SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
Cracking a Tube
ด้วยความนิยมของ YouTube ที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เหล่า 'ครีเอเตอร์' อิสระคือหัวหอกของการสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ที่ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์รายใหญ่ไม่อาจเทียบ
เมื่อ 4 ปีก่อน แชมป์-ธกฤต สมบัตินันท์ และเจอร์รี่-ฉัตรชัย อาสนจินดา เป็นเพียงนักศึกษาสาขาภาพยนตร์และเอกภาษาอังกฤษที่ใช้เวลาท่องโลกอินเทอร์เน็ตเรื่อยเปื่อย ยามใดที่ไม่ได้คร่ำเคร่งอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ พวกเขาจะนั่งชมภาพยนตร์ยอดนิยมเรื่องล่าสุด และเขียนบทวิเคราะห์ลงตามเว็บบอร์ดต่างๆ ไม่ว่าจะว่าด้วยเรื่องเทคนิคการเขียนบท Star Wars หรือการเจาะลึกเบื้องหลังกองถ่ายภาพยนตร์อินดี้ิอย่าง Hacker และ 45 Years ความหลงใหลในศาสตร์ของภาพยนตร์ทำให้ทั้งคู่มักใช้เวลาฟัง ‘พอดแคสต์’ (รายการทอล์กโชว์บนโลกอินเทอร์เน็ต) ของฝรั่ง เกี่ยวกับภาพยนตร์และนิยายเรื่องที่พวกเขาชื่นชอบ เพื่อให้ทราบถึงแนวคิดและเบื้องหลังของการสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่อง โดยในขณะนั้นยังไม่มีใครในประเทศที่ทำเนื้อหาลึกในระดับเดียวกัน เพราะรายการของไทยมักมุ่งความสนใจไปที่นักแสดงและการขายหนังในลักษณะโฆษณาแฝงของฮอลลีวู้ด มากกว่าจะพูดถึงรายละเอียดในด้านการสร้างหรือที่มาที่ไป “ในเมื่อไม่มีใครทำเนื้อหาอย่างนี้ ตอนนั้นเลยคิดว่า ทำไมเราไม่ทำเอง” ฉัตรชัยกล่าว
นั่นคือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง พวกเขาเริ่มอัดคลิปเสียงคุณภาพต่ำเพื่อวิเคราะห์วิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องต่างๆ โดยยังไม่ได้มีทิศทางหรือแบบแผนที่ชัดเจน และโพสต์ลงบน SoundCloud ซึ่งเปิดให้บริการสตรีมมิ่งคลิปเสียงฟรี ปรากฏว่าไม่นานนัก พวกเขาก็เริ่มมีฐานคนฟังเป็นของตัวเองโดยไม่ต้องโฆษณาใดๆ ซึ่งตรงกับการคาดการณ์ของพวกเขาว่าคนไทยคนอื่นๆ ก็อยากฟังการวิเคราะห์ภาพยนตร์เชิงลึกเหมือนกัน แต่เนื่องจากคลิปเสียงยังไม่ใช่รูปแบบที่เข้ามือสำหรับทั้งคู่ที่หลงใหลการเล่าเรื่องด้วยภาพและการเขียนสคริปต์ภาพยนตร์ พวกเขาจึงหันไปใช้ YouTube ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรับชมวิดีโออันดับหนึ่งในบ้านเราแทน สมัยแรกวิดีโอของพวกเขาอาจยังคุณภาพไม่ดีนัก และมักมีลักษณะเป็นเพียงคลิปเสียงประกอบภาพนิ่ง แต่ยูทูบก็เป็นพื้นที่ให้พวกเขาได้พัฒนาและเติบโตโดยลำดับ ทั้งคู่แบ่งหน้าที่กันชัดเจน ฉัตรชัยจะเป็นคนเขียนบท ขณะที่ธกฤตทำหน้าที่ตัดต่อวิดีโอให้มีสีสันยิ่งขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาก็เริ่มมีสไตล์เป็นของตัวเอง “ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร แต่ก็ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ เราแค่พยายามทำให้มันเข้าถึงง่ายขึ้นและเป็นเหมือนรายการทีวีจริงๆ” ธกฤตเล่า
สิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นได้พัฒนาไปเป็น ‘JUST ดู IT’ หนึ่งในรายการวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศ ทั้งในและนอกโลกอินเทอร์เน็ต คลิปเสียงคุณภาพต่ำที่อัดอย่างสะเปะสะปะปัจจุบันกลายเป็นวิดีโอที่ตัดต่ออย่างดีราวกับทีเซอร์ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ซึ่งมีซาวด์เอฟเฟกต์และเสียงพากษ์เร้าใจควบคู่เนื้อหาสั้นกระชับและน่าจดจำ (ฉัตรชัยเล่าว่าวิดีโอหนึ่งชิ้นอาจใช้เวลาอัดเสียงและตัดต่อถึง 30 ชั่วโมง) ปัจจุบัน พวกเขามีผู้ติดตามบนยูทูบจำนวน 850,000 คน และได้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับค่ายยักษ์ใหญ่ในวงการภาพยนตร์ของประเทศ อาทิ Walt Disney Thailand และ Netflix ซึ่งส่งทั้งสองไปทั่วโลกเพื่อสัมภาษณ์ดารานักแสดงและผู้กำกับแถวหน้า สิ่งที่เดิมทีเป็นเพียงช่องทางปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ได้แปรเปลี่ยนไปเป็นอาชีพเต็มตัว “เราอยากวิเคราะห์ภาพยนตร์แบบเจาะลึกกว่าคนอื่น ว่าใครอยู่เบื้องหลังบ้าง ขั้นตอนการเขียนบทเป็นยังไง ใครคือฝ่ายออกแบบ เรื่องราวการถ่ายทำ นี่คือประเด็นที่พวกเราชอบยกมาถกกัน” ฉัตรชัยอธิบาย
ย้อนกลับไปราว 20 ปี การผลิตวิดีโอสักชิ้นนั้นมีต้นทุนมหาศาล โดยต้องใช้ทั้งกองถ่าย ทีมงานโปรดักชัน และบริษัทผลิตสื่อโทรทัศน์รายใหญ่ที่พร้อมจะทุ่มเงินหลายล้านบาท
เรื่องราวของคนสองคนที่เปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นเยี่ยมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เกือบทุกธุรกิจในโลกก็มีจุดเริ่มต้นในทำนองเดียวกัน เพียงแต่เส้นทางการต่อยอด ‘ความคิด’ ไปสู่ ‘ความสำเร็จ’ นั้นมักใช้เวลาหลายสิบปี หรือบางครั้งอาจต้องการเวลาหลายชั่วอายุคนกว่าจะออกดอกผล สำหรับยุคแห่งอินเทอร์เน็ตนี้ทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน
การเปิดตัวของยูทูบในปี 2005 คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิธีการเสพข้อมูลผ่านวิดีโอและมุมมองที่ผู้คนมีต่อสื่อประเภทนี้ ย้อนกลับไปราว 20 ปี การผลิตวิดีโอสักชิ้นนั้นมีต้นทุนมหาศาล โดยต้องใช้ทั้งกองถ่าย ทีมงานโปรดักชัน และบริษัทผลิตสื่อโทรทัศน์รายใหญ่ที่พร้อมจะทุ่มเงินหลายล้านบาท คนตัวเล็กๆ อย่างฉัตรชัยและธกฤตคงต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะไต่เต้าภายในองค์กรจนได้มีโอกาสผลิตรายการของตัวเอง และแม้กระนั้น ด้วยความที่มีเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม ผู้ชมของพวกเขาก็คงมีจำนวนจำกัด ซึ่งอาจทำให้ผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจไม่ลงทุนกับรายการ อย่างไรก็ตาม ยูทูบได้ทลายกำแพงอันเกิดจากต้นทุนการผลิตเหล่านี้ลง ทุกวันนี้ใครก็ตามที่มีไอเดียและโทรศัพท์สมาร์ทโฟนก็สามารถสร้างฐานคนดูของตัวเองจากทุกมุมโลกได้
