HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

COMMON PURPOSE


Under the Surface

วิกฤตท้องทะเลไทยและบทเรียนหลังการสูญเสียสัตว์ทะเลสำคัญนับร้อยชีวิตในหนึ่งปี

บ่ายวันหนึ่งขณะแสงแดดแผดเผาดาดฟ้าเรือประมงเก่าที่กำลังแล่นเอื่อยๆ อยู่บนผืนน้ำสีครามของอ่าวไทยตอนบน ผู้โดยสารกว่าสิบชีวิตเบียดเสียดกันอยู่ใต้กำบังเรือเล็กๆ พลางสอดส่ายสายตาไปทั่วผืนน้ำและเฝ้ารออย่างใจเย็น หลายนาทีผ่านไป ทุกสิ่งยังคงนิ่งสงบ

“ตรงนู้น!” ลูกเรือคนหนึ่งตะโกนขึ้นพร้อมชี้นิ้วไปยังวัตถุบางอย่างที่อยู่ห่างออกไป ภายในไม่กี่วินาที เหล่าผู้โดยสารก็กรูกันออกมายังดาดฟ้าเรือ และพร้อมใจกันเล็งกล้องส่องทางไกลกับเลนส์ซูมไปยังครีบหลังของวาฬบรูด้าโตเต็มวัยขนาด 14 เมตรที่กำลังโผล่พ้นน้ำ เสียงชัตเตอร์ระงมจากเหล่าผู้ชมที่กำลังตื่นเต้นออกนอกหน้า ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นความโล่งใจสำหรับจิรายุ เอกกุล ผู้ก่อตั้งบริษัททัวร์ชมวาฬบรูด้า Wild Encounter Thailand และมูลนิธิรักสัตว์ป่า เนื่องด้วยเหล่านักท่องเที่ยวบนเรือนั้นจ่ายเงินหลายพันบาทเพื่อมาชมวาฬบรูด้าถึงถิ่นที่อยู่ หากไม่มีสิ่งใดประกันว่าวาฬเหล่านี้จะออกมาอวดโฉมให้เห็นจริงๆ

เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท้องทะเลไทยนั้นอุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเลล้ำค่าติดอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศมาอย่างยาวนาน แต่พื้นที่ซึ่งเปี่ยมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนี้ต้องประสบกับภัยคุกคามมาหลายทศวรรษ และเมื่อปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมจากทั่วทั้งเอเชีย ยุโรป รวมถึงองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศว่าประเทศไทยเป็นผู้ก่อมลพิษทางทะเลอันดับ 6 ของโลก ในแต่ละปี ประเทศไทยทิ้งขยะราว 1 ล้านตันลงทะเล หรือคิดเป็น 13% ของขยะที่ถูกทิ้งลงทะเลทั่วโลก ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่ง ในปี 2561 เพียงปีเดียว มีสัตว์ทะเลสำคัญเป็นร้อยที่ถูกพบเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากขยะ และไม่กี่เดือนก่อนหน้า วาฬบรูด้า 3 ตัวก็กลายมาเป็นซากเกยตื้นบนชายหาดในจังหวัดสมุทรปราการ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยหนึ่งในนั้นเป็นเหยื่อการชนเข้ากับเรือประมง แม้ในปีที่ผ่านมาจะมีการสั่งปิดอ่าวมาหยาอันโด่งดังเพื่อให้ระบบนิเวศได้มีโอกาสฟื้นฟู แต่กฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรทะเลของไทยดูจะยังห่างไกลจากคำว่าเพียงพอ

ในแต่ละปี ประเทศไทยทิ้งขยะราว 1 ล้านตันลงทะเล หรือคิดเป็น 13% ของขยะที่ถูกทิ้งลงทะเลทั่วโลก

จิรายุได้อุทิศชีวิตเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เขาเป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด แต่เติบโตขึ้นในสหรัฐฯ และเริ่มฝึกดำน้ำตั้งแต่อายุ 15 ปี ด้วยความหลงใหลบรรดาสัตว์น้ำและระบบนิเวศใต้ท้องทะเล เขาจึงหัดเรียนถ่ายภาพด้วยตัวเองและได้สร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่รู้จักในแวดวงถ่ายภาพแอคชั่น แม้คนส่วนใหญ่จะชื่นชอบภาพถ่ายแนวธรรมชาติเพียงเพราะความสวย แต่สำหรับจิรายุ ภาพหนึ่งภาพอาจบอกอะไรลึกซึ้งกว่านั้นมาก ปัจจุบันเขาย้ายกลับมายังประเทศไทย และได้ก่อตั้งบริษัททัวร์ซึ่งจัดทริปดูวาฬในจุดที่ใกล้กับกรุงเทพฯ อย่างเหลือเชื่อ ในระหว่างการพาลูกทัวร์ชมวาฬบรูด้าในปี 2559 จิรายุได้เก็บภาพวาฬบรูด้าโผล่พ้นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเส้นขอบฟ้ากรุงเทพฯ และตึกมหานครสูงตระหง่านเป็นฉากหลัง ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนไม่น้อยรีบสรุปว่าภาพนั้นต้องเป็นภาพตัดต่อ เพราะมองไม่เห็นว่าสัตว์ยักษ์นี้จะแหวกว่ายอยู่ใต้เรือโยงและเรือโดยสารที่แล่นไปมาในแต่ละวันได้อย่างไร แต่ภาพดังกล่าวเป็นของจริง และสำหรับจิรายุ มันแสดงให้เห็นว่ามนุษยชาติได้รุกล้ำธรรมชาติไปมากเพียงใด

“หลายคนขับรถจากกรุงเทพฯ ไปเขาใหญ่เพื่อใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยลืมฉุกคิดว่ามันห่างจากเมืองหลวงแค่นิดเดียว ทำให้การกระทำของเราอาจส่งผลกระทบมหาศาล โดยเฉพาะการทิ้งขยะหรือน้ำเสียลงทะเลซึ่งเป็นบ้านของวาฬเหล่านี้ แล้วหลายครั้งพวกวาฬก็ลงเอยด้วยการกินขยะเข้าไป ผมอยากให้ภาพนี้สื่อสารไปยังคนกรุงเทพฯ ว่าการที่เรามีวาฬใหญ่ขนาดนี้อาศัยอยู่ใกล้เมืองหลวงเป็นเรื่องมหัศจรรย์แค่ไหน” เขากล่าว

จิรายุเชื่อว่าประสบการณ์เปิดโลกทัศน์เช่นนี้จะช่วยพลิกวิกฤตเรื่องระบบนิเวศทางทะเลของไทยได้ การเพิกเฉยต่อปัญหาที่มองไม่เห็นนั้นเป็นเรื่องง่าย ผู้คนจึงต้องได้เห็นสมดุลอันเปราะบางของระบบนิเวศใต้ท้องทะเลด้วยตนเอง “ผมอยากให้คนทั่วไปได้เห็นสัตว์เหล่านี้ในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ไม่ใช่ในกรงขัง เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของพวกมันต่อระบบนิเวศ รวมทั้งความจำเป็นในการอนุรักษ์” เขากล่าว อันเป็นวิธีคิดที่คล้ายกันกับอเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงลูกครึ่งไทย-อังกฤษและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมผู้ก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย (EEC Thailand) ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ค่ายสิ่งแวดล้อมของเขาเดินหน้าบ่มเพาะความเป็นนักอนุรักษ์ในเยาวชนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 3-4 ขวบ ผ่านการเรียนรู้และคิดอย่างเป็นระบบโดยใช้ธรรมชาติเป็นห้องเรียนจริง จนกระทั่งสื่อระดับโลกอย่าง CNN ได้ตีข่าวเกี่ยวกับนักแสดงหนุ่มรายนี้ในโลกออนไลน์

การจับสัตว์น้ำพลอยได้เป็นปัญหาใหญ่ ขณะที่การขึ้นทะเบียนสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองถือเป็นงานยาก เพราะชาวประมงมักจับสัตว์เหล่านี้ได้โดยไม่ตั้งใจ และไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายหรือทำให้ถึงแก่ชีวิต

บ่อยครั้งเราอาจเพียงฟังผ่านหูยามได้ยินประโยค ‘สร้างความตระหนักรู้’ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่คนจำนวนมากพยายามสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมในเรื่องร้อยแปด นับตั้งแต่โรคมะเร็ง อุบัติเหตุบนท้องถนน หรือการเลือกปฏิบัติในสังคม แต่กระนั้นวิธีการง่ายๆ นี้ ก็ได้รับการยืนยันว่าได้ผลจริง โดยกลุ่มอนุรักษ์ในประเทศนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ต่างบอกว่าความตระหนักรู้ในสังคมเป็นฟันเฟืองสำคัญที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมาย หากได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณชน การจะเดินหน้าทำสิ่งใดก็ง่ายขึ้น ไม่มีเหตุผลใดที่ประเทศไทยเองจะต่างออกไป

ยกตัวอย่างกรณีของลูกพะยูน ‘มาเรียม’ และ ‘ยามีล’ ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากทีมสัตวแพทย์และนักอนุรักษ์ในจังหวัดตรัง ทั้งคู่เป็นพะยูนเพียง 2 ตัวที่รอดชีวิตจากการเกยตื้นบนหาดในจังหวัดกระบี่และตรัง ขณะที่ซากพะยูนที่เหลือนั้นบางส่วนพบว่าเขี้ยวถูกตัดออก โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือของนักล่าที่ต้องการนำเขี้ยวพะยูนไปทำเครื่องรางของขลัง ภารกิจช่วยเหลืออนุบาลมาเรียมและน้องชายได้กลายเป็นกระแสไปทั่วโซเชียลมีเดียในชั่วข้ามคืน ด้วยใบหน้าตุ้ยนุ้ยและดวงตาใสซื่อของมาเรียมที่ดูราวกับหลุดมาจากการ์ตูนดิสนีย์ มาเรียมโด่งดังเสียจนกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งถึงกับขนานนามเธอว่าเป็น ‘ขวัญใจมหาชน’ น่าเสียดายว่าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มาเรียมนั้นเสียชีวิตด้วยอาการช็อกจากเศษขยะพลาสติก 8 ชิ้นซึ่งถูกพบอุดตันลำไส้ใหญ่ เช่นเดียวกับลูกพะยูนยามีลที่เสียชีวิตตามมาในอีกไม่กี่วันให้หลัง เพราะอาการช็อกหลังเข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำก้อนหญ้าทะเลอุดตันออกจากระบบทางเดินอาหาร

เคราะห์กรรมของพะยูนไทยนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนักวิจัยทางทะเล น่านน้ำไทยมีประชากรพะยูนหลงเหลืออยู่ราว 250 ตัวเท่านั้น และ 90% ของพะยูนเหล่านี้ต้องเสียชีวิตลงเพราะเรือประมงและอวนดักปลา นักอนุรักษ์ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องสัตว์ทะเลเหล่านี้มาอย่างยาวนาน แต่กระแสบนโซเชียลมีเดียของมาเรียมนั้นเป็นแรงผลักดันให้สภานิติบัญญัติมีการเคลื่อนไหวในที่สุด โดยเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ได้ให้คำมั่นจะช่วยผลักดันกฎหมายในการปกป้องประชากรพะยูนซึ่งหลงเหลืออยู่ไม่มากในท้องทะเลไทย

ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 26 แห่ง ซึ่งครอบคลุมน่านน้ำเพียง 6% โดยต้องปรับขึ้นให้เป็น 25% หากต้องการจะทัดเทียมประเทศอย่างเม็กซิโกหรือบราซิล

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลา แผนการดำเนินงาน หรือจัดตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม การรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้อาจช่วยนวดให้เกิดแรงสนับสนุนจากภาคประชาชนได้ก็จริง แต่แรงนี้ก็อาจหมดไปในทันทีที่มีกระแสใหม่มาแย่งความสนใจ ด้วยเหตุนี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมผู้ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศ จึงกลายเป็นหัวเรือหลักในการผลักดันให้เกิดผลทางการเมือง เขาคือนักเคลื่อนไหวคนสำคัญผู้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอยู่เบื้องหลังกรอบแนวคิด ‘พีพีโมเดล’ ที่นำไปสู่การประกาศปิดอ่าวมาหยาอย่างไม่มีกำหนด ตลอดจนการขึ้นทะเบียนวาฬบรูดา วาฬโอมุระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์สงวนภายใต้พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

ดร.ธรณ์เป็นบุตรชายของดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเป็นเวลา 15 ปี ซึ่งตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง ดร.เถลิงมีส่วนช่วยจัดตั้งอุทยานแห่งชาติกว่า 80 แห่ง โดยจำนวน 12 แห่งในนั้นเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล สมัยยังเด็ก ดร.ธรณ์ได้มีโอกาสออกเดินทางกับผู้เป็นพ่อไปยังพื้นที่สงวนทางทะเลทั่วประเทศและได้สัมผัสกับระบบนิเวศอันเปราะบางเหล่านี้อย่างใกล้ชิด นับเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางนักอนุรักษ์ของเขา ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ดร.ธรณ์ได้เขียนหนังสือมากกว่าหนึ่งร้อยเล่มและตีพิมพ์บทความหลายพันชิ้น รวมทั้งมีผู้ติดตามเหนียวแน่นบนโซเชียลมีเดีย ความใกล้ชิดสนิทสนมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติ กลุ่มเจ้าหน้าที่อุทยาน และองค์กรเอกชน ทำให้เขาเป็นเสมือนตัวกลางที่เชื่อมโยงแต่ละภาคส่วนเข้าด้วยกันเพื่อขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์ทะเลต่างๆ ในระดับประเทศ “หัวใจสำคัญคือต้องทำให้ผลลัพธ์นั้นจับต้องได้จริง ไม่ใช่วันๆ จัดประชุมอย่างเดียว ผมทำหน้าที่เชื่อมทุกฝ่ายให้เข้าใจกัน เราไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เราต้องการช่วยปกป้องทะเล ซึ่งทุกคนเขาก็ทราบ” ดร.ธรณ์กล่าว

อุปสรรคใหญ่สำหรับดร.ธรณ์คือการทำให้สัตว์ทะเลชนิดใหม่ๆ ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยก่อนที่งานใหญ่อย่างการปิดอ่าวมาหยาและเกาะแสมสารจะเกิดขึ้นได้นั้น รัฐบาลจำเป็นต้องให้การยอมรับทางกฎหมายก่อนว่าระบบนิเวศเหล่านี้กำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย การฝ่าฟันระเบียบราชการเพื่อผลักดันเรื่องดังกล่าวให้ลุล่วงถือเป็นงานหิน เนื่องด้วยในประเทศไทย คนจำนวนมากดำรงชีพด้วยกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจทัวร์และเรือประมงคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด “การจับสัตว์น้ำพลอยได้เป็นปัญหาใหญ่ ขณะที่การขึ้นทะเบียนสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองถือเป็นงานยาก เพราะชาวประมงมักจับสัตว์เหล่านี้ได้โดยไม่ตั้งใจ และไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายหรือทำให้ถึงแก่ชีวิต ต่างจากนายพรานที่เข้าไปล่าเสือในป่า แต่มันก็เป็นปัญหาสำคัญ เพราะจะเจตนาหรือไม่ ก็ลงเอยที่ผลลัพธ์เดียวกัน” ดร.ธรณ์กล่าว

ประเทศไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในปี 2558 เนื่องด้วยกฎระเบียบด้านการประมงที่ไม่รัดกุมเพียงพอ ซึ่งใบเหลืองนี้ได้รับการเพิกถอนเป็นที่เรียบร้อยในปีนี้หลังประเทศไทยเพิ่มความเข้มงวดกับกฎหมายในภาคการประมงมากขึ้น แต่กฎระเบียบดังกล่าวก็พุ่งเป้าไปที่การตกปลาในปริมาณมากเกินไปจนเป็นภัยคุกคามต่อประชากรปลาทูท้องถิ่น และไม่ได้มีมาตรการเพื่อช่วยสัตว์ทะเลที่ตายเพราะอุบัติเหตุจากเรือประมง ดร.ธรณ์กล่าวว่ารัฐบาลไทยไม่ได้เพิ่มสัตว์ชนิดใหม่เข้าไปในรายชื่อสัตว์คุ้มครองมาเป็นเวลากว่า 27 ปีแล้ว ทำแต่เพียงยกระดับสถานะสัตว์ที่ปรากฏในรายชื่ออยู่แล้วเท่านั้น รวมทั้งแทบไม่มีการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ห้ามทำการประมงเพิ่มเติม

ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 26 แห่ง ซึ่งครอบคลุมน่านน้ำเพียง 6% โดยต้องปรับขึ้นให้เป็น 25% หากต้องการจะทัดเทียมประเทศอย่างเม็กซิโกหรือบราซิล ทั้ง 2 ประเทศประสบปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมทางทะเลเสื่อมโทรมอย่างหนักเช่นเดียวกับบ้านเรา แต่ภายหลังได้รับคำชื่นชมจากองค์การสหประชาชาติว่ามีพัฒนาการในด้านการอนุรักษ์ อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ถ้าจะให้ดี นักอนุรักษ์เชื่อว่าควรมีการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้มากถึง 50-60% แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการประมงและการท่องเที่ยวทางทะเลเป็นอย่างมาก เป้าหมายดังกล่าวจึงอาจทำไม่ได้จริง

กระนั้น การตั้งเป้าให้สูงไว้ก่อนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด ธรรมชาติมีความสามารถอันน่าทึ่งในการฟื้นฟูตัวเองหากถูกปล่อยไว้ลำพัง ดังนั้นในวันที่ฟ้าเป็นใจให้สามารถฝ่าฟันระเบียบราชการไปได้ ผลลัพธ์ก็จะเป็นที่ประจักษ์ ในช่วงทศวรรษที่ ’30s ชาวแคนาดาเชื่อว่าวาฬไรต์แอตแลนติกเหนือได้สูญพันธุ์ไปเป็นที่เรียบร้อย หลังนักล่าได้ห้ำหั่นประชากรวาฬเหล่านี้เพื่อเอาชั้นไขมันไปใช้ทำน้ำมันในการผลิตเครื่องหนัง สบู่ และเครื่องสำอาง กว่าแคนาดาจะทำให้การล่าวาฬชนิดนี้ผิดกฎหมายก็เข้าสู่ช่วงปลายทศวรรษ ซึ่งนักอนุรักษ์ต่างเชื่อว่าสายเกินไปแล้ว เพราะขณะนั้นประชากรวาฬไรต์แอตแลนติกเหนือหลงเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 50 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยเกินกว่าจะผลิตประชากรขึ้นใหม่ ไม่มีใครพบเห็นวาฬชนิดนี้อีกเลย จนกระทั่งกว่า 6 ทศวรรษให้หลัง พวกมันได้ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งและเริ่มมาให้พบเห็นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยความทรหดอดทนเช่นเดียวกันนี้ พื้นที่ทางทะเลบางส่วนของไทยก็กำลังค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น อย่างในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เต่ามะเฟืองซึ่งอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธ์ุระดับวิกฤตได้ขึ้นมาวางไข่บนชายหาดในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และเพียง 6 เดือนหลังการสั่งปิดอ่าวมาหยา นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มพบเห็นฝูงฉลามหูดำแหวกว่ายเข้ามายังหน้าหาดเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ขณะที่เกาะยูงในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งที่ดร.ธรณ์ผลักดันให้มีการปิดตัวเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟู ก็กำลังต้อนรับการกลับมาของแนวปะการังหลังจากผ่านไป 2 ปี

เรื่องราวน่าชื่นชูใจในลักษณะนี้เกิดบ่อยครั้งขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าธรรมชาติสามารถเยียวยาและฟื้นฟูตัวเองได้ แต่กระบวนการดังกล่าวนั้นอาศัยระยะเวลา นักอนุรักษ์ไทยกล่าวว่าสิ่งที่เราทำในอีก 10 ปีต่อจากนี้จะเป็นตัวชี้ชะตาท้องทะเลไทยในอีกศตวรรษข้างหน้า กระนั้น สำหรับดร.ธรณ์ 100 ปีในอนาคตอาจไม่สำคัญเท่ากับวันพรุ่งนี้ “ผมคิดถึงแต่พรุ่งนี้เท่านั้น ไม่ได้ไปคิดว่าอีก 15 ปีเป็นไง มันไกลเกินไปสำหรับผม ผมแค่ทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปในแต่ละวัน แต่ถ้าเราออกแรงมากขึ้นอีกนิด เราอาจช่วยทำให้ท้องทะเลกลับไปเป็นอย่างที่ควรจะเป็นได้” ดร.ธรณ์ทิ้งท้าย

Essentials


EEC Thailand

52/1 หมู่ 2 ถนนหนามแดง-บางพลี สมุทรปราการ

095-965-1459

eecthailand.com

Wild Encounter Thailand

190 หมู่ 6 ซอยแบริ่ง 48 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

099-292-2666

fb.com/wildencounterthailand