HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

SERVING YOU


Colour Bind

บล.ภัทรกับวัฒนธรรมการแข่งกีฬาสีที่เป็นมากกว่าการแข่งกันออกกำลังกาย

ดร. จอน วงศ์สวรรค์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายเฮดจ์ฟันด์ สายงานลงทุนและค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันกีฬาเป็นกิจกรรมที่แทรกซึมเข้ามาในชีวิตคนสมัยใหม่มากขึ้น สังเกตได้ง่ายๆ จากรูปกิจกรรมกีฬาประเภทต่างๆ ไม่ว่างานวิ่งระยะใกล้ไกล การขี่จักรยาน การตีแบด หรือการเตะบอล ซึ่งมีคนใกล้ตัวโพสต์ขึ้นในเฟสบุ๊กแทบทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากกีฬาไม่เพียงเป็นการออกกำลังกายแบบตัวใครตัวมัน แต่ยังช่วยให้คนมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างสนุกสนานโดยมีชัยชนะเป็นตัวกระตุ้น บริษัทหลายแห่งจึงยกเอากิจกรรมกีฬามาจัดเสียเอง เพื่อที่ว่าพนักงานจะไม่เพียงมีสุขภาพดี แต่ยังได้มีช่วงเวลาสำหรับสร้างสปิริตของการวิ่งไปสู่เป้าหมายร่วมกันอีกด้วย

ภัทรก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เชื่ออย่างยิ่งว่ากีฬาและงานเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เพราะกีฬาก็คืองานรูปแบบหนึ่ง และงานก็คือกีฬารูปแบบหนึ่ง กล่าวคือต่างเป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายให้เราพยายามไปให้ถึงพร้อมกับทีมภายใต้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ ดังนั้น กิจกรรมกีฬาสีของภัทรซึ่งจัดมานานหลายสิบปีแล้ว จึงเรียกได้ว่ามีความ ‘ดุเดือด’ ราวกับมี KPI เป็นเดิมพันไม่แพ้การทำงาน โดยในเมื่อภัทรมีจำนวนพนักงานไม่มากนัก ทั้งบริษัทจึงถูกแบ่งออกเป็นเพียงสองสี อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจำนวนทีมน้อย แต่การแข่งขันกีฬาสีของภัทรนั้น ต้องเรียกได้ว่าเริ่มตั้งแต่การแบ่งพนักงานเป็นสองสีเลยทีเดียว

หากเป็นกีฬาสีทั่วไป อาจมีการแบ่งสีพนักงานโดยใช้การจับฉลาก แต่เนื่องจากภัทรเชื่อในตลาดที่มีแข่งขันการสมบูรณ์ (Competitive Market) ดังนั้น ในการแบ่งทีม ภัทรจึงใช้วิธีกำหนดเพียงหัวหน้าทีมของแต่ละสี แล้วให้หัวหน้าทีมเป็นผู้เลือกลูกทีมเพื่อสร้าง performance สูงสุดในแง่คะแนนรวมของทีม โดยหัวหน้าทีมของแต่ละสีมีหน้าที่จะต้องสลับกันเลือกสมาชิกแต่ละคนของทีมตนให้ได้ภายในระยะเวลา 30 วินาทีเรื่อยไปจนกว่าคนจะหมดทั้งบริษัทจำนวน 400 คน ซึ่งปกติกินเวลาร่วม 4-5 ชั่วโมง

ด้วยความที่กระบวนการตัดสินใจเลือกสมาชิกที่จะส่งผลต่อ performance ของทีมมากที่สุด มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาเยอะและซับซ้อน และจำต้องทำให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาที่บีบคั้นเพียง 30 วินาที ในปีหลังๆ มานี้ แต่ละทีมมักทุ่มสุดตัวกับการ ‘optimise’ สิ่งที่เป็นทรัพยากรของแต่ละทีม กล่าวคือสมาชิกถึงขนาดเอาความรู้ในการสร้างโมเดลคณิตศาสตร์ที่ปกติใช้ทำ scenario ในด้านการเงินให้กับบริษัทห้างร้านต่างๆ มาใช้กับการคัดเลือกสมาชิกเลยทีเดียว

ภัทรก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เชื่ออย่างยิ่งว่ากีฬาและงานเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เพราะกีฬาก็คืองานรูปแบบหนึ่ง และงานก็คือกีฬารูปแบบหนึ่ง กล่าวคือต่างเป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายให้เราพยายามไปให้ถึงพร้อมกับทีมภายใต้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่

