HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


Cloistered Escape

นักท่องเที่ยวรู้จักระยองในฐานะที่ตั้งของเกาะเสม็ดซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งไป 20 กิโลเมตร แต่จริงๆ แล้วพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดแห่งนี้ยังมีอัญมณีซุกซ่อนอยู่อีกมาก

หากขับรถจากอำเภอแกลง ในจังหวัดระยองมายังบริเวณหาดแม่พิมพ์ ซึ่งใช้เวลาราว 20 นาที ผู้มาเยือนจะพบว่ามีสถานที่แสนพิเศษแห่งหนึ่งแฝงตัวอยู่ ถนนร่มรื่นสายนี้มีบ้านเรือนตั้งอยู่เรียงรายสลับกับป้ายบอกทางหน้าตาใกล้เคียงกันของหลายรีสอร์ท จนผู้พบเห็นอาจแยกความแตกต่างไม่ออก อย่างไรก็ตาม โรงแรมเหล่านี้หาใช่จุดหมายปลายทางที่เรากำลังมองหาแต่อย่างใด เมื่อขับรถมาได้ราวครึ่งทาง เราจะพบกับทางแยกเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนลูกรังสายเล็กๆ ซึ่งมีป่าขึ้นปกคลุมอยู่ทั่ว จากนั้นให้เดินตามเสียงคลื่นต่อจนเริ่มมองเห็นฟองน้ำทะเลจากหมู่แมกไม้แล้ว เราจะพบกับตึกสองชั้นสีส้มอ่อนซึ่งดูตั้งอยู่ผิดที่ผิดทาง และแตกต่างจากโรงแรมอื่นๆ ที่เราสามารถพบเห็นได้ในระยองโดยสิ้นเชิง

อาคารในสถาปัตยกรรมโมร็อกโกที่ซ่อนตัวจากถนนใหญ่และบรรดานักท่องเที่ยวแห่งนี้ มีหน้าตาที่ชวนให้นึกถึงบ้านพักตากอากาศของคนดังหรือคหบดีผู้มั่งคั่ง กระนั้น พนักงานต้อนรับซึ่งแต่งกายด้วยชุดผ้าลินินสีส้มสไตล์อาราเบียนก็ทำให้เรารู้ว่าที่นี่ไม่ใช่คฤหาสน์ของเศรษฐี แต่เป็นโรงแรมที่พร้อมเปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนทุกราย โดยมีข้อแม้เพียงว่าต้องหาโรงแรมให้เจอ

“ยินดีต้อนรับสู่ เดอะ ริยาด ค่ะ” พรรณพิไล ลออคุณ กล่าวทักทายอย่างยิ้มแย้มขณะเดินลงมาตามขั้นบันไดที่ออกแบบอย่างประณีตของโรงแรม เบื้องหลังเธอคือป้ายชื่อโรงแรมภาษาอังกฤษในอักษรแบบอารบิก ซุ้มทางเข้าโค้งเบื้องหลังเธอนั้นดูคล้ายกับโถงทางเดินของมัสยิด Tin Mal Mosque บนเทือกเขาไฮ แอตลาสในประเทศโมร็อกโก อันเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากสเปนและชาวมัวร์ซึ่งผสมผสานวัฒนธรรมของคาบสมุทรไอบีเรียและแอฟริกันไว้ด้วยกัน

พรรณพิไลเป็นเจ้าของร้านจิวเวลรี่ ‘สิน’ และผู้สืบทอดกิจการร้าน Kim Bijoux จากคุณแม่ของเธอซึ่งตั้งอยู่ที่ O.P. Place ติดกับโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ลในย่านเจริญกรุง สำหรับเธอแล้ว โรงแรม The Ryad คือผลงานชิ้นเอก ขณะที่จังหวัดระยองนั้นเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของเธอมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ครอบครัวของเธอใฝ่ฝันมาตลอดว่าอยากเป็นเจ้าของบ้านริมหาดสักหลังในระยอง เพราะเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างหัวหินหรือพัทยานั้นพลุกพล่านและอึกทึกเกินไปสำหรับพวกเขา จังหวัดแห่งนี้จึงเป็นอะไรที่ลงตัวมากกว่า “เราจำช่วงเวลาที่มาเล่นทะเลที่ระยองได้ เราจะวิ่งไปทั่วชายหาด ไล่จับปูลม ว่ายน้ำ แล้วก็ขุดทรายอย่างไม่เหนื่อยเลย ผิวนี่ดำจากแดดไปหมด แต่เราก็ไม่สนใจ เรามีความสุขมากที่ได้มาทะเล” เธอเล่าย้อนไป

