SECTION
ABOUTFULL FLAVOURS
Southern Varieties
อาหารปักษ์ใต้รสเผ็ดร้อนกำลังกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในกรุงเทพฯ
ท่ามกลางความวุ่นวายของซอยสุขุมวิท 26 มีบ้านหลังหนึ่งซ่อนตัวอยู่ บ้านหลังนี้มีอายุเกือบร้อยปีและทำหน้าที่เป็นร้านอาหารซึ่งเปิดรับลูกค้าเพียง 20 ที่นั่งต่อคืน ภายในนั้นตกแต่งอย่างเรียบหรูในสไตล์อาร์ต เดโค ด้วยวัสดุอย่างหินอ่อน โครงเหล็กดัดโค้ง และเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อนสลับเข้ม บริเวณร้านมีต้นไม้เขียวชอุ่มขึ้นอยู่รายล้อม สร้างความร่มรื่นให้แก่ตัวอาคารตลอดวัน ทั้งหมดนี้เชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนนึกถึงกลิ่นอายของภูมิประเทศป่าดิบชื้นของภาคใต้พอๆ กับแผนที่ตอนใต้ของประเทศไทยผืนใหญ่ที่ติดอยู่กลางกำแพงห้องรับประทานอาหาร
เชฟไอซ์-ศุภักษร จงศิริ ผู้เป็นเจ้าของ ‘ศรณ์’ ร้านอาหารซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวขานที่สุดในแวดวงอาหารปักษ์ใต้แห่งนี้ ค่อยๆ ลากนิ้วไปตามแผนที่ พร้อมเล่าถึงความเป็นมาของอาหารใต้ “ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดวิวัฒนาการของอาหาร” เขาเริ่มเล่า
นิ้วของศุภักษรลากผ่านด้ามขวานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรมลายู “ภาคใต้ของไทยขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน ทำให้มีวัตถุดิบจำพวกอาหารทะเลนานาชนิด เพราะทะเลแต่ละฝั่งมีอุณหภูมิและความลึกที่ต่างกัน” เขากล่าวก่อนชี้ไปที่บริเวณชายแดนภาคใต้ “เรามีพรมแดนติดประเทศมุสลิมอย่างมาเลเซีย ซึ่งมีเครื่องเทศและเครื่องแกงหลากชนิด” จากนั้นจึงเคลื่อนนิ้วขึ้นไปด้านบนผ่านจังหวัดกระบี่ “ส่วนตรงนี้ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขา เลยมีสัตว์และสมุนไพรป่าจำนวนมาก”
กระแสอาหารปักษ์ใต้กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในกรุงเทพมหานคร ในช่วงปีที่ผ่านมามีร้านอาหารใต้หน้าใหม่จำนวนหนึ่งเปิดตัวขึ้น และได้รับคำชื่นชมจากทั้งบนโลกโซเชียลมีเดียและหนังสืออย่างมิชลินไกด์ ขณะเดียวกัน ร้านอาหารใต้เก่าแก่หลายร้านก็เริ่มเดินหน้าขยับขยายกิจการให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ความนิยมที่กำลังเพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับความเป็นมาของอาหารประเภทนี้ กระนั้น แม้รสเผ็ดจัดจ้านจะชวนให้นึกถึงอย่างอื่นไม่ออกนอกจากความเป็นไทย ผู้ที่ต้องการสืบค้นประวัติของอาหารใต้อาจไม่ได้รับคำตอบที่ง่ายดายอย่างที่คิด ด้วยอาหารใต้นั้นเป็นผลลัพธ์ของอิทธิพลหลากหลาย จนขนาดศุภักษรเองยังต้องไล่ชี้นิ้วไปทั่วแผนที่ ยามจะอธิบายถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการปรุงอาหารใต้ให้พอเห็นภาพ
ผู้ที่ต้องการสืบค้นประวัติของอาหารใต้อาจไม่ได้รับคำตอบที่ง่ายดายอย่างที่คิด ด้วยอาหารใต้นั้นเป็นผลลัพธ์ของอิทธิพลหลากหลาย
ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 ถึง 21 ช่องแคบมะละกา ซึ่งตั้งอยู่เยื้องกับตอนใต้ของไทย ระหว่างแหลมมลายูกับเกาะสุมาตรานั้น เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของภูมิภาค การสับเปลี่ยนของขั้วอำนาจตลอดระยะเวลาหนึ่งพันปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศมาเลเซียและตอนใต้ของประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่หลากหลายจากผู้คนต่างเชื้อชาติและความเชื่อ ตั้งแต่ชาวฮินดู อาหรับ เปอร์เซีย อินดูชวา อิสลาม จีน ไปจนถึงนักล่าอาณานิคมอย่างโปรตุเกส วัตถุดิบต่างถิ่นหลากชนิดซึ่งถูกใช้ในอาหารปักษ์ใต้ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นพริกจากโปรตุเกส เครื่องเทศอบแห้งจากเกาะชวา หรือแม้แต่ขมิ้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ขาดไม่ได้สำหรับการปรุงรสเมนูขึ้นชื่ออย่างคั่วกลิ้งและแกงส้มใต้ ที่ถูกนำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวอินเดียนั้น ล้วนเป็นผลลัพธ์จากการผสมผสานของอิทธิพลดังกล่าว
ร้านศรณ์ถือเป็นร้านหนึ่งที่ได้ทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยมในการนำเสนอรสชาติอันเกิดจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของปักษ์ใต้นี้ ผ่านเทสติ้งเมนูซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างบรรจง 22 คอร์ส เริ่มตั้งแต่เมนูน้ำพริกหัวครกแบบพอดีคำซึ่งเสิร์ฟมาในรูปแบบเมนูเรียกน้ำย่อยหรือ ‘อามูส บุช (amuse bouche)’ ที่ให้รสสัมผัสเข้มข้นทว่ากลมกล่อม ไปจนกระทั่งไอศกรีมน้ำตาลมะพร้าวเสิร์ฟคู่เนื้อมะพร้าวเผากับเตาถ่านหอมๆ นับตั้งแต่เปิดทำการเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ร้านอาหารแห่งนี้ก็เป็นที่กล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้รับการประดับดาวมิชลินในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน
ร้านศรณ์ยังให้ความสำคัญกับการสรรหาวัตถุดิบท้องถิ่นภาคใต้อีกด้วย เครื่องปรุงรสอย่างน้ำตาล เกลือ และน้ำปลาในร้านนั้นล้วนได้มาจากเหล่าผู้ผลิตทางภาคใต้ที่คัดสรรมาแล้ว และวัตถุดิบในท้องถิ่นเหล่านี้นี่เองที่เป็นสาเหตุที่หลายเมนูของร้านนั้นหารับประทานได้ยากในกรุงเทพฯ เช่น จักจั่นทะเลจากภูเก็ต ซาชิมิกุ้งมังกรเจ็ดสีซึ่งเสิร์ฟที่อุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียสคู่กับผลไม้ป่าจำปูลิงจากสงขลา หรือเมนูเนื้อกอและจากหมู่บ้านมุสลิมแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง “ตั้งแต่ผมเด็กๆ คุณย่าท่านจะบอกเสมอว่า ถ้าอยากได้เนื้อดีๆ ให้ไปหมู่บ้านมุสลิม” ศุภักษรกล่าว พร้อมเสริมว่าอาหารราว 30% ที่ศรณ์นั้นมาจากผู้ผลิตชาวมุสลิม
ศุภักษรและทีมเชฟมากฝีมือของศรณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเพื่อนสนิทวัยเด็กของเขาเองอย่างเชฟยอด-ยอดขวัญ อยู่พุ่มพฤกษ์ ได้ช่วยกันยกระดับอาหารปักษ์ใต้ไปอีกขั้นผ่านร้านอาหารแห่งนี้ ทั้งการตกแต่งร้านอย่างมีรสนิยม การจับคู่ไวน์กับอาหาร และการจัดจานอาหารอย่างมีศิลปะ สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนความเป็นร้านอาหารไฟน์ไดน์นิ่ง ยิ่งกว่านั้น ความคิดสร้างสรรค์และลูกเล่นในการผสมผสานรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์และหลากหลายเข้าด้วยกัน ดังเช่นเมนูมังคุดคัดราดด้วยกุ้งเคยทอดกรอบและหอมเจียว ยิ่งที่เป็นสิ่งที่ทำให้ศรณ์คู่ควรกับการประดับดาวมิชลินมากขึ้นไปอีก
การสับเปลี่ยนของขั้วอำนาจตลอดระยะเวลาหนึ่งพันปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศมาเลเซียและตอนใต้ของประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่หลากหลายจากผู้คนต่างเชื้อชาติและความเชื่อ ซึ่งมีตั้งแต่ชาวฮินดู อาหรับ เปอร์เซีย อินดูชวา อิสลาม จีน ไปจนถึงนักล่าอาณานิคมอย่างโปรตุเกส
หากจะกล่าวว่าร้านศรณ์เปรียบเสมือนผลงานชิ้นเอกของเชฟและผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างศุภักษร ร้านอาหารอีกแห่งของเขาอย่าง ‘บ้านไอซ์’ ก็เป็นเสมือนผลงานเปิดตัวชิ้นสำคัญ บ้านไอซ์เสิร์ฟเมนูอาหารใต้ดั้งเดิมและเป็นหนึ่งในร้านอาหารขวัญใจชาวกรุงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว สมัยเมื่อเขายังอาศัยอยู่ที่นครศรีธรรมราช ศุภักษรจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยมือหนึ่งของคุณย่าในครัวอยู่เสมอ ความสม่ำเสมอในการเข้าครัวของศุภักษรนี้คือสาเหตุที่คุณย่าตั้งชื่อร้านอาหารบ้านไอซ์สาขาแรกตามชื่อเล่นของเขาเมื่อครอบครัวของเขาย้ายมาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ บ้านไอซ์สาขาแรกในนนทบุรีซึ่งเปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2533 นั้น ยังคงเปิดทำการจนถึงทุกวันนี้ แต่จุดเปลี่ยนผันที่สร้างชื่อเสียงให้กับร้านอาหารแห่งนี้จริงๆ คือตอนที่ผู้สืบทอดกิจการอย่างศุภักษรตัดสินใจเปิดสาขาที่สองในย่านทองหล่อ ซึ่งได้ผลตอบรับดีเยี่ยมจากชาวกรุง ปัจจุบัน บ้านไอซ์มีสาขาทั้งหมด 5 แห่ง โดยเพิ่งเปิดทำการสาขาล่าสุดที่ไอคอนสยามเมื่อไม่นานมานี้
