HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

CLIENT VALUES


One Step at a Time

กวิน ว่องกุศลกิจ ทายาทกลุ่มมิตรผลผู้บุกเบิกธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซ และร้านอาหารคอนเซปต์ใหม่ในประเทศไทย

ยามได้ยินชื่อตระกูลว่องกุศลกิจ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงผู้ก่อตั้งธุรกิจน้ำตาล ‘มิตรผล’ เพราะตรงตามแบบแผนเรื่องราวความสำเร็จของชาวจีนโพ้นทะเลในไทย บริษัทมิตรผลมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากเพียงรถแทรกเตอร์หนึ่งคันรับจ้างตัดอ้อยให้กับโรงงาน ที่ต่อมาได้อาศัยหัวคิดเชิงนวัตกรรมและการมองการณ์ไกลเปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของเอเชีย ภายใต้การนำของอิสระ ว่องกุศลกิจ ทายาทรุ่นที่ 2 ในปัจจุบัน

แต่แม้สืบทอดกันมาหลายรุ่น จิตวิญญาณของผู้ประกอบการนักบุกเบิกดูจะยังมิได้ลดทอนความเข้มข้นลง เพราะทุกวันนี้ทายาทรุ่นที่ 3 อย่างกวิน ว่องกุศลกิจ ลูกชายคนโตของอิสระ ก็ได้เข้ามารับช่วงบริหารต่อและสร้างรอยเท้าของตัวเองแล้วในหลากหลายธุรกิจ ตั้งแต่กลุ่มร้านอาหารอย่าง Kuppadeli และ Ginza Sushi Ichi โรงแรมบูทีค Ad Lib ไปจนถึงโคเวิร์กกิ้งสเปซ Glowfish ที่กลายเป็นบ้านของสตาร์ทอัพและบริษัทยุคใหม่

กวินในวัย 37 ปีพอใจที่จะเรียกตัวเองว่า ‘มิลเลนเนียลหลงยุค’ เพราะรู้สึกว่าแม้จะเกิดนับสิบปีก่อนปีสองพัน ตัวตนของเขากลับเชื่อมโยงกับคนยุคมิลเลนเนียลได้ดีที่สุด ซึ่งหากพิจารณาจากบทบาทสำคัญของเขาในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกิน การอยู่ และการทำงานของคนยุคใหม่แล้ว สิ่งที่เขาคิดน่าจะไม่ผิดความไปจากความจริง

นักเรียนประวัติศาสตร์

สมัยเรียนปริญญาตรีที่ออสเตรเลีย ผมเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ช่วงตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ขึ้นมา โดยหลักๆ จะเรียนเรื่องเศรษฐกิจ การค้า และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ไปจนถึงการแข่งขันของค่ายความคิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมหรือทุนนิยม ผมชอบประวัติศาสตร์ในยุคนี้เพราะเป็นยุคที่โลกเริ่มหมุนเร็วขึ้น การเรียนประวัติศาสตร์ทำให้เราเห็นภาพกว้างและเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์และที่มาของความคิดต่างๆ ความรู้ตรงนั้นมันเอามาประยุกต์ใช้ได้ทั้งกับงานด้านไฟแนนซ์ อสังหาฯ หรือแม้กระทั่งธุรกิจอาหาร เพราะเหนือสิ่งอื่นใดในการทำงาน เราต้องเข้าใจความคิดและพฤติกรรมของผู้บริโภค และต้องรู้จักวิธีสื่อสารกับคนอื่นๆ

ผสานศาสตร์และศิลป์

หลังจบปริญญาตรี ผมมาเรียนต่อปริญญาโทด้านการเงิน ก่อนจะกลับมาเมืองไทยแล้วไปสมัครงานที่บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป ทำงานเป็นนักวิเคราะห์อยู่ได้ 2 ปี ซึ่งผมได้เรียนรู้เยอะมากเพราะเจอเจ้านายเก่ง ตอนนั้นผมอายุยังน้อย ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ก็เลือกเรียนและทำตามใจตัวเอง แต่ภายหลังได้ค้นพบว่าการที่เรามีความถนัดเฉพาะด้านสัก 2-3 เรื่อง โดยไม่หลากหลายเกินไปจนกลายเป็นทำได้ไม่ดีสักอย่าง มันจะทำให้เกิดความพิเศษระหว่างสิ่งที่เราถนัด เหมือนกับสตีฟ จอบส์ ที่เรียนมาทางด้านศิลปศาสตร์กับฟิสิกส์ เขาก็เอาความรู้ตรงนั้นมาทำให้คอมพิวเตอร์เป็นมิตรขึ้น หรือนักมวย วาซีล โลมาเชนโก ถูกพ่อบังคับให้เลิกเรียนมวยแล้วออกไปเรียนเต้นอยู่พักหนึ่ง ปรากฏว่าพอกลับมาต่อยมวย ฟุตเวิร์กเขาดีขึ้นเป็นคนละเรื่องเลย ผมได้เอาสิ่งที่เรียนเกือบทั้งหมดกลับมาใช้ทำธุรกิจ กระทั่งความรู้จากการเรียนดนตรีสมัยมัธยม ก็เอากลับมาใช้ตอนพยายามทำอีเวนต์ที่โกลว์ฟิช สาทร

จุดเริ่มต้นโกลว์ฟิช

พอทำงานมาได้สักพัก คุณตาซึ่งเป็นเจ้าของตึกอโศกทาวเวอร์เริ่มไม่สบาย ผมเลยอยากจะรับช่วงเอาตึกนี้มาดูแลต่อ เพราะผมโตมากับพื้นที่ตรงนี้ สมัยยังเรียนอยู่สาธิตประสานมิตร ผมก็แวะมาที่นี่ตลอด สุดท้ายผมเลยขอซื้อตึกจากคุณตามาบริหาร โดยไปขอกู้ธนาคารบวกกับคุณพ่อให้ทุนมาส่วนหนึ่ง พอช่วงปี 2008-2009 เกิดวิกฤติทางการเงิน ลูกค้าเราเจอผลกระทบจากเศรษฐกิจจนต้องยกเลิกสัญญาเพราะจ่ายค่าเช่าไม่ไหว เราจึงต้องหาโมเดลธุรกิจอื่นมาทดแทน โดยเราไปคุยกับผู้เช่าว่าเราจะปรับลดค่าเช่า แต่ขอให้เขาลดขนาดออฟฟิศลง แล้วไปหาลูกค้ารายเล็กๆ มาเพิ่ม ซึ่งในการลดขนาดเราก็ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ห้องประชุม แล้วเปลี่ยนเป็นพื้นที่ส่วนกลาง นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโกลว์ฟิช สมัยนั้นเรายังไม่รู้ว่าโคเวิร์กกิ้งสเปซคืออะไร ก็ไปศึกษาจากธุรกิจในนิวยอร์ก ลอนดอน ไปเรียนรู้จากสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด ปรากฏว่าตอนนั้นในประเทศไทยเรามีคู่แข่งอยู่ 2 เจ้าที่ราคาค่อนข้างสูง ออฟฟิศเราเลยเต็มไวกว่าเจ้าอื่นๆ

บริการหลังการขาย

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของเราคือการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและยุติธรรมต่อลูกค้า เนื่องจากการสร้างธุรกิจเอสเอ็มอีมันยาก เวลาเราเปิดพื้นที่ให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเช่า ก็จะมีทั้งธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว คำถามคือถ้าเกิดเขาไปไม่รอดแล้วต้องออกก่อนครบกำหนดสัญญา เราจะคืนเงินมัดจำเขาไหม และเราจะช่วยอะไรเขาบ้างในยามที่เขาเลิกเป็นลูกค้าเราแล้ว ซึ่งผมว่าสำคัญยิ่งกว่าครั้งแรกที่เขาก้าวเข้ามาเป็นลูกค้าเรา พอเวลาผ่านไป เพราะเราดูแลคนเหล่านี้ได้ดีมาก ผู้เช่าที่เคยออกก่อนกำหนดก็แนะนำลูกค้ารายอื่นๆ มา หรือบางทีเขาก็กลับมาตั้งบริษัทใหม่ เราไม่เน้นการโฆษณาและไม่มีพนักงานที่เป็นเซลล์หรือมาร์เก็ตติ้ง เราเน้นไปที่คุณภาพของผลิตภัณฑ์และดีไซน์ที่เข้าใจผู้ใช้ หัวใจของโกลว์ฟิชคือการช่วยให้ธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้อยู่รอด เพราะถ้าเขาล้ม เราก็อยู่ไม่ได้