สมัยที่พวกเขาเริ่มมาพักตากอากาศที่ระยองเมื่อหลายสิบปีก่อน ครอบครัวของเธอยังไม่สามารถหาบ้านติดหาดอย่างที่ต้องการได้ จนเมื่อสิบปีที่แล้ว คุณป้าของพรรณพิไลได้เจอที่เล็กๆ สองแปลงถัดจากหาดแม่พิมพ์ ซึ่งตรงกับสิ่งที่พวกเขากำลังมองหาพอดี เธอหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงแรมในระยอง และพบว่าที่นี่ไม่มีโรงแรมบูทีคริมหาดแม้แต่แห่งเดียว ความคิดของเธอไม่มีอะไรซับซ้อน ถ้าคนจะยอมจ่ายค่าโรงแรมหรูแนวบูทีคบนเกาะเสม็ดได้ พื้นที่ฝั่งชายฝั่งอันเงียบสงบแห่งนี้ก็น่าจะเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีไม่แพ้กัน “จุดขายที่นี่คือความสมบูรณ์ของธรรมชาติและบรรยากาศอันเงียบสงบ ชายหาดที่นี่แทบไม่เปลี่ยนไปจากเมื่อ 30 ปีก่อน ชาวบ้านยังลงมาหาปูและเคยตามหาด มันคือเสน่ห์เรียบง่ายของท้องถิ่น” พรรณพิไลกล่าว

เดอะ ริยาดนั้นถูกออกแบบให้คล้ายกับ 'riad (ริยาด)' อันหมายถึงบ้านสไตล์โมร็อกโกในศตวรรษที่ 11 ซึ่งมีสวนกลางบ้านไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ครอบครัวใช้เวลาร่วมกัน

จุดหมายปลายทางยอดนิยมอย่างเกาะเสม็ด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กันนั้น ได้ดึงดูดความสนใจของบรรดานักท่องเที่ยวไปจากจังหวัดระยอง แต่หากถามคนไทยหรือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ที่นี่มานาน หลายคนจะบอกว่านี่คือสิ่งที่สร้างเสน่ห์ให้จังหวัดแห่งนี้ ระยองนั้นเงียบสงบและมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่งที่ควรค่าแก่การไปเยือน ใครเดินทางบ่อยๆ จะมองว่าที่นี่คือจุดหมายปลายทางชั้นยอดสำหรับหลบหลีกความวุ่นวายและฝูงนักท่องเที่ยว ไม่ไกลจากโรงแรมริยาดเป็นที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้วิถีประมง ชุมชนเนินฆ้อ แหล่งทำประมงขนาดใหญ่ของไทย ซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นได้ร่วมมือกันสร้างแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติขึ้น โดยในช่วงไม่กี่ปีที่่ผ่านมายังได้รับแรงสนับสนุนจากบริษัท SCG อีกด้วย นอกจากนี้ ผู้มาเยือนสามารถแวะเวียนไปยังอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า ซึ่งตั้งอยู่เยื้องกับหมู่เกาะเสม็ดและหาดแม่รำพึง ที่นี่มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยไม่แพ้ใคร ส่วนใครที่ชื่นชอบการผจญภัยสามารถขับรถขึ้นเหนือไปทางจังหวัดจันทบุรี อันเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวงซึ่งมีพรมแดนคาบเกี่ยวสองจังหวัด อุทยานแห่งนี้มีเส้นทางเดินป่าหลายเส้นทาง รวมทั้งเป็นที่ตั้งของถ้ำและน้ำตกต่างๆ ถือเป็นหนึ่งในป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ

เมื่อพรรณพิไลตัดสินใจว่าจะเปิดโรงแรมบูทีคในจังหวัดระยอง เธอต้องเลือกว่าจะออกแบบโรงแรมในสไตล์ใด เช่นเดียวกับคนทำจิวเวลรี่ทั่วๆ ไป เธอชอบสถาปัตยกรรมหลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นแบบโคโลเนียลหรือยุโรป กระนั้น เธอก็ไม่อาจละสายตาจากงานกระเบื้องเซรามิกและสีสันอันฉูดฉาดของสถาปัตยกรรมของโมร็อกโกไปได้ “เราชอบอะไรที่ผสมผสาน คงเพราะมันต่างจากศิลปะแบบไทยจีนที่เราเติบโตมา แล้วสถาปัตยกรรมโมร็อกโกก็รวมหลายวัฒนธรรมไว้ด้วยกัน” เธอกล่าว

เดอะ ริยาดนั้นถูกออกแบบให้คล้ายกับ ‘riad (ริยาด)’ อันหมายถึงบ้านสไตล์โมร็อกโกในศตวรรษที่ 11 ซึ่งมีสวนกลางบ้านไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ครอบครัวใช้เวลาร่วมกัน “ภายนอกของบ้านแบบริยาดนั้นดูธรรมดา แต่หากเดินเข้าไปข้างในจะพบว่ามันงดงามมาก ทั้งส่วนโค้งของซุ้มประตู ผนังปูนปั้น และกระเบื้องเซลลิจแบบโมร็อกโก สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมแบบโมร็อกโกนั้นให้ความสำคัญกับพื้นที่อยู่อาศัยภายใน” เธออธิบาย

ขณะที่โรงแรมส่วนใหญ่ในพื้นที่นั้นมีจุดขายเรื่องวิวทะเล ห้องพักทั้งหมดที่เดอะ ริยาดกลับหันหน้าไปทางพื้นที่สวนตรงกลาง อันเป็นหัวใจของคฤหาสน์หลังนี้ ยามก้าวพ้นประตูอินเดียบานสูงที่ฉลุลวดลายสมมาตรและวิจิตรเข้าไป แขกจะพบกับความงามของกระเบื้องเซลลิจที่ใช้ประดับพื้นและโต๊ะ จนผู้มาเยือนอาจรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจังหวัดระยอง

ชุมชนแห่งนี้สอนให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับความเงียบสงบ การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ และการรับประทานอาหารบ้านๆ อย่างต้มปลาหมึกแห้ง ตามแบบวิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชนปากน้ำประแส

การออกแบบและตกแต่งโรงแรมแห่งนี้กินระยะเวลากว่า 5 ปี ซึ่งระหว่างนั้นทักษะในการหยิบจับสิ่งละอันพันละน้อยมาผสมผสานกันของพรรณพิไลก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นด้วย เมื่อ 3 ปีก่อนเธอเดินทางไปเยือนประเทศโมร็อกโก และได้นำของขึ้นชื่อของโมร็อกโกไม่ว่าจะเป็นถาดสัมฤทธิ์ เบาะรองนั่งและสตูลสีฉูดฉาด พรมสีสันสดใส และโต๊ะกระเบื้องเซลลิจกลับมาด้วย เธอจับคู่ของตกแต่งเหล่านี้เข้ากับของประดับซึ่งส่วนใหญ่มาจากเชียงใหม่ อย่างโต๊ะรับประทานอาหารเก่าสไตล์ยุโรป กระจกไม้ ประตูโบราณ อ่างล้างมือสัมฤทธิ์ และของประดับกำแพง นอกจากนี้ยังมีเสื่อกระจูดซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของบ้านมาบเหลาชะโอนในจังหวัดระยองที่อยู่ห่างไปไม่กี่นาที และกระเป๋ากระจูดสานจากจังหวัดพัทลุงด้วย

