HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


In a Strange Land

ทำความรู้จักกับหลากหลายสถาปนิกสัญชาติไทยผู้สามารถฝากผลงานโดดเด่นข้ามพ้นเขตแดน

โอกาสครั้งสำคัญในหน้าที่การงานมักมาถึงโดยไม่ทันตั้งตัว

สำหรับเบน-นัฏฐวุฒิ เนียมเทศ สถาปนิกชาวไทยผู้ทำงานอยู่กับบริษัทระดับโลกอย่าง Eppstein Uhen Architects (EUA) ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโดนั้น โอกาสดังกล่าวมาถึงแบบกระหืดกระหอบอย่างยิ่ง ในปี 2014 สวนพฤกษศาสตร์เดนเวอร์ (Denver Botanic Gardens) ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์พืชที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ต้องการสร้างอาคารจัดแสดงนิทรรศการวิทยาศาสตร์หลังใหม่ ทางสวนพฤษศาสตร์จึงเชิญสถาปนิก 5 คนให้เข้าร่วมการประกวดออกแบบปิรามิดบนใจกลางพื้นที่ขนาด 23 เอเคอร์ (ประมาณ 58 ไร่) โดยมีโจทย์คือความยั่งยืนและความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม โครงการนี้เข้าทางนัฏฐวุฒิ เพราะแม้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่เขาก็มีความสนใจเรื่องความยั่งยืนกับงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษอยู่แล้ว นอกจากนี้ นี่ยังจะถือเป็นโครงการระดับใหญ่ที่สุดของเขาในฐานะนักออกแบบของ EUA อีกด้วย

ติดอยู่อย่างเดียวคือ ข้อเสนอดังกล่าวมีกำหนดส่งภายใน 3 วัน

ระยะเวลาดังกล่าวนับว่าน้อยนิดสำหรับการคิดและประกอบร่างแบบสถาปัตยกรรมให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งมีตั้งแต่การวางกรอบแนวคิด การทำแบบจำลองที่เก็บรายละเอียดครบถ้วน และการทำภาพเรนเดอร์สามมิติ สถาปนิกส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาหลายเดือนกับขั้นตอนดังกล่าว แต่นัฏฐวุฒิมีเวลาเพียงไม่กี่วัน “เราคิดหลายตลบว่าจะทำหรือไม่ทำดี เวลามันกระชั้นชิดมาก แต่โอกาสก็ดูดีมาก ผมเลยบอกกับตัวเองว่า ‘เอ้า ทำก็ทำ’” นัฏฐวุฒิ ผู้ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการของบริษัท EUA เล่า

กว่าเขาจะตัดสินใจได้ก็เป็นเวลาตี 2 ของวันจันทร์ กำหนดส่งงานของเขาคือวันพุธ และในขณะนั้นนัฏฐวุฒิคือคนเดียวในบริษัทที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์แนวคิดในการออกแบบได้ เขาทำงานเกือบ 24 ชั่วโมงติดต่อกันเพื่อสร้างแบบจำลองและตกผลึกแนวคิดต่างๆ แม้จะได้นอนเพียงไม่กี่ชั่วโมง เขาก็ยังเดินทางไปเยือนสวนพฤกษศาสตร์เดนเวอร์เพื่อนั่งซึมซับบรรยากาศในสถานที่จริง ผลลัพธ์คือแทนที่จะวาดภาพโครงสร้างทรงปิรามิดแข็งทื่ออย่างที่ทุกคนคิด เขากลับออกแบบปิรามิดที่เล่นกับมุมและแฉกต่างๆ เพื่อล้อกับลักษณะภูมิทัศน์โดยรอบ และมีรูปทรงที่สะท้อนการเคลื่อนที่เข้าหากันของแผ่นเปลือกโลก นอกจากนี้ ผนังด้านข้างของอาคารที่ทำหน้าที่ป้องกันตึกจากฝน หิมะ และลม ยังถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นทรง 6 เหลี่ยมคล้ายกับรังผึ้งอีกด้วย

