HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

INVESTMENT REVIEW


กองทุน ETF อีกหนึ่ง ทางเลือกการลงทุน

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล สายงานลูกค้าบุคคล
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันการลงทุนในต่างประเทศได้รับความสนใจมากขึ้น ทางเลือกสำหรับนักลงทุนก็มีมากขึ้น ทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือการลงทุนในกองทุนที่เรียกว่า ETF หรือ Exchange Traded Fund ซึ่งเป็นกองทุนที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่ต่ำกว่ากองทุนรวมทั่วไป ทำให้ผลตอบแทนสุทธิถึงมือนักลงทุนมีโอกาสสูงขึ้น อีกทั้งยังมีทางเลือกให้ผู้ลงทุนเลือกอย่างหลากหลาย

ETF มีความน่าสนใจอยู่หลายประการ ประการแรก ETF เป็นกองทุนที่บริหารงานแบบ 'passive' กล่าวคือ กองทุนจะเน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงผลตอบแทนของดัชนีที่ใช้อ้างอิงให้มากที่สุด โดยพยายามถือหลักทรัพย์ให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง โดยไม่ต้องมีผู้จัดการกองทุนที่คอยทำหน้าที่เลือกหลักทรัพย์เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ชนะดัชนีนั้นอีก

ดังนั้น ETF จึงเป็นเครื่องมือช่วยให้นักลงทุนได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยง โดยช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และในขณะเดียวกัน นักลงทุนก็ยังได้รับผลตอบแทนเหมือนกับการกระจายเงินไปลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัวที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีอ้างอิงของกองทุน

สอง ETF มีต้นทุนการบริหารกองทุนที่ต่ำ เพราะไม่ต้องจ้างผู้จัดการกองทุนมาบริหาร ยิ่งกองทุนมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งมีต้นทุนในการบริหารงานต่อปีที่ต่ำมาก กองทุนขนาดใหญ่บางกองที่ได้รับความนิยมมากๆ มีต้นทุนการบริหารงานเพียง 0.05% ในขณะที่กองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่มีการบริหารงานแบบ 'active' อาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนมากกว่า 1% แต่ข้อเสียก็คือนักลงทุนอาจจะไม่มีโอกาสชนะดัชนีอ้างอิงแบบกองที่บริหารแบบ active

สาม ETF สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ในตลาดหลักทรัพย์เหมือนกับหุ้นตัวหนึ่ง ต้นทุนของธุรกรรมการลงทุนจึงขึ้นอยู่กับต้นทุนค่านายหน้าการซื้อขาย ช่วงของราคาเสนอซื้อ-เสนอขาย และสภาพคล่องของตลาด นอกจากนี้ หากมีนักลงทุนต้องการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนเป็นจำนวนมาก ผู้ออกกองทุนก็สามารถ 'สร้าง' หรือ 'ซื้อคืน' หน่วยลงทุนได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการซื้อขายต่ำลงอีก เพราะไม่ต้องไปไล่ซื้อหรือขายเองในตลาด ETF ก็จะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปซื้อหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีอ้างอิง เพื่อให้ผลตอบแทนของกองทุนสะท้อนผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงให้มากที่สุด

ETF เป็นเครื่องมือช่วยให้นักลงทุนได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยง โดยช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และในขณะเดียวกัน นักลงทุนก็ยังได้รับผลตอบแทนเหมือนกับการกระจายเงินไปลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัวที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีอ้างอิงของกองทุน

สี่ ETF มีทางเลือกในการลงทุนค่อนข้างกว้างและหลากหลาย ขณะนี้ การลงทุนแบบ passive ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงทำให้มี ETF ออกมาเป็นจำนวนมากโดยอ้างอิงกับดัชนีหรือราคาสินทรัพย์หลากหลายประเภท ทั้งหุ้น และพันธบัตรในภูมิภาคต่างๆ เกือบจะทุกประเทศและกลุ่มประเทศทั่วโลก รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ตลอดจนดัชนีที่ติดตามค่าเงินหรือกลยุทธ์การลงทุนอื่นๆ เช่น กองทุนที่ให้ผลตอบแทนตามระดับความผันผวนของตลาดหุ้นหรือกองทุนที่มีผลตอบแทนตรงข้ามกับผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิง หรือแม้แต่กลยุทธ์แบบ hedge fund ก็ยังมีให้เลือกลงทุนด้วยเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้านักลงทุนต้องการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา แต่นึกไม่ออกว่าจะซื้อหุ้นบริษัทอะไร หรือลงทุนผ่านกองทุนใด ก็อาจจะลงทุนใน ETF ที่มีดัชนี S&P 500 เป็นดัชนีอ้างอิง โดยอาจจะซื้อ IVV:US คือ กองทุน ETF ยี่ห้อ iShares ที่ออกโดย BlackRock หรือซื้อ SPY:US คือกองทุนยี่ห้อ SPDR ที่ออกโดย State Street Bank and Trust กองทุนทั้ง 2 กองนี้ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาและมีต้นทุนค่าบริหารต่ำมาก (เพียง 0.04-0.09%) และมีสภาพคล่องสูงมาก

ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนใน ETF ก็จะใกล้เคียงกับการซื้อหุ้นทั้ง 500 ตัวในดัชนี S&P 500 และถือหุ้นแต่ละตัวนั้นไว้ที่น้ำหนักเท่ากับดัชนีอ้างอิง บางครั้งก็อาจจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีอ้างอิงเนื่องจากกองทุนสามารถนำหลักทรัพย์ที่ถืออยู่ไปให้นักลงทุนรายอื่นยืม เพื่อแลกกับผลตอบแทนจากการยืมหลักทรัพย์ ทำให้ได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกได้

นอกจากนี้ ETF ยังเป็นเครื่องมือสำหรับการลงทุนในกลุ่มประเทศที่ยังนึกไม่ออกว่าจะไปลงทุนด้วยวิธีอื่นได้อย่างไร เช่น กลุ่มประเทศในแอฟริกา ตะวันออกกลาง หรือหากต้องการลงทุนในหุ้นทั่วโลกเลย ETF ก็มีให้เลือกลงทุนได้เช่นกัน

ในทำนองเดียวกัน หากนักลงทุนมองเห็นโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่สามารถหาลงทุนได้ในประเทศไทย ก็สามารถลงทุนผ่าน ETF ได้ เช่น ถ้ามองว่าในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะมีการสะสมอาวุธกันมากขึ้น ก็อาจจะไปซื้อ ETF ที่ลงทุนอ้างอิงตามดัชนีหุ้นกลุ่มผู้ผลิตอากาศยานและยุทโธปกรณ์ที่กระจายไปในหุ้นหลายตัว ทำให้นักลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นทั้งกลุ่มได้ แม้ว่าแทบจะไม่รู้จักหุ้นแต่ละบริษัทเลยก็ตาม (แต่การวิเคราะห์เรื่องปัจจัยพื้นฐานก็ยังมีความจำเป็นอยู่)

หากนักลงทุนมองเห็นโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่สามารถหาลงทุนได้ในประเทศไทยก็สามารถลงทุนผ่าน ETF ได้ เช่น ถ้ามองว่าในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะมีการสะสมอาวุธกันมากขึ้นก็อาจจะไปซื้อ ETF ที่ลงทุนอ้างอิงตามดัชนีหุ้นกลุ่มผู้ผลิตอากาศยานและยุทโธปกรณ์

นอกจากนี้ยังมี ETF ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมแปลกๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง เช่น กลุ่มความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) กลุ่มผู้ผลิตปุ๋ย กลุ่มพลังงานทดแทน หรือแม้แต่ถ้านักลงทุนเชื่อว่าธุรกิจกัญชามีแนวโน้มน่าสนใจก็มี ETF ที่ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องให้เลือกด้วยเช่นกัน

หรือถ้านักลงทุนสนใจลงทุนในหุ้นกลุ่ม healthcare ก็มีให้เลือกตั้งแต่ ETF ที่รวมหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรมย่อยไปถึงกลุ่มที่เจาะลงไปในกลุ่มโรงพยาบาลและบริการทางการแพทย์ กลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ กลุ่มผู้ผลิตยา ไปถึงกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ

เรียกว่ามีให้เลือกทั้งด้านกว้างและด้านลึกตามที่นักลงทุนต้องการ

ปัจจัยที่ควรพิจารณา

ปัจจุบันมี ETF กว่า 6,000 กองซื้อขายกันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก โดยมีมูลค่ารวมเกือบ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนจึงควรศึกษาและพิจารณาปัจจัยต่างๆ ให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุน ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณามีดังนี้

เรื่องแรก นักลงทุนควรทำความเข้าใจก่อนว่าดัชนีอ้างอิงของ ETF ที่เราสนใจคืออะไรและลงทุนในหลักทรัพย์อะไรบ้าง เพราะผลตอบแทนของ ETF จะใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง บางครั้งการลงทุนในหุ้นบางกลุ่ม เช่น กลุ่มประเทศยุโรป ก็มีดัชนีอ้างอิงให้เลือกหลายดัชนีและมีรายละเอียดแตกต่างกัน

สอง ETF ควรมีผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง ถ้ากองทุนไหนให้ผลตอบแทนต่างจากดัชนีอ้างอิงก็อาจทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนไม่เหมือนกับที่ตั้งใจเลือกลงทุน

สาม นักลงทุนควรพิจารณาต้นทุนการบริหารกองทุนด้วย ยิ่งมีต้นทุนต่ำยิ่งทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราจะได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงและโดนหักไปเป็นค่าบริหารงานของกองทุนน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ต้นทุนการซื้อขายของ ETF แต่ละกองก็แตกต่างกันไป ทั้งเรื่องสภาพคล่องในการซื้อขาย ผลกระทบต่อราคาในขณะซื้อขาย และราคาเสนอซื้อ-เสนอขาย แต่หลักการเบื้องต้นก็คือ นักลงทุนควรเลือก ETF ที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าการซื้อขายพอสมควร และซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเหมาะสม

ปัจจุบัน นักลงทุนไทยมีช่องทางในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดหุ้นต่างประเทศโดยตรงได้มากขึ้น ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนประเภทนี้ได้ง่ายกว่าเดิม (นักลงทุนสามารถขอคำปรึกษาได้จากที่ปรึกษาทางการเงินของท่าน)

อย่างไรก็ดี การลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ นักลงทุนควรต้องศึกษาและทำความเข้าใจปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาระภาษีจากการลงทุนในต่างประเทศ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ปัจจัยพื้นฐานและระดับราคา ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง