HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

CLIENT VALUES


Chain Reaction

อุไรวรรณ ศิวะกุล หรือ ‘อาจารย์อุ๊’ อาจารย์สอนกวดวิชาเคมีอันดับหนึ่ง กับประสบการณ์กว่า 30 ปีของการเป็นครูผู้มีคลาสเรียนที่เรียกได้ว่าครอบคลุมทั่วประเทศ

หากกล่าวถึงโรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทย คงไม่มีใครไม่รู้จัก อุไรวรรณ ศิวะกุล อาจารย์พิเศษแห่งโรงเรียนกวดวิชาเคมีอ.อุ๊ อันเลื่องชื่อ โรงเรียนกวดวิชาแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ ในเซ็นทรัลลาดพร้าวและห้องแถวย่านสะพานควายเมื่อ 30 ปีก่อน น้ำเสียงที่อ่อนโยน และลีลาการสอนที่สนุกจนวิชาเคมีที่ว่ายากกลายเป็นง่ายของอุไรวรรณนั้นเป็นที่น่าจดจำ จนทำให้แทบทุกคนที่นึกถึงวิชาเคมี จะคิดถึงชื่ออาจารย์อุ๊เป็นอันดับแรก

อุไรวรรณในวัย 63 ปี ยังคงอุทิศเวลาส่วนใหญ่กับการพัฒนาเด็กให้เป็นเลิศทั้งด้านวิชาการและคุณธรรม ในชีวิตที่เธอกล่าวว่า “เกินจากเป้าหมายที่วางไว้ไปไกลมาก” นั้น เธอเชื่อว่าการแก้ไขเรื่องระบบการศึกษาเป็นปัญหาของส่วนรวม และตลอดระยะเวลาหลายสิบปีในฐานะครู เธอยังคงเชื่อมั่นว่าแม้จะมีอุปสรรคนานัปการ ประเทศจะสามารถก้าวพ้นวิกฤตทางการศึกษาไปได้ในที่สุด

บทสัมภาษณ์ฉบับนี้จึงสะท้อนตัวตนและแนวคิดของผู้หญิงที่ให้ราคากับเหรียญสิบหนึ่งเหรียญมากกว่าเงินจำนวนหลายแสน และมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นเด็กหลังห้องที่เกลียดการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์จับใจ

‘ศรัทธาราคาสิบบาท’

เราเป็นลูกคนที่ 5 จากทั้งหมด 9 คน เมื่อก่อนเวลาอยู่โรงเรียนเราจะถูกตำหนิตลอดเพราะไม่เอาใจใส่การเรียน ขณะที่พี่น้องทุกคนเรียนเก่งหมด แม่เราเป็นคนจีน อ่านหนังสือได้น้อย แต่ก็จะคอยบอกให้เราอ่านหนังสือ เพราะไม่อยากให้เราโตไปแล้วลำบาก แล้วทุกปีตอนวันเกิดแม่จะอวยพรให้เราขยันและตั้งใจเรียน แม่พูดอยู่อย่างเดียวว่า ถ้าหนูเรียนหนูจะไม่ลำบาก ตอนนั้นเรารู้สึกว่าตัวเองทำให้พ่อแม่ผิดหวังเรื่องการเรียน เลยอยากจะทำอะไรเพื่อท่านทั้งสองสักอย่างหนึ่ง จนมีอยู่วันหนึ่งเราตามไปติววิชาภาษาไทยที่บ้านเพื่อน เราก็นั่งฟังที่เขาพูดกัน ฟังไปฟังมา พอไปสอบก็เกิดท็อปวิชาภาษาไทยขึ้นมา แม่ดีใจมากจนร้องไห้ ท่านเลยให้เหรียญสิบเป็นรางวัล แม่พูดว่าถ้าพยายาม เราจะต้องดีขึ้น ตลอดชีวิตเราไม่เคยได้รางวัลจากการเรียนเลย พอเห็นน้ำตาแม่กับเหรียญสิบในมือ เราก็รู้สึกว่าตัวเองต้องทำได้กับวิชาอื่นๆ ด้วย เหรียญสิบเหรียญนั้นเป็นเสมือนจุดเปลี่ยนที่ยังตราตรึงจนทุกวันนี้

นักเรียนอุ๊

ภายหลังเหตุการณ์ที่เราได้คะแนนท็อปวิชาภาษาไทย เราก็เริ่มตระหนักว่าถ้าอ่านหนังสือเราต้องทำได้ ก็เลยเริ่มต้นอ่าน ตอนแรกก็ยังอ่านผิดๆ ถูกๆ ท่องจำแบบไร้เป้าหมาย มีอยู่ครั้งหนึ่งไปสอบ เรารู้สึกว่าทำได้ เลยบอกแม่ไปว่าเราได้ที่หนึ่งตั้งแต่ก่อนประกาศผล แต่พอผลสอบออกมาปรากฏเราได้ที่ 16 พอคุณแม่ทราบ ท่านไม่ตำหนิเลย กลับบอกว่าเราเก่งมาก เราขึ้นมาครึ่งทางแล้ว พอเวลาผ่านไป ด้วยความพยายามและตั้งใจ ผลการเรียนก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ เราเริ่มมองเห็นว่าวิธีเรียนที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จนพอจบชั้นม. 3 เรามาเรียนต่อวิทยาลัยครูภูเก็ต จริงๆ เราอยากเป็นครูสอนสังคม แต่ครูบอกให้เราไปลองเรียนวิทยาศาสตร์ดู เพราะมีคนเลือกน้อยกว่า พอมาเรียนเราก็ค้นพบว่าตัวเองชอบเรียนฟิสิกส์ ตอนแรกเราไม่ชอบเคมีเลยเพราะทำไม่ได้ จนกระทั่งมาเจออาจารย์อีกท่านสอนปูพื้นฐานใหม่หมดถึงได้ดีขึ้น สมัยเรียนที่วิทยาลัยครูฯ ผลการเรียนดีมาก จากเด็กคนหนึ่งที่เรียนไม่เอาไหน ทำให้เรารู้ว่าสติปัญญาเป็นสิ่งที่สร้างเองได้ทุกอย่าง

Growth Mindset

เราเติบโตมาจากความรักความเข้าใจของพ่อกับแม่ คุณพ่อเป็นคนอินเดีย ท่านพูดภาษาไทยได้น้อย แต่ก็จะคอยกอดและลูบหัวเรา ส่วนแม่ค่อนข้างเปิดกว้างและปล่อยให้คิดอย่างอิสระ ท่านไม่เคยบังคับว่าเราต้องอ่านหนังสือ เพียงแต่บอกว่าถ้าอ่านแล้วจะดีขึ้น พอโตมา เราเลยรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกจากการกดดันให้เก่งจะทำให้เด็กเหมือนถูก fixed ไว้แล้ว เขาจะจำกัดตัวเองอยู่ในกรอบ ไม่พยายามพัฒนาขึ้นอีก ซึ่งมันไปตรงกับทฤษฎีเรื่อง Mindset ของศาสตราจารย์แครอล ดเว็ค นักจิตวิทยาระดับโลก เขาบอกว่าการสอนเด็กมี 2 วิธี คือการสอนแบบ Fixed Mindset และ Growth Mindset วิธีแรกคือกำหนดเลย เราคิดว่าความสามารถเราเท่านี้ เราก็ทำได้เท่านี้ แต่คนที่มี Growth Mindset นั้นเชื่อว่าศักยภาพของตนเองยังพัฒนาได้ต่อเนื่อง แปลว่าถ้าเด็กทำไม่ได้ เราจะยังไม่พูดว่าเขาผิด แต่จะแนะให้เขาลองพยายามขึ้นอีกนิด เด็กพวกนี้จะเติบโตได้อย่างไม่รู้จบ ทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์ครั้งที่แม่ยื่นเหรียญสิบให้ ท่านบอกว่าถ้าพยายามอีกเราจะดีขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เราเลยเชื่อว่าเด็กที่ค่อยๆ เติบโตจากความรัก กำลังใจ และการให้คิดอย่างอิสระ จะพัฒนาไปได้ไกลกว่า

