HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


Inner Beauty

ทำความรู้จักกับนักออกแบบหัวกะทิชาวไทย ผู้สร้างสมดุลระหว่างอาคารอันสวยประณีตและมากประโยชน์ใช้สอย

การตกแต่งภายในออฟฟิศขนาดสองชั้นของบริษัท PIA Interior ในละแวกสุขุมวิท 16 นั้นสะท้อนปรัชญาการทำงานสองแบบของบริษัทได้เป็นอย่างดี บริเวณที่จัดไว้รับรองผู้มาเยือนนั้นโอ่โถงโดดเด่นด้วยการใช้ไม้และเฟอร์นิเจอร์สีคุมโทนสร้างบรรยากาศอบอุ่น กำแพงกระจกบานใหญ่เผยให้เห็นผืนหญ้าสีเขียวริมทะเลสาบของสวนเบญจกิติ ไม่ว่าดูอย่างไร นี่คือออฟฟิศที่หน้าตาเหมือนที่ปรากฏอยู่ตามหน้านิตยสารออกแบบชั้นนำทุกประการ รายละเอียดของสถานที่ทำให้รสนิยมและความเชี่ยวชาญของบริษัทไม่เป็นที่สงสัยอีกต่อไป ทว่าบนชั้นสองของพีไอเอ อินทีเรียร์กลับมีบรรยากาศตรงกันข้าม พื้นที่ดังกล่าวเป็นออฟฟิศเปิดโล่ง ตรงพื้นปูด้วยพรมสีเทาเรียบ โต๊ะทำงานแต่ละตัวซึ่งมีแฟ้มและเอกสารกองสูงเรียงรายนั้นถูกแบ่งออกจากกันด้วยคอกกั้นสูงระดับเอว และทุกคนต่างกำลังขะมักเขม้นอยู่กับงานเบื้องหน้า ไม่ต่างกับสำนักงานทั่วไป

พีไอเอ อินทีเรียร์ คือผู้อยู่เบื้องหลังอาคารที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพฯ หลายแห่ง นับตั้งแต่ ‘ล้ง 1919’ คอมมูนิตี้มอลล์อารมณ์จีนที่ดัดแปลงจากโกดังสินค้าเก่าในย่านคลองสาน และร้านอาหารแนวสตรีทฟู้ด ‘นายห้าง’ ในพื้นที่เดียวกัน ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) ในเขตจตุจักร นอกจากนี้ พวกเขายังมีส่วนร่วมออกแบบโครงการอยู่อาศัยระดับไฮเอนด์ อาทิ The Reserve Thonglor และ Magnolias Ratchadamri Boulevard “หัวใจของงานออกแบบภายในคือการแก้ปัญหา มันเหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ คือไม่ใช่แค่ต้องทำให้สวย ความสวยเป็นเรื่องปลายทางแล้ว” แดนนี่-วชิรพงศ์ อรรถยุกติ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของพีไอเอ อินทีเรียร์ กล่าว

ปัญหาจำพวกทำอย่างไรพื้นที่จึงจะเกิดความสมดุล อะไรคือความลงตัวระหว่างรูปแบบและประโยชน์ใช้สอย หรือการเลือกเฟ้นวัสดุให้ตอบโจทย์บรีฟอันคลุมเครือของลูกค้า คือตัวอย่างของสิ่งที่นักออกแบบภายในต้องหาทางแก้ให้ได้ในแต่ละวัน นักออกแบบส่วนใหญ่รู้สึกว่างานลักษณะนี้ตรงไปตรงมา เพราะขอเพียงมีฐานความคิดสร้างสรรค์ในเบื้องต้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการประยุกต์สิ่งต่างๆ ตามหลักการ และรู้จักว่าเมื่อไหร่ต้อง ‘แหกกฎ’ โดยนักออกแบบแต่ละคนก็ดูเหมือนจะมีหลักการเหล่านี้ต่างๆ กันไป

ปัญหาจำพวกทำอย่างไรพื้นที่จึงจะเกิดความสมดุล อะไรคือความลงตัวระหว่างรูปแบบและประโยชน์ใช้สอย หรือการเลือกเฟ้นวัสดุให้ตอบโจทย์บรีฟ อันคลุมเครือของลูกค้า คือตัวอย่างของสิ่งที่ นักออกแบบภายในต้อง หาทางแก้ให้ได้ในแต่ละวัน

