HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


Returning Home

อุทัยธานี อัญมณีบริสุทธิ์กลางผืนป่ากับจังหวะชีวิตที่เนิบช้าและความสงบงามของการใช้ชีวิต

ไพศาล กุศลวัฒนะ เคยมีความฝันในวัยเด็กเรียบง่ายกว่าเพื่อนๆ นั่นคือการได้กลับไปเยี่ยมบ้านญาติที่อุทัยธานีที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้และธรรมชาติ ประตูบานใหญ่ที่เปิดไปสู่พื้นที่สวนและเสียงใบไม้ต้องลมทำให้เขาตกหลุมที่นั่นเข้าอย่างจัง และพร่ำบอกกับตัวเองว่า สักวันเขาจะต้องมีบ้านแบบนี้เป็นของตัวเองให้ได้

ในวัย 50 กว่าๆ ไพศาลและภรรยา คือจันทิตา อำลาชีวิตการเป็นครูในกรุงเทพฯ เพื่อกลับไปใช้ชีวิตหลังเกษียณที่บ้านใน อ.เมือง จ.อุทัยธานี โดยไพศาลได้เปิดเผยความฝันครั้งยังเด็กให้ภรรยาฟังเป็นครั้งแรก ซึ่งได้นำไปสู่การทำตามฝันให้เป็นรูปร่าง หลังจากได้เฝ้ารอมาถึง 30 ปี

ด้วยน้ำแรงของไพศาลและภรรยา จากพื้นที่รกร้างได้กลายมาเป็น Forest House Homestay หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า ‘บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์’ บนเนื้อที่ทั้งหมด 6 ไร่ แม้จะอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 3 ชั่วโมง แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยต้นไม้และผืนป่าอาจทำให้รู้สึกว่าอยู่ไกลจากเมืองมากกว่าความเป็นจริง ฟอเรสต์ เฮ้าส์ โฮมสเตย์ ประกอบด้วยบ้านพักเล็กๆ 4 หลัง สร้างด้วยไม้เก่าที่หาได้ในท้องถิ่น รายล้อมด้วยแนวต้นไม้เขียวขจี และทันทีที่ก้าวเข้าไปในพื้นที่ของโฮมสเตย์ก็ได้ยินเสียงต้อนรับอย่างเอิกเกริกจากทั้งจิ้งหรีด จักจั่น และนกนานาชนิด ที่ย้ำเตือนให้อุ่นใจว่านี่คือช่วงเวลาที่เหมาะแก่การพักใจให้ห่างไกลจากความวุ่นวายในเมือง

ขณะที่ไพศาลพาเดินชมไปตามสะพานไม้ทอดยาวที่เชื่อมบ้านพักแต่ละหลังกับพื้นที่ส่วนกลาง เขาก็พูดว่า “เหมือนกับโชคชะตานำพาพวกเรามาที่นี่ ไม่อยากไปอยู่ที่ไหนอีกแล้ว”

หากจะกล่าวถึง ‘ธรรมชาติบริสุทธิ์’ อุทัยธานีย่อมเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่สามารถอ้างความบริสุทธิ์ได้อย่างแท้จริง ไพศาลเล่าว่าอุทัยธานีเหมือนอยู่ในมิติเวลาที่หมุนช้ากว่าความเป็นจริงและยังคงกลิ่นอายของความเป็นของแท้ดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งสำหรับตัวเมืองที่อยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่นาที ความเนิบช้าของจังหวะชีวิตและบรรยากาศเงียบสงบก็ลบภาพของความเป็นเมืองไปหมด เหมาะสำหรับการเดินเล่นสบายๆ และแวะชิมอาหารพื้นบ้านนานาชนิดจากคนหลายเชื้อชาติ รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงและชาวลาวที่ใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับคนท้องถิ่น หรือจะถ่ายภาพแบบชิคๆ กับตู้ไปรษณีย์สีม่วงทั่วเมืองซึ่งทางจังหวัดทำขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อหลายเดือนก่อน จนกลายเป็นมุมนิยมของการถ่ายรูป

นอกจากนี้ อุทัยธานียังเป็นที่ตั้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดโดยมีเขตแดนติดต่อกับจังหวัดตาก โดยถือเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในปี 2534 และยังเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะช้างและเสือโคร่ง

ที่นี่ไม่มีช่วงไฮหรือช่วงโลว์ เชื่อไหมว่ามีการจองห้องพักเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำหลังช่วง โควิด-19 ตอนนี้มีจองเกือบทุกวัน

อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการเข้าถึงวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นคงหนีไม่พ้น ‘วัด’ ในอุทัยธานีมีวัดหลายแห่งที่มีชื่อเสียงด้านสถาปัตยกรรมและเป็นที่เคารพบูชาของทั้งคนท้องถิ่นและต่างถิ่น ไม่ว่าจะเป็นวัดท่าซุง ที่มีวิหารแก้ว 100 เมตร ประดับประดาด้วยโมเสกขาว สะท้อนประกายระยิบระยับสวยงามเมื่อต้องแสงอันโด่งดัง นอกจากนี้ ยังมีวัดอุโปสถารามที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมเรือนไทยทำด้วยไม้ ตั้งตระหง่านบนหน้าผาเขาหินปูนริมแม่น้ำ สะแกกรัง ซึ่งทัศนียภาพจะงดงามจับใจเป็นพิเศษโดยเฉพาะเมื่อมองผ่านสายหมอกในฤดูหนาว

“เมื่อก่อนนี้อุทัยธานีเป็นเมืองปิด แต่ทุกวันนี้ การเดินทางสะดวกสบายขึ้นทำให้ผู้คนจากเมืองใหญ่เข้ามาเที่ยว มาซึมซับบรรยากาศเก่าๆ ข้อดีของที่นี่คือการท่องเที่ยวยังไม่ค่อยโตมากเท่าไหร่ จึงยังสามารถรักษาความดั้งเดิมไว้ได้อยู่” ไพศาลเล่า

หลายปีที่ผ่าน อุทัยธานีเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว นักข่าว บล็อกเกอร์ และช่างภาพเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และแม้จะได้รับความสนใจมากขึ้นเพียงใด สภาพภูมิประเทศที่ค่อนข้างห่างไกลก็ยังทำให้อุทัยธานีสามารถรักษาระยะจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่และยังคงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติไว้ได้อย่างดี

“ที่นี่ไม่มีช่วงไฮหรือช่วงโลว์ เชื่อไหมว่ามีการจองห้องพักเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำหลังช่วง โควิด-19 ตอนนี้มีจองเกือบทุกวัน”

แม้ว่า ฟอเรสต์ เฮ้าส์ โฮมสเตย์ จะเปิดบริการมาเพียง 6 ปี แต่ไพศาลและจันทิตาใช้เวลาร่วม 30 ปี ในการประคบประหงมและค่อยๆ สร้างบ้านในฝันของพวกเขา สองสามีภรรยาใช้เงินเก็บและเงินเกษียณซื้อที่ดินที่ไม่มีใครสนใจเพื่อสร้างบ้านกลางป่าใหญ่ที่ไพศาลเคยฝันไว้ตั้งแต่ยังเด็ก โดยทั้งสองคนช่วยกันปลูกและดูแลต้นไม้และพรรณไม้ต่างๆ ด้วยมือตัวเองตลอด 30 ปีที่ผ่านมา จนวันนี้ ต้นไม้ทุกต้นที่พวกเขาปลูกและดูแลเติบใหญ่ แข็งแรง ให้ร่มเงาไปทั่วบริเวณ

ส่วนการเปลี่ยนบ้านเป็นโฮม สเตย์นั้นเป็นเรื่องบังเอิญ ไพศาลเล่าให้ฟังว่าด้วยความที่เขารักการถ่ายภาพเป็นทุนเดิม เขาเคยถ่ายภาพบ้านหลังนี้ลงในเว็บมัลติพลาย หรือ Multiply (เครือข่ายสังคมออนไลน์ยุคแรกๆ ที่ตอนนี้ปิดตัวไปแล้ว) ในตอนนั้น หนึ่งในแฟนคลับที่คอยมากดไลค์และคอมเม้นท์ภาพที่เขาถ่ายอยู่เนืองๆ คือ ประกิจ กัณหา สถาปนิกผู้ล่วงลับซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอมิติ บริษัทสถาปัตยกรรมที่ขึ้นชื่อเรื่องงานสถาปัตย์รักษ์โลกที่แหวกกฎการใช้วัสดุแบบทั่วไป

“คุณประกิจชอบพูดว่าอยากได้บ้านแบบนี้บ้าง” ไพศาลเล่าไปหัวเราะไป

จากสื่อสังคมออนไลน์ ไพศาลและประกิจ กลายมาเป็นเพื่อนกันในชีวิตจริง ไพศาลและภรรยาจึงเล่าให้ประกิจฟังถึงโครงการเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ “ตอนนั้นผมบอกเขาว่ามีงบแค่ 1 ล้านบาท ไม่น่าเชื่อว่าเขารับปากทันที” ไพศาลเล่า