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนส่งงาน นัฏฐวุฒิได้รวบรวมทีมวิศวกรโครงสร้างของบริษัทเพื่อตรวจสอบรายละเอียดว่างานออกแบบดังกล่าวจะสามารถก่อสร้างได้จริง ซึ่งทีมวิศวกรก็ให้ผ่านฉลุย จากนั้นเขาจึงมอบหมายให้ทีมนักเขียนร้อยเรียงเรื่องราวเพื่อบอกเล่าจุดประสงค์ของโครงสร้างดังกล่าว และให้ดีไซน์เนอร์นำแบบจำลองของเขาไปเปลี่ยนเป็นภาพเสมือนจริงที่ประกอบด้วยผู้คนและธรรมชาติ “ตลอดระยะเวลา 3 วัน มีหลายอย่างมากที่ต้องทำ เราต้องใช้ความพยายามอย่างหนักและเครื่องมือสารพัด แต่ถือเป็นประสบการณ์ที่พิเศษมาก” นัฏฐวุฒิเล่า

เขาออกแบบปิรามิดที่เล่นกับมุมและแฉกต่างๆ เพื่อล้อกับลักษณะภูมิทัศน์โดยรอบ และมีรูปทรงที่สะท้อนการเคลื่อนที่เข้าหากันของแผ่นเปลือกโลก

การโหมงานหนักให้ผลคุ้มค่า เพราะเมื่อถึงเวลานำเสนอผลงาน นัฏฐวุฒิและทีมก็ทำได้ดีเสียจนผู้ถือหุ้น 60 กว่ารายที่นั่งฟังอยู่ในที่ประชุม รวมถึงตัวซีอีโอเอง ยืนขึ้นปรบมือกราวเมื่อการนำเสนอสิ้นสุดลง

ปัจจุบัน ปิรามิดวิทยาศาสตร์ ณ สวนพฤกษศาสตร์เดนเวอร์ มีผู้เดินทางมาเยี่ยมชมจำนวนหลายล้านคนต่อปี อาคารแห่งนี้ได้รับรางวัลระดับภูมิภาคหลายเวที อาทิ รางวัล Best Cultural/Worship Project และ Best Overall Project จาก Engineering News Review สำหรับแนวคิดและการนำเสนอ รวมทั้งได้รับคำสรรเสริญจากสื่อด้านสถาปัตยกรรมอย่าง Arch Daily และ Architecture Magazine ในแง่ของการเลือกใช้วัสดุที่มีความยั่งยืน การใช้แสงธรรมชาติและพลังงานแสงอาทิตย์ และการบูรณาการเทคโนโลยี ซึ่งถือว่าน่าตื่นเต้นไม่ใช่น้อยสำหรับงานที่ใช้เวลาทำเพียง 3 วัน “ข้อจำกัดต่างๆ ทั้งในแง่ของเวลาและกระบวนการต่างๆ สุดท้ายก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี ผมเกลียดเวลาตัวเองคิดอะไรไม่ออก ข้อจำกัดทั้งหมดนี้บีบให้ผมต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และไหวพริบในการแก้ปัญหา” นัฏฐวุฒิกล่าว

งานสถาปัตยกรรมที่ดีไม่ต่างอะไรจากภาษา เพราะนี่คือสิ่งที่สะท้อนความคิด ค่านิยม และปัญหาเฉพาะของผู้ใช้ในแต่ละภูมิภาค การออกแบบงานสถาปัตยกรรมในกรุงเทพฯ หรือเชียงรายจะต้องคำนึงถึงค่านิยมและความต้องการที่แตกต่างจากการออกแบบในเมืองเดนเวอร์ ดังนั้น บรรดาสถาปนิกจึงต้องกระจ่างในความต้องการ ความเชื่อ หรือรสนิยมความงามของผู้คน เพื่อให้นำมาใช้สื่อสารได้อย่างราบรื่น การทำสิ่งนี้สำเร็จในประเทศบ้านเกิดนับว่าน่าประทับใจมากแล้ว แต่การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมในต่างแดนเพื่อผู้คนที่เกิดและโตในพื้นที่อื่น ถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่อาจไม่ได้เห็นบ่อยนัก

