SECTION
ABOUTINVESTMENT REVIEW
วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับกลยุทธ์การลงทุนระยะยาว
คงไม่มีใครที่สนใจโลกของการลงทุนจะไม่รู้จักวอร์เรน บัฟเฟตต์ ในฐานะนักลงทุนที่น่าจะประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง ด้วยประสบการณ์การลงทุนที่ยาวนาน จดหมายจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ถึงผู้ถือหุ้นบริษัท เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ ซึ่งเป็น holding company ที่เขาใช้เพื่อการลงทุนในธุรกิจต่างๆ จึงกลายเป็นคู่มือการลงทุนชั้นดีที่นักลงทุนนำมาใช้ศึกษาแนวคิดและกลยุทธ์การลงทุนของเขา
หลังวอร์เรน บัฟเฟตต์เปิดผนึกจดหมายถึงผู้ถือหุ้นประจำปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่บริษัททำกำไรจากการลงทุนได้น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 เพียงไม่กี่วัน เขาก็ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ว่าเขาเชื่อแล้วว่า การลงทุนแบบ passive คือการลงทุนแบบไม่ต้องคิดอะไร ซื้อกองทุนที่กระจายการลงทุนไปในหุ้นหลายๆ ตัวและพยายามให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง (ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนต่ำ) เป็นการลงทุนที่ดี สมเหตุสมผล และเหมาะกับนักลงทุนส่วนใหญ่
น่าสนใจนะครับ ว่าทำไมนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุน และเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกจากการเลือกลงทุนในธุรกิจและหุ้นที่มีราคาน่าสนใจและให้ผลตอบแทนชนะตลาดกลับเห็นว่า การเลือกลงทุนแบบทั้งตลาดเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลงทุนระยะยาว
ในปี 2007 ก่อนเกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ของโลก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ท้าพนันกับผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์กลุ่มหนึ่งว่าผลตอบแทนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเอาชนะผลตอบแทนจากเฮดจ์ฟันด์ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยให้ผู้บริหารกลุ่มนี้เลือกกองทุนมา 5 กอง แล้ววัดกันว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนทั้ง 5 กองนั้น (หลังหักค่าธรรมเนียม) จะเอาชนะตลาดคือกองทุนของ Vanguard ที่ใช้ดัชนี S&P 500 (คำนวณจากผลตอบแทนของหุ้นสหรัฐฯ ประมาณ 500 บริษัท และใช้มูลค่าตลาดเป็นน้ำหนักในการคำนวณค่าเฉลี่ย) เป็นดัชนีอ้างอิงได้หรือไม่
แต่ละฝ่ายได้ลงเงินประมาณ 320,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อพันธบัตรทิ้งไว้ ด้วยความตั้งใจจะให้มีเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 10 ปีต่อมา เพื่อนำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลที่ผู้ชนะเลือก แต่ปรากฏว่าพอเศรษฐกิจตกต่ำจนธนาคารกลางต้องปรับลดดอกเบี้ย มูลค่าของพันธบัตรก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินคาด และทั้ง 2 ฝ่ายก็เลือกที่จะขายพันธบัตรเพื่อทำกำไร แล้วเอาเงินไปลงทุนในหุ้นบริษัทเบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เพื่อให้เงินในกองเดิมพันโตเร็วกว่าเดิม ปรากฏว่าเมื่อจบเวลาเดิมพัน เงินกองกลางก็โตขึ้นไปมากกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เรียกว่าเป็นการเดิมพันบนกองเดิมพันอีกที
แม้ว่าเพียงปีแรกหลังการเดิมพัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับลดลงไปกว่า 40% ในช่วงวิกฤตปี 2008-2009 ในขณะที่เฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ปรับลดลงไปน้อยกว่า แต่เมื่อครบ 10 ปีเมื่อสิ้นปี 2017 กองทุนที่วอร์เรน บัฟเฟตต์พนันเอาไว้ ซึ่งเป็นกองทุนที่อ้างอิงดัชนี S&P 500 ธรรมดาๆ นั้นให้ผลตอบแทนรวมกว่า 125.8% ในขณะที่กองทุน เฮดจ์ฟันด์ที่ผู้บริหารกองทุนนำมาเดิมพันด้วย กลับให้ผลตอบแทนรวมเพียง 36.3%
วอร์เรน บัฟเฟตต์จึงเป็นผู้ชนะไปและได้รับสิทธิในการบริจาคเงินให้กับ Girls Inc. of Omaha มูลนิธิที่เขาเลือกกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่ากองทุนที่อ้างอิงตลาดจะเพียงซื้อหุ้นแล้วถือไว้เฉยๆ ในขณะที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั้งหลายนั้นมีผู้จัดการกองทุนช่วยดูแล เลือกการลงทุน ทำการซื้อขายเข้าออก และพิจารณาเพิ่มลดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ผลตอบแทนของกองทุนเหล่านี้ออกมาแพ้ตลาดได้อย่างไร?
วอร์เรน บัฟเฟตต์เขียนบทเรียนที่ได้รับจากการเดิมพันครั้งนี้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นในรายงานประจำปีของเบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ประจำปี 2017 ไว้อย่างน่าสนใจ
ข้อแรก กองทุน passive ที่อ้างอิงตลาด คิดค่าธรรมเนียมการบริหารงานน้อยมาก (เพราะแทบไม่ต้องทำอะไร) ในขณะที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มีผู้บริหารกองทุนนั้นคิดค่าธรรมเนียมในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยส่วนใหญ่คิดสูตร 2/20 นั่นคือคิดค่าบริหารกองทุนปีละ 2% และคิดเพิ่มจากผลการดำเนินงานที่ดีกว่าดัชนีอ้างอิงอีก 20% ค่าธรรมเนียมบริหารกองทุนที่ค่อนข้างสูง และคิดทุกปีไม่ว่าผลการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร ทำให้ผลตอบแทนที่กองทุนสร้างได้ต้องเอาไปจ่ายค่าบริหารกองทุนก่อน แม้ว่าผู้จัดการกองทุนจะสามารถบริหารกองทุนจนเอาชนะตลาดได้ในบางปี แต่ถ้ากองทุนไม่สามารถเอาชนะตลาดได้อย่างสม่ำเสมอทุกปี ผลตอบแทนหลังหักค่าบริหารกองทุนจึงยากที่จะเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว หรือพูดง่ายๆ คือต้นทุนของการบริหารอาจจะสูงกว่าประโยชน์ที่นักลงทุนได้รับ และในการเดิมพันครั้งนี้เกือบ 60% ของผลตอบแทนที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ทำได้ก็ถูกจ่ายออกไปเป็นค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุน
สอง การเอาชนะตลาดไม่ใช่เรื่องง่าย การหลีกเลี่ยงการขาดทุนในช่วงตลาดขาลงอาจจะพอเอาชนะตลาดได้ แต่การจับจังหวะเข้าออกจากตลาดให้ถูกต้องตลอดเวลานั้นไม่ง่ายเลย และการพลาดวันที่ตลาดให้ผลตอบแทนดีๆ อาจทำให้ผลตอบแทนต่างกับการซื้อแล้วถือเยอะทีเดียว แม้ตลาดน่าจะ 'มีเหตุผล (rational)' และสะท้อนข้อมูลที่มีอยู่ของตลาด แต่บางครั้งตลาดก็ตอบสนองกับข้อมูลและทำให้เกิดความผันผวนที่สูง ความสามารถในการรับความเสี่ยงและความผันผวนในระยะยาวจึงเป็นสิ่งสำคัญในการลงทุน
สาม การลงทุนในกองทุน passive ที่เก็บค่าธรรมเนียมน้อยๆ น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ต้องการลงทุนในระยะยาว โดยเฉพาะนักลงทุนที่ไม่ค่อยมีเวลาและความสามารถในการเฝ้าติดตามหุ้นเป็นรายตัว และกองทุนแบบนี้มีโอกาสค่อนข้างมากในการเอาชนะกองทุนที่มีผู้จัดการดูแลในระยะยาว
บทเรียนเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการจัดพอร์ตการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะกับนักลงทุนที่ไม่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว และเชื่อในกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุน (asset allocation strategy) มากกว่า
นอกเหนือจากการจัดสรรสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงตามระดับการรับความเสี่ยงของนักลงทุนแล้ว ตัวเลือกในการลงทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับสินทรัพย์ประเภทหุ้นในตลาดประเทศที่พัฒนาแล้ว (ที่มีการแข่งขันและมีประสิทธิภาพสูง จนเอาชนะตลาดได้ยากมาก) นักลงทุนควรมีกองทุนที่เป็น passive fund ซึ่งมีการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง มีการอ้างอิงดัชนีตลาด และเก็บค่าธรรมเนียมต่ำ เป็นส่วนหนึ่ง (หรือส่วนใหญ่) ของการลงทุนในส่วนของหุ้น แต่จะมีกองทุนแบบ active ที่บริหารงานด้วยมืออาชีพที่เรามั่นใจ และเก็บค่าธรรมเนียมการบริหารที่สมเหตุสมผลและไม่แพงเกินไปไว้บ้างเผื่อผู้จัดการกองทุนจะเอาชนะตลาดได้ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ เพื่อรักษาวินัยในการลงทุนระยะยาว หากเรามีการจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสมแล้ว เราไม่ควรทำการเข้าออกจากตลาด (market timing) บ่อยจนเกินไป เว้นแต่จะมีเหตุผลที่มั่นใจจริงๆ นอกจากนั้น การลดหรือเพิ่มความเสี่ยงตามสภาพตลาดก็ควรทำอย่างจำกัดและระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เราพลาดไปจากเป้าหมายระยะยาว และควรหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ในการตัดสินใจการลงทุน ■