คนที่มี Growth Mindset นั้นเชื่อว่าศักยภาพของตนเองยังพัฒนาได้ต่อเนื่อง แปลว่าถ้าเด็กทำไม่ได้ เราจะยังไม่พูดว่าเขาผิด แต่จะแนะให้เขาลองพยายามขึ้นอีกนิด

อาจารย์อุ๊

ตอนจะไปเรียนต่อที่มศว สงขลา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณในปัจจุบัน) เราตั้งใจว่าจะเลือกเอกฟิสิกส์ เพราะสอบได้คะแนนดีกว่า สมัยนั้นเขาไม่มีหนังสือเตรียมสอบขาย เราต้องเอาเนื้อหาที่จดไว้เองทั้งหมดมาอ่านทบทวน ปรากฏว่าเพื่อนคนหนึ่งเขาขอยืมหนังสือไปแล้วไม่คืน เราไม่มีข้อมูลติดต่อเขาเลยไม่รู้จะไปตามที่ไหน ก็เลยตัดสินใจสมัครเรียนเคมีแทน พอเข้ามาเรียน ปรากฏว่าตอนไปฝึกสอน อาจารย์ก็บอกให้เพื่อนๆ ไปดูการสอนของอุไรวรรณเป็นตัวอย่าง ก็เลยรู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว เราพยายามพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายเราก็เรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง พอมาเรียนต่อปริญญาโทที่มศว ประสานมิตร เพื่อนๆ ที่เรียนด้วยเขาทำงานกันหมดแล้ว เราเลยไปสมัครสอนพิเศษที่แถวหัวลำโพง ทีแรกอาจารย์เขาไม่รับเพราะไม่มีประสบการณ์ แต่ตอนหลังเขาคงเห็นถึงความพยายาม เลยให้เรามาทำตำแหน่งธุรการ เราก็แอบเตรียมการสอนไว้ทุกวัน จนวันหนึ่งครูคณิตศาสตร์ไม่มา เราก็เลยขอสอนวิชาเคมีแทน สุดท้ายเขาประทับใจมากจนยอมเปิดคอร์สเคมีให้ ภายหลังเราลาออกมาสอนเอง เปิดได้สองสัปดาห์ มีลูกศิษย์สามสิบคน ก็เลยตัดสินใจไปเปิดโรงเรียนเล็กๆ ขึ้นที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ปรากฎว่าก็เต็มอีก ภายหลังจึงย้ายมายังสะพานควาย และขยับขยายมาเป็นโรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์อย่างในปัจจุบัน

เข้าใจผู้เรียน

สมัยเรียนอยู่ชั้นประถมเราชอบเรียนวิชาที่ต้องลงมือปฏิบัติ เราชอบทำเกษตร ปลูกผักบุ้ง ขุดร่องสวน ทุกวันตอนเย็นเราจะไปรดน้ำที่แปลงผักจนผักบุ้งเรางามที่สุด พอมาเรียนพละ เราวิ่งได้ที่สุดท้ายของห้องทุกครั้ง แต่เราก็สนุก หรืออย่างตอนเรียนร้องเพลงเราร้องไม่เป็นจังหวะเลย แต่ก็จะร้องเสียงดังที่สุดในห้อง คงเป็นเพราะวิชาเหล่านี้ให้อิสระในการทำ เหมือนเป็นความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบหนึ่ง เราเองเคยเป็นเด็กไม่ชอบเรียนวิชาการมาก่อน พอมาเป็นครูเราเลยอยากเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและทำอย่างอิสระบ้าง แล้วเวลาสอนก็จะต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจมากที่สุด คือให้เขาได้พูด ได้เห็น ได้คิดตาม เช่น ถ้าเป็นบทเรียนเรื่องความเข้มข้น เราจะยกเอาของใกล้ตัวขึ้นมาเป็นตัวอย่าง อาทิ เฮลส์ บลูบอยส์ หรือน้ำส้ม เราไม่จำเป็นต้องใช้โซเดียมคลอไรด์ หรือลิเทียม ฟอสเฟตตามตำรา เพราะทำแบบนี้เด็กจะรู้สึกสนุกและเห็นภาพกว่า

No Child Left Behind

เราไม่เชื่อเรื่องเด็กอ่อนกับเด็กเก่ง เขาแค่ยังไม่ได้เริ่มพยายามเท่านั้น แล้วเรามองเห็นว่าตอนที่แย่ที่สุด เด็กต้องการความรักและการเห็นคุณค่าจากครู เราเลยไม่เคยทิ้งเด็กอ่อนไว้ข้างหลัง เวลาสอน เราไม่เคยถามจี้เด็กเป็นคนๆ หรือเรียกให้ตอบตามเลขที่ เพราะทำแบบนั้น เด็กจะกลัวและรู้สึกอาย เราจะให้อิสระในการตอบ ถ้าคำตอบยังไม่สมบูรณ์ เราจะคอยเชียร์ว่าเกือบแล้ว ยิ่งพอเป็นการสอนกวดวิชา เด็กทุกรูปแบบคละกันอยู่นั้น การจะพาคลาสไปให้ได้ในแต่ละวันนั้นยากมาก เราเลยต้องออกแบบการสอนโดยที่ทำอย่างไรให้เด็กแต่ละคนรอและตามกันทัน อย่างหนังสือเราจะเขียนจากง่ายไปหายาก เอากิจกรรมต่างๆ มาคั่นสอน แล้วเราจะพยายามสอนและอธิบายเนื้อหาให้ชัดเจนที่สุดก่อนจะให้เด็กเริ่มทำโจทย์ ส่วนเด็กที่ไปได้ไวกว่าคนอื่นๆ เราจะให้เขาทำโจทย์ที่ยากขึ้น เป็นกุศโลบายให้เขารอคนอื่นๆ ในชั้น เวลาสอนเราจะนึกย้อนไปถึงตัวเองสมัยเด็กๆ เลยรู้สึกว่าเด็กหลายๆ คนต้องได้เปลี่ยนเหมือนที่เราได้รับโอกาสนั้น เราคิดว่าถ้าในชีวิตเราเปลี่ยนคนได้สัก 5 คนก็ถือว่าคุ้มแล้ว

การศึกษายุคใหม่

อนาคตหลักสูตรการศึกษาต้องเปลี่ยน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ แล้วเราต้องดูตลาดแรงงาน ดูทิศทางว่าโลกเขาไปไกลแค่ไหนแล้ว อย่างสิงคโปร์เขากำหนดแผนระยะยาวเลยว่าสายงานไหนต้องการบุคลากรกี่เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทุกคนจบมามีงานทำหมด แล้วเขาปรับปรุงหลักสูตรทุกอย่างเพื่อให้รองรับกับโลกสมัยใหม่ ฉะนั้น แทนที่จะสอนการท่องจำอย่างเดิม เราต้องคิดแล้วว่าด้านดิจิทัลเด็กต้องรู้อะไรบ้าง ตอนสอนก็ต้องให้เด็กรู้จักคิดเอง ไม่ใช่ไปตีกรอบให้เขาคิดตามแบบที่เราอยากให้เขาคิด บางทีเด็กคิดวิธีนี้ แต่ครูสอนอีกวิธีนึง ครูอาจจะให้ผิดทันทีเพราะไม่ได้ทำตามวิธีของครู เท่ากับเราไป fix หรือตีกรอบให้เด็กเรียบร้อย

เราไม่เชื่อเรื่องเด็กอ่อนกับเด็กเก่ง เขาแค่ยังไม่ได้เริ่มพยายามเท่านั้น แล้วเรามองเห็นว่าตอนที่แย่ที่สุด เด็กต้องการความรักและการเห็นคุณค่าจากครู เราเลยไม่เคยทิ้งเด็กอ่อนไว้ข้างหลัง