อย่างไรก็ตาม มีสถาปนิกชาวไทยหลายคนที่ออกไปสร้างชื่อสร้างผลงานในต่างแดนได้สำเร็จ บริษัทสถาปนิกชื่อดังอย่าง A49 และ Design 103i (ซึ่งมี นิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม และชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว สถาปนิกดีเด่น เป็นผู้ร่วมก่อตั้งตามลำดับ) นั้นได้รับงานออกแบบอาคารในประเทศต่างๆ ตั้งแต่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงดูไบ ขณะที่สถาปนิกอิสระในนิวยอร์กอย่างระวีวรรณ โชคสมบัติชัย และสถาปนิกผังเมืองลูกครึ่งไทย-เยอรมัน อาทิสร วังประเสริฐ แห่งบริษัท Studioort ในกรุงลอนดอน ก็ล้วนเคยได้ฝากผลงานน่าประทับใจไว้ในประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ ส่วนนัฏฐวุฒินั้นอาจจะได้เปรียบหน่อย เพราะถึงเขาจะเติบโตขึ้นในครอบครัวทหารที่ไม่ได้มีฐานะ แต่ก็ได้ไปศึกษาต่อที่เยอรมนี ก่อนจะเข้าฝึกงานกับบริษัทในสหรัฐฯ ทำให้เขาคุ้นเคยกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แปลกไปตลอดเวลา ซึ่งทักษะนี้ย่อมสำคัญยิ่งสำหรับใครก็ตามที่ต้องการสร้างชื่อนอกบ้านเกิด

อีกหนึ่งโครงการจากบริษัทสถาปนิกสัญชาติไทยที่ได้แสดงความสามารถในการตอบโจทย์ท้องถิ่นโดยไม่ให้เขตแดนเป็นอุปสรรคได้อย่างน่าสนใจ ก็คือโรงแรม The Mist Hot Spring Hotel ในจังหวัดสวี่ชางสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีบริษัท Department of Architecture ที่ก่อตั้งโดยอมตะ หลูไพบูลย์ และทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ เป็นผู้ออกแบบ

อาคาร 4 หลังของโรงแรมดังแห่งนี้ตั้งอยู่ล้อมรอบบ่อน้ำพุร้อนที่ขึ้นชื่อที่สุดของประเทศจีน และถูกออกแบบมาให้กลมกลืนกับภูมิประเทศที่ตั้ง โดยทั้งอมตะและทวิตีย์พยายามไม่มองหาแรงบันดาลใจจากผลงานของสถาปนิกคนอื่นๆ เพราะคิดว่าการทำเช่นนั้นมักนำไปสู่การลอกเลียนแบบ “เรามองหาลูกค้าที่อยากได้อะไรที่ใหม่และแตกต่าง เขาอาจมาหาเราโดยยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แต่เพราะอย่างนั้นมันเลยทำให้เราสนุกเวลาได้ลองอะไรที่เราไม่รู้มาก่อน” ทวิตีย์กล่าว

ก่อนที่อมตะจะเสริมว่า “มีลูกค้าหลายคนเข้ามาหาสถาปนิกพร้อมกับไอเดียในหัวที่ชัดเจนมาก ลูกค้ากลุ่มนี้อาจไม่เหมาะกับเราเท่าไร เวลาที่ลูกค้าเข้ามาหาเรามือเปล่า มันเปิดโอกาสให้เราได้ทำสิ่งที่ไม่คาดคิด ซึ่งช่วยดึงดูดลูกค้าคนอื่นๆ เข้ามาหาเราเพิ่มอีก”

