HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

CLIENT VALUES


The Lion’s Share

ภูริต ภิรมย์ภักดี ทายาทรุ่นที่ 4 แห่งอาณาจักร ‘บุญรอด’ กับตัวตนในโลกธุรกิจและสนามแข่ง ที่ความเร็วและการอยู่กับความกลัวนั้นเป็นหัวใจไปสู่ความสำเร็จ

หากเอ่ยชื่อ ‘เต้-ภูริต’ แฟนเพลงอาจรู้จักเขาในฐานะนักร้องที่มีผลงานเพลงดังอย่าง ‘เบอร์สอง’ ‘เมื่อไรจะได้พบเธอ’ และ ‘หากความรักฟังอยู่’ ทว่ายามเอ่ยนามสกุล ‘ภิรมย์ภักดี’ ทุกคนจะรู้จักชายหนุ่มคมเข้มผู้นี้ ในฐานะทายาทคนโตรุ่นที่ 4 ของเครือบุญรอด ผู้ผลิตเบียร์รายแรกของประเทศไทยที่ครองตลาดมาหลายยุคสมัย

ปัจจุบัน ภูริตรับหน้าที่ดูแลพนักงานราวสองพันคนในเครือบริษัทบุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เบียร์ น้ำ โซดา ขนมขบเคี้ยว ไปจนถึงธุรกิจอื่นๆ อาทิกองทุน ‘สิงห์ เวนเจอร์’ ส่วนบทบาทนอกเวลางาน เขาคือแฟมิลี่ แมนผู้หลงใหลความเร็วบนสนามแข่ง ตลอดจนเจ้าของค่ายมวยและสตูดิโอออกกำลังกายชื่อดัง เมื่อได้รับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับภาระหน้าที่ร้อยแปดจากหมวกหลายใบ บุคลิกการพูดจารวบรัดและคิดไวทำไวของภูริตดูจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลเป็นอย่างดี

ภูริตตะบึงรถกอล์ฟเข้ามาในโรงรถส่วนตัวพร้อมผู้ช่วยเมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์ และบอกเราว่ากำลังจะต้องเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า กระนั้น เขายินดีจะสละเวลาในช่วงบ่ายเพื่อนั่งลงบอกเล่าเรื่องราวและแนวคิดน่าสนใจ โดยบอกว่าเขาเชื่ออย่างยิ่งในการทำทุกวันให้เหมือนเป็นวันสุดท้ายของชีวิตและรักในสิ่งที่ตัวเองทำ

เข้าใจลึกมองกว้าง

งานแรกของผมที่สิงห์คือการเป็นคนขับรถยกและเด็กล้างถังเบียร์ การเริ่มงานจากล่างสุดขององค์กรทำให้เรารู้ว่าแต่ละวันพนักงานต้องพบเจอปัญหาอะไรบ้าง ไม่เช่นนั้น ถ้าพนักงานมีข้อสงสัย เราจะไม่มีทางรู้คำตอบ ในมุมมองของผม การทำธุรกิจเราต้องเข้าใจรายละเอียดของสิ่งที่ทำ แต่ขณะเดียวกันต้องมองภาพกว้างให้ออกด้วย ตอนที่มาจับงานบริหารที่บุญรอดแรกๆ ทำไปแปบเดียวผมเลยตัดสินใจไปฝึกงานที่บริษัทโฆษณาโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ เพราะไม่เข้าใจวิธีคิดและขั้นตอนการทำงานของครีเอทีฟและ account executive ว่าทำไมงานบางอย่างเราสั่งไปมันไม่เดินหน้าหรือทำกลับมาลวกๆ ถ้าเราไปต่อว่าเขาโดยเราเองยังไม่รู้จริง ผมรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม พอเข้าใจรายละเอียดต่างๆ แล้ว ผมจึงค่อยๆ ขยับไปดูภาพกว้างว่าต้องทำอย่างไรธุรกิจจึงจะไปต่อได้ บางทีการลงรายละเอียดมากเกินไป มันเหมือนเราไปก้าวก่ายทีมงาน แล้วจะทำให้ทุกอย่างช้าไปหมด ตอนนี้เลยไม่ให้ทุกอย่างผ่านผม แต่จะอาศัยความไว้ใจโดยให้หัวหน้าแต่ละฝ่ายเป็นคนบริหารจัดการลูกน้องของเขา แล้วใช้ระบบเป็นตัวกำหนดคุณภาพแทน

