SECTION
ABOUTBEYOND BOUNDARIES
Glamour of the Past
บุณยัษฐิติ วิลล่า กระจกส่องประวัติศาสตร์จันทบุรี มนต์เสน่ห์แห่งบูรพาทิศ
บนถนนสุขาภิบาลที่ทอดผ่านใจกลางชุมชนริมน้ำจันทบูร จังหวัดจันทบุรี เรียงรายไปด้วยบ้านเรือนและร้านค้าตึกแถวแบบโบราณที่ชวนให้รู้สึกเหมือนว่าอดีตกว่าร้อยปียังคงดำเนินไปอยู่อย่างต่อเนื่อง กระนั้น อาคารหลังหนึ่งดูเหมือนจะดึงดูดผู้ผ่านมาให้ต้องชะโงกเข้ามาชมเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้พบว่าเบื้องหลังประตูกว้างนั้นคือโถงโอ่อ่าที่เต็มไปด้วยรูปโบราณและงานศิลปะจีน ก่อนที่ใครจะทันได้เดาว่าอาคารนี้มีไว้ค้าขายหรือประกอบกิจการใด เจ้าของบ้านก็มาต้อนรับด้วยรอยยิ้ม
“ยินดีต้อนรับสู่บุณยัษฐิติวิลล่าค่ะ เรามีนิทรรศการแสดงการบูรณะบ้านที่ชั้นล่างสุด ประวัติครอบครัวบุณยัษฐิติที่ชั้นสอง และประวัติจังหวัดจันทบุรีอยู่ชั้นบนสุด แล้วก็มีร้านกาแฟริมน้ำ เชิญเดินชมรอบๆ ได้ตามสบายนะคะ” ผกาภรณ์ บุณยัษฐิติ หนึ่งในทายาทของตระกูลบุณยัษฐิติ กล่าวต้อนรับพร้อมแนะนำสถานที่อย่างเป็นกันเอง
สันนิษฐานกันว่าบ้านหลังนี้มีอายุกว่า 150 ปี สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 4 หรือต้นรัชกาลที่ 5 โดยหลวงอนุรักษ์พานิช (กั๊ก) บรรพบุรุษของผกาภรณ์ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ 6 เป็น ‘บุณยัษฐิติ’
บ้านบุณยัษฐิติไม่เพียงอยู่มาอย่างยาวนาน แต่ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ อ้างอิงได้จากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2419 เมื่อครั้งเสด็จประพาสจันทบุรี ที่กล่าวถึงหลวงอนุรักษ์พานิชในชื่อของ ‘จีนกั๊ก’ และครอบครัว ไว้หลายครั้งด้วยกันว่าได้เฝ้ารับเสด็จฯ และทูลเกล้าฯ ถวายผ้าและบุษราคัมซึ่งได้ตรัสชมว่าพลอยนั้นมีน้ำดีและมีขนาดใหญ่ “เกือบเท่ากับพลอยในตรานพรัตน์” ในสมัยที่ราชอาณาจักรสยามถูกคุมคามจากการล่าอานิคม จันทบุรีซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และการค้าขายเจริญรุ่งเรืองย่อมถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ทำให้รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองจันทบูรนี้ถึง 13 ครั้ง
เนื่องจากบ้านเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจันทบุรี สำหรับท่านผู้หญิงอังกาบ รวมทั้งผกาภรณ์ และกนิช ผู้ร่วมฟื้นชีวิตบ้านหลังนี้ สิ่งสำคัญที่สุดจึงเป็นการบูรณะบ้านของบรรพบุรุษให้คืนกลับมาตามปณิธานของ โกวิท บุณยัษฐิติ สามีและบิดาผู้ล่วงลับ โดยก่อนหน้านี้ ตัวบ้านมีสภาพเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา อาคารส่วนที่ติดริมน้ำทรุดเอียงถึงเกือบ 1 เมตร ในขณะที่กำแพงคอนกรีตฝั่งติดกับฝั่งถนนก็มีรอยร้าว
“แม้ว่าคุณพ่อและพวกเราจะเกิดในกรุงเทพฯ แต่คุณพ่อมักจะพาเรากลับมาที่บ้านนี้เสมอและบอกว่านี่คือบ้านของบรรพบุรุษ หากได้ซ่อมแซมก็คงจะสวย การบูรณะบ้านหลังนี้ให้ดูสง่างามเหมือนเดิมอีกครั้งจึงเป็นภารกิจที่พวกเราต้องทำให้สมบูรณ์” ผกาภรณ์เล่า
สมบูรณ์ในแบบของผกาภรณ์และกนิชนั้นหมายถึงการทำให้บ้านกลับมาให้เหมือนดั้งเดิมที่สุด และตอบโจทย์การใช้สอยในปัจจุบัน สองพี่น้องจึงร่วมมือกับบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัดที่มีความรู้ความชำนาญด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนริมน้ำจันทบูรแห่งนี้มานานกว่าทศวรรษ จนมีผลงานประจักษ์คือการบูรณะบ้านหลวงราชไมตรีให้เป็นโรงแรมที่พักซึ่งมีคนในชุมชนเป็นหุ้นส่วนและผู้บริหารงานภายใต้ชื่อธุรกิจเพื่อสังคม ‘จันทบูรรักษ์ดี’
แม้ว่าคุณพ่อและพวกเราจะเกิดในกรุงเทพฯ แต่คุณพ่อมักจะพาเรากลับมาที่บ้านนี้เสมอและบอกว่านี่คือบ้านของบรรพบุรุษ หากได้ซ่อมแซมก็คงจะสวย การบูรณะบ้านหลังนี้ให้ดูสง่างามเหมือนเดิมอีกครั้งจึงเป็นภารกิจที่พวกเราต้องทำให้สมบูรณ์
“โครงสร้างหลักของบ้านยังคงเหมือนเดิม แต่เราต้องเสริมความแข็งแกร่งให้บ้านสามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง สถาบันอาศรมศิลป์มาช่วยเราศึกษารายละเอียดของตัวบ้าน โดยปรับปรุงให้เป็นโรงแรมและให้จันทบูรรักษ์ดีเป็นผู้บริหารจัดการ แต่ที่สำคัญคือต้องกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้จัดนิทรรศการเล่าความเป็นมาของบ้าน ครอบครัวและจังหวัดจันทบุรีด้วย เพราะที่นี่คือรากเหง้า”
เมื่องานก่อสร้างดำเนินไป ทุกคนยิ่งตระหนักว่านี่มิใช่เพียงการซ่อมแซมบ้านแต่เป็นการบูรณะครั้งใหญ่ของสถานที่ประวัติศาสตร์ การทำงานจึงจำเป็นต้องอาศัยการผสมผสาน ทั้งเทคนิคสมัยใหม่ เพื่อทำให้อาคารเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบันได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเคารพต่อภูมิปัญญาเชิงช่างแบบโบราณ
ตัวบ้านประกอบด้วยเรือนสองหลังมีระเบียงทางเดินเชื่อมถึงกัน เรือนหนึ่งอยู่ฝั่งติดริมแม่น้ำ อีกเรือนอยู่ฝั่งติดถนน มีลักษณะการก่อสร้างต่างกัน ทางด้านที่ติดถนนนั้นเป็นอาคารปูนครึ่งไม้มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมฝรั่ง ส่วนทางด้านติดแม่น้ำเป็นเรือนฝาไม้สถาปัตยกรรมไทยผสมจีนและฝรั่ง ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดจากการที่วัสดุต่างๆ เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาอันเนื่องมาจากอายุอาคารที่ก่อสร้างมากว่า 150 ปี และมีการทรุดเอียงของเรือนฝั่งที่ติดริมแม่น้ำ
กนิช น้องชายผกาภรณ์ ทำงานใกล้ชิดกับคณะสถาปนิกและวิศวกรเพื่อให้อาคารมีความแข็งแกร่งทำหน้าที่ได้อย่างมั่นคงอีกครั้งมีการฝังเสาเหล็กตัวทีเข้าไปในผนังอิฐเพื่อเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างรวมถึงการหาเทคนิคในการเสริมฐานราก เทคนิคนี้ใช้เวลาทดลองถึง 4 ครั้งกว่าจะสำเร็จ นอกจากนี้ ยังได้นำเทคนิคโบราณอย่างการฉาบปูนหมัก ขัดปูนตำ มาใช้ซ่อมผนังเดิม ช่างหินจากอ่างศิลาถูกเรียกมาทำหินฐานเสา เพื่อป้องกันเสาไม้จากความชื้นของพื้นบ้าน ตามภูมิปัญญาดั้งเดิม องค์ประกอบของบ้านส่วนใหญ่ที่เป็นวัสดุเบาถูกเก็บรักษาไว้อย่างเดิม ไม่ว่าประตูไม้ ประตูรั้ว ฝาเรือนและหน้าต่าง มีเพียงการตกแต่งใหม่โดยการใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ ขณะที่ชิ้นส่วนที่เสียหายก็ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยแกะแบบจากของเดิม
ประภาพร บำรุงไทย แห่งบริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด กล่าวว่า “ความท้าทายคือการทำให้ภูมิปัญญาและฝีมือเชิงช่างโบราณตั้งแต่แรกสร้างบ้านหลังนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เราจึงเลือกที่จะทำงานกับผู้รับเหมารุ่นใหม่ที่เต็มใจจะเรียนรู้เทคนิคช่างแบบโบราณและถอดแบบของเก่าออกมาได้ ช่างไม้ของเราพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการได้มาเจองานไม้ในบ้านบุณยัษฐิติเหมือนได้เรียนรู้จากช่างชั้นครูเลยทีเดียว”
จุดที่สำคัญไม่แพ้กันในการบูรณะคือกระเบื้องหลังคาดินเผา โดยของเดิมนั้นใช้กระเบื้องหลังคาดินเผาแบบจีน เพียงแต่ต้องเป็นชนิดที่มีความโค้งมนน้อยแบบในภาคใต้ การจะหากระเบื้องดินเผาที่มีลักษณะเฉพาะตัวแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมงานค้นคว้าข้อมูลจากเศษกระเบื้องที่พบในบ้านและเทียบเคียงกับภาพถ่ายจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี จนได้พบกับโรงงาน ‘เด่นจันทร์’ ผู้ผลิตกระเบื้องหลังคาดินเผาเจ้าดั้งเดิมของจังหวัดจันทบุรีที่เป็นเพียงไม่กี่เจ้าที่ยังคงใช้เทคนิคโบราณในการผลิตทำให้ได้กระเบื้องมุงหลังคาดินเผาที่บางกว่าปกติแต่มีความแข็งแกร่ง และเป็นสาเหตุให้กระเบื้องหลังคาดินเผาของเด่นจันทร์นั้นมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ โดยมักใช้ในการก่อสร้างพุทธสถานรวมทั้งใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าแก่และโบราณสถานต่างๆ ของกรมศิลปากร
ความท้าทายคือการทําให้ภูมิปัญญาและฝีมือเชิงช่างโบราณตั้งแต่แรกสร้างบ้านหลังนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ดร.พัชริศ หัตถวิจิตรกุล ผู้สืบทอดกิจการ ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงงานเด่นจันทร์เล่าให้ฟังว่า “ที่จริงแล้วเราไม่ได้ผลิตสินค้าเพื่อการอนุรักษ์ เราเพียงแค่รักษาคุณภาพและเทคนิคแบบโบราณที่คนรุ่นก่อนเคยทำไว้ ผ่านการผลิตด้วยมือโดยใช้เครื่องจักรสมัยใหม่มาช่วยในบางขั้นตอน ขณะที่โรงงานส่วนใหญ่จะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติทั้งระบบซึ่งไม่สามารถทำให้กระเบื้องมีความบางกว่าปกติเหมือนที่เราทำ ซึ่งจำเป็นสำหรับการช่วยแบ่งเบาภาระให้โครงสร้างเก่าแก่ให้รับน้ำหนักน้อยลง”
นอกจากความท้าทายในการปรับปรุงโครงสร้างบ้านโดยรวมแล้ว งานอีกส่วนหนึ่งซึ่งยากไม่น้อยไปกว่ากันคือการปรับเปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงแรมขนาด 5 ห้องนอนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่ ผกาภรณ์ต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักได้อย่างสบายพร้อมไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชน งานนี้ผกาภรณ์จึงได้ทำงานร่วมกับอิทธิพร วงศ์มณีโรจน์ นักออกแบบภายในที่รู้ใจกันมานาน
