HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


ปัญหา 'การค้า' สหรัฐฯ-จีน

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ตลาดเงินทุนและตลาดทุนหวั่นไหวอย่างมากนั้น มักจะถูกกล่าวถึงว่าเป็น 'สงครามการค้า' ที่กำลังขยายวงออกมากดดันบริษัท Huawei และการประลองกำลังกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในด้านเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีข้อสรุปว่าสหรัฐฯ กับจีนจะสามารถบรรลุถึงข้อตกลงหรือประนีประนอมกันได้ในที่สุด แม้ว่าอาจจะไม่ได้รวดเร็วดังที่ตลาดเคยคาดการณ์เอาไว้ก็ตาม นอกจากนั้น ก็ยังรู้สึกอุ่นใจว่าหากมีปัญหาที่กระทบกับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็ยังมีธนาคารกลางสหรัฐที่จะสามารถลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกอบกู้สถานการณ์อีกด้วย จะเห็นได้ว่าตลาดล่วงหน้านั้น ปัจจุบันคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้ง (0.25%) ในปีนี้ และอีก 2 ครั้ง (0.50%) ในปีหน้า

แต่ผมเกรงว่า แนวคิดของตลาดเงินและตลาดทุนนั้นอาจจะมองโลกในแง่ดีเกินไป หรือกรอบการมองความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์นั้น เป็นการมองปัญหาในขอบเขตที่จำกัดเกินไป กล่าวคือ นักวิเคราะห์ในตลาดทุนมักจะมีความเห็นว่า เมื่อมาตรการกีดกันการค้าหรือการตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็จะหันหน้าเข้าหากันเพื่อยุติการทำสงครามที่ทำให้ทั้งสองเสียประโยชน์โดยเร็ว

การค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่ายนั้น เป็นการดำเนินการโดยสมัครใจ (voluntary) โดยพื้นฐาน ดังนั้นธุรกรรมดังกล่าวจึงย่อมจะเป็นประโยชน์และเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย (มิฉะนั้น ธุรกรรมโดยสมัครใจดังกล่าวย่อมจะไม่เกิดขึ้น) ดังนั้น การที่รัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงธุรกรรมดังกล่าว (และรัฐบาลจีนต้องออกมาตอบโต้) จึงเป็นการลดทอนผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ทำให้มีแรงจูงใจในการยุติการกระทำของรัฐบาลทั้งสอง เพราะเป็นการขัดขวางธุรกรรมที่ win-win หรือมองอีกทางหนึ่งคือ การมีข้อตกลงเพื่อประนีประนอมย่อมจะต้องนำไปสู่สภาวะที่เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน

ปัจจุบันชนชั้นนำของสหรัฐฯ มีฉันทามติในการมองจีนว่าเป็นปรปักษ์ของสหรัฐฯ และสรุปว่าจีนมองโลก (หรือต้องการปกครองโลก) ในลักษณะที่แตกต่างจากสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิง

ดังนั้น นักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินเกือบทุกคนจึงจะต้องมีข้อสรุปว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะต้องประสบความสำเร็จในการนำมาซึ่งข้อตกลงที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายให้ได้ในที่สุด

แต่ผมขอมองต่างมุมว่ากรอบการมองปัญหาดังกล่าวข้างต้น เป็นการมองปัญหาที่ไม่สะท้อนความขัดแย้งพื้นฐานระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งเป็นการช่วงชิงกันระหว่างประเทศที่ปัจจุบันผูกขาดเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศเดียวคือสหรัฐฯ กับประเทศจีนที่ต้องการจะเป็นประเทศมหาอำนาจที่เทียบเคียงได้กับสหรัฐฯ ภายในเร็ววันนี้ หากมองความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในกรอบนี้ก็จะเห็นว่า เป็นเรื่องที่จะต้องมีผู้ชนะเพียงรายเดียว (Winner takes all) ไม่ใช่การแสวงหาลู่ทางในการประนีประนอม เพราะการเป็นประเทศมหาอำนาจนั้นจะต้องมีหนึ่งเดียวในโลก

หากท่านผู้อ่านไปอ่านแนวคิดของนักวิชาการและผู้นำทางการเมืองของสหรัฐฯ ท่านจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันชนชั้นนำของสหรัฐฯ มีฉันทามติในการมองจีนว่าเป็นปรปักษ์ของสหรัฐฯ และสรุปว่าจีนมองโลก (หรือต้องการปกครองโลก) ในลักษณะที่แตกต่างจากสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิง ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ กล่าวคือ

1. ด้านการเมือง: สหรัฐฯ สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่สำหรับจีนนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนเป็นศูนย์รวมอำนาจที่ปกครองประชาชนเพื่อเสถียรภาพ และความมั่นคงของพรรคคอมมิวนิสต์และของประเทศ

2. ด้านเศรษฐกิจ: สหรัฐฯ สนับสนุนระบบทุนนิยมที่เน้นตลาดเสรี ขับเคลื่อนโดยนายทุนและกลไกตลาด แต่ระบบเศรษฐกิจจีนนั้นเป็นทุนนิยมที่ขับเคลื่อนโดยอำนาจรัฐ (State-led capitalism) โดยบริษัทสำคัญๆ ของจีน รวมทั้งสถาบันการเงินหลัก นั้นเป็นรัฐวิสาหกิจหรือมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนและกำกับ