HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

FULL FLAVOURS


A Seat at the Table

ไปรู้จักกับเหล่าเชฟหญิงผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับแวดวงอาหารในกรุงเทพฯ

บนโลกนี้ มีหลายคนที่ค้นพบสิ่งที่เป็นตัวของตัวเอง แม้เส้นทางชีวิตของพวกเขาจะเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการก็ตาม

สำหรับเชฟหน่อย-ช่อทิพย์ อวยพรชัยสกุล เธอใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตโดยที่ไม่รู้ว่าตนอยากเป็นเชฟ ปัจจุบัน เธอเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนร้านและโรงเรียนสอนทำอาหาร Bangkok Bold ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ชีวิตวัยเรียนของเธอถูกใช้ไปกับการเรียนการบัญชีและบริหารธุรกิจ การอ่านหนังสือสอนทำอาหาร อบคัพเค้กรวมทั้งฝึกทำแกงต่างๆ เป็นกิจกรรมอดิเรกยามค่ำคืนที่ทำเพื่อคลายเครียดเท่านั้น “โรงเรียนสอนทำอาหารไม่เคยอยู่ในตัวเลือกของเรา จริงๆ คือเราไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่ามันมีอาชีพนี้” เชฟหญิงร่างเล็กสง่าเล่า

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าช่อทิพย์ ผู้เป็นชาวราชบุรีโดยกำเนิด จะมีความรู้เรื่องอาหารเป็นศูนย์ เธอเติบโตมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจปลูกและส่งขายผักผลไม้ในช่วงเวลากลางคืน และชื่นชอบการรับประทานอาหารเป็นชีวิตจิตใจ ในฐานะลูกคนโต ช่อทิพย์ในวัยเด็กนั้นรับหน้าที่เตรียมอาหารกลางวันให้กับสมาชิกครอบครัวและลูกจ้างในยามที่พ่อและแม่ของเธอยังไม่ตื่น โดยอาหารจานแรกของเธอเมื่อตอนอายุ 8 ขวบคือก๋วยเตี๋ยวราดหน้าหอมฉุย

กระนั้น การเป็นเชฟก็ไม่ใช่เส้นทางชีวิตที่เธอเลือกเดินตั้งแต่ต้น ช่อทิพย์เลือกเรียนการบัญชี ก่อนจะย้ายไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ขณะอาศัยอยู่ที่นั่น เธอใช้การทำอาหารเป็นเสมือนงานอดิเรกเพื่อคลายความเหนื่อยล้าจากการเรียน “ตอนอยู่ที่นู่น เราได้เปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับอาหารที่เราไม่เคยรู้ว่ามี” ช่อทิพย์เล่าถึงวัฒนธรรมอาหารในอเมริกา แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็รู้สึกว่าตัวเองจำต้องเดินบนเส้นทางสายบัญชีต่อแม้จะไม่อาจสลัดความรู้สึกว่าการเรียนบัญชีนั้นเป็นเรื่องเสียเวลาทิ้งไปก็ตาม

การใช้ชีวิตสองขั้วของเธอ กล่าวคือ การเรียนบริหารธุรกิจในช่วงกลางวันและทำอาหารในเวลากลางคืนนั้น ได้สิ้นสุดลงเมื่อช่อทิพย์ได้ค้นพบหลักสูตรสอนทำอาหารระยะเวลา 1 ปีที่เมืองเดนเวอร์ ระหว่างเรียนเธอได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานในร้าน อาหารจริงๆ อีกทั้งยังได้รับใบอนุญาตทำงานเมื่อจบหลักสูตร นี่คือก้าวแรกสู่แวดวงอาหารของช่อทิพย์ ผู้ปัจจุบันมีร้านอาหารเป็นของ ตัวเองจำนวน 2 แห่ง

การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นในโลกของการทำอาหารซึ่งแต่เดิมสงวนไว้สำหรับผู้ชาย เมื่อแอนโทนี บัวร์เดน เชฟผู้ล่วงลับตีพิมพ์หนังสือขายดีของเขาในชื่อ Kitchen Confidential ในปี 2543 เขาได้เปิดเผยถึง ด้านมืดของแวดวงอาหารที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน “เรื่องสยองขวัญ” ที่แอนโทนีกล่าวว่าเล่าแล้วอาจทำให้ “อาชีพเชฟของเขาต้องจบลง” แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะดีขึ้นบ้าง แต่ในอดีต แวดวงเชฟนั้นไม่ต่างอะไรจากสมาคมชายล้วน ผู้หญิงที่หาญกล้าพอจะย่างกรายเข้าไปหลังร้านอาหาร ซึ่งถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชายและมีบรรยากาศดุเดือดประหนึ่งสนามรบ หลายครั้งต้องเผชิญกับการถูกคุกคาม พฤติกรรมหยาบโลน และการถูกเพิกเฉย แม้ด้านมืดเหล่านี้จะยังคงปรากฏให้เห็น แต่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เราก็เริ่มเห็นถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญทั่วโลกและในบ้านเรา วงการอาหารที่กำลังเบ่งบานของกรุงเทพฯ นั้นได้ผลิตคลื่นลูกใหม่ซึ่งเป็นเหล่าเชฟหญิงฝีมือฉกาจ ผู้มีใจรักในการทำอาหาร และพร้อมจะลุกขึ้นสู้หากถูกเอารัดเอาเปรียบ ในบรรดาร้านอาหารประดับดาวมิชลินในกรุงเทพฯ นั้น มีถึง 23% ที่มีเชฟหญิงเป็นคนกุมบังเหียน และยังมีเชฟหญิงอีกนับไม่ถ้วนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของร้านอาหารชั้นยอดทั่วกรุง

ในบรรดาร้านอาหารประดับดาวมิชลินในกรุงเทพฯ นั้น มีถึง 23% ที่มีเชฟหญิงเป็นคนกุมบังเหียน

อันที่จริง ประเทศไทยนั้นมีเชฟชื่อดังและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารหลายคนที่เป็นผู้หญิงอยู่ก่อนแล้ว หนึ่งในตัวอย่างที่เด่นชัดคือ ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล หนึ่งในเจ้าตำรับอาหารไทยชาววังและอดีตเชฟใหญ่ประจำร้านอาหารเดวา ผู้ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการรายการ Thailand Master Chef เธอเป็นบุคคลผู้ซึ่งเป็นที่คุ้นตาในแวดวงอาหารบ้านเรามากที่สุดคนหนึ่ง นอกจากนี้ในแวดวงอาหารไทยยังมีบุคคลสำคัญที่เป็นผู้หญิง อาทิ มล.เติบ ชุมสาย นักเขียนและผู้ดำเนินรายการสอนทำอาหารยอดนิยมในอดีต ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ผศ.ศรีสมร คงพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทยเจ้าของหนังสือตำรับอาหารไทยโบราณและโภชนาการหลายเล่ม ไปจนถึงเชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ หัวเรือใหญ่แห่งร้านอาหารไทย Blue Elephant ซึ่งมีสาขาหลายแห่งทั่วโลก

สำหรับช่อทิพย์ เธอยืนยันว่าไม่ว่าเธอจะเกิดเป็นหญิงหรือชาย เธอก็จะยังคงเลือกอาชีพเชฟอยู่ดี อันที่จริงแล้ว เธอกล่าวว่าการเป็นผู้หญิงในครัวนั้น “มีความท้าทายเพียงอย่างเดียวคือตอนต้องยกของหนัก” ในแวดวงอาหารของกรุงเทพฯ คนๆ หนึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จในฐานะเชฟได้ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ตราบใดที่พร้อมจะทำงานหนัก 18 ชั่วโมงต่อวัน และมีเรี่ยวแรงพอจะยกหม้อหนักๆ เป็นครั้งคราว “มันไม่ใช่ธุรกิจที่ง่าย คุณต้องใช้แรงเยอะ ชั่วโมงการทำงานก็ยาวโดยเฉพาะช่วงเปิดร้านใหม่ มันจึงเป็นเรื่องง่ายมากที่จะกล่าวโทษสิ่งต่างๆ เวลามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จะเป็นลูกมือ เจ้าของร้านอาหาร หรือเชฟ ทุกคนก็ล้วนต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน เราไม่เห็นว่ามันจะต่างกันตรงไหน” เชฟการิมา อโรรา แห่งร้านไฟน์ไดน์นิ่ง Gaa อันเลื่องชื่อ มีความเห็นทำนองเดียวกับช่อทิพย์