บรูว์มาสเตอร์รุ่นที่ 3

หลังจากงานแรกของผมที่สิงห์ ผมเดินทางไปศึกษาต่อในหลักสูตร Certified Brewmaster ที่ประเทศเยอรมนี การเรียนปรุงเบียร์มันเหมือนการเรียนเคมี ต้องหยิบนู่นจับนี่มาผสมกัน การไปเรียนหลักสูตรบรูว์มาสเตอร์ช่วยให้เราเห็นภาพว่าการทำเบียร์ทั้งหมดมีขั้นตอนอย่างไร ผมใช้เวลาเรียนทั้งหมด 8 เดือน เรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็น ลากยาวถึงกลางคืนก็มีบ้าง แล้วหยุดแค่วันอาทิตย์วันเดียว แต่ยอมรับว่าผมเองก็ไม่ได้ถนัดการทำเบียร์ขนาดนั้น เราจะเน้นเรื่องการดูภาพรวมมากกว่าลงไปเจาะรายละเอียดเป็นจุดๆ ดังนั้นวิธีการที่จะเสริมจุดอ่อนของเราให้แข็งแรง ก็คือการจ้างบรูว์มาสเตอร์เก่งๆ เข้ามา ซึ่งการจะเป็นบรูว์มาสเตอร์ที่เก่ง เราต้องมีประสาทสัมผัสที่ดี ทั้งลิ้น จมูก ตา แต่ละขั้นตอนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญมาก แต่ปัจจุบันเราสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้มากขึ้น ทำให้ในโรงงานผลิตเบียร์ดีๆ ในอนาคต เขาอาจจะใช้คนแค่ 20-30 คนเท่านั้น

ห้องเรียนชีวิต

ผมเป็นเด็กไม่ชอบเข้าเรียน เพราะไม่เชื่อในสิ่งที่ครูสอน ผมไม่ได้บอกให้คนอื่นทำตาม แต่ผมคิดว่าการเรียนหนังสือเน้นให้เราท่องจำไม่ได้ทำให้เราเข้าใจ แต่ถึงผมไม่ใช่เด็กเรียนดีเท่าไร ผมก็รู้จักวิธีเอาตัวรอดและใช้คนเป็น เวลาเรียน ผมจะนั่งอยู่หลังห้องตลอด เพราะมันทำให้เราเห็นทุกอย่าง คนไหนเรียนเก่ง ใครแอบกินขนม คนนั้นแอบเป็นแฟนกับคนนี้ เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ว่าใครทำอะไร เก่งอะไร ขณะที่ถ้านั่งอยู่หน้าห้องเราจะเห็นแค่ครูกับกระดานดำ ซึ่งตรงนี้มันสัมพันธ์กับวิธีบริหารคนของผม คือต้องเข้าไปรู้จักแต่ละคนจริงๆ ว่าเขามีความสามารถในเรื่องใด ชีวิตเขาเป็นยังไง หรือกระทั่งว่ามีลูกกี่คน เพราะมันทำให้เรารู้ว่าใครเหมาะสมกับงานแบบไหน ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมเชื่อว่าการศึกษาสำคัญ เพียงแต่ในโลกการทำงาน สิ่งที่เราได้จากการศึกษาอาจจะเอามาใช้จริงได้สัก 20-30% เท่านั้น ยิ่งเวลาเรียน เขามีหนังสือเรียนมาให้อ่าน ถ้าเราไม่ได้สนใจเรื่องนั้นจริงๆ มันเป็นการเสียเวลา ทำให้ประสบการณ์นอกห้องเรียนและการได้ลองทำจริงสำคัญกว่า

พัฒนาจุดแข็ง เสริมจุดอ่อน

สมัยเด็กๆ ผมจะเขียนลิสต์สิ่งที่ตัวเองชอบและไม่ชอบไว้ แล้วเราจะค่อยๆ ดูว่าด้วยทักษะที่มี เราจะสามารถพาตัวเองไปถึงจุดไหน ผมอาจจะคิดต่างจากคนอื่น คือผมจะเน้นเรื่องการพัฒนาจุดแข็งของตัวเองให้แข็งแกร่ง แต่ไม่พัฒนาจุดอ่อน เพราะจุดอ่อน ผมเชื่อว่าเราสามารถหาคนมาทำแทนเราได้ และถ้าเรามัวแต่นั่งทำทุกอย่างเอง เราก็จะโตอยู่แค่นี้ การให้คนอื่นมารับช่วงต่อสิ่งที่เราทำอยู่ แล้วตัวเราหันไปจับงานใหม่ๆ มันจะทำให้ธุรกิจของเราเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งการจะทำให้เกิดความยั่งยืนในลักษณะนั้นได้ เราต้องสร้างทั้งระบบและคนให้แข็งแกร่ง เพื่อให้เวลาเราออกจากบริษัทไป คนที่เขามาแทนเราจะได้รับเอาสิ่งที่เป็นคาแรกเตอร์ของเราไปใช้บ้างไม่มากก็น้อย แล้วผมเชื่อว่าถ้าระบบดี บริษัทก็จะสามารถอยู่ต่อไปได้ ทุกอย่างจะเดินไปได้ของมันเอง และการคอรัปชันต่างๆ ก็จะหมดไปด้วย

ผมจะเน้นเรื่องการพัฒนาจุดแข็งของตัวเองให้แข็งแกร่ง แต่ไม่พัฒนาจุดอ่อน เพราะจุดอ่อน ผมเชื่อว่าเราสามารถหาคนมาทำแทนเราได้ และถ้าเรามัวแต่นั่งทำทุกอย่างเอง เราก็จะโตอยู่แค่นี้

คนคือหัวใจขององค์กร

หัวใจของเราคือการพัฒนาและดูแลคนให้อยู่กับเรานานที่สุด เราให้ความสำคัญกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ทีมงาน เอเยนต์ คู่ค้า ไปจนถึงตัวลูกค้าเอง แล้วบริษัทเราถึงจะอยู่รอดและยั่งยืน ซึ่งสิ่งนี้เป็นแนวคิดที่ปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยท่านทวดของผม (พระยาภิรมย์ภักดี) นอกจากนั้นแล้ว ในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องคุยกันรู้เรื่องและเห็นทิศทางเดียวกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องยาก เพราะแน่นอนว่าในองค์กรขนาดใหญ่อย่างสิงห์จะมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัยและความต่างทางวัฒนธรรม เพราะพนักงานเรามาจากหลายๆ ที่ ทั้งคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ฝรั่ง คนไทย ความท้าทายคือเราจะสื่อสารอย่างไรให้ทุกคนเห็นว่าอะไรคือ mission และ vision ของบริษัท แล้วมีหนทางใดจะพาเราไปถึงสิงห์ที่วาดไว้ ทั้งนี้ การจะเติบโตในหลายๆ ด้านไปพร้อมกันได้ เราต้องมีทีมงานที่พร้อม ทำให้ส่วนใหญ่ผมจะเลือกคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว หรือคุยแล้วรู้สึกถูกคอ มีวิธีการคิดและวิสัยทัศน์เดียวกัน เข้ามาร่วมทีมด้วย

ก้าวถัดไปของ ‘สิงห์ เวนเจอร์’

เราเปิดตัวสิงห์ เวนเจอร์มาได้ประมาณปีกว่าๆ ซึ่งก่อนจะเริ่ม ผมใช้เวลาคิดอยู่ 2 วันแล้วก็ลงมือทำเลย โดยเริ่มต้นจากเงินลงทุน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วขยายไปเป็น 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป้าหมายหลักของเราคือการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในประเทศไทย รวมทั้งมองหาธุรกิจมาเป็นพันธมิตรระยะยาวกับเรา การลงทุนของเราจึงไม่ได้แค่หวังผลกำไรในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า เพราะสตาร์ทอัพถ้าจับผิดมันผิดเลย เอาเงินไปเล่นหุ้นน่าจะเสี่ยงน้อยกว่า ทำให้ทุกธุรกิจที่เราเลือกลงทุน เราต้องศึกษามาอย่างดี แล้วเราไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นธุรกิจอาหารเครื่องดื่มเท่านั้น เรามองหาธุรกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น และขณะเดียวกัน เราต้องช่วยให้ธุรกิจที่เราเข้าไปลงทุนเติบโตไปพร้อมๆ กับเรา ซึ่งตอนนี้เรากำลังจะก้าวเข้าสู่เฟสที่ 2 คือการเปิดกองทุนของเราเอง อันเป็นการต่อยอดจากเฟสแรกที่เงินลงทุนนั้นเป็นของบริษัทร้อยเปอร์เซนต์ พอมารอบที่สองเราจะเปิดโอกาสให้เพื่อน ครอบครัว และคนนอกเข้ามาร่วมลงทุนได้ด้วย ซึ่งตอนนี้เราระดมทุนไปได้แล้วประมาณ 50 ล้านบาท

ต้องเปลี่ยนแปลงจากภายใน

การทำสิงห์ เวนเจอร์เป็นอีกบทพิสูจน์ว่า หากองค์กรเราโดน disrupt ขึ้นมาจริงๆ มันจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน บริษัทบุญรอดเทรดดิ้งในอนาคตอาจจะแตกสาขาออกไปอีก ผลิตภัณฑ์หลักของเราอาจไม่ได้มีแค่เบียร์ น้ำ โซดา ข้าว หรือขนมขบเคี้ยวอีกต่อไปแล้ว สำหรับผม การ disrupt มันเหมือนการออกไปสำรวจตลาดโลกว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วสิ่งไหนที่มีแนวโน้มจะ disrupt เราได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้มีการออกผลิตภัณฑ์แคปซูลเบียร์สด ซึ่งคล้ายๆ กับแคปซูลกาแฟขึ้นมา ซึ่งเรารู้ว่านวัตกรรมนี้มันจะส่งผลกระทบต่อเราในระดับหนึ่ง หรืออาจจะมีเทคโนโลยีชีวภาพที่สามารถไป bypass ฮอปส์โดยใช้โปรตีนเทคโนโลยีหรือความขมของเบียร์เพื่อลดต้นทุน แม้กระทั่งตัวกัญชาเองในอนาคตก็อาจจะเข้ามาเปลี่ยนธุรกิจเบียร์ได้เหมือนกัน จะเห็นว่าเทคโนโลยีนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ชีวิตของเราอาจจะง่ายขึ้นจริง แต่การมาของเทคโนโลยีบางอย่าง อาจทำให้พนักงานคนใดคนหนึ่งของเราไม่มีความสำคัญเท่าแต่ก่อนแล้ว ผมเลยจะย้ำกับทีมงานเสมอว่าเราต้องอยู่กับความกลัว เพราะเมื่อไรที่เรารู้สึกกลัว เราจะมองหาหนทางในการเรียนรู้และไม่มัวจมอยู่กับความสำเร็จ

ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน

ในแต่ละวัน ผมพยายามบริหารจัดการเวลาให้ดี ทั้งในเรื่องครอบครัวและการทำงาน ในช่วงเช้า ผมจะตื่นขึ้นมาเล่นกับลูกก่อนเขาไปโรงเรียน หรือถ้าช่วงบ่ายประชุมเสร็จไว ก็จะกลับมาออกกำลังกายกับเขาแล้วค่อยออกไปดินเนอร์กับลูกค้า แล้วด้วยความที่ผมต้องเดินทางบ่อย ผมจะคอยสังเกตสิ่งรอบตัวและคิดตามไปด้วยตลอดเวลา เพราะหลายอย่างมันเป็นของที่เอากลับมาใช้ได้ ผมจะพยายามอ่านหนังสือในช่วงเดินทาง ไม่ว่าจะแนวปรัชญาหรือเทคโนโลยีต่างๆ แต่ด้วยเวลาที่จำกัด เราก็อ่านจบบ้างไม่จบบ้าง แต่ก็จะหาวิธีทำมันให้เกิดประสิทธิภาพและใช้เวลาสั้นที่สุด จริงๆ ผมไม่เชื่อว่าการทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันแล้วผลจะออกมาดี แต่ผมก็จะมีวิธีบริหารจัดการของผม เช่น ในการเล่นสโนว์บอร์ด ผมอาจจะมีเวลาฝึกน้อยกว่าคนอื่น ก่อนไปผมเลยต้องศึกษาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนา และทุกครั้งที่ผมไป ผมจะให้เวลาเต็มที่ 2-3 วันในการเล่น หรือกับการแข่งรถก็เหมือนกัน บางทีผมมีเวลาซ้อมน้อย ก็จะพยายามดูภาพรวมแล้วไปเก็บรายละเอียดต่างๆ เอาตอนแข่งจริง คนเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากันหมด เราแค่ต้องจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ทำให้เป็น

ผมไม่กลัวความผิดหวัง อยากเป็นอะไรผมก็เป็น แล้วทุกครั้ง เวลามีคนถามว่าผมอยากใช้ยางลบลบอะไรในชีวิต ผมตอบเลยว่าไม่ ผมขี้เกียจลบ ผมจะเลือกวิธีขีดฆ่า เพราะจะได้ไม่ลืมแล้วทำผิดซ้ำ

กำไรจากสนามแข่ง

เวลาไปแข่งรถ ผมประทับใจกับทุกแมตช์ที่แข่งไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ เพราะทุกครั้งที่ไปฝีมือเราพัฒนาขึ้น เราจะเห็นว่าสนามนี้ต้องขับแบบไหน ใช้เกียร์อะไรขับ ถึงเวลาโค้งเราจะต้องแซงอยู่ข้างในเพื่อไม่ให้โดนเบียดออกไปได้ ตรงนี้มันเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่พอเรากลับมานั่งอ่านโน้ตที่จดไว้แล้วเราจะเห็นภาพชัดยิ่งขึ้น และทุกครั้งที่ลงแข่ง เราจะได้ข้อคิดและมุมมองใหม่ๆ เสมอ เพราะในการแข่งขันมันมีทั้งวันฝนตก แดดออก อุบัติเหตุอะไรต่างๆ สิ่งเหล่านี้สอนเราเรื่องการใช้ชีวิต นอกจากนี้ หลายๆ ครั้งผมได้คอนเนคชันจากการแข่งรถ อย่างที่ผมมีได้โอกาสไปดูงานกับสตาร์ทอัพต่างๆ ที่เมืองจีนหรือไต้หวัน ก็เป็นคอนเนคชันจากการแข่งรถทั้งนั้น เพราะคนที่จะมาแข่งรถได้ เขาต้องมีฐานะและหน้าที่การงานอยู่ในระดับค่อนข้างดี ขณะที่ตัวผมนั้นโชคดี เพราะมีสปอนเซอร์ช่วยสนับสนุน ถ้าให้จ่ายเองคงไม่ไหวเหมือนกัน