โมเดลที่ว่านี้อาจจะสร้างขึ้นมาโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ทักษะในกีฬาแต่ละประเภทของเพื่อนร่วมงานทุกคน ซึ่งอาจจะวัดจากผลการแข่งขันในอดีต นอกจากนั้นก็ต้องมีการ ‘weight’ หรือจัดลำดับความสำคัญของนักกีฬาแต่ละประเภท เพราะส่งผลต่อชัยชนะและคะแนนรวมของทีมไม่เท่ากัน เช่น คนที่เก่งบาสเกตบอลมีโอกาสช่วยทีมให้ชนะบาสเกตบอลได้มากกว่าคนที่เก่งแบดมินตัน เนื่องจากการแข่งขันแบดมินตันนั้นแข่งเป็นคู่และมีการแข่งขันจำนวนหลายคู่ ดังนั้น ต่อให้คนเก่งทำให้ชนะคู่หนึ่งก็ไม่ได้ทำให้คู่อื่นชนะไปด้วย ทำให้คะแนนในภาพรวมอาจจะน้อย สุดท้าย เนื่องจากการจัดแข่งกีฬาสีนี้กินระยะเวลาเป็นเดือน โมเดลจึงยังต้องประเมินไปถึงว่าเพื่อนร่วมงานสามารถเข้าร่วมในกิจกรรมกีฬาที่จัดขึ้นในวันต่างๆ ได้หรือไม่ ซึ่งทำโดยติดต่อเช็คตารางงานหรือสอบถามเพื่อนร่วมงานทุกคนถึง ‘availability’ ในวันต่างๆ เพราะไม่ว่าสมาชิกจะมีประโยชน์หรือความสามารถแค่ไหน แต่ถ้าไม่อยู่ในจังหวะเวลาที่ต้องใช้ ประโยชน์นั้นก็เท่ากับไม่มี

หากมีการออกแบบโมเดลมาอย่างดี ทุกครั้งที่สีตรงข้ามคัดเลือกสมาชิกคนใหม่ โมเดลจะช่วยประเมินผลคะแนนที่น่าจะเป็นของแต่ละกีฬาใน scenario ใหม่ และช่วยหัวหน้าทีมในการตัดสินใจก่อนเลือกสมาชิกคนต่อไปว่าควรจะมุ่งเน้นกีฬาไหน เพื่อให้สามารถทำคะแนนรวมสูงสุด โดยในแง่ของผู้จัดการแข่งขันเองก็มักกำหนดกติกาที่จูงใจให้ทีมใดก็ตามที่ดึงคนมาร่วมกิจกรรมแข่งได้มากได้คะแนนมากตามไปด้วย เช่น มีการให้คะแนนที่ค่อนข้างสูงกับการแข่งขันโบว์ลิ่งซึ่งใช้คนมากถึง 80 คน ตามความเชื่อฝังลึกของคนในบริษัทที่ว่าโครงสร้างตลาดที่ออกแบบมาอย่างดีจะทำให้เมื่อผู้เล่นพยายามแข่งขันกันเต็มที่แล้วได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งในที่นี้คือการมีส่วนร่วมและความสามัคคีนั่นเอง

แน่นอนว่า ในเมื่อการคัดตัวมีความเข้มข้นถึงขนาดนี้ การฝึกซ้อมและแข่งขันยิ่งเป็นสิ่งที่แต่ละทีมทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ เช่น มีการซ้อมกันเป็นเดือนก่อนการแข่งขัน หรือไม่ก็มีการจ้างโค้ชจากภายนอกมาติวกันเพิ่ม สำหรับกีฬาซึ่งมีตั้งแต่วิ่ง แบดมินตัน บาสเกตบอล ฟุตบอล ไปจนกระทั่งดอดจ์บอล และชักเย่อ และเมื่อถึงเวลาแข่ง ก็จะวาดฝีไม้ลายมือใส่กัน โดยไม่มีการคำนึงถึงตำแหน่งในบริษัท จนเป็นเรื่องปกติที่ผู้บริหารระดับสูงซึ่งโดยอายุและความชำนาญอาจมีฝีมือที่อ่อนกว่าในการแข่งขันจำพวกแบดมินตัน มักจะตกเป็นเป้าในการโจมตีจากอีกสีอย่างไม่ละเว้น

ระหว่างการแข่งขัน ผู้บริหารหลายคนมักหยอกล้อเวลาถูกพนักงานทีมตรงข้ามไล่ต้อนมากๆ ว่า “ผมอยากรู้ว่ากับเรื่องงาน พวกคุณเอาจริงกันอย่างนี้ไหม?” ซึ่งส่วนใหญ่มักได้คำตอบเอาหน้าสิบแต้มว่า “เราแค่เล่นกีฬาเหมือนการทำงานครับ!” กล่าวคือ เริ่มจากมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในสิ่งที่จะทำ (ต้องการชนะกีฬาสี) มีการคิดที่รอบคอบและวางแผนการทำงาน (การออกแบบโมเดลในการเลือกสมาชิก) การลงมือทำไปตามแผนที่วางไว้ (ฝึกซ้อมและแข่งขันกีฬา) ซึ่งทั้งหมดต้องทำอย่างเป็นทีมเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

ความต่างระหว่างกีฬาสีและการทำงานอาจจะมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือในขณะที่การแข่งกีฬาสี เราใช้จำนวนสมาชิกได้แค่ครึ่งเดียว แต่ในการทำงานของภัทร เราสร้างชัยชนะได้ด้วยกำลังของคนทั้งองค์กร