แม้จะไม่เอาแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรม แต่ทั้งคู่ก็เปิดกว้างในการรับอิทธิพลจากสิ่งอื่นๆ ทั่วสารทิศ ตัวโรงแรมเดอะ มิสต์ ฮอท สปริง โฮเทล มีแนวคิดมาจากฟิล์มเก่าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ศิลปินมักจะเอามาลงมือทาสีชนิดโปร่งแสงทีละเฟรม จนเกิดเป็นสีสันเหนือจริงขณะฉายภาพ โดยด้านนอกของโรงแรมแห่งนี้ใช้โครงสร้างเหล็กขัดเป็นตารางซ้อนกันแบบ 3 มิติ (ซึ่งในส่วนนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนั่งร้านไม้ไผ่แบบจีน) แล้วแต่ละช่องจะถูกฉาบด้วยสีฟ้าและแดงอมม่วงในเฉดต่างๆ เพื่อให้เกิดมิติและความลึกคล้ายกับฟิล์มเก่า ขณะที่ภายในอาคารนั้นถูกออกแบบมาให้ล้อกับตัวบ่อน้ำพุร้อนและปรากฏการณ์ธรรมชาติในพื้นที่ แผงคริสตัลขนาดมหึมาที่ห้อยอยู่เหนือล็อบบี้ เครื่องสร้างหมอก และองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อเป็นของประดับตกแต่ง แต่เป็นการสร้างความกลมกลืนให้กับตัวโรงแรมและพื้นที่โดยรอบ

อาคารหลังนี้กลายเป็นกระแสในระยะเวลาอันสั้น และสามารถคว้ารางวัลระดับนานาชาติถึง 5 รางวัล โดยในที่นี้ มีรางวัล Best of Competition จากเวที International Interior Design Association หรือ IIDA ครั้งที่ 45 ในสหรัฐอเมริกาอยู่ด้วย และยังได้รับการเสนอชื่อในอีก 6 หมวดหมู่ด้วยกัน “เราไม่ได้สนใจเรื่องรางวัล แต่รางวัลก็ทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งในเวทีใหญ่ๆ ด้วย มันเปิดโอกาสให้เราได้ทำในสิ่งที่ไม่คาดคิด” ทวิตีย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ผลงานทางสถาปัตยกรรมต่างแดนจากฝีมือสถาปนิกชาวไทย มักกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง มากกว่าแถบอเมริกาหรือยุโรป ผลงานสถาปัตยกรรมในบ้านเรากลับสะท้อนกระแสที่ตรงกันข้าม เพราะประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียมักได้รับอิทธิพลทางด้านสถาปัตยกรรมจากยุโรปมาเป็นเวลานาน อย่างในประเทศไทย อิทธิพลดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสถาปัตยกรรมต่างๆ ในแบบตะวันตกขึ้น แม้แต่ปัจจุบัน อาคารร่วมสมัยใจกลางกรุงเทพฯ ก็ดูยังไม่อาจแยกขาดจากอิทธิพลตะวันตก เห็นได้จากตึกมหานคร ซึ่งตกเป็นประเด็นถกเถียงว่าได้ว่าจ้างสถาปนิกชาวเยอรมัน โอเล เชียเรน เป็นผู้ออกแบบ และโครงการ One Bangkok ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่นั้น ก็มีบริษัทสัญชาติอเมริกัน Skidmore, Owings & Merrill เป็นหัวเรือใหญ่  

การมองสิ่งต่างๆ ในแง่สถาปัตยกรรมอย่างเดียวทำให้คุณมีวิธีแก้ปัญหาที่จำกัด เหมือนเวลาคุณมีค้อน ทุกอย่างจะเริ่มดูเป็นตะปูไปหมด บางครั้งคำตอบอาจง่ายเพียงการสร้างสนามเด็กเล่นไว้ด้านนอกหรือปรับแผนอาคาร