เริ่มต้นจากครู

การเป็นครูที่ดีนั้นต้องมาจากพื้นฐานจิตใจที่ดีและความไม่เห็นแก่ตัว เพราะครูไม่ได้มีหน้าที่สอนความรู้อย่างเดียว แต่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กด้วย นอกจากนี้ ครูแต่ละคนต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ เสมอ เพื่อให้ความเก่งและความดีอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ถ้าครูแต่ละคนตั้งใจทำเพื่อเด็กจริง เราเชื่อว่าอนาคตการศึกษาไทยจะดีขึ้น ปัจจุบันจำนวนเด็กเราลดลงไปครึ่งหนึ่ง เรามองว่าตรงนั้นคือโอกาสที่จะพัฒนาบุคลากรครู เราอาจจะแบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งมาปรับเงินเดือนครูให้มากกว่าหรือเท่ากับแพทย์อย่างในฟินแลนด์หรือสิงคโปร์ เพื่อดึงดูดให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาสมัครครูมากขึ้น แล้วต้องเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้จบครูมาสามารถสอบครูได้ เพราะบางครั้งเขามีความสามารถมากกว่า คุณต้องการคนดี คนเก่ง มีจรรยาบรรณ เข้าไปทำงาน ไม่ใช่เพียงคนที่เรียนครุศาสตร์มา ถ้าทำได้เช่นนั้น ประเทศไทยจะสามารถผลิตบุคลากรที่เก่งและเป็นครูสมัยใหม่ได้มากขึ้น

นิยามความเหลื่อมล้ำ

ที่ผ่านมา ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยเราเปลี่ยนมาหลายครั้ง เพราะต้องการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ แล้วสุดท้ายมันดีขึ้นหรือแย่ลง การคัดเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีระบบมากมายขนาดนี้หรือเปล่า ทำไมเราไม่ทำให้ระบบการคัดเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างประเทศอื่น คุณบอกว่า รอบที่สองคุณให้สิทธิ์เด็กต่างจังหวัดก่อน เพราะเด็กต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงแหล่งกวดวิชาน้อยกว่า แต่มองย้อนมาที่เด็กกรุงเทพฯ ที่เขายากจนและไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งกวดวิชา เขาก็ถือว่าถูกเหลื่อมล้ำเหมือนกัน อย่างนี้นิยามของความเหลื่อมล้ำคืออะไร มันต้องดูหลายๆ ปัจจัยประกอบ แล้วถ้าอยากลดปัญหาความเหลื่อมล้ำจริงๆ เราต้องเริ่มต้นจากโรงเรียน ให้แต่ละโรงเรียนสอนให้ดี จะได้ไม่ต้องมาแก้ปัญหาที่ปลายทางอย่างทุกวันนี้

นิสัยสร้างวินัย

ระเบียบวินัยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สมเหตุสมผล บางครั้งระเบียบวินัยที่ตึงเกินไป เช่น เด็กผมยาวแล้วไปตัดผมเขาสั้น มันไม่ใช่ระเบียบวินัย มันคือการบังคับ ระเบียบวินัยที่สร้างขึ้นควรให้เด็กมีส่วนร่วมด้วย ไม่ใช่อยู่ในความเห็นของผู้เป็นครูอย่างเดียว แล้วเวลาทำต้องทำจริง ถ้าวันแรกทำ อีกวันอะลุ่มอล่วย ระเบียบวินัยก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าอยากให้ระเบียบวินัยเกิดผล เราต้องคอยติดตามผลจนกว่าระเบียบนั้นจะกลายเป็นนิสัย ยกตัวอย่างเรื่องความสะอาด เราจะบอกแม่บ้านที่ตึกเสมอว่าอย่าทำฉาบฉวย เวลาเดินตรวจสาขาเราจะเอามือรูดว่ามีฝุ่นหรือเปล่า แล้วจะดึงลิ้นชักออกมาดูเลยว่าวางของเป็นระเบียบไหม เรามองว่าถ้าเรายังทำไม่ได้ แล้วจะสอนให้เด็กมีระเบียบวินัยได้อย่างไร จนปัจจุบันผ่านมาสิบกว่าปี เราไม่ต้องไปบอกแม่บ้านแล้วเรื่องความสะอาด เขาจะทำของเขาเอง แล้วถ้าเขาทำได้ก็ต้องชื่นชมเขา ถ้าเราตั้งระเบียบวินัยขึ้นมาแล้วไม่ปฏิบัติตาม ระเบียบวินัยก็เป็นแค่ตัวหนังสือ ในทำนองเดียวกัน ถ้าอยากแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน เราต้องเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่แก้ทุกอย่างยกเว้นพวกของฉัน อย่างนั้นกฎระเบียบที่ตั้งมาก็ไม่มีประโยชน์