การเรียนประวัติศาสตร์ทำให้เราเห็นภาพกว้างและเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์และที่มาของความคิดต่างๆ ความรู้ตรงนั้นมันเอามาประยุกต์ใช้ได้ทั้งกับงานด้านไฟแนนซ์ อสังหาฯ หรือแม้กระทั่งธุรกิจอาหาร

นิยามโคเวิร์กกิ้งสเปซ

ตามความเข้าใจของผม คำว่า ‘โคเวิร์กกิ้งสเปซ’ เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นในแถบอ่าวซานฟรานซิสโกและใช้กันในแวดวงอุตสาหกรรมเทคเท่านั้น แต่ปัจจุบัน นิยามของโคเวิร์กกิ้งสเปซไปไกลกว่าเดิมมาก อย่างล่าสุดที่ลอนดอน เขาเอาโคเวิร์กกิ้งสเปซไปใช้กับพวก private members club ด้วย คอมมูนิตี้มอลล์อย่าง The Commons ซึ่งเป็นของพี่เต้ (วรัตต์ วิจิตรวาทการ) ผมว่าก็เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซรูปแบบหนึ่ง เขาแค่ไม่เรียกตัวเองอย่างนั้น พี่เต้สอนอะไรผมหลายอย่างมาก เป็นคนที่บอกผมตั้งแต่วันแรกเลยว่าผู้เช่าทั้งหมดที่เดอะคอมมอนส์จะต้องเป็นเจ้าของ เขาไม่อยากได้เจ้าใหญ่ เพราะเจ้าใหญ่แล้วคุณจะเป็นแค่หนึ่งในร้อยสาขา แต่ถ้าคุณเอาเจ้าของสิบคนมาอยู่ด้วยกัน คุณจะสร้างชุมชนเล็กๆ ที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์และแบ่งปันไอเดียได้ หรืออย่างที่โกลว์ฟิชเอง เราเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซรูปแบบที่เน้นด้านธุรกิจมากกว่า

ประยุกต์แนวคิดธุรกิจรีเทล

บริษัทใหญ่ๆ จะมีผู้บริหารระดับสูงอยู่ไม่กี่คนต่อจำนวนพนักงาน แต่พอเป็นบริษัทเล็ก อัตราส่วนผู้บริหารระดับสูงต่อพนักงานจะสูงกว่า เพราะฉะนั้นอำนาจซื้อของผู้เช่าจะสูง แล้วเนื่องจากโกลว์ฟิชคิดค่าเช่าไม่แพง มีผู้เช่าเป็นจำนวนมาก เราก็อยากหารายได้จากพื้นที่ที่เหลือ เราจึงเพิ่มร้านอาหารเข้าไปที่สาขาสาทร คล้ายๆ กับหลักการของห้างสรรพสินค้า คือเขาเอาองค์ประกอบหลายๆ อย่างมาใส่ในพื้นที่เพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น ห้างสรรพสินค้าบางแห่งเขาเอาซูเปอร์มาร์เก็ตไปไว้ชั้นบนเพื่อดึงคนขึ้นไป แล้วเน้นจัดอีเวนต์บ่อยๆ เพื่อให้คนมาใช้บริการร้านอาหาร เราแค่เอาแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับออฟฟิศแทน

ต่อชิ้นเลโก้

ที่โกลว์ฟิช สาขาสาทร นอกจากพื้นที่ส่วนโคเวิร์กกิ้งสเปซและร้านอาหารแล้ว เรายังมีพื้นที่สำหรับจัดอีเวนต์ และสตูดิโอออกกำลังกายสองแห่ง เพราะเราสังเกตว่าเวลาคนเข้าอีเวนต์ธุรกิจต่างๆ เขาแค่แลกนามบัตรกัน มันไม่ได้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียขนาดนั้น จะให้เขาแลกเปลี่ยน เราต้องสร้างให้เกิด trust หรือความเชื่อใจระหว่างกันก่อน ซึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นได้ผ่านการไปฟิตเนสหรือทานข้าวด้วยกัน 2-3 ครั้ง เราต้องพยายามหาจุดร่วมระหว่างคนจำนวนมาก สมมติเราเอาคนมาพูดเรื่องบริษัทนำเข้าแอลกอฮอล์ คนอาจจะไม่สนใจเท่าไร แต่ลูกค้าครึ่งหนึ่งน่าจะสนใจเกี่ยวกับวงบอดี้สแลมและเรื่องของผู้หญิง เราก็เอาจุดร่วมตรงนั้นมาจัดเป็นเวิร์กช็อปหรือคอนเสิร์ต นอกจากนี้ การพยายามนัดคนกลุ่มใหญ่อาจเป็นเรื่องยาก เพราะทุกคนมักไม่มีเวลา แต่การเดินสวนกันในห้องกินข้าว หนึ่งนาทีกับคนนี้ หนึ่งนาทีกับคนนั้น 5 นาทีคุณก็คุยกับคนได้ 5 คนแล้ว มันเป็นวิธีการเชื่อมจุดที่ทรงพลังมาก ผมเรียกวิธีการทำธุรกิจแบบนี้ว่าการต่อเลโก้ พอต่อกันเองได้สักพักหนึ่ง เราก็ไปต่อกับบริษัทใหญ่อีกทอด ซึ่งโกลว์ฟิชพยายามกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจรายย่อยกับรายใหญ่

ผู้นำกระแสบรันช์และโอมากาเสะ

ผมรับช่วงธุรกิจอาหารต่อมาจากคุณแม่ เพราะมีความคิดว่าอยากจะช่วยบริหารต่อหากท่านเกษียณ เราเลยตัดสินใจเปิดคาเฟ่ Kuppadeli ที่อโศกทาวเวอร์ ซึ่งต่อยอดมาจากร้านอาหาร Kuppa ของคุณแม่ โดยขายกาแฟและอาหารเช้าแบบตะวันตก เพราะเวลามาทำงานที่อโศกทาวเวอร์ตอนเช้า ร้านส่วนใหญ่ยังไม่เปิด เราไม่มีที่รับประทานอาหารเช้า ผมเพิ่งมารู้ตัวทีหลังว่าเป็นคนเริ่มต้น brunch ในประเทศไทย ตอนหลังมาทำร้าน Ginza Sushi Ichi เราก็เป็นซูชิโอมากาเสะเจ้าแรกและเจ้าเดียวในกรุงเทพฯ อยู่ประมาณ 3 เดือน ต่อมาถึงค่อยมีร้านโอมากาเสะมาเปิดเต็มไปหมด เราเลยได้รู้ว่าการเป็น pioneer ในธุรกิจต่างๆ ต้องหมั่นศึกษาและปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันยุคสมัย ไม่อย่างนั้นเราก็แพ้เขาได้ แล้วเวลาจะทำร้านอาหาร เราอาจไม่ได้ดูตัวอย่างจากร้านอาหารด้วยกันอย่างเดียว แต่เอาแนวคิดเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันมาประยุกต์ด้วย เช่น ดูว่านายกเทศมนตรีของนิวยอร์กเขาสร้างเมืองอย่างไร หรือ Monocle ออกหนังสือชื่อ The Monocle Guide to Building Better Cities เราก็ดึงเอาความรู้ตรงนั้นมาใช้

แนวคิดต้องชัดเจน

เมื่อก่อนเราค่อนข้างผลีผลามเวลาจะทำอะไร ถ้าคิดว่าไอเดียไหนยังไม่มีคนทำแล้วน่าจะตอบกับตลาด เราก็ลงมือทำเลย ทำให้หลายครั้งเราเริ่มโดยยังไม่ชัดเจน พอไปสื่อสารต่อให้พนักงานและลูกค้า เขาก็ไม่เข้าใจ เดี๋ยวนี้เวลาจะทำอะไรจึงต้องศึกษาหมากบนกระดานให้ถี่ถ้วนก่อน ว่าอะไรต้องเกิดก่อนเกิดหลังถึงจะประสบความสำเร็จได้ สมัยทำคัปปาเดลีแรกๆ เราคิดว่าการทำคาเฟ่มันง่าย เพราะเห็นคุณแม่ประสบความสำเร็จมาก ดังนั้นแนวคิดยังไม่ทันเป็นรูปเป็นร่าง 100% เราก็เริ่มไปก่อนแล้ว คิดว่าเดี๋ยวค่อยๆ ปรับไป แต่ในความเป็นจริง พอลูกค้าเข้ามาสัมผัสประสบการณ์วันแรก เขาจะตัดสินเราตั้งแต่ตอนนั้น แล้วเป็นภาพจำของเขาเกี่ยวกับตัวแบรนด์ไป ดังนั้นถึงทีมบริหารจะดีมาก แต่พอคอนเซปต์กับวัฒนธรรมมันไม่ชัดเจนตั้งแต่วันแรก ทุกอย่างจะครึ่งๆ กลางๆ ไปหมด ตอนทำโรงแรมแอดลิบ ผมเลยพยายามทำทุกอย่างให้มันชัดเจนก่อน ถึงตอนลงมือปฏิบัติจะแย่กว่าที่คาดไว้ แต่ตัวโรงแรมก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ผมเลยมองว่าความชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องคนและทีมบริหารเรายังค่อยๆ ปรับตามได้

ผมทำธุรกิจของตัวเองมาได้ 10 ปี จนตอนนี้มีพนักงานหลักร้อย แต่ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าตัวเองต้องการอะไร เหมือนข้ามเขามาลูกหนึ่งแล้วถึงจะมองเห็นเขาอีกลูก เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

เลือกคนเข้าทำงาน

ผมคิดว่าเรื่อง culture หรือวัฒนธรรมองค์กรนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เราพยายามเลือกคนที่มีพื้นฐานความคิดคล้ายๆ กันกับเราเข้ามาทำงาน ซึ่งหลายครั้งลงเอยด้วยการจ้างคนที่อายุน้อยหรือเด็กจบใหม่ ผมเคยไปสอนวิชานวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยหอการค้ากับธรรมศาสตร์ สุดท้ายก็ได้พนักงาน 2-3 คนมาจากตรงนั้น เพราะในหลายๆ งานที่เราทำมันเป็นของใหม่อยู่แล้ว การศึกษาสำหรับผมไม่ได้ว่าแปลว่าต้องเรียนสูง แต่ต้องมีความรู้โดดเด่นหรือถนัดในเรื่องอะไรสักอย่าง หรือถ้างานไหนต้องใช้ประสบการณ์ในระดับหนึ่ง เช่น เรื่องการดูแลลูกค้า ผมมองว่าคนๆ นั้นอาจจะมาจากอาชีพพริตตี้ก็ได้ เพราะเขามีทักษะในด้านนี้ หรือถ้าลูกค้าผมมาทางธุรกิจบันเทิงค่อนข้างเยอะ เราอาจลองพิจารณาเอาคนจากวงการดนตรีมาไหม คนที่เข้ามาทำงานกับเราไม่ต้องเก่งที่สุด แต่ต้องรู้จักทำงานเป็นทีม คือเคมีต้องตรงกันและสามารถนั่งกินข้าวด้วยกันได้

ลงมือเปลี่ยนเมื่อพร้อม

เมื่อสักสิบปีที่แล้ว คนแบบผมไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เวลาเราเสนอความคิดอะไรใหม่ๆ กับผู้ถือหุ้น ความคิดนั้นมักจะไม่ค่อยผ่านเพราะยังไม่มีใครเคยทำ แล้วในตอนนั้นประสบการณ์เรายังน้อยด้วย แต่เดี๋ยวนี้กลับกัน คือหากเสนอความคิดอะไรที่ซ้ำกับคนอื่น เขาจะบอกว่ามีคนทำแล้ว คุณต้องหาอะไรที่คนอื่นยังไม่ทำ สมัยนี้มันเป็นยุคแห่งการ disrupt กระทั่งภายในธุรกิจครอบครัวอย่างมิตรผล ผมก็พยายามเข้าไป disrupt ในบางจุด แต่ทั้งนี้เราก็ต้องพิจารณาด้วยว่าภายในเขาพร้อมเปลี่ยนหรือเปล่า แล้วตัวเรารู้จริงแค่ไหน เพราะถ้าเป็นธุรกิจของเราเอง เงินทุนมันไม่เยอะ เราเลยสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่า แต่พอเป็นธุรกิจครอบครัว เราต้องมั่นใจจริงๆ เวลาจะลงมือทำบางอย่าง ทำให้ส่วนใหญ่ผมจะเริ่มต้นในลักษณะโปรเจกต์ทดลองก่อน

เทคโนโลยีและการศึกษา

สำหรับผม เทคโนโลยีไม่ได้สร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับทุกคน มันแค่เปลี่ยนผู้นำของโลกเท่านั้น ตอนแรกผมคิดว่าเพราะทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟนได้ แล้วเขาจะเข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น ในความเป็นจริง เทคโนโลยีนั้นทำให้ประเทศที่มีระบบการศึกษาดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเติบโตได้เร็วขึ้น ส่วนประเทศไทยซึ่งการศึกษาอยู่อันดับรั้งท้าย กลายเป็นว่าเสียเปรียบจากจุดนี้เพราะเราไม่สามารถสร้าง content ของเราเองได้ ถ้าไล่ดูในสมาร์ทโฟนจะเห็นว่ามี content น้อยมากที่มาจากบริษัทไทย จริงๆ ประเทศไทยเรามีคนเก่งหลายคน แต่เขาไม่สามารถหาบุคลากรที่เก่งพอๆ กันเข้ามาผลักดันให้เขาไประดับโลกได้ เพราะฉะนั้นกว่าเขาจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ เขาก็ช้าไปหลายก้าวแล้ว ในโลกของเทคโนโลยีมันไม่มีพื้นที่ให้อันดับสอง ถ้าคุณไม่ใช่เฟซบุ๊ก คุณก็แพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม เว้นเสียแต่ว่าเราจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากอย่างจีนหรืออินโดนีเซีย ซึ่งอุปสรรคด้านภาษาทำให้แอปพลิเคชันอย่าง Go-Jek และ Wechat ประสบความสำเร็จได้

มุ่งเน้นความถนัดเฉพาะด้าน

ผมคิดว่าทักษะการสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถแทนที่ได้ แต่มันเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่รัฐต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา แต่ในปัจจุบันซึ่งเรายังแก้ปัญหาเรื่องระบบการศึกษาไม่ได้ ผมมองว่าเราต้องเน้นการศึกษาเฉพาะทางมากขึ้น เราอาจจะยกมาแค่ 4-5 อุตสาหกรรมก็ได้ คนไทยเก่งอะไรบ้าง โรงแรม สุขภาพ การแพทย์ การเกษตร อาหาร การท่องเที่ยว หรืออย่างรัฐบาลเขามีโครงการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็เน้นไปที่เรื่องเหล่านี้แทน แล้วก็เปิดโรงเรียนเฉพาะด้านผ่านการจับมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือภาคเอกชน แล้วรัฐบาลต้องผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นในภาคการศึกษา ผมคิดว่าเรายังไปได้อีกไกล เพราะคนไทยมีหัวสร้างสรรค์ แล้วภาคเอกชนเราก็แข็งแกร่งติดอันดับโลก ฉะนั้นเราอาจต้องให้เอกชนรายใหญ่เข้ามาช่วยผลักดัน หรือซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ และความรู้เข้ามาจากต่างประเทศ ถ้าทำได้ เราจะสามารถบรรลุเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างที่วางไว้

ธุรกิจไทยไประดับโลก

ทุกครั้งที่ผมเดินทาง ผมจะพยายามไปดูคอนเซปต์ที่ใหม่ที่สุดในแต่ละด้าน แล้วเอากลับมาคิดว่าเราต้องทำอย่างไรให้ดีกว่าเขา อย่างเรามีแผนจะสร้างสปาเพิ่มที่โรงแรมแอดลิบ ผมก็ไปคุยกับบริษัททำสปาที่เคยถวายคำปรึกษาให้กับกษัตริย์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเคยทำสปาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรัฐแคลิฟอร์เนีย แล้วก็ตระเวนไปดูสปาต่างๆ ประมาณ 5-6 แห่งในต่างประเทศ โปรเจกต์ของเราเองอาจจะไม่ได้ใหญ่มาก แต่สำหรับผม ถึงจะเป็นโรงแรม 3 ดาว เราก็สามารถเป็นโรงแรม 3 ดาวที่ดีที่สุดในโลกได้ เราเองมาทำโกลว์ฟิชเพราะอยากช่วยยกระดับธุรกิจไทยไปอีกขั้น แล้วธุรกิจในบ้านเราหลายๆ แห่งเขาทัดเทียมระดับโลกแล้วจริงๆ อย่างกลุ่มเซ็นทรัลที่ไปซื้อห้างรีนาเชนเตในอิตาลี หรือการที่เดอะมอลล์กรุ๊ปทำห้างเอ็มควอเทียร์

สองปีข้างหน้า

ผมทำธุรกิจของตัวเองมาได้ 10 ปีจนตอนนี้มีพนักงานหลักร้อย แต่ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าตัวเองต้องการอะไร เหมือนข้ามเขามาลูกหนึ่งแล้วถึงจะมองเห็นเขาอีกลูก เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อย่างโกลว์ฟิชที่สาทร สิ่งที่ทุกคนเห็นตอนนี้เป็นไอเดียของเมื่อ 2 ปีก่อน ตอนนี้แนวคิดเราไปไกลกว่าเดิมมาก ซึ่งอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้าทุกคนถึงจะได้เห็น เรามีแผนจะขยายพื้นที่ที่สาทรเพิ่มอีก 2 ชั้น แล้วสร้าง content ของตัวเองที่เน้นเรื่องการศึกษามากขึ้น เป้าหมายของผมคือการสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์และต่อยอดไอเดียร่วมกันมากที่สุด ธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซหลายๆ แห่งที่เขาโตเร็วและสามารถเปิดได้ทีละ 2-3 หมื่นตารางเมตร เขาไม่ได้มีแนวคิดอย่างเรา เขาเน้นการจับมือกับธุรกิจรายใหญ่ แต่จุดประสงค์ของผมนั้นเป็นการพัฒนาคน ถ้าคุณเอาธุรกิจเจ้าเดียวมาเป็น 50% ของพื้นที่ตรงนั้น มันอาจไม่ได้นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมซึ่งจะช่วยผลักดันผู้ประกอบการไทยรายเล็กๆ ให้ประสบความสำเร็จและก้าวไปสู่ระดับโลกอย่างที่เราตั้งใจไว้


รู้จักกับกวิน ว่องกุศลกิจ



กวิน ว่องกุศลกิจ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาการเงิน จาก The University of Sydney ปัจจุบันกวินดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท เฮอริเทจ เอสเตทส์ จำกัด และประธานนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC) ของหอการค้าไทย