ทัศนคตินักสู้

ก่อนที่เราจะชนะได้ เราต้องรู้จักแพ้ให้เป็นก่อน ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ อะไรทำแล้วไม่เวิร์ค ก็อย่าไปทำซ้ำสอง ผมอาจจะโชคดีเพราะเมื่อก่อนผมเคยทำสินค้าหลายตัวแล้วไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่คนอื่นล้ม ผมเจอมาหมดแล้ว ซึ่งประสบการณ์ตรงนั้นมันทำให้ผมรู้ว่าอะไรทำแล้วไปต่อได้หรือไม่ได้ มันทำให้ผมไม่กลัวความผิดหวัง อยากเป็นอะไรผมก็เป็น แล้วทุกครั้ง เวลามีคนถามว่าผมอยากใช้ยางลบลบอะไรในชีวิต ผมตอบเลยว่าไม่ ผมขี้เกียจลบ ผมจะเลือกวิธีขีดฆ่า เพราะจะได้ไม่ลืมแล้วทำผิดซ้ำ แล้วพอถึงเวลาลงแข่งจริงในสนาม เราต้องคิดว่าเราเก่งที่สุด เพราะเมื่อไรที่เราคิดว่าคนนี้เก่งกว่าเรา เช่น สมมติต้องต่อยมวยกับบัวขาวหรือไมค์ ไทสัน เราจะบอกตัวเองทันทีว่าสองคนนี้ต่อยมวยเก่ง เราไม่มีทางชนะเขา แต่ถ้าบอกตัวเองว่าทั้งเราและคู่ต่อสู้มีมือมีเท้าเหมือนกัน ทำไมจะสู้เขาไม่ได้ เราก็จะรู้สึกว่าโอกาสชนะมันยังมี ซึ่งเราต้องพยายามดึงเอาความเชื่อตรงนั้นออกมาให้ได้มากที่สุดในการทำสิ่งต่างๆ

รู้จักจังหวะชีวิตตนเอง

สมัยก่อนจะไปเรียนต่างประเทศ เคยมีค่ายเพลงเข้ามาทาบทาม แต่มันตรงกับช่วงเวลาที่ผมต้องไปเรียนต่อพอดี เลยไม่มีโอกาสได้ทำ พอเรียนจบกลับมาเมืองไทย เราเลยอยากลองทำตามใจตัวเองดูบ้าง ตอนนั้นวงกรุงเทพมาราธอนเขาขาดนักร้องนำ พี่บอล มือกีตาร์วงอพาร์ทเมนต์คุณป้าก็เลยชวนให้ลองเข้าไปคุย ซึ่งปรากฏว่าพอไปเจอสมาชิกคนอื่นๆ ในวง เราก็คลิกกัน มันเริ่มต้นมาจากตรงนั้น การร้องเพลงและการแข่งรถเป็นสิ่งที่ผมทำแล้วมีความสุขทั้งคู่ แต่ทั้งนี้ในการทำสิ่งใดก็ตาม เราต้องรู้จักจังหวะชีวิตของตนเอง ต้องรู้ว่าตอนไหนเราควรทำอะไร พอผมหยุดจากร้องเพลงแล้ว ก็กลับมาโฟกัสเรื่องงานเต็มที่ หรือกับการแข่งรถ ผมคงไม่แข่งรถไปจนถึงอายุ 60 มันจะต้องมีช่วงเวลาที่เรารู้สึกอิ่มตัวและอยากไปลองทำอย่างอื่นแทน แต่ทุกสิ่งที่เราทำ ผมเชื่อว่ามันเอากลับมาใช้ได้เสมอ อย่างการที่ผมจับไมค์ร้องเพลง ครั้งแรกๆ ผมประหม่า ขาสั่น แต่พอเราผ่านการทัวร์คอนเสิร์ตต่างๆ จนเริ่มเจนเวที มันทำให้เรากล้าพูดต่อหน้าคนอื่นและแสดงความรู้สึกของเราได้ชัดเจนขึ้น