การเมืองและระบบราชการ

ผู้นำแต่ละคนที่เข้าไปบริหารประเทศต่างก็มีแนวคิดของตัวเอง พอหมดวาระคนใหม่เข้ามารับช่วงต่อ ถึงนโยบายที่คนเก่าวางไว้จะดี เขาก็อาจไม่กล้ายกมาทำ เพราะจะเป็นข้อครหาว่าลอกเลียนแบบ สุดท้ายกลายเป็นว่าคนที่มาใหม่ก็รื้อของเก่าออกแล้วเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แทนที่จะดึงเอาข้อดีของแต่ละแนวคิดมาใช้ จนทุกอย่างมันขาดความต่อเนื่อง สุดท้ายแล้วเราทำแบบนี้เพื่อใคร มันการเมืองไปหรือเปล่า ขณะที่ระบบราชการของเราก็ยังเป็นระบบที่เน้นเอกสารจนเกินไป มีกฏระเบียบเยอะเสียจนจะทำอะไร จะเปลี่ยนอะไรก็ลำบากไปหมด มันทำให้คนที่มีความตั้งใจในการทำงานไม่สามารถทำสิ่งที่อยากทำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมันกระทบถึงเรื่องการศึกษาด้วย ถ้าอยากทำให้ระบบตรงนี้มีประสิทธิภาพขึ้น เราควรปรับโครงสร้างบางส่วนให้เป็นกึ่งเอกชนไหม แล้วก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

ไม่หยุดพัฒนา

ผ่านมา 30 กว่าปี ทำไมเคมีอาจารย์อุ๊ถึงยังเป็นโรงเรียนสอนเคมีอันดับหนึ่ง ขณะที่บางวิชาล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ถ้าใครลองไปดูหนังสือเรียนเคมีอาจารย์อุ๊ จะเห็นว่าแต่ละเล่มเราใช้ปกสีเดิมเพื่อให้จดจำง่ายก็จริง แต่เราจะปรับปรุงเนื้อหาตลอด ทีนี้มีอยู่ปีหนึ่งเรามีงานเข้ามาแทรก ทำให้ทำหนังสือไม่ทัน เราเลยบอกผู้ช่วยว่ายังไม่ต้องสั่งพิมพ์ จนกระทั่ง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนเปิดเรียน เวลามันกระชั้นแล้ว เขากลัวไม่ทันก็เลยสั่งพิมพ์ไปก่อน ซึ่งจริงๆ ตอนนั้นเรากำลังทำต้นฉบับอยู่ พอเราทราบก็เลยบอกให้เขาสั่งหยุดโรงพิมพ์ทันที แต่โรงพิมพ์บอกว่าเริ่มทำไปแล้วในราคา 4 แสนบาท เราก็บอกว่าไม่เป็นไรแล้วสั่งให้หยุดพิมพ์เลย ยอมสูญเงินจำนวนนั้น ตอนแรกอาจารย์อนุสรณ์ (ศิวะกุล สามีของอาจารย์อุ๊) โกรธมาก เราเลยถามไปว่าถ้าคนสอนไม่มีความสุขจะเกิดอะไรขึ้น เท่านั้นแหละ แกบอกเปลี่ยนก็เปลี่ยน แล้วก็ไปเล่าให้ทุกคนฟังว่านี่แหละอาจารย์อุ๊ คือถ้าเราเห็นว่าสิ่งไหนดีกว่าเราต้องทำ นี่เป็นเหตุผลที่เราจะสอนลูกทั้งสองคนเสมอว่า ถ้าคิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีที่สุดแล้ว ตัวเราจะหยุดการพัฒนา ให้ใช้คำว่าดีพอ และเว้นช่องว่างให้สามารถพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ

ผู้นำแต่ละคนที่เข้าไปบริหารประเทศต่างก็มีแนวคิดของตัวเอง พอหมดวาระคนใหม่เข้ามารับช่วงต่อ ถึงนโยบายที่คนเก่าวางไว้จะดี เขาก็อาจไม่กล้ายกมาทำ เพราะจะเป็นข้อครหาว่าลอกเลียนแบบ สุดท้ายกลายเป็นว่าคนที่มาใหม่ก็รื้อของเก่าออกแล้วเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

คนรุ่นเก่า vs คนรุ่นใหม่

คนรุ่นก่อนมักจะทำงานจากความขยัน ถือคติว่าทำตรงนี้ให้ดีที่สุด แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ การทำงานแต่ละที่คือการเรียนรู้ เขาอยากหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง การเปลี่ยนงานบ่อยจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเขา แต่ด้วยมุมมองที่ต่างกันแน่นอนว่าย่อมเกิดปัญหา หลายครั้งคนรุ่นเก่าไม่ยอมฟังคนรุ่นใหม่และมองว่าการเสนอแนะคือการเถียง ฉะนั้นเวลาทำงาน คนทั้งสองรุ่นจึงต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน คนรุ่นเก่าต้องสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ด้วยเหตุผล ไม่ใช้วิธีการบังคับ ทำให้เวลาประชุมเราจะเปิดกว้าง ทุกคนสามารถเสนอแนะหรือโต้แย้งได้ถ้ามีเหตุผลรองรับ ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ต้องรู้จักฟังคนรุ่นเก่า เพราะบางอย่างเขามีประสบการณ์มากกว่า แบบนี้องค์กรถึงจะเดินหน้าได้ อย่างเรากับลูกสาว (อธิปพร ศิวะกุล) แกมาช่วยสอนพิเศษวิชาเคมีภาคภาษาอังกฤษ เมื่อก่อนเถียงกันทุกวัน เพราะเราชอบบังคับให้เขาทำตามวิธีของเราที่เคยทำแล้วได้ผล เวลาสอนเราจะเน้นการบรรยาย แต่ลูกสาวจะใช้เกมและกิจกรรมต่างๆ สอดแทรกในการอธิบาย ตอนหลังเราเลยลองเอาวิธีเขามาใช้บ้าง ปรากฎว่าเวิร์คเหมือนกัน ทำให้รู้ว่าเวลาทำงาน มันต้องเอาวิธีของคนทั้งสองรุ่นมาผสมผสานกัน

ขับเคลื่อนด้วยงานวิจัย

เด็กไทยเก่งวิทยาศาสตร์ เวลาไปเรียนต่างประเทศ เราจะเห็นเลยว่าเด็กเอเชียเก่งคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์กว่าเด็กฝรั่ง แต่น่าเสียดายที่เด็กเก่งส่วนใหญ่หันไปเรียนแพทย์หมด คนที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ด้านอื่นๆ มีน้อย เพราะมันเอาไปต่อยอดได้ยากกว่า ทำให้เด็กที่จบมาไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรต่อ ด้วยความที่ประเทศไทยไม่ค่อยมีหน่วยงานวิจัยใหญ่ๆ รองรับ ทำให้เด็กสายวิทย์หลายครั้งพอสอบแพทย์ไม่ได้ เขาก็เลยไปสะเปะสะปะ หลายคนเลือกไปเรียนวิชาสายศิลป์ทั้งๆ ที่เขาอาจไม่ได้มีทักษะและความสามารถในด้านนั้น ซึ่งก็กลายเป็นว่าไปแย่งที่นั่งเด็กสายศิลป์อีก เราจึงพยายามบอกลูกศิษย์ที่ไปเรียนต่อเสมอว่าให้กลับมาพัฒนาด้านงานวิจัยที่นี่ ทรัพยากรเราก็มีอยู่สารพัด ถ้าทำได้ ประเทศเราจะเดินหน้าได้อีกไกลมาก