อัตราการเติบโตของยอดผู้รับชมวิดีโอในยูทูบนั้นสูงจนน่าตกใจ ในแต่ละวัน ผู้ใช้ยูทูบเสพเนื้อหากว่า 1 พันล้านชั่วโมง ขณะที่ซูเปอร์สตาร์บนยูทูบนั้นสามารถทำรายได้ราว 15-20 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 5-6 ร้อยล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการโฆษณา การโปรโมทสินค้า และการจำหน่ายสินค้า ยูทูบนับเป็นโซเชียลมีเดียที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก Facebook และความนิยมนี้เอง ทำให้ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ในประเทศเกือบทุกราย ตั้งแต่เวิร์คพอยท์ไปจนถึงช่อง 3 ย้ายเนื้อหาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไปบนแพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อให้ทันต่อกระแสพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้ชมที่เปลี่ยนไป พื้นที่ของยูทูบเป็นที่แจ้งเกิดของเหล่าผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์หรือ ‘ครีเอเตอร์’ ชื่อดังจำนวนมาก อาทิ กูรูความงามอมตา จิตตะเสนีย์ (Pearypie) และธริศร ธรณวิกรัย (Boomtharis) ผู้ผลิตวิดีโอที่เน้นรีวิวผลิตภัณฑ์กลุ่มลักชัวรี คนเหล่านี้ดึงความสนใจของเหล่าผู้ชมและเงินค่าโฆษณาจำนวนมหาศาลไปจากมือของสถานีโทรทัศน์ใหญ่ ขณะที่ครีเอเตอร์บางเจ้า อย่าง ‘เอก’ HEARTROCKER เกมแคสเตอร์ตลกโปกฮาซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 4.7 ล้านคนนั้น ก็ดูจะมีความเชี่ยวชาญสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เมื่อหลายปีก่อนสถานีโทรทัศน์ทั่วไปคงไม่กล้าออกเงินทุนให้ แต่ปัจจุบันกลับดึงดูดผู้ชมบางกลุ่มอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ระบบสตรีมมิ่งอย่างยูทูบนั้นสั่นคลอนวิถีการรับชมโทรทัศน์แบบเก่าๆ ด้วยฟังก์ชั่นการค้นหา โมเดลการกด subscribe หรือ ‘กดติดตาม’ ช่องที่ตนสนใจ ประกอบกับฟีเจอร์การ ‘รับชมวิดีโอถัดไป’ ซึ่งใช้อัลกอริทึมช่วยเลือกวิดีโอที่เหมาะสำหรับผู้ใช้แต่ละคน เพราะนัยยะของสิ่งเหล่านี้คือผู้บริโภคสามารถเลือกรับชมเฉพาะสิ่งที่ตัวเองสนใจ ในเวลาและสถานที่ที่เขาต้องการได้ เมื่อก่อนสมาชิกทั้งครอบครัวอาจนั่งล้อมรอบหน้าจอโทรทัศน์เพื่อดูรายการต่างๆ พร้อมกัน แต่ปัจจุบันผู้ชมส่วนใหญ่รับชมรายการ “ของใครของมัน” และไม่ต้องทนดูสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบ “ทีวีแบบเก่ามีปัญหาตรงที่มันไม่ตอบกับความต้องการเฉพาะบุคคลเท่าไร เนื้อหาออนไลน์ได้รับความนิยมเพราะมันผลิตมาเพื่อตอบกับคนดูเฉพาะกลุ่ม เราจะดูอะไรตอนไหนก็ได้ แทนที่จะเป็นโปรแกรมโทรทัศน์ที่ถูกเลือกมาแล้ว” ปอนด์-ภริษา ยาคอปเซ่น เจ้าของช่องยูทูป Bon Jakobsen บอก