“เราไม่อยากให้บรรยากาศดูโบราณมากนักเพราะเราต้องการให้เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สมัยใหม่เกินไปจนไม่เหลือเค้าเดิม เราจึงมาลงตัวที่สไตล์ไทยผสมจีนร่วมสมัย” อิทธิพร บอก
ด้วยพื้นที่ภายในที่ค่อนข้างแคบ อิทธิพรจึงนำกระจกมาใช้ในหลายๆ จุด เพื่อทำให้ห้องดูกว้างขึ้นและเน้นการตกแต่งที่มีลูกเล่นในแต่ละห้องเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว โดยส่วนใหญ่การตกแต่งจะเกี่ยวกับศิลปะจีนและมรดกทางประวัติศาสตร์ของจันทบุรี เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ถูกสั่งทำใหม่ โดยบางส่วน มาจากต้นแบบของเดิมที่ครอบครัวบุณยัษฐิติเคยใช้ ทั้งยังมี Le Petit Journal และ L’Illustration ฉบับเก่าแก่ที่บันทึกเหตุการณ์สมัยฝรั่งเศสเข้ามายังประเทศสยาม ซึ่งซื้อหามาจากตลาดขายของเก่าในฝรั่งเศสมาเพิ่มบรรยากาศ ห้องหนึ่งในบ้านถูกตกแต่งด้วยเสื่อจันทบูร หนึ่งในสินค้าพื้นเมืองขึ้นชื่อของจันทบุรีจนออกมาเป็นชื่อห้อง ‘เสื่อสานจันทบูร’
อย่างไรก็ตาม กลิ่นอายของความร่วมสมัยที่ชัดเจนที่สุดในบ้านหลังนี้อาจอยู่ที่ ‘ชงดี by C.A.P.’ ร้านกาแฟประจำบุณยัษฐิติวิลล่าและดำเนินการโดย C.A.P (Coffee and People) ร้านกาแฟชื่อดังของจันทบุรีของกณิศา นพพันธ์ และกาจคณินท์ ทรัพยอาจิณ สองสามีภรรยาที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ก่อนกลับมาเปิดร้านยังบ้านเกิดเมื่อเห็นว่าที่นี่ยังไม่มีร้านกาแฟสไตล์ Specialty Coffee
“เราตระเวนหาทำเลเปิดร้านหลายที่แต่สุดท้ายหลงรักที่นี่เพราะบรรยากาศเงียบสงบดี ตอนเปิดร้านยังมีความกังวลว่ามาเปิดในชุมชนริมน้ำสงบเงียบแบบนี้จะรอดไหม แต่เรารู้ว่าตราบใดที่โบสถ์คริสต์ยังอยู่และสายน้ำยังไหลผ่าน ร้านชงดี รวมทั้งชุมชนนี้จะต้องอยู่รอดแน่นอน” กณิศาเผยถึงความเชื่อที่เธอมีต่อชุมชน ซึ่งเธอก็ไม่ได้คิดผิด เพราะจริงๆ แล้วลูกค้าประจำของที่นี่ไม่ได้มีเพียงนักท่องเที่ยว แต่คือคนในจันทบุรีเองที่แวะเวียนมาหากาแฟแก้วโปรดกันทุกวัน
สำหรับที่บุณยัษฐิติ วิลล่า ร้านกาแฟ ‘ชงดี by C.A.P.’ ได้แรงบันดาลใจมาจากร้านกาแฟในญี่ปุ่นและเกาหลีซึ่งมักเปิดอยู่กลางอาคารโบราณและย่านเก่า โดยเมนูในร้านส่วนใหญ่ใช้แต่วัตถุดิบที่ขึ้นชื่อว่าเป็นของดีจันทบุรีไม่ว่าจะเป็นมะปี๊ด หรือ ส้มจี๊ด ผลไม้พื้นเมืองจันทบุรี ช็อกโกแลตจากผลโกโก้ที่ปลูกได้ในจันทบุรี หรือเครื่องดื่มซึ่งทำจากไอศกรีมชื่อดังของชุมชน
เพราะความรักในชุมชนและวิถีชีวิตที่เนิบช้า ชุมชนริมน้ำจันทบูรจึงเป็นสถานที่ที่กณิศาและกาจคณินท์ชื่นชอบที่สุดในจันทบุรี โดยกาจคณินท์เล่าว่า “ชุมชนริมน้ำจันทบูรมีความแท้ ตลาดเช้าเต็มไปด้วยอาหารพื้นบ้านปรุงสดใหม่ทุกวัน และผสมหลากหลายวัฒนธรรมทั้งไทย จีน ญวน และยุโรป คนในชุมชนจะรู้จักกันหมดและทุกคนรักความเป็นตัวเองมาก จนไม่อยากให้มีถนนคนเดินหรือตลาดเลียนแบบของเก่าซึ่งไม่ได้สะท้อนตัวตนที่แท้จริงของชุมชนเลย”