Work-Life Integration

ปกติถ้าไม่มีสอน เราจะตื่นประมาณเจ็ดโมงมาเดินออกกำลังรอบบ้าน เสร็จแล้วก็นั่งทำหนังสือยาว บางครั้งนั่งอยู่ที่เดิมทั้งวันจนถึงเที่ยงคืน ทานข้าวก็ทานที่โต๊ะทำงาน พอถึงช่วงซัมเมอร์ที่ต้องสอนติดกันหลายเดือน เราจะไม่ออกจากบ้านเลยยกเว้นเวลาไปตัดผม เพราะกลัวว่าถ้าไปไหนแล้วกลับมาไม่ทันหรือล้มป่วย จะไม่มีใครสอนเด็ก เมื่อก่อนเราสอนวันหนึ่งเจ็ดชั่วโมงติดกัน แต่ปัจจุบันต้องลดเหลือห้าชั่วโมงเพราะอายุที่มากขึ้น เราทำงานไม่มีวันหยุด จนตอนหลังลูกๆ ต้องขอให้เราหยุดพักหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ตอนแรกเราไม่อยากเลยเพราะเสียดายเวลา เราก็จะหยิบหนังสือกับเครื่องเขียนติดใส่กระเป๋าไปด้วยเวลาไปทานอาหารข้างนอก จนทุกคนส่ายหัว ตอนนี้เราเลยกำหนดให้ทุกวันพุธเป็นวันหยุดและกระจายงานไปวันอื่นๆ แทน บางคนถามว่าทำงานหนักๆ ไม่ทุกข์หรอ เราตอบว่าไม่ สำหรับเรางานคือความสุข เวลาได้งานจะดีใจมาก แล้วถ้ามีเนื้อหาตรงจุดไหนที่เด็กไม่เข้าใจ เราจะกลับไปนั่งทบทวนว่าเพราะอะไร แล้วจะใช้วิธีไหนอธิบายได้บ้าง พอคิดออกก็จะเอาไปเล่าให้ทุกคนฟังด้วยความภูมิใจ

20 ปีในอนาคต

ถ้าเป็นไปได้ อยากให้อนาคตไม่ต้องมีโรงเรียนกวดวิชา ให้เด็กเรียนทุกอย่างในระบบ แล้วคุณภาพการสอนของครูแต่ละโรงเรียนนั้นใกล้เคียงกันที่สุด โดยเฉพาะในระดับมัธยมซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่เด็กทุกคนพึงได้รับ เราอยากเห็นเด็กอยู่อย่างมีความสุข มีเวลาเสาร์อาทิตย์เป็นของตัวเอง เด็กที่เรียนกวดวิชา ชีวิตในวัยเด็กส่วนหนึ่งเขาหายไป กลายเป็นว่าเด็กแล้วก็โตเลย ไม่ได้สนุกตามวัย ถ้าชีวิตนี้ทันได้เห็น เราจะดีใจมาก แล้วเราว่าเป็นไปได้ แต่ต้องมีคนที่ทำจริง ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งคนที่คิด คนปฏิบัติ ทั้งเด็กนักเรียน และผู้ปกครอง อย่าปล่อยให้เป็นภาระของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่หัวเดินหางไม่กระดิก ถ้าทำได้แบบนั้น เราว่าไม่นานก็แก้ได้

รู้จักกับอุไรวรรณ ศิวะกุล



อุไรวรรณ ศิวะกุล หรืออาจารย์อุ๊ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (กศ.บ.) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา และปริญญาโท (กศ.ม.) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
ปัจจุบันอุไรวรรณเป็นอาจารย์สอนพิเศษวิชาเคมีและผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ ร่วมกับอนุสรณ์ ศิวะกุล