ใครก็ตามที่ช่องของตนมียอดผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000 คนและมียอดเข้าชมอย่างน้อย 4,000 ชั่วโมงในช่วงเวลา 12 เดือนย้อนหลังนั้นมีสิทธิ์ทำเงินจากช่องของตัวเองได้
ภริษาเป็นหนึ่งในนักสร้างสรรค์คอนเทนต์บนยูทูบยุคบุกเบิกในบ้านเรา ในปี 2007 แม่บ้านขี้เบื่อผู้นี้ได้โพสต์วิดีโอชิ้นแรกเพื่อเข้าร่วมการประกวดวิดีโอไวรัลของช่อง MTV แม้จะส่งไม่ทันกำหนด แต่การทำวีดีโอดังกล่าวได้ทำให้ภริษาค้นพบว่าตนสนุกกับการทำวิดีโอมากจนเธอตัดสินใจทำคลิปวิดีโอสั้นๆ ต่อ ซึ่งโดยมากมีรูปแบบเป็นการพูดคุยกับกล้องหรือเล่นเป็นตัวละครต่างๆ เพื่อความบันเทิง ในปี 2010 ช่องของเธอเริ่มได้รับความนิยม ส่งผลให้เธอมีชื่อเสียงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในเวลานั้น ยูทูบยังถือว่าอยู่ในยุคแรกเริ่ม การสร้างอาชีพจากการโพสต์วิดีโอลงยูทูบนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่ ทำให้เมื่อสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งมาชักชวนให้เธอไปทำงานด้วยหลังได้รับชมวิดีโอของเธอ เธอจึงตัดสินใจไปร่วมงานด้วยอยู่นานหลายปี “8 ปีก่อนยังไม่มีใครหาเงินจากยูทูบได้ สมัยนั้นไม่มีใครลาออกจากงานประจำไปทำช่องยูทูบของตัวเอง แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราคงเลือกอีกอย่าง” เธอกล่าว พร้อมทั้งเล่าว่า เมื่อไม่นานมานี้เธอ “กำลังกลับมา” โลดแล่นบนโลกออนไลน์อีกครั้ง โดยเธอได้จ้างผู้ช่วยและมือตัดต่อวิดีโอมาช่วยเธอสร้างแบรนด์ ซึ่งตอนนี้ประกอบไปด้วยพอดแคสต์ วิดีโอ และเว็บไซต์
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีแรกๆ ยูทูบมีปัญหาด้านการเงินรุมเร้า กระทั่ง Google ยังถูกวิจารณ์อย่างหนักในปี 2006 เมื่อบริษัทตัดสินใจซื้อกิจการของยูทูบ ซึ่งตอนนั้นสูญเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐขณะที่ผู้ใช้สามารถอัปโหลดวิดีโอเข้าสู่เซิร์ฟเวอร์ได้โดยอิสระและฟรี สถานการณ์ดังกล่าวยังคงมีอยู่จวบจนกระทั่งปี 2010 เมื่อกูเกิลเริ่มนำ AdSense ซึ่งเป็นโปรแกรมป้อนโฆษณาให้เหมาะสำหรับผู้ชมแต่ละคนมาประยุกต์ใช้ ยูทูบจึงเริ่มทำกำไรในที่สุด อย่างไรก็ดี ยอดผลกำไรสุทธิของยูทูบนั้นยังค่อนข้างเป็นปริศนา เพราะในตลาดหลักทรัพย์ ยูทูบนั้นอยู่ภายใต้หุ้นของบริษัทกูเกิล รายได้ของยูทูบจึงถูกนำไปคิดรวมกับรายได้ทั้งหมดของแอดเซนส์ ทำให้ไม่มีตัวเลขกำไรแน่ชัด มีเพียงตัวเลขจากองค์กรอื่นๆ อย่างธนาคารเพื่อการลงทุนจากสหรัฐฯ Robert W. Baird & Co. ซึ่งได้ประเมินไว้ว่ายูทูบทำรายได้ราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.7 แสนล้านบาท) ต่อปี กูเกิลไม่มีการเปิดเผยว่ารายได้ดังกล่าวนั้นกลับคืนสู่เหล่าครีเอเตอร์เป็นจำนวนกี่เปอร์เซนต์ บอกเพียงแต่เกณฑ์ว่า ใครก็ตามที่ช่องของตนมียอดผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000 คนและมียอดเข้าชมอย่างน้อย 4,000 ชั่วโมงในช่วงเวลา 12 เดือนย้อนหลังนั้นมีสิทธิ์ทำเงินจากช่องของตัวเองได้