สำหรับวชิรพงศ์และทีมงาน หลักการที่ยึดถือคือการรู้จักพลิกแพลงและสู้ไม่ถอย หลักการนี้ได้ถูกพิสูจน์ให้เห็นผ่านงานตกแต่งล็อบบี้โรงแรม The Okura Prestige Bangkok ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน วชิรพงศ์เล่าว่าโดยปกติแล้ว โปรเจกต์ในลักษณะนี้จะกินเวลาอย่างน้อย 10 เดือน ยังไม่นับว่าโครงการนี้ถูกตัดงบประมาณเมื่อดำเนินไปได้ครึ่งทางแล้วด้วย กระนั้น ผลงานที่ออกมาก็เป็นที่ประจักษ์ ล็อบบี้บนชั้น 24 ของโรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจนั้นได้ชื่อว่าหรูหราเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ ผู้มาเยือนจะพบกับโต๊ะต้อนรับขนาดยาวซึ่งหุ้มด้วยหนังกระเบนประณีตบรรจงน่าประทับใจในทันทีที่ก้าวเข้ามาในล็อบบี้ แต่พ้นจากนั้นแล้ว พีไอเอ อินทีเรียร์ได้เอาวัสดุที่หาได้ไม่ยากหรือราคาไม่สูงนักมาสร้างความโดดเด่นผ่านการหยิบใช้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เนื้อสีเพื่อเพิ่มผิวสัมผัสให้กับกำแพง หรือการเอาแผ่นหินอ่อนเก่ามาปูพื้น ทำให้บรรยากาศยังดูหรูสง่าโดยไม่เกินงบประมาณ

ขณะที่ข้อจำกัดเรื่องเวลาและงบประมาณเป็นความท้าทายที่นักออกแบบภายในแทบทุกคนต้องเผชิญ ปัญหาที่ดูจะสามัญกว่านั้น ก็คือการหยิบจับวัสดุต่างๆ มาสร้างบรรยากาศอย่างที่ลูกค้าคาดหวังภายใต้ข้อจำกัด เพราะงานหลักของนักออกแบบภายในคือการสร้างบรรยากาศของพื้นที่ ถ้าพื้นที่มีบรรยากาศไปในทางที่ลูกค้าต้องการอยู่แล้วก็แล้วไป แต่บ่อยครั้ง นักออกแบบต้องหาวิธีสร้างอารมณ์และบรรยากาศใหม่ภายใต้สิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยน อย่างเสาค้ำ คาน หรือท่อประปา

ตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นคือผลงานออกแบบภายในที่ Studio Act of Kindness ทำให้กับ S Dental Clinic ในย่านอโศก เมื่อปี 2559 ชารีฟ ลอนา ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของสตูดิโอแห่งนี้ ได้รับมอบหมายให้แปลงโฉมทาวน์เฮาส์หน้าตาธรรมดาๆ เป็นคลินิกทันตกรรม เพราะลูกค้าต้องการสร้างความรู้สึกอบอุ่นเหมือนบ้านให้กับคลินิก แต่ขณะเดียวกันก็คงบรรยากาศและมาตรฐานอย่างในโรงพยาบาลชั้นนำ ชารีฟเคยกล่าวไว้ในสัมภาษณ์ของ Art4D ว่า “ครั้งแรกที่ลูกค้าพาชมบ้านหลังนี้ สิ่งที่พวกเรากังวลมากที่สุดคือลักษณะตัวบ้าน ซึ่งเป็นบ้านทาวน์เฮาส์โครงสร้างไม้หน้าตาบ้านๆ และไม่เหมาะจะทำเป็นคลินิก แต่มีจุดเด่นคือบรรยากาศที่อบอุ่น ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการหลักของลูกค้าที่อยากให้คนไข้ผ่อนคลาย

นักออกแบบต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องขนาดพื้นที่ ตัวผู้ใช้ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้น ทุกอย่างต้องตอบกับชีวิตประจำวันของผู้ใช้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ หรือพื้นที่เปิดโล่ง เป้าหมายคือการตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานให้ได้สูงสุด หรือที่เรียกกันว่า space efficiency

แสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามาด้านในคือจุดเด่นของอาคารหลังนี้ ทีมของชารีฟจึงเสริมจุดเด่นดังกล่าวด้วยการเพิ่มหน้าต่างบานใหญ่เข้าไปตรงชั้นสอง และเน้นใช้สีขาวกับเทาอ่อน ตลอดจนวัสดุอย่างหินอ่อนและกระจกเพื่อขับแสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามาให้สว่างไสวยิ่งขึ้น ขณะที่พื้นนั้นปูด้วยกระเบื้องไม้ไวนิลเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องความชื้น อันเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับสถานที่ที่ต้องเน้นสุขลักษณะ ความสำเร็จของ เอส เดนทัล คลินิก ชี้ให้เห็นว่าการคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยหรือการใช้งานพื้นที่คืออีกหนึ่งหัวใจของงานออกแบบที่ดี

“นักออกแบบต้องคำนึงเสมอว่าผู้คนจะใช้ชีวิตอย่างไรในพื้นที่ที่พวกเขาสร้างขึ้น” อัคราวุฒิ รัชต์บริรักษ์ กล่าว เขาคือผู้ก่อตั้ง TOFF Interior Design บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยหลากรูปแบบ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมส์ โฮมออฟฟิศ คอนโดมิเนียม โรงแรม และอื่นๆ อีกมากมาย “นักออกแบบต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องขนาดพื้นที่ ตัวผู้ใช้ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้น ทุกอย่างต้องตอบกับชีวิตประจำวันของผู้ใช้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ หรือพื้นที่เปิดโล่ง เป้าหมายคือการตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานให้ได้สูงสุด หรือที่เรียกกันว่า space efficiency”

การศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้งานจริงจึงเป็นกุญแจสำคัญ แม้กระทั่งสำหรับโปรเจกต์ระดับเล็ก ดังเช่นธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน PHTAA Living Design ที่เล่าว่าโปรเจกต์ล่าสุดที่ทางทีมได้รับมอบหมายอย่างการออกแบบพื้นที่จัดพิธีแต่งงานแบบไทยนั้น ได้นำเอาทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณี และการตีความอย่างร่วมสมัยมาใช้เป็นพื้นฐานในงานออกแบบ “งานแต่งแบบไทยมีพิธีแห่ขันหมาก เราเลยปรับพื้นที่ภายในอาคารให้เป็นทางเดินยาว แต่ในขณะเดียวกันมันก็ต้องเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบันด้วย เราเลยดีไซน์ห้องและพื้นที่เล็กๆ ภายในอาคารไว้ให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวเตรียมตัว และเป็นพื้นที่สำหรับโยนช่อดอกไม้แบบตะวันตก ตามการใช้งานของคนในสมัยนี้”

พีเอชทีเอเอ ลิฟวิ่ง ดีไซน์ เป็นสตูดิโอออกแบบที่มีทีมงาน 12 ชีวิต และชื่อบริษัทนั้นตั้งตามตัวอักษรแรกของชื่อผู้ก่อตั้ง 3 คน ได้แก่ พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ และตัวธนวรรธน์เอง สมาชิกรุ่นบุกเบิกนี้ประกอบด้วยนักออกแบบภายใน 2 คน และสถาปนิก 1 คน โดยพวกเขาร่วมกันก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ขึ้นเมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน

ความภูมิใจสูงสุดของพวกเขาคืองานออกแบบโชว์รูมผ้าตกแต่งบ้านสำหรับแบรนด์ผ้าไหม จิม ทอมป์สัน ยามที่แบรนด์กำลังต้องการจะปรับภาพลักษณ์ “เราต้องออกแบบโชว์รูมจัดแสดงผ้าตกแต่งบ้านภายในอาคารจิม ทอมป์สันหลังเดิมในย่านสุรวงศ์” ธนวรรธน์เล่า “เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มักติดภาพจำว่าแบรนด์จิม ทอมป์สันต้องมีองค์ประกอบอย่างฝาปะกน หรือฝาไม้เรือนไทยภาคกลาง เราจึงทุบพื้นที่ส่วนหนึ่งลงเพื่อเชื่อมพื้นที่ชั้น 3 และ 4 เข้าด้วยกัน และเปลี่ยนผนังบริเวณนี้ให้เป็นแบ็กดรอปซึ่งปูด้วยวัสดุหินอ่อนแทน”

การเปลี่ยนภาพจำของคนทั่วไปที่ยึดติดว่าผ้าทอนั้นคือตัวตนของจิม ทอมป์สัน ด้วยการใช้วัสดุหินอ่อน และขณะเดียวกันยังรักษาความงามแบบไทยไว้นั้นถือว่าพลิกความคาดหมาย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าวัสดุนั้นมีอิทธิพลต่องานออกแบบเพียงใด โดยเฉพาะหากนักออกแบบรู้จักวิธีที่จะเล่นกับวัสดุนั้นๆ ซึ่งสำหรับ TOFF แล้ว การเล่นกับวัสดุก็คือการ ‘เลือก’ ให้มากที่สุด “เวลาพูดเรื่องความงามในการออกแบบ เราจะพิถีพิถันกับการเลือกเฟ้นวัสดุ ไม่จำเป็นต้องฟุ่มเฟือยหรือสิ้นเปลือง แต่ต้องก่อให้เกิดความรู้สึกบางอย่าง เล่นกับความรู้สึกของผู้ใช้ และถ่ายทอดเรื่องราวของตัวมันเองได้” อัคราวุฒิอธิบาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะถือหลักการฉบับไหน เป้าหมายหลักที่บริษัทออกแบบแทบทุกแห่งให้ความสำคัญคือการฟังเสียงลูกค้า ซึ่งหมายรวมถึงความสามารถในการสื่อสารกับลูกค้าตลอดจนทีมงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

พีไอเอ อินทิเรียร์เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี โดยในแทบทุกโปรเจกต์ออกแบบภายในที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นโครงการอยู่อาศัยระดับลักชัวรี ร้านอาหารสตรีทฟู้ด หรือสำนักงานขององค์กรยักษ์ใหญ่ พวกเขาต้องร่วมงานกับฝ่ายอื่นๆ อาทิ ทีมสถาปนิกและนักออกแบบภูมิทัศน์ ตั้งแต่วันแรก “โปรเจกต์ในลักษณะนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานเป็นทีม การรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ทุกคนจะมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ โดยคำนึงเรื่องการออกแบบภายในและประโยชน์ใช้สอยไปพร้อมกัน นักออกแบบภูมิทัศน์อาจจะมาบอกเราว่าอยากให้คอนเซปต์นี้ๆ ปรากฏอยู่ในงานออกแบบภายใน ในทำนองเดียวกัน เราก็อาจตอบกลับไปว่า ได้ แต่ตามคอนเซปต์ของเรา ยิมออกกำลังกายและสปาต้องเอาออกไปไว้ด้านนอกตึกอย่างนี้ๆ นะ” เขาอธิบาย

สุดท้ายแล้วดูเหมือนสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับงานออกแบบก็คือสมดุล แต่นี่ไม่ใช่แค่เรื่องนามธรรมอย่างสมดุลระหว่างความสวยและประโยชน์ใช้สอย แต่ยังหมายรวมถึงจุดบรรจบที่พอดีระหว่างลูกค้าและนักออกแบบ หรือระหว่างพื้นที่และผู้ใช้งาน หรือบางคนอาจเรียกว่า ‘compromise’ หรือการประนีประนอมนั่นเอง วชิรพงศ์แห่งพีไอเอ อินทีเรียร์ กล่าวติดตลกว่า งานออกแบบนั้นเป็นเพียง 20% ของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเสมอๆ กระนั้น หากสัดส่วนเพียง 20% นั้นนำไปสู่ผลงานอย่างโรงแรมห้าดาวที่สวยติดอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ หรือความสัมพันธ์ธุรกิจแน่นแฟ้นกับบริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่อย่างที่พีไอเอ อินทีเรียร์ได้แสดงให้เห็นแล้ว ‘compromise’ ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ฟังดูหยาบคายเสมอไป

สมดุลทั้งหลายนั้นเกิดจากการประนีประนอม และนักออกแบบภายในก็ดูจะรู้จักสัจธรรมข้อนี้เป็นอย่างดี

Essentials


PHTAA Living Design

ชั้น B56-B58 อาคาร 33 สเปซ ถนนสามเสนใน กรุงเทพฯ

094-551-0165

phtaa.com

PIA Interior

ชั้น 23 อาคารเลค รัชดา ออฟฟิศ คอมเพล็กซ์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

02-264-0690

piainterior.com

S Dental Clinic

25/9 ซอยสุขุมวิท 16 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

02-011-0288

sdentalclinicbangkok.com

Studio Act of Kindness

394 ซอยแสนสบาย 8 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

fb.com/studiokindness

TOFF (Thailand) Company Limited

104/158 ถนนพัฒนาการ กรุงเทพฯ

fb.com/TOFFstudio

จิม ทอมป์สัน สาขาสุรวงศ์

9 ถนนสุรวงศ์ กรุงเทพฯ

02-632-8100

jimthompson.com