ยุพา กอวัฒนา หนึ่งในหัวหน้าชุมชนริมน้ำจันทบูรรุ่นบุกเบิก เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความคิดนี้โดยเสริมว่า “ปัจจุบันมีคนในชุมชนเปิดบ้านค้าขายหรือให้คนเยี่ยมชมเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อก่อนคนยังไม่เข้าใจว่าการอนุรักษ์จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร แต่พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มมากขึ้น พวกเขาถึงเข้าใจคำว่า ‘อนุรักษ์กินได้’ บ้านเรือนธรรมดาอาจไม่ได้โดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมอะไร แต่ตัวตน เรื่องราวของตระกูล และครอบครัวของพวกเขาก็เป็นส่วนสำคัญในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ ตอนนี้เวลาบ้านไหนขายหรือทำอะไร เขาก็มักจะค้นคว้าและหาเรื่องเล่าทรงคุณค่าของตัวเอง มานำเสนอเช่นกัน”
ที่สำคัญ ผกาภรณ์และยุพา ต่างเชื่อเหมือนกันว่าจันทบุรีเป็นมากกว่าแค่เมืองผ่านหรือเมืองแห่งผลไม้ จันทบุรีถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญและได้รับการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณ และมีโบราณสถานสำคัญหลายแห่งที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น โบสถ์คาทอลิกจันทบุรี หรือ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ที่ก่อตั้งมากว่าร้อยปีพร้อมกับการตั้งรกรากชาวคาทอลิกจากเวียดนามในจันทบุรี วัดพลับ ที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนและสันนิษฐานว่าเป็นจุดพักไพร่พลก่อนเข้าตีเมืองจันท์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์และโบสถ์ที่ใช้ประกอบพิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนตร์ที่ใช้ในพิธีพระบรมราชาภิเษก หรือเหตุการณ์ช่วงสงครามฝรั่งเศส-สยาม ปี 2436 ที่กองทัพฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรีจนไทยต้องยอมแลกด้วยดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง นอกจากนี้ จันทบุรียังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งต่อมาได้พระราชทานให้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีในปัจจุบัน
คนเมืองจันท์รู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์เหล่านี้ดีและต้องการที่จะรักษาไว้เป็นมรดกให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นเดียวกับ บุณยัษฐิติ วิลล่าที่เป็นมรดกตกทอดที่มีคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนในชุมชนริมน้ำจันทบูร
“บุณยัษฐิติ วิลล่า มีอายุมากกว่า 150 ปีและเราต้องการให้บ้านหลังนี้อยู่ต่อไปอีกร้อยปีข้างหน้าเช่นกัน เราจึงตั้งใจอนุรักษ์บ้านให้เหมือนเดิมที่สุด หากบรรพบุรุษของเรามองลงมาจากบนฟ้าก็ยังจะจำได้ว่านี่แหละคือบ้านของพวกท่าน” ผกาภรณ์ทิ้งท้ายอย่างคนที่รู้ว่าได้ทำงานสำเร็จดังใจ ■