SECTION
ABOUTLIVING SPACE
Building Stories
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของโรงแรมบูทีคในกรุงเทพฯ นั้นมีรายละเอียดลงลึกกว่าเพียงความแปลกตาของตัวตึก
ยามบ่ายวันหนึ่งบนถนนหลานหลวง เหล่านักท่องเที่ยวพากันแวะเวียนมาชมความงามของวัดสระเกศที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง ถนนวันเวย์ขนาดห้าเลนนั้นอึกทึกไปด้วยเสียงกระหึ่มจากยานพาหนะที่แล่นผ่านสี่แยกไปอย่างเร่งรีบ ช่างซ่อมรถกำลังง่วนอยู่กับการซ่อมอะไหล่บนทางเท้าแคบๆ ถนนสายประวัติศาสตร์เส้นนี้เป็นที่ตั้งของร้านรวงเก่าแก่ สถานที่ราชการ และอาคารสำนักงานมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ย่านเก่าแก่แห่งนี้ได้เปิดประตูต้อนรับคลื่นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทั้งเจ้าของโฮสเทล แกเลอรี่ศิลปะ และคาเฟ่สายมินิมัล หนึ่งในจำนวนนั้นคือตึกแถวสีเทาเรียบที่แฝงตัวอยู่ท่ามกลางห้องแถวธรรมดาๆ โดยมีชายวัยกลางคนในชุดพนักงานรักษาความปลอดภัยนายหนึ่งยืนบังประตูไม้บานกระจกไว้เพื่อปกปิดสายตาคนภายนอก
อาคารแห่งนี้หาใช่องค์กรหรือสมาคมลึกลับในนวนิยาย หากสังเกตให้ดี ผู้มาเยือนจะเห็นแผ่นป้ายทองเหลืองขนาดเล็กปรากฎชื่อ Bangkok Publishing Residence ติดอยู่ตรงทางเข้า “เราให้โจทย์กับทางสถาปนิกไปว่า คนที่เดินไปผ่านมาจะต้องมองผ่านตึกเราไปโดยไม่รู้ว่ามันคือตึกอะไร คนที่ต้องการจะหาเรา เขาจะหาเราเจอเอง” ปณิดา ทศไนยธาดา เจ้าของอาคารแห่งนี้กล่าว เมื่อราว 50 ปีก่อน อาคารแห่งนี้เป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์นิตยสาร ‘บางกอก’ หนึ่งในนิตยสารชั้นนำของยุคนั้น และที่อยู่อาศัยของตระกูลโรจนประภา เมื่ออุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เติบโตขึ้น สำนักงานและโรงพิมพ์ก็ถูกย้ายไปยังถนนศรีอยุธยา และตั้งอยู่ที่นั่นจนนิตยสารบางกอกปิดตัวลงอย่างถาวรในปี 2559 ปัจจุบัน ตึกแถว 4 ชั้น 6 คูหาแห่งนี้ถูกบูรณะขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่เป็นโรงแรมกึ่งพิพิธภัณฑ์ ตามความตั้งใจของเจ้าของโรงแรมวัย 37 ปีที่ต้องการจะรักษามรดกตกทอดของตระกูลไว้
ปณิดาเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลจากทางฝั่งแม่ของเธอ เธอคลุกคลีอยู่กับวงการสิ่งพิมพ์มาตั้งแต่เล็ก และมีโอกาสติดตามแม่ผู้เป็นนักเขียนไปทำคอลัมน์ท่องเที่ยวต่างแดนอยู่บ่อยครั้ง เมื่อหลายปีก่อนปณิดาได้รับมอบกุญแจตึกจากคุณยาย ผู้ซึ่งกำชับว่าให้ทำอะไรสักอย่างกับอาคารหลังนี้ เมื่อปณิดาตอบตกลงและเข้าไปตรวจดูสภาพอาคาร เธอก็ถึงกับต้องกุมขมับ “ตอนเราเข้ามาดูที่นี่ เราต้องเดินตามคานเพราะพื้นทะลุหมดแล้ว เราจ้างบริษัทเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างตึก พอเริ่มรื้อเริ่มแกะก็เห็นว่าไม้มันผุหมด พวกระบบห้องน้ำ ระบบลิฟต์ก็ต้องเดินใหม่ ซึ่งมันมีข้อจำกัดเยอะมากเพราะโครงสร้างเดิม นอกจากนี้ เสาหลักต้นหนึ่งยังถูกทุบออกไปเพื่อให้มีพื้นที่ว่างพอจะเอาเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่เข้ามาสมัยที่ยังเป็นโรงพิมพ์อยู่ เราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าตึกมันยังไม่ถล่มลงมาได้ยังไง”