เมื่อเปิดทำการในปี 2560 ร้านกากลายเป็นจุดสนใจในฐานะร้านอาหารพี่น้องของเชฟกากั้น อนันด์ ผู้ซึ่งเชฟสาวจากมุมไบรายนี้เคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าเชฟให้ ร้านอาหารของเธอตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับร้านของเขาพอดิบพอดี และเสิร์ฟเมนูอาหารไฟน์ไดน์นิ่งที่ผสมผสานเทคนิคการปรุงอาหารอันซับซ้อน ลูกศิษย์รายนี้ก้าวพ้นเงาของอาจารย์มาเดินตามเส้นทางของตัวเอง โดยเธอมุ่งใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างสรรค์เมนูอาหารที่มักสะท้อนรากเหง้าความเป็นอินเดียของเธอ การมีโอกาสได้ร่วมงานกับ Noma ร้านอาหารชื่อดังในกรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งเป็นผู้นำเรื่องอาหารนอร์ดิกสมัยใหม่ (New-Nordic Food) นั้นส่งผลให้เธอมีแนวคิดการทำอาหารแบบ ‘วัตถุดิบต้องมาก่อน’ ในการสร้างสรรค์เมนู 10-14 คอร์สให้แขกได้ลิ้มลอง จนทำให้เธอกลายเป็นที่กล่าวขวัญในแวดวงอาหารของกรุงเทพฯ “ลูกค้าหลายคนมาที่นี่และคิดว่าจะได้กินอาหารอินเดีย แต่เราไม่ได้เสิร์ฟอาหารอินเดีย เมนูที่เราเสิร์ฟนั้นมีความละเอียดอ่อน ประณีต และสลับซับซ้อนกว่านั้น เรามองว่าถ้าเราทำให้คนกินประหลาดใจได้ นั่นแหละคือการปรุงอาหารที่สนุก”

ทางด้านช่อทิพย์เองก็ไม่ใช่เชฟที่ชอบเดินตามกฎเท่าไรนัก “ที่บางกอก โบลด์ เราไม่เคยตีกรอบความคิดสร้างสรรค์ มันไม่ใช่สิ่งผิดถ้าคุณย่าเราจะใช้ใบกะเพราทำแกงเขียวหวาน หรือถ้าแม่เราจะทำแกงเขียวหวานที่ออกเหลวกว่าปกติ เราก็จะเสิร์ฟในแบบนั้น ตราบใดที่มันอร่อย” เธอกล่าว

กระนั้น การิมาและช่อทิพย์ก็ต้องวนเวียนอยู่ในแวดวงที่อัดแน่นด้วยการแสดงออกอย่างเกรี้ยวกราดและทัศนคติเรื่องชายเป็นใหญ่ ในฝรั่งเศส เชฟแฟร์น็อง ปวงต์ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘บิดาแห่งอาหารฝรั่งเศส’ เคยกล่าวไว้ว่า “เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่มีเทคนิค วินัย และความมุ่งมั่นที่จะทำให้การปรุงอาหารเป็นงานศิลปะอยู่เสมอ” หันมาดูทางญี่ปุ่น เชฟซูชิผู้หญิงก็ถูกมองว่าด้อยกว่า เพราะขนาดฝ่ามือที่เล็กและความคิดที่ว่าผู้หญิงมีอุณหภูมิร่างกายสูงเกินไปสำหรับการสัมผัสปลาสด ยิ่งกว่านั้น ภาพเชฟผู้เกรี้ยวกราดที่เขวี้ยงกระทะพร้อมสบถคำด่าดูเหมือนจะเป็นพฤติกรรมอำนาจนิยมของเพศชายที่สื่อถ่ายทอดให้เราเห็นเป็นปกติ และเชฟบางคนก็มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะเหตุนี้เลยเสียด้วย อาทิ กอร์ดอน แรมซีย์ จากรายการ Hell’s Kitchen