เราพยายามหาทางให้คนท้องถิ่นพัฒนาทักษะอื่นๆ นอกเหนือจากการทำเกษตรด้วย

การออกแบบและก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 1 ปีก็แล้วเสร็จ การออกแบบตัวอาคารเน้นการรักษาต้นไม้ทุกต้นในพื้นที่โดยตัวอาคารจะไม่รบกวนต้นไม้เลย จะเห็นว่ามีการเจาะรูที่พื้นเพื่อเปิดทางให้ต้นไม้เติบโตได้อย่างอิสระ โดยแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากหลักการการสร้างกุฏิสงฆ์ซึ่งมีขนาด 7.12 ตารางเมตร และด้วยความตั้งใจที่จะไม่ตัดต้นไม้ สถาปนิกจึงออกแบบบ้านพักเป็นรูปกากบาท ก่อขึ้นด้วยกล่องสี่เหลี่ยมขนาด 2.4 เมตร จำนวน 4 กล่อง นำมาเชื่อมต่อกันโดยแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นชานเรือน ห้องนั่งเล่น ห้องนอน และห้องน้ำ โดยมีหน้าต่างกระจกรอบห้องเผยให้เห็นวิวเขียวชอุ่มของต้นไม้ด้านนอกแบบรอบทิศทาง

เมื่อเราถามไพศาลว่า ฟอเรสต์ เฮ้าส์ โฮมสเตย์ มีอะไรดี เขาตอบอย่างอารมณ์ดีว่า คงไม่ใช่อาหารอร่อยแน่นอน เพราะเมื่อก่อนมีแขกหลายคนเคยติเรื่องนี้ บางครั้งเขาและภรรยาเพียงขับรถเข้าเมืองไปซื้อก๋วยจั๊บร้านดังมาเสิร์ฟเป็นอาหารเช้า อย่างไรก็ตาม ข้อบกพร่องเรื่องอาหารไม่ได้มีผลต่อยอดการจองเท่าใดนัก เพราะของดีที่แท้จริงของ ฟอเรสต์ เฮ้าส์ โฮมสเตย์ คือทำเลตั้งที่เข้าถึงง่ายและที่พักดีไซน์ไม่ซ้ำใคร

ด้วยทำเลที่ตั้งไม่ไกลจากตัวเมือง แขกที่มาพักสามารถเดินทางไปเที่ยวสถานที่รอบๆ โฮมสเตย์ได้อย่างสะดวกสบาย เช่น ‘ตลาดชาวไฮ่’ ที่ก่อตั้งโดยราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้เดินทางกลับบ้านมาสานฝันการเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า หลังจากได้ทำงานกับองค์การยูเนสโกและเป็นเกษตรกรได้พักหนึ่ง เขาจึงริเริ่มก่อตั้งตลาดนี้ขึ้นเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านและช่วยเหลือเกษตรกรท้องถิ่น ปัจจุบัน ตลาดชาวไฮ่ เป็นแหล่งรวมผลงานศิลปะ เครื่องนุ่งห่มพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ โดยมีการแสดงดนตรีสดที่บรรเลงโดยเจ้าของตลาดด้วย

ราเมศวร์เล่าให้ฟังว่า “ผมได้แรงบันดาลใจในการเล่นดนตรีมาจาก ‘น้าหงา คาราวาน’ และศิลปินอิสระอีกหลายคน ตอนแรก ผมชอบเล่นเพลงพื้นเมืองหรือเพลงค่ายที่ร้องให้เด็กๆ ฟัง แต่เมื่อเวลาผ่านไป แนวการเล่นดนตรีก็พัฒนาขึ้นเมื่อผมได้รู้จักกับบุคคลต่างๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักเขียน นักเคลื่อนไหว หรือนักคิด”

ณ ตอนนี้ ตลาดชาวไฮ่กลายเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวไปแล้วทั้งที่จุดประสงค์เดิมของราเมศวร์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เขาต้องการให้ตลาดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมความร่วมมือของเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่และเกษตรกรในท้องถิ่น รวมทั้งเป็นพื้นที่แสดงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมพื้นบ้านและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตที่เคารพธรรมชาติ

“เราพยายามหาทางให้คนท้องถิ่นพัฒนาทักษะอื่นๆ นอกเหนือจากการทำเกษตรด้วย” ราเมศวร์กล่าว

หลังจากได้พูดคุยกับคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่หลงรักอุทัยธานี เห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่ต้องการให้อุทัยธานีเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความสามัคคีของคนท้องถิ่นเป็นข้อพิสูจน์ความแข็งแกร่งของชุมชนคนอุทัยธานีได้เป็นอย่างดี พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่ควรเป็นการพัฒนาตามแบบฉบับของคนอุทัยธานีจริงๆ ไม่ใช่ทำตามความคิดเห็นของคนนอก

“คนที่นี่ต้องการรักษาอุทัยธานีไว้ในแบบที่เคยเป็น โดยเฉพาะธรรมชาติซึ่งสำคัญกับชีวิตของพวกเรามาก” ไพศาลกล่าว

แม้กระแสความนิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่และการท่องเที่ยวแนวใหม่กำลังไหลบ่าเข้ามา แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนจังหวะชีวิตที่เนิบช้าแต่มั่นคงของคนที่นี่ได้ นี่คงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุทัยธานียังคงความบริสุทธิ์และเสน่ห์น่าค้นหาได้อย่างบริบูรณ์