เมนูของทางร้านประกอบด้วยอาหารปักษ์ใต้ยอดนิยมตลอดกาล อาทิ ไก่ทอดผัดเม็ดมะม่วง และใบเหลียงผัดไข่ แต่เมนูพิเศษอย่างเนื้อปูผัดพริกขี้หนูสวน หมูกะปิเสิร์ฟพร้อมส้มโอ และเมนูที่รสจัดสมชื่ออย่างผัดเผ็ดมหาประลัยไก่บ้าน ก็นับว่าพลาดไม่ได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในการลิ้มลองอะไรใหม่ๆ อาจเลือกสั่งต้มเค็มเมืองคอน ซึ่งคล้ายกับต้มข่าไก่แต่เข้มข้นกว่าเพราะใส่วัตถุดิบอย่างเม็ดสะตอ ชะอม กุ้ง และผักสมุนไพรป่าต่างๆ ลงไปด้วย ขณะที่เมนูของร้านศรณ์นั้นรสจัดกำลังดีและเน้นสมดุลของรสชาติ อาหารของบ้านไอซ์นั้นจัดจ้าน เหมาะกับการนั่งรับประทานภายในร้านซึ่งบรรยากาศสบายๆ และเป็นกันเอง “อาหารใต้จะรสออกบ้านๆ และหนักกว่า คล้ายกับอาหารที่ชาวประมงกิน โดยวัตถุดิบหลักจะเน้นพวกสมุนไพร เครื่องเทศ ของหมัก และอาหารทะเล” ศุภักษรอธิบาย
อีกร้านอาหารเก่าแก่ที่นำอาหารใต้รสดั้งเดิมมาให้นักชิมชาวกรุงได้ลิ้มลองคือร้าน ‘คั่วกลิ้ง ผักสด’ ร้านอาหารซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวจากชุมพร ร้านอาหารแห่งนี้เปิดทำการสาขาแรกเมื่อปี 2550 ในซอยสุขุมวิท 40 ก่อนจะย้ายมายังบ้านเก่าที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นในซอยทองหล่อ 5 ปัจจุบัน ทางร้านได้ขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง โดยสาขาล่าสุดนั้นตั้งอยู่ที่โรงแรม Red Planet บนถนนสุรวงศ์
ด้วยพื้นเพของทางครอบครัวเป็นชาวจังหวัดชุมพร จึงไม่น่าแปลกที่วัตถุดิบเกือบทั้งหมดที่ทางร้านใช้จะมาจากบรรดาผู้ผลิตในจังหวัด นอกจากวัตถุดิบท้องถิ่นแล้ว สูตรอาหารต่างๆ ภายในร้านยังสะท้อนถึงตัวตนของครอบครัว ผู้เป็นเจ้าของอีกด้วย วเรศรา สมิตะสิริ หนึ่งในหุ้นส่วนร้าน กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า อรทัย เมืองแก้ว คุณป้าวัย 73 ของเธอนั้นเป็นเจ้าของสูตรอาหารเกือบทั้งหมด แต่วเรศราและคุณแม่ของเธอก็มีส่วนร่วมในการคิดค้นสูตรด้วย ส่วนเมนูยอดนิยมของทางร้านอย่างไข่พะโล้ขาหมูนั้น คุณพ่อผู้ล่วงลับของเธอเป็นคนคิดค้นสูตรขึ้น
อาหารพื้นเมืองภูเก็ตไม่เหมือนกับอาหารใต้ทั่วไป เพราะได้รับอิทธิพลหลักมาจาก อาหารจีนฮกเกี้ยน ซึ่งใช้ปริมาณเครื่องเทศน้อยกว่า
หากได้ไปเยือนแล้ว เมนูซึ่งขาดไม่ได้เห็นจะเป็นเมนูชื่อเดียวกับร้านอย่างคั่วกลิ้งหมูสับ ซึ่งทางร้านเสิร์ฟคู่กับผักสดเย็นๆ เพื่อบรรเทาความเผ็ดร้อน “คำว่าคั่วกลิ้งมันสั้นเกินกว่าจะเป็นชื่อร้าน แล้วเราคนใต้ก็กินทุกอย่างกับผักสด คำว่าผักสดมันชวนให้นึกถึงบ้านดี” วเรศราเล่าถึงแนวคิดที่จุดประกายในการตั้งชื่อร้านของเธอ
เมนูขึ้นชื่ออื่นๆ อย่าง สะตอผัดกะปิกุ้ง แกงไตปลารสชาติจัดจ้าน และแกงเหลืองกุ้งยอดมะพร้าวอ่อนนั้น สามารถดึงดูดลูกค้าขาประจำเข้ามาไม่ขาดสาย ซึ่งหนึ่งในบรรดาลูกค้าเหล่านี้มีชื่อของเชฟระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง กากั้น อนันด์ ผู้ซึ่งเทคะแนนให้คั่วกลิ้ง ผักสดเป็นหนึ่งในร้านอาหารโปรดของเขาที่กรุงเทพฯ ยิ่งกว่านั้น รสชาติอาหารซึ่งเชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนแวะเวียนกลับมาเรื่อยๆ ยังทำให้ร้านอาหารแห่งนี้ได้รับรางวัล ‘บิบ กูร์มองด์ (Bib Gourmand)’ จากมิชลินไกด์ฉบับปี 2561 และ 2562 อันเป็นรางวัลสำหรับร้านอาหารที่ “เสิร์ฟอาหารคุณภาพยอดเยี่ยมในราคาย่อมเยา” อีกด้วย
ภายในซอยสุขุมวิท 8 ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวนั้นเป็นที่ตั้งของร้าน ‘ปราย ระย้า’ ร้านอาหารตำรับพื้นเมืองภูเก็ตซึ่งมีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ “อาหารพื้นเมืองภูเก็ตไม่เหมือนกับอาหารใต้ทั่วไป เพราะได้รับอิทธิพลหลักมาจากอาหารจีนฮกเกี้ยน ซึ่งใช้ปริมาณเครื่องเทศน้อยกว่า” ปราย-ปณิชา เจษฎาวัลย์ เล่า เธอดำเนินกิจการร้านอาหารชื่อดังในบ้านสวยสไตล์ชิโน-โปรตุกีสแห่งนี้ มาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว
ดูเหมือนว่าอาหารพื้นเมืองภูเก็ตนั้นจะเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของปณิชา คุณป้าของเธอเป็นเจ้าของร้านระย้าสาขาแรกในตัวเมืองภูเก็ต ซึ่งเสิร์ฟอาหารพื้นเมืองตำรับเกาะภูเก็ตมากว่า 22 ปี ปณิชากล่าวว่าครอบครัวเธอมีเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนปนอยู่บ้าง ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะกว่า 70% ของชาวภูเก็ตนั้นมีเชื้อสายเปอรานากันหรือบาบ๋า-ย่าหยา อันเป็นคำใช้เรียกผู้สืบเชื้อสายจากผู้อพยพชาวจีน ซึ่งย้ายถิ่นฐานมายังประเทศไทยในช่วงศตวรรษที่ 16 เพื่อทำงานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกที่กำลังรุ่งเรืองในขณะนั้น
รสชาติอาหารของร้านปราย ระย้าสะท้อนอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนฮกเกี้ยนอย่างเด่นชัดแต่แม้จะเบารสเผ็ดกว่าร้านอาหารใต้แห่งอื่น อาหารที่นี่ก็ยังคงอร่อยชวนติดใจ โดยเมนูชูโรงอย่างกุ้งทอดซอสมะขามรสเด็ด แกงเนื้อปูใบชะพลูกับเส้นหมี่ซึ่งใช้เนื้อปูหวานฉ่ำ และหมูฮ้องรสเลิศที่นำหมูสามชั้นไปเคี่ยวกับกระเทียมพริกไทยนาน 3 ชั่วโมง ล้วนแสดงถึงชั้นเชิงและความประณีตในการปรุงอาหาร จนทางร้านสามารถคว้ารางวัลบิบ กูร์มองด์ไปครองในปี 2561 (ในปี 2562 ร้านระย้าสาขาแรกในภูเก็ตได้รับรางวัลนี้ไป)
ในขณะที่บรรดาร้านอาหารใต้ดั้งเดิมซึ่งมีชื่อเสียงอยู่แล้วกำลังแข่งขันกันเพิ่มสาขา เจ้าของร้านอาหารรายเล็กๆ อีกจำนวนหนึ่งก็มีส่วนในการผลักดันแวดวงอาหารปักษ์ใต้ของกรุงเทพฯ ให้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ผ่านการสร้างสรรค์ตำรับอาหารที่มีความเฉพาะตัว หนึ่งในเชฟหน้าใหม่ที่น่าจับตามองที่สุดขณะนี้คือณัฐวุฒิ มันทรานนท์ หนุ่มใหญ่วัย 39 ปีจากชุมพรผู้อยู่เบื้องหลังร้าน ‘คลังสวน’ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในตรอกเล็กๆ กลางย่านอยู่อาศัยเก่าแก่ติดกับซอยสุขุมวิท 22 แม้ตัวร้านจะตกแต่งอย่างสมัยนิยมและรายล้อมด้วยผนังกระจกรอบด้านแต่อาหารทุกจานที่เสิร์ฟยังคงไว้ซึ่งรสชาติและฝีมือการปรุงในแบบฉบับชุมพรแท้ๆ ซึ่งให้รสชาติจัดจ้านแต่ไม่หนักขมิ้น อันเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารใต้ทั่วไป