“เชฟบางคนเกิดความเครียดระหว่างทำงาน” ซากิ โฮชิโนะกล่าว เธอคือเพสตรี้เชฟชื่อดัง และเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนร้านอาหารไทยล้ำสมัยอย่าง 80/20 ร่วมกันกับเชฟณพล จันทรเกตุ สามีของเธอ ซากิจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย George Brown College และเคยทำงานอยู่ที่ร้านอาหารฝรั่งเศสสไตล์ บิสโทร Creme Brasserie ในเมืองโตรอนโต เธอเริ่มต้นจากการเป็นลูกมือทำขนม ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าเพสตรี้เชฟและได้เรียนรู้เกี่ยวกับขนมปังอาร์ติซาน ที่ 80/20 นั้น ซากิยึดมั่นในปรัชญาการทำอาหารแบบเริ่มจากศูนย์ โดยขนมที่เธอเสิร์ฟมักใช้วัตถุดิบหลักเพียงชนิดเดียวมานำเสนอในรูปแบบต่างๆ อย่างเมนู ‘ข้าว’ ที่เธอคิดค้นขึ้นนั้นประกอบด้วย โมจิ ข้าวหมาก ไอศครีม ข้าวพอง และคุกกี้ข้าวตุอีลงาขาว ซึ่งล้วนทำจากข้าวและให้รสสัมผัสที่หลากหลาย

การเป็นผู้หญิงในวงการอาหารไม่ได้ทำให้เรา ขาดโอกาส หรือเป็นเหตุผลให้คนไม่จ้างเรา แต่ปัญหาคือเวลาการทำงาน ระบบ และวิธีการดำเนินงาน มันถูกออกแบบโดยผู้ชายมาเพื่อผู้ชาย

สำหรับซากิแล้ว ความตึงเครียดจากการทำงานก้นครัวและความมุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างให้ออกมาสมบูรณ์แบบ สามารถทำให้ทุกคนหัวเสียได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม “แน่นอนว่าความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้ตลอด และคุณก็อาจจะอารมณ์เสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้เพราะเราเองก็มีอารมณ์เหมือนกัน” เธอกล่าว

อย่างไรก็ดี โทสะและอารมณ์รุนแรงที่แสดงออกในครัวนั้นหลายครั้งก็ไม่อาจเพียงยกเหตุผลเรื่องความเครียดขึ้นมารองรับได้ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงบริบทความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าเชฟกับลูกมือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้นท่ามกลางกระแส #MeToo ที่ดึงความสนใจไปสู่การข่มเหงเพศหญิงในอุตสาหกรรมต่างๆ “สำหรับผู้ชายมันคือการข่ม แต่กับผู้หญิงมันอาจถือเป็นการคุกคาม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในครัว ผู้ชายเองก็ต้องรับมือกับเรื่องเหล่านี้เหมือนกัน บรรยากาศการทำงานในครัวนั้นดุเดือด การข่มเหงเกิดขึ้นได้ทุกที่” การิมาเล่าถึงการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ที่ลูกมือก้นครัวอาจต้องเผชิญ

ถึงกระนั้น ผู้ชายก็ยังคงมีบทบาทโดดเด่น และได้ครองตำแหน่งสำคัญๆ ในแวดวงอาหาร ขณะที่จำนวนเชฟผู้หญิงที่ได้รับเชิญไปตามงานใหญ่ๆ อาทิ World Gourmet Festival (และ Bangkok Chefs Charity Gala Dinner ซึ่งไม่เคยมีเชฟหญิงได้เข้าร่วม) นั้นยังคงบางตา ซึ่งเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจสำหรับผู้หญิงในแวดวงอาหารอย่างซาแมนต้า โปรยรุ่งทอง หัวหน้าบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาด Extrovert “หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย คนจะคุ้นเคยกับการที่มีหัวหน้าเชฟหรือเชฟใหญ่เป็นผู้ชาย ในการทำการตลาด ยิ่งเป็นคนหนุ่มหน้าตาดีหรือชายมีอายุเจ้าเสน่ห์ พวกเขายิ่งเรียกคะแนนได้เพิ่มอีก” เธอกล่าว

อาจเป็นได้ว่าปราการด่านสุดท้ายที่ทำให้แนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ในวงการอาหารยังคงอยู่นั้น ก็คือองค์กรต่างๆ ผู้อยู่เบื้องหลังรางวัลของแวดวงอาหารอย่างมิชลิน ไกด์ และการจัดอันดับ 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลกของ San Pellegrino ซึ่งเป็นที่มาของรายได้จำนวนมหาศาลสำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล และสร้างชื่อเสียงให้กับเชฟทั่วโลก

ทุกวันนี้องค์กรเหล่านี้ยังคงวาดภาพตัวเองเป็นสมาคมชายล้วน ซึ่งยิ่งน่ากังวลเข้าไปอีกเมื่อผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือมิชลินไกด์ ไมเคิล เอลลิส กล่าวว่าบริษัทของเขา “ไม่อาจช่วย” เพิ่มจำนวนร้านอาหารดาวมิชลินที่นำทัพโดยเชฟหญิงได้ อย่างในมหานครนิวยอร์กซึ่งมีอะไรแปลกใหม่เกิดขึ้นในแวดวงอาหารตลอดเวลานั้น มีร้านอาหารระดับดาวมิชลินเพียง 8% เท่านั้นที่มีเชฟใหญ่เป็นผู้หญิง

สาเหตุอาจเป็นเพราะผู้หญิงหลายคนไม่พร้อมจะเสียสละบางอย่างเพื่อก้าวไปถึงจุดสูงสุดในแวดวงนี้ “ผู้หญิงที่มีครอบครัวและยังอยากเป็นที่หนึ่งนั้น จะต้องมุ่งมั่นและอุทิศเวลาให้กับงานเยอะมาก” เชฟบี-บงกช สระทองอุ่น กล่าว

ในความพยายามดึงดูดให้คนกลับมาสนใจในตำรับอาหารไทยโบราณที่กำลังค่อยๆ สูญหายไป บงกชได้ศึกษาค้นคว้าตำราอาหารของสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2413-2473 โดยประมาณ) และออกท่องไปตามชนบทเพื่อเสาะหาวัตถุดิบที่เหมาะสำหรับอาหารของเธอ ซึ่งการให้ความสำคัญกับรายละเอียด และความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่รู้จบ ส่งผลให้ร้านอาหาร Paste ของบงกชนั้นได้รับการประดับดาวมิชลินเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา รวมทั้งยังทำให้เธอสามารถคว้ารางวัลสุดยอดเชฟหญิงแห่งเอเชียประจำปี 2561 จากเวที 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในเอเชียมาครองอีกด้วย

บงกชมองว่าตัวเองโชคดีที่สามีและหุ้นส่วนร้านอาหารอย่างเชฟเจสัน เบลีย์ เป็นผู้รับหน้าที่หลักในการดูแลซิดนีย์ ลูกสาววัยแบเบาะของทั้งคู่ บงกชตั้งครรภ์ซิดนีย์ขณะที่ร้านเพสท์สาขาแรกในซอยสุขุมวิท 49 ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เธอกลับมาทำงานที่ร้านอาหารซึ่งตั้งอยู่ชั้นล่างของบ้านหลังจากหยุดพักได้เพียง 2 สัปดาห์หลังคลอดเท่านั้น

แต่ไม่ใช่เชฟทุกคนจะโชคดีเท่าบงกช เชฟการิมาแห่งร้านกากล่าวว่า นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญว่าทำไมจึงแทบไม่มีชื่อเชฟผู้หญิงปรากฏในหนังสือเล่มแดงของมิชลินหรือการจัดอันดับ 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลกของซาน เพลลีกรีโนเลย และเรียกได้ว่าน้อยมากจนต้องมีการตั้งรางวัลพิเศษสำหรับ ‘เชฟหญิงที่ดีที่สุด’ มารองรับ “มันเป็นเหมือนสมาคมชายล้วน การเป็นผู้หญิงในวงการอาหารไม่ได้ทำให้เราขาดโอกาส หรือเป็นเหตุผลให้คนไม่จ้างเรา แต่ปัญหาคือเวลาการทำงาน ระบบ และวิธีการดำเนินงาน มันถูกออกแบบโดยผู้ชายมาเพื่อผู้ชาย” เธอกล่าว

เชฟซากิแห่ง 80/20 นั้นเห็นด้วย เธอกล่าวว่า การดำเนินกิจการร้านอาหารนั้นส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการมีลูกของเธอ “เราก็อยากสร้างครอบครัวอยู่หรอก แต่เรื่องเวลานั้นเป็นปัญหาใหญ่ เรามีร้านก็เหมือนมีลูกคนหนึ่งแล้ว มันไม่ยุติธรรมสำหรับเด็กๆ ด้วยถ้าเราเกิดยุ่งจนไม่มีเวลาให้พวกเขา” เธอกล่าว

เชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ เป็นเจ้าของร้านประดับดาวมิชลินในชื่อ Bo.lan คู่กับสามี เชฟ ดีแลน โจนส์ และได้ปรากฏตัวในสารคดี Chef’s Table อันโด่งดังของ Netflix ซึ่งปัจจุบันดำเนินมาถึงซีซั่นที่ 5 เธอกล่าวว่าความร่วมมือระหว่างสามีภรรยาคือกุญแจสำคัญที่ทำให้ทั้งคู่ประสบความสำเร็จทั้งในการทำร้านอาหารและการเลี้ยงลูกทั้ง 2 คน นอกจากจะหยุดงานวันอาทิตย์แล้ว สองสามีภรรยายังสลับกันทำหน้าที่รับส่งลูกไปโรงเรียน และตื่นแต่เช้าเพื่อใช้เวลากับลูกๆ ระหว่างมื้อเช้า โดยพวกเขายังให้ลูกๆ ฝึกช่วยงานในครัวอีกด้วย ทั้งคู่ตัดสินใจลดขนาดร้านโบ.ลานลงเพื่อรักษาสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวให้ดียิ่งขึ้น “เราโชคดีที่ดีแลนแบ่งความรับผิดชอบดูแลลูกเท่าๆ กัน มันช่วยแบ่งเบาทั้งภาระทางกายและใจ การมีคนช่วยเป็นสิ่งที่มีค่ามากในการสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตครอบครัว คุณแม่เราเองก็คอยสนับสนุนและช่วยเหลือมาตลอดตั้งแต่ลูกเกิดจนถึงตอนนี้ ถ้าไม่มีแม่ เราคงไม่สามารถทำงานเต็มเวลาได้” เธอเล่า

ความยากลำบากในการหาจุดสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงานนั้น สำหรับประเทศกำลังพัฒนาแล้วถือเป็นปัญหาที่ส่งสัญญาณถึงความก้าวหน้าในด้านสิทธิสตรี แม้จะยังมีอุปสรรคหลายประการที่ต้องก้าวผ่าน อาทิ การถูกคุกคามในที่ทำงาน รางวัลที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ และอุตสาหกรรมที่ยังมีค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ แต่เรากำลังเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแวดวงอาหารไทย ด้วยการเพิ่มจำนวนขึ้นของเชฟหญิงดาวรุ่งผู้ซึ่งมองการทำอาหารเป็นศิลปะ และไม่ได้ทำเพียงเพราะหวังรางวัล พวกเธอกำลังลุกขึ้นมาท้าทายกรอบความคิดสร้างสรรค์ ออกเสาะหาวัตถุดิบท้องถิ่นชั้นยอด และปรุงอาหารในแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิ่งเหล่านี้เองที่ผลักดันแวดวงอาหารของกรุงเทพฯ ให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น ไม่ว่าคนกินจะเป็นเพศไหนก็ตาม

Essentials


Bangkok Bold Kitchen

โรงแรมริเวอร์ไซด์พลาซ่า ถนนเจริญนคร กรุงเทพฯ

096-626-4519

fb.com/bangkokboldkitchen

Bo.lan

24 ซอยสุขุมวิท 53 กรุงเทพฯ

02-260-2962

fb.com/BolanBangkok

Gaa

68/3 ซอยหลังสวน กรุงเทพฯ

091-419-2424

fb.com/gaabangkok

Paste

ชั้น 3 Gaysorn Village ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ

02-656-1003

fb.com/Pastebangkok

80/20

1052-1054 ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ

099-118-2200

fb.com/8020bkk