คำว่า 'โรงแรมบูทีค' นี้ ถูกบัญญัติขึ้นในปี 2527 เพื่อนิยามโรงแรมขนาดเล็กที่ตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์และรสนิยมที่โดดเด่น
การบูรณะอาคารแห่งนี้กินระยะเวลาทั้งสิ้น 6 ปี โดยกว่า 2 ปีเต็มนั้น ปณิดาและทีมของเธอต้องทำงานอดหลับอดนอนและใช้ชีวิตอยู่บนไซต์ก่อสร้าง เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น อาคารเก่าแก่แห่งนี้ก็ถูกแปรสภาพเป็นโรงแรมขนาด 8 ห้อง ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของยุครุ่งเรืองของวงการสิ่งพิมพ์ ยามก้าวพ้นประตูไม้บานสูง ผู้มาเยือนจะพบกับพื้นที่ส่วนล็อบบี้ซึ่งตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และของเก่า แสงไฟสลัวและกลิ่นหอมจางๆ จากน้ำมันหอมระเหยที่ทางโรงแรมผสมขึ้นเองนั้นช่วยสร้างบรรยากาศตรงกลางห้อง ประตูบานเฟี้ยมทำหน้าที่เป็นฉากกั้นระหว่างส่วนห้องแอร์กับพื้นที่เพดานสูงโปร่งด้านใน สุดผนังด้านข้างเป็นที่ตั้งของตู้กระจกตู้ใหญ่ที่จัดแสดงคอลเลกชันเครื่องพิมพ์ดีดของปณิดา ซึ่งบางตัวนั้นผลิตขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
“ตอนโรงพิมพ์ปิดตัวลง มีของหลายอย่างกำลังจะถูกทิ้ง เราก็พยายามเก็บรักษาเอาไว้ให้มากที่สุด ใจจริงเราอยากทำพิพิธภัณฑ์สิ่งพิมพ์อยู่แล้ว แต่รู้ว่าพิพิธภัณฑ์อย่างเดียวมันอยู่ไม่รอด ก็เลยเพิ่มตรงส่วนของโรงแรมเข้าไปด้วย แล้วก็ต้องมาปรับมู้ดกับโทนให้วัตถุมันนำเสนอเรื่องราว แต่ขณะเดียวกันแขกที่มาพักต้องรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ไม่ได้อยู่แล้วอึดอัด” ปณิดาอธิบาย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นลักษณะ ‘interactive’ กล่าวคือ แขกของโรงแรมสามารถหยิบนิตยสารอายุกว่า 60 ปีจากคลังมาอ่าน (ต้องใส่ถุงมือ) และจับข้าวของที่จัดแสดงอยู่ได้เกือบทุกชิ้น บริเวณชั้น 2 และชั้น 3 นั้นเป็นที่ตั้งของห้องพักจำนวนแปดห้อง ซึ่งตกแต่งในสไตล์ไทย จีน และยุโรป ส่วนชั้น 4 ถูกจัดสรรให้เป็นห้องสมุดขนาดย่อมที่มีตู้พินบอลสภาพดีจากยุค ’60s ตั้งอยู่ตรงมุมห้อง ผนังฝั่งตรงกันข้ามนั้นแขวนโปสเตอร์โฆษณาร้านตัดเสื้อเก่าแก่ประจำย่าน และเป็นร้านที่ตัดสูทตัวแรกให้กับคุณตาของปณิดา แม้ภายในโรงแรมจะตกแต่งแบบย้อนยุค แต่ห้องพักแต่ละห้องก็มาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ตั้งแต่เตียงนอนขนาดใหญ่ เครื่องทำเอสเพรสโซ ลำโพงบลูทูธยี่ห้อมาร์แชล ไปจนถึงแชมพูและครีมอาบน้ำออร์แกนิค