นอกจากธรรมชาติอันงดงามแล้ว จังหวัดแห่งนี้ก็ยังมีคาเฟ่สวยๆ ซ่อนตัวอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสตูดิโอถ่ายภาพกึ่งร้านกาแฟ Tham Ma Ta ที่ฮิปและสวยขึ้นกล้อง หรือ Roux Cafe คาเฟ่สไตล์มินิมัลซึ่งเสิร์ฟกาแฟทั้งแบบดริป เอสเพรสโซ ไปจนถึงแอโรเพรส รวมทั้งยังมีเมล็ดกาแฟหลากสายพันธุ์ทั้งไทย พม่า หรือกระทั่งบุรุนดีให้เลือกชิม ขณะที่ถัดไปเพียงไม่กี่กิโลเมตรจากโรงแรมเดอะ ริยาด ชาวนอร์ดิกหลายคนกำลังสาละวนกับการจับจ่ายใช้สอยใน Viva Supermarket บนถนนริมหาดแม่พิมพ์ ภายในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้จำหน่ายสารพัดขนมไทยและของนำเข้าจากยุโรป รวมไปถึงของดีประจำภูมิภาคสแกนดิเนเวียอย่างปลาแอนโชวี่กระป๋องด้วย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชุมชนชาวต่างชาติที่นี่ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และบ่อยครั้งคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวฝรั่งแบบที่เราจินตนาการ

โอเรียน แฮมริน คือชาวสวีเดนที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยกว่า 30 ปีแล้ว เขาคือเจ้าของกิจการ วิวา ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ชาวสแกนดิเนเวียนมักแวะเวียนมา โดยหลายคนนั้นอาศัยอยู่ในจังหวัดระยองมานานหลายสิบปี ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ชุมชนชาวสแกนดิเนเวียนที่นี่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยกว่า 80% นั้นเดินทางมาจากสวีเดนเหมือนกับโอเรียน เพราะบรรดาโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่นี่พยายามตีตลาดในประเทศสวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์อย่างหนักหน่วง ผู้อยู่อาศัยต่างชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นครอบครัววัยกลางคนหรือวัยเกษียณที่ต้องการหลีกหนีจากอากาศหนาวเย็นของประเทศบ้านเกิดในช่วงตุลาคมถึงเมษายนของทุกปี โดยมีชายหาดที่สวยและเงียบสงบของระยองเป็นเสมือนกำไรอีกต่อ แต่สำหรับโอเรียนแล้วปัจจัยที่ดึงดูดชาวต่างชาติให้กลับมาที่นี่คือผู้คน “ที่นี่คนไม่ได้เห็นเราเป็นแค่ฝรั่ง แต่ปฏิบัติต่อเราเหมือนเป็นคนในท้องถิ่นคนหนึ่ง” เขาเล่า

ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ที่นี่ก็มักทำตัวกลมกลืนไปกับคนท้องถิ่นเช่นกัน หากไปเยือนตลาด ร้านค้า และร้านอาหารทะเลต่างๆ เราจะพบชาวต่างชาติมากหน้าหลายตานั่งปะปนอยู่กับคนไทย บางคนนั้นเช่าสามล้อขี่ไปรอบๆ เมืองด้วยตัวเอง โดยหลายครั้งมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ริมหาดอันสงบเงียบของระยอง

ธรรมชาติที่ปากน้ำประแสนั้นอุดมสมบูรณ์มาก มีเรือพาเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวประมง ป่าโกงกาง หิ่งห้อย ปูดำ และเหยี่ยวแดง ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าธรรมชาติที่นี่ได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี

อีกแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเพชรเม็ดงามของจังหวัดแห่งนี้คือปากน้ำประแส “ธรรมชาติที่ปากน้ำประแสนั้นอุดมสมบูรณ์มาก มีเรือนำเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวประมง ป่าโกงกาง หิ่งห้อย ปูดำ และเหยี่ยวแดง ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าธรรมชาติที่นี่ได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี” พรรณพิไลกล่าว

โฮมสเตย์ที่ปากน้ำประแสได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความแตกต่างจากโฮมสเตย์ของหมู่บ้านชาวประมงแห่งอื่นๆ ซึ่งหลายครั้งมีบริการปรุงวัตถุดิบอาหารทะเลต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวเสร็จสรรพ ชุมชนแห่งนี้เชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับความเงียบสงบ การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ และการรับประทานอาหารบ้านๆ อย่างต้มปลาหมึกแห้ง ตามแบบวิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชนปากน้ำประแส

หลายร้อยปีก่อน ประแสเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากถือเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชใช้รวบรวมกำลังพลในปี 2309 เพื่อกอบกู้เอกราชสยามจากพม่าในปีถัดมา กว่า 60 ปีที่ผ่านมา ประแสเป็นที่ตั้งของคานเรือแหลมเมือง​ อู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกที่ประกอบและซ่อมเรือประมงราคาตั้งแต่หลัก 10 ถึง 30 ล้านบาท ซึ่งออกท่องไปทั่วทั้งอ่าวไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่า เพื่อหาปลาในน่านน้ำสากล

