HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

COMMON PURPOSE


Thai Through Time

บ้านพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นชาติไทยนอกพงศาวดาร ภายใต้การดูแลของ เอนก นาวิกมูล

เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะจินตนาการว่าเคยมีช่วงเวลาก่อนที่เราจะถือกันว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และยากยิ่งกว่า ที่จะคิดถึงว่าครั้งหนึ่งเคยมีเวลาที่คนไม่ได้นึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชาติ ในแบบที่เราคุยกันเป็นเรื่องดาษดื่นอย่างในทุกวันนี้ โชคดีที่บ้านพิพิธภัณฑ์ บ้านเก่าที่ได้รับการตกแต่งใหม่ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ได้ทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์แห่งการสร้างชาตินั้น ผ่านการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เครื่องครัว ขี้ผึ้งสมุนไพร ตำราเรียน เทปคาสเซ็ท กล่องไม้ขีด แผนที่ แผ่นโฆษณา ฯลฯ ที่สะท้อนความเป็นไปของชีวิตชาวไทยในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นเวลาที่เมล็ดพันธุ์แห่งชาตินิยมกำลังถูกปลูกลงในแผ่นดินไทยอย่างตั้งอกตั้งใจ

เอนก นาวิกมูล นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชื่อดัง เป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ร่วมกับอาสาสมัครอีก 10 คนโดยทั้งหมดต่างช่วยกันดูแลร้านค้าและรวบรวมของจัดแสดงต่างๆ เพื่อเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ของแทบทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดงได้มาจากการบริจาคไม่เว้นกระทั่งที่ดินที่พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในปัจจุบัน

การจัดแสดงแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ที่จำลองฉากชีวิตของชาวบ้าน ร้าน ตลาดในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นร้านตัดผมร้านโชห่วยหรือที่เอนกใช้ชื่อว่า ‘ร้านอาม่า’ ร้านขายยา ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านหนังสือ ห้องเรียน และอีกมากมาย สิ่งจัดแสดงเป็นของใช้จากชีวิตจริงของผู้คนในอดีต การตกแต่งในแต่ละโซนก็สร้างบรรยากาศให้หวนรำลึกถึงวันเก่าๆ ได้เป็นอย่างดี โดยแนวคิดของที่นี่ไม่ใช่การนำของเก่ามาวางโชว์ แต่ต้องการแสดงให้เห็นวิถีชีวิตและการกินอยู่ของคนไทยในแต่ละห้วงเวลาที่ก่อเกิดเป็นวิวัฒนาการของความเป็นไทยท่ามกลางอิทธิพลจากต่างชาติและกระแสทุนนิยมโลก

ธนบัตรเก่าต่างสี ต่างดีไซน์ เคลือบด้วยพลาสติกใสอยู่ในสภาพใหม่เอี่ยมถูกนำมาเรียงต่อกันจนดูเหมือนสมุดภาพแสดงพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้อย่างน่าทึ่ง โดยจะเห็นความเปลี่ยนแปลงจากพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์บนธนบัตรตั้งแต่ครั้งพระพักตร์เยาว์วัยไร้ริ้วรอยเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์เรื่อยมาจนถึงพระพักตร์พ่อหลวงผู้การุณย์บนธนบัตรยุคปลายรัชสมัยที่เราคุ้นเคย ถัดจากธนบัตรคือคอลเลกชันกล่องขนม ‘ป๊อกกี้’ หลากหลายดีไซน์ที่เอนกสะสมมานานหลายปี ถัดไปก็จะเห็นกล่องยาสีฟันยี่ห้อ ‘ดาร์กี้’ ที่มีโลโก้เป็นชายผิวดำใส่หมวกทรงสูงยิ้มยิงฟันขาวอยู่ ข้างกันนั้นเป็นหลอดยาสีฟันเก่ายี่ห้อ ‘ดาร์ลี่’ ที่เปลี่ยนจากชื่อเดิมเพื่อเลี่ยงประเด็นปัญหาการเหยียดผิว เมื่อเดินต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นยารักษาโรคมาลาเรียที่ทางสหรัฐอเมริกาเคยส่งมาช่วยเหลือประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างไทย-อเมริกาที่มีมากว่า 200 ปี

แนวคิดของที่นี่ไม่ใช่การนําของเก่ามาวางโชว์ แต่ต้องการแสดงให้เห็นวิถีชีวิตและการกินอยู่ของคนไทยในแต่ละห้วงเวลา

ระหว่างที่นำชมพิพิธภัณฑ์ เอนกชี้ชวนให้เราดูหุ่นโชว์เสื้อทำจากปูนพลาสเตอร์จากยุคห้าศูนย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคอลเลกชันสุดโปรดของเขาพร้อมกับบอกว่า “หุ่นพวกนี้หน้าตาเป็นคนไทย ทุกวันนี้ไม่มีแบบนี้แล้วนะ มีแต่หุ่นหน้าตาฝรั่ง”

กระทั่ง ตัวบ้านที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ก็มีประวัติให้เล่าขาน เราเห็นตุ๊กตาอิ๊กคิวซังที่มีคราบน้ำตั้งแต่ใบหูลงไปถึงเท้า ซึ่งเป็นร่องรอยความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ในปี 2554 คราบน้ำบนตุ๊กตาแสดงให้เห็นถึงระดับน้ำที่ไหลเข้าท่วมพิพิธภัณฑ์ และเป็นอนุสรณ์เตือนความจำมาถึงทุกวันนี้ หลังจากหนึ่งเดือนเต็มที่ถูกน้ำท่วมบ้านพิพิธภัณฑ์ต้องปิดปรับปรุงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่เปิดมา 19 ปี และจำเป็นต้องปิดเป็นคำรบสองในปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นั่นเอง

ถัดจากอิ๊กคิวซังเป็นตุ๊กตากลจากญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘คาราคุริ’ ซึ่งเป็นตุ๊กตาไขลานญี่ปุ่นโบราณตั้งแต่สมัยเอโดะโดยเอนกหาซื้อมาในราคา 4,000 บาท เขาเล่าว่า “เรามีเงินพอซื้อแค่ตัวเดียว ตุ๊กตาตัวนี้มีความพิเศษคือเป็นแบบเดียวกันกับที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระราชทานเป็นของกำนัลแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสซึ่งมีการกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ประโยคหนึ่งในพงศาวดาร”

ตุ๊กตากลนี้ทำให้เห็นความหลงใหลของชาวญี่ปุ่นในการประดิษฐ์หุ่นยนต์มาตั้งแต่สมัยโบราณ

วิธีเล่นตุ๊กตาชนิดนี้คือวางถ้วยสาเกลงบนถาดสีดำที่ตุ๊กตาถืออยู่แล้วไขลาน จากนั้นตุ๊กตาจะเดินนำสาเกไปเสิร์ฟให้แขก เมื่อแขกยกแก้วขึ้นตุ๊กตาก็จะหยุดเดินโดยอัตโนมัติและจะเดินอีกครั้งเมื่อแขกวางแก้วลงบนถาด สำหรับตุ๊กตาที่เอนกได้มาจะเดินวนเป็นเลข 8 แต่บางตัวก็สามารถตีลังกาลงบันไดได้ด้วย ที่น่าทึ่งยิ่งกว่าคือนี่เป็นกลไกที่คิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ร้อยปีที่แล้ว

เอนกเล่าต่อว่า “ตุ๊กตาไขลานเปรียบเหมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้คนที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของเราหันมาเห็นคุณค่าของข้าวของเครื่องใช้รอบตัวนอกเหนือจากการสะสมพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง”

คนเรามักจะโยนของที่เราใช้กันทุกวันหรือของเด็กเล่นทิ้งไปเพราะมองไม่เห็นความสําคัญ แต่เวลาใดที่เราเห็นสมบัติเก่าๆ พวกนี้ เราจะเกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา

เอนกย้อนความหลังให้เราฟังถึงนิทรรศการครั้งแรกที่เขากับเพื่อนร่วมกันจัดขึ้นก่อนที่จะมีบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ในฐานะนักประวัติศาสตร์เขาจำได้แม่นว่านิทรรศการครั้งนั้นจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2531 โดยเขาลงประกาศในหนังสือพิมพ์สยามรัฐเพื่อขอให้คนให้ยืมของสะสมส่วนตัวมาจัดแสดงในนิทรรศการนาน 7 วัน เพื่อนของเขาคนหนึ่งได้ทำเรื่องกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อนำของเล่นส่วนพระองค์มาจัดแสดงโดยพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานกล่องดนตรีและของเล่นอื่นๆ รวม 8 ชิ้นด้วยกัน

ในหมวดหมู่ของเล่นนั้น เอนกจัดแสดงของเล่นที่มีความโดดเด่นทั้งด้านดีไซน์และกลไกตั้งแต่สมัยโบราณเรื่อยมาจนถึงยุคของเล่นที่ใช้ถ่านและไฟฟ้า เขาชี้ให้ดูภาพของเล่นไทยโบราณที่เรียกว่า ‘ม้าก้านกล้วย’ แล้วบอกว่า “คนเรามักจะโยนของที่เราใช้กันทุกวันหรือของเด็กเล่นทิ้งไปเพราะมองไม่เห็นความสำคัญ แต่เวลาใดที่เราเห็นสมบัติเก่าๆ พวกนี้ เราจะเกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา”

บริเวณชั้นบนของพิพิธภัณฑ์ถูกจำลองเป็นห้องทำงานของนายอำเภอซึ่งมีไฮไลต์อยู่ที่ใบสัญญาที่เขียนด้วยลายมือตัวบรรจงบันทึกข้อตกลงของชายคนหนึ่งที่ขายตนเองพร้อมภรรยาและลูกเพื่อไปเป็นทาสโดยเป็นเอกสารเก่าแก่นับย้อนไปถึงปี 2424

“เราเบื่อการอ่านตำราประวัติศาสตร์ที่เป็นเพียงการบอกเล่า อย่างดีก็มีภาพประกอบเพิ่มเข้ามา แต่เอกสารนี้สามารถเล่าเรื่องราวของการเลิกทาสได้ดีกว่าในตำราเรียนประวัติศาสตร์เสียอีก แน่นอนเรารู้ว่าการเลิกทาสนั้นถือเป็นพระราชกรณียกิจของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ที่มีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง แต่เอกสารทำให้เห็นลึกไปกว่านั้นว่าแม้การเลิกทาสจะเริ่มขึ้นในปี 2417 แต่ก็ไม่ได้สำเร็จในทันที ต้องผ่านความล้มเหลวและมีประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเกษียณอายุทาสหรือจะทำอย่างไรกับลูกที่เกิดจากทาส โดยต้องใช้เวลานานกว่า 30 ปีจึงสามารถประกาศเลิกทาสได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2448”

เอนกตั้งข้อสังสัยว่าชายคนนั้นคงติดหนี้จากการเล่นโปถั่วซึ่งเป็นเกมการพนันคล้ายไฮโลโดยใช้ถั่ว เม็ดมะขาม หรือเม็ดกระดุมในการเล่น โดยในยุคนั้นการขายตัวเป็นทาสเพื่อชดใช้หนี้เป็นสิ่งธรรมดาสามัญ แม้กระทั่งเจ้านายบางคนก็ยังต้องขายตัวเองเพราะติดหนี้พนันเหมือนกัน

ในห้องนายอำเภอนี้ยังจัดแสดงแผนที่ประเทศไทยที่ทำขึ้นในปี 2473 ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี บนแผนที่นั้นไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนชัดเจนเหมือนที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน แต่แสดงขอบเขตประเทศไทยในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันโดยใช้สัญลักษณ์สีที่ต่างกัน ทั้งยังมีข้อความอธิบายถึงพื้นที่ของไทยที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส อังกฤษ เรื่อยมาจนถึงการปกครองของจีน ทั้งยังมีการแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยซึ่งรวมถึงชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนไปยังพม่าเมื่อคราวเสียกรุงด้วย

เอนกอธิบายถึงความหมายและนัยสำคัญที่ซ่อนไว้ในแผนที่ฉบับนี้ว่า “ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีเป้าหมายในการสร้างกระแสชาตินิยม รัฐบาลทำแผนที่นี้ขึ้นมาก็เพื่อปลุกเร้าให้คนไทยได้รู้ว่าสยามประเทศเคยมีพื้นที่กว้างใหญ่ขนาดไหน ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีใครรู้สึกร่วมถึงความเป็นชาติไทย”

นอกจากนี้ บ้านพิพิธภัณฑ์ยังได้จำลองบรรยากาศห้องเรียนสมัยก่อนโดยยกเอาห้องเรียนเก่าจากโรงเรียนตะละภัฏศึกษาบนถนนแพร่งนราที่ปิดทำการไปแล้วตั้งแต่ปี 2538 มาจัดแสดง บนผนังมีประกาศนียบัตรระดับมัธยมศึกษาที่ใช้ในปี 2487 แขวนอยู่ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีการเขียนอักษรไทยที่แปลกออกไปจากปัจจุบัน โดยเอนกอธิบายให้ฟังว่า

“ถ้าดูตัวอักษรที่ใช้ช่วงปี 2485 ถึง 2487 หรือสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเห็นว่ามีการเขียนแปลกๆ โดยคำที่ใช้อักษร ศ หรือ ษ จะเปลี่ยนมาใช้ ส เท่านั้น ส่วนสระไอ ก็จะใช้แค่สระไอไม้มลายเท่านั้น วิธีเขียนแบบนี้บัญญัติขึ้นโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นบุกยึดประเทศไทย โดยจอมพล ป. ให้เหตุผลว่าเป็นภาษาใหม่ที่คนไทยต้องเรียน แต่ที่จริงแล้วรัฐบาลเพียงต้องการซื้อเวลาเพื่อให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการครอบงำทางวัฒนธรรมจากญี่ปุ่นเพราะญี่ปุ่นอ้างว่าภาษาไทยยาก แล้วจะบังคับให้คนไทยเรียนภาษาญี่ปุ่นแทนจอมพล ป.จึงปรับการเขียนภาษาไทยให้ดูง่ายขึ้น แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม เราก็กลับมาใช้วิธีเขียนตามแบบเดิม เราคงไปตำหนิจอมพล ป. ในเรื่องนี้ไม่ได้”

ในห้องเรียนมีหนังสือเรียนที่คุณพ่อของเอนกเคยนำไปขายเมื่อครั้งเขายังเด็ก และยังมีภาพถ่ายห้องเรียนเก่า ของเล่นตัวอักษร ยางลบ ที่ลบคำผิด และอื่นๆ อีกมากมายที่นำพาผู้เข้าชมย้อนอดีตไปสมัยเป็นนักเรียนชั้น ป.3 คติของเอนกคือ “ถ้าเราเก็บวันนี้ พรุ่งนี้มันก็เก่าแล้ว” ตอนนี้เอนกกำลังตามหายางลบรูปผลไม้สีเขียวสีชมพู “กลิ่นมันหอมหวานจนเราอยากจะกินมันจริงๆ”

การสะสมประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ทำ ดังเช่นบ้านพิพิธภัณฑ์ แห่งนี้ที่เอนกค่อยๆ สร้างขึ้นผ่านสิ่งของทีละชิ้น สถานที่แห่งนี้อาจไม่สามารถเล่าเรื่องราวออกมาได้ครบในทีเดียวเหมือนหนังสือประวัติศาสตร์ แต่ด้วยเรื่องราวนอกระบบและเรื่องราวของชีวิตคนจริงๆ อย่างเช่นพ่อที่ต้องขายตัวเองและลูกเพื่อใช้หนี้โปถั่วนี่เอง ที่ได้ช่วยเติมเต็มช่องว่างที่ไม่ถูกเล่าขานในตัวอักษร และทำให้เราได้เห็นภาพว่าชีวิตเป็นเช่นไรในห้วงเวลาที่อาจถูกลืมไปนานแล้ว