียง โดยตัวเมืองลูเดริทซ์เองก็มีเสน่ห์ตรงกลิ่นอายความเก่า และยังเพียบพร้อมไปด้วยโฮสเทลและคาเฟ่น่านั่งอีกด้วย
กล่าวโดยสรุป นามิเบียเป็นประเทศที่มรดกแห่งโลกอดีตนั้นดำรงอยู่คู่เคียงกับความทันสมัยของโลกปัจจุบัน และความต่างสุดขั้วนี้เองได้ผสมผสานกันจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าค้นหา เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ปัญหาความขัดแย้งซึ่งยังคงคุกรุ่นในแอฟริกาตอนเหนือนั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในภูมิภาคแห่งนี้ยังคงมีนักท่องเที่ยวบางตา กระนั้น แอฟริกาตอนใต้ที่ซึ่งโลกเก่าและโลกใหม่มาบรรจบกันอย่างลงตัว ก็เป็นจุดหมายปลายทางอันควรค่าแก่การไปเยือน และหากการผจญภัยในทวีปแอฟริกาจะต้องเริ่มต้นจากที่ไหนสักแห่ง ก็ดูเหมือนว่านามิเบียจะเป็นจุดตั้งต้นที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคนที่เยื้องย่างเข้ามาในทวีปแห่งนี้ ■
Essentials
Namibia Tours & Safaris
Wild Dog Safaris