โรงแรมแห่งนี้เป็นภาพสะท้อนถึงวันวานอันรุ่งเรืองของถนนหลานหลวง ที่เคยคลาคล่ำไปด้วยเหล่านักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และปัญญาชนที่แวะเวียนมาพบปะกันตามร้านกาแฟในละแวกใกล้เคียง ทุกวันนี้ บางครั้งบางคราวเรายังอาจมีโอกาสได้เห็นนักเขียนหรือช่างภาพจากสำนักข่าวต่างประเทศอย่าง The Telegraph และ National Geographic ก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่บนแล็ปท็อป อ่านหนังสือ หรือรับประทานไข่คนเคียงเบคอนและผักสดที่ทางโรงแรมปลูกเองบนสวนดาดฟ้า
โรงแรมอย่างบางกอก พับบลิชชิง เรสซิเดนส์ นั้นสะท้อนถึงกระแสนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของโรงแรมประเภทบูทีคในกรุงเทพฯ คำว่า ‘โรงแรมบูทีค’ นี้ถูกบัญญัติขึ้นในปี 2527 เพื่อนิยามโรงแรมขนาดเล็กที่ตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์และรสนิยมที่โดดเด่น และมีเจ้าของเป็นผู้ประกอบการอิสระ โดยปกติโรงแรมประเภทนี้จะประกอบด้วยห้องพักตั้งแต่ 10 จนถึง 100 ห้อง และมักกระจายตัวอยู่ตามย่านทันสมัยต่างๆ ในเมือง แม้ชื่อของเครือโรงแรมหรูอย่าง Marriott หรือ Minor Hotels จะโด่งดังและเป็นที่กล่าวขานในแวดวงโรงแรมของกรุงเทพฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงแรมบูทีคหลายแห่งก็เริ่มมีบทบาทและได้รับความสนใจมากขึ้นในตลาดการท่องเที่ยว เนื่องด้วยเสน่ห์และกลิ่นอายที่อบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่โรงแรมใหญ่ๆ ไม่สามารถมอบให้ได้
ท่ามกลางความวุ่นวายของถนนเยาวราช มีบ้านหลังใหญ่อายุกว่าร้อยปีแฝงอยู่ในซอยแคบเยื้องกับโรงแรมไชน่าทาวน์ ย้อนกลับไปเมื่อแปดปีก่อน สุขสันติ์ เอื้ออารีย์ชน ผู้ทำธุรกิจส่งออกรองเท้าในเยาวราชมากว่า 10 ปีกำลังมองหาพื้นที่เพื่อสร้างโกดังเก็บของ ระหว่างนั้นเขาได้ค้นพบบ้านเก่าหลังนี้โดยบังเอิญ ตัวสุขสันติ์เองนั้นเป็นผู้ชื่นชอบงานสถาปัตยกรรมและเป็นนักสะสมของเก่าตัวยง เขาตกหลุมรักสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสและตัวโครงสร้างที่ยังงดงามของบ้านหลังนี้และตัดสินใจขออนุญาตเจ้าของบ้านเปลี่ยนอาคารหลังนี้เป็นโรงแรมขนาดสี่ห้องในชื่อ ‘บ้าน ๒๔๕๙’ ตามปีที่ตัวบ้านถูกสร้างขึ้น “ผมไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานโรงแรมมาก่อน แต่ผมเดินทางบ่อยแล้วก็ชอบอะไรที่ดูสวยงาม” สุขสันติ์เล่า
แม้งานบูรณะและตกแต่งในส่วนของโรงแรมทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน แต่การเปลี่ยนอาคารเก่าให้เป็นโรงแรมหรูก็ไม่ใช่งานง่าย “เราต้องกั้นห้องใหม่หมด ส่วนที่สาหัสที่สุดคือการวางระบบท่อน้ำทิ้ง ท่อประปา ระบบปรับอากาศ และระบบไฟฟ้า ตึกมันเก่ามาก ทั้งบ้านจึงไม่มีห้องน้ำหรือท่อน้ำเลย แถมเรายังต้องพยายามเก็บโครงสร้างเดิมไว้ให้มากที่สุด ทั้งหมดต้องอาศัยเทคนิคและความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมระดับสูง”
ห้องพักทั้ง 4 ห้องนั้นถูกตั้งชื่อเป็นตัวเลข ๒, ๔, ๕ และ ๙ ตามชื่อของโรงแรม โดยแต่ละห้องนั้นตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และของเก่า ซึ่งบางส่วนได้มาจากคอลเลกชันส่วนตัวของสุขสันติ์เอง พร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยห้องหมายเลข ๒ นั้นเป็นห้องที่พิเศษที่สุด เนื่องจากมีทางเข้าส่วนตัวและเพดานอายุร้อยกว่าปีที่ยังคงสภาพใกล้เคียงของเดิม
ตั้งแต่เก้าอี้ อาหารที่เราเสิร์ฟ ไปจนถึงโซดาที่เราใช้ เราเลือกซื้อจากร้านในชุมชน ผมว่าการกระจายรายได้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
นอกจากความชื่นชอบเรื่องงานออกแบบและสถาปัตยกรรมแล้ว ผู้ประกอบการโรงแรมบูทีคอย่างสุขสันติ์ก็ให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนรอบข้างอีกด้วย “ตั้งแต่เก้าอี้ อาหารที่เราเสิร์ฟ ไปจนถึงโซดาที่เราใช้ เราเลือกซื้อจากร้านในชุมชน ผมว่าการกระจายรายได้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง คุณมาทำมาหากินบนพื้นที่เขา มันไม่ถูกต้องถ้าคุณไม่คืนอะไรให้กับย่านเลย” เขากล่าว
อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลจากบ้าน ๒๔๕๙ นัก อาคารปูนทาสีแดงชาดซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘อำแดง’ นั้นตั้งเด่นอยู่ริมน้ำ โครงสร้างตึกสีแดงเรียบๆ นี้เล่นกับรูปทรงสี่เหลี่ยมขอบป้านซึ่งสอดแทรกไว้ด้วยรายละเอียดวิจิตรบรรจง อำแดงนั้นซ่อนตัวอยู่สุดทางเดินแคบๆ ของย่านอยู่อาศัยเก่าแก่บนถนนเชียงใหม่ เยื้องกับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง ‘ล้ง 1919’ ตึกแถวเก่าๆ ขนาบสองข้างทางที่ลัดเลาะไปสู่ประตูโรงแรม ซึ่งบรรยากาศเงียบสงบผิดกับถนนใหญ่ด้านนอกที่อื้ออึงด้วยเสียงรถยนต์และเครื่องจักรก่อสร้าง
อำแดงนั้นมีจุดเริ่มต้นค่อนข้างเรียบง่าย กล่าวคือ หนึ่งในเจ้าของโรงแรม วิบูลย์ ลีภักดิ์ปรีดา นั้นคลั่งไคล้เรื่องที่ดินเป็นอย่างมาก “เราเจอประกาศขายที่ดินผืนนี้บนอินเทอร์เน็ตเข้าก็รู้สึกชอบ เพราะมันติดริมน้ำและไม่ใช่ที่ตาบอด ตอนนั้นเราไม่ได้ซีเรียสอะไรเพราะราคาค่อนข้างสูง แต่เราก็ยังวนเวียนคิดถึงที่ผืนนี้อยู่ตลอด จนวันหนึ่งก็เลยตัดสินใจบอกเล็ก ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท” วิบูลย์เล่า