ณัฐวุฒิซึมซับความรู้ในการทำอาหารจากช่วงเวลาที่อาศัยอยู่กับคุณแม่และยายของเขา ในตอนแรกเขาเพียงนั่งฟังทั้งคู่พูดคุยกันขณะเตรียมอาหารให้กับครอบครัว แต่ภายหลังได้ลงมาช่วยกิจการร้านอาหารของคุณแม่อย่างเต็มตัวที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นบ้านเกิด ณัฐวุฒิทำงานอยู่กับคุณแม่ของเขาเป็นเวลา 7 ปี โดยระหว่างนั้นเขาได้เรียนรู้วิธีเลือกสรรวัตถุดิบจากท้องตลาด และเคล็ดลับการปรุงอาหารต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจย้ายมาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ และร่วมกันเปิดร้านคลังสวนกับน้องชายในเดือนกรกฎาคมปี 2560
เมนูสุดสร้างสรรค์ของทางร้านเห็นจะหนีไม่พ้นเมี่ยงปลากระเบน ซึ่งใช้ปลากระเบนฝอยผัดกับหัวกะทิเสิร์ฟบนใบชะพลู แล้วโรยหน้าด้วยพริกสดและหอมเจียว แต่เมื่อถามถึงเมนูขึ้นชื่อประจำตัวแล้ว เชฟหนุ่มอัธยาศัยดีเลือกเสิร์ฟเมนูผัดเนื้อคลังสวน ซึ่งตัวเนื้อนั้นเคี่ยวกับกะทิจนนุ่มก่อนจะนำไปผัดกับพริกแกงและใบโหระพา นอกจากนี้ก็ยังมีแกงส้มใต้รสเปรี้ยว ซึ่งอัดแน่นไปด้วยเนื้อปลาอินทรีจากอ่าวไทย หน่อไม้ดอง และยอดมะพร้าวอ่อน “แกงส้มบางที่ใช้ปลากะพง แต่ที่บ้านเกิดผมปลาอินทรีขึ้นชื่อที่สุด” ณัฐวุฒิอธิบาย เช่นเดียวกับอีกหลายเมนูจากฝีมือณัฐวุฒิ ผู้ที่ได้ลิ้มลองจะพบว่าระดับความเผ็ดนั้นค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นจนแสบร้อนไปทั้งปาก
จะเห็นได้ว่าหากมีโอกาสได้พูดคุยกับเชฟอาหารปักษ์ใต้ชื่อดังในกรุงเทพฯ เราจะได้ยินเรื่องราวคล้ายๆ กันเกี่ยวกับการส่งผ่านตำรับอาหารซึ่งมีกลิ่นอายท้องถิ่นชัดเจนจากรุ่นสู่รุ่นในครอบครัว จนกล่าวได้ว่า กระแสอาหารปักษ์ใต้ที่กำลังได้รับความนิยมนั้นเป็นผลพวงของการนำรากเหง้าและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดให้ชาวกรุงได้รู้จักผ่านรสอาหารใต้ในแบบฉบับของตน
ด้วยเหตุนี้ แม้ประวัติศาสตร์ของอาหารไทยมักนำไปสู่ข้อถกเถียงสารพัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาของวัตถุดิบหรือการรับเอาอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามา แต่นั่นเองก็คือความสนุก เพราะดูเหมือนทุกครั้งที่ชาวกรุงเทพฯ คิดว่าตัวเองรู้จักอาหารปักษ์ใต้ดีแล้ว ก็จะมีร้านใหม่เข้ามาเปิดให้รู้ว่าอาหารใต้ที่แท้จริงยังหลากหลายกว่านั้นอีกเป็นกอง ■
Essentials