เบื้องหลังกระจกเงา

ในโปรเจกต์ล่าสุดที่เราร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา มันเกิดจากการที่เราคุยกันกับเพื่อนคนหนึ่ง บริษัทเขามีป้ายและสื่อโฆษณาติดอยู่ตามรถประจำทาง และอาคารต่างๆ แล้วเขาร่วมกันกับมูลนิธิกระจกเงาในการประกาศตามหาเด็กหายมาก่อนแล้ว แต่เรารู้สึกว่าแค่นั้นไม่พอ เลยเสนอว่าให้ติดประกาศบนขวดน้ำดื่มสิงห์ด้วย ซึ่งเด็ก 5 คนที่มีชื่ออยู่บนฉลากนั้นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยมาก คือไม่เสียชีวิตแต่ยังหาไม่เจอ เลยคิดว่าเราน่าจะทำอะไรเพื่อพ่อแม่เขาบ้าง ตอนแรกเราไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นแคมเปญใหญ่โต แต่พอทำแล้วปรากฏว่าคนให้การตอบรับดี แชร์กันเยอะมากในโลกออนไลน์ ถึงขั้นมีคนถามว่าเราจ้างเอเจนซี่ไหน ก็เลยตัดสินใจจัดแถลงข่าวเล็กๆ คือไอเดียส่วนหนึ่งมาจากผมไปเดินห้างกับภรรยาและลูก แล้วจู่ๆ ลูกชายผมก็หายไป คือเขาไม่ได้หายไปไหนจริงๆ เขาก้มลงไปเล่นของเขาเลยไม่ได้สนใจ แต่ผมกับภรรยามองไม่เห็น แม่เขาก็ตะโกนเรียกลูกลั่นห้างเลย ซึ่งในเวลาแค่ไม่ถึงห้านาทีตรงนั้นเรายังรู้สึกได้เลย แล้วคนที่ลูกเขาหายไปเป็นสิบปี เขาต้องจมอยู่กับความรู้สึกนั้นทุกวัน ทำไมเราถึงไม่ช่วยเขา

กลับคืนสู่สังคม

มีอยู่วันหนึ่ง เพื่อนผมพาบัวขาว (บัญชาเมฆ) มาที่บริษัท ตอนนั้นเขากำลังหาสปอนเซอร์ไปแข่งที่ญี่ปุ่น ผมเห็นว่าคนนี้ทรงดี หมัดแพรวพราว เลยตัดสินใจสนับสนุน ตอนแรกเราไม่อยากให้เขาติดโลโก้สิงห์ เพราะกลัวจะแพ้กลับมา แต่สุดท้ายเขาได้แชมป์ หลังจากนั้นเราก็เริ่มสนิทกัน เพราะผมเข้าไปซ้อมมวยกับเขาบ่อย จริงๆ นอกจากบัวขาวแล้ว ก็ยังมีคนอื่นๆ อีก อย่างกิรเดช (โปรอาร์ม-กิรเดช อภิบาลรัตน์ นักกอล์ฟชาวไทยคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกพีจีเอทัวร์) เราก็ให้การสนับสนุนเขามาตั้งแต่เด็ก หรือ ‘โต้ง ทูพี’ ผมดูเขามาตั้งแต่ก่อนแข่ง Singha Soda Presents Battle of the Year ด้วยซ้ำ คือผมเคยเรียนอยู่ที่บอสตัน ก็จะรู้ว่า rhyme ต่างๆ และสไตล์การร้องแร็ปของที่นั่นเป็นยังไง ไม่ใช่ว่าแบบอื่นผิด แต่บังเอิญเขาร้องสไตล์ที่ผมชอบ เลยคิดว่าเขาควรจะเป็นผู้ชนะรายการนี้ เราพยายามจะเอากำไรจากการทำธุรกิจมาช่วยคนให้ได้มากที่สุด แต่คนที่เราจะเข้าไปช่วยก็ต้องแสดงความสามารถให้เราเห็นด้วย เพราะเราไม่สามารถช่วยทุกคนได้ แล้วเราต้องคิดด้วยว่าเราจะช่วยให้คนที่เราเข้าไปสนับสนุนมีชีวิตดีขึ้นจริงๆ ได้ยังไง เราให้ด้วยใจ แค่นั้น


รู้จักกับภูริต ภิรมย์ภักดี



ภูริต ภิรมย์ภักดี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ จาก Bentley University ปริญญาโทในสาขาเดียวกัน จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตร Certified Brewmaster จาก Doemens Academy ประเทศเยอรมนี ภูริตเป็นอดีตนักร้องนำวงกรุงเทพมาราธอน และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด