SECTION
ABOUTBEYOND BOUNDARIES
In Slow Motion
ดำดิ่งสู่ยุคทองแห่งการเดินทางและเสน่ห์อันเนิบช้าของรถไฟหรู ซึ่งอาจเป็นนิยามความ ‘ลักชัวรี‘ สำหรับศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง
รถไฟสีเขียวสลับทองสง่างามกำลังวิ่งผ่านชนบทของเมืองกัวลากังซาร์ ประเทศมาเลเซีย ไม่ไกลออกไปชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกำลังหว่านเมล็ดข้าว โดยมีเพียงหมวกใบเล็กๆ ป้องกันใบหน้าจากแสงแดดร้อนระอุ เมื่อเปิดประตูเข้าไปในตู้สุดท้ายของขบวนรถ สิ่งที่จะได้พบคือความอึกทึกโกลาหลอันเกิดจากเสียงลมหวีดหวิวและเสียงล้อบดกระทบรางขณะรถไฟเข้าโค้งด้วยความเร็ว กระนั้น นี่เองคือสีสันที่ผู้คนยอมจ่ายเงินหลักแสนบาทเพื่อให้ได้สัมผัส เพราะแทนที่ท้ายขบวนจะมีพนักงานวิศวกรคอยตรวจตราด้านหลังรถ ตู้ท้ายขบวนนี้กลับมาพร้อมระเบียงเปิดให้ผู้โดยสารได้ดื่มด่ำกับทิวทัศน์ผ่านช่องหน้าต่างและกระจกบานกว้างขณะลิ้มรสยอดแชมเปญ
รถไฟขบวนที่ว่าคือ ‘อีสเทิร์น แอนด์ โอเรียนทัล เอ็กซ์เพรส (Eastern & Oriental Express)’ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความหรูหรา และเป็นผู้จุดความนิยมของการท่องเที่ยวด้วยรถไฟหรูให้เกิดไปทั่วภูมิภาคเอเชีย ภายในอีสเทิร์น แอนด์ โอเรียนทัล เอ็กซ์เพรส ตกแต่งอย่างพิถีพิถันในสไตล์โคโลเนียลแบบเคล้ากลิ่นอายตะวันออก ตั้งแต่ทางเดินไม้ขัดเงาไปจนกระทั่งเฟอร์นิเจอร์ผ้าไหม และมาพร้อมชุดของใช้จากแบรนด์ Bvlgari และบริการบัตเลอร์ 24 ชั่วโมง ภายในบรรยากาศของความหรูหรานี้เมื่อตะวันตกดิน เมนูไฟน์ไดน์นิ่งซึ่งรังสรรค์โดยเซเลบริตี้เชฟ เอียน-พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย จะถูกลำเลียงมาเสิร์ฟบนโต๊ะปูผ้าขาวเรียบกริบ ขณะที่วงดนตรีแจ๊สทำหน้าที่ขับกล่อมผู้ฟังในเลานจ์ท่ามกลางไฟคริสตัลระยิบระยับ ผู้โดยสารคุยกันอย่างออกรสและแลกเปลี่ยนรูปถ่ายของหมู่บ้านเล็กๆ ในแถบชนบทของมาเลเซียที่รถไฟได้จอดแวะในตอนกลางวัน ก่อนจะแยกย้ายกลับไปยังห้องพักของตนและเอนกายลงบนเตียงนุ่มเมื่อสิ้นสุดวัน
ความโหยหาเสน่ห์ของโลกยุคเก่าที่เพิ่มสูงขึ้นทำบรรดาบริษัทรถไฟและแบรนด์โรงแรมหรูทุ่มเงินเพื่อสร้างบรรยากาศ ‘ยุคทองแห่งการเดินทาง’ บนเส้นทางรถไฟสายเลื่องชื่อของโลก โดยพุ่งเป้าไปยังนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ผู้มีอันจะกิน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชีย
นี่คือโรงแรม 5 ดาวที่ไม่เคยหยุดนิ่งกับที่อย่างแท้จริง
ในโลกการเดินทางปัจจุบันซึ่งมักหมายถึงแถวเก้าอี้โดยสารแน่นเอี้ยด และสนามบินอันเร่งรีบโกลาหล รถไฟหรูถือเป็นหนึ่งในการเดินทางไม่กี่รูปแบบที่ยังคงความ ‘ลักชัวรี’ ไว้ เดิมที นับตั้งแต่เครื่องบินพาณิชย์กลายเป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 20 คนก็เริ่มมองว่าการเดินทางด้วยรถไฟนั้นน่าเบื่อและล้าสมัย เหตุใดคนเราจึงจะต้องมาเสียเวลาเป็นวันๆ ไปกับรถไฟ ในเมื่อเครื่องบินสามารถพาเราไปยังจุดหมายปลายทางในเวลาเพียงเศษเสี้ยว แต่คำตอบอาจเป็นประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างการเดินทาง เพราะแม้สายการบินชั้นประหยัดจะทำให้การเดินทางข้ามทวีปรวดเร็ว แต่เสน่ห์ของการนั่งรถไฟกลับอยู่ที่ความเนิบช้าและอรรถรสของการเดินทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่แม้แต่ห้องสวีทบนชั้นเฟิร์สคลาสของสายการบินเอมิเรตส์ยังอาจไม่สามารถเอาชนะ
สิ่งที่ผู้ให้บริการรถไฟหรูให้ความสำคัญไม่ใช่เพียงจุดหมาย แต่เป็นตัวการเดินทางเอง สีสันของการเดินทางด้วยรถไฟหรูในแต่ละเส้นทางจึงต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของภูมิภาคที่ไปเยือน
ความโหยหาเสน่ห์ของโลกยุคเก่าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำบรรดาบริษัทรถไฟและแบรนด์โรงแรมหรูทุ่มเงินเพื่อสร้างบรรยากาศ ‘ยุคทองแห่งการเดินทาง’ บนเส้นทางรถไฟสายเลื่องชื่อของโลก โดยพุ่งเป้าไปยังนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ผู้มีอันจะกิน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเต็มใจควักเงินก้อนใหญ่เพื่อทำความรู้จักภูมิภาคแห่งนี้ในมุมมองแปลกใหม่ รถไฟอีสเทิร์น แอนด์ โอเรียนทัล เอ็กซ์เพรสนั้นเริ่มให้บริการมาตั้งแต่ช่วงปี ’90s และกลายเป็นหนึ่งในรถไฟที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก นอกจากนี้แล้ว ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมายังมีรถไฟหรูเปิดตัวขึ้นอีกหลายเส้นทางทั่วภูมิภาค เช่น รถไฟเทรนสวีท ชิกิ-ชิมะ (Train Suite Shiki-shima) ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอลังการและทัศนียภาพตระการตาของประเทศญี่ปุ่น ส่วนในประเทศอินเดีย การเดินทางด้วยรถไฟหรูนั้นได้รับความนิยมจนถึงขั้นรัฐบาลต้องจัดงบประมาณเพื่อสร้างเส้นทางรถไฟหรูเพิ่ม
“การเดินทางด้วยรถไฟทำให้เรารู้จักประเทศหนึ่งมากขึ้นกว่าการนั่งเครื่องบินผ่าน” แกรี่ แฟรงค์ลิน รองประธานด้านรถไฟและเรือสำราญแห่งบริษัท Belmond ผู้ให้บริการรถไฟหรูอันดับต้นๆ ของโลก กล่าว “คุณจะมีเวลาพูดคุยกับผู้โดยสารคนอื่นๆ และเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนแต่ละท้องถิ่นจากพนักงานบนรถไฟ”
การนั่งรถไฟหรูให้อารมณ์คล้ายกับการล่องเรือสำราญ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสันทนาการที่มีให้ทำ อาหารที่ปรุงโดยเชฟ และบริการชั้นยอดอื่นๆ
หากอีสเทิร์น แอนด์ โอเรียนทัล เอ็กซ์เพรส คือผู้จุดกระแสรถไฟหรูสำหรับภูมิภาคเอเชีย รถไฟสาย ‘เวนิส ซิมพลอน-โอเรียนท์-เอ็กซ์เพรส (Venice Simplon-Orient-Express)’ ของเบลมอนด์ก็คือผู้ช่วยปลุกกระแสในยุโรป ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเส้นทางรถไฟหรูชื่อดังหลายสาย ไม่ว่าจะเป็น Royal Scotsman ของสก็อตแลนด์, Grand Hibernian ของไอร์แลนด์, El Transcantabrico Gran Lujo ของสเปน หรือ Presidential Train ของโปรตุเกสที่ล้วนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี เบลมอนด์ได้บูรณะตู้รถไฟโดยสารจากปี ’20s เพื่อคืนชีวิตให้กับ ‘ดิ โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส (The Orient Express)’ รถไฟสายประวัติศาสตร์ซึ่งมุ่งหน้าสู่กรุงอิสตันบูล และเป็นแรงบันดาลใจให้นวนิยายและภาพยนตร์แนวลึกลับหลายเรื่อง
รถไฟดิ โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรสสายดั้งเดิมหยุดให้บริการไปแล้วในปี 2009 แต่กลิ่นอายของยุคดนตรีแจ๊สและสไตล์การตกแต่งแบบอาร์ตเดโคก็ดูจะได้รับการบันดาลให้ฟื้นคืนชีพอย่างเต็มรูปแบบในขบวนเวนิส ซิมพลอน-โอเรียนท์-เอ็กซ์เพรส จนแทบไม่เคยปรากฏว่ารถไฟขบวนนี้ตกหล่นไปในทุกการจัดอันดับรถไฟหรูของโลก โดยรถไฟหรูซึ่งมุ่งหน้าจากกรุงลอนดอน สู่ปารีส เวนิส และอิสตันบูลนี้ประกอบด้วยห้องพัก 4 รูปแบบ รวมไปถึงห้องแกรนด์สวีทจำนวน 3 ห้องที่มาพร้อมบริการบัตเลอร์ 24 ชั่วโมง และแชมเปญไม่อั้น การตกแต่งภายในนั้นสะท้อนจิตวิญญาณของเมืองสำคัญในเส้นทางเดินรถ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหนังสลักนูนจากอิสตันบูล ชุดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งจากปารีส และเครื่องแก้วทำมือของเวนิส ระหว่างทางผู้โดยสารจะได้เพลิดเพลินกับทิวทัศน์ของเทือกเขาแอลป์และไร่องุ่นสุดลูกหูลูกตาขณะนั่งจิบน้ำชายามบ่าย และลิ้มรสเมนูที่ปรุงจากวัตถุดิบท้องถิ่น อาทิ กุ้งล็อบสเตอร์บริททานีย์ และมะเขือเทศสดๆ จากแคว้นโพรวองซ์ นอกจากนั้นแล้ว เบลมอนด์ไม่ลืมที่จะเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกโลกสมัยใหม่ อาทิ สัญญาณอินเทอร์เน็ต เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์หรูหราจากอดีตด้วย
ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากสิ่งที่ผู้ให้บริการรถไฟหรูให้ความสำคัญไม่ใช่เพียงจุดหมายปลายทาง แต่เป็นตัวการเดินทางเอง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางมีความสำคัญยิ่ง สีสันของการเดินทางด้วยรถไฟหรูในแต่ละเส้นทางจึงต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของภูมิภาคที่ไปเยือนและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ที่ใช้อ้างอิงในสไตล์การตกแต่ง เช่น รถไฟเทรนสวีท ชิกิ-ชิมะนั้นพรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีและดีไซน์การตกแต่งล้ำสมัย รถไฟสายนี้วิ่งผ่านเทือกเขาสูงของจังหวัดโทจิงิ ซึ่งใบไม้จะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงสะพรั่งในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ก่อนจะมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งอันอุดมสมบูรณ์ทางตะวันออก พนักงานชายหญิงบนรถไฟในเครื่องแบบสีขาวเนี้ยบติดหูกระต่ายยืนนิ่งรอรับคำสั่ง ขณะที่ระบบกันสะเทือนนั้นช่วยให้รถไฟวิ่งอย่างนุ่มนวลยามพนักงานบรรจงเสิร์ฟเมนูที่ปรุงด้วยวัตถุดิบตามฤดูกาลแก่ผู้โดยสาร หรือเมื่อบาร์เทนเดอร์วาดลีลาการชงค็อกเทลภายใต้แสงไฟมลังเมลืองของเลานจ์ เอกลักษณ์ของรถไฟขบวนนี้อยู่ที่เสาทองโค้งสูงจรดเพดานคล้ายกับต้นไม้กำลังแผ่กิ่งก้านเล่นกับทิวทัศน์ป่าไม้ด้านนอก อันเป็นฝีมือการออกแบบของเคน โอคุยามะ นักออกแบบซูเปอร์คาร์ระดับตำนาน ห้องพักบนรถไฟนั้นโอ่อ่าและมาพร้อมเตียงนอนหนานุ่ม แสงไฟจากเตาผิงที่ทำเลียนแบบของจริงเผยให้เห็นองค์ประกอบอย่างลวดลายญี่ปุ่น กระดาษสาทำมือ และกำแพงหินซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมอาทิตย์อุทัยได้แบบมีระดับ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรถไฟเป็นเสมือนวัตถุจากอดีต รถไฟอีกหลายสายจึงเลือกจะนำเสนอความหรูหราผ่านมนต์เสน่ห์แบบโลกเก่า อาทิ รถไฟสาย ‘เดคข่าน โอดิสซีย์ (Deccan Odyssey)’ รถไฟหรูของอินเดียที่ดูราวกับเป็นหนึ่งในห้องลับของมหาราชาเมื่อหลายศตวรรษก่อน ไม่ว่าจะด้วยโซฟาบุนวมหนา เฟอร์นิเจอร์ไม้ขนาดเขื่องที่สลักเสลาเป็นลวดลายอินเดีย พนักงานในเครื่องแบบสีฟ้าสดและผ้าโพกหัวสีทองที่กำลังกุลีกุจอให้บริการเหล่าผู้โดยสาร ตลอดจนบริการซาลอน การนวดอายุรเวท และห้องซาวน่าที่มีให้ครบครัน หากรถไฟเทรนสวีท ชิกิ-ชิมะคือภาพสะท้อนของญี่ปุ่นยุคใหม่ รถไฟสายเดคข่าน โอดิสซีย์ก็เป็นเสมือนเครื่องจักรย้อนเวลาไปสู่อดีต แต่ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด หัวใจสำคัญนั้นคือการนำเสนอไลฟ์สไตล์อันหรูหราภายในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด “การนั่งรถไฟหรูให้อารมณ์คล้ายกับการล่องเรือสำราญ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสันทนาการที่มีให้ทำ อาหารที่ปรุงโดยเชฟ และบริการชั้นยอดอื่นๆ” จินดา เวเดล อดีตนักเขียนจากนิตยสารไลฟ์สไตล์ Prestige กล่าว เธอได้มีโอกาสเดินทางไปทั่วทั้งเอเชียและยุโรปเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบลักชัวรี สำหรับจินดาแล้ว ผู้คนที่เธอได้พบเจอระหว่างทางทำให้ประสบการณ์การเดินทางด้วยรถไฟหรูนั้นแตกต่าง “มิตรภาพเล็กๆ เกิดขึ้นในหมู่ผู้โดยสารรถไฟ ซึ่งเคยมีชีวิตร่วมกันอย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เราเห็นทุ่งหญ้าผืนเดียวกันยามมองออกไปนอกหน้าต่าง เวลารถไฟสั่นสะเทือนหรือหยุดชะงัก ทุกคนก็รับรู้พร้อมๆ กัน เรารู้สึกจิตใจสงบ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะพบเจอบ่อยนักในการเดินทางในทุกวันนี้ เมื่อรถไฟแล่นผ่านเมืองเล็กๆ ไป เราจะจินตนาการถึงกลิ่นน้ำค้างยามเช้าและเสียงลมพัดไหวตอนพลบค่ำได้อย่างง่ายดาย”
ตามคำบอกเล่าของแกรี่แห่งเบลมอนด์ เคล็ดลับของการสร้างประสบการณ์นั่งรถไฟที่ชวนดื่มด่ำอยู่ที่การทำให้บรรยากาศภายในตู้รถไฟสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นด้านนอก เช่น การจ้างพนักงานท้องถิ่นจากภูมิภาคที่รถไฟสายนั้นวิ่งผ่าน ซึ่งพวกเขาจะต้องได้รับการฝึกฝนเพื่อให้บริการระดับห้าดาว ที่ไม่เพียงอำนวยความสะดวกแก่แขกผู้มาเยือน แต่ยังต้องสามารถสนทนาเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น และแนะนำสถานที่ที่ควรไปเยือนเมื่อรถไฟหยุดพักตามจุดต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ อาหารและเครื่องดื่มก็เป็นอีกหัวใจของการ ‘ยก’ โลกภายนอกมาไว้ในตู้รถไฟ ซึ่งจะทำไม่ได้เลยหากปราศจากทีมเชฟผู้ชำนาญคอยรังสรรค์อาหารชั้นเลิศไม่แพ้ในโรงแรมหรูขณะที่รถไฟวิ่งโคลงเคลงไปตามราง “มันค่อนข้างท้าทายเหมือนกันสำหรับเชฟและลูกทีม เพราะทุกคนต้องเตรียมวัตถุดิบต่างๆ และปรุงอาหารให้ออกมาไร้ที่ติขณะที่รถไฟแล่นด้วยความเร็ว รถไฟของเราแต่ละเส้นทางมอบประสบการณ์เฉพาะตัวและสะท้อนเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค อย่างรถไฟสายอีสเทิร์น แอนด์ โอเรียนทัล เอ็กซ์เพรสนั้นวิ่งผ่านไทย มาเลเซีย ก่อนจะไปสิ้นสุดที่สิงคโปร์ อาหารแต่ละมื้อจึงมีรสชาติความเป็นไทยและมาเลเซีย ขึ้นอยู่กับว่ากำลังวิ่งผ่านประเทศไหน” แกรี่อธิบาย
การได้หยุดแวะสัมผัสบรรยากาศต่างๆ ระหว่างทาง นับเป็นเสน่ห์สำคัญอีกข้อของการเดินทางด้วยรถไฟหรู เช่นเดียวกับการล่องเรือสำราญ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะเผื่อเวลาให้ผู้โดยสารได้ออกลัดเลาะไปตามจุดหมายปลายทางสำคัญต่างๆ ที่รถไฟจอดแวะพัก อย่างรถไฟสายเวนิส ซิมพลอน-โอเรียนท์-เอ็กซ์เพรส ซึ่งเดินรถเส้นทางปารีส-อิสตันบูลอันเลื่องชื่อเพียงปีละครั้งนั้น จะหยุดแวะตามหัวเมืองต่างๆ ให้ไกด์ส่วนตัวได้พาผู้โดยสารเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวมทั้งดื่มด่ำความงามของทะเลดำและปราสาทเปเลสในบูคาเรสต์ ขณะที่ผู้โดยสารรถไฟเทรนสวีท ชิกิ-ชิมะของญี่ปุ่นจะได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะอาโอโมริ ดูแมงกะพรุนที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำคาโมะ และลงแช่น้ำพุร้อนรับวันใหม่ที่อัตสึมิออนเซ็น ก่อนปิดท้ายด้วยการไปเรียนรู้ศิลปะทอผ้าชินะโอริอันเก่าแก่กับช่างฝีมือท้องถิ่นในจังหวัดยามางาตะ
เมื่อนึกภาพถึงกิจกรรมเหล่านี้ หลายคนอาจเริ่มโหยหาเสน่ห์ของการเดินทางช้าๆ ด้วยรถไฟหรู คำกล่าวที่ว่า “จุดหมายปลายทางนั้นไม่สำคัญเท่าเรื่องราวระหว่างทาง” เป็นประโยคที่ถูกใช้จนเฝือ แต่มันก็สะท้อนประเด็นน่าสนใจ ดร.ไนเจล บาร์เบอร์ ผู้เขียนบทความบนเว็บไซต์ Psychology Today ยังเคยได้ตั้งข้อสังเกตขำๆ ไว้ว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินนั้น ดูเผินๆ แล้วไม่ต่างจากวิธีทรมานนักโทษ ไม่ว่าจะเป็นที่นั่งแคบและอึดอัด การจัดลำดับชนชั้นทางสังคมด้วยการแบ่งแยกระหว่างชั้นเฟิร์สคลาสกับชั้นประหยัด และสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การอดนอน แต่ใครจะปฏิเสธบ้างว่าแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมจำกัดแทบไม่ต่างกัน การเดินทางด้วยรถไฟหรูกลับมอบประสบการณ์อันน่าอภิรมย์กว่ามาก
ความงดงามของการเดินทางคงจะอยู่ที่เรื่องราวระหว่างทางจริงๆ และผู้ประกอบการอย่างเช่นเบลมอนด์ อีสต์ เจแปน เรลเวย์ คอมพานี และอินเดียน ฮอลิเดย์ ไพรเวท ลิมิเต็ด ก็จะดูแลให้มันเป็นเช่นนั้นเสมอไป ■
Essentials
Indian Holiday Private Limited
ชั้น LG, World Trade Centre, Barakhamba Lane, New Dehli