หลังไทยได้รับแรงกดดันจากสหภาพยุโรปให้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการทำประมงให้มีความเข้มงวดขึ้น ชาวประมงรายย่อยต่างก็ได้รับผลกระทบ ทำให้เจ้าของเรือประมงหลายคนตัดสินใจขายเรือและเปิดโฮมสเตย์เพื่อหารายได้ยังชีพ อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นของปากน้ำประแสในฐานะแหล่งท่องเที่ยวนั้นเกิดขึ้นในปี 2537 จากความฝันของชะโลม วงศ์ทิม เกษตรกรวัย 75 ปีผู้ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่ประแสตั้งแต่เกิด

เช่นเดียวกับอีกหลายชีวิตในหมู่บ้าน ชะโลมประกอบอาชีพตัดต้นโกงกางสำหรับทำถ่านเพื่อเลี้ยงชีพเป็นเวลาหลายสิบปี เขาตระหนักว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ป่าชายเลนโดยรอบ เขาจึงเลิกอาชีพตัดไม้โกงกางและเริ่มปลูกป่าทดแทน นอกจากนี้ เขายังระดมเงินทุนของลูกหลานตัวเองมาสร้างทางเดินไม้ยาว 100 เมตรเพื่อเข้าไปยังศาลเจ้าแสม ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของบรรดาชาวประมงในท้องถิ่น โดยศาลเจ้าแห่งนี้ในอดีตสามารถเข้าถึงได้ทางเรือเท่านั้น “มันเป็นกุศโลบายของผมที่จะทำให้ชาวบ้านหันมารักและดูแลทางเดินไม้แห่งนี้ก่อน จากนั้นพวกเขาก็จะเริ่มหันมาดูแลป่าชายเลนรอบๆ เอง” ชะโลมกล่าว

ทางเดินดังกล่าวปัจจุบันได้รับการขยายเป็นเส้นทางชมธรรมชาติความยาว 2.7 กิโลเมตร และป่าชายเลนรอบๆ ก็กลายเป็นศูนย์กลางสำหรับโครงการปลูกป่าเพื่อสังคมต่างๆ ป่าชายเลนแห่งนี้กินพื้นที่ 6,000 ไร่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดระยอง ทางเดินดังกล่าวตัดผ่านป่าโกงกางอันเป็นจุดเริ่มต้นของแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของปากน้ำประแสอย่างทุ่งโปรงทอง ซึ่งเกิดจากการที่ต้นไม้ป่าโกงกางอย่างต้นโปรงแดงนั้นขาดน้ำทะเลจนลำต้นแคระแกร็นและใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อแสงแดดยามเช้าและบ่ายแก่ตกกระทบกับใบของต้นโปรง ทุ่งโกงกางแห่งนี้ก็แปรสภาพไปเป็นทุ่งสีทองอร่าม สมกับชื่อ ‘ทุ่งโปรงทอง’ ที่ชาวบ้านตั้งให้

เพื่อจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยู่ที่ประแสนานขึ้น ซิน-สมสิริ ชาญเชี่ยว ได้เปิดธุรกิจโฮมสเตย์สองแห่ง คือ ‘บ้านชานสมุทร’ และ ‘มาหาสมุทร บูทีค โฮมสเตย์’ ร่วมกับศิริรัตน์ คุณแม่ของเธอและสมศักดิ์ คุณพ่อของเธอผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในไต้ก๋งระดับตำนานแห่งน่านน้ำไทย สมศักดิ์ขายเรือของเขาไปเมื่อหลายปีก่อน และปัจจุบันได้ร่วมมือกับสมสิริในการจัดทัวร์ล่องแพให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิถีชีวิตริมน้ำ ก่อนจะกระโดดลงเล่นน้ำในช่วงเย็น เมื่อไม่นานมานี้ พวกเขายังได้เพิ่มกิจกรรมการส่องเหยี่ยวแดงเข้าไปด้วย “เหยี่ยวแดงเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเหยี่ยวแดงที่ประแสมาก่อนจนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว” สมสิริเล่า

