SECTION
ABOUTINVESTMENT REVIEW
กองทุนสมาร์ทเบต้า
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล สายงานลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
ในปัจจุบันเราคงเห็นว่าการลงทุนมีหลากหลายรูปแบบทั้งชนิดของสินทรัพย์และกลยุทธ์การลงทุน โดยหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนที่กำลังแพร่หลายอย่างมากในต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนสมาร์ทเบต้า ซึ่งมีการเติบโตของสินทรัพย์โดยเฉลี่ยระหว่างปี 2555 ถึงปี 2559 ประมาณร้อยละ 30 ต่อปี มีขนาดสินทรัพย์รวมในปัจจุบันประมาณ 30 ล้านล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นกองทุนหุ้นในสหรัฐฯ
กองทุนสมาร์ทเบต้าคืออะไร
กองทุนโดยทั่วไปสามารถแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ (1) กองทุนเชิงรับ (passive funds) ซึ่งคือกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์ตามน้ำหนักของหลักทรัพย์นั้นในดัชนีชี้วัด (index) และมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีชี้วัด โดยทั่วไปดัชนีชี้วัด คือ ดัชนีตลาด (market index) ซึ่งน้ำหนักของหลักทรัพย์รายตัวจะเป็นสัดส่วนกับมูลค่าตลาดของบริษัท (market capitalization weight) เราเรียกกองทุนพวกนี้ว่ากองทุนดัชนีตลาด (index fund) หรือกองทุนเบต้า (beta fund) (2) กองทุนเชิงรุก (active funds) คือกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์ตามการวิเคราะห์และดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน โดยการวิเคราะห์ดังกล่าวอาจมีการอ้างอิงหลายปัจจัย เช่น ราคาของสินทรัพย์เทียบกับมูลค่าพื้นฐาน สถานะทางการเงินและผลประกอบการของบริษัท ความผันผวนของผลตอบแทน แนวโน้มผลตอบแทนในอดีต เป็นต้น โดยจุดมุ่งหมายของกองทุนประเภทนี้คือ ผลตอบแทนที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (benchmark) ซึ่งโดยทั่วไปคือดัชนีตลาด
ส่วนกองทุนสมาร์ทเบต้านั้น เป็นกองทุนรูปแบบใหม่ที่มีการผสมผสานระหว่างกองทุนเชิงรับ และกองทุนเชิงรุก โดยมีความคล้ายคลึงกับกองทุนเชิงรับในแง่ของน้ำหนักของหลักทรัพย์ที่อิงกับดัชนีอ้างอิงที่ถูกสร้างขึ้น แต่แตกต่างกันที่ดัชนีอ้างอิงของกองทุนสมาร์ทเบต้าจะคำนวณจากปัจจัยการลงทุน (factor) แทนมูลค่าตลาดของบริษัทเพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกัน กองทุนสมาร์ทเบต้าก็มีความคล้ายคลึงกับกองทุนเชิงรุกในแง่ของการใช้ปัจจัยในการลงทุน ซึ่งผู้จัดการกองทุนมีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยมี 4 ปัจจัยการลงทุนที่สำคัญ คือ
(1) ราคาของสินทรัพย์เทียบกับมูลค่าพื้นฐาน (value) ซึ่งเชื่อว่าสินทรัพย์ที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน (เช่น สินทรัพย์ที่มีมูลค่าบริษัทตามราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าบริษัททางบัญชี) จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดในระยะยาว
(2) ความผันผวนของผลตอบแทน (minimum volatility) ซึ่งเชื่อว่าสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ (เช่น สินทรัพย์ที่มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลตอบแทนต่ำ) จะให้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่สูงกว่าผลตอบแทนต่อความเสี่ยงของตลาดในระยะยาว ทั้งนี้ อาจเกิดจากการที่นักลงทุนให้ความสนใจสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง (ซึ่งอาจมีผลตอบแทนสูงมาก) ทำให้สินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จึงทำให้ราคาของสินทรัพย์ต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน
(3) ผลตอบแทนของสินทรัพย์ในอดีต (momentum) ซึ่งเชื่อว่าสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่ดีในอดีตจะให้ผลตอบแทนที่ดีต่อไปในอนาคตอันสั้น ซึ่งอาจเกิดจากการที่นักลงทุนต้องใช้ระยะเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูล จึงทำให้ราคาสินทรัพย์ไม่สะท้อนข้อมูลใหม่ในทันที หรืออาจเกิดจากการที่นักลงทุนต้องการศึกษาพฤติกรรมของราคาสินทรัพย์เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน
ชื่อของกองทุนสมาร์ทเบต้าอาจสื่อว่าเป็นกองทุนพิเศษแต่จริงๆ แล้วก็คือกองทุนที่ผลตอบแทนยังขึ้นกับการเคลื่อนไหวของตลาด แต่ใช้ปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่มูลค่าตลาดของบริษัท
(4) สถานะความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (quality) ซึ่งเชื่อว่าบริษัทที่มีสถานะทางการเงินที่มั่นคง (เช่น มีอัตราหนี้สินต่อสินทรัพย์ต่ำ หรือมีผลประกอบการที่มีความเสถียร) จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดในระยะยาว
ชื่อของกองทุนสมาร์ทเบต้าอาจสื่อว่าเป็น กองทุนพิเศษ แต่จริงๆ แล้วก็คือกองทุนที่ผลตอบแทนยังขึ้นกับการเคลื่อนไหวของตลาด (ที่มาของคำว่าเบต้า) แต่ใช้ปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่มูลค่าตลาดของบริษัท (ที่มาของคำว่าสมาร์ท) หากตลาดมีผลตอบแทนที่เป็นลบมาก กองทุนสมาร์ทเบต้าก็อาจติดลบด้วย ในทางกลับกัน หากตลาดมีผลตอบแทนที่สูงมาก กองทุนสมาร์ทเบต้าก็อาจมีผลตอบแทนที่เป็นบวกเช่นเดียวกัน
ทำไมกองทุนสมาร์ทเบต้าจึงแพร่หลาย
กองทุนสมาร์ทเบต้าได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ โดยสาเหตุหลัก คือ กองทุนเชิงรุกส่วนใหญ่ไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว อีกทั้งมีค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน (management fee) ที่ค่อนข้างสูง ทำให้นักลงทุนหันมาสนใจที่จะลงทุนในกองทุนที่มีค่าใช้จ่ายถูกลง แต่ยังคงใช้ปัจจัยการลงทุนที่แพร่หลาย สมาร์ทเบต้าเป็นแนวคิดในการลงทุนแบบใหม่ เริ่มนํามาใช้ครั้งแรกโดยกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก การลงทุนแบบนี้เป็นการลงทุนโดยอิงปัจจัยที่มีผลต่อสินทรัพย์ โดยแทนที่จะวัดว่าเราลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เป็นน้ำหนักเท่าใด จะวัดว่าการลงทุนถูกกระทบจาก ‘ปัจจัย’ ต่างๆ เป็นสัดส่วนเท่าใด เนื่องจากปัจจัยเหล่านั้นมีอยู่ในสินทรัพย์ต่างๆ อยู่แล้ว ดังเช่นปัจจัยในเรื่องของความผันผวน ซึ่งจะสามารถพบได้ในทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และอัตราแลกเปลี่ยน
หากเราเปรียบเทียบกองทุนสมาร์ทเบต้ากับการบริโภคอาหารแล้ว จะเห็นได้ว่า เราสนใจการวัดสัดส่วนของสารอาหารที่เราบริโภค (เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน) แทนการวัดสัดส่วนของชนิดอาหารที่เราบริโภค (เช่น หมู ผัก ไก่)
ข้อดีของกองทุนสมาร์ทเบต้า
กองทุนสมาร์ทเบต้ามีคุณสมบัติที่สำคัญสามประการคือ (1) ค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ต่ำกว่ากองทุนเชิงรุก แต่สูงกว่ากองทุนเชิงรับ โดยผู้ลงทุนหวังผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่สูงกว่าตลาด (2) เกณฑ์ในการคัดเลือกและการลงทุนที่ชัดเจน (3) การช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุน ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ผู้ลงทุนต้องการคงการลงทุนในหุ้น แต่ต้องการลดความเสี่ยงลง ก็สามารถลงทุนในกองทุนประเภทลดความผันผวน (minimum volatility) ได้
ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีกองทุนหุ้นสมาร์ทเบต้าประเภทลดความผันผวน (minimum volatility) ซึ่งมุ่งเน้นการลดความผันผวนของตลาดหุ้นไทย เนื่องด้วยข้อจำกัดในโครงสร้างของตลาดหุ้นที่มีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมพลังงาน ธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อนข้างสูง
ความเสี่ยงของกองทุนสมาร์ทเบต้า
นอกจากข้อดีต่างๆ ที่กล่าวมา กองทุนประเภทนี้ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน ได้แก่ (1) กองทุนสมาร์ทเบต้าที่เป็นหุ้นยังมีความเสี่ยงของตลาดหุ้นอยู่ (2) มีโอกาสที่ปัจจัยในการใช้เลือกหุ้นจะไม่ได้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่สูงกว่าตลาดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (3) หากมีการลงทุนในกองทุนสมาร์ทเบต้าประเภทใดมากๆ อาจมีโอกาสที่ผลตอบแทนเทียบกับตลาดของกองทุนประเภทนั้นอาจจะลดลงอีกจากที่เคยทำได้ในอดีต
กล่าวโดยสรุป กองทุนสมาร์ทเบต้าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลงทุน ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยกองทุนสมาร์ทเบต้าที่เป็นหุ้นก็ยังมีความเสี่ยงของตลาดหุ้นอยู่ อย่างไรก็ดี อาจจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพื่อการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้ ■