“ตอนผมเติบโตขึ้นในประเทศไทย ผมรู้สึกเหมือนเรากำลังเผชิญกับวิกฤติเชิงอัตลักษณ์” กุลภัทร ยันตรศาสตร์ กล่าว เขาคือผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการงานสร้างสรรค์ของบริษัท wHY สตูดิโอออกแบบซึ่งประกอบด้วยพนักงาน 30 คนและมีสาขาอยู่ที่นครลอส แอนเจลิส และนิวยอร์ก โครงการของพวกเขาโดยมากจะเน้นการออกแบบที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะ วัฒนธรรม และชุมชน “อาคารในบ้านเรามีไม่น้อยที่เลียนแบบมาจากอาคารในเมืองอย่างฮิวสตัน ชิคาโกอีกทอดหนึ่ง พอเราเห็นว่าพวกตึกระฟ้าหรืออาคารกระจกแสดงถึงอารยธรรมและสังคมเมืองสมัยใหม่ เราก็เลยพากันรับเอาสัญลักษณ์ดังกล่าวเข้ามา”

การพูดถึงสถาปนิกไทยในต่างแดนจะขาดชื่อของกุลภัทรไปไม่ได้ สตูดิโอ wHY ของเขาถูกยกให้เป็นหนึ่งในบริษัทเพื่องานออกแบบด้านศิลปะและพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งไม่ใช่แค่ในลอส แองเจลิสและนิวยอร์กเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมที่อื่นๆ ทั่วทั้งสหรัฐฯ ด้วย

กุลภัทรเติบโตขึ้นในกรุงเทพฯ โดยตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถมเขาก็ชอบนั่งวาดภาพอยู่เคียงข้างคุณพ่อผู้เป็นวิศวกร แต่ด้วยความไม่ชอบใจความเคลื่อนไหวด้านสถาปัตยกรรมในประเทศบ้านเกิด เมื่ออายุได้ยี่สิบปีเศษ เขาจึงเดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโตเกียว และได้ร่วมงานกับสถาปนิกญี่ปุ่นผู้เป็นตำนานอย่างทาดาโอะ อันโดะเป็นเวลาถึง 8 ปีอีกด้วย ในช่วงเวลานี้ เขาได้พัฒนาความชำนาญเฉพาะด้านในการออกแบบพื้นที่ทางศิลปะและวัฒนธรรม

แม้กุลภัทรจะกล่าวว่าความสำเร็จของตัวเองนั้นยังอยู่ในวง “จำกัด” แต่ผลงานของเขาก็ชวนให้คิดว่าเขาเพียงกำลังถ่อมตัว ลูกค้าของเขาประกอบด้วยสถาบันที่มีชื่อเสียงต่างๆ ในสหรัฐฯ อาทิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Los Angeles County Museum of Art และพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art หรือ MET ในมหานครนิวยอร์ก ยังไม่นับรวมลูกค้าระดับวีไอพีอย่างนักออกแบบแฟชั่น ทอม ฟอร์ด และมหาเศรษฐีพันล้าน ฟรองซัวส์ ปิโนลต์ ในปี 2007 เขาได้ออกแบบอาคารมูลค่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.3 พันล้านบาท) บนพื้นที่ขนาด 1.27 แสนตารางฟุตให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Grand Rapids Art Museum ในรัฐมิชิแกน ซึ่งอาคารแห่งนี้ถูกยกย่องว่ามีบทบาทในการช่วยฟื้นฟูชุมชนเมืองโดยรอบ ในปี 2016 เขาได้บูรณะและต่อเติม Speed Art Museum อาคารกระจกทรงสี่เหลี่ยมมูลค่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.9 พันล้านบาท) ในเมืองหลุยส์วิลล์ ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในรัฐเคนตั้กกี้ นอกเหนือจากนี้แล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทของเขายังได้เริ่มขยับขยายออกไปทำโครงการยังประเทศอื่นๆ เช่น ไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงทวีปยุโรป

ดูเหมือนกุลภัทรจะเป็นตัวเลือกรายสำคัญเมื่อมีการเปิดประมูลงานออกแบบพิพิธภัณฑ์เสมอ ซึ่งเขายกความดีความชอบให้กับวิธีการทำงานของตัวเอง “ผมว่าผมทำงานเหมือนวาทยากร คือผมไม่ได้ยัดเยียดคำตอบสุดท้ายให้กับทุกคน แต่แค่ออกแบบกระบวนการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายของโปรเจกต์ เช่นเราอาจจะออกแบบพิพิธภัณฑ์ก็จริง แต่มันก็ควรจะช่วยแก้ปัญหาให้ชุมชนได้ด้วย ไม่ใช่แค่เป็นของแปลกที่วางอยู่ในหอคอยงาช้างโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้างเลย” เขาอธิบาย

กุลภัทรเรียกแนวคิดการทำงานของเขาว่า Acupuncture Architecture หรือสถาปัตยกรรมแบบ ‘ฝังเข็ม’ ซึ่งให้ความสำคัญกับความน่าอยู่อาศัยของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการไหลเวียนของผู้คนภายในอาคาร การจัดสรรพื้นที่เป็นส่วนๆ หรืออายุการใช้งาน มากกว่าการสร้างอาคารที่สวยสะดุดตาแบบชิ้นเดียวจบ ทั้งนี้ กุลภัทรอาจดึงเอาคนจากสารพัดสายอาชีพ ที่ไม่ใช่สถาปนิกเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น นักเศรษฐศาสตร์ นักปรัชญา ศิลปิน และครู “เมื่อ 6-7 ปีก่อนผมเริ่มตระหนักว่าการมองสิ่งต่างๆ ในแง่สถาปัตยกรรมอย่างเดียวทำให้คุณมีวิธีแก้ปัญหาที่จำกัด เหมือนเวลาคุณมีค้อน ทุกอย่างจะเริ่มดูเป็นตะปูไปหมด บางครั้ง คำตอบอาจง่ายเพียงการสร้างสนามเด็กเล่นไว้ด้านนอกหรือปรับแผนอาคาร ไม่ใช่สร้างอาคารระดับรางวัลขึ้นมาใหม่” เขาอธิบาย

กล่าวโดยสรุป กุลภัทรมองว่าการให้ความสำคัญกับการใช้งานเหนือหน้าตา และการเข้าใจธรรมชาติมนุษย์เหนือเทคนิคการสร้างนั้น เป็นสิ่งที่สร้างเส้นทางอาชีพให้กับเขาในฐานะสถาปนิก และยังทำให้บริษัทของเขาได้มีโอกาสออกแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่เพียงสร้างมาตรฐานในระดับนานาชาติ แต่ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับผู้คนและสถานที่ตั้งด้วย “คุณไปดูญี่ปุ่นสิ ถึงสถาปัตยกรรมของเขาจะดูเผินๆ เป็นสากลมาก แต่ก็ยังมีรากเหง้าของวัฒนธรรมญี่ปุ่นแฝงอยู่ เพียงแค่ไม่ได้ชัดแจ้ง เราต้องเรียนรู้จากผู้คนเหล่านี้ที่รู้จักรับเอาวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะถิ่นของตัวเองได้” กุลภัทรอธิบาย

เรื่องราวของสถาปนิกหลากหลายเหล่านี้แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าในขณะที่ประวัติศาสตร์และพัฒนาการในโลกตะวันตกนั้นมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อสถาปัตยกรรมของไทย จนทำให้บ่อยครั้งงานสถาปัตยกรรมของเราไม่ได้ปรากฏอัตลักษณ์โดดเด่นในเวทีโลก แต่สุดท้ายแล้ว ด้วยความรู้ ความเข้าใจ และความอุตสาหะตีโจทย์ สถาปนิกไทยก็สามารถนำเสนอผลงานที่ไม่แพ้ใครทั้งนั้น

Essentials


Denver Botanic Garden

1007 York Street, Denver, Colorado

botanicgardens.org

Department of Architecture

ชั้น 18 อาคารสมูธไลฟ์ทาวเวอร์ ถนนสาทรเหนือ กรุงเทพฯ

bit.ly/2U9zBR5

Eppstein Uhen Architects

1899 Wynkoop Street, Denver, Colorado

www.eua.com

The Mist Hot Spring Hotel

North Huadu Avenue, Henan, China

374-796-8888

wHY

9520 Jefferson Building, Culver City, California

why-site.com