กระนั้น อนาคตด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดระยองก็ยังเป็นที่น่ากังวล ภูมิภาคแห่งนี้ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ทำให้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมหลายแห่งนั้นเลือกฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ เทคโนโลยีดิจิทัล โรโบติกส์ ไบโอเทคโนโลยี และชีวเคมี รวมทั้งยังตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในเขต EEC ให้ถึง 10 ล้านคนต่อปีด้วย

การพัฒนาในระดับดังกล่าวได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับคนในพื้นที่อย่างพรรณพิไล แต่เธอก็ยังมองว่าการพัฒนานั้นอาจเป็นเรื่องดี หากต้องทำอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงธรรมชาติเป็นหลัก “ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็กังวล เพราะเราต่างใช้พื้นที่ชายฝั่งเดียวกัน มีปัญหาตรงไหนของชายฝั่งมันก็เชื่อมถึงกันหมด ฉะนั้นเราควรมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และไม่ควรตะบี้ตะบันใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว การพัฒนานั้นไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป เพราะมันจะนำมาซึ่งโอกาสสำหรับคนรุ่นหลัง” พรรณพิไลกล่าว เช่นเดียวกับโรงแรมของเธอที่เปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นได้ทำงานในบ้านเกิดของตัวเองและเรียนรู้ทักษะต่างๆ

ในตอนนี้ ธรรมชาติอันเงียบสงบของระยองยังมีช่วงเวลาสวยงามให้เราได้เพลิดเพลิน ที่เดอะ ริยาด ช่วงเวลาดังกล่าวของพรรณพิไลคือยามเมื่อพระอาทิตย์ตกบนหาดแม่พิมพ์ ซึ่งชวนให้เธอนึกย้อนไปถึงสมัยเด็กๆ แสงสุดท้ายของวันส่องกระทบคลื่นเป็นประกายวาว ขณะที่ชาวบ้านกำลังเดินทอดน่องไปตามชายหาด เท้าครึ่งหนึ่งของพวกเขาจมอยู่ในน้ำทะเล แสงสีทองตกกระทบเป็นเงาเคลื่อนไหว โลกภายนอกดูราวกับหยุดหมุนไปชั่วขณะ ไม่ไกลจากเดอะ ริยาด พรรณพิไลกำลังยืนมองสามีภรรยาคู่หนึ่งนั่งเล่นทรายอยู่ริมหาด ขณะที่ลูกสาวตัวเล็กๆ ของพวกเขาวิ่งไปรอบๆ อย่างไม่รู้จักเหนื่อย “มันเป็นเรื่องดีเสมอเวลาได้เห็นครอบครัวอยู่ด้วยกันและไม่มีใครเล่นโทรศัพท์มือถือ การมาเที่ยวพักผ่อนคือโอกาสที่เราจะได้ใช้เวลาและจดจำช่วงเวลาดีๆ ร่วมกัน มันเป็นเสน่ห์ของอุตสาหกรรมการบริการ” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ครั้งหนึ่ง พรรณพิไลอาจเคยเป็นเด็กหญิงคนนั้น และสิ่งที่เธอเห็นคือภาพความสุขเรียบง่ายที่สะท้อนความเป็นสถานที่ในฝันของระยอง จุดหมายปลายทางอันเปี่ยมด้วยความเงียบสงบและธรรมชาติอันสวยงามซึ่งเราหวังว่าจะยังคงอยู่ไปอีกหลายทศวรรษ

Essentials


Roux Cafe

159/9 ถนนราษฎร์บำรุง อ.เมือง ระยอง

081-653-0333

fb.com/rouxcafery

Tham Ma Ta

21/2 หมู่ 1 อ.เมือง ระยอง

092-063-6646

fb.com/thammatastudiocafe

The Ryad

198 หมู่ 1 อ.แกลง ระยอง

038-020-305

theryadrayong.com

Viva Supermarket

หมู่ 4 อ.แกลง ระยอง

085-260-4700

bit.ly/2Itnb5w

บ้านชานสมุทร

185/1 หมู่ 2 อ.แกลง ระยอง

081-209-2108

fb.com/baanchansamut

มาหาสมุทร บูทีค โฮมสเตย์

170 หมู่ 2 อ.แกลง ระยอง

081-653-4123

fb.com/MahahSamut