ทั้งวิบูลย์ และ ‘เล็ก’ พรรษพล ลิมปิศิริสันต์ ก็อปปี้ไรเตอร์และเจ้าของเอเจนซี่โฆษณาชื่อดัง Monday ร่วมกับวิบูลย์นั้น ได้นำเอาประสบการณ์จากแวดวงครีเอทีฟที่สั่งสมมาหลายสิบปี มาใช้ก่อร่างสร้างโรงแรมแห่งนี้ขึ้นจากศูนย์ โดยได้ความช่วยเหลือจากนักออกแบบภายในอย่างสุธิดา พงษ์ประยูร และอานุภาพ อ่อนสะอาด สถาปนิกผู้ชื่นชอบในการเล่นกับเส้นตรงและรูปทรงกล่อง ดังที่เห็นได้ในงานที่เขาออกแบบให้กับคอนโดเครือโนเบิล โรงแรม แห่งนี้เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมโมเดิร์นและองค์ประกอบความเป็นไทย เห็นได้จากลายฉลุขนมขิงซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกยุควิกตอเรีย อัฒจันทร์และโครงสร้างเหล็กบนชั้นดาดฟ้าซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการไล่ระดับกระเบื้องและรูปทรงของเจดีย์ ขณะที่การตกแต่งภายในยังมีกลิ่นอายความเป็นจีนและอินเดีย ตัวพื้นกระเบื้องและภาพวาดบางส่วนนั้นถูกทำให้ดูเก่าขึ้นโดยใช้สีถ่านทาทับลงไป เพื่อให้ได้กลิ่นอายความขลังของวันวาน
“เราคิดว่าคนสมัยนี้มองหาประสบการณ์ที่ต่างออกไป คนไม่นิยมอยู่โรงแรมเชนแล้ว อย่างหลายปีก่อนที่เราไปเที่ยวปักกิ่ง โรงแรมที่เราพักตั้งอยู่ในซอยยาวๆ แคบๆ ซึ่งยังมีชาวบ้านออกมานั่งฆ่าไก่และกินอาหารข้างทาง พอไปถึงสุดซอยก็เจอกับโรงแรมที่ดูเหมือนเคยเป็นวัดหรือพระราชวังเก่า คือโรงแรมบูทีคพวกนี้มันเป็นดีไซน์โฮเทล เราจะนับดาวโดยใช้มาตรฐานเดียวกับโรงแรม 5 ดาวไม่ได้ คุณค่าและประสบการณ์ที่ได้รับมันต่างกัน” วิบูลย์กล่าว
นับตั้งแต่ที่บรรดาเหล่าฮิปสเตอร์เริ่มหลั่งไหลเข้ามายังย่านอารีย์เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า สองข้างทางของถนนสายนี้ได้มีคาเฟ่และร้านอาหารสลับกันเปิดและปิดตัวลงไม่ขาดสาย ยิหวา ภูสีห์รัตน์ ผู้อยู่เบื้องหลัง Oneday Hostel โฮสเทลสไตล์ลอฟต์ในสุขุมวิท 26 นั้น ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นแบรนด์ เมเนเจอร์ของ Josh Hotel โรงแรมสีพาสเทลสวยสดซึ่งซ่อนตัวอยู่ในย่านอยู่อาศัยเก่าแก่แห่งนี้ ในปี 2560 ยิหวาและทีมของเธอได้นำโฮสเทลและหอพักเดิมมาปรับเปลี่ยนเป็นโรงแรมขนาด 71 ห้อง โดยภายในพื้นที่ 1 ไร่เศษนี้ยังประกอบไปด้วยร้านอาหาร ร้านขายไอศกรีม ห้องฉายภาพยนตร์ บาร์ และร้านขายชุดว่ายน้ำอีกด้วย
หญิงสาวผู้แต่งกายสวยเนี้ยบและหลงใหลในงานออกแบบรายนี้ เคยใช้ชีวิตเป็นลูกเรือของสายการบินไทยมานานกว่า 10 ปี ก่อนจะเบนเข็มมาสู่วงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมื่อราว 6 ปีก่อน แม้จะบอกลาอาชีพแอร์โฮสเตสแล้ว ปัจจุบันเธอยังคงเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้งต่อปีเพื่อเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจ จอช โฮเทล นั้นถูกออกแบบให้มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมยุค ’80s ที่ดูราวกับหลุดมาจากฉากหนึ่งในภาพยนตร์ของผู้กำกับ เวส แอนเดอร์สัน ยิหวาอธิบายว่า “เราสังเกตว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านนี้จะอายุประมาณ 70 ปีขึ้นไป ขณะที่ตัวอาคารเองก็น่าจะมีอายุประมาณ 30 กว่าปีแล้ว ด้วยความที่พยายามจะเก็บบรรยากาศตรงนั้นไว้ เราก็เลยมองหาตัวอย่างบรรยากาศยุค ’60s ถึง ’80s จากหนัง อย่างเรื่อง The Grand Budapest Hotel ของเวส แอนเดอร์สัน เราชอบองค์ประกอบหลายๆ อย่างในเรื่อง รวมทั้งการเลือกใช้สีที่โดดเด่นของเขาที่เอาเทามาตัดกับม่วง หรือฟ้ามาตัดกับชมพู” นับตั้งแต่เปิดทำการ ที่นี่ก็ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของทั้งเหล่านักท่องเที่ยว ชาวกรุง และบรรดาฮิปสเตอร์ ผู้หมายมั่นจะได้รูปถ่ายลงอินสตาแกรมเก๋ๆ คู่กับร้านไอศกรีมและสระว่ายน้ำของโรงแรม
การใส่ใจในรายละเอียดนี้เองที่เป็นตัวจุดกระแสโรงแรมบูทีค การใช้โซเชียล มีเดียในชีวิตประจำวันทำให้ความคาดหวังของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ปัจจัยหลักในการตัดสินใจเข้าพักโรงแรมสักแห่งนั้นไม่ได้มีเพียงความต้องการที่จะพักผ่อนหย่อนใจ หากยังมีข้อคำนึงว่าโรงแรมที่เข้าพักจะสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์และรสนิยมของเฉพาะบุคคลด้วย รายละเอียดเล็กๆ ที่ผู้บริโภคอาจคิดไม่ถึงเหล่านี้เอง คือสิ่งที่ทำให้โรงแรมบูทีคหลายแห่งสามารถสร้างชื่อให้กับตัวเองได้ภายในเวลาอันสั้น อย่างที่จอช โฮเทลนั้น ไม่นานมานี้ทางโรงแรมได้แปลงห้องประชุมเล็กๆ ให้กลายเป็นบาร์ลับที่เสิร์ฟค็อกเทลชั้นดี โดยผู้มาเยือนจะต้อง ‘เช็คอิน’ ที่รีเซฟชันเหมือนเป็นแขกโรงแรมคนอื่นเพื่อที่จะเข้าไป “โรงแรมห้าดาวอาจจะให้อะไรบางอย่างที่เราให้ไม่ได้ แต่เราก็ทำบางสิ่งที่เขาทำไม่ได้เหมือนกัน มันไม่ใช่ว่าใครดีกว่าใคร ความต่างมันอยู่ในรายละเอียดเล็กๆ พอทำโรงแรมที่ไม่ได้ลงทุนสูง เราก็ต้องอาศัยการเล่าเรื่องมาทำให้มันน่าสนใจมากขึ้น สุดท้ายก็แล้วแต่ลูกค้าว่าชอบแบบไหนมากกว่า” ยิหวากล่าว
การใช้เรื่องราวบางอย่างหรือ ‘storytelling’ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคนั้น เป็นกลยุทธ์ที่บรรดาโรงแรมระดับโลกอย่าง Starwood และ Marriott ใช้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ในขณะที่เรื่องราวใหญ่โตที่เหล่าเครือโรงแรมหรูนำเสนอ อาจไม่ได้เกี่ยวพันลงลึกกับรากเหง้าของชุมชน บรรดาโรงแรมบูทีคหลายแห่งในกรุงเทพฯ กลับเลือกทำสิ่งที่สามัญกว่านั้น คือการนำเรื่องราวของย่านซึ่งเป็น ‘บ้าน’ ของโรงแรมเหล่านี้ มาสอดแทรกลงในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จนได้เป็นสิ่งที่ไม่เพียงดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ยังรวมถึงชาวกรุง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือผู้คนในแวดวงครีเอทีฟ) ผู้ซึ่งมองหาการพักผ่อนระยะสั้นใน กรุงเทพฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ อีกด้วย
เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวดีๆ ที่ถูกถ่ายทอดอย่างละเอียดอ่อนคือความผ่อนคลายชั้นเยี่ยมของมนุษย์เสมอมา ■
Essentials