HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


Finding the Pattern

จุดยืนของผ้าชาวเขาในวงการแฟชั่น และการเดินทางสายกลางที่อาจเป็นวิถีทางรักษางานหัตถกรรมเก่าแก่นี้ไว้อย่างยั่งยืนที่สุด

นอกจากประเทศไทยจะเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ครัวของโลก’ และแดนกำเนิดแม่ไม้มวยไทยแล้ว ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองตั้งแต่ภาคเหนือจรดใต้ก็มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน กระนั้น หนึ่งในศิลปะการทอผ้าบ้านเราที่ไม่เป็นที่พูดถึงมากเท่าใดนักคือวัฒนธรรมผ้าชาวเขา อันเป็นผลผลิตของชาวเขาเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือ อาทิ ม้ง กะเหรี่ยง มูเซอ อาข่า และเย้า ที่ถักร้อยความเป็นไทยและต่างถิ่นไว้ด้วยกันอย่างลงตัว เนื่องจากชาวเขาไม่เพียงมีอยู่ในไทย หากยังอยู่ในอีกหลายพื้นที่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเทือกเขาหิมาลัยในประเทศจีน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผ้าชาวเขาได้กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นและประกอบด้วยรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การทอด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง การปักลูกเดือย ไปจนถึงการปักลวดลายสัตว์หรือพืช ซึ่งนอกจากจะมีมิติทางความงามแล้ว ยังสะท้อนนัยยะทางสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางสายเลือด ความเชื่อ หรือสถานภาพการสมรส น่าเสียดาย หลายครั้งหลายคราผลผลิตอันสร้างสรรค์และน่าสนใจยิ่งเหล่านี้กลับถูกมองผ่านในฐานะของพื้นบ้านหรือวัฒนธรรมชายขอบ

ความจริง เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า สถานะของผ้าไทยโดยรวมในแวดวงแฟชั่นเองก็ไม่ต่างกันนัก เพราะต้องแข่งขันกับแบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่จากยุโรปที่คอยออกสารพัดคอลเลกชันมาล่อตาล่อใจผู้บริโภค หรือกระทั่งมุมมองของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าแบรนด์ไทยไม่โก้เท่าของนำเข้า ทำให้ผ้าไทยอยู่ในสถานะที่ต้อง ‘พิสูจน์’ ตัวเองตลอดเวลา และการปรากฏตัวของนางแบบในชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยบนรันเวย์หรือหน้านิตยสารแฟชั่นนั้นยังเรียกเสียงฮือฮาจากสาธารณชนแทบทุกครั้ง ราวกับว่าแฟชั่นจากผ้าไทยนั้นเป็นของผิดคาดเสมอๆ

อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เมื่อเหล่าดีไซน์เนอร์ชาวไทยและต่างประเทศเริ่มหันมาให้ความสนใจกับผ้าชาวเขาจากภาคเหนือ โดยความพยายามดังกล่าวได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้บุกเบิกการพัฒนาวัฒนธรรมผ้าของชาวเขามาตั้งแต่หลายทศวรรษก่อนหน้า โดยได้รวบรวมดีไซน์เนอร์และแบรนด์ผ้าไทยชื่อดัง อาทิ Atelier Pichita, Noriko และ Disaya มาสร้างสรรค์ผ้าไทยร่วมสมัยเพื่อนำไปจัดแสดงตามงานแฟชั่นโชว์ต่างๆ ทั่วประเทศ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เองได้ช่วยพลิกมุมมองเดิมที่คนทั่วไปมีต่อสถานะผ้าไทยในวงการแฟชั่นบ้านเรา

การนำของพื้นถิ่นหนึ่งๆ มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อจุดประสงค์เชิงพาณิชย์นั้นถือเป็นความท้าทายและหลายครั้งนำไปสู่เสียงวิจารณ์ เนื่องจากนักออกแบบต้องชั่งใจว่าสิ่งใดเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมที่ควรรักษาไว้ และสิ่งใดควรถูกลดทอนหรือปรับให้เข้ากับบริบทสมัยใหม่มากขึ้น ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่ ดร.เมียง จิน ชิน แห่ง School of Design มหาวิทยาลัยลีดส์ ได้กล่าวไว้ในงานวิจัย ​Design Reinvention for Culturally Influenced Textile Products ของเธอ โดยเธอได้ศึกษาเกี่ยวกับศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองต่างๆ เช่น ผ้าชาวไทยภูเขา และ Bojagi ศิลปะการห่อกล่องของชาวเกาหลี และหาคำตอบว่าวัฒนธรรมเหล่านี้ก้าวพ้นจากการเป็นของ ‘ล้าสมัย’ และเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการแฟชั่นสมัยใหม่ได้อย่างไร ซึ่งจากงานวิจัยนี้ ปัจจัยสำคัญมีอยู่ 2 ประการเท่านั้น คือ ‘การปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย (modernization)’ และ ‘การทำให้เกิดเป็นกระแสนิยม (popularization)’

การนำของพื้นถิ่นหนึ่งๆ มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อจุดประสงค์เชิงพาณิชย์นั้นถือเป็นความท้าทายและหลายครั้งนำไปสู่เสียงวิจารณ์ เนื่องจากนักออกแบบต้องชั่งใจว่าสิ่งใดเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมที่ควรรักษาไว้ และสิ่งใดควรถูกลดทอนหรือปรับให้เข้ากับบริบทสมัยใหม่มากขึ้น

การปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยหรือ modernization นั้น ในกรณีนี้คือการที่ดีไซน์เนอร์นำองค์ประกอบของผ้าชาวเขาที่ตนชื่นชอบมาผสมผสานเข้ากับแฟชั่นสมัยใหม่ และลดทอนรายละเอียดบางอย่างที่อาจถูกมองว่าล้าสมัยลง กระบวนการนี้เป็นอะไรที่ดีไซน์เนอร์ต้องกล้าลองผิดลองถูกให้ดี เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่ากระแสในวงการแฟชั่นนั้นมาไวไปไว และผู้คนในแทบทุกวัฒนธรรมมักติดกับภาพลักษณ์ว่าศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองนั้น ‘ดูเชย’ หากลบล้างอคตินี้ไม่ได้ แบรนด์ที่ใช้ผ้าพื้นเมืองเป็นจุดขายก็ไม่มีทางไปไหนได้ไกลนัก

ในงาน Weaving Dialog ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในปี 2557 นั้น มีการจัดแสดงผลงานออกแบบผ้าชาวเขาโดยดีไซน์เนอร์ชื่อดัง 3 ราย หนึ่งในนั้นคือ ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งห้องเสื้อ T-RA โดยในคอลเลกชัน Revival ซึ่งประกอบด้วยเสื้อผ้า 40 ชุดของเขานั้นได้รับคำชมล้นหลามจากการใช้ผ้าชาวเขาพิมพ์ลายดอกไม้สีสันสดใส แสดงถึงความกล้าต่างและการคิดนอกกรอบในยามที่คนจำนวนมากในวงการแฟชั่นยังมองว่าผ้าพื้นเมืองนั้นล้าสมัย “ถ้าไม่ระวังเรื่องดีไซน์ให้ดีเสื้อผ้าอาจจะดูโหลได้” ธีระให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Bangkok Post “เราต้องการเอาผ้าไทยที่หลายคนมองว่าเชยมานำเสนอในมุมมองใหม่ แล้วผลตอบรับที่ได้ก็ดีมาก เรายอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ไม่ง่าย แต่มันก็เป็นไปได้”

การที่ดีไซน์เนอร์จะนำผ้าไทยมาปรับเปลี่ยนให้ดูเข้ากับยุคสมัยได้สำเร็จนั้น พวกเขาต้องรู้ว่าอะไรควรเปลี่ยนหรือรักษาไว้ ซึ่งนับเป็นเรื่องท้าทายในมุมมองของนักสร้างสรรค์ เพราะหากปรับน้อยเกินไป ก็อาจไม่มีใครดูออก แต่หากเปลี่ยนจนเกินพอดีก็อาจนำไปสู่การบิดเบือนอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมนั้นๆ อย่างไรก็ดี กลวิธีหนึ่งที่มักได้ผลอยู่เสมอ อันเป็นสิ่งที่ธีระได้ทำกับคอลเลกชันรีไววัลของเขา ก็คือการคงลวดลายท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ และเลือกปรับเปลี่ยนรูปทรงเสื้อผ้าให้ดูร่วมสมัยขึ้นแทน

หนึ่งในดีไซน์เนอร์ชาวไทยที่โดดเด่นในเรื่องดังกล่าว คือพิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ ผู้ก่อตั้งและหัวเรือใหญ่ด้านงานออกแบบของห้องเสื้อ Pichita และแบรนด์แฟชั่นโอต์กูตูร์ Atelier Pichita ซึ่งโลดแล่นอยู่ในวงการแฟชั่นมาแล้วกว่า 39 ปี เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกเรื่องผ้าไทยในวงการแฟชั่นร่วมสมัย โดยได้มีโอกาสร่วมงานกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในการสร้างสรรค์คอลเลกชันเสื้อผ้าเพื่อเฉลิมฉลองผ้าพื้นเมืองจากหมู่บ้านต่างๆ ในประเทศ แม้พิจิตราจะไม่เคยออกคอลเลกชันที่สร้างสรรค์จากผ้าชาวเขาร้อยเปอร์เซนต์ แต่คอลเลกชันบางส่วนของเธอก็ประกอบด้วยชุดที่สะท้อนอิทธิพลของวัฒนธรรมชาวเขาในงานออกแบบไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแขนกุดทรงหลวมที่มาพร้อมลวดลายประณีตและเชือกเส้นยาวคล้ายกับเสื้อที่ชายชนเผ่ากะเหรี่ยงสวมใส่ หรือเสื้อคลุมทรงกิโมโนที่ตัดเย็บจากผ้าปักม้งสีสันสดใส

กลวิธีหนึ่งที่มักได้ผลอยู่เสมอ อันเป็นสิ่งที่ธีระได้ทำกับคอลเลกชันรีไววัลของเขา ก็คือการคงลวดลายท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ และเลือกปรับเปลี่ยนรูปทรงเสื้อผ้าให้ดูร่วมสมัยขึ้นแทน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งแบรนด์ไทยที่นำผ้าชาวเขามาสร้างสรรค์ในสไตล์ของตัวเองอย่างสะดุดตา ก็คือ Noriko ห้องเสื้อซึ่งก่อตั้งโดยนงนุช โรจนเสนา และโลดแล่นในวงการแฟชั่นมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยในปี 2559 ณิชา จิรกิติ ทายาทรุ่นที่ 3 นั้นได้ปล่อยคอลเลกชัน The Colour of Tribes อันประกอบด้วยเสื้อผ้า 25 ชุดซึ่งสะท้อนอิทธิพลผ้าชนเผ่าเด่นชัดแม้กระทั่งในสายตาของผู้ที่ไม่ประสีประสาเรื่องแฟชั่น ณิชาได้นำเอาผ้าชาวเขาและผ้าพื้นเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และเวียดนาม ซึ่งมีประชากรเผ่าม้ง กะเหรี่ยง และมูเซอ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มาผสมผสานจนเกิดเป็นกระโปรงลวดลายประณีต ผ้าโพกหัวปักลายพื้นเมืองประดับด้วยขนนก และสร้อยแบบติดคอคล้ายโชกเกอร์ “ผ้าไทยและผ้าชาวเขาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเวียดนามนั้นมีปูมหลังน่าสนใจ” ณิชากล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Nation ในงานเปิดตัวคอลเลกชันเดอะ คัลเลอร์ ออฟ ไทรบส์ “สีและลวดลายของผ้าแต่ละผืนนั้นสะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัว เราจึงอยากนำคุณสมบัติดังกล่าวมารังสรรค์เป็นผลงานแฟชั่นที่ผู้คนสวมใส่ได้ทั้งในชีวิตประจำวันและโอกาสพิเศษ”

ยิ่งกว่านั้น สายใยระหว่างชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังได้ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มของนักออกแบบเปี่ยมพรสวรรค์ในต่างแดน เนื่องด้วยชาวเขาในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่แล้วมีประวัติศาสตร์ร่วมกันกับสมาชิกจากชนเผ่าเดียวกันในประเทศลาว พม่า เวียดนาม หรือตอนใต้ของจีน หนึ่งในกลุ่มนักออกแบบที่ว่าคือกลุ่ม Fresh Traditions ในสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Center for Hmong Arts & Talent (CHAT) ในรัฐมินนิโซตา เพื่อสร้างสรรค์เสื้อผ้าชนเผ่าม้งที่ดูร่วมสมัยและโดดเด่น

ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเฟรช เทรดิชันส์ได้รวบรวมดีไซน์เนอร์ชาวม้งจากทั่วทั้งสหรัฐฯ มาร่วมกันจัดแฟชั่นโชว์ในชื่อ Fresh Traditions ซึ่งหลายคนกล่าวว่าเป็นหนึ่งในแฟชั่นโชว์ผ้าม้งที่โดดเด่นที่สุด โดยนอกจากการจัดแสดงคอลเลกชันของดีไซน์เนอร์แต่ละคน ซึ่งนำเอาลวดลายม้งมาผสมผสานกับแฟชั่นทั้งแบบย้อนยุคและร่วมสมัยแล้ว พวกเขายังต้องออกแบบเสื้อผ้าอย่างน้อยหนึ่งชิ้นที่สร้างสรรค์จากผ้าชาวม้ง 5 รูปแบบ ได้แก่ ผ้ากำมะหยี่ดำ ผ้าซาตินดำ ผ้าชีฟองสีชมพูและสีเขียวสะท้อนแสง และผ้าซาตินสีฟ้า คอลเลกชันดังกล่าวนั้นสะท้อนประวัติศาสตร์ของชนเผ่าม้งในภูมิภาคต่างๆ นับตั้งแต่ผ้าปักที่ได้แรงบันดาลใจจากชาวม้งในประเทศจีน เดรสผ้าม้งที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศลาว รวมทั้งจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีชาวเผ่าม้งอาศัยอยู่

นอกจากในสหรัฐฯ แล้ว เวียด ฮึง ดีไซน์เนอร์ชาวเวียดนามยังได้นำเอาชุดประจำชาติ ‘อ่าว หญ่าย’ ซึ่งเป็นชุดทอผ้าไหมลักษณะแนบตัวที่สตรีเวียดนามสวมใส่ มาผสมผสานกับลวดลายและผ้าของชาวม้งจนเกิดเป็นคอลเลกชันฮือฮาในปี 2557 เวียดได้รับคำชื่นชมว่าสามารถนำผ้าพื้นเมืองที่หลายคนมองว่าเชย มาปรับเปลี่ยนจนเข้ากับยุคสมัย คล้ายๆ กับความสำเร็จของดีไซน์เนอร์บ้านเราในเรื่องผ้าไทย

ความสำเร็จเหล่านี้แสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของดีไซน์เนอร์ในการรักษาและส่งต่อวัฒนธรรมเก่าแก่ไปสู่คนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ดี กระแสในแวดวงแฟชั่นนั้นไม่จีรัง แม้กระทั่งคอลเลกชันยอดนิยมในที่สุดก็อาจถูกแทนที่ด้วยของใหม่ ดร.เมียงจึงกล่าวว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองคงอยู่ในกระแสได้ตลอดก็คือการทำให้กระแสดังกล่าวเป็นที่นิยมไปทั่วหรือ popularization ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงการทำให้ทุกคนหันมาซื้อและสวมใส่ผ้าพื้นเมืองในชีวิตประจำวัน สอดคล้องกับพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อเผยแพร่ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล รวมทั้งความพยายามในการยกระดับผ้าไหมไทยของแบรนด์จิม ทอมป์สัน จนเติบโตในระดับอุตสาหกรรม

อย่างเมื่อปีที่ผ่านมา สีสันและลวดลายของเสื้อผ้าชาวม้งได้เตะตาเจ็ท เชงก์แมน ดีไซน์เนอร์และเจ้าของห้องเสื้อ Eponine ที่มีลูกค้าประจำเป็นเหล่าคนดังและชนชั้นสูงจากเกาะอังกฤษ เธอได้มีโอกาสสร้างสรรค์ชุดเดรสออกงานที่ตัดเย็บจากผ้าปักด้วยมือของชนเผ่าม้งในประเทศไทยให้กับเครสซิดา โบนาส สำหรับสวมใส่ในงานพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายแฮร์รี่และดัชเชสแห่งซัสเซกส์ จนแบรนด์ห้องเสื้อของเธอกลายเป็นที่กล่าวขวัญในบ้านเรา นอกจากนี้เธอยังได้รับคำเชิญจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้มาเยี่ยมชมเวิร์กชอปผ้าไทยในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเสื้อทรงม้งหรือกะเหรี่ยงแท้ๆ อาจกลายเป็นกระแสชั่วข้ามคืนหากคนดังนำมันไปใส่อย่างถูกที่และเวลา

อย่างไรก็ดี การนำผ้าพื้นเมืองมาใช้ในงานออกแบบแบบอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน ในแต่ละปี มีแบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่ถูกโจมตีเพราะนำองค์ประกอบหรือลวดลายพื้นเมืองมาแสวงผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยขาดความรู้ความเข้าใจและการให้เกียรติวัฒนธรรมนั้นๆ เช่นในกรณีอื้อฉาวของแบรนด์ Zara เมื่อปี 2561 ที่ทางแบรนด์ได้วางขายกระโปรงหน้าตาคล้ายโสร่งหรือ ‘ลุงกี’ ที่ผู้ชายอินเดียนิยมสวมใส่ หรือแม้กระทั่งเจ็ทก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงในยุโรปบนโลกโซเชียลมีเดีย หลังจากที่เธอพูดเหมารวมว่าชุดที่เธอออกแบบนั้นเป็นชุด ‘ชนเผ่า’ แทนที่จะให้เครดิตชัดเจนว่าลวดลายดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดของชาวม้ง

และนี่เองคือความละเอียดอ่อนของการสร้างกระแสความนิยมเป็นการทั่วไป หลายครั้งการนำผ้าพื้นเมืองมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าก็ได้ลดทอนหรือกระทั่งทำลายคุณค่าทางวัฒนธรรมของมันลง แต่ในทางกลับกัน วัฒนธรรมหรือประเพณีเก่าแก่นั้นอาจเลือนหายไปในที่สุดหากไม่ถูกทำให้เป็นที่แพร่หลายพอ และตามคำกล่าวของพิจิตรา สถานการณ์แบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้กำลังเกิดขึ้นกับช่างทอผ้าจากเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย เพราะรายได้จากงานฝีมือของพวกเขาหลายครั้งไม่เพียงพอจะเลี้ยงชีพได้ แต่ขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ก็หวงแหนในประเพณีของตนและไม่ต้องการให้เครื่องจักรขนาดใหญ่เข้ามาแทนที่ “เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นหลายคนไม่อยากเป็นช่างทอผ้าอย่างยายหรือย่าของเขา” พิจิตรากล่าวในบทสัมภาษณ์ของเธอกับนิตยสารไลฟ์สไตล์ BK Magazine ในปี 2560 “พอเราถามช่างทอผ้ารุ่นเก่าว่าอยากให้ศิลปะทอผ้าพื้นเมืองเติบโตไปในระดับอุตสาหกรรมหรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่ ทำให้อนาคตของอาชีพนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน”

แม้การใช้ผ้าชาวเขาเป็นแรงบันดาลใจในงานออกแบบแฟชั่นอาจเป็นดาบสองคม แต่สิ่งที่พิจิตรา โนริโกะ หรือกลุ่มเฟรช เทรดิชันส์ได้ทำ ก็แสดงให้เห็นว่าการสร้างสมดุลระหว่างวัฒนธรรมและแฟชั่นนั้นเป็นไปได้ หากใช้ความคิดสร้างสรรค์และความละเอียดอ่อนที่เพียงพอ ความพยายามของพวกเขาไม่ได้เป็นข่าวครึกโครมชั่วข้ามคืน แต่ก็เห็นผลจริงในระยะยาว

เช่นเดียวกับลวดลายผ้าชาวเขา ที่ใช้ฝีมือและระยะเวลาในการถักทอ แต่เมื่อสำเร็จแล้วก็จะงดงามไปอีกแสนนาน

Essentials


Atelier Pichita

77 / 7 ซอยเอกมัย 12 (ซอยเจริญใจ)
ถนนเอกมัย กรุงเทพฯ

090-813-8803

atelierpichita.com

Noriko

4/1 อาคาร The Peal Apartment ชั้น 1
ซอยสุขุมวิท 49 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

02-258-7963

fb.com/norikostore.bkk