HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

INVESTMENT REVIEW


ต้องมีเงินเท่าไรจึงจะ 'พร้อม' เกษียณได้

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล สายงานลูกค้าบุคคล
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

คำถามนี้คงเป็นคำถามที่ติดอยู่ในใจใครหลายคนที่อาจจะเคยแอบถามตัวเองอยู่เหมือนกันว่าเรามีเงินเพียงพอที่จะเกษียณได้แล้วหรือยัง แผนการเงินและการลงทุนของเราเหมาะสมกับเป้าหมายการเงินของเราหรือไม่ และเราควรลงทุนอย่างไรหลังเกษียณ (แต่สำหรับผู้อ่านที่มีทรัพย์สินมากเกินพอแล้ว ประเด็นเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องน่ากังวลใจ ก็ลองอ่านดูเล่นๆ ก็ได้นะครับ)

สำหรับหลายคน ปัจจัยที่สำคัญต่อการตัดสินใจเกษียณอายุจากการทำงานเป็นเรื่องของเป้าหมายด้านเวลามากกว่าเป้าหมายด้านการเงิน คนส่วนใหญ่อยากทำงานและสะสมทรัพย์สินทางการเงินไปเรื่อยๆ เท่าที่จะทำได้จนครบอายุเกษียณ

ปัจจุบันมีแนวความคิดหนึ่งที่ได้รับความสนใจค่อนข้างมากในต่างประเทศเรียกว่า Financial Independence, Retire Early หรือ FIRE ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่อยากมีอิสระทางการเงินและเลิกทำงานประจำก่อนวัยเกษียณตามปกติ

คนกลุ่มนี้ตั้งเป้าหมายโดยวางแผนทางการเงินล่วงหน้า สะสมทรัพย์สินทางการเงิน วางแผนการลงทุนและเกษียณจากการทำงานเมื่อมีทรัพย์สินทางการเงินเพียงพอ เพื่อจะได้ใช้เวลากับสิ่งอื่นๆ ที่มีความสำคัญกับชีวิต เช่น การใช้เวลากับครอบครัว ทำงานเพื่อสังคมหรือเดินทางท่องเที่ยว

หลายคนที่ทำงานประจำสามารถประสบความสำเร็จและเกษียณอายุจากการทำงานได้ตั้งแต่อายุเพียง 35-45 ปี โดยไม่ต้องรับมรดกกองโตและไม่ได้ซื้อลอตเตอรี่ทุกงวด แต่มีการเก็บออมและวางแผนการลงทุนอย่างเป็นระบบ

แน่นอนว่าการเกษียณจากการทำงานตั้งแต่วัยเช่นนั้นอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน

บางคนอาจจะมองว่าการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และช่วยเพิ่ม 'จุดประสงค์' ของการมีชีวิตอยู่

บางคนอาจจะเชื่อว่า ชีวิตคงน่าเบื่อและหมดสนุกไปเยอะถ้าไม่ต้องมาทำงานทุกวันเป็นประจำ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่เงินที่เตรียมไว้หมดก่อนและต้องกลับมาทำงานอีกรอบ (ตอนอายุมาก) ก็เป็นได้

บางคนอาจจะมีเงินเพียงพอแล้ว แต่ก็ยังอยากสะสมทรัพย์สินทางการเงินไว้เผื่อจำเป็นต้องใช้ในอนาคต หรือเก็บไว้ส่งต่อให้ลูกหลานให้มากที่ทุกเท่าที่จะทำได้

บางคนอาจคิดว่าการเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว อายุยังน้อยจึงยังไม่ต้องเริ่มคิด แต่การเริ่มคิดวางแผนและตั้งเป้าหมายสำหรับการเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยทำให้เราเดินทางไปถึงจุดหมายที่เราอยากจะไปได้อย่างสบายใจมากขึ้น แม้ว่าเราจะ 'เลือก' ที่จะยังไม่เกษียณก็ได้

สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องตระหนักเสมอสำหรับการวางแผนทางการเงินระยะยาวก็คือ 'เงินเฟ้อ' ของการใช้จ่ายที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้น ถ้าเงินที่เรามีอยู่ถูกวางทิ้งไว้เฉยๆ อำนาจการซื้อของเงินนั้น อาจจะลดลงไปเรื่อยๆ เพราะถูกเงินเฟ้อกัดกร่อนได้

โดยทั่วไปแล้ว ในวัยทำงานเป็นช่วงที่เราควรมีรายได้มากกว่ารายจ่าย และเป็นช่วงที่เราควรจะสามารถสะสมทรัพย์สินและลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินไว้ใช้ในอนาคต (ไม่ใช่สร้างหนี้ไว้จ่ายหลังเกษียณ) และเมื่อถึงยามเกษียณ ก็เป็นช่วงที่เราไม่มีรายได้จากการทำงานประจำแล้ว แต่เป็นช่วงที่เรานำเงินที่เก็บเอาไว้ออกมาใช้ โดยอาจจะยังมีรายได้จากการลงทุนอยู่

ถ้าเราสามารถไปถึงจุดหมายได้เร็ว ก็ยิ่งทำให้เราสบายใจได้ว่าเรามีความมั่นคงด้านการเงินในระดับหนึ่ง

แล้วเราควรมีทรัพย์สินทางการเงินเท่าไร จึงจะเพียงพอกับการใช้หลังเกษียณและยังสามารถรักษาคุณภาพชีวิตแบบก่อนเกษียณไปได้เรื่อยๆ คำถามนี้คงไม่มีคำตอบที่ตายตัวสำหรับทุกคน แต่ก็อาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ 3 ประการ คือ

1) รายจ่ายที่เราจะใช้หลังเกษียณ

นี่คือ 'ไลฟ์สไตล์' หรือคุณภาพชีวิตที่เราต้องการรักษาไว้ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่การใช้เงินหลังเกษียณก็อาจเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา เช่น อาจมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวอาจลดลง

สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องตระหนักเสมอสำหรับการวางแผนทางการเงินระยะยาวก็คือ 'เงินเฟ้อ' ของการใช้จ่ายที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้น ถ้าเงินที่เรามีอยู่ถูกวางทิ้งไว้เฉยๆ อำนาจการซื้อของเงินนั้น อาจจะลดลงไปเรื่อยๆ เพราะถูกเงินเฟ้อกัดกร่อนได้

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของเราอาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอัตราเงินเฟ้อที่ทางการประกาศเลยก็ได้ เพราะเราอาจจะไม่ได้มีสัดส่วนการบริโภคสินค้า เหมือนกับตะกร้าของทางการเสียทีเดียว และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายหลักของคนวัยหลังเกษียณ และอาจจะมีการเพิ่มขึ้นของราคาที่สูงมาก

นอกจากนี้ ยังอาจจะมีรายจ่ายด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นรายจ่ายปกติทั่วไป เช่น การเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นมรดกเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานหรือการช่วยเหลือญาติพี่น้อง ก็อาจเป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการวางแผนเกษียณด้วย

2) ผลตอบแทนจากการลงทุนหลังเกษียณ

หลายคนเชื่อว่า ไม่ควรมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเมื่อผ่านวัยเกษียณไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง เนื่องจากหลังจากที่เกษียณอายุเราไม่ได้ถอนเงินออกมาใช้ทั้งหมดในวันเดียว แต่อาจจะค่อยๆ ถอนออกมาใน อีกระยะเวลาเป็นสิบปี ดังนั้น การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก็อาจจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาอำนาจการซื้อของเงินลงทุน

3) อายุช่วงที่เหลืออยู่หลังเกษียณ

ไม่มีใครรู้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่อีกนานแค่ไหนหลังจากเกษียณ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ต้องทยอยถอนเงินที่เก็บออมมาทั้งชีวิตออกมาใช้ โดยที่เราไม่รู้ว่าจะต้องใช้เงินเท่าที่มีอยู่นี้ไปอีกนานเท่าไร

ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้คนเรามีชีวิตยาวนานขึ้น ถ้าเราโชคดี มีอายุยืนยาวกว่าที่เราคาดและวางแผนไว้ ก็อาจจะกลายเป็นความโชคร้าย เพราะเงินที่เก็บไว้อาจจะไม่พอใช้ ความเสี่ยงนี้เรียกว่า 'longevity risk' ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้จริงๆ เราจึงอาจจะต้องเตรียมทรัพย์สินทางการเงินไว้ให้เพียงพอใช้ไปอีก 10-40 ปีหลังเกษียณหรือมากกว่าก็เป็นได้

ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้คนเรามีชีวิตยาวนานขึ้น ถ้าเราโชคดี มีอายุยืนยาวกว่าที่เราคาดและวางแผนไว้ ก็อาจจะกลายเป็นความโชคร้าย เพราะเงินที่เก็บไว้อาจจะไม่พอใช้ ความเสี่ยงนี้เรียกว่า 'longevity risk'

มีข้อสรุปง่ายๆ ว่า ควรจะมีทรัพย์สิน 'อย่างน้อย' ประมาณ 25-30 เท่าของ รายจ่ายต่อปีที่เราตั้งใจจะใช้หลังเกษียณ หรือเราสามารถ 'ถอนเงิน' ได้อย่างปลอดภัย ปีละประมาณ 3-4% (โดยปรับเงินเฟ้อแล้ว) ไปได้เรื่อยๆ ถ้ามีการลงทุนที่เหมาะสม

โดยปัจจัยที่สำคัญคือต้องเอาเงินนั้นไปลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ (ของเรา) เสมอเพื่อที่เราจะได้สามารถถอนเงินไปใช้ได้ตามแผนที่วางไว้

มีการคำนวณวิเคราะห์ย้อนหลังกลับไปไกลถึงเกือบร้อยปีว่า ถ้าเรามีทรัพย์สินประมาณ 30 เท่าของเงินที่ต้องการใช้ในแต่ละปีและลงทุนในพอร์ตการลงทุนที่มีหุ้น 50% และพันธบัตร 50% และค่อยๆ ทยอยถอนออกมาในอัตราคงที่ที่ปรับตามเงินเฟ้อแล้ว เราสามารถจะเกษียณจากการทำงานได้ไม่ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร โดยเราจะมีเงินใช้ไปได้อีก 30 ปีและยังมีเงินเหลืออีก 50% ของเงินตั้งต้น (ที่ปรับตามเงินเฟ้อแล้ว) เอาไว้ส่งต่อให้ลูกหลาน โดยมีโอกาสผิดพลาด (คือเงินหมดก่อน) เกือบจะเป็นศูนย์ ถ้าเราคิดว่าจะไม่เหลือเงินทิ้งไว้เลย เราก็สามารถใช้ไปได้เรื่อยๆ ถึง 50 ปีเลยทีเดียว

การวางแผนทางการเงินที่ดีเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตหลังเกษียณ โดยควรมีองค์ประกอบหลักที่สำคัญคือ

1) การออมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของการวางแผนทางการเงิน ยิ่งเราสามารถออมระหว่างที่ยังมีรายได้ได้มากเท่าไร เรายิ่งสามารถสะสมทรัพย์สินจนบรรลุเป้าหมายการเกษียณได้เร็วเท่านั้น กลุ่มคนที่อยากเกษียณเร็วๆ ควรพยายามออมให้ได้ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้หลังหักภาษี แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้และต้องใช้วินัยกันพอสมควร

2) การลงทุน ถ้าเราสามารถปล่อยให้เงินทำงานแทนเราและสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ เราก็ยิ่งสามารถไปถึงเป้าหมายของแผนได้เร็วเท่านั้น การลงทุนมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนเลยอาจจะมีความเสี่ยงยิ่งกว่า ดังนั้น การลงทุนที่มีความเสี่ยงในระดับที่เรารับได้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

3) การป้องกันความเสี่ยงด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นและทำให้การวางแผนของเราผิดพลาดไปได้ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลหรืออุบัติเหตุต่างๆ จึงควรต้องมีการป้องกันความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม และอย่าลืมว่า การรักษาสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้เราใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างเป็นสุข

วันนี้คุณวางแผนทางการเงินแล้วหรือยัง?