รูปแบบธุรกิจดังกล่าวช่วยให้ครีเอเตอร์รายเล็กๆ อย่างเช่น วิว-ชนัญญา เตชจักรเสมา สามารถสร้างรายได้จากการสร้างสรรค์เนื้อหาวิดีโอแบบเต็มเวลาได้ แม้ชนัญญาจะไม่มองตัวเองว่าเป็น ‘ยูทูบเบอร์’ เพราะเธอกล่าวว่าเธอผลิตเนื้อหาออนไลน์หลากรูปแบบ ไม่ใช่แค่วิดีโอ แต่ช่องยูทูบของเธอ Point of View ก็มีจำนวนผู้ติดตามกว่า 580,000 คน และมียอดเข้าชมราว 3.1 ล้านครั้งต่อเดือน เช่นเดียวกับครีเอเตอร์รายอื่นๆ ช่องของเธอมีความเฉพาะกลุ่มมากจนบริษัทผลิตสื่อโทรทัศน์เจ้าใหญ่ๆ อาจไม่กล้าลงทุนทำรายการในลักษณะดังกล่าว เธอโพสต์วิดีโอใหม่สัปดาห์ละ 3 เรื่อง และเน้นเนื้อหาที่เป็น ‘Edutainment’ หรือ ‘Infotainment’ ซึ่งผสมผสานเกร็ดความรู้ต่างๆ เข้ากับการผลิตและตัดต่อวิดีโอที่ชวนสนุก โดยชนัญญานั้นเน้นเนื้อหาด้านวรรณคดีเป็นหลัก วิดีโอแต่ละชิ้นของเธอจะหยิบยกนิยายหรือเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมา และย่อยเนื้อหานั้นๆ ให้ง่ายต่อการจดจำ อย่างไรก็ตาม การสร้างสรรค์เนื้อหาในฐานะครีเอเตอร์ไม่ใช่ความฝันของเธอมาตั้งแต่ต้น เธอเพียงแต่ทำเพื่อช่วยให้ตัวเองเข้าใจเนื้อหาของวรรณคดีที่เธอเรียนได้ดีขึ้นเท่านั้น เธอเล่าว่า สมัยเรียนมัธยมปลาย เพื่อนมักขอให้เธอช่วยสอนการบ้าน และการสอนหนังสือเพื่อนก็ช่วยให้เธอเข้าใจเนื้อหาได้ละเอียดถี่ถ้วนขึ้น แต่เมื่อเธอเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเต็มไปด้วยเหล่าหัวกะทิและไม่มีใครมาขอให้เธอช่วยติวหนังสืออีก เธอก็ต้องประยุกต์วิธีใหม่ “เรารู้ตัวว่าเราต้องสอนตัวเองแบบเดียวกับที่เคยสอนเพื่อน เราต้องเล่าเรื่องให้ตัวเองฟัง”
ยูทูบนั้นเป็นเสมือนเครือข่ายเคเบิลทีวียุคใหม่ซึ่งดูฟรีใช้ฟรี เปิดกว้างสำหรับการคิดนอกกรอบ และความสำเร็จของรายการถูกกำหนดโดยความสนใจของผู้ใช้
เธอเริ่มใช้ทวิตเตอร์เพื่อโพสต์ข้อความสั้นๆ เกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนในห้องเรียน แม้บัญชีผู้ใช้ของเธอจะเป็นบัญชีสาธารณะ แต่เนื่องจากสิ่งที่เธอเขียนนั้น ถูกเขียนขึ้นเพื่อให้ตัวเองอ่าน มันจึงมักเป็นร่างเนื้อหากระท่อนกระแท่นของวรรณคดีที่เธอกำลังเรียนอยู่ เมื่อผู้ใช้คนอื่นๆ เริ่มเข้ามาเห็นและขอให้เธอเล่าเรื่องที่เธอแชร์บนโซเชียลมีเดียให้จบ เธอก็ค้นพบว่าทวิตเตอร์ซึ่งจำกัดจำนวนตัวอักษรไว้เพียง 140 ตัวอักษรต่อโพสต์ เป็นช่องทางที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเล่าเรื่องยาว เธอจึงเริ่มทำวิดีโอและหันมาใช้ยูทูบ ชนัญญาใช้เวลากว่า 7 ปีในการพัฒนาสไตล์และวิธีการเล่าเรื่องของตัวเอง ต่างจาก JUST ดู IT ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 ปี “เราลองผิดลองถูกหลายอย่าง เราต้องเรียนรู้ว่าอะไรเวิร์ค อะไรไม่เวิร์ค เราเพิ่งเริ่มทำยูทูบอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน” เธอเล่า
ครีเอเตอร์อย่างชนัญญา ฉัตรชัย และธกฤต กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้สร้างฐานคนดูจำนวนมหาศาลด้วยอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้นและความหลงใหลส่วนตัว คนกลุ่มนี้สร้างสรรค์วิดีโอโดยใช้งบประมาณต่ำ และสามารถถ่ายและตัดต่อวิดีโอตอนไหนหรือที่ใดก็ได้ แม้คุณภาพการผลิตของพวกเขาอาจไม่ได้ทัดเทียมผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์รายใหญ่ๆ แต่งบประมาณนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะความสำเร็จแบบก้าวกระโดดของยูทูบในทศวรรษที่ผ่านมาได้ทำลายพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์รูปแบบเดิม จนหลายคนตั้งคำถามว่าสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายในการผลิตสูงจะอยู่รอดได้อีกนานเพียงใด ในเมื่อผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์รุ่นใหม่สามารถผลิตเนื้อหาที่ตอบสนองความต้องการของคนดูได้ไม่แพ้กัน แต่ด้วยค่าใช้จ่ายเพียงเศษเสี้ยว
“10 ปีก่อนเรายังดูรายการโทรทัศน์ แต่ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ชอบสื่อยุคเก่าแบบนั้นแล้ว และนั่นคือเหตุผลที่เราเข้ามาทำตรงจุดนี้ แต่ผมไม่คิดว่าทีวีจะตาย มันเหมือนกับสื่อยุคเก่าอื่นๆ ที่จะยังคงอยู่กับเราไปในรูปแบบใดแบบหนึ่ง” ฉัตรชัยกล่าว ก่อนที่ธกฤตจะเสริมว่า “โทรทัศน์ยุคก่อนมีอิทธิพลกับเราอย่างมาก เพียงแต่ทุกวันนี้ฐานคนดูมันเปลี่ยนไปหมด คนดูบนยูทูบเด็กกว่าคนดูเคเบิลทีวีมาก แต่เราก็พยายามเอาจุดดีของทีวีและสิ่งที่ผู้ชมรุ่นใหม่อยากดูมาผสมผสานกัน ถ้าคุณดูทีวีตอนนี้ คุณจะไม่เจออะไรแบบที่เราทำ นั่นคือเหตุผลที่สิ่งต่างๆ ถึงกำลังเปลี่ยนไป”
การผลิตรายการโทรทัศน์แบบเก่าซึ่งมีต้นทุนสูงจะยังคงปรากฏอยู่ในรูปแบบใดแบบหนึ่ง ตราบใดที่ผู้คนยังรับชมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต แต่สิ่งที่ยูทูบและช่องทางอื่นๆ อย่าง LINE TV และ Dailymotion ได้ทำคือการตั้งคำถามถึงความจำเป็นของรายการโทรทัศน์เหล่านี้และเครือข่ายเคเบิลทีวีในการทำหน้าที่ผูกขาดการถ่ายทอดรายการต่างๆ ยูทูบนั้นเป็นเสมือนเครือข่ายเคเบิลทีวียุคใหม่ ซึ่งดูฟรีใช้ฟรี เปิดกว้างสำหรับการคิดนอกกรอบ และความสำเร็จของรายการถูกกำหนดโดยความสนใจของผู้ใช้ ไม่ใช่เหล่าผู้บริหารที่มุ่งมั่นทำกำไรและตีตลาดคนดูในวงกว้าง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่แม่บ้านขี้เบื่อ คู่หูคอหนัง นักศึกษาวรรณคดี หรือใครก็ตามก็สามารถสร้างฐานคนดูหลักล้านได้ โดยใช้แค่คอมพิวเตอร์และกล้องวิดีโอธรรมดาๆ ไม่ต้องบอกก็เห็นชัดว่า ยิ่งเทคโนโลยีราคาถูกลงและมีคนใช้มากขึ้นเท่าไร การแข่งขันก็มีแต่จะทวีความเข้มข้นและสนุกขึ้นอีกนับจากนี้ ■
Essentials
Bon Jakobsen